วนิดา พึ่งสุนทร
ด้วยปัจฉิมวัยก้าวสู่ 72 ฤดูฝน แต่ยังแลดูแข็งแรง อ่อนโยน มีเมตตา อาจารย์วนิดา ท่านได้เรียงร้อยเรื่องราวจำนรรจา ย้ำอดีตสู่ปัจจุบันอย่างน่าติดตาม
เชี่ยวชาญเชิงศิลป์..แต่ปฐมวัย
“จำได้ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงใหม่ๆ ดิฉันได้รับการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมที่โรงเรียนราชินี ย่านปากคลองตลาด เรียนจนกระทั่งถึง ม.8 ตอนแรกคิดว่าจะเรียนต่อบัญชี ที่ธรรมศาสตร์ แต่คิดว่าถ้าเรียนบัญชี เมื่อจบออกมาก็ต้องมานั่งโต๊ะทำงาน จึงไม่ชอบ แต่อีกใจก็อยากเรียนนิติศาสตร์อีก แต่เมื่อเพื่อนเรียนบัญชีก็เลยไม่มีเพื่อนเรียน เผอิญมีพี่ของเพื่อนเรียนที่ศิลปากรจึงมาสอบเข้าตาม เพื่อนๆ ส่วนมากเลือกคณะโบราณคดี ตนเองเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมไทยดีกว่า เพราะมีพื้นฐานและถนัดทางด้านวาดรูป เคยเขียนรูปมาก่อนแล้ว จึงมาเรียนสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งขณะนั้นมี พระพรหมพิจิตร เป็นผู้ก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมไทยที่ศิลปากรและเป็นคณบดี เรียนอยู่รุ่นที่ 3 ทั้งหมดมี 5 ชั้นปี เรียนจนกระทั่งถึงปี 3 ตอนนั้นเป็นอนุปริญญาพอจะขึ้นปี 4 ก็เปลี่ยนคณบดีเป็นท่านอาจารย์อัน นิมมาเหมินทร์ เป็นปริญญาปีที่ 4 รุ่นแรกก็ได้เรียนกับรุ่นพี่ๆ อีก 2รุ่น แต่ก่อนจะจบได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ตอนอยู่ปี 5 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2505เพื่อนร่วมรุ่นของคณะจิตรกรรมมีคุณไข่มุก ชูโตเรียนโรงเรียนราชินีมาด้วยกันท่านถนัดด้านงานปั้น ส่วนเพื่อนร่วมรุ่นสถาปัตยกรรมไทย ที่ดังๆ ก็มีคุณกาพย์ หอมสุวรรณรศ.ฤทัย ใจจงรัก ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะ สถาปัตยกรรมปี 2543 รศ.ประสงค์ เอี่ยมอนันต์
“ก่อนหน้านั้นเริ่มชอบศิลปะมาตั้งแต่เรียนอยู่ที่โรงเรียนราชินี เพราะชอบวิชาเขียนรูปในความทรงจำ ได้คะแนนสูงสุดของชั้นและในเรื่องการฝีมือถักโครเชต์ ปักสะดึง จัดพานพุ่ม ร้อยพวงมาลัย จะทำคะแนนได้สูงอีกด้วย ตอนนั้นได้รับรางวัลชนะเลิศปักหมอนขณะเข้าประกวดในงานศิลปหัตถกรรมที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ก็ทำให้เริ่มสนใจศิลปหัตถกรรม อีกทั้งโดยรอบโรงเรียนก็รายล้อมไปด้วยศิลปะสถานสำคัญๆ หลายแห่ง อาทิวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวราราม จึงน่าจะมีส่วนในการก่อให้เกิดความสนใจในศิลปะสถาปัตยกรรมไทยและตัดสินใจเข้าศึกษาต่อด้านนี้ ถือว่าเป็นจุดหักเหที่ไม่ได้เข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ อีกอย่างสถาปัตยกรรมไทยในอดีตไม่มีผู้หญิงเรียนเลย ถือว่าเป็นผู้หญิงคนแรกและคนเดียว
“เทอมแรกที่เข้ามาเรียนรู้สึกกลัวเพราะว่าใครๆ ก็ขู่ว่าถ้าเรียนสถาปัตยกรรมไทย ผู้หญิงไม่มีทางจบหรอก จึงไม่มีใครกล้าเรียนพอดีมีรุ่นพี่คือพี่หยัด (ศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำ) ก็มาบอกว่า เดี๋ยวจะไปพูดกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ให้เองบอกว่าให้ไปย้ายคณะไปเรียนคณะจิตรกรรม ซึ่งตอนนั้นก็เรียนกับอาจารย์ศิลป์อยู่ด้วย คือวิชาเรียนรวม ท่านสอนวิชาทัศนศิลป์ เกี่ยวกับการออกแบบและเรื่องสี เมื่อพี่หยัดไปนำเรียนท่านอาจารย์ศิลป์ อาจารย์พระพรหมพิจิตรทราบเรื่องเข้าว่าจะย้ายคณะ จึงเรียกไปสวดใหญ่เลย (หัวเราะ) ก็เลยไม่ได้ย้ายคณะ
“คณะจิตรกรรม ประติมากรรม มักจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับคณะสถาปัตย์ ตอนนั้นเรียนที่อาคารโรงเขียว ทำด้วยไม้ชั้นเดียว มุงด้วยสังกะสี อยู่ตรงคณะมัณฑนศิลป์ คณะจิตรกรรมอยู่ตึก 2 ชั้นข้างๆ กัน พวกสถาปัตย์มักจะส่งเสียงดังหนวกหู พวกคณะจิตรกรรมก็เอากระป๋องสีปาลงมาใส่บนหลังคา ก็เป็นที่รู้กันว่าให้เบาๆ หน่อย (หัวเราะ) แต่ไม่เคยทะเลาะกัน ส่วนตัวแล้วจะสนิทสนมกันกับเพื่อนๆ คณะจิตรกรรม เพราะเราเป็นผู้หญิงคนเดียวของคณะ เดินออกนอกห้องจะมีผู้ชายมองกันเป็นแถวเต็มไปหมด(ยิ้ม) ไปไหนมาไหนไปด้วยกันยกห้องประมาณ 10 กว่าคน เพื่อนๆ ผู้ชายก็จะให้เกียรติตลอด คอยดูแลเอาใจใส่ ก็เลยไม่เป็นอุปสรรคอะไร
“เมื่อก่อนจะเรียนลายรดน้ำ จะมีการลงรักปิดทองมีไม้กระดาน จะต้องลงรักจริงแล้วรักจริง ที่ลงจะต้องเคี่ยวรักเพื่อลงพื้นรัก บางคนแพ้ ขึ้นผื่นหน้าตาก็จะขึ้นเห่อเต็มไปหมด แต่เพื่อนผู้ชายจะลงรักให้ จากนั้นก็จะทำเองหมดเพราะไม่กล้าลงเอง การลงรักเป็นแขนงหนึ่งของวิชาช่างสิบหมู่ ตอนนั้นจะเรียนหมด ทั้งไสปูน ลงรักปิดทอง ปั้นปูน แกะสลักไม้ ช่างสิบหมู่ ที่เรียนจะต้องเรียนให้รู้เพื่อนำมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมไทย จะต้องมีงานประกอบ จึงจำเป็นต้องรู้เรื่องในวิชาช่างสิบหมู่ เพื่อที่จะนำมาใช้กับงานด้านสถาปัตยกรรมไทยว่าจะนำมาใช้อย่างไร ถึงแม้คนที่จะมาปั้นปูนเป็นช่างพื้นบ้าน แต่มันเป็นวิชาชีพของเขา เขาเป็นช่างจริงๆ มาปั้นลายหน้าต่าง ปั้นหน้าบันหรือปั้นทั้งหมด เป็นวิชาชีพแต่การทำของเขาจะทำตามใจชอบของตัวเองไม่ได้ เขาจะต้องทำลวดลายตามที่เราออกแบบให้เขาไปปั้น ฉะนั้นเราต้องรู้ ไม่ว่าจะแกะสลักหรือปั้นลายอะไร เราจะต้องแก้หรือแนะนำเขาได้ตามที่เราต้องการหรือเปล่า การจะไปแก้จะไปบอกเขาเฉยๆ มันก็ไม่ถูกใจเรา เราเรียนไปเพื่อให้รู้ว่า เราลงมือแก้ให้เขาได้ว่าความหนาอย่างนี้ เพื่อบอกเขา
