บางน้อย

บางน้อย

เกือบ 10 เดือนมาแล้ว ที่คน “รุ่นใหม่” ของที่นี่ร่วมกันฟื้นฟูชุมชนปากคลองบางน้อยขึ้นมาใหม่ ทางเดินและห้องแถวไม้ถูกปรับโฉม เสียงตามสายกำจายในลมบ่ายอยู่ทุกเสาร์อาทิตย์ ขนม ข้าวของจิปาถะเก่าใหม่เรียงราย ในแม่น้ำลำคลอง พี่น้องชาวสวนพายเรือพาผลไม้และอาหารประดามี ออกมา “ช่วยกัน” ขายต้อนรับผู้มาเยือนเท่าที่คิดว่ามันควรจะเป็น ตรงท่าน้ำหน้าวัด ของกินพื้นแห่งเมืองลุ่มน้ำลานตา

 

สำหรับคนที่อยู่ในโอบอ้อมของแม่น้ำ ที่นี่มากมายไปด้วยความเปลี่ยนแปลงของคืนวัน บางอย่างไหลเลื่อนไปกับการหมุนของนาฬิกา และบางสิ่งก็ตกทอดอยู่งันเงียบเช่นเดียวกับคืนจันทร์กระจ่างเหนือพลิ้วน้ำ

 

แม่น้ำยังคงหลากไหลอย่างที่หลายคนว่ามันไม่เคยหวนคืน แต่จะหวั่นไปไย เมื่อคนที่นี่ยังพร้อมจะดูแลมัน เข้าใจมัน ซาบซึ้ง และใช้ชีวิตอยู่กับมันอย่างไม่เคยคิดจากไปไหน

 

คืนวันของห้องแถว 

วันธรรมดาดูจะทำให้ทางเดินริมคลองบางน้อยมีเฉพาะผู้อยู่ ทุกอย่างเงียบสงัด ทว่าหาใช่เปลี่ยวเหงา ร้านรวงเก่าแก่ก็คือบ้านของคนที่นี่ มันขรึมเข้มอารมณ์ไม่ต่อเนื่องเหยียดยาว มากมายไปด้วยนานาสินค้าเท่าที่ความเป็นจำเป็นของชีวิตจะต้องการ

 

“บางน้อยมันกินพื้นที่กว้าง ลึกไปในถึงข้างในสวน ถ้าเป็นตรงนี้ คนที่นี่เขาเรียกปากคลอง เป็นจุดรวมของคนสวนและคนตลาด”ป้าพรรณีหมายถึงฝั่งวัดเกาะแก้วที่เราหันหลังให้อยู่ ร้านรัตนอาภรณ์ของป้าไม่เคยปิด ว่าไปมันก็กินเวลามาแล้วกว่า 50 ปีที่ป้าย้ายขึ้นมาจากเรือนแพแถบอัมพวา ความเป็นจีนแต้จิ๋วในสายเลือดตกทอดงานช่างไว้ให้หากิน

 

“คนแต้จิ๋วเก่งด้านช่างตัดเสื้อและอีกสารพัดช่าง ฉันมาอยู่ที่นี่แต่ก่อนมันคึกคัก” ป้าพรรณีเล่าอารมณ์ดี เสื้อผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บที่หน้าร้าน ป้ารับมาจากกรุงเทพฯ เหมือนเช่นวันเก่าก่อน ส่วนเรื่องตัดเสื้อ ดูเหมือนจะต้องเป็นขาประจำที่ตัดกันมายาวนาน “พวกนั้นเขาไม่ซื้อสำเร็จ อย่างมากก็ซื้อผ้าผืนมาให้ฉันตัด” ผ่านดวงตาเล็กๆ ตามแบบฉบับของคนจีน ป้าเล่าอย่างคนที่มีวันเวลาเป็นของตนเอง

 

ลมบ่ายพัดมาจากแม่น้ำเข้ามาสู่ในคลอง อากาศเย็นสบาย ทางเดินยิ่งมากเรื่องราว ร้านแสงงามที่ติดกันดารดาษไปด้วยสินค้าอย่างน่าทึ่ง ไขควง เสื้อผ้า กรรไกรตัดเล็บ ผ้าถุงหลากสีสัน ปากกาโบราณ กรรไกรจีนแดง อุปกรณ์ช่าง และอีกมากมายที่ผมมองไม่ทั่ว มันทำให้ห้องแถว 3 ห้องคงอยู่ด้วยบุคลิกการค้าที่แทบไม่เปลี่ยนไปจากโบราณเท่าไหร่นัก

 

และในความปนเปจนน่าเวียนหัว หน้าห้องแถวนั้น กาญจนา กุลตานนท์ ไม่เคยหยิบฉวยอะไรพลาดไปสักนิดเดียว

 

“หมดจากยุคร้านรูปของเตี่ย ก็ข้าวของเยอะแยะนี่แหละ ที่ทำให้บ้านนี้เป็นบ้านอยู่ได้” ในความหมายของเธอ น่าจะรวมไปถึงการที่ไม่มีใครคิดหนีหายไปจากตรงนี้ “ของเก่าๆ มันทน ใช้ได้จริง” ไม่น่าเชื่อว่านี่คือสินค้าที่เตี่ยของกาญจนา ผู้เป็นเคยเปิดห้องภาพแสงงามซื้อตุนไว้ขายกว่า 40 ปี

 

ห้วงยามนั้น การจะได้มาซึ่งสินค้า หากไม่นับทางเรือที่ผ่านไปทางแม่น้ำแม่กลอง หรือตัดคลองบางน้อยหน้าบ้าน ไปสู่ประตูน้ำบางยาง ไปออกท่าจีน การไปถึงแหล่งของอย่างกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไหร่นัก

 

“ล่องเรือไปอัมพวา ข้ามแม่น้ำแม่กลองไปฝั่งอำเภอเมืองฯ ต่อรถไฟไปท่าฉลอม จากนั้นข้ามเรือไปมหาชัย ขึ้นฝั่งได้นะ เตี่ยบอกต้องรีบวิ่งไปจองที่นั่งบนรถไฟเพื่อไปลงปากคลองสาน คิดดู คนรุ่นเตี่ยต้องหอบข้าวของมากมายเพื่อกลับมาขาย อย่างว่า แต่ก่อนไปไกลๆ ทีมันยาก”

 

ฟังราวกับเรื่องเล่าจากดินแดนแสนไกล ทั้งที่ทุกวันนี้ ด้วยระยะทางไม่ถึงร้อยกิโลเมตร เราไปถึงกรุงเทพฯ ได้ด้วยเวลาเพียงชั่วโมงเดียว

 

“แต่อย่างไร บนฝั่งนี่ก็อยู่ได้ด้วยเรือละ” ป้าเซี๊ยะงิ้ม แซ่ปึง นั่งอยู่หน้าร้านสมัยศิลป์ มองผ่านแว่นสีชาไปในความฝ้าฟางตามวันวัย ทว่าเรื่องเล่าแสนกระจ่างชัด

 

ด้วยเป็นอีกร้านถ่ายรูปที่คู่ปากคลองบางน้อยมายาวนานพอกัน ทุกวันนี้ แม้จะเหลือเพียงป้ายร้านโบราณ แต่ในแววตาของคนอายุสี่สิบกว่าปีขึ้นไป ต่างจดจำร้านถ่ายรูปและร้านเครื่องเขียนสมัยศิลป์ได้ไม่รู้ลืม

 

“คนตลาด คนสวน คนจากบางน้อยในปากง่ามมาที่นี่หมดล่ะ แต่ก่อนฉันมือระวิง เปิดเทอมทีนี่ไม่ต้องไปไหนกันเทียว” ป้าเล่าไปยิ้มไป ห้วงยามเหน็ดเหนื่อยคราวหลังนั้นเมื่อหันไปมองมันก็มักหอมหวาน

 

ว่ากันว่าเรือที่หน้าตลิ่งไม่เคยห่างหาย เมื่อถึงวัน “นัด”

 

“โบราณเขาทำงานกันหนัก ซื้อของทีต้องตุนให้พอชนนัด คือให้หมดพอดีกับออกมาตลาด มันถึงจะคุ้ม ไม่ออกหลายเที่ยว” นัดทางเรือที่นี่มีให้คนสวนคนตลาดเลือกซื้อหากันอย่างเพียงพอ และสนุกสนาน “ค่ำ 1 นัดบางจาก ค่ำ 2 นัดนางพิม ค่ำ 3 นัดวัดแก้ว 7 ค่ำ 12 ค่ำ นัดท่าคา” ป้าเซี๊ยะงิ้มไล่เรียง ชัดเจนแม้กระทั่งบรรยากาศ

 

