ดร.สุรเจตน์ จันทรังษ์
เรื่องราวบนท้องฟ้ายังคงเป็นเรื่องปริศนาดำมืดที่มนุษย์ต้องการค้นหาคำตอบ มนุษย์จึงพยายามเอาชนะธรรมชาติ คิดประดิษฐ์ดาวเทียมขึ้นเพื่อศึกษาปรากฏการณ์ในห้วงอวกาศ ดาวเทียมจึงก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน เปรียบเสมือนกุญแจไขความลับเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารเข้าถึงกัน ในทางกลับกัน หากเทคโนโลยีเหล่านี้ตกอยู่ในมือข้าศึกศัตรูก็เท่ากับสามารถควบคุมการสื่อสารไว้ทั้งหมด
ในขณะที่คนไทยทั่วไปกำลังหลับใหลด้วยความเหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำงาน อีกฝั่งหนึ่งของซีกโลกเมื่อราวเดือนกรกฎาคมปีพ.ศ.2541 รศ.ดร.สุรเจตน์ จันทรังษ์ พร้อมคณะได้เดินทางไปประเทศรัสเซีย เพื่อปล่อยดาวเทียม TMSAT ขึ้นสู่ห้วงอวกาศร่วมกับประเทศออสเตรเลีย อิสราเอล ชิลี และเยอรมนี จากวันนั้นถึงวันนี้คือก้าวแรกของประเทศไทยที่มีกิจการดาวเทียมเทียบเท่าประเทศที่พัฒนา ถือว่าเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความสำเร็จครั้งนั้น สร้างความภาคภูมิใจแก่คณะทำงานเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกขั้นตอนทุกกระบวนการ คณะทำงานสามารถปักธงแห่งความมุ่งมั่นและดำเนินการเองทั้งหมด สิ่งที่นำติดตัวกลับมาถึงเมืองไทย คือความรู้ความสามารถในการสร้างดาวเทียมและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆให้กับสังคมไทย ด้วยการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
คนเก่งของเมืองไทย รศ.ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ หรือที่เพื่อนๆ เรียก “เจตน์” แปลว่า ผู้มีเจตนาดี มีดีกรีมากด้วยคุณวุฒิ ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร นักวิชาการ นักวิจัย วิทยากรพิเศษ ทนายความ เป็นที่ปรึกษาของ รศ.ดร.สิทธิชัยโภไคยอุดม อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ปรึกษาสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหมฯลฯ เจ้าของผลงานแท็กซี่มิเตอร์ร่วมกับกรมการขนส่งทางบกและใช้เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน สร้างโปรแกรมวิเคราะห์วงจรเชิงสัญลักษณ์ สร้างเครื่องป้องกันการดักฟังทางโทรศัพท์ สร้างเครื่องเข้า-ถอดรหัสชั้นเดียวและส่งผ่านวิทยุสนาม สร้างเครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือกควบคุมด้วยไมโครโพรเซสเซอร์ สร้างเครื่องอัดประจุแบตเตอรี่ 15A สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสร้างอากาศยานไร้นักบิน นอกจากนี้ยังมีผลวิจัยทางวิชาการที่ตีพิมพ์อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะเกียรติคุณที่ได้รับยกย่องว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ รุ่นใหม่ในปี พ.ศ.2537 ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นบุคคลดีเด่นด้านวิชาการของสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย
เรียงร้อยรอยอดีต...นักประดิษฐ์
ย้อนหลังไปราว 40 ปี ภายในโรงเรียนอนุศิษย์วิทยา จังหวัดอุทัยธานี ด.ช.สุเจตน์ วัยประถมศึกษา เป็นหนึ่งในชั้นนั้นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่เขาทำคะแนนได้ดี รวมทั้งอีกหลายวิชาที่เป็นเหตุเป็นผล เขาจำช่วงชีวิตในวัยเด็กได้ดีสมัยนั้นเขาชอบรื้อ ชอบถอดแยกชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้าน แต่ประกอบคืนให้กลับเหมือนเดิมไม่ได้
เขามาเรียนต่อชั้นประถมปีที่ 7 ที่โรงเรียนลาซาล บางนา และสอบเข้าเรียนชั้นม.ศ.1-5 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ด้วยความที่สนใจวิชาการและชอบอิเล็กทรอนิกส์เป็นทุนเดิม จึงตั้งเป้าเอนทรานซ์เข้าศึกษาต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต(อิเล็กทรอนิกส์) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ชีวิตเกือบพลิกผันเมื่อสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์เรียกตัวไปเป็นวิศวกร แต่เมื่อเดินทางไปก็ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งต้องรออีก 2 เดือนข้างหน้า ทำให้เขาครุ่นคิดว่าเส้นทางชีวิตมีอยู่ 2 ทางแพร่ง คือจะมุ่งหน้าไปศึกษาด้านศาสนาเพื่อเป็นสาธุคุณบาทหลวงสอนคริสต์ศาสนา หรือจะเรียนต่อดี
เสี้ยววินาทีนั้น เขาตัดสินใจบินกลับกรุงเทพฯโดยไม่ได้คิดอะไรมาก เขามุ่งหน้าเรียนระดับปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (คอมพิวเตอร์) สถาบันเดิม ขณะที่เรียนปีแรก รศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาได้มอบหมายให้ทำงาน
“ท่านให้ผมทำงานอยู่ 2 เรื่องคือ งานวิจัยเพื่อให้จบระดับปริญญาโทให้ได้ และงานวิจัยเพื่อสังคมซึ่งเป็นเครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือกควบคุมด้วยไมโครโพรเซสเซอร์ เราวิจัยเสร็จแล้วให้บริษัทเขาไปผลิตขายในราคาถูก อีกอันหนึ่งคือสร้างระบบแท็กซี่มิเตอร์ ผมวิจัยและเรียนเพื่อให้จบปริญญาโท เรียนได้ 5-6 เดือน ผมมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ที่เรียกว่าสมาคม IEEE ที่เขารับตีพิมพ์ รศ.ดร.สิทธิชัยท่านบอกว่าไม่ต้องจบปริญญาโทก็ได้ ให้ย้ายไปเรียนหลักสูตรปริญญาเอกเลย เป็นหลักสูตร 3 ปีที่เรียน ผมจึงทำงาน 2 อย่างขนานกันไป จนจบพอมีเวลาจึงไปเรียนคณะนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช จนได้ปริญญาตรีอีกใบหนึ่ง
“เมื่อ รศ.ดร.สิทธิชัย มาตั้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครเมื่อปี พ.ศ.2532 ที่หนองจอก กรุงเทพฯ จึงไปช่วยท่านโดยเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี พ.ศ.2537 ผมขึ้นผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ปี พ.ศ.2544 ขึ้นเป็นรองศาสตราจารย์ สาขาคอมพิวเตอร์ ปี พ.ศ.2536-2538 เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ปี พ.ศ.2539 -2549 เป็นรองอธิการบดีและผู้จัดการโครงการดาวเทียมขนาดเล็ก TMSAT ปัจจุบันผมดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดี”
ปัดฝุ่นแท็กซี่มิเตอร์
ครั้งหนึ่งเขามีความคิดว่า รถแท็กซี่ในสมัยก่อนนิยมใช้วิธีการต่อรองราคาค่าโดยสารรถแท็กซี่กัน ทำไมเราไม่ทำแบบนานาประเทศที่เขาพัฒนาหันมาใช้มิเตอร์ เขาจึงวิเคราะห์ดูว่ากฎหมายไทย มีผลบังคับใช้ให้แท็กซี่ต้องติดตั้งมิเตอร์แต่เป็นกฎหมายเมื่อ20-30 ปีก่อน ซึ่งมันไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะการติดมิเตอร์ไม่เหมาะกับการจราจรเมืองไทย
“เรื่องนี้ต้องนำกฎหมายมาปัดฝุ่นใหม่ ผมก็เข้าไปวิจัยว่าทำอย่างไรถึงจะเหมาะกับการจราจรเมืองไทยที่เจอรถติดและการเช่ารถซึ่งมันแตกต่างจากรถแท็กซี่ที่อื่น ฉะนั้นรายได้ต่างๆ มันขึ้นอยู่กับจำนวนเที่ยว ค่าโดยสารต่างๆ แท็กซี่มิเตอร์เป็นเรื่องน่าสนใจคือเราอยู่ตรงกลางในฐานะนักวิชาการ ทำอย่างไรจะให้ผู้โดยสารกับคนขับรถแท็กซี่สามารถคุยกันได้ คนขับต้องการค่าโดยสารเยอะๆ แต่คนนั่งอยากจะจ่ายค่าโดยสารน้อยๆ
“สมัยนั้นค่าโดยสารต่อรองกันแพงมาก บางทีขึ้นไปถึง 200-300 บาท จึงจะยอมไปส่ง ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น จำนวนรถแท็กซี่มีน้อย มันไม่มีวิธีการอื่น ต้องต่อรองอย่างเดียว บางทีเราต่อรองได้เก่ง คนขับไม่อยากไป ถ้าไปก็จะแสดงอาการไม่พอใจหงุดหงิด ขับรถกระชากแสดงกิริยาไม่ดี
“เมื่อทางกรมการขนส่งทางบกให้สถาบันเทคโนโลยีลาดกระบังทำ ผมก็ลงไปวิจัยเก็บข้อมูลมิเตอร์การคิดค่าโดยสารจากระยะทางกับเวลา รถติดก็คิดตามเวลา รถวิ่งก็คิดตามระยะทาง แล้วเราดูปัญหาที่พบในต่างประเทศ เขาจะมีการพาผู้โดยสารอ้อมให้ได้เงินเยอะๆ เราจะแก้ปัญหาอย่างไร เราจึงทำอัตราค่าโดยสาร เก็บข้อมูลเสร็จแล้ว จึงมาทำอัตรา 35 บาท ที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้โดยการวิจัยจากอาสาสมัครแท็กซี่มิเตอร์หลายคันที่ขับทั่วกรุงเทพฯ ทำเสร็จแล้วบันทึกว่าวันหนึ่งมีรายได้ต่อวันต่อเที่ยวเท่าไรราคาจริงเท่าไร ราคามิเตอร์โชว์เท่าไรแล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาคำนวณดู
“ตอนแรกเราตั้งที่ 30 บาทแต่ทางสมาคมสหกรณ์แท็กซี่ขอ 40 บาท มันมากเกินไป เราต่อรองเหลือ 35 บาท และใช้อัตราชายธงคือวิ่งไกลมากอัตราต่อกิโลเมตร มันจะลดลง เช่น กิโลเมตรแรก 5 บาทเกิน 10 กิโลเมตร อาจจะเหลือกิโลเมตรละ4.50 บาท และถึงจะลดลงมาก็จริง แต่คนขับก็รู้สึกว่าไม่ควรจะพาไปวิ่งไกล อยากรีบรับรีบส่งให้ได้จำนวนเที่ยวที่มากขึ้น มันติดปัญหาว่าพอเรียกไปส่งไกลๆ มันไม่ไปอีก เราก็มาคำนวณหาอัตราในกรุงเทพฯ การจราจรและระยะทางของคนโดยสารส่วนใหญ่จะเฉลี่ยอยู่เท่าไร ส่วนมากจะไม่เกิน 20 กิโลเมตร สุดท้ายเป็นการยอมรับทั้ง 2 ฝ่าย
“เรามาอยู่ตรงกลางไม่ใช่ทำงานวิจัยทางด้านวิศวกรรมอย่างเดียว ยังวิจัยทางด้านสังคมด้วย เราต้องการแสดงออกในฐานะนักวิชาการคือความเป็นกลางว่าอะไรผิด อะไรถูก แต่ตัวเองต้องไม่มีส่วนได้เสีย ใช้ความรู้อย่างรอบคอบ หลายครั้งผมไปยุ่งเกี่ยวกับการประชุมหรือไปเป็นคณะกรรมการต่างๆ ระดับชาติ เช่นคณะกรรมการพัฒนากิจการอวกาศแห่งชาติ เวลาเราจะแสดงความคิดเห็น เราต้องแสดงในสิ่งที่เป็นวิชาการเสนอข้อเท็จจริง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเขาจะไปตัดสินใจอย่างไร เป็นเรื่องของเขา เป็นนักวิชาการอย่างไปตัดสินใจแทนเขา ซึ่งถ้าพูดไปแล้ว มันจะทำให้คนนั้นลำบาก ใครจะลำบากหรือใครจะผิดเป็นเรื่องของกฎหมายแม้กระทั่งฝ่ายการเมืองเอง ผมต้องเรียนข้อเท็จจริงให้กับ รศ.ดร.สิทธิชัย ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ส่วนการตัดสินใจเป็นอำนาจหน้าที่หน้าที่ วิจารณญาณของท่านอยู่แล้ว
“บทบาทของนักวิชาการ จะทำให้หน่วยงานนั้นๆ กับผู้ที่เกี่ยวข้องไปได้ถูกทางมากยิ่งขึ้น ด้วยการให้ข้อมูลข้อเท็จจริง แต่เราต้องเคารพการตัดสินใจของท่านเหล่านั้นด้วย เคยมีคณะกรรมการบางชุด เชิญให้ผมมาเป็นที่ปรึกษาและผมก็ไม่รับ เพราะดูแล้วถ้าเอานักวิชาการไปอยู่ในฐานะที่เป็นแบ็คอัพ ไม่ได้ต้องการคำปรึกษาที่แท้จริง ผมก็ไม่เล่นด้วย เหมือนกับตอนที่ผมวิจัยเรื่องแท็กซี่มิเตอร์ เราได้มาตรฐาน ถ้าวันนั้นผมอยากจะเปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปเป็นนักธุรกิจ มันง่ายมาก แต่บทบาทของผมอยากเป็นนักวิชาการ คืออยู่ตรงกลาง
“มีคนบอกว่ามีมิเตอร์สั่งนำเข้าจากต่างประเทศ เครื่องละ 13,000 บาทในฐานะนักวิชาการ ผมจะทำอย่างไร มันเป็นจังหวะ ถ้าเกิดผมไปทำธุรกิจ ผมเอาด้วย ผมจะทำขายบ้าง ผมทำราคาสักหมื่นบาทก็ได้ แต่ผมไม่ทำ ถึงตอนนั้น ผมจึงเรียนปรึกษากับดร.สิทธิชัย ท่านบอกว่าต้นทุนจริงๆ ราคา 1,200 บาท ถ้ามันจะทำให้ประเทศชาติเราเสียหาย เราต้องคิดถึงส่วนรวมต้องมาก่อนถ้าขาย 13,000 บาทแล้วเงินไปไหน ออกนอกประเทศ ใครเดือดร้อน คนขับแท็กซี่ใช่มั้ย แล้วจะทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อนตามมา เราจึงไปปรึกษากับกรมการขนส่งทางบก เขาบอกให้เราประกาศลงทางหนังสือพิมพ์ เขียนเป็นบทความ บอกว่ามิเตอร์มีระบบอย่างไร ต้นทุนเท่าไร ใครอยากทำมิเตอร์ให้ผลิตเลย และไม่ต้องการค่าลิขสิทธิ์ด้วย ขอเพียงคุมราคาอย่าให้เกิน 3,000 บาทต้นทุน 1,200 บาท เขาต้องมีต้นทุนในการบริหารจัดการต่างๆ เรารับได้ตรงนี้ แต่ไม่ต้องมาให้เรา จากหมื่นกว่าบาท ลดเหลือ3,000 บาท
“นี่คือบทบาทของนักวิชาการ ที่คนอยากเห็นว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคม บางทีก็ไปขัดแย้งกับพวกอิทธิพล ผลประโยชน์ของคนอื่นบ้าง อย่างเช่นไปเถียงต่อหน้ารัฐมนตรีในสมัยก่อนๆ ผมถือว่าผมทำเสร็จแล้ว ที่ผมได้พูดในข้อเท็จจริง ส่วนเขาจะทำอย่างไรเป็นเรื่องของเขา ผลลบที่ตามมาสำหรับผมน้อยมาก เพราะเรามีจุดยืนของเราค่อนข้างชัดเจน
“การโกงมิเตอร์มีเรื่องร้องเรียนมาเยอะ แต่ที่ตรวจพบมีการโกงจริงๆ ไม่ค่อยมาก เพราะมันไม่คุ้ม เราจะไปพบการโกงนอกมิเตอร์มากกว่า แทนที่จะนำสัญญาณที่จะเอามาใช้กับมิเตอร์คิดระยะทางเพื่อคำนวณเงิน แทนที่จะมาจากชุดเกียร์ของรถ ก็มีการไปเอาสัญญาณอื่นมาใส่แทน ซึ่งอันนี้เป็นการโกงนอกมิเตอร์ คนพวกนี้จับง่าย ถูกดำเนินคดีกันไปหลายคน
“ส่วนราคามิเตอร์ที่ปรับราคาครั้งใหม่ ก็เป็นผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ซึ่งการปรับราคาใหม่ครั้งนี้เราต้องแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและหน่วยงานต่างๆ บริษัทที่นำเข้ามิเตอร์แท็กซี่ มีมากมาย ผ่านมาตรฐาน มวก.แต่เวลาจะปรับมิเตอร์ เขาคิดค่าปรับมิเตอร์จริงๆ ราคา 700 บาท แต่เดิมเขาคิด 1,000-1,200 บาท ทางผู้ใหญ่กรมการขนส่งทางบก ถามว่าที่มหาวิทยาลัยเราคิดราคาปรับเท่าไร ผมบอกว่าแค่ 200 บาท ก็พอแล้ว เพราะมันไม่มีต้นทุนอะไรเลย เพียงแค่ถอดมิเตอร์ออกมาแล้วใส่ CPU เข้าไปข้างใน ไปโปรแกรมใหม่ เสียค่าแรงให้เด็กเป็นทุนการศึกษาเพื่อให้เด็กมีรายได้ เขาคิด 700บาท เราคิด 200 บาท ต่างกันมาก พอถึงวันที่จะปรับราคา เขาขู่จะฟ้องร้องว่าเราละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อผมไปปรึกษานักกฎหมายเขาบอกว่าไม่ผิดหรอกไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพราะเราไม่ได้ไปแก้ไขส่วนสำคัญ เพียงเราไปแก้แค่ตารางราคา สุดท้ายให้ศาลตัดสิน เราจึงไม่ทำตรงนั้น เราเลยเขียนซอฟแวร์ขึ้นมาใหม่หมดเลย เพราะฉะนั้นมันจึงมีลิขสิทธิ์ ผมทำจดหมายไปถึงกรมการขนส่งฯ ว่าผมทำไป 7 รุ่นจาก 19 รุ่น 7 รุ่นคือจำนวนแท็กซี่มิเตอร์เยอะมาก เราคิดค่าปรับแค่ 200 บาท เราใช้วิธีมอบลิขสิทธิ์ให้ใครปรับให้กับกรมการขนส่งฯ ถึงแม้ผมเขียนโปรแกรม ผมไม่ปรับจนกว่ากรมการขนส่งฯ จะอนุญาต จะอนุญาตให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทำก็ได้ หรือเอาซอฟแวร์ไปให้ใครก็ได้ไปทำ ไม่ใช่ว่าเราต้องการผลประโยชน์ตรงนี้ วิ่งไปปรับราคามิเตอร์โซนอื่นใกล้ๆก็ได้ เป็นประโยชน์ของคนขับแท็กซี่ ไม่ต้องวิ่งมาปรับที่นี่มันไกล เราคุยกับสหกรณ์แท็กซี่ เขาก็เข้าใจ
“เมื่อเป็นเช่นนี้ เรื่องการข่มขู่เอาชีวิตผม ก็มีบ้างเป็นธรรมดา ผมไม่เคยกลัว อีกอย่างผมชอบกีฬายิงปืนเป็นชีวิตจิตใจ ไปไหนมาไหนคนเดียวตลอด”
อากาศยานไร้นักบิน
“ตอนนี้ผมทำงานวิจัยอากาศยานไร้นักบินเป็นเครื่องบินขนาดเล็ก บินตามพิกัดที่เรากำหนด โดยเราจะหาตัวตำแหน่งจาก GPSแล้วเราจะเอาตำแหน่งเหล่านั้นมาคำนวณว่าต่อไปจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาต่างๆ เพื่อให้ถึงพิกัดที่เรากำหนด จากพิกัดนี้แล้วไปพิกัดต่อๆ ไป นี่เป็นงานวิจัยที่ทำมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะนี้ผมมีเครื่องบินอยู่ 2 ลำ อยู่ในระหว่างช่วงทดสอบ เครื่องบินเหล่านี้เรียกว่าUAV มีบทบาทสำคัญมากในสงครามอิรัก กองทัพสหรัฐอเมริกันใช้ UAV มากในภารกิจสอดแนม จะบินนำร่องก่อนทหารจะเข้าโจมตี แม้กระทั่งกองทัพอิสราเอล ถ้าเราดูจากข่าว เคยสงสัยบ้างมั้ยว่าทำไมมันถล่มพวกฮาห์มัสง่ายเหลือเกิน ยิงขณะพวกฮาห์มัสกำลังขึ้นรถทหาร มันเอาเฮลิคอปเตอร์บินขึ้นไปยิงถล่ม เพราะมันใช้ UAV บินขึ้นไปตลอด 24 ชั่วโมง จนกระทั่งเห็นความเคลื่อนไหว สัญญาณภาพมา จึงส่งเฮลิคอปเตอร์บินขึ้น ยิงถล่มกลางถนน
“ปัญหาที่กองทัพถูกวางระเบิดหรือทหารเข้าไปในพื้นที่อันตรายไม่ได้ เราจะใช้ UAV บินเข้าไปถ่ายภาพเป็นเรียลไทม์ เป็นภาพวีดีโอและภาพนิ่งด้วย บินด้วยความสูงเพียง 1 กิโลเมตรโดยส่งสัญญาณมา ตอนจะขึ้นเราขว้างขึ้นไป มันเหมือนเครื่องบินบังคับแต่พอขึ้นบินแล้ว มันจะเข้าสู่หมวดอัตโนมัติ มันจะบินไปตามพิกัดของมันเอง ไม่ต้องใช้การบังคับ ถ้าใช้เชื้อเพลิงแบบน้ำมันเสียงก็จะดัง แต่ถ้าใช้ระบบไฟฟ้าเสียงจะเบากว่า ผมเป็นคนผลิตเอง ตอนนี้บินไปช่วงหนึ่งแต่เครื่องมันดันตก โครงการนี้ทำตั้งแต่ปีค.ศ.2547 เป็นการสอดแนมเข้าไปก่อน โดยบินคุมพื้นที่เอาไว้ เครื่องบินลำหนึ่งขายประมาณ 10 ล้านบาท เป็นของสหรัฐอเมริกาผลิต ที่แพงเพราะมันอยู่ที่เทคโนโลยี เหมือนดาวเทียม เพราะเราไม่รู้เทคโนโลยีของเขา แต่เมื่อเรารู้แล้ว ของทุกอย่างมันจะถูกหมด ผมทดลองทำด้วยการใช้ไม้ประกอบ ลงทุนลำหนึ่งไม่เกิน 6 หมื่นบาท ทั้งระบบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ตัวเครื่องบิน ตัวอุปกรณ์ เราก็ซื้อตามท้องตลาด หากเป็นวัสดุที่ตกไม่แตก ราคาประมาณแสนกว่าบาท คุณภาพเทียบเท่าของกองทัพอเมริกา เราใช้บินทดสอบแถวกรุงเทพฯ ถ่ายภาพคมชัดมาก ภาพนิ่งผมใช้กล้องติดเข้าไป
“ตอนนี้กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรฯ ติดต่อให้ผมเข้าไปทดสอบ แต่ช่วงนี้อากาศไม่ค่อยดี ของเขามีเครื่องบินที่มีคนขับ แต่ค่าใช้จ่ายมันสูง เขาอยากได้เครื่องแบบนี้บินเข้าไปดูว่ามีใครตัดไม้ทำลายป่า โดยดูจากภาพถ่ายทางอากาศเมื่อมาดู จึงรู้ว่าพวกลักลอบ เดี๋ยวนี้มันตัดต้นไม้แบบฟันหวี เมื่อใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมมันมองไม่เห็น อย่างต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ในจำนวน 5 ต้น มันตัดแค่ 2 ต้น แต่ถ้าเราส่ง UAV สอดแนม มันเห็นหมด เพราะถ่ายภาพใกล้ เขาต้องการระบบแบบนี้มากกว่า
“จุดประสงค์ในการพัฒนาเครื่องบินไร้นักบิน คือเครื่องมันเล็ก ค่าใช้จ่ายน้อย เพื่อการถ่ายภาพทางอากาศ ที่ต้องการรายละเอียดสูง หรือใช้ในภารกิจทหาร สำรวจทรัพยากรทางป่าไม้ ในระหว่างวิจัยอากาศยานไร้นักบิน ปัญหาที่พบคือสภาพอากาศพื้นที่ที่ทดสอบมีไม่ค่อยมาก ไปทดสอบครั้งหนึ่งใช้เวลาเป็นวัน แต่ก็เป็นผลงานที่ภาคภูมิใจชิ้นหนึ่ง”
ดาวเทียมดวงแรกของไทย
“เราอยากให้มหาวิทยาลัยนี้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชีย ซึ่งเราเคยได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารเอเชียวีค ของเรามาเป็นอันดับที่ 38 ของเอเชีย เราเคยตั้งเป้าว่าจะอยู่ในอันดับที่ 15-25 น่าจะได้ เพราะมหาวิทยาลัยนี้จะเน้นการเรียนการสอนและวิจัยอย่างเข้มข้น เราไม่หวังว่าเด็กที่เข้ามาเรียนที่นี่คุณภาพจะเป็นอย่างไร แต่เราบอกว่าที่นี่เข้าง่าย แต่ออกยาก ทุกคนควรจะให้โอกาสที่จะเข้ามาเรียนเพื่อพิสูจน์ตัวเอง ว่าคุณเจ๋งจริง แล้วคุณก็จบ เพราะฉะนั้น เด็กที่จบจากที่นี่เป็นที่ยอมรับมาก เด็กได้งานเกิน 90% ที่เหลือศึกษาต่อ
“ผลงานที่เด่นชัด สร้างชื่อเสียง คือการสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก การสร้างมันขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน แต่ตอนนั้นเราเงินน้อยหน่อย เราก็ทำขนาดเล็ก ดาวเทียมขนาดเล็กโดยมาก จะอยู่ในวงโคจรต่ำ สูงกว่าพื้นโลกไม่เกิน 2,000 กิโลเมตร แต่ดาวเทียมของเราความสูงอยู่ที่ 817 กิโลเมตร โคจรรอบโลกวันหนึ่งจะโคจรถึง 14 รอบ ดาวเทียมพวกนี้จะอยู่ใกล้โลก มักจะใช้เพื่อการถ่ายภาพ ซึ่ง จะเห็นว่าเดี๋ยวนี้เราใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเยอะมาก เพราะมันดูภาพกว้างได้ ไม่ใช่ดูเฉพาะในประเทศไทยอย่างเดียว เราจะดูเรื่องพายุ เราจะมานั่งรอดูเฉพาะในประเทศไทยไม่ได้ เราต้องป้องกันในเรื่องของพายุจะเข้ามา เราต้องรู้ว่าพายุลูกนั้น มันมาจากไหน เราจะเห็นภาพจากทั่วโลกได้ แล้วภาพมันไม่มีขีดจำกัดในการถ่ายภาพ ดาวเทียมขนาดเล็กเขาสร้างกันมานานแล้ว
“หากจะเท้าความที่มาของดาวเทียมขนาดเล็กของเรา น่าจะบอกได้ว่าราวๆ ปี พ.ศ.2537 รองอธิบดีของมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ซึ่งรู้จักกับ รศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ มีการเปิดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีดาวเทียมให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ และเคยถ่ายทอดให้กับเกาหลีใต้และชิลีมาแล้ว ทาง รศ.ดร.สิทธิชัย จึงส่งผมและคณะไปศึกษา ตอนที่เราทำเรามุ่งหวังที่จะมีส่วนแบ่งในอุตสาหกรรมทางด้านดาวเทียมกับประเทศอื่นๆ บ้าง เราเริ่มปี ค.ศ.1996 ชื่อดาวเทียม “ไทพัฒ” เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครและบริษัทยูไนเต็ด คอมมิวเคชั่น อินดัสตรีจำกัด หรือยูคอม จึงได้ตกลงเซ็นสัญญาความร่วมมือ ดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการออกแบบสร้างและการทดสอบดาวเทียมขนาดเล็กจากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2538 “ไทพัฒ” เป็นดาวเทียมขนาดไมโครแซทเทิลไลท์ น้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม สามารถติดต่อสื่อสารกับดาวเทียมวงโคจรต่ำ ย่านความถี่วิทยุสมัครเล่นดวงอื่นได้
“คณะวิจัยที่เดินทางไปประเทศอังกฤษ ประกอบด้วยอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร 11 คนและวิศวกรยูคอม 1คน โดยมีผมเป็นหัวหน้าโครงการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการสร้างดาวเทียม เพื่อใช้งานจริงภายใต้ชื่อ TMSAT (Thai Microsatellite) ผมอยู่ที่นั่นรวมเวลาทั้งสิ้น 1 ปีเต็ม ความสำเร็จครั้งนี้นับเป็นดาวเทียมดวงแรกที่ออกแบบสร้างโดยคนไทยและเป็นก้าวแรกที่ประเทศไทยมีกิจการอวกาศ อย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยงบประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ต้องรับผิดชอบสูงมาก งบประมาณในการสร้างดาวเทียมจริงๆ เพียง 100 ล้านบาท แต่อีก 200 ล้านบาทเป็นค่าถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งเป้าหมายในการวิจัยครั้งนี้ อยู่ที่ความรู้ทางด้านดาวเทียม เพื่อให้สามารถสร้าง “ไทพัฒ” ดวงที่ 2 เรากำลังจะทำหลังจากศึกษาดูแล้ว ใช้งบประมาณเพียง 40 ล้านบาท เฉพาะตัวดาวเทียม ค่ายิงอีกประมาณ 10-20 ล้านบาท
“จากการทำดาวเทียม ทำให้ผมต้องหันมาศึกษากฎหมายอวกาศ ก็คือตอนที่เราส่งดาวเทียมมันมีปัญหามาก เราไม่รู้เลยว่าในอวกาศมีกฎหมายด้วย และกฎหมายอวกาศ มันแตกต่างจากกฎหมายบนพื้นโลก เพราะประเทศที่คุมกฎหมายอวกาศเป็นประเทศมหาอำนาจ เราก็ต้องปฏิบัติตาม อย่างเช่นการประกันภัยดาวเทียมที่จะส่งขึ้นไปต้องประกันบุคคลที่ 3 ประเทศไทยเป็นคนรับรองเพราะ “ไทพัฒ” เป็นดาวเทียมที่คนไทยสร้างขึ้นที่อังกฤษ ต้องจดทะเบียนสัญชาติไทย ก่อนที่จะไปยิงที่ประเทศรัสเซีย ต้องไปขอไลเซ่นส์อีก มันเป็นเรื่องของข้อบังคับระหว่างประเทศตามกฎหมาย รวมไปถึงกฎบัตร เราต้องขออนุญาตใช้คลื่นความถี่วิทยุสมัครเล่นที่กรมไปรษณีย์โทรเลข เพื่อเป็นการจองคลื่นความถี่ที่จะใช้ติดต่อสื่อสารกับดาวเทียมมายังสถานีภาคพื้นดิน ตั้งอยู่ที่อาคารของมหาวิทยาลัยฯ หลังจากนั้น กรมไปรษณีย์โทรเลขจะติดต่อแจ้งความจำนงขออนุญาตใช้คลื่นความถี่วิทยุกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้แล้ว จะถูกส่งต่อไปยังหน่วยงาน British National Space Centre (BNSC)ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมเกี่ยวกับกิจการดาวเทียมของประเทศอังกฤษ เพราะ “ไทพัฒ” ดำเนินการสร้างที่ประเทศอังกฤษ เมื่อเสร็จทุกขั้นตอน ก็สามารถยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้
