ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ
ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานกรรมการบริษัท สยามพาร์คซิตี้ ผู้เนรมิตพื้นที่ชุ่มน้ำที่ว่างเปล่าของท้องทุ่งมีนบุรี จนกลายมาเป็นโลกแห่งความสุข สนุกไม่รู้ลืม ให้กับเด็กๆ และบรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครองมานานนับเกือบ 30 ปี เขายังคงขับรถกอล์ฟตระเวนลัดเลาะเลียบขอบออกไปยังป่าแอฟริกาด้านหลัง เพื่อตรวจตราการทำงานภายในสวนสยามโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แม้จะล่วงสู่ปัจฉิมวัยแล้วก็ตาม
ชีวิตไม่มีย่อหน้าของเขาดุจดั่งละคร เขาเกิดในตระกูลชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นลูกคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน เกิดย่านทุ่งบางเขน กรุงเทพฯ พ่อแม่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพทำมาหากินที่สยามประเทศ มีอาชีพค้าขายของกินของใช้ ฐานะทางบ้านไม่ค่อยดีนัก การเรียนจึงไม่สูงมาก ทำให้เขาต้องออกผจญภัย อาศัยความวิริยะอุตสาหะหางานทำตั้งแต่วัยเยาว์โดยไม่ย่อท้อ รับจ้างสารพัดเป็นทั้งกระเป๋ารถเมล์ คนขับรถบรรทุกสินค้า พ่อค้าปลาทู พ่อค้าเร่ เพาะพันธุ์ปลาขาย ต้องติดคุกเนื่องจากการเข้าใจผิด จนชีวิตหักเหหันไปจับธุรกิจพัฒนาที่ดิน สร้างบ้านจัดสรรขาย จนประสบผลสำเร็จ จากนั้นก็พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อีกหลายโครงการ มีรายได้พอกพูนเข้าขั้นมหาเศรษฐีโด่งดังของเมืองไทยในขณะอายุเพียงแค่ 40 กว่าปี พร้อมได้รับเลือกให้เป็นนักธุรกิจดีเด่น
วันหนึ่งเกิดแรงบันดาลใจ เมื่อได้ไปเห็นสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ ที่สหรัฐอเมริกา เห็นทะเลบนบกของแดนปลาดิบ ประเทศญี่ปุ่น จึงหันมาดำเนินธุรกิจสวนสนุกด้วยการตัดสินใจซื้อที่กว่า 1,000 ไร่ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขาย แบ่งดำเนินธุรกิจสวนสนุกอีกกว่า300 ไร่
เขาเคยขาดทุนย่อยยับ เป็นหนี้เป็นสิน ถูกฟ้องเกือบล้มละลาย แต่เมื่อเขาตัดสินใจอะไรแล้ว ย่อมไม่รู้จักเกียร์ถอยหลัง เดินหน้าระดมเงินทุนใหม่ จนปัจจุบัน สวนสยามฝ่าวิกฤติพ้นมรสุมและเริ่มทำกำไร วันนี้เขาพร้อมเตรียมวางมือ เกษียณงานให้ทายาทเข้ามาบริหารงานต่อ
บากบั่นเพื่อบุกเบิก
กว่าจะประสบผลสำเร็จจนมาถึงวันนี้ เจ้าสัวนักเลงแห่งสวนสนุก หลับตาหวนนึกภาพของตัวเองเมื่อวัยเยาว์ให้ฟังอย่างไม่อาย ที่ต้องลำบากมาก่อนจึงจะสบายทีหลัง
