ชยะบูรณ์ ชวนไชยสิทธิ์
นกน้อยจากกรงทอง
คุณชยะบูรณ์เป็นบุตรชายคนสุดท้องของคุณแม่ทิพาพรและคุณพ่อพลตำรวจตรีพลศรี ชวนไชยสิทธิ์ อดีตผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีพี่ชายชื่อ คุณพรนริส พี่สาวชื่อ คุณเพ็ญสุดา ชวนไชยสิทธิ์
“ตอนเด็กๆ ผมถูกเลี้ยงดูแบบคุณหนูก็ว่าได้ เพราะผมเป็นลูกคนสุดท้องอายุห่างจากพี่สาว 3 ปี ไม่ค่อยได้ไปสมบุกสมบันที่ไหนเพราะถูกห้ามไปหมด จนกระทั่งสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ เรียนตั้งแต่ประถม 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ช่วงเด็กๆ ก็จะเรียนเหมือนคนอื่นๆปกติทั่วไป ผมเป็นเด็กเรียน เรียบร้อย แต่ชีวิตมาเปลี่ยนตอนช่วงที่สอบเข้าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ เพราะมันมีกิจกรรมมากมายให้เราเลือกทำและถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของคณะ เป็นผู้เชิญพานหรือในเรื่องพิธีรีตองทั้งหลาย ความที่เป็นลูกนายตำรวจ ก็ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกรอบระเบียบอะไรมากนัก คุณพ่อกับคุณแม่เองท่านเป็นคนทันสมัย ท่านทั้งคู่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่ซิดนีย์มาตั้งแต่เด็ก ส่วนในเรื่องความคิดความอ่านท่านเปิดให้ผมเต็มที่ ท่านพูดเสมอว่าอยากจะเป็นอะไรให้เลือกของเราเลย ไม่ได้ถูกกำหนดว่าจะต้องเป็นตำรวจหรือรับราชการ ชอบอะไรให้ทำแบบนั้น เมื่อโตขึ้นมามันมีอะไรมากมายที่ทำแล้วมันสนุกกว่าการเป็นตำรวจ มันจึงมาเปลี่ยนเอาเมื่อตอนเรียนมหาวิทยาลัย ในที่สุดก็ไปเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ทั้งๆ ที่ไม่อยากเป็น แต่ทางอาจารย์ท่านมาขอร้องว่าคณะของเราไม่มีตัวแทน ทั้งๆ ที่ผมเองไม่ได้เต้นดี อาจจะเป็นเพราะบุคลิกภาพดีมากกว่า เพราะผมจะเป็นคนนิ่งๆ จึงได้อะไรมาเยอะจากการทำกิจกรรมตรงนั้น ทั้งในเรื่องวินัยการฝึกซ้อมเรื่องการเรียนต้องแบ่งให้ถูกต้อง จากนั้นก็เริ่มช่วยคณะต่างๆ ทำพวกละครบ้าง ออกแบบฉากบ้าง
“ผมเรียนบัญชีมาก็จริงแต่ผมเรียนคณะบริหารธุรกิจ วิชาเอกการโรงแรมและการท่องเที่ยว ตอนนั้นตั้งใจอยากจะทำธุรกิจด้านการโรงแรมเพราะเป็นกิจการทางบ้าน คุณแม่ทำงานทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ท่านก็อยากให้สานงานต่อที่จะทำอะไรก็ได้เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ท่านก็ยินดีที่ผมเลือกเรียนคณะนี้ จากนั้นก็มีโอกาสได้ไปฝึกงานที่โรงแรมดุสิตธานี ได้เรียนรู้อะไรอีกหลายอย่าง ตั้งแต่เสิร์ฟ การปูเตียงให้ตึง การล้างห้องน้ำห้องส้วมไปถึงผู้ช่วย ทำให้เรารู้ถึงหัวอกของลูกจ้าง
“ผมค่อนข้างเป็นระเบียบจึงเก็บทุกรายละเอียด จึงเหมาะกับการทำธุรกิจด้านนี้ เมื่อสำเร็จการศึกษาจึงอยากจะเรียนต่อ จึงไปเรียนภาษาที่ประเทศอังกฤษกับพี่สาว เพื่อจะได้มีพื้นฐานในการเรียนต่อเกี่ยวกับธุรกิจโรงแรมที่สวิตเซอร์แลนด์ ปรากฏว่าคุณยายซึ่งท่านทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้วท่านมาด่วนจากไป เราจึงต้องกลับกรุงเทพฯ เพราะคุณแม่ไม่อยากให้เรียนแล้วอยากให้มาช่วยงานที่บ้านมากกว่า เพราะธุรกิจก็สำคัญ กลัวจะไม่มีใครสานต่อ ทั้งๆ ที่ผมเองไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่ท่านมีลูกอยู่ 3 คน จึงวางแผนอยากให้เราทั้ง 3 มาช่วยงานที่บ้าน งานแรกที่ผมทำคือการบริหารงานเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ PK Mansion Co., Ltd. และ Private Terrace ย่านลาดพร้าว เป็นธุรกิจที่ใกล้เคียงกับโรงแรม สมัยนั้นเป็นธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์แรกๆ ของเมืองไทย ยังไม่มีบริษัทแลนด์แอนด์เฮาส์ ซึ่งแต่ก่อนแลนด์แอนเฮาส์เองก็ยังมาดูงานที่บริษัทผมเลย
“ผมได้แนวความคิดนี้มาจากช่วงที่ผมไปเรียนภาษาที่อังกฤษจึงมีโอกาสได้ไปดูธุรกิจนี้ที่นั่น แล้วจึงนำกลับมาทำที่เมืองไทย ผมเชื่อว่าช่วงนั้นยังไม่มีผู้บุกเบิกในรุ่นผม ผมทำมาตั้งแต่ปี 2530 ผมเชื่อว่าถ้าใครทำอาคารใหญ่โต มีห้องถึง 100 กว่าห้อง ผมคิดว่าผมทำเป็นคนแรกที่คิดบริการลักษณะนี้คล้ายโรงแรมแต่เป็นอพาร์ทเม้นท์ ให้เช่าเป็นเซอร์วิส แล้วนำเอาวิชาการเข้ามาพัฒนาด้วย ต่อมาเริ่มมีคนเข้ามาพัฒนาก็นำสิ่งที่เราทำไปทำได้ดีกว่าในรูปแบบบริษัท ผมทำไปได้ระยะหนึ่งประมาณ 5-6 ปี จึงไปทำอีกธุรกิจหนึ่ง”
แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
“สมัยที่ผมเรียนอยู่ที่จุฬาฯ ผมมีเพื่อนเยอะ อยู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อยู่คณะนิเทศศาสตร์ ช่วงนั้นผมจึงแอบไปเรียนอยู่คณะนิเทศศาสตร์ด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ลงทะเบียนเรียน แต่ไปเพราะอยากได้ความรู้ อีกคณะหนึ่งที่ผมแอบเรียนคือคณะอักษรศาสตร์ เลยได้เรียนรู้เรื่องภาษา ได้วิชามามาก (หัวเราะ) ผมเรียนจบบัญชีแต่มีความรู้ด้านนิเทศศาสตร์ เพื่อนร่วมรุ่นคณะผมชื่อจูดี้ จุรีพร ไทยดำรงค์ กับอีกคนชื่อ โก้ จำชื่อจริงไม่ได้ ทั้งหมด 3 คนรวมผมด้วยไปประกวดแคมเปญโฆษณาของคณะนิเทศศาสตร์เพื่อคิดคอนเส็ปปต์ไอเดียเกี่ยวกับการตลาดเพื่อโฆษณาให้ดัง ปรากฏว่าได้อันดับที่ 1 จูดี้จะเก่งทางด้านการตลาดผมจะเก่งด้านครีเอทีฟ อีกคนจะเก่งทางด้านก๊อบปี้ไรท์เตอร์ ก็เป็นความรู้สึกที่ดี แต่เพื่อนที่ดังในวงการโฆษณาคือ จุรีพร เธอเคยได้รางวัลสิงโตทองคำ เคยทำโฆษณา “ไอ้ฤทธิ์กินแบล็ค” โด่งดังมาแล้ว
“ผมจึงร่วมกับเพื่อนๆ ที่เคยเรียนอยู่นิเทศศาสตร์มาเปิดเป็นเอเจนซี่ บริหารธุรกิจงานโฆษณา ผมนั่งตำแหน่งบริหารและตำแหน่งครีเอทีฟ บริษัทมีอยู่ 7-8 คน แต่ทำหมดทุกตำแหน่ง ธุรกิจเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ จึงขยายบริษัท จนกระทั่งเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี2540 ก็เกือบแย่เหมือนกัน จำเป็นต้องปิดบริษัท เพราะว่าเราเป็นซัพพลายเออร์ ไปรับงานเอเจนซี่ใหญ่ๆ เขามา เมื่อเอเจนซี่ใหญ่โดนตัดงบประมาณ เขาก็เลยตัดงบโฆษณาเราไปด้วย แล้วเราก็ต้องระบายคนออกด้วยวิธีนี้ เราไปหางานเองไม่ได้ เพราะเราเป็นโปรดักชั่นเฮาส์ที่ไม่เคยออกตัว ทำนองว่าอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเอเจนซี่ใหญ่ไม่อยากให้เราปรากฏตัวมีชื่อ ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่ผ่านเอเจนซี่ผม แต่มาผ่านผมโดยตรงมันไม่ถูกต้อง พอเขาตัดงบประมาณแล้วเราไปหางานใหม่ไม่ได้ในเศรษฐกิจแบบนั้นมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เราก็เลยไม่มีงาน พนักงานทุกคนจึงแยกย้าย คนไหนอยากอยู่กับผมก็มา
“เผอิญวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ช่วงนั้นบริษัทที่บ้านได้รับประมูลพื้นที่จุฬาฯ ตรงเซ็นเตอร์พ้อยท์เก่า พี่ชายเขาเห็นว่าผมตกงานจึงชวนให้มาทำธุรกิจนี้ ทั้งที่ตอนเด็กๆ ผมมีความคิดว่าไม่อยากจะทำธุรกิจทางบ้าน มันเหมือนทำให้เราสมองฝ่อลง แต่พอเริ่มเข้ามาทำจริงๆ มันไม่ฝ่อเลย เราคิดไปเองทั้งนั้น ตอนนั้นคิดว่าการที่เราทำธุรกิจที่บ้านโดยตรง เราต้องนั่งในตำแหน่งเจ้านายเลย เราจะไม่รู้เลยว่าการที่เราเป็นลูกน้องมันต้องผ่านอุปสรรคอะไรมาบ้าง ขั้นตอนของการทำงานต่างๆ คุณจะไม่ได้สัมผัสความเป็นลูกน้องว่าเขาลำบากอย่างไรกว่างานจะออกมา ทำให้เป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารที่ดีได้ถ้าไม่มีประสบการณ์เหล่านั้น แต่การที่เราไปทำงานกับคนอื่นมาก่อนเราจะต้องผ่านงานตั้งแต่ลูกจ้างล่างสุดไปเป็นเสมียนจนก้าวขึ้นมา ทำให้เราได้เรียนรู้งานของแต่ละตำแหน่งในเรื่องขององค์กรทำให้เข้าใจในหัวอกอันเดียวกัน เมื่อลูกน้องมีปัญหาเราจึงเข้าใจว่ามันผิดขั้นตอนไหน เราจะได้คุยได้อันนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้มาจากการทำงานที่อื่นมาก่อน ทำให้เราปกครองแล้วลูกน้องรัก เราถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะต้องไปฝึกงานที่อื่นมาก่อน โดยเฉพาะโรงแรมดุสิตธานีผมได้ประสบการณ์เยอะมาก ต้องขอขอบคุณผู้บริหารในสมัยนั้นที่เปิดโอกาสให้ผมได้ไปฝึกทำงานในแผนกต่างๆ
“ช่วงที่ทำงานด้านโฆษณาให้กับเอเจนซี่ใหญ่ๆ ก็สนุกมาก เรารับงานออกบูธที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รับงานที่อิมแพ็คเมืองทองธานี ออกแบบงานดีไซน์ หาคอนเส็ปต์ของบูธ คิดรูปแบบงาน ได้ผ่านการทำงานออร์แกไนเซอร์ในงานต่างๆ ด้วย จนไปถึงการควบคุมงานก่อสร้างโรงงาน ทำมาเยอะมาก ผมยังเก็บผลงานเป็นรีพอร์ตไว้หมด อย่างน้อยก็เป็นประวัติศาสตร์
ที่เราผ่านมา ที่ประสบผลสำเร็จแล้วเอเจนซี่ใหญ่เขาก็ชอบ แล้วเราก็แอบอมยิ้มที่มุมปากข้างหลังเวทีว่า บริษัทใหญ่ๆ ยังมาจ้างเราเมื่อเขาได้รับรางวัลเขาจะวางหน้าอย่างไร อันนี้ผมเข้าใจเพราะเราเป็นซัพพลายเออร์ อยู่เบื้องหลังเขา สุดท้ายเขาก็มาตบไหล่เราเบาๆ แล้วพูดว่า “เจ๋งว่ะ!” (หัวเราะ) แม้เขาจะไม่ยกย่องเรา ผมว่ามันเป็นโอกาสมากกว่าและไม่ได้ผิดอะไร เขามองว่าที่เขาจ้างบริษัทเอเจนซี่ใหญ่ๆ ทำ เพราะมีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ มีฝีมือที่เก่งกาจ เป็นบริษัทที่มีความมั่นคง เพื่อความไม่สงสัยของลูกค้าแต่เขาสามารถให้ใครทำก็ได้ที่สามารถทำงานระดับนี้ได้ มันก็ไม่ได้ผิดอะไร
“การทำงานอยู่เบื้องหลังบริษัทโฆษณา เราต้องใจกว้างเยอะๆ จะว่าเราเจ๋ง เราเก่ง เราแน่ ก็ร้องไปสิ เพราะคุณผลิตอยู่แค่ในประเทศไทย แต่ถ้าเราจะทำแบบบริษัทฝรั่งจ๋าเราก็ทำไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมเราเป็นแบบนี้ เราต้องอาศัยประสบการณ์และเวลาพอสมควรด้วย มีเด็กเก่งๆ ที่จบออกมามากมายจากมหาวิทยาลัย แต่หางานทำไม่ได้ แต่เมื่อมาทำงานกับผม ผมเห็นแววเด็กเก่งๆเยอะ ผมไม่อยากย่องย่องตัวเอง แต่ผมอยากยกย่องทีมงานมากกว่า ผมทำงานเต็มที่ แต่ไม่ได้ทำงานคนเดียว เราเป็นเพียงตัวขับเคลื่อนแค่กำหนดคอนเส็ปต์แบบนี้ คุณไปทำให้ได้ตรงนี้
“ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ผมก็ทำที่เซ็นเตอร์พ้อยท์เรื่อยมา หลังจากหมดสัญญาเช่าที่เซ็นเตอร์พ้อยท์ปี 2551 เขาไม่ต่อสัญญาให้ต้องยื่นประมูล เราก็ประมูลสู้ราคาเขาไม่ได้ เราบุกเบิกมาตั้งแต่ยังไม่มีอะไรเลยจนกระทั่งเป็นพื้นที่ทำเลทองคำ ก็มีพวกน้องๆ วัยรุ่นมาตัดพ้อ ขึ้นมาพูดคุยตอนเราอำลา”
กำเนิดเซ็นเตอร์พ้อยท์
