ภูพยัคฆ์

ภูพยัคฆ์

อากาศเย็นสบายในยามเช้าปลุกเราให้ลงจากบ้านพักที่อยู่เหนือขึ้นไปบนไหล่ดอย หมู่บ้านเล็กๆ ของชาวลัวะอย่างบ้านน้ำรีพัฒนา เคลื่อนไหวตัวเองอย่างเรียบง่าย ตลาดนัดจากคน “ข้างล่าง” พาสินค้าจิปาถะหลากหลายมาตั้งที่ลานดินตรงใกล้กับห้วยน้ำรี

ควันไฟลอยกรุ่นขณะที่แม่เฒ่าชาวลัวะในผ้าซิ่นสีทึบทึมสลับแถบสี เยื้องย่างตัวเองลงรับแดดอุ่นที่ลานดินหน้าบ้าน หนุ่มๆเตรียมข้าวห่อ มีดพร้า เดินลับหายไปในไร่ที่แทรกซอนอยู่รอบๆ ทิวดอย 

ว่ากันว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเร่ร่อนมาเริ่มต้นชีวิตและความเป็นตัวตนอยู่ที่นั่น ห้วงยามที่ภูเขาไร้เส้นแบ่งดินแดน คนลัวะผูกพันกับการใช้ชีวิตเหนือเทือกเขามาเนิ่นนาน

จากถิ่นฐานในเขาสูงของแดนลาว ผ่านการข้ามแม่น้ำโขงสู่ดินแดนที่เคยเป็นเขมร ลาว ก่อนที่กลุ่มชนในชาติพันธุ์ไท-ลาว จะรุ่งเรืองวัฒนธรรมอำนาจ ค่อยๆ เบียดขับเจ้าของถิ่นฐานเดิมอย่างพวกเขาจากพื้นที่กสิกรรมอันสมบูรณ์ไปสู่ป่าเขาและหลืบซอกราวไพร

ความเป็นเจ้าของพื้นที่ถูกลิดรอน กลายเป็นชาวป่าชาวดอยให้คนพื้นราบคอยตีชิงมาเป็นข้าทาส คอยส่งส่วย อากร เป็นประเพณีสืบต่อยาวนาน เปลี่ยนรูปแบบและบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ แต่เนื้อแท้แห่งการถูกกดขี่ของคนบนนี้แทบไม่เปลี่ยนแปลง 

ย่อยลึกลงมาตามแดนดอยต้นน้ำของเมืองน่านอย่างลำน้ำน่านและลำน้ำว้า ผู้คนชาวลัวะกระจายกันตั้งถิ่นฐานตามภูเขาขอบแดนไทย-ลาว

 เราแวะไปตามเรือนยกสูงแบบดั้งเดิมของพวกเขา ที่วันนี้เปลี่ยนแปลงไปตามชีวิตที่ดีขึ้น ก้อนเส้าเตาไฟที่ครัวกลางบ้านค่อยๆเลือนหายไปพร้อมกับการมาถึงของรูปแบบชีวิตในเมือง

ไร่ข้าวสลับกับพืชสวนต่างๆ ที่ได้รับการส่งเสริมในปัจจุบันเปลี่ยนชีวิตที่วนเวียนอยู่กับการโยกย้ายและต่อสู้ไปสู่ทางเลือกสายใหม่ๆ หนุ่มสาวในเสื้อผ้าที่ไม่แตกต่างจากคนข้างล่างหยัดยืนตัวเองในการงานแห่งขุนเขา

บ้านน้ำรีฯ ยามสายไหลตัวเองไปกับการงานในไร่ในดอย เงียบเชียบ เป็นที่อยู่ของคนเฒ่าและเด็กๆ นาทีสุขสงบกลับมาคึกคักเอาเมื่อยามเย็นใกล้มาเยือน

เทือกภูพยัคฆ์อันสูงชันเหยียดยาวที่ห่อหุ้มบ้านน้ำรีฯ และอีกหลายหมู่บ้านอันเป็นถิ่นฐานของผู้คนลัวะและม้งแห่งนี้ มากมายไปด้วยเรื่องราวของคืนวัน

ดินอันอุดมบ่มเพาะให้พี่น้องชาวไทยภูเขามีหนทางในการดำเนินชีวิต กสิกรรมแบบ “ดั้งเดิม” ล้วนผูกพันคนเข้ากับผืนป่าและภูเขา ความคิดความเชื่อตกทอดเป็นวัฒนธรรมเฉพาะอย่างเฉพาะตน

หากเมื่อกรอบกฎต่างๆ เดินทางขึ้นมากับผู้ถืออำนาจ หลายอย่างพลิกผันไปสู่การเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ และมองคนข้างบนโดยเฉพาะคนลัวะเป็นชีวิตในอีกระดับ ภาษีต่างๆ ที่เรียกเก็บอย่างไร้ความเป็นธรรม และไร้ซึ่ง “เหตุผล” ถูกนำขึ้นมาใช้

ความกดดันนำมาซึ่งการต่อสู้ตามความคิดของคนบนภูเขา ขบวนการเจ้าต้นบุญ หรือที่ต่อมาภาครัฐเรียกว่า “กบฏผีบุญบ้านห้วยชนิน” ราวปี .. 2508 ที่เกิดขึ้นแถบบ่อเกลือคือภาพชัดของการ “ไม่ยอม” ที่พวกเขาแสดงฝืนต้านผ่านพิธีกรรมเข้าทรงบอกต่อกันในเรื่องของการไม่ยอมต่อการรีดไถจากผู้เอาเปรียบ พร้อมหยิบอาวุธขึ้นต่อสู้ในป่าดอยยามเมื่อ “ผู้ช่วยเหลือ” เดินทางมาถึง

การมาถึงของ “สหาย” บางคนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในดินแดนภูเขาเมืองน่านคล้ายแสงสว่างที่วาดแววลงกลางทุกข์ร้อนของผู้คนบนเทือกดอย

ฐานที่มั่นของ พคทในเขตน่านค่อยๆ เป็นรูปร่าง ทั้งจากการสนับสนุนจากจีน ลาว และเวียดนาม ที่เดินตามสงครามปลดแอกตัวตนไปก่อนหน้า และที่สำคัญ คือแนวร่วมเจ้าของพื้นที่อย่างพี่น้องชาวลัวะ ม้ง และผู้ยวน จากการเริ่มต้นเงียบๆ ในปี .. 2505ค่อยก่อร่างสร้างรูป และในปี .. 2511 หลังยุทธการที่ทุ่งช้างอันลือลั่น พื้นที่อย่างภูแวก็กลายเป็นเขต “ปลดปล่อย” เขตแรกของเมืองไทย

ด้วยพื้นที่ป่าเขาอันยากต่อการเข้าถึง เอื้ออำนวยต่อการสู้รบ ฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจึงย้ายศูนย์กลางจากอีสานสู่เขตน่าน เริ่มต้นที่ภูแวซึ่งภายหลังมีการ “เสียลับ” จึงย้ายมาสร้างฐานที่มั่นที่ภูพยัคฆ์ คือสำนัก 708

เรียกได้ว่าในห้วงยามหนึ่ง น่านแทบทั้งจังหวัดกลายเป็นเขตปลดปล่อย มากมายไปด้วยเรื่องราวของการสู้รับกับรัฐบาล เสียงปืน และความหวังของคนตัวเล็กๆ บนภูเขา

หลังเหตุการณ์นองเลือดที่ราชดำเนิน 6 ตุลาคม 2519 แดนดอยเมืองน่านเปิดรับขบวนนักศึกษาอีกหลายร้อยคนที่ “เข้าป่ามาร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย บนดอยมากไปด้วยเรื่องราวหลากหลายมิติ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อโลกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ความคืบหน้าในการรุกเพื่อปลดปล่อยดินแดนจากประเทศรายรอบอย่างเวียดนามและลาวกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ พคทการยืนอยู่บนหนทางปฏิวัติด้วยลำแข้งของตัวเองทำให้เกิดการแตกแยกทางความคิดกับแกนร่วมรายรอบ

บางอย่างเปลี่ยนรูปจากหุบเขาเมื่อปี 2526 ตามนโยบายคืนเมือง เลขที่ 66/23 หลายคนวางปืนแล้วเดินลงจากแดนดอย แกนนำสำคัญอันเป็นหน่วยจัดตั้งโยกย้ายตัวเองข้ามผ่านภูเขาไปพักพิงในจีน พี่น้องชาวไทยภูเขาคล้ายลอยเคว้งอีกครั้งจากดวงดาวที่พวกเขาเดินตาม

ไม่มีสงครามอีกต่อไป ไร้สิ้นเสียงปืนและการสู้รบ ความหวังผืนแผ่นดินเป็นเช่นไร หลายคนคล้ายไถ่ถามเอากับภูเขาและวันเวลา

เรายืนอยู่หน้าอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ ภายในห้องจัดแสดงมากมายด้วยเรื่องราวสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวลัวะ ม้งรวมไปถึงหนทางการต่อสู้ตามแนวคิดอุดมการณ์ของ พคท.

บนภูพยัคฆ์ ที่เคยเป็นเขต 4 หนึ่งในสามเขตของฐานที่มั่นน่านเหนือ เคยพรั่งพร้อมไปด้วยโรงพยาบาล การเรียนการศึกษาสาธารณสุข แพทย์ปริญญาที่พาตัวเองเข้ามาในป่า ชีวิตที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากข้างล่างกลับกลายเป็นสมบูรณ์

ว่ากันตามตรง ชีวิตที่พวกเขาเลือกก็คือชีวิตในป่า อาจแร้นแค้น ไร้ไฟฟ้า มีแต่ภูเขาและอาหารอันบริสุทธิ์จากธรรมชาติ ต้องรอสาธารณูปโภคจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนรวมไปถึงสายข้างล่าง ทว่าภูพยัคฆ์และเขตปลดปล่อยทั้ง 6 เขต รวมไปถึงผู้คนร่วมหมื่น ก็เปี่ยมแน่นไปด้วยมิตรภาพและความหวัง 

เราขึ้นไปบนยอดภูพยัคฆ์อันเป็นที่ตั้งของสำนัก 708 ศูนย์กลางที่เคยเป็นเหมือนหัวใจของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยภายในเนินเขาที่ชูธงไหวสะบัดพลิ้ว คือถ้ำและโถงอันเป็นที่ประชุมพรรค มันกว้างใหญ่ซอกซอนอยู่ในความมืด

กระท่อมของ พันโท โพยม จุลานนท์ หรือลุงคำตัน เสนาธิการกองทัพปลดแอกประชาชน (ทปท.)เคียงข้างอยู่กับกระท่อมของนายผี-อัศนี พลจันทร์ หรือที่คนบนนี้เรียกเขาว่าลุงไฟ นักคิด กวี และปัญญาชนอันมากมายด้วยองค์ความรู้ทางภาษาศาสตร์ผู้ขีดเขียนเพลง “เดือนเพ็ญ” หรือชื่อเดิม “คิดถึงบ้าน

นาทีนั้นผมนึกถึงห้วงเวลาเฒ่าชรามากภูมิรู้กำลังต่อกลอนกับปัญญาชนผู้มุ่งหวังเปลี่ยนแปลงสังคมเลวร้าย

เย็นย่ำเรากลับมายืนหน้าอนุสรณ์สถานฯ ลานเนินตรงนั้นมองออกไปเห็นบ้านเรือนแทบทุกหมู่ของบ้านน้ำรีฯ ที่ราบเล็กๆ โอบคลุมด้วยคลื่นภูเขาและควันไฟเลือนราง

ชีวิตน้อยใหญ่ของขุนเขากำลังจะผสานตัวเองไปกับความมืด ดาวแขวนค้างตรงตีนฟ้าเริ่มสุกสกาว

ดาวอาจนำทางด้วยแสงสว่าง แต่ผู้ที่เลือกเดินตามหนทางแห่งดาวอาจต้องมีขนาดหัวใจอันยิ่งใหญ่เทียมเท่า โลกข้างหน้าจึงจะชัดเจน สุกสกาว และเปี่ยมไปด้วยความมุ่งหวัง

ระหว่างความใฝ่ฝันกับความเป็นจริง ยามอยู่ที่บ้านน้ำรีพัฒนา ผมคล้ายรู้สึกว่ามันได้หลอมรวมอยู่ด้วยกันมาเนิ่นนาน

หลายคนที่นี่ผ่านพ้นตัวเองไปดั่งพืชพรรณสักชนิด ที่บ่มเพาะ ผ่านพ้นฤดูกาลและแดดฝน เรียนรู้ที่จะเผชิญลมร้อนและหยาดฝนชื่นเย็น

เพื่อที่จะผลิใบและดอกผลเป็นคุณค่าแห่งชื่นชม ไม่ว่านิยามจากโลกภายนอกจะตีความการก่อเกิดเช่นนี้ไปตามทิศทางใดก็ตาม

 

How to Go?

จากกรุงเทพฯ มุ่งสู่เมืองน่านด้วยทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเชียจากอยุธยามุ่งหน้านครสวรรค์ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 117 ผ่านพิจิตร สู่พิษณุโลก แล้วไปเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 11 ที่สี่แยกอินโดจีน ผ่านอุตรดิตถ์ ถึงอำเภอเด่นชัยแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านแพร่ ไปสู่เมืองน่าน

จากตัวอำเภอเมืองน่าน ใช้ทางหลวงหมายเลข 1080 ผ่านอำเภอท่าวังผา ปัว ทุ่งช้าง เฉลิมพระเกียรติ จากนั้นมุ่งไปสู่สามแยกที่ทางหลวงหมายเลข 1081 จากอำเภอบ่อเกลือมาบรรจบ มุ่งตรงเข้าสู่บ้านน้ำรีพัฒนา เส้นทางวกวนในขุนเขา สูงชัน ทว่าแสนงดงาม

ระหว่างไต่เลาะขึ้นสู่ภูเขากลางฤดูแล้ง