“ชีวิตในวัยเด็กของผมเมื่อมาคิดดู ชีวิตจริงมันไม่น่าเป็นอย่างนี้เลย ผมไม่มีปัญญาเรียนหนังสือต่อ เพราะพ่อแม่อยากให้ลูกออกมาทำงานมากกว่า ทั้งๆ ที่ผมยังเรียนไม่จบประถม 4 เลย เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมเกิดปี พ.ศ.2481 เมื่อเกิดสงคราม เราก็หนีไปอยู่บ้านนอก ย่านคลอง 12 พอกลับมาผู้ใหญ่บ้านก็จับให้ไปเรียนหนังสือ จนจบประถม 4 แล้ว ผมมาเรียนต่อโรงเรียนสารวิทยาอีก 1 ปี แม่ก็บอกให้ออกมาช่วยงาน แม่เป็นคนหัวโบราณ วิธีของท่านจะบอกว่าถ้าเรียนสูงๆ จบออกมาก็แค่เป็นเสมียน เรียนพออ่านออกเขียนได้ก็พอแล้ว ไปทำมาค้าขายเอง ถ้าขยันขันแข็งก็มีโอกาสเป็นเถ้าแก่ได้ไม่ยาก เรียกว่าอยากให้ลูกออกมาช่วยงานบ้าน
“ผมคิดว่าในการเรียนหนังสือ เราต้องมีวิชาความรู้ เราจึงจะไปถึงเป้าหมายได้ แต่ถ้าไม่มีความรู้ เป้าหมายก็ไปไม่ถึง แต่ด้วยความที่แม่ทำงานหนัก ผมจึงต้องเสียสละ เพื่อนๆ ผมที่เรียนอยู่โรงเรียนสารวิทยาต่อจนจบ ตอนหลังเมื่อจบออกมาแล้วไปเป็นใหญ่เป็นโตเยอะแยะ มีทั้งทนายความ นายทหาร เป็นนายตำรวจ ที่รู้ว่าเขาเป็นใหญ่ก็หลังจากที่ผมได้เป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าที่นั่น ก็เชิญมาประชุมจึงรู้ว่าพรรคพวกเราเป็นถึงอธิบดีก็มี เป็นนายพล เป็นครูบาอาจารย์ก็มี
“ผมเองก็ถือว่าโชคดีตั้งแต่เล็กๆ ที่ได้มีพรรคพวกตอนเรียนบ้าง เมื่อตอนอายุ 12 ขวบก็ถูกฝึกฝนให้มาทำงานด้วยการพายเรือซื้อของจากสี่แยกมหานาค แล้วมาส่งที่ตลาดบางบัว จากนั้นพายไปขายตามทุ่งนาหนองครก แถวสายไหม สะพานใหม่ ออกไปยังมีนบุรี ผมมาดูแล้วว่าถ้าหากเราขืนทำอย่างนี้ต่อไปโอกาสจะเป็นเถ้าแก่ยังมองไม่เห็นเลย ซื้อมาขายหมด ก็พอกินพอใช้พออยู่ได้ ผมจึงบอกแม่ว่า ผมขอออกไปอยู่ข้างนอกดีกว่า ด้วยความรักลูก แม่ก็ไม่ยอมให้ไป ผมบอกว่า เรามีพี่น้อง 8 คนนะ ถ้าทำอย่างนี้อยู่ไม่ได้หรอก
“ผมหนีออกจากบ้านไปเป็นกระเป๋ารถ วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-อุดรธานี ชีวิตผมช่วงนี้ต้องเร่ร่อนคลุกฝุ่นแทบทั้งวัน มันลำบากมาก พอรถเลยรังสิตไปถนนหนทางก็ไม่ดีเป็นทางลูกรังตลอด กว่าจะถึงอุดรธานีก็ต้องผ่านปากช่อง ผ่านโคราชฝุ่นตลบไปตลอดทาง ชีวิตเสี่ยงตายมาก แต่ด้วยความที่อยากทำงาน จึงอยากขับรถ คนขับรถที่เราเรียกว่าลูกพี่ เขาขี้เกียจล้างรถ พอขี้เกียจเราก็ได้ล้างรถเพราะต้องเลื่อนรถไปล้าง เลื่อนไปเลื่อนมาเลยขับรถเป็น
“จากนั้นผมก็มานั่งคิดว่าหากยังเป็นกระเป๋ารถเมล์ต่อไป วันหนึ่งเราต้องตายแน่ๆ เพราะรถมันชนกันบ่อย เดี๋ยวก็พลิกคว่ำจนได้ ผมจึงกลับกรุงเทพฯ ขอให้แม่ออกเงินดาวน์ซื้อรถกระบะเพื่อมาเป็นพ่อค้ารับส่งของ แทนที่จะใช้เรือ เราก็ใช้รถขับไปตั้งแต่ปากคลองตลาด ตลาดเก่าเยาวราช มาซื้อของขึ้นรถ แล้วนำมาส่งตามตลาดต่างๆ รถคันแรกผมใช้ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง กินนอนอยู่บนรถตลอด
“ประมาณตีสองถึงตีสาม ผมต้องนำรถไปจอดที่สะพานใหม่ ตลาดยิ่งเจริญ ไปรับปลาที่เขานำมาจากคลอง 10 เพื่อนำไปส่งองค์การสะพานปลา แล้วก็ไปเก็บคนที่จะไปซื้อปลาทูที่องค์การสะพานปลาขึ้นรถเรามาด้วย ไปถึงที่นั่นประมาณตีสี่ครึ่งถึงตีห้า เขาก็ประมูลปลา เมื่อประมูลได้ เราก็นำไปส่งที่หัวลำโพง จากนั้นก็นำไปส่งต่อที่ตลาดบางบัว บางเขน สะพานใหม่ ดอนเมือง รังสิต จนถึงแปดโมงครึ่ง พอเก้าโมงก็ล้างรถเสร็จ ก็ต้องไปรับบรรทุกปอมาส่งที่หนองจอก เสร็จแล้วกลับมาก็จะนำเอาฟางขนขึ้นรถเพื่อเอาไปให้วัวกินที่ทุ่งนาย่านสถานีรถไฟหลักสี่ แต่วันไหนวัวบาดเจ็บ เดินไม่ได้ เขาก็จะจ้างรถผมบรรทุกวัวไปส่งที่โรงเชือด เห็นแล้วมันน่าสงสารกว่าวัวจะขึ้นรถมันร้องห่มร้องไห้ เหมือนมันรู้ว่าจะโดนฆ่า แต่ก็ต้องนำไปส่งที่โรงฆ่าสัตว์ย่านถนนตก
“ราวบ่ายสองก็เอาเข่งขึ้นรถเพื่อจะนำไปขายให้คนที่ซื้อไก่จากตลาดท่าเตียน ปากคลองตลาด ผมก็ได้เงินช่วงนั้นอีกหน่อย หลังจากนั้นประมาณห้าโมงเย็นก็รับของพวกพืชผักแถวปากคลองตลาดมาส่งตามตลาด ของต้องเรียงอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ให้ช้ำ เสร็จราวสองทุ่ม ส่งของเสร็จก็มีโอกาสพัก ผมก็ขับรถไปตลาดสะพานใหม่ เพื่อไปรอรับปลา ตอนเช้าตั้งแต่ตีสี่ถึงสองทุ่ม
“ผมทำงานไม่ได้หยุดเลย ซื้อข้าวห่อมากินและนอนบนรถ พอ 3-4 ทุ่มก็ต้องกลับมาที่โรงฆ่าสัตว์ ใกล้ๆ ตลาดยิ่งเจริญ เป็นโรงงานฆ่าหมู ก็แวะนำเอาหมูไปส่งตามเขียงหมู กว่าจะหมดก็เที่ยงคืนถึงตีหนึ่ง เป็นวัฏจักรอย่างนี้ทุกวัน”
กระทบไหล่นายพล
น่าคิดว่าตอนนั้นเขาคิดอะไรอยู่ในใจ ถึงได้ยอมทนลำบาก ในขณะที่คนส่วนใหญ่อยากพักผ่อนนอนหลับ
“ผมคิดว่าความจนมันบีบบังคับ แล้วถ้าผมหาเงินไม่ได้ แม่ต้องรับผิดชอบด้วยการเป็นหนี้ค่าผ่อนรถแทนผม ซึ่งมีคนอื่นค้ำประกันให้ ผมเองจึงต้องเร่งหาเงินให้พอให้ได้มาเป็นค่าซ่อมรถ ค่ายางอะไหล่ ค่าซื้อเสื้อผ้ามาเปลี่ยน ฉะนั้นสิ่งเหล่านั้นมันมาจากเงินตรงนี้ ถ้าผมทำงานเวียนอยู่อย่างนี้มันก็ไม่เดือดร้อนอะไร เมื่อมีเหลือก็ส่งให้ทางบ้านเป็นค่าใช้จ่ายบ้าง ค่าผ่อนรถและค่าแชร์บ้าง ตอนนั้นเพิ่งอายุ 17-18 ปีเท่านั้นเอง ผมทำงานตรงนี้มาเกือบ 5 ปี รถผมสามารถผ่อนหมดภายใน 3 ปี อีก 2 ปีต่อมาเมื่อลูกค้ามากขึ้น จึงไปซื้อรถคันใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ผมจึงยกรถคันเก่าให้พี่ชายไปรับผิดชอบงานที่ผมทำ
“เมื่อผมครบ 20 ปี ก็บวชเรียน บวชได้ 1 เดือนก็สึกออกมาทำงาน แต่พอสึกออกมาก็โดนเกณฑ์ทหารพอดี ชีวิตเลยต้องไปเป็นทหารเกณฑ์อยู่อีกปีเศษๆ ผมมาเป็นทหารรับใช้ ยุคนั้นเป็นยุคจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ผมอยู่บ้านพักนายทหารเป็นทหารรับใช้สักระยะหนึ่ง หลังจากนั้นพอพ้นเกณฑ์ บังเอิญผมรู้จักกับอาจารย์ท่านหนึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านบอกว่า ‘คุณไชยวัฒน์ คุณมีรถก็ดีแล้ว เพราะทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เขาเปิดคณะประมง แล้วเขาจะสอนการสาธิตเพาะพันธุ์ปลา คุณมีหน้าที่หาอุปกรณ์ หาแหล่งน้ำมาเพาะพันธุ์ ได้เท่าไร คุณนำไปขายเพื่อนำมาเป็นทุน เดี๋ยวจะสอนให้’ แล้วอาจารย์ก็ชวนเพื่อนๆ 7-8 คนมาสอนด้วย บ้านผมอยู่บางบัว อยู่ริมน้ำพอดี ผมก็ซื้อกระชัง ซื้อเชือกไนลอนมาผ่า วางกระชังเพาะพันธุ์ปลาตามลำน้ำตามที่อาจารย์ท่านแนะนำ
“ตอนนั้นวิทยาการยังไม่ค่อยดี เรียกว่าเพาะเลี้ยงด้วยการรีดไข่ออกมา แล้วก็ผสมเทียมข้างนอกให้ไปโตในน้ำ ผลออกมายังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ถือว่ายังใช้ได้ พอดีมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งจัดรายการวิทยุเกษตรชื่อ สุรินทร์ มุทิตานนท์ เขาก็ออกข่าวให้ผมว่าผมมีพันธุ์ปลาหลายสายพันธุ์ขาย ผมก็ต้องไปจดรูปแบบบริษัท จึงไปหาพระอาจารย์ที่นับถือ ให้ท่านตั้งชื่อให้ ท่านบอกว่าตั้งให้ไม่ได้หรอกโยม เพราะการเพาะพันธุ์ปลามันเป็นบาปกรรม เป็นการค้าสัตว์ พระอาจารย์ท่านไม่ตั้งให้ ผมก็ตื๊อโดยผมบอกท่านว่า
ทำเป็นการสาธิตการทำพันธุ์ปลาเพื่อเพาะเลี้ยง เป็นการส่งเสริมด้านการเกษตร เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีอาชีพ มีอาหารโปรตีนกินดี เราไม่ได้ฆ่าเขา ท่านจึงยอมตั้งให้ว่า “อมรพันธุ์” อมรคือไม่ตาย พันธุ์คือการขยาย จึงได้ตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักงานอมรพันธุ์
“จากนั้นผมก็โฆษณาขาย เขียนป้ายขนาดใหญ่ว่า เป็นที่จำหน่ายพันธุ์ปลา ต่อมาก็มีคนที่จังหวัดจันทบุรี เขาอยากจะเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา ก็มาสั่งที่ผม สั่งเยอะมากเป็นรายแรกๆ เราก็ขายได้เรื่อยๆ เป็นเงิน 1 แสนบาท สมัยนั้นเห็นเงินแสนต่างพากันตื่นเต้นกันทั้งตลาด (หัวเราะ) ผมก็สั่งพันธุ์ปลาไปจังหวัดจันทบุรี ประมาณ 15 วันก็ส่งเสร็จเรียบร้อย ได้เงินมา ผมก็นำไปเซ้งบ้านไม้ 2ชั้นในตลาด แล้วแต่งเป็นออฟฟิศชื่อว่าสำนักงานอมรพันธุ์ จำหน่ายพันธุ์ปลาทั่วประเทศ จนกระทั่งเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศ
“พอถึงวันเกษตรแห่งชาติ ผมได้มีโอกาสพบปะกับผู้คนที่มาเที่ยวในงานเกษตรแห่งชาติ แล้วผมก็ไปออกร้านที่นั่น บังเอิญมีท้าวพันวิไลสา ท่านเป็นนายพลทหาร ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทหารผ่านศึก แต่ที่นั่นเขาเรียกรัฐมนตรีนักรบข่าว เดินทางมาจากประเทศลาว เขาเข้ามาติดต่อกับผมให้ผมไปสาธิตการเพาะพันธุ์ปลาที่ประเทศเขา ผมก็บอกว่าการส่งเสริมในต่างประเทศนั้น ผมยังไม่มีความสามารถพอ ให้ท่านไปติดต่อที่กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็แล้วกัน เขาจะรู้ดีกว่าผม แต่เขากลับบอกว่านักเพาะพันธุ์ตอนนี้อยู่ที่สำนักงานอมรพันธุ์กันหมดแล้ว
“ผมก็เลยแนะนำให้ไปหาอาจารย์ที่เคยแนะนำผมในด้านการเพาะพันธุ์ปลาไปสาธิตให้เขาก็แล้วกัน หลายวันต่อมาเขาก็แวะเข้ามาหาผมอีก ด้วยความที่นึกอยากจะไปเที่ยวประเทศลาว ผมก็เลยบอกว่าขอให้ทำหนังสือเป็นทางการมา ค่าใช้จ่ายคุณออกให้หรือให้ผมออกเอง ผมก็ไม่ว่าอะไร เมื่อคุณทำหนังสือมาแล้ว ผมจะบอกให้ว่าควรจะไปหาใครบ้าง
