ชัชวาล รอดคลองตัน
เขาคือศิลปินหนุ่มผู้บ่มเพาะวิถีตามทางของตนเองอย่างเหมาะสม ด้วยพยายามสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพตลอดระยะเวลาที่ก้าวสู่ถนนสายนี้ เขาเริ่มบทสนทนาอย่างเป็นกันเอง
ชีวิตศิลปินไม่ง่าย
“เริ่มแรกพอเรียนจบมาก็คิดจะสมัครงานเป็นพนักงานออฟฟิศ แต่ดูจากการวาดเส้นของตัวเอง ผมก็เลยต่อรองว่าอยากเอางานไปทำที่บ้าน เขาได้ฟังอย่างนั้นก็ไม่เอาข้อเสนอ หลังจากนั้นผมเลยคิดว่าคงไม่มีบริษัทไหนคิดจะเอาผมทำงานแล้วล่ะ ก็เลยมุ่งที่จะทำงานศิลปะ ในช่วงที่ผมทำวