พฤฒิ เกิดชูชื่น
“เราต้องการให้ผู้บริโภคได้ดื่มนมที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งต้องการให้ผู้ผลิตมีความปลอดภัยจากสารเคมี อีกทั้งยังปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเมื่อเราเน้นการทำฟาร์มแบบ ออร์แกนิคนั่นก็หมายความว่าจะไม่มีอะไรที่เป็นเคมีถูกปล่อยทิ้งไปยังแหล่งธรรมชาติแน่นอน ทุกอย่างจะเป็นการรีไซเคิล เช่น วัวกินหญ้า พอกินอาหารเข้าไปก็ออกมาเป็นมูล เอาไปหมักทำไปเป็นปุ๋ย ทุกอย่างก็จะหมุนเวียนอยู่ในนี้หมด”
~1~
กว่าคุณพฤฒิจะเดินทางมาจนถึงวันนี้ได้นั้น แน่นอนว่าต้องผ่านอุปสรรคมากมาย แต่ทุกครั้งที่ล้มลง สองขาก็ยังยืนหยัดพร้อมจะลุกขึ้นมาใหม่และก้าวต่อไปเพื่ออยู่บนเส้นทางสายเดิม สายเดียวกับที่เขาวาดฝันไว้เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก
“ที่ผมค่อนข้างจะจริงจังและใส่ใจในรายละเอียดของสิ่งที่ทำนั้นก็น่าจะมาจากการอบรมเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ ผมโตมาในค่ายทหาร เพราะคุณพ่อเป็นทหาร แต่ว่าเป็นค่ายทหารที่ค่อนข้างจะอิสระ
“ผมไม่เคยโดนบังคับเรื่องวินัย แต่แน่นอนว่ามันก็มีหน้าที่ที่ต้องทำ ต้องดูแลคุณแม่และน้องแทนคุณพ่อที่ท่านไปรบด้วย ตอนนั้นคุณแม่เป็นคุณครู เวลาท่านทำงานผมก็ดูแลบ้านแทนได้ แต่เวลาเสาร์อาทิตย์ที่ท่านอยู่บ้าน เราก็ออกไปยิงนกตกปลาอะไรไปจนกระทั่งเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนมศ.1 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ มาอยู่กับคุณย่า คราวนี้มีอิสระเสรีมากขึ้นแต่ผมก็ยังคงมีวินัยในตัวเอง
“พอจบมศ.5 ผมก็ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรด้านสัตวบาล ทีนี้ยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่ ชีวิตตอนเรียนไม่ค่อยอยู่ในห้องเรียนทำงานออกค่ายอาสาฯ ตลอด ปีหน่ึ่งๆ 2-3 ค่าย แล้วยิ่งเมื่อรู้ตัวว่าเราสนใจเรื่องโคนมเป็นพิเศษ ผมจะไปนอนอยู่อาคารเล็กๆ ข้างคอกวัว เพื่อความสะดวกที่จะเข้าไปในฟาร์มได้ทุกวัน มันเป็นความชอบตั้งแต่เด็กแล้ว ผมได้มาเที่ยวฟาร์มโคนมแถวๆ มวกเหล็กได้มาวิ่งเล่น เห็นวัว กินนมที่เขารีดใส่กระติกมา กลับบ้านก็เอามาต้มกิน อร่อยมาก ก็เลยประทับใจ พอได้มาเรียนมหาวิทยาลัยแล้วรู้ว่ามีเรียนด้านนี้ ก็เลยเลือกเรียน
“พอฝึกงานก็เลือกฝึกที่ฟาร์มโคนม ทำงานที่แรกก็ไทย-เดนมาร์กเลย มาอยู่แผนกผสมเทียม อยู่จนเป็นหัวหน้า จากนั้นก็ไปสร้างแผนกน้ำเชื้อ ฝึกสอนลูกน้อง พอสร้างเสร็จก็ออกมาเลยตอนปี 2525 ที่ออกมาก็เพื่อที่จะหาอะไรแปลกใหม่ทำ ก็เลยไปสมัครที่ซีพี เพราะคิดว่าซีพีทำอาหาร ยังไงก็ต้องมีฟาร์มปศุสัตว์ ไปอยู่ได้เพียงแค่ 6 เดือนก็ไม่ไหว เพราะเบื่อกรุงเทพฯ เลยตัดสินใจกลับบ้านดีกว่า