“ตอนที่ผมช่วยงานบริษัทที่บ้าน ผมก็ดึงคนบางคนที่เคยทำงานอยู่ด้วยกันที่มีความสามารถมาทำงานต่อ ก็เริ่มทำในสิ่งที่เราเคยทำ แต่ถนัดไหม บอกว่าไม่ถนัด ก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปอีก ผมไม่ได้มีความถนัดเรื่องวัยรุ่นอย่างเดียว ผมทำหมด ส่วนใหญ่จะเป็นงานผู้ใหญ่ แต่เมื่อมาจับงานวัยรุ่น เราต้องทำตัวแบบเด็กเลย ก่อนอื่นผมต้องสะกดตัวเองก่อน เหมือนกับผมไม่เคยเล่นกอล์ฟ แล้วให้ผมเข้าไปอยู่ในวงการกอล์ฟ ผมก็ต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่กลุ่มเป้าหมายเราเป็นนักกอล์ฟให้เขาศรัทธาในตัวเราให้ได้ เราต้องทำตัวเราเองเสียก่อน เราต้องรักมันให้ได้เหมือนกับที่เขารัก นี่คือสิ่งที่ผมจะต้องทำต่อ ทำตัวให้เป็นเด็กเสียก่อนเราคิดว่าเราชอบแบบไหน ก็จะดึงจุดหลักที่เขาชอบเอามาทำ ดังนั้นผมจึงต้องสะกดจิตตัวเองก่อนว่าสิ่งที่ผมทำตรงสยามสแควร์เป็นสิ่งที่ผมคุ้นเคยอยู่แล้วสมัยเรียน นอกจากดูหนัง ช้อปปิ้ง เราอยากเจอเพื่อนใหม่ เราอยากทำกิจกรรม อยากแสดงออกให้คนมาดู ผมจดเอาไว้เต็มหน้ากระดาษ สิ่งเหล่านี้ที่เราอยากทำให้มันเกิด เมื่อเกิดปุ๊บ เชื่อว่าติดแน่นอนนั่นคือความสนใจที่เด็กวัยรุ่นชอบ แต่ยังไม่เคยมีใครทำ
“ผมจึงไปคุยกับพี่สาวว่าผมมีกิจกรรมแบบนี้นะ พี่เขาก็บอกให้ทำเลย เพราะเขาเลยวัยรุ่นไปแล้ว ผมจึงเริ่มต้นด้วยการจัดประกวดร้องเพลง เป็นการโชว์ความสามารถส่วนตัว สมัยก่อนไม่เคยมีที่ให้แสดงแบบเปิดกว้างขนาดนี้ และข้อสำคัญต้องจัดฟรีด้วย เพราะเด็กๆ วัยรุ่นไม่ค่อยมีสตางค์กัน เขาต้องขอเงินพ่อแม่ จึงตั้งไว้ว่ากิจกรรมทุกกิจกรรมที่เด็กเข้าร่วมต้องจัดฟรี แต่ผมจะต้องไปหาเงินชาวบ้านเขามาแต่ผมไม่การันตีนะว่าจะมีผู้ใหญ่ใจดีในประเทศนี้สักกี่คนที่อยากทำแบบนี้ แต่ก็มีธุรกิจหลายธุรกิจอยากสร้างอิมเมจเรื่องลูกค้าสัมพันธ์มากขึ้น จากแต่เดิมเป็นเรื่องของฮาร์ดเซลสมัยโบราณว่าต้องขายเยอะๆ ตอนหลังที่ผมทำเซ็นเตอร์พ้อยท์ ธุรกิจมันเริ่มเปลี่ยนไป ฮาร์ดเซลอย่างเดียวมันไม่ได้ คุณต้องจับลูกค้าที่เป็นแบรนด์รอยัลตี้เราด้วย หากเรามองระยะไกล มันได้เยอะ ทำให้สินค้าใหม่ๆ หลายๆ อันเข้ามา เราจึงเริ่มไปให้ลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาในถิ่นเรา เขาก็ให้งบประมาณมา 3-5 แสนบาทที่เขาตัดสินใจเพราะเขาได้ภาพ ได้อิมแพ็ค เพราะมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมันเป็นธุรกิจทางการตลาดที่ไม่ได้อยู่ในตลาดใหญ่ๆแต่ตอนหลังบริษัทใหญ่ๆ หลายๆ บริษัทก็หันมาจับธุรกิจย่อยที่เขาเรียกกันว่าเปิดตัวสินค้า มีโรดโชว์ตามที่ต่างๆ มีกิจกรรมให้กับวัยรุ่นทำผู้คนจึงหันมาสนใจ เพราะได้อิมเมจ ได้แบรนด์รอยัลตี้ เราก็เลยได้อานิสงส์นั้นไปด้วย
“เมื่อทำตรงนี้ขึ้นมา ก็เริ่มประกวดการร้องเพลง ก็ไปขอสปอนเซอร์จากวันทูคอลที่บังเอิญมีวิสัยทัศน์ตรงกัน เพราะเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ เขาก็โอเคด้วย ให้งบประมาณมาทั้งปี คราวนี้ไม่ใช่เป็นแสนแล้ว แต่เป็นล้าน ตอนนั้นราวๆ ปี 2541 เปิดเซ็นเตอร์พ้อยท์ได้ประมาณ 3 ปีแรก ช่วงแรกๆ ฟรีหมดเลย เรียกว่าเจ๊ง ผมพูดกับคนจ่ายเงินช่วงแรกก็คือพ่อกับแม่ว่า 3 ปีแรก ไม่ได้สตางค์นะไหวไหม เราต้องมีค่าใช้จ่ายเท่านี้นะ แต่ผมเชื่อว่าหลัง 3 ปีไปแล้ว ติดแน่ๆ เชื่อผมเถอะ ที่บ้านจึงเชื่อเรา เพราะเห็นเราตั้งใจมาตลอดแล้วเราก็ประสบผลสำเร็จในสิ่งที่เราเชื่อมาโดยตลอด