“เหมือนกับเวลาทำอาหารจำเป็นอย่างยิ่งที่ว่าคนเป็นครู จะต้องบอกเขาได้ว่าจะต้องทำอย่างไร เขาชำนาญ ในเรื่องของเขา ถ้าเขาทำอะไรที่โดดๆ ขึ้นมา เขาสามารถทำตามใจชอบของเขาได้ แต่ถ้าเผื่อนำมาประกอบในงานของเรา มันจะต้องเหมาะสมกับงานรูปแบบที่เราออกแบบไว้ เราต้องรู้และแนะนำเขาได้ ไม่จำเป็นจะต้องลงมือทำเอง แต่สามารถแก้ไขได้ว่าตรงนี้ลายกนก ตรงนี้มีช่อ มันจะกระดกอย่างไร ลึก ตื้น หนา บาง อย่างไร วิชาช่างสิบหมู่จึงสำคัญมาก สามารถนำมาช่วยในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เรารู้เรื่องของการเขียนลายก็ก็อบปี้ลายไป แต่การออกลายเราจะต้องประดิษฐ์ลวดลายได้ตามแบบของเรา”
วิถีชีวิตผสานภูมิปัญญาไทย
“พอเรามีพื้นฐานในนั้นแล้ว เราเรียนออกแบบสถาปัตยกรรมไทยและการออกแบบสถาปัตยกรรมหลัก เรื่องของการเป็นสากลด้วย ต้องเรียนประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมสากล ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทยด้วย เพราะเราต้องออกแบบงานด้านสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งเป็นลักษณะเอกลักษณ์ประจำชาติ เราต้องรู้ว่าเอกลักษณ์ประจำชาติไทยเป็นอย่างไร แต่ละภาคมีความแตกต่างไม่เหมือนกันอย่างไร พื้นถิ่นนี้เป็นอย่างไรโดยเฉพาะในเรื่องประวัติศาสตร์ อย่างในสมัยอยุธยา มีลักษณะเฉพาะตัวลักษณะเด่นของสมัยนั้นเป็นอย่างไร สมัยสุโขทัย ศรีวิชัย ภาคใต้เป็นอย่างไร ภาคเหนือ ภาคอีสาน เป็นอย่างไร เราต้องเรียนรู้ทั้งหมดในเรื่องสถาปัตยกรรมหลักของสถาปัตยกรรมไทย เราจะต้องรู้ในเรื่องหลักการออกแบบ ถ้าเป็นงานจิตรกรรมจะเป็นงาน 2 มิติ แต่ถ้าเป็นงานสถาปัตยกรรมไทยนั้นเป็นศิลปะที่เป็น 3 มิติที่คนสามารถนำไปใช้ได้ ถ้าเป็นบ้านก็เป็นอัตราส่วนร่างกายของคน ถ้าเป็นวัดวาอารามก็จะต้องเป็นโอเวอร์สเกล แต่ต้องมีองค์ประกอบที่มีลักษณะ ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติเราด้วย อาทิ โบสถ์วิหาร ซึ่งจะต้องใหญ่เมื่อเราเข้าไปถึงภายใน องค์ประกอบที่เราจะใช้ภายในคือพื้นที่และขนาดของภายในจะต้องเหมาะสมกับองค์พระพุทธรูป พระประธาน เมื่อเราเข้าไปภายในแล้วจึงจะมีความประทับใจ ศิลปินจึงเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่นั้น ต้องมีความเคารพยำเกรง ต้องมีความศรัทธานับถือนั่นคือกระบวนการในการได้มาซึ่งรูปแบบ
“เมื่อเรารู้องค์ประกอบในการออกแบบดีไซน์อันนั้นเป็นหลักแล้ว แต่การที่จะเอาลวดลายอะไรมาประกอบ จะใส่อย่างไร การนำช่างสิบหมู่นั้นเข้ามาเป็นองค์ประกอบในงานออกแบบของเราคืองานสถาปัตยกรรมไทย มีความรู้สึกสอดคล้องกัน ดูแล้วสงบนิ่งเวลาเราเข้าไปภายในงานสถาปัตยกรรมไทย เราจะรู้สึกว่ามันมีความสงบ เย็น มีความรู้สึกขึ้นมาทันที อันนี้มันเป็นความสามารถของผู้สร้างสรรค์ออกแบบ เพราะฉะนั้นงานสถาปัตยกรรมไทยที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน ยกตัวอย่างในพระบรมหาราชวัง นั้นเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก สำหรับสถาปัตยกรรมไทยบางแห่งก็ปรากฏชื่อศิลปินผู้ออกแบบ บางแห่งตามโบราณสถาน ก็ไม่ปรากฏชื่อ สิ่งเหล่านั้นคือครูของเราทั้งสิ้น ถ้าเราเรียนทางนี้ เราจะต้องมีความรู้ในการจัดเก็บข้อมูลว่าเข้ามาได้อย่างไร
“การที่บุคคลทั่วไปไม่ค่อยยกย่องศิลปินที่สร้างงานสถาปัตยกรรมไทยเหมือนในยุโรป เพราะที่นั่นเขาจะยกย่องศิลปินผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรม มีการจารึกชื่อของศิลปินไว้ที่ผลงาน ส่วนในประเทศไทย บางที่ที่นักสถาปัตยกรรมไทย ออกแบบสร้างสรรค์เอาไว้กลับไม่มีชื่อของศิลปินติดอยู่ บางครั้งต้องไปค้นคว้าเพราะไม่ปรากฏอยู่ที่เนื้องาน อีกทั้งในเรื่องของงานในสมัยก่อน ทั้งของสมเด็จครู (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์) ออกแบบสร้างสรรค์มาตั้งแต่แรกในสถานที่นั้นก็ไม่ปรากฏชื่อผู้ที่ออกแบบก่อสร้างอะไรเลย เราจะต้องค้นคว้าจากจดหมายเหตุบ้าง เพราะตั้งแต่สมัยโบราณเราไม่เคยทราบเลยว่าใครเป็นผู้ออกแบบ
“อาจเป็นเพราะว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้ออกแบบ แต่ให้ความสำคัญกับงานที่ปรากฏอยู่ตรงนั้นมากกว่า งานศิลปะโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานทางด้านสถาปัตยกรรมไทยท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นนั้น จะไม่เหมือนกัน เราดูข้างนอกแล้วคนทั่วไปถ้าไม่ได้เรียนมาทางนี้ จะมองว่านี่คืองานทางไทย มีช่อฟ้า ใบระกา มีลวดลาย ซึ่งแต่ละท้องถิ่นแต่ละสมัยนั้นไม่เหมือนกันเลย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ ภูมิอากาศของแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน วัฒนธรรมทางด้านวิถีชีวิต การกินอยู่ หลับ นอนรวมไปถึงศาสนา จะแตกต่างกันในเรื่องของประโยชน์ใช้สอย
“สมัยก่อนกับสมัยนี้จึงไม่เหมือนกัน บ้านทางภาคเหนือ ภูมิภาคอากาศจะหนาว ก็จะมีหลังคาลงมา จะลาดต่ำๆ เปิดช่องหน้าต่างน้อยๆ ฝาผนังเอนออก เพื่อไม่ให้อากาศหอบเอาความเย็นเข้าถึง ส่วนใต้ถุน ถ้าเป็นเรือนไทยจะมีลักษณะคล้ายๆ กันกับภาคกลาง แต่พื้นที่ของประโยชน์ใช้สอยจะต่างกัน เพราะภาคกลางก็จะมีเรือน ถ้าเป็นเรือนหมู่ ก็เป็นเรือนสะพานแล้วมีเรือนข้างๆ จะมีระเบียง มีเรือนนอนกับระเบียงจะลดต่ำลงมาหน่อย จากระเบียงมาชานก็ต่ำลงมาอีกหน่อย มีช่องแมวลอด แต่เดี๋ยวนี้ที่ทำไม่มีช่องแมวลอด ช่องแมวลอดกับชานมันจะมีประโยชน์ที่ว่าประเพณีของคนไทยเรานับถือผู้อาวุโสเพราะฉะนั้นเมื่อตกเย็นขึ้นมาถ้าอยู่บนเรือนผู้เฒ่าผู้แก่จะนั่งอยู่ชั้นบน ลูกหลานที่ต่ำขึ้นมาหน่อยก็จะอยู่ที่ระเบียง ลูกหลานอีกชั้นหนึ่งก็จะนั่งอยู่ที่ชานเต็มไปหมดเพื่อรอฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องเก่าๆ ให้ฟัง ถ้าเป็นตอนกลางคืนก็จะเล่าเรื่องผี เป็นความผูกพันระหว่างวิถีชีวิต ที่อยู่อาศัยจึงสนองประโยชน์ใช้สอย สนองในเรื่องดิน ฟ้า อากาศอยู่ที่ชานหรือระเบียงมีลมโกรกตลอด ส่วนธรณีประตูจะสูงขึ้นมาหน่อยเราถือว่าเป็นพระแม่ธรณี เราจะไม่เหยียบ แม้แต่ในโบสถ์ก็ยังมี เขาจะข้ามกัน
