ติ๊ก ชิโร่

ติ๊ก ชิโร่

เขาคือมนุษย์ที่หลายคนกล่าวถึงและยกย่องในสามารถมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้ เพราะเขาสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองออกมาได้หลายรูปแบบ เขาเป็นทั้งนักดนตรี นักร้อง นักแสดง นักธุรกิจ และอีกมากมาย ผลงานหลายอย่างของเขาเป็นที่ยอมรับแทบทุกแขนง แต่ยังมีผลงานอีกรูปแบบหนึ่งที่มีแค่คนกลุ่มน้อยที่จะรู้ว่าเขามีฝีมือทางด้านการวาดภาพ ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าฝีมือดีคนหนึ่งของประเทศเลยทีเดียว เขาคนนี้ชื่อ มนัสวิน นันทเสน ผู้ที่มักเรียกตัวเองว่า โต้ ชีริก หรือ ติ๊ก ชิโร่

 

เขาเริ่มต้นวาดภาพมาตั้งแต่ พ.ศ.2518 โดยไม่ได้คาดหวังเลยว่าจะได้แสดงผลงานทางศิลปะหรือไม่ ได้แต่ทำงานและเก็บสะสมมาเรื่อยๆ จนมีมากกว่าร้อยชิ้น ติดให้เห็นอยู่ทั่วบ้าน และที่ผ่านมาเขาเคยจัดแสดงงานภาพวาดของตัวเองมาแล้วเมื่อปีพ.ศ.2549 ในชื่องานว่า “All is One” หรือ ทุกสิ่งคือสิ่งเดียว

 

“งานศิลปะของผมสามารถออกมาได้ทุกรูปแบบ ทุกเวลา ทุกนาที ทุกสถานการณ์ แล้วก็ทุกพื้นที่ ผมเคยวาดภาพ ภราดร ศรีชาพันธุ์ ชนะ อังเดร อากัสซี่ ตอนนั้นผมนั่งอยู่บนเครื่องบิน พวกแอร์โฮสเตสเดินไปเดินมาก็สนใจกันใหญ่ พอกลับมาคุณสุวัจน์ลิปตพัลลภ ก็ซื้อภาพนี้ไปเพื่อเป็นของขวัญให้กับภราดร หรืออย่างอีกที่หนึ่งผมไปฮาวาย ไปเจอนกชนิดนึง เกิดความรู้สึกว่านี่มันนกหรือมันไก่ แต่มันเล็กกว่าไก่แจ้ ดูไปอีกทีมันนกนี่นา ก็เลยไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร เลยสเก็ตแล้วก็วาดภาพมันออกมา นี่คือแนววิธีคิดของผม”

 

เขาบอกว่างานของตัวเขาเองนั้นเป็นแนว Expressionism เป็นเรื่องของการตัดทอนลดเหลี่ยมความเป็นจริง เอาความรู้สึกภายในจิตใจปล่อยออกมา ผลงานที่เขาทำล่าสุดและชื่นชอบพร้อมภูมิใจนำเสนอนั้น อาจดูแปลกตาไปสักนิด เพราะมีการนำสื่อผสมมารวมอยู่กับภาพวาด โดยในขั้นแรกจะวาดภาพขึ้นมา ก่อนที่จะมาดัดแปลงจับขวดยาธาตุใส่เข้าไปทีหลัง ภาพนี้มีชื่อว่า เดนมาร์คที่สื่อถึงแนวความคิดของ 3R คือ Reduce, Reuse และ Recycle

 

“แนวทางด้านศิลปะของผมมันจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะผมจะเป็นคน 2 ความคิด ความคิดแรกจะเป็นในแนวอนุรักษ์ง่ายๆสบายๆ แต่อีกแนวคิดหนึ่งคือเชิงเหยี่ยว คือการต่อต้าน ห้ามปราม แต่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม

 

 “ตอนแรกผมวาดภาพนี้ยังไม่พอใจ ผมก็เอาไปวางทิ้งไว้ก่อน แล้วมานั่งคิดๆ จนได้ นั่นก็คือการ Reuse นั่นเองคือการไม่เอามันทิ้งเป็นขยะ แต่เอากลับมาทำใหม่ ผมภูมิใจมากกับแนวคิดนี้ ผมเลยเอาขวดยาธาตุน้ำขาวตรากระต่ายบิน ตัดมาใส่ แล้วมันใช่เลย จากนี้ไปก็จะเป็นการสร้างแนวคิดใหม่ในเรื่อง 3R ของงานศิลปะลดโลกร้อน ดูแลโลก แล้วก็ลดขยะ ดูสภาพแวดล้อม แล้วก็อิ่มเอมในงานศิลปะ”