ท่านจึงยอมให้ผมทำ พอ 3 ปีมันเริ่มเห็นผลแล้ว มีกำไรมากขึ้น ก็นำเงินไปคืนทุนท่าน เพราะเกิดจากความตั้งใจว่าพื้นที่แห่งนี้ต้องมีกิจกรรมตลอดเวลา วัยรุ่นเดินเข้ามาต้องหาอะไรทำได้ เป็นเพื่อนกับเขาได้ มันจะได้กลุ่มมีวัยรุ่นเข้ามาแน่นทุกวันตลอดเวลา ตลาดมันชัดเจนว่าเป็นวัยรุ่นเพียวๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เหมาะกับตลาดต่างๆ ร้านค้าเป็นเพียงส่วนประกอบเพื่อให้มันเป็นบรรยากาศวัยรุ่น แต่เงินที่ได้มาจากการจัดกิจกรรม ร้านค้าเราได้ค่าเช่าอยู่แล้ว
“เมื่อธุรกิจมันเกิดขึ้นมาแล้วสำเร็จ หลายคนก็พยายามจะทำธุรกิจแบบนี้เหมือนกัน ซึ่งมันจำเป็นต้องอาศัยทุนทรัพย์และวิสัยทัศน์ด้วยเหมือนกัน เพราะบางคนมองว่าไม่ได้สตางค์จะไปทำทำไม ถมเข้าไปเมื่อไรมันจะเต็มและเขาก็ทำไม่ได้ แต่ถ้าเราอดทนสักหน่อย ตั้งใจทำจริง มันก็ได้ทุนคืนได้ พี่ชายจึงต่อสัญญากับทางจุฬาฯ เพราะเซ็นเตอร์พ้อยท์เป็นโครงการที่พี่ชายเป็นคนคิดขึ้นมาทั้งหมด เพียงแต่ผมไปดีลให้มันเป็นไปตามไอเดียที่พี่เขาจะทำ รวมทั้งที่เซ็นทรัลเวิลด์ด้วย มันเกิดจากเซ็นเตอร์พ้อยท์แล้วพัฒนาการขึ้นมา แต่กลไกที่จะทำให้มันประสบผลสำเร็จ มันจะต้องอาศัยกลไกอันนั้น ดีลให้มันเป็นสิ่งที่เขาคิดให้ได้ ผมจึงเป็นผู้ช่วยเติมเต็ม ส่วนพี่สาวจะดูแลธุรกิจที่เป็นเพียวๆ ของทางบ้าน เช่นธุรกิจอพาร์ตเม้นท์ 7-8 แห่ง เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ เรื่องของการเงินทั้งหมด เกี่ยวกับบริษัท แต่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับผม แต่เราจะพูดคุยกันตลอด เพราะเขาเชื่อและรู้จักน้องชายคนนี้มาตั้งผมยังเด็กๆ ว่าผมมีความคิดประหลาด ไม่เหมือนชาวบ้าน ดังนั้นเวลาขอเงินไปขอจากพี่สาวสบายมาก (หัวเราะ) เขาให้ได้เต็มที่เพราะเขารู้ว่าผมทำไปแล้วไม่มีเจ๊ง”
ยังจำไม่เคยลืมเลือน
“ด้วยความที่ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี อันไหนไม่ดีก็จะไม่จำ แต่จะนำมาเป็นบทเรียนได้ส่วนความรู้สึกที่ดี ไปไหนมาไหนแล้วมีความสุข เวลาไปเดินตามห้างสรรพสินค้าแล้วได้ไปเจอเพื่อนที่เราเรียนจบมาด้วยกัน เคยมีเพื่อนมหาวิทยาลัยนั้น มหาวิทยาลัยนี้ความทรงจำครั้งนั้นผมยังจำได้ อย่างสมัยก่อนที่พ่อกับแม่พาผมมาทานข้าวหรือพาผมมาสยามสแควร์ มาดูหนังที่ลิโด้ ที่สกาลาคุณพ่อจะพามาดูหนังแทบทุกอาทิตย์ ผมจึงคุ้นเคยและผูกพันกับที่นี่มาโดยตลอด จะเรียกได้ว่าเป็นที่พบปะของผู้คน ได้ไปดูแฟชั่นสวยๆ ไปดูคนแต่งตัวสวยๆ หล่อๆ
“หากจะถามว่าเป็นสิ่งฟุ้งเฟ้อไหม ก็คงใช่ แต่ชีวิตเรามันประกอบไปด้วยอะไร ไม่ใช่ทุกอย่างต้องเป็นวิชาการไปหมดหรือต้องประหยัดไปหมด คนเรามันยังมีความโลภ มีกิเลส มีตัณหา สิ่งเหล่านี้มันต้องทำให้พอดี แต่เขาทำไม่เป็นจะสอนทุกคนคงไม่ได้มันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เมื่อผมมาทำอย่างนี้หลายคนเริ่มโจมตีว่าผมเป็นคนฟุ้งเฟ้อ ทำให้เยาวชนหลงวัตถุนิยมหรือแต่งตัวไม่เหมาะสม ผมก็ต้องมาอธิบายว่าสมัยที่คุณเป็นเด็กวัยรุ่นเคยใส่กางเกงขาบานไหม ผู้หญิงก็ใส่เสื้อฟิตๆ ทุกคนมันเคยใส่อยู่แล้วเพราะมันเป็นแฟชั่น แล้วทำไมคุณทำได้ ทำไมเด็กสมัยนี้แต่งตัวแบบนี้ทำไม่ได้ล่ะ มันเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อเลยเวลาของเขาไปแล้ว เขาจะไม่ทำเวลาจบออกมาทำงานแล้ว มันเป็นช่วงสั้นๆ ของวัยรุ่นที่เขาจะได้แสดงออกอย่างเต็มที่ แต่ถ้าไปปิดกั้นไม่เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงออกแทนที่เขาจะอยู่บนดิน เขาก็ไปอยู่ใต้ดินที่เราไม่ได้เห็นอะไร แต่สิ่งที่ผมทำมันเปิดลานกว้าง ใครจะมาดูก็มาดูได้เลยว่าพวกเขากำลังทำอะไรกัน มันเป็นที่ของวัยรุ่นเด็กจะอยู่ในสายตาเราตลอด พ่อแม่สามารถมาดูลูกได้ ดีกว่าปิดกั้นแล้วเด็กไปจัดปาร์ตี้กันตามคอนโดมิเนียม มันอันตรายกว่า มันนอกเหนือกฎเกณฑ์ของสังคม จะสังเกตว่าที่ผ่านมา เด็กที่ผ่านจากการแสดงจากเซ็นเตอร์พ้อยท์ก็ไปอยู่ในแวดวงบันเทิงมากมายหลายคน อย่าง ดา เอ็นโดรฟิน ก็เกิดจากเรา เขามาประกวดกับเรานานมากแล้วก็ชนะเลิศที่ 1 หรืออย่างดีเจเชาเชาก็ด้วย พวกที่เขาประสบผลสำเร็จไปเขาจะมีความรู้สึกที่ดีและผูกพันกับเซ็นเตอร์พ้อยท์
“เรามีบรรทัดฐานทางสังคมเป็นตัวกำหนดทั้งในเรื่องบุหรี่หรือยาเสพติดจะมีการจัดระเบียบของเด็กรุ่นใหม่ห่างไกลยาเสพติด บางครั้งผมต้องลงไปพูดคุยกับเด็กตรงๆ แบบเพื่อนสำหรับพวกที่ทำตัวซ่า เท่าที่พูดคุยกับเด็กตรงๆ สรุปแล้วทั้งหมดมักจะมีปัญหาทางครอบครัวแตกแยก แม่ไปมีสามีใหม่ อาศัยอยู่กับยาย ถูกพ่อตีหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ฟังแล้วเศร้า อย่างน้อยแนวทางในการแก้ปัญหาคือพูดคุย ช่วยให้เขาได้ระบาย เขาก็จะรู้สึกดีขึ้นเยอะเมื่อได้พูด เขาก็จะได้คิดถึงสิ่งที่เขาคิดเขาทำได้ เซ็นเตอร์พ้อยท์จึงเป็นเสมือนศูนย์รวมของทุกอย่างแม้แต่ปัญหาทางสังคมด้วย ผมจึงกำลังดูแลปัญหาสังคมไปโดยปริยายว่าทำไมสังคมไทยมันเป็นอย่างนี้ ผมอยากให้มีสถานที่แบบเซ็นเตอร์พ้อยท์เยอะๆ ทุกมุมเมืองของประเทศไทยให้กับวัยรุ่นเป็นที่แสดงออก แล้วคุณจะเห็นศักยภาพเขา หากมีปัญหาก็ต้องมาช่วยกันแก้ไข โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่บริหารประเทศชาติบ้านเมือง กิจกรรมทุกอันที่
รัฐบาลหรือทางกรุงเทพมหานครจัดขึ้นมามันดีอยู่แล้ว อย่างถนนลานคนเมือง หรือกิจกรรมตามสวนสาธารณะ เพราะมันเป็นการสนับสนุนให้หาอะไรทำ ไม่เพ้อเจอไปวันๆ โดยไร้ทิศทาง”
เปิดแนวรบ...ครบวงจร
“ถึงแม้เซ็นเตอร์พ้อยท์จะปิดตัวไปเพราะเราแพ้การประมูลก็ตาม แต่เขาก็เห็นแล้วว่าเราทำกันอย่างไร ผมเสียใจนิดหน่อยเพราะเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2540 มันอยู่ในหัวเราสามารถทำได้ตลอด แต่ทำที่อื่นก็ได้ จึงบอกกับพี่ๆ น้องๆ ทุกคนว่าไม่ต้องกลัวตกงานหรอก ผมมีที่อื่นทำต่อ คนเดิมๆ ที่ทำงานด้วยกันในอดีตยังอยู่ครบทุกคน งานที่ผมทำก็ขยายมากขึ้น สมัยนั้นเมื่อผ่านการทำ
เซ็นเตอร์พ้อยท์มา 6 ปี งานจึงเยอะขึ้น ส่วนแรกเราหันไปทำทางด้าน สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ เพราะเราต้องทำรายการโทรทัศน์เพื่อรองรับ กิจกรรมปัจจุบันยังมีการออกสื่อสิ่งพิมพ์ ทำออแกไนเซอร์ ทำโมเดลลิ่งอีกด้วย จึงแตกยอดออกมาเป็น 5 อย่าง ผมลงทุนไปเต็มที่แต่อะไรเด่นที่สุดก็ต้องขอวัดผลก่อน เพราะเรามีความชำนาญทุกอย่าง จึงแยกออกมาเป็นพับบลิชชิ่ง มีCenterpoint Magazine เป็นนิตยสารวัยรุ่นพวกเสื้อผ้า แฟชั่น กิจกรรมต่างๆ และจะมีการออกพ็อกเก็ตบุ๊ก ในอนาคตจะมีนิตยสารเพิ่มขึ้นอีกหลายหัวจากระดับผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อย
“ในส่วนที่ 2 เนื่องจากเราทำงานด้านออแกไนเซอร์เซ็นเตอร์พ้อยท์มาโดยตลอด ก็เลยมีทีมงาน มีงานดีๆ เข้ามาเยอะมาก อย่างงานใหญ่ๆ จัดปาร์ตี้ชุดว่ายน้ำระดับ 3,000-5,000 คน เราได้ทำขนาดนี้มาแล้ว ส่วนที่ 3 เป็นงานในส่วนโมเดลลิ่ง ซึ่งเราต้องใช้เยอะมาก เช่น เดินแบบ พิธีกร พิธีกร ดีเจ วีเจ เรามีโมเดลลิ่งอิมพอร์ตมาจากเมืองนอกเหมือนกัน ก็ทำในส่วนของโมเดลลิ่งเต็มตัว เคยได้งานที่สยามพารากอนและที่เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นต้น เราจึงได้งานมาตลอดรวมถึงประเภทออกรายการทางทีวีด้วย ต่อไปก็เป็นเรื่องของแสงเสียง แต่ก่อนเราทำที่เซ็นเตอร์พ้อยท์ เราต้องเช่าเครื่องไฟ เช่าเครื่องเสียง เราจึงตัดสินใจซื้อมา
ใช้เองจากเมืองนอกราคาหลายสิบล้าน ประหยัดกว่าเยอะ จึงทำเป็นเรื่องเป็นราว เพราะเรายังได้ให้เขาเช่าเครื่องไฟเครื่องเสียงครบเซ็ต เพราะมีงานนอกเข้ามาเยอะมาก และส่วนสุดท้ายก็เป็นเรื่องของการทำบริษัทพีอาร์ เราเริ่มขยายงานและตอนนี้อยู่
เบื้องหลังให้กับอีกหลายบริษัท มีการไปถ่ายทำสารคดี
“หลายคนมักจะพูดว่าผมเป็นนักสะสมไอเดีย ก็อาจจะใช่ ผมเชื่อว่าทุกคนก็ทำได้เพียงแต่คุณมุ่งมั่นตั้งใจ หมั่นเรียนรู้แค่ไหนเหมือนกับผมไปทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์กับพี่ชาย ผมก็ต้องทำได้ แต่อาจจะดีแค่ไหนนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งต้องขอเวลาเข้าไปศึกษาเรียนรู้ การก่อสร้าง การตอกเสาเข็ม การวางฐานล่าง เรียนรู้ก่อนการประเมินผล ถ้าเราเชื่อมั่นเราต้องทำได้ แต่อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จทุกคนเสมอไป ผมเชื่อมั่นในตัวผมเองมากกว่าเพราะผมทำเต็มที่เต็มความสามารถมันไปได้ มันไม่มีทางตาย ที่จริงแล้วมีคนที่ประสบผลสำเร็จมากมาย ผมเป็นแค่คนๆ หนึ่งที่โชคดี งานที่ทำมักจะประสบผลสำเร็จเสมอ อันนี้ถือว่าเป็นโชคช่วยด้วย ผมได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ที่ดี จากคุณพ่อคุณแม่ จากพี่ๆ ที่เห็นความสามารถของเราแล้วมาช่วยเรา สิ่งที่สำคัญที่สุดของการที่จะประสบผลสำเร็จก็คือ ผมยึดหลักคุณธรรม มีจิตใจที่ดี ไม่เอาเปรียบคนอื่น แค่นี้ก็อยู่ได้ ถ้าบริหารงานแล้วไปเอาเปรียบผู้อื่นแค่คิดก็ผิดแล้ว อย่าทำเสียดีกว่า เราต้องทำอย่างเต็มที่ในสิ่งที่เขาให้งานเรามา โดยเฉพาะเจ้าของงาน เราไม่ทำแบบผักชีโรยหน้า สุกเอาเผากิน เราต้องทำตอบแทนให้คุ้มค่าในสิ่งที่เขาไว้วางใจ แล้วเราจะได้ใจเขาตลอดไป เหมือนที่ผมได้งานมาตลอดทุกวันนี้”
Play House
“เรื่องของ Play House ที่ผมอยากจะตอบโจทย์เรื่องการสร้างโรงละครใจกลางเมือง ว่าแต่เดิมที่นี่เป็นโรงภาพยนตร์เมเจอร์เก่าโครงสร้างบางส่วนพังไปแล้ว แต่พี่ชายและผู้บริหารเดิมไม่อยากให้รื้อทั้งหมด จึงมาหารือกันจึงวิเคราะห์ตลาดตรงนั้นว่าประเทศไทยยังขาด ศิลปะด้านการละครยังมีอยู่น้อยมาก หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่เจริญแล้ว เขาจะมีศิลปะหลายแขนงมาก เรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนเพื่อความอยู่รอด ตอนนั้นนอกเหนือจากความอยู่รอดแล้ว มันมีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป เริ่มใช้เงิน เด็กรุ่นใหม่หันมาเปลี่ยนงานเป็นศิลปะมากขึ้น ค่านิยมทัศนคติมันเปลี่ยนไปทางสังคม แต่ก่อนผู้ใหญ่ต้องวางให้ เก็บให้ แต่เดี๋ยวนี้ลูกมันอยากเป็นนักร้อง นักดนตรี ก็มุ่งไปทางนั้นเพราะเด็กสมัยใหม่เขาไม่ได้คิดอย่างเราแล้วหรือลูกอยากเป็นนักกีฬาระดับชาติก็เป็นได้ สมัยก่อนเต้นกินรำกินไม่มีใครเขาสนับสนุนอยู่แล้ว นักกีฬาอาชีพไม่ได้ไส้แห้งเหมือนแต่ก่อน รวยไปหมดแล้ว ได้ค่าสปอนเซอร์อะไรต่ออะไรเยอะแยะ
“ส่วนเรื่องโรงละคร ผมจะทำเป็น Play House เพื่อให้วัยรุ่นที่สนใจทางด้านอาร์ตจริงๆ ได้แสดงออก เราเปิดพื้นที่ให้เป็นแบบกลุ่มละครอิสระที่เขามักจะเล่นตามที่อื่นๆ ผมจึงเอามารวมกัน โรงละครนี้ก็อยู่ใจกลางเมือง ไปมาสะดวก ทำเลดี แต่ก่อนไปศูนย์ปรีดีพนมยงค์หรือที่ภัทรวดีเธียรเตอร์ มันลำบาก ต้องไปแท็กซี่อย่างเดียว สำหรับโรงละครถ้ามีเยอะยิ่งดีแต่หากมาที่นี่ นอกเหนือจากการดูละครแล้ว ยังได้ช้อบปิ้ง ได้เข้าซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วกลับมาดูละครใหม่ มันมีครบวงจรให้ทำอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังมีการฉายภาพยนตร์แนวอินดี้ด้วย เช่นหนังที่ได้รับรางวัล หนังดีๆ ที่ไม่มีที่ลงก็มีเยอะเหมือนกัน
“เราได้ไอเดียหลายๆ อย่างจากพวกเขาเยอะ ขึ้นอยู่กับผู้บริหารว่าชอบสไตล์ไหน ถ้าเขาไม่รู้เราก็จะเสนอให้กับเขา ผู้บริหารที่นี่เป็นกลุ่มบริษัท อินฟินิตี้ มอลล์ จำกัด แต่ผมจะเสนอเอ็นเตอร์เทนเมนต์ Play House ที่นี่จึงมีคิวยาวเหยียดที่ผ่านๆ มามีการแสดงละครเวทีของคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เช่น คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ขายบัตรเต็มทุกที่นั่ง ผมต้องไปคุยอีกหลายมหาวิทยาลัย ทั้งที่จุฬาฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอีกหลายสถาบัน เราได้งานนอกเหนือจากความคาดหวังล่าสุดร่วมกับทาง แกรนด์เซ็นเตอร์ มีคุณวรายุทธิ์ ปัจฉิมสวัสดิ์ ร่วมกับทางกรุงเทพมหานครจัดงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนลแดนซ์เฟสติวัล 2009 มีการแสดง 3 ที่ มีที่นี่ ที่โรงละครอัษราและสวนเบญจสิริ เป็นการแสดงกลางแจ้ง โดยจัดพร้อมกัน 74ประเทศทั่วโลก ในวันที่ 29 เมษายนของทุกปี
“อีกอย่างผมเป็นคนที่ชอบงานศิลปะมาก ชอบถ่ายภาพทีเผลอ ถ่ายภาพบุคคล ถ่ายวิวทิวทัศน์ บางครั้งผมยังถ่ายทำภาพโฆษณาเอง เป็นการลดต้นทุนไปในตัว ไม่จำเป็นต้องไปจ้างคนอื่นมาถ่าย ผมทำมาหมดตั้งแต่แต่งเพลงประกอบรายการ เพลงไตเติ้ลรายการ การลงเสียงโฆษณาให้ ลงภาพสารคดี ผมใฝ่ฝันที่จะทำแกลลอรี่ งานปั้นเซรามิกปั้นหม้อ ปั้นไห รูปทรงต่างๆ เคยปั้นโชว์ด้วย มีหนังสือขอไปถ่ายภาพประกอบ
“ไลฟ์สไตล์ของผมสบายๆ ชอบอยู่บ้านเลี้ยงสุนัข เล่นเปียโน อ่านหนังสือ วาดรูป ฟังเพลง ดูภาพยนตร์ ท่องเที่ยวบ้าง ผมเป็นคนอ่อนไหวมากกว่าที่จะเรียกว่าโรแมนติก เป็นคนเซ็นสิทีฟสูง ผมตั้งเป้าไว้ว่าผมจะเกษียณตัวเองอายุ 55 ปี ไม่มีการต่ออายุตอนนี้แค่ 43 ยังมีเวลาให้ทำอะไรอีกเยอะครับ”
ชีวิตหลังเกษียณ
“ผมอยากใช้ชีวิตหลังเกษียณในที่ที่ผมไม่เคยไป ผมอยากไปในขณะที่ผมยังมีเรี่ยวแรงเดินไหว อยากไปปีนเขาถ่ายภาพในที่สูงๆอยากไปขั้วโลกเหนือ อยากไปทิเบต อยากทำอาร์ตแกลลอรี่ อยากทำรีสอร์ทขนาด 20 ห้อง ตอนนี้มองอยู่หลายที่ ไม่ใกล้ทะเลก็ติดภูเขา โดยพัฒนามาจากที่ดินที่ตัวเองมีอยู่แล้ว เมื่อมันไม่ประสบผลสำเร็จเราจะได้ไม่เจ็บตัวมากนัก มีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่งที่เราจะใช้อย่างประหยัดไม่สุรุ่ยสุร่าย ถ้าทำรีสอร์ทก็จะมีแกลลอรี่ของผมอยู่ที่นั่นด้วย เหมือนกับผู้ใหญ่ทั่วไปที่เขาวางแผนเอาไว้สำหรับการบริหารในปั้นปลายชีวิต
“ผมอยากจะฝากสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ จะทำอะไรขออ