“เวลาผ่านไประยะหนึ่ง จดหมายอย่างเป็นทางการก็มาถึงผม เพื่อให้ผมไปสาธิตที่ประเทศลาว แต่จดหมายมันมาปลายเดือนมีนาคมพอดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปิดเทอม ผมติดต่ออาจารย์ไม่ได้ เพราะอาจารย์กลับบ้านกันหมด กลับไปได้เดือนกว่าๆ ผมไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะสมัยก่อนติดต่อกันยากมาก จดหมายไปเวียงจันทร์ กว่าจะถึงก็กินเวลานาน ผมจึงตัดสินใจเดินทางไปเวียงจันทร์เองพร้อมกับลูกน้องที่พูดภาษาอังกฤษได้ พอไปถึง รัฐบาลลาวโดยรัฐมนตรีท้าวพันวิไลสา เขามาต้อนรับให้เกียรติอย่างเป็นทางการ แนะนำว่าผมเป็นนักวิชาการด้านการเกษตรจากประเทศไทย เอารถมารับไปส่งที่โรงแรม เขาจะให้ไปสาธิตที่บ่อปลาขององค์การทหารผ่านศึกที่เขาจัดไว้
“ปรากฏว่าคืนนั้น รัฐมนตรีเกษตรของลาวส่งลูกน้องของเขามารับเพื่อเชิญผมมาเลี้ยง วันนั้นเราไม่ได้คุยเรื่องงานกันเลย คุยแต่เรื่องสนุกสนานกัน พอวันรุ่งเช้าเขาก็มารับไปที่บ่อปลา พอไปดูบ่อปุ๊บมองดูน้ำแล้วชิม ผมสบายใจแล้ว ผมแก้ปัญหาได้เหมือนมีอะไรมาดลใจ คำพูดของอาจารย์ก้องเข้ามาบอกว่า ถ้าเอาปลาลงไปในบ่อนี้ ปลาจะตายหมดเพราะน้ำมันฝาด มันเป็นกรดด่างเยอะ ผมจึงให้เขาวิดน้ำให้แห้ง แล้วใช้วิธีแก้ทางธรรมชาติให้กับเขา โดยใช้น้ำปูนขาวและปุ๋ยหมักมา หากไม่มีให้นำขี้ไก่หรือขี้หมูแห้งหรือหญ้าแห้งมา จากนั้นนำปูนขาวมาหมัก 2 อย่างพร้อมกับบอกว่าอีก 2 วันผมจะมาทำให้เขา
“ตอนนั้นมั่นใจกับสิ่งที่แนะนำเขาไปว่าจะต้องสำเร็จแน่ๆ ผมมั่นใจแต่ไม่ 100% เพราะปูนขาวแก้กรดด่างขึ้นมา นำเอามูลแห้งหรือหญ้าแห้งทิ้งไว้ 2 วัน น้ำจะเปลี่ยนสี มีตะไคร่น้ำขึ้น ถือว่าใช้ได้ พอมองเห็นไรน้ำบ้าง ผมมองน้ำอย่างเดียวก็รู้แล้ว ผมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อไม่ให้เขาซักถามผมมาก มันเป็นเชิงจิตวิทยา เสร็จแล้วบ่อต่างๆ เขาก็แก้ไขตามที่ผมบอก คือใส่ปูนขาวกี่กิโลกรัม ปุ๋ยหมัก หญ้าแห้งกี่กระสอบ 2 วันน้ำก็เปลี่ยนสีแล้ว พอวันที่ 4-5 ก็นำปลาตัวเล็กๆ ปล่อยลงไปในบ่อ โอ้โห ปลาตัวเล็กๆ ว่ายไปกินลูกไร เขาก็ยกย่องว่าเราเป็นนักวิชาการเกษตร เขาจึงมีจดหมายชมเชยเป็นประกาศนียบัตรมาว่านักวิชาการเกษตรของไทยแนะนำเกษตรกรของลาวให้รู้จักวิธีเลี้ยงปลาเพื่อนำมาจำหน่ายและบริโภค สามารถดูน้ำแล้วแก้ปัญหาน้ำได้ภายใน 5 วัน (หัวเราะ)
“ล็อตนั้นผมขายปลาได้จำนวนมาก เพราะการจ่ายเงินไม่ใช่ประเทศลาวเป็นผู้จ่าย แต่เป็นประเทศสหรัฐอเมริกา เขาช่วยเหลือทหารผ่านศึก เขาจึงส่งเสริมด้านการเกษตร เขาจ่ายเงินเป็นดอลลาร์ ผมจึงได้เงินจากรัฐบาลอเมริกา ทำให้ประเทศลาวสั่งซื้อพันธุ์ปลาจากผมอีกเป็นจำนวนมาก