 

ณ วันนี้ความฝันอีกอย่างที่กำลังจะเป็นจริงก็คือการจัดงานศิลปกรรมร่วมกันกับนักดนตรีตำนานชื่อดังจากเกาะอังกฤษอย่าง รอนนี่วู้ด จากวงโรลลิ่งสโตนส์

 

“ความฝันของผมมันลอยมาใกล้มือแล้ว เพราะฉะนั้นฝันเถอะครับ แล้วอย่าดูถูกความฝันของใครคนใดคนหนึ่ง จงอย่าหยุดที่จะคิดหรือหยุดที่จะฝัน อย่าหยุดที่จะก้าวต้องเดินต่อไป ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ติ๊ก ชิโร่ คนนี้ไม่เคยหยุด”

 

ความฝันที่เป็นจริงในครั้งนี้ของเขาก็คือการรวมตัวกันสร้างสรรค์งานศิลปะ เพราะ ติ๊ก ชิโร่ และรอนนี่ วู้ด จากวง โรลลิ่งสโตนส์ มีอะไรที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นนักดนตรีเหมือนกันและมีความสามารถทางด้านศิลปะเหมือนกัน ถือว่านี่เป็นโครงการทางด้านศิลปะงานระดับโลกอีกงานหนึ่งก็ว่าได้ โดยงานนี้จะจัดขึ้นประมาณกลางปีหน้า ทั้งที่ประเทศไทยและทางฝั่งยุโรป

 

“ผมอยากให้สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหายไปหรือลดน้อยลง ผมก็เลยคิดเรื่องนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางด้านศิลปะระหว่างทางฝั่งยุโรปและคนไทย โดยจะเอาศิลปะและดนตรีมาผสมผสานกัน เป็นงานที่ทั้งสองฝั่งได้ประชาสัมพันธ์ทางสื่อผ่านทางงานศิลปวัฒนธรรม”

 

ต้องยอมรับว่าการที่จะก้าวไปถึงระดับนี้ได้ต้องใช้ความสามารถเป็นอย่างมาก แต่ในทางกลับกันยังมีคนที่เก่งทางด้านศิลปะอีกมากที่ยังขาดความการสนับสนุนและการตอบรับจากสังคมนั้นมีน้อย

 

“ผมว่าทุกหน่วยงานทุกองค์กรต้องหันมามองคนทำงานศิลปะ ผมขอสองอย่างที่ใหญ่ๆ เลยนะครับคือคนทำงานศิลปะกับคนพิการจะต้องให้บุคคลเหล่านี้เข้ามาในองค์กรใดๆ ก็ตามหนึ่งหรือสองคน แล้วก็ต้องใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะเข้ามาพัฒนาองค์กร เข้ามาพัฒนาทางด้านศิลปะและหน่วยงาน สมมุติว่าในภาครัฐก็จะต้องมีคนที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ อย่างเรื่องของการทำป้ายก็ให้คนที่มีความสามารถทางศิลปะคิด ประกวดเรื่องป้าย ก็จะได้สิ่งใหม่ๆ

 

“อนาคตผมอยากจะมีเงินเยอะๆ นะ เพื่อที่ว่าผมจะได้นำเงินตรงนี้มาทำอีกอย่างที่ผมอยากจะทำ ผมเองไม่ต้องการอะไร ผมกล้าบอกได้เลยว่า ติ๊ก ชิโร่ เคยตายมาแล้วครั้งหนึ่งจากอุบัติเหตุ แล้วฟื้นมา แค่นี้ผมก็ไม่ต้องการอะไรอีกเลย เงินทองแค่มีพออยู่พอกินก็พอแล้ว ผมอยากจะทำอะไรที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยการเอาเงินของผมไปสร้าง ไปแบ่งบัน แต่ไม่ใช่เพื่อตัวเองครับ”

ผมเองไม่เคยคิดเลยว่าผมมีไอคิวหรืออีคิวเท่าไหร่