“ผมก็เลยคาใจว่าในประเทศไทยมีคนเข้าใจกฎหมายอวกาศแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนที่ผมเจรจากับ BNSC เขาก็เอาสนธิสัญญาต่างๆ มาให้ดูเกี่ยวกับดาวเทียม ว่าประเทศไทยเคยเซ็นสัญญาดาวเทียมตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 เพียงแต่ยังไม่ได้ลงนาม แต่ถือว่ามีผลบังคับใช้ว่าประเทศไทยอยู่ในสนธิสัญญานี้แล้ว ผมมาทราบในภายหลังว่าในประเทศไทยมีผู้จบกฎหมายด้านอวกาศอยู่2-3 ท่านเท่านั้น บางท่านก็เกษียณอายุไปแล้ว”
ลูกผู้ชาย...สไตล์นักวิจัย
“ผมทำงานตลอด 6 วัน พักวันอาทิตย์วันเดียว ผมมีบุตรสาว 2 คน คนโตเรียนเกรด 10 คนเล็กเรียนเกรด 6 ภรรยาลาออกจากงานเพื่อมาเป็นแม่บ้าน ทุกเช้าวันอาทิตย์ ผมจะพาครอบครัวเข้าโบสถ์ เพราะผมเป็นคริสเตียน ว่างจากงาน ผมก็เล่นกอล์ฟบ้างบ่ายๆ ไปช็อบปิ้ง ซื้อหนังสือ อ่านหนังสือ ดูทีวี ชีวิตไม่หวือหวาเท่าไร ก็ใช้ส่วนหนึ่ง เก็บส่วนหนึ่งเป็นปกติ ได้อิทธิพลจากคุณพ่อคุณแม่ของผมเป็นตัวอย่าง ผมโชคดีหัวถึงหมอนไม่เกิน 30 วินาทีก็หลับ ตื่นตามเวลา ช่วงที่เรียนหนังสือที่ลาดกระบัง ผมค่อนข้างเครียด ได้นอนเพียงวันละ 2-3 ชั่วโมง ต้องใช้เวลาอ่านหนังสือและประดิษฐ์โน่น ประดิษฐ์นี่ไปเรื่อย เมื่อตอนอยู่ปี 2 มีคนที่สิงคโปร์ติดต่อให้ผมออกแบบระบบการจับเวลา ลานจอดรถ ตอนนั้นผมส่งงานให้เขาช้าเพราะอุปกรณ์สมัยนั้นมันหายาก เขาประมูลเสร็จไปแล้ว น่าเสียดาย แต่ผมไม่เสียใจ ผมได้เรียนรู้ว่าบางทีบางอย่างมันต้องเร่งให้เร็ว คุมเวลาให้ได้
“ชีวิตผมที่ผ่านมาไม่เคยพบกับจุดวิกฤตหรือจุดหักเหเพราะผมถือว่า พระเจ้านำผม ผมไม่ได้เคร่งศาสนา แต่ผมเชื่อว่าพระเจ้านำเพราะฉะนั้น ผมจึงไม่รู้สึกกังวลในแต่ละวัน จะไม่มีเรื่องเครียด งานไหนที่ยุ่งๆ ทิ้งไปแล้วก็จบเลย แล้วผมจะไม่ทำอะไรที่เสี่ยงหรือผิด ผมจึงสบายๆ ชีวิตผมจะว่าราบรื่นก็ไม่เชิง บางครั้งมันก็เข้าไปขัดขวางผลประโยชน์ของใครบางคนเขา แต่มันก็ไม่เกิดเหตุอะไรรุนแรงมากนัก นอกจากการข่มขู่ แต่ถึงผมไม่ทำตรงนี้ คนอื่นเขาก็ทำแทนผมอยู่ดี มันไม่ได้อยู่ที่ตัวผม แต่มันอยู่ที่ระบบ
“ชีวิตผมไม่ใช่นักธุรกิจทั่วๆ ไป แต่ยังเป็นนักวิชาการ ถึงแม้จะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองบ้าง แต่เข้าไปในด้านของวิชาการ เคยเป็นที่ปรึกษาอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ITC ซึ่งงานรับผิดชอบช่วงนั้นไปเป็นกรรมการเรื่องการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และ พรบ.ทางกฎกระทรวงอื่นๆ อีกมาก ชีวิตจึงไม่เหมือนอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วไป ที่มีเวลาทำวิจัย เมื่อมาเป็นผู้บริหารต้องรับผิดชอบข้างนอกมากขึ้น กลางวันจะทำงานส่วนตัวไม่ได้ปรกติ ผมจะมีชั่วโมงสอนด้วยระดับปริญญาตรีสอนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ระดับปริญญาโท สอน MBA วิชาระเบียบวิธีวิจัยทางธุรกิจ เปิดสอนที่อาคารวานิช ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และสอนระดับปริญญาเอก อีกบทบาทหนึ่งผมเป็นทนายความ ด้วย ไปเรียนปี พ.ศ.2544-2546 ที่ มสธ.ตอนที่ไปทำเรื่องดาวเทียมไทพัฒ มันเกิดกฎหมายอวกาศพอดี เมืองไทยไม่ค่อยมีใครรู้ ผมทำเรื่องกฎหมายอวกาศและเทคโนโลยี ก็ไปสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่พักหนึ่ง
“ผมจะแย่ในเรื่องการบริหารเวลามากกว่า ส่วนการบริหารคนของที่นี่ไม่ยาก ผมยึดการบริหารโดยใช้หลักที่ว่า ทุกคนเป็นพี่น้องกันมีอะไรคุยกับผมได้