“ช่วงนั้นฐานะทางการเงินของผมเริ่มดีขึ้นมาทันตาเห็นในปี พ.ศ.2512 แต่ทำไปได้สักระยะหนึ่งจึงเกิดความเบื่อหน่าย เพราะต้องคลุกคลีอยู่กับสภาพน้ำ ต้องลงลุยน้ำ แก้ปัญหาสารพัด ผมจึงอยากเปลี่ยนอาชีพใหม่ บังเอิญมีพรรคพวกคนหนึ่งเป็นเศรษฐีที่ดินแถวนั้น ชื่อบุญชู เธียรสวน เขาแนะนำผมให้ไปจับที่ดินดีกว่า ตอนนั้นผมได้เงินมาจากการเพาะพันธุ์ปลามา ก็นำเงินไปซื้อตึกอยู่หน้ากรมป่าไม้ ทำเป็นออฟฟิศขนาดใหญ่ตึกสวยงาม โดยมีพลเอกทหารอากาศท่านหนึ่ง มาเปิดห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้ให้ แล้วตั้งคุณบุญชู เธียรสวน มาเป็นประธานจากนั้นมาก็เพาะพันธุ์ปลาไปด้วย แล้วก็หาวิธีซื้อที่ดินไปด้วย พร้อมกับจัดสรรที่ดินทำขายไปด้วย
“พอดีมีบุคคลหนึ่งเข้ามาในชีวิต ทำให้เราเปลี่ยนอาชีพได้เร็วขึ้น นายของเขาอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย เขาบอกว่าเขาจะซื้อพันธุ์ปลาผมไปเลี้ยงที่บ่อ ย่านพระประแดง ผมจึงไปดูบ่อเสร็จแล้ว ผมก็นำพันธุ์ปลาไปให้ ผมมาเห็นทำเลนี้ดีมากถ้าเอามาปลูกตึกขายก็จะดี ผมจึงขอซื้อเขา แต่เขาไม่ขาย เพราะเขามีเงินเยอะอยู่แล้ว เขารวยที่ดินมากมายมหาศาล ที่คลองเตยก็มี แล้วเขาอยู่หน้ากระทรวงมหาดไทยด้วย ไม่รู้จะทำอย่างไรดีจึงเสนอให้นำพันธุ์ปลามาแลกกับที่ดินก็แล้วกัน เขาจึงเสนอว่าให้เช่าที่ตรงนี้ไป30 ปีแล้วปลูกตึกให้เขาก็แล้วกัน เราก็ขายของไป เขาก็เก็บค่าเช่าไปเอาที่ดินมาแลกพันธุ์ปลา
“ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไร จึงไม่ได้ทำสัญญาอะไรกัน เมื่อนำปลามาส่ง เราก็เอาที่มา จากนั้นก็ลงเสาเข็มเพื่อสร้างตึก ช่างนั่งร้านที่มาตอกเสาเข็ม มันก็บอกว่า ให้เขาทำเถอะถามว่าผมเช่ามาเท่าไร ผมก็บอกเขาว่า เฉพาะพันธุ์ปลาของผมก็แสนกว่าบาท แต่ถ้าจะเช่าผม ผมเอากับคุณสามแสนบาทก็แล้วกัน แล้วคุณก็ไปทำเอง ทำเสร็จแล้วคุณต้องยกให้นายห้างเขาเลยนะ เสียเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะประมาณ 3-4 หมื่นบาท เพื่อสร้างตึกแถว 2 ชั้น ค่าเช่าแค่หมื่นห้าเอง ก็ตกลงตามนี้ เสร็จแล้วเขาก็ให้เงินผมมา 2แสน อีกแสนเศษจะให้เมื่อสร้างเสร็จเป็นค่าพันธุ์ปลาที่กำไร อีกแสนก็นำไปซื้อรถ”
ชีวิตเริ่มรุ่ง... หลังนอนมุ้งสายบัว
ชีวิตเขาเริ่มหักเหจากการจับธุรกิจที่ดิน จนรุ่งเรืองเป็นที่โจษขานไปทั่ว แต่ก็เหมือนกับเบื้องบน ทดสอบกำลังใจอีกวาระหนึ่งให้รับรู้รสชาติของชีวิต
“เวลาผ่านไป 2 อาทิตย์ ผมกำลังจะไปปรึกษากับท่านประธานว่ามันง่ายดีนะ ทำอย่างนี้มาก็ได้กำไรเป็นแสน ท่านก็แนะนำว่าให้ซื้อที่ดินปลูกตึกขายเองดีกว่า ถ้าให้เช่าอย่างนี้มันจะไปรวยที่คนอื่นเขา เราควรทำแล้ว ขายพร้อมที่ดินเลยดีกว่า กำไรหลายต่อ ก็ตกลงตามนั้น พอออกจากบ้านท่านประธานย่านสะพานใหม่ รถตำรวจกองปราบ มาจอดขวางหน้าแล้วเข้ามาจับกุมผม ผมก็บอกว่ามาจับผมเรื่องอะไร ตำรวจบอกว่านายห้างไปแจ้งความว่าผมยักยอกทรัพย์ นำที่ดินของเขาไปให้คนอื่นเช่าโดยไม่ได้บอกกล่าว