“กลับมามวกเหล็ก มาเริ่มธุรกิจเล็กๆ เกี่ยวกับโคนมก็เจ๊งไปหลายอย่าง จนมาได้ไอเดียเอากากเบียร์จากโรงเบียร์แถวๆวังน้อย ออกมาขาย ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครรู้คุณค่าของกากเบียร์เท่าไหร่ เราก็เสนอโปรเจ็คท์เพื่อนำไปให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเขาก็ให้เครดิต 1 เดือน แรกๆ ก็ทั้งขายทั้งแจก ทั้งแถม จนมีคนต้องการมากขึ้น ก็เข้าไปเสนอโรงเบียร์อื่นๆ อีก ทีนี้ก็เลยเริ่มตั้งตัวได้ขึ้นมาอีก ทางโรงเบียร์เริ่มดึงกากเบียร์ไปบริหารจัดการเอง เราเลยต้องเริ่มเฟดตัวเองออกมา ในปี 2540 เศรษฐกิจของประเทศก็กำลังไม่ค่อยดี ผมก็คิดว่าถ้าจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นของเรา ขายอาหารน่าจะดี แต่ต้องมีคุณภาพ ในที่สุดแดรี่โฮมจึงเกิดขึ้น”
~ 2 ~
แม้การเริ่มต้นธุรกิจจะดูเหมือนเป็นไปได้ดี แต่สิ่งที่เขาคิดและมองเห็นมากกว่านั้นกลับเป็นเรื่องของคุณภาพที่สามารถทำได้มากกว่าคำว่ามาตรฐานการตลาดของนมในตอนนั้น คุณค่าในทุกหยดของน้ำนมที่จะเพิ่มได้ ต้องมาจากการใส่ใจในทุกขั้นตอนนั่นจึงเป็นที่มาของการปฏิวัติฟาร์มโคนมไทย ด้วยการเริ่มแนวคิดที่จะใช้จุดเริ่มต้นที่ฟาร์มออร์แกนิค
“เดิมทีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจะเน้นที่ปริมาณน้ำนมมากๆ โดยเพิ่มปริมาณอาหาร เร่งการให้ฮอร์โมน วัวจึงสามารถให้น้ำนมได้มากมาย แต่ผลที่จะตามมานั้นกลับไม่คุ้มกันเลย เพราะมีความเสี่ยงที่วัวจะเต้านมอักเสบและติดเชื้อได้ง่าย ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น เพราะถ้าวัวเป็นเต้านมอักเสบ 3 ครั้งต่อปี หมายความว่าปีนั้นเขาจะไม่มีกำไรเลย
“แต่วัวที่เลี้ยงในฟาร์มออร์แกนิค เขาจะเลี้ยงแบบสบายๆ ให้อาหารพอดีๆ บางทีก็เลี้ยงแบบอิสระให้หาอาหารกินเอง ซึ่งวัวพวกนี้จะฉลาดมันก็จะเดินไปกินหญ้าดีๆ พืชดีๆ ที่ขึ้นอยู่ตามท้องทุ่ง คุณภาพของน้ำนมก็จะมีมาก และปริมาณนมที่ได้ก็พอดีๆ ตามที่มันควรจะเป็น อาการเจ็บป่วยก็จะไม่เกิดขึ้น เขาจะอยู่กับเราได้นาน ค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นก็ไม่มีเช่นกัน มันก็ต้องอยู่ที่จิตสำนึกของเกษตรกรว่าคุณจะเลือกทำแบบไหน
“การทำแบบนี้ต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติ เริ่มจากคนเลี้ยง ถ้าเลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม เมื่อใดก็ตามที่เขาต้องการอาหารสัตว์ ก็ทำเพียงแค่ยกหูโทรไปยังผู้ผลิตอาหารสัตว์ แต่ในระบบการเลี้ยงแบบอินทรีย์
ผู้เลี้ยงก็ต้องสร้างเองหรือปลูกเอง ต้องมีการออกแรง และลงทุนเอง มันยากกว่าการซื้อแน่นอน เพราะอย่างนั้นเกษตรกรที่ทำงานในระบบนี้จึงต้องมีการเอาใจใส่มากๆ
“สิ่งที่ทำได้นอกเหนือจากในแง่ของธุรกิจแล้วก็คือการที่ได้ผลักดันให้มีฟาร์มออร์แกนิคเพิ่มขึ้น เรามีความรู้ จึงมีแนวคิดว่าทำอย่างไรจึงจะพาเกษตรกรไทยไปถูกทาง เพราะเชื่อว่าการทำเกษตรแบบนี้ไม่ควรถูกจัดให้เป็นเกษตรทางเลือก ควรจะจัดให้มันเป็นสิ่งที่ควรจะต้องเป็นมากกว่า
“ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศที่ใช้ปุ๋ยเคมีมากติดอันดับของโลก ทั้งที่พื้นที่ก็ไม่ได้เยอะ เมื่อก่อนเราทำการเกษตรกันมาได้หลายร้อยปี ดินก็อุดมสมบูรณ์ พอมีเคมีที่หลายคนเชื่อในเรื่องของการเพิ่มผลผลิต ดินก็เริ่มมีปัญหา ถ้าไม่เริ่มปรับเปลี่ยนความคิดให้หันมาสนใจด้านออร์แกนิค อีกไม่นานเกษตรกรรมไทยก็ต้องเจอกับความล่มสลายแน่นอน”
~ 3 ~
สิ่งที่เขาทำ นอกจากจะเป็นการนำร่องให้เห็นหนทางที่เหล่าเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้กันได้และเกิดผลดีแล้ว เขายังทำให้เห็นว่าแม้หนทางในการทำสิ่งดีๆ จะยากและลำบากแค่ไหน แต่สิ่งที่ได้รับนั้นก็สามารถประเมินออกมาได้ชัดเจนว่า ‘คุ้มค่า’
“ผมแสดงให้เห็นแล้วว่าเราทำได้ เกษตรกรไทยที่ทำแนวนี้ก็อยู่ได้ และเขามีรายได้มากขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง มันใช้แค่การออกแรงในทางที่ถูก ถามว่าขายนมราคาสูงกว่าชาวบ้านแล้วขายได้ไหม ก็ขายได้แล้ว ทุกคนอยู่ได้ เราถือว่าประสบความสำเร็จแล้วนะ อยากให้คุณคิดทุกครั้งเมื่อคุณเลือกที่จะบริโภคอาหารออร์แกนิค มันไม่ได้เป็นประโยชน์ของตัวคุณเองเพียงฝ่ายเดียว แต่มันยังเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ผลิตอีกด้วย
“ในแง่การทำงาน ผมเป็นทั้งนักวิชาการและผู้ประกอบการ ผมไม่ได้แค่ทำธุรกิจของตัวเองอย่างเดียว แต่คิดและลงมือทำเพื่อจะเพิ่มช่องทางให้กับคนที่สนใจในแนวทางนี้ ซึ่ง 12 ปีที่ผ่านมามีคนที่สนใจร่วมทางกับเรา 12 คน ถือว่าเป็นทิศทางที่ดี เพราะเรามีความตั้งใจที่จะให้คนหันมาทำการเกษตรแบบออร์แกนิคกันมากขึ้น จากเริ่มแรกที่มีเพียงเราเจ้าเดียว
“ส่วนในแง่ของการทำธุรกิจ ก็ไม่ได้คาดหวังในเรื่องของการวางแผนการตลาดที่ยุ่งยากฟาดฟันอะไรขนาดนั้น ผมไม่เคยมีแผนในการเติบโต เพียงทำไปทุกวัน ซึ่งมันก็โตไปทุกวันเช่นกัน เพราะผมเชื่อว่าเรามาถูกทางแล้ว เป้าหมายในการทำธุรกิจของแดรี่โฮมมันจึงเป็นในแง่ของคุณภาพมากกว่า นมของเราต้องไม่มีข้อบกพร่อง เวลาที่คนบริโภคของเราแล้ว เขาบอกว่านี่คือสิ่งที่ใช่มันก็พอแล้ว ส่วนรายได้มันคือสิ่งที่ตามมา
“ผมมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนเกษตรกรฟาร์มโคนมของไทยมาเป็นแบบออร์แกนิคให้ได้ทั่วประเทศ มันคือความฝัน แต่ก็อยากทำให้เป็นจริง เพราะผมถือว่าโคนมคือสัดส่วนที่เล็กที่สุดของการเกษตรในเมืองไทยแล้ว ถ้าจะเปลี่ยนแปลงคงเป็นไปได้มากกว่าในส่วนอื่น แต่ก็ต้องรอดูกันต่อไป
“สำหรับใครที่มองยาวๆ ผมบอกเลยว่ามันคือทางรอดจาก FTA (Free Trade Agreement : เขตการค้าเสรี) เราต้องหันกลับมามองว่าเราทำอะไรที่เป็นช่องทางการตลาดได้บ้าง เมื่อเปิด FTA ทุกอย่างจะไหลมารวมกันหมด ถ้าไม่ดีดตัวหนี เราก็จะจม ผมมองว่าตลาดล่างเราไม่ต้องไปสู้แล้ว เราต้องหนีมาทำนมคุณภาพอย่างนมออร์แกนิคที่ขายในราคา 22 บาท ราคาอาจจะสูง ก็เลือกขายตลาดบน แต่คู่แข่งก็น้อยลง ถ้าอยากจะอยู่รอด ทางเดียวก็คือต้องทำของดี บางอย่างไม่ต้องใช้เงินทุนมากมาย แค่มีอย่างเดียวคือสมอง”
~ 4 ~
แม้ความตั้งใจที่จะเปลี่ยนฟาร์มโคนมไทยให้หันมาใช้สไตล์ออร์แกนิคกันถ้วนหน้านั้น ยังดูเหมือนเป็นหนทางที่ยาวไกล และยังคงต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่รออยู่ตรงหน้าคือลูกค้า ที่คุณพฤฒิมองลึกลงไปผ่านเม็ดเงินก็คือพวกเขาควรมีสุขภาพที่ดี
“ถึงเห็นว่าเป็นน้ำนมขาวๆ ในขวดไม่แตกต่างกัน แต่คุณค่าของน้ำนมที่ได้จากวิถีของเรานั้นต่างกัน อย่างนมออร์แกนิคของผมจะมีไขมัน วิตามิน เอ บี ดี ตามธรรมชาติ มี Omega 3 เหมือนปลาแซลมอนเลย ซึ่งก็มาจากหญ้าที่วัวกินนั่นแหละ แถมยังมี CLAเพิ่มมาอีก ซึ่งตัวนี้เกิดจากกระบวนการหมักย่อยในกระเพราะ จุลินทรีย์มันจะช่วยสร้างขึ้นมา ตัวนี้มันจะมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ ป้องกันโรคหัวใจ เผาผลาญไขมัน เมื่อเราดื่มเข้าไปเมื่อเข้าสู่ระบบย่อย มันจะดีกับร่างกายเรามากแถมยังอร่อยกว่าด้วย
“ผมเคยไปบรรยายเรื่องนมออร์แกนิค เรื่องปัญหาที่ต้นทุนราคาสูง มีอาจารย์ท่านหนึ่งถามว่าผู้ที่มีรายได้ไม่มากจะมีโอกาสได้กินนมดีๆ อย่างนี้หรือ ผมก็ตอบเลยว่ามีครับ ดูได้จากผู้ที่มีรายได้น้อย เขาสามารถซื้อน้ำอัดลมให้ลูกดื่มได้ ตกเย็นก็กินเหล้าขาวกินเบียร์ได้ ถ้านำเงินที่เสียไปเหล่านั้นมาซื้อนม มันซื้อได้อยู่แล้ว แล้วถ้าเปรียบเทียบคุณไปซื้อนมคุณภาพต่ำ วิตามิน คุณค่าต่างๆก็อาจจะได้น้อยกว่า แลกกับนมที่คุณภาพเต็มขวด ในราคาที่สูงกว่าเพียงไม่กี่บาท คุณจะเลือกแบบไหน มันอยู่ที่เขาเลือกมากกว่ามันมีหลายวิธีที่จะทำให้คุณได้กินนมที่ดี เพราะนมมันคือของที่กินเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี แต่ถ้าคุณเลือกกินของที่ไม่มีคุณภาพ แล้วคุณจะได้อะไร
“เทรนด์ของการบริโภคนมมีแนวโน้มที่ดีมากขึ้น อาจเพราะส่วนหนึ่งมีหลายหน่วยงานให้การสนับสนุนเรื่องของการดื่มนมด้วยจริงๆ แล้วนมก็คืออาหารอย่างหนึ่ง กินมากนักมันก็ไม่ดี กินในปริมาณที่พอเหมาะ มันก็ดีต่อสุขภาพ อย่าว่าแต่นมเลย กินข้าวเยอะไปก็ไม่ดีเหมือนกัน ผมกำลังจะบอกว่าทุกอย่างมันดีเสมอเมื่ออยู่บนความพอดี”
~ 5 ~
จากจุดเริ่มต้นของแดรี่โฮมที่มีคอนเส็ปต์แสนธรรมดาคือผลิตนมธรรมชาติ สามปีให้หลังเขาเพิ่มเงื่อนไขด้วยการผลิตนมออแกนิกส์ จนถึงทุกวันนี้ที่นี่สามารถผลิตสินค้าทุกไลน์ได้ด้วยตัวเอง แถมยังตอกย้ำในสิ่งที่เขาทำด้วยว่า ‘ในเมืองไทยยังไม่มีใครทำ นอกจากเรา’
“ทุกวันนี้ผมมีโรงงานนม และส่วนของร้านอาหารแดรี่โฮม ผมกล้ารับประกันเรื่องของคุณภาพ จากแนวคิดเดิมที่ผลิตนมแดรี่โฮมเพื่อขายในร้านอาหารแดรี่โฮมเท่านั้น ก็เริ่มมีการตอบรับที่ดี เริ่มขยายโรงงาน แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะขยายให้มันใหญ่โต แค่อยากจะมีนมที่ดีออกมาขาย ให้ที่นี่ได้กลายเป็นแลนด์มาร์ค ถ้าใครมามวกเหล็กก็จะต้องแวะมาที่นี่
“ในแง่ของธุรกิจเรามีลูกค้าซื้อซ้ำ ใครมาแถวนี้ก็ต้องมาแวะมาที่เรา มันก็ประสบความสำเร็จในระดับที่ผมพอใจแล้วนะ ส่วนของโรงงานนม นอกจากเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของเราแล้ว ตอนนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานของกลุ่มการศึกษา เกษตรกรต่างๆหรือองค์กรธุรกิจอื่นๆ ที่เขามีความสนใจสิ่งที่เราทำ ทั้งเรื่องของออร์แกนิค เรื่องของการอนุรักษ์พลังงาน เรื่องของการ Recycle, Reused ผมสามารถบอกได้เลยว่าเราไม่มีของเสียที่ไม่เป็นประโยชน์ออกจากโรงงานแน่นอน แม้แต่น้ำเสียจากไลน์ผลิตก็ไม่มีปล่อยออกไป เราใช้การแยกน้ำ เพื่อการนำไปจัดการอย่างถูกวิธี
“กว่าจะมีทุกวันนี้ผมไม่ได้มีเทคนิคด้านการบริหารอะไรที่ยุ่งยากเลย แค่ทำไปตามสามัญสำนึกที่ควรจะทำเท่านั้น ขอเพียงรู้ขีดความสามารถของตัวเองว่าจะทำอะไรได้มากแค่ไหน ท้ายที่สุดแล้วก็คือแค่เราไม่ทำอะไรที่เกินตัว และลงลึกไปที่รายละเอียดด้วยตัวเองทั้งหมด มันจะทำให้เราวางโครงสร้างของระบบได้ดี การจัดการมันก็เป็นไปตามกลไกของมัน
“ความสำเร็จสำหรับผมมองนิยามมันไว้ว่า วันที่เราสามารถเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร สามารถทำงานเลี้ยงตัวเองได้ ในวันแรกที่ผมทำงานได้เงินเดือน 3,270 บาท แล้วใช้ชีวิตอยู่รอดกับมันได้ นั่นคือวันที่ผมประสบความสำเร็จแล้ว ผมสามารถเก็บเงินซื้อโทรทัศน์ ต่อมาก็เก็บเงินซื้อมอเตอร์ไซค์เองได้ในตอนนั้น
“การทำงานมันไม่ใช่ทุกอย่าง มันไม่ใช่ทางของผมที่จะเอาเวลาทั้งหมดไปทุ่มเทให้กับธุรกิจ ผมชอบใช้ชีวิตสบายๆ มากกว่าแต่เป้าหมายนั้นมีแน่ๆ เพราะยังมีเรื่องที่น่าทำอีกตั้งเยอะแยะมากมาย นี่ผมก็พึ่งจะไปสำรวจป่าเพื่อที่จะไปทำฝายชะลอน้ำบนเขาใหญ่ เพื่อชะลอการไหลของน้ำไม่ให้ไหลลงไปมากเกิน
“สำหรับผม ณ วันนี้มันเกินแล้ว มันอยู่ในจุดที่เราควรจะช่วยคนอื่น ช่วยสังคมได้แล้ว ผมจึงมีกิจกรรมและโครงการต่างๆอย่างโครงการอนุรักษ์ลำน้ำมวกเหล็ก อย่างที่ผมทำอยู่ทุกปี หรือแม้กระทั่งตอนช่วงน้ำท่วม เราก็มีกำลังที่จะไปช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน
“การเลือกที่จะเติบโตแบบเงียบๆ ในระยะเวลากว่า 12 ปีนั้นมันคือสไตล์ของผม มันทำให้เรามีเวลาระหว่างทางมากขึ้น เพราะมีกิจกรรมส่วนตัวมาก ผมไม่ต้องการรอจนว่าจะต้องรวยเป็นเศรษฐี แล้วจึงค่อยหยุดพักผ่อน ผมเลือกที่จะพักผ่อนมันทุกวัน เพราะผมมีชีวิตที่รีแล็กซ์ในทุกๆ วัน”