ผมเดินเล่นไปตามห้องแถวที่ไล่เรียงกันไป ชื่อภาษาจีนกำกับคร่ำคร่า ป้ายโบราณเหนือขื่อบานประตูไม่เพียงบอกว่าชีวิตข้างในนั้นเติบโตมาด้วยการค้าประเภทไหน บางห้องขายยาโบราณ ขณะที่อีกมากก็คือร้านโชห่วยเปี่ยมอันจริงแท้ที่มีอยู่ด้วยการค้าขาย

 

เป็นชีวิตจริงที่ต่อเนื่องมาถึงวันนี้ อันบ่งบอกว่าห้องแถวริมคลองแห่งนี้ไม่ได้มีอยู่เพื่อใคร

 

เป็นอารมณ์เฉพาะตน เป็นบรรยากาศจากท่าน้ำสู่เบื้องล่างที่จากไปแล้ว ไม่มีวันหวนกลับ ทว่าหยิบจับมาพลิกดู ก็คล้ายความทรงจำจะเหมือนสายน้ำหน้าบ้าน เมื่อเอื่อยไหลไหวริน ก็มีภาพงามฉายชัดให้ย้อนระลึกถึง

 

เรื่องเล่าในคลอง

ปากคลองบางน้อยไม่ได้มีแค่ฝั่งวัดเกาะแก้วที่เรียงรายห้องแถวร้านค้าเชื่อมโยงภาพการซื้อขายของคนบางน้อย ทว่าเมื่อข้ามลำคลองมายืนมองคลองสายนี้ไหลสู่แม่น้ำกว้างใหญ่ เราก็อาจเห็นว่าริมฝั่งน้ำก็เหมือนเหรียญที่ไม่ได้มีเรื่องราวเพียงด้านเดียว

 

“คึกคักไม่ต่างหรอก แต่ก่อนน่ะ คนสองฝั่งปากคลองนี่” เราอยู่กันที่ท่าน้ำของบ้านไทยเอ็งเส็ง โรงน้ำแข็งแสนเก่าแก่ที่ฝั่งวัดเกาะใหญ่ ป้ากิมไน้ ลี้สุทธิพรชัย ยิ้มให้กับคืนวันอันผ่อนคลาย แดดบ่ายราแรง เปิดภาพกว้างให้มองข้ามแม่น้ำไปยังอีกฝั่งอย่างสบายตา สวนมะพร้าวทอดยาวแน่นขนัด

 

ด้วยความที่เป็นชุมชนค้าขายที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของสมุทรสงคราม โดยมีคลองบางน้อยเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการค้าขึ้นล่องระหว่างแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีน ทั้งยังต่อยอดออกไปถึงสุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี คนที่เลือกมา “ปักหลัก”อยู่ตรงนี้จึงผ่านภาพการเติบโตร่วมกันของคนสวนและคนแม่น้ำมาอย่างน่าจดจำ

 

“ฝั่งวัดเกาะใหญ่แต่ก่อนเจริญมาก เผลอๆ มากกว่าฟากโน้นอีก ร้านขายทองใหญ่หัวมุมฝั่งโน้นแต่ก่อนยังเป็นเรือนแพ” ป้าหมายถึงร้านตั้งย้งมุ้ยที่ทุกวันนี้ปิดเงียบ ทว่าประตูและตัวเรือนได้รับการดูแลจากลูกหลานอย่างใส่ใจ

 

ปากคลองบางน้อยฝั่งวัดเกาะใหญ่ไม่ได้มีร้านค้าประเภทห้องแถวไม้หลงเหลืออยู่ บางหลังปิดเงียบ ลูกหลานไปได้ดีที่กรุงเทพฯทว่ากับหลังที่เหลือๆ อยู่ ในบ้านที่ไม่เคยปราศจากชีวิต และล้วนเติบโตผูกพันกับตลาดที่ท่าน้ำมาด้วยลมหายใจเดียวกัน

 

“ถึงวันนัดที เรือมาเป็นร้อยๆ 8 ค่ำ 3 ค่ำ 11 ค่ำ” แม้ถนนจะพรากภาพเช่นนั้นไปแล้ว แต่คนเก่าๆ มักชอบพูดถึงบรรยากาศของเรือสินค้าอันคลาคล่ำ ข้าวของจากในสวนที่อยู่ถัดเข้าไปก่ายกองอยู่เต็มลำเรือ บนบกตรงวัดเกาะแก้วได้ชื่อว่าเป็นนัดน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดของแม่กลอง ขณะที่ในคลอง ยิ่งเป็นวันนัด ยามเย็นล่วงไปถึงคืนค่ำ คนจากในสวนออกมาหาอะไรกินหลังจากกรำงานทั้งวัน ว่ากันว่าเกือบเที่ยงคืนก็ยังลอยลำค้าขายกันไม่หยุดหย่อน เสียงเครื่องยนต์เรือไม่เคยเงียบหาย