“ตำรวจเขาก็จับผมไปที่ สภอ. พระประแดง ผมต้องนอนอยู่ในห้องขังตั้ง 2-3 คืน หาคนมาประกันตัวไม่ได้ จึงวานคนเขาให้ไปบอกท่านประธานมาประกันตัวหน่อย เพราะท่านมีหลักทรัพย์เยอะ แต่ติดต่อไม่ได้อีก ผมต้องนอนในตะราง อีกหนึ่งอาทิตย์ จึงได้รับการประกันตัวออกมา แต่ก็มักจะมีโชคมาช่วยผมอีก ภรรยาของนายห้างนั่นเอง ตอนที่เขามาซื้อพันธุ์ปลาผม เขาให้ผมไปช่วยทำหลังคากล้วยไม้ที่บ้านใกล้กระทรวงมหาดไทยให้หน่อย ผมก็ไปทำให้ฟรีโดยไม่ได้คิดอะไร เขาจึงซึ้งในน้ำใจผม เขาจึงไปให้ปากคำกับตำรวจเจ้าของคดีว่าที่มาของที่ดินผืนนี้ สามีเขามาซื้อพันธุ์ปลาผม แล้วแลกเปลี่ยนกับที่ดินกันจริง แต่ว่าคุณไชยวัฒน์ แกต้องการกำไร แทนที่จะทำเอง กลับนำไปให้คนอื่นเขาทำโดยไม่ได้บอกกล่าว ถือว่าผิดโดยไม่ได้บอกกล่าวหรือบอกเขาก่อน ถ้าจะให้คนอื่นทำ ก็บอกเขาก่อนเขาก็จะไม่ว่าอะไร เขาให้การช่วยเหลือผม ตำรวจเขาก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นก็ไม่ผิดในเรื่องยักยอกทรัพย์ ไม่เข้าข่ายคดีอาญา ผิดสัญญาในเรื่องทางแพ่ง เขาก็บอกอีกว่าสัญญาก็ไม่มีไม่ได้ผิดทางแพ่ง แต่เป็นการผิดคำพูด ตำรวจก็ให้เราไปฟ้องร้องกันเอาเอง
“สุดท้ายอัยการจังหวัดสมุทรปราการก็สั่งไม่ฟ้อง ตกลงผมก็หลุดคดีออกมา จากนั้นมาโชคก็เข้าข้างผมอีก ก็เลยได้ซื้อที่ดินย่านบางเขนทำเป็นหมู่บ้าน แล้วตั้งชื่อหมู่บ้านเธียรสวน 1 ก็ขายดี จึงมาทำหมู่บ้านเธียรสวน 2 และ 3 แล้วขยายมาทำหมู่บ้านอมรพันธุ์ 4 ขยายไป 5-6-7-8 จากนั้นจึงมาสร้างศูนย์การค้าอมรพันธุ์ เสร็จแล้วก็มาตั้งบริษัทเงินทุน ตั้งบริษัทเครดิตฟองซิเอร์และอีกหลายบริษัท
“พอปี พ.ศ.2518 ผมก็ลงสมัครส.ส.สังกัดพรรคชาติไทย ตอนนั้นต้องแข่งกับพรรคประชาธิปัตย์ เขาเอา 4 คน ผมได้คนที่ 5ลงเขตบางเขน ดอนเมือง ห้วยขวาง บางกะปิ มีนบุรี หนองจอก แต่ก่อนมันเลือกเป็นพวงจึงแพ้การเลือกตั้ง หลังจากพลาดจากการเลือกตั้งแล้ว ผมมาทำหมู่บ้านอีก ก็ขายดีเป็นที่รู้จักกันทั่วไป จึงมาเปลี่ยนชื่อเป็น ช.อมรพันธุ์ ขึ้นมา เนื่องจากผมตั้งบริษัทขึ้นมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อทำใหญ่โตมันเป็น หจก.ไม่ได้ ก็สร้างเป็นรูปแบบบริษัทขึ้นใช้ชื่อว่า บริษัท ช.อมรพันธุ์จำกัด ไปสร้างศูนย์การค้าย่านเกษตรและสร้างอีกหลายที่จนเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ เมื่อคุณยิ่งยง สะเด็ดยาด จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เขียนข่าวว่าผมมีเงินเป็นพันๆ ล้าน เป็นเศรษฐีพันล้าน ร่ำรวยมาจากความวิริยะอุสาหะจากคนที่ไม่มีอะไรเลย จนมามีเงินเป็นพันล้านได้อย่างไร ช่วงนั้นโด่งดังมาก สื่อมวลชนก็ตามมาสัมภาษณ์กันเยอะแยะ”
ผุดโลกแห่งความสุข
ราวปี พ.ศ.2521 หลังจากประสบผลสำเร็จด้านอสังหาริมทรัพย์ ร่ำรวยเงินทองมีชื่อเสียง มีเครดิต เขามีความใฝ่ฝันว่าอยากจะสร้างสวนสนุก ทั้งๆ ที่มีคู่แข่งอย่างสวนสนุกแดนเนรมิตอยู่แล้ว
“ผลสุดท้าย นายที่เคยช่วยเหลือผม คือคุณชาตรี โสภณพนิช ก็มาบอกว่าเห็นผมฝันว่าจะสร้างดิสนีย์แลนด์เมืองไทย ท่านมีที่ดินอยู่ผืนหนึ่งร่วมพันไร่ ผมก็เลยว่าจะซื้อต่อจากท่านพันไร่ แล้วก็สร้างสวนสนุก ที่อีกส่วนหนึ่งนำมาจัดสรรที่ดิน เพื่อเอากำไรมาลงทุนก็จึงตกลงกัน เมื่อมาดูที่ดิน โอ้โห ต้องพายเรือมาเพราะมันเป็นบึงบัว ผมก็วางแผนกับนักวิชาการ สถาปนิกและพรรคพวกที่อยู่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอีกหลายคน เข้ามาปรึกษากันว่าจะทำดิสนีย์แลนด์เมืองไทยได้อย่างไร
“ผมจึงเดินทางไปสหรัฐอเมริกา ไปดูงานที่ดิสนีย์แลนด์ แล้วก็ไปเที่ยวดูสวนสนุกอื่นๆ อีกด้วย พอไปถึงช่วงนั้นมีคนรู้จักแนะนำให้ไปพบกับประธานที่ลอสแอนเจลิส ซึ่งเมื่อก่อนยังไม่มีดิสนีย์เวิลด์ มีแต่ดิสนีย์แลนด์ เมื่อไปเจอ เขาบอกว่า ประเทศไทยตั้งสวนสนุกไม่ได้หรอก เนื่องจากค่าใช้จ่ายมันเยอะ ทั้งคนงานของคุณ พวกเงินเดือนพนักงาน แค่ค่าผ่านประตูตอนนั้น 50-60 บาทก็ว่าแพงแล้ว แต่ที่ดิสนีย์แลนด์ เขาต้องเก็บค่าผ่านประตูคนละเป็นพันบาทในสมัยนั้น แล้วต้องมีที่จอดรถเยอะ การลงทุนมหาศาล ฉะนั้นอย่างน้อยๆ ก็ต้องมีคนเข้ามาเที่ยวสวนสนุกปีละ 8-10 ล้านคน ถึงจะบริหารดิสนีย์แลนด์ได้
“ตอนนั้นมีสวนสนุกแดนเนรมิต มีสวนสนุกแฮปปี้แลนด์ ก็กะว่าเราจะทำอีกมุมหนึ่งแบบดิสนีย์แลนด์เมืองไทยแบบธีมพาร์ค หลังจากไปศึกษาดูงานสวนสนุกเสร็จ ก็กลับมาเมืองไทยจึงประชุมกัน ทางโน้นรู้จักกับนายผม เขาก็รายงานมาว่าสร้างไม่ได้หรอกที่เมืองไทย เพราะการลงทุนเยอะ ลงทุนด้วยเงินดอลลาร์ แล้วมาเก็บเงินบาทไทย มันคงไม่ไหว ไปดูที่มาเก๊าก็เจ๊ง ที่ไหนๆ เปิดมาแล้วเจ๊งหมด มาเก๊าตอนหลังที่มันอยู่ได้เพราะเขามีรถแข่ง มีแข่งม้า แข่งหมา แล้วนำเอาเงินตรงนั้นมาช่วย เรื่องพวกนี้จะทำได้มีอยู่ 3 องค์กรคือ องค์กรการกุศล รัฐบาล และพวกเศรษฐีที่มีเงินเหลือเฟือ แล้วเงินมันอยู่ว่างๆ จึงนำเอาเม็ดเงินมาลงทุนเพื่อให้มูลค่าของเงินมันอยู่ตัว แล้วถามว่าผมจะอยู่หน่วยงานไหน ไม่มีเลย เขาบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็เลิก
“ทีนี้ผมบอกกับสื่อมวลชนไปแล้ว วางศิลาฤกษ์ที่ตรงนี้ไปแล้ว ก็ว่ากันไปว่ากันมาอยู่อีกครึ่งปี ผมจึงออกไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีเพื่อนชื่อโอมายาชิ มารับไปดูสวนน้ำ ไปดูสวนสนุกยังที่ต่างๆ จึงคิดว่าทำแค่สวนน้ำก็พอ โดยจะนำทะเลมาไว้ที่กรุงเทพฯ ดีกว่า ผมไปดูที่นั่น เห็นแล้วตื่นเต้นมาก มีคลื่นซัดฝั่งเหมือนทะเลจริงๆ ก็เลยตกลงจะสร้างสวนน้ำในกรุงเทพฯ เชิญนักวิชาการด้านต่างๆ มา มีทั้งด้านการประปา ด้านนิคมอุตสาหกรรม ด้านผังเมือง วิศวกรโครงสร้างเหล็ก ด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