“นอกจากความเชื่อนี้แล้ว ของไทยเราไม่ว่าอาคารศาสนาหรืออาคารของที่อยู่อาศัย เราจะไม่นิยมแบ่งกั้นห้องอย่างนี้ จะเป็นพื้นที่โล่งกว้าง การไหลเวียนของพื้นที่ภายในห้องกับข้างนอก จะเป็นนอกห้องหรือนอกบ้านก็จะไม่มีการกั้นห้องอย่างนี้ มองไปแล้วบรรยากาศถ่ายเทระหว่างภายในกับภายนอกไม่มีอะไรปิดกั้น ธรณีประตูจะเป็นการกั้นระหว่างห้องข้างใน ห้องพระกับห้องนอนการกั้นห้องถ้าบ้านอย่างดีจะมีประตูไม้บานเฟี้ยมขึ้นมา บางแห่งจะไม่มีเลย จะมีเฉพาะแค่กั้นห้องนอนเท่านั้นให้เป็นสัดเป็นส่วนฉะนั้นธรณีประตูจึงเป็นการกั้นสัดส่วน
“สำหรับรับแขก เราก็รับที่ระเบียงเรือนชานเหมือนกัน ถ้าเป็นบ้านใหญ่ๆ ที่เป็นเรือนหมู่ ก็จะมีหอนก หอที่นั่งเล่น ก็จะรับแขกตรงนั้น ในรั้วในวัง จะเป็นอย่างนั้นด้วยเหมือนกัน ทางภาคใต้ มีฝนตกชุกถ้าเป็นเรือนไทย เรือนมุสลิม เขาก็จะมีวิธีระบายอากาศโดยใช้ฝาขัดแตะลาย 2 ลาย 3 ซึ่งฝาอันนี้คือฝาที่หายใจได้ อากาศจะถ่ายเท ระดับพื้นแต่ละชั้นจะสูงกว่าภาคอื่นๆ เขาจะใช้ฝาเป็นช่องเล็กๆ ลมเข้าได้น้อย แต่ฝาปิดเปิดได้ ขึ้นอยู่ว่าต้องการลมมากลมน้อยแค่ไหน เราเรียกว่าฝาไหล ถ้าเรือนเก่าทางอยุธยาห้องนอนก็จะเว้นร่องพอเอาเสื่อมาปูแล้วเอาที่นอนมาวางปูข้างบน รอบๆ เสื่อ รอบๆ ที่นอนอากาศถ่ายเทได้ตลอด รู้สึกเย็นสบายเวลานอน นี่คือภูมิปัญญาไทยของช่างบรรพบุรุษ
เอกลักษณ์เผ่าพันธุ์
“การที่เราจะทำงานสถาปัตยกรรมไทย ให้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เราต้องศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์และสถาปัตยกรรมในประเทศไทยทั้งหมดด้วย เพราะมันมีวิวัฒนาการ มีพัฒนาการมาตลอดเวลา บางท่านมักจะบอกว่า สถาปัตยกรรมไทยเป็นสิ่งที่ตายไปแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง สถาปัตยกรรมไทยเรายังไม่ตาย เรามีวิวัฒนาการและพัฒนาตลอดมาจนถึงปัจจุบัน แต่สิ่งที่ตายไปแล้วคือโบราณสถานที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โบราณสถานมีหลายอย่างที่ใช้ประโยชน์ภายในและที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มันอาจจะไม่มีชีวิตแล้ว แต่ทางวิชาการยังมีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ เหมือนเป็นห้องสมุดห้องหนึ่งที่เราได้เข้าไปเรียนรู้ว่าเราจะใช้ในการออกแบบ แบบศิลปะสุโขทัยเป็นอย่างไรลักษณะเฉพาะ มีอะไรเด่น หรือในสมัยลพบุรี เป็นอย่างไร เราจะออกแบบแบบไหนเราต้องไปศึกษาเรียนรู้ลักษณะเฉพาะของแต่ละแห่งแต่ละสมัย แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับงานในแบบของเรา
“การออกแบบพระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ วัดจันเสนที่ออกแบบเป็นศิลปะโบราณ สมัยทวารวดีเราต้องศึกษาศิลปะสมัยนั้น แต่ศิลปะไทยโบราณเหล่านั้นมันเหลือแต่ฐาน เหลือแต่ซากเจดีย์ เราต้องเอาประโยชน์ปัจจุบันเทคโนโลยี วัสดุ สมัยปัจจุบันเข้ามาเป็นตัวหลัก แล้วนำศิลปะสมัยทวารวดีเข้ามาประกอบกับประโยชน์ใช้สอยที่เราต้องการในปัจจุบันขึ้นมา สมัยทวารวดีนั้นยังไม่มีเรื่องลวดลาย เป็นลายกนก เราเรียกว่า ลายพันธุ์พฤกษา เราไปศึกษาเกี่ยวกับชิ้นส่วนของโบราณสถานสมัยนั้น ทั้งองค์พระพุทธรูป พระเครื่อง มีองค์ประกอบสมัยทวารวดี อย่างลายเสมาใหญ่มีการแกะสลัก เราจะจับเอาองค์ประกอบสมัยนั้นมาใช้ พวกลวดลายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลายหน้าบัน ลายของปั้นลมต่างๆ เราจะไม่ใช้ลายกนก เราจะใช้ลายพันธุ์พฤกษาขึ้นมาประกอบ เช่นพระมหาธาตุเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา รัฐอุตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย เป็นผลงานการสร้างสรรค์โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณี
“ทุกชิ้นที่ออกแบบมามันยากทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานชิ้นเล็ก มันก็ยากเพราะเราต้องศึกษาก่อนทุกครั้ง เป็นผลงานที่ภาคภูมิใจเพราะเป็นงานที่ได้รับสนองงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยร่างแบบไปทรงพระวินิจฉัย ก็จะมีลายพระหัตถ์มาเป็นครั้งแรกเลย ลงมาว่าต้องการอย่างไร คือการทำขึ้นไปนั้นจะทำเป็นเล่มว่าที่นั่นมีข้อจำกัดอย่างไร เพราะที่กุสินารา เขาไม่ให้สร้างสูงเกิน 19 เมตร เพราะเป็นเมืองโบราณสถาน ดินฟ้า อากาศ ที่นั่นเป็นอย่างไร จะทำเจดีย์แบบสมัยที่แล้วๆ มาไม่ได้ เพราะหน้าร้อนจะร้อนมาก จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ในการปรับรูปแบบ แสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านอีกประการหนึ่ง
“เนื่องจากเป็นสถาปัตยกรรมไทย เป็นวัดไทยประจำชาติไทย ก็ต้องมีศิลปะของชาติไทยเข้าไป สถาปัตยกรรมไทยเพียงชิ้นหนึ่งของเราถือว่ายิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก ยกตัวอย่างเช่น พระบรมมหาราชวัง หรือ พระแก้วมรกต ใครๆ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่ง ยุโรป พวกตะวันตก หรือชาติต่างๆ ต้องเข้ามาดูกัน คือสิ่งที่เราจะต้องรักษาเอกลักษณ์ประจำชาติของเราไว้ เพราะมันไม่เหมือนที่อื่นของไทยหากพิจารณาดูแล้วจะคล้ายกับศิลปะทางภาคเหนือ แต่มันไม่เหมือนวัฒนธรรมล้านนา ล้านช้าง ที่หลวงพระบาง ประเทศลาว ซึ่งแต่ก่อนล้านช้างเคยเป็นของไทยมาก่อน แต่ว่าล้านนากับล้านช้าง เมื่อไปดูศิลปะทางด้านสถาปัตยกรรมจะไม่เหมือนกัน คนที่ไม่รู้จะบอกว่าเหมือนกัน เขาถึงเรียกล้านนา ล้านช้าง