 

“เรือก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ อาหาร สินค้า ผู้คนจอแจขวักไขว่ เชื่อไหม ข้ามไปฝั่งโน้น เดินไปบนเรือที่จอดต่อๆ กันได้เลย ร้านเจ๊กเลี้ยบที่ฝั่งเกาะแก้ว คนไม่เคยว่าง” แกหมายถึงร้านสมรไพบูลย์ ที่วันนี้เติบโตกลายเป็นสโตร์ท้องถิ่นและย้ายไปด้านติดถนน สักพักก็ทำเอาผมขำกับฉากที่แสดงภาพ “คึกคัก” ที่ป้าเล่าต่อว่า เด็กๆ ร้องไห้จ้าที่โดนกราบเรือเบียดนิ้วจนแตก 

 

ตลาดน้ำตรงปากคลองบางน้อยในสมัยนั้น มากมายไปด้วยสินค้าจากต่างถิ่น คนเพชรบุรีเอากะปิกับน้ำตาลล่องผ่านบางตาบูรมาขาย ทางดำเนินสะดวกก็เทคลังผักผลไม้ของตนลงเรือ ส่วนพวกเมืองกาญจน์ ก็มีกระบอกไม้ไผ่ชั้นดีมาเป็นของหลัก มาให้ตรงวันมีนัด ไม่นับคนสัญจรเรือเมล์แดงที่จะมุ่งไปราชบุรี่หรือที่อื่นที่มาต่อเรือ คนบางน้อยได้มีโอกาสสัมผัสสินค้าแปลกๆ ก็เพียงพายเรือออกมาปากคลองเท่านั้น

 

“โรงน้ำแข็งของฉันโตมาได้ก็จากยุคนั้นล่ะ โม่กันทั้งคืนแถบท้ายวัดเกาะใหญ่” วันนี้ไทยเอ็งเส็งของป้ากิมไน้ผ่านมาถึงยุคลูกหลาน หลายอย่างเงียบไปตามการเหวี่ยงหมุนของวันเวลา ลูกค้าเหลือเพียงแต่ในชุมชน แต่หญิงชราก็มีภาพเก่าแก่เอาไว้ให้นั่งระลึกถึงคลองที่หล่อหลอมเธอมา

 

จะว่าไป คลองสายเก่าแก่อันเป็นเส้นทางเสด็จประพาสทางน้ำของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จประพาสเมืองสมุทรสงครามเมื่อปี พ.ศ.2452 สายนี้นั้น ไม่เพียงจดจารอยู่ในพระราชหัตถเลขา ทว่าอยู่ในภาพจำของคนต่อมาอีกหลายรุ่น

 

“รุ่นพ่อ รุ่นก๋ง เข้ามาบุกเบิก เด็กยุคเราก็โตร่วม” โฆษิต รัตนโสภณ พาวัยหนุ่มใหญ่มานั่งหน้าบ้านไม้หลังเล็กริมน้ำ ที่กำลังจะกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนฝั่งวัดเกาะใหญ่ “ความเจริญอะไรที่เป็นสิ่งทันสมัย บางน้อยก็ได้มาทางเรือล่ะครับ” เรือหางยาววิ่งผ่านเราไปใกล้เย็น โฆษิตเงียบลงครู่หนึ่ง พอเงียบก็เล่าต่อ “นักร้องดังๆ มาเล่นที่บางน้อยเยอะ สุรพล สมบัติเจริญ หวังเต๊ะ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี พวกนี้มาเรือจากแม่กลองทั้งนั้น ผมยังไปเกาะรั้วดูอยู่เลย”

 

ฝั่งวัดเกาะใหญ่มีโรงเรียนเลี้ยงล้อมอนุกูล เป็นโรงเรียนราษฎร์ที่เด็กๆ มักมาเริ่มต้น “คนจีนก็เรียนโรงเรียนจีนนี่แหละ ยุคผม อายุสี่สิบห้าสิบก็ต้องที่นี่ จากนั้นก็ไปต่อโรงเรียนรัฐที่วัดไทร ลึกเข้าไปในคลองอีก”

 

ทุกวันนี้ “โรงเรียนจีนริมน้ำ” ที่โฆษิตพูดถึงไม่มีอีกแล้ว ตัวเขาเองก็เติบโตจนมาเป็นครูที่วัดเกาะใหญ่ ซึ่งอยู่ถัดขึ้นไปติดถนนเทียบกับอีกฟากที่ห้องแถวไม้เหยียดยาว ซึ่งขณะนี้แวมไฟยามเย็นบ่งบอกว่ามีคนอยู่เต็มตรงปากคลอง

 

เรือตกกุ้งลอยลำอยู่สี่ห้าลำ เห็นไฟยาสูบแดงวาบอยู่ไกลๆ “เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครมัวกุ้งกันแล้ว ไม่เหมือนตอนเราเด็กๆ น้ำมันเปลี่ยน แต่ก็ดีอย่างนะ ราคามันดีขึ้น คนแม่น้ำถึงยังไม่เลิกตกกุ้ง” เขานั่งรำพึง เมื่อเห็นผมสนใจเรือสี่ห้าลำตรงปากคลอง “มัวกุ้ง” ที่เขาบอกคือการ “กวน” น้ำให้ขุ่นเพื่อหลอกให้กุ้งเมา แต่ต้องทำตอนน้ำลงต่ำสุด เพราะกุ้งตามลำคลองยังไม่ถูกพักไปตามกระแสน้ำ คนที่อยู่ริมน้ำแต่โบราณรู้จักข้างขึ้นข้างแรมมากกว่าวันคืนในปฏิทินสากล

 

เราจากกันเมื่อปากคลองบางน้อยกลับสู่ความเงียบเชียบ โฆษิตนั่งรำลึกอะไรบางอย่างกับเพื่อนต่อ ฟ้าหน้าฝนมืดสนิท ไม่มีใครยี่หระกับฝนที่กำลังจะมา ชายคาบ้านอยู่เพียงหันหลัง ส่วนผมเดินข้ามสะพานไม้ใหม่เอี่ยมที่เพิ่งสร้างเสร็จ มองลงไปในคลองที่ไหลเอื่อย

 

ความเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้มีแต่ในสายน้ำ บางครั้งก็ลอยล่องเงียบงันอยู่ในอากาศ กว่าจะรู้ตัวมันก็ไหลเวียนเข้ามาสู่เราเต็มลมหายใจ

 

ที่ทางของความเปลี่ยนแปลง

หลังพระรูปสุดท้ายรับบาตรป้าพรรณี ผมเดินออกจากที่พัก สวนกับป้างิ้มที่มาเยี่ยมน้องสาวและเพื่อนบ้านเช่นทุกวัน ยามเช้ามากด้วยอากาศสดสะอาดและความเงียบเชียบ

 

ตีโค้งเลยไปถึงวัดไทร นั่งเล่นที่ศาลาท่าน้ำอันหลงเหลือลายฉลุขนมปังขิงอ่อนช้อย สักพักผมก็เดินกลับมาเพื่อจะพบว่า ใครบางคนนั่งจมอยู่กับเก้าอี้และการงานในเรือนไม้หลังเล็กมาเนิ่นนาน ผ่านการเคลื่อนหมุนของข้างขึ้นข้างแรมและสายน้ำริมตลิ่งหน้าบ้านกว่า 50 ปี

 

ป้ายไม้ โรงพิมพ์ ส. วิจิตรวัฒนา สีฟ้าซีดจางวางตัวอักษรสีขาวไว้เหนือขื่อ เมื่อผ่านเข้าไปบนเรือนไม้ พื้นกระดานหน้าแสนกว้างเรียบเงา สะท้อนวันเวลา ลุงวิจิตร ติ๋ววิลาศ ก็นั่งยิ้มอยู่ตรงหน้าตัวเรียงพิมพ์นับพัน เครื่องพิมพ์แบบโยกจากอังกฤษที่ลุงใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 ยังคงทนทานสมกับที่ลุงและอาร่วมกันซื้อมันมาแต่ครั้งก่อน

 

“งั้นๆ แหละ” ผมถามถึงชีวิตทุกวันนี้ แกยิ้ม คล้ายไม่หวั่นไหวอะไร พลางหันไปเบาเสียงข่าวภาคเช้าในจอโทรทัศน์ แสงไล้เข้ามาบางๆ กลิ่นหมึก กลิ่นกระดาษอวลจางๆ อยู่ในเรือนไม้หลังเล็ก

 

สมัยที่คลองหน้าบ้านยังเต็มไปด้วยลูกค้าที่ต้องพายเรือขึ้นมาสั่งพิมพ์การ์ดงานแต่ง งานบวช หรือนามบัตรต่างๆ โดยที่ไม่ต้อง“รอ” ลูกค้าอย่างทุกวันนี้ ลุงเองก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงอะไรไปนัก “มันก็ต้องปรับไป ปรับตัวเรานะ” แกพูดเสียงเบาราบเรียบเช่นเดียวกับสายน้ำ

 

ทุกวันนี้ นานๆ ทีลุงถึงจะเข้ากรุงเทพฯ ไปซื้อกระดาษสักที ตัวเรียงพิมพ์นับพันก็ยังไม่สึกเร็วเหมือนหลายสิบปีก่อน ที่ต้องพอหมดทีก็ต้องนั่งเรือ ต่อรถ ไปหามาจากเยาวราชหรือเฟื่องนคร ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์กลางของโรงพิมพ์น้อยใหญ่

 

“แต่ก่อนที่นี่มันเจริญไง คนดำเนินฯ ดอนมะโนรา ท่าคา ใครก็มุ่งมา” โลกที่ขับเคลื่อนด้วยเรือ แม่น้ำ อาชีพเล็ก ๆ แต่เดิมนั้นเชื่อมโยงเพียงพอ คล้ายเติบโตมาด้วยกัน

 

วันหนึ่งบางอย่างหายไป อย่างเช่นเรือ ใกล้ๆ กันกับโรงพิมพ์ของลุงวิจิตรยังมีอีกทางเลือกหนึ่งที่ใครอีกคนยังเลือกเดินอยู่ริมคลองบางน้อย

 

ป้าย “The Last Home” ของโรงต่อเรือหน่ำเฮงไม่เพียงพาผมไปรู้ว่า เมื่อหัวใจและอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงเพียงภายนอกก็อาจไม่ใช่สารัตถะให้ต้องนิยามความหมาย

 

จากยุคของเตี่ย สมาน วงศ์เจริญสถิตย์ มาสู่รุ่นลูกอย่างธีระพงษ์ อู่ต่อเรือขนาดใหญ่ของคนบางน้อยแห่งนี้เป็นที่โด่งดังไม่แพ้ที่ไหนในแถบนี้ 

 

“คนจากดำเนินยังต้องมาจ้างเตี่ยเลยครับ ไม้นี่ไม่กี่เดือนต้องล่องเจ้าพระยา ท่าจีน มาจากแถบสะพานพระราม 6 มาตุนไว้ อย่างว่า แต่ก่อนเรือมันยิ่งกว่าแขนขา” เขาชี้ให้ดูเครื่องมือช่างไม้โบราณที่ทุกวันนี้แขวนไว้หน้าบ้าน ช่างคู่ใจเตี่ยคนเดิมที่ทำมาแต่เริ่มไสไม้อยู่ด้านใน กลิ่นขี้เลื่อยฟุ้งออกมาหน้าบ้าน

 

“มาหมดมาเลิกไปจริงๆ ก็ปี 34” ธีระพงษ์หมายถึงการเลิกต่อเรือและหันมาสู่การต่อหีบศพและฐานชุกชีแทน “ถนนมันพาไปเรือขึ้นไปหมด” ทักษะเชิงช่างไม้อันตกทอดอยู่ในเลือดจีนไหหลำก็ไม่ได้ทำให้โรงต่อเรือแห่งนี้ต้องปิดตัว ทุกวันนี้คนแถบนี้ยังเชื่อใจในฝีมือของช่างหน่ำเฮง “มันต้องละเอียด ประณีต ไม่แตกต่าง อย่างว่า เรืออาจมีคนเลิกใช้ แต่โลงนี่ใช้กันทุกคน” เขาพูดติดตลกอยู่หน้าป้าย The Last home ขณะที่มองไปยังคลองสายที่หล่อเลี้ยงโรงต่อเรือแห่งนี้มายาวนาน

 

คุยกับคนสองคนที่อยู่ออกมานอกตลาด แต่เป็นลำคลองสายเดียวกัน คนหนึ่งเปลี่ยน คนหนึ่งไม่เปลี่ยน ทว่าเหล่านั้นล้วนเปลือกนอก

 

เมื่อบ้านริมคลองยังรื่นเย็น หลับตาลงอย่างพึงใจ ภายในก็อาจไม่แตกต่าง

 

และล้วนรู้ว่าจะเลือกวางชีวิตต่อไปเช่นไร 

วันนี้ ณ ปากคลองบางน้อย พื้นที่เล็กๆ ริมแม่กลอง