“ถ้าไม่มีสถาปัตยกรรมไทย เป็นศิลปะประจำชาติ ก็จะไม่มีชาติไทย ชาติอื่นเขาจะเข้ามาดูอะไร เราไปเขมร ศิลปะเขมรเป็นงานของขอม ซึ่งปราสาทหินพิมายที่โคราชอันนั้นสร้างก่อนนครวัตอีก แต่ความเจริญที่ยิ่งใหญ่กลับไปเจริญที่นครวัตขึ้นมา ศิลปะลพบุรีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งก็ไม่เหมือนกับที่อื่นเช่นกัน โดยเฉพาะเท่าที่สังเกตดูง่ายๆ อย่างเรื่องรสนิยม วัดใหม่ๆ ส่วนมากทั่วประเทศจะแข่งขันกันสร้าง ไม่ได้ทำตามแบบที่นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมออกแบบมาให้ สร้างขึ้นเต็มไปหมดเพื่อแข่งขันความยิ่งใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงองค์ประกอบและรูปแบบต่างๆ ว่าจะเหมาะสมไหม รู้แต่ว่าฉันต้องการแบบนี้สูงที่สุด พระใหญ่ที่สุด”
ภูมิทัศน์...วัฒนธรรมชุมชน
“การสร้างสิ่งปลูกสร้างที่รกปิดบังภูมิทัศน์โบราณสถาน โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศที่เป็นประวัติศาสตร์ชาติไทย ถ้าเป็นโบราณ บางแห่งเอาสิ่งไม่เหมาะสมเข้าไปอยู่ตรงเจดีย์ กฎหมายบางแห่งมีกฎบังคับไว้ ถ้าเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ว่าบางแห่งมาขึ้นทะเบียนช้าเกินไป เพราะเขาเข้าไปรุกรานก่อนมานานแล้ว กว่าจะไล่ออกมาก็จะมาประท้วงกันแต่บางแห่งก็ถูกละเลย
“อย่างไรก็ตามจิตรกรรม ประติมกรรมและสถาปัตยกรรมไทย เราต้องมองต่างมุมกัน แต่สามารถเป็นเนื้อเดียวกันได้ เรื่องจิตรกรรมล้วนๆ โดยไม่นำมาใช้กับงานสถาปัตยกรรมไทย จะออกแบบอะไรอย่างไร จะไทยหรือไม่เป็นไทย ที่เขาทำกัน เพียงแค่รูปๆ เดียวเขาจะนำไปติดตรงไหนก็ได้ เพราะเขาทำอิสระทำตามใจเขา งานปั้นก็เหมือนกัน ถ้าเขาต้องการทำที่จะไปติดตั้งตรงไหนในห้องเปล่าๆ ก็เป็นเรื่องของเขาที่เขาจะทำอย่างไรก็ได้ แต่เผื่อทั้ง 2 อย่างนั้นจะนำมาใช้ประกอบในเรื่องของงานด้านสถาปัตยกรรมไทย เขาจะต้องฟังผู้ออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรม เราจะต้องเป็นผู้กำหนดให้ตรงนี้ว่าจะออกแบบเกี่ยวกับเรื่องอะไร อย่างห้องหนึ่งมี 4 ด้าน แต่ละด้านมีอะไร อย่างไร ผู้ออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมก็จะเป็นผู้กำหนดสีสันต่างๆ เราบอกเรื่องราวไป กำหนดองค์ประกอบต่างๆ มาให้ผู้ออกแบบ สถาปัตยกรรมดูองค์ประกอบ อย่างนี้มันจะเหมาะสมกับทั้งหมดไหม อันนี้เหมาะสมกับงานของเราในนั้นไหม มันมีทั้ง 2 อย่างคือลักษณะของเพียวอาร์ตเข้าไปเลย ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรมหรือช่างเขียนรูป จะเป็นช่างสิบหมู่ก็ไม่เชิง ถ้าเป็นลักษณะของเพียวอาร์ตขึ้นมา สถาปัตยกรรม เป็นอาร์ตแบบ 3 มิติและสามารถใช้สอยได้ด้วย ซึ่งต่างจากจิตรกรรม ประติมากรรม ที่เขาจินตนาการได้ทั้งหมด
“ในอดีตนั้นผู้สร้างงานสถาปัตยกรรมไทย จะเป็นผู้ที่มีกำลังที่จะสร้าง เช่น พระมหากษัตริย์หรือข้าราชบริพาร มียศ มีตำแหน่งหรือผู้ที่มีอันจะกิน สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทน อย่างการสร้างวัดก็จะมีวัดพระจำพระองค์ มีเจดีย์หลายอย่างที่เป็นการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือเจดีย์ ที่ทำเพื่อพระราชบิดาอย่างที่วัดโพธิ์ ก็มีการทำถวายรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 เป็นลักษณะของพระองค์ท่าน ที่มีกำลังพอที่จะสร้างวัดแบบใหญ่โตมโหฬาร หรืออย่างสมัยสุโขทัย เขาจะมีการสร้างวัด ซึ่งส่วนใหญ่พระมหากษัตริย์เป็นผู้สร้าง เราจะเห็นว่านี่คือสมัยพระยาลิไท นี่คือสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อเข้าไปภายในแล้วรู้สึกร่มเย็น มองแล้วสบายใจ จิตสงบ
“อย่างการสร้างพระพุทธชินราช ก็เหมือนกัน เพราะสมัยนั้นมีความสงบร่มเย็น ตัวโบสถ์ วิหารไม่ได้ใหญ่โตมโหฬาร จะมีขนาดเล็กเหมือนกับทางภาคเหนือ เพราะสมัยก่อนปกครองแบบพ่อปกครองลูก เราเรียกว่า พ่อคุม แล้วเวลาจะทำพิธีทางพระที่มีพิธีก็เฉพาะพระเข้าไปบวช แต่มาสมัยอยุธยา โบสถ์ วิหาร ต้องใหญ่ เพราะประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์เยอะ เพราะลูกท่านหลานเธอจะเข้าไปบวช พระมหากษัตริย์ก็อยากจะเข้าไปมีส่วนอยู่ข้างในโบสถ์ จึงใหญ่กว่าวิหาร เราจึงต้องมีการศึกษาในเรื่องโบสถ์ทั้งรูปแบบและวัสดุก่อสร้าง
“ในสมัยก่อนวัสดุไม่มีคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างในปัจจุบันที่เราเรียกว่า ปั้น ได้เลย จะทำอย่างไรก็ได้รูปแบบข้างในจะกลวง จะกว้างแค่ไหนก็ทำได้หมด แต่สมัยก่อนเราจะสร้างเจดีย์เราจะมีหินก็เป็นของขอมใช้ประโยชน์ภายในได้ แต่ถ้าเป็นอิฐหรือจำพวกศิลาแลง เข้าไปใช้ข้างในได้น้อย ถ้านำอิฐไปทำเจดีย์ข้างในเจดีย์จะใช้ประโยชน์ได้น้อยมาก หรือไม่มีเลย มาสมัยนี้วัสดุก่อสร้างต่างๆ มีเทคโนโลยีขึ้นมา มีการประดิษฐ์สำเร็จขึ้นมา เราจะปั้นจะออกแบบรูปแบบไหนเราทำได้หมด แต่เราต้องคำนึงถึงรูปแบบทางด้านสถาปัตยกรรมไทย ทั้งลวดลายให้ยังมีเอกลักษณ์ เป็นเอกลักษณ์ของชาติอยู่ จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาผสมผสานเป็นรูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะตน เพื่อสนองประโยชน์ใช้สอยได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งงานสถาปัตยกรรมไทยเป็นสิ่งที่ไม่ตาย จะมีวิวัฒนาการและพัฒนาการไปตามยุคสมัย
“อีกเรื่องที่อยากจะฝากนักสถาปัตยกรรมไทยทั้งหลายที่จะเข้ามาเป็นนักสถาปนิก ก่อนอื่นเขาจะต้องรู้ว่าเวลาทำงานในเรื่องของสถาปนิก จะต้องทำอะไรบ้าง งานที่ทำมีคุณค่าอย่างไร การที่จะมาเป็นสถาปนิกได้จะต้องทำงานอะไรบ้าง งานที่ออกมานั้นสำคัญอย่างไร เพราะงานสถาปัตยกรรมไทยมันไม่จำเป็นต้องออกแบบสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร ต้องมีช่อฟ้า ใบระกา งานสถาปัตยกรรมไทยมีดีกรีหลายระดับ เช่น งานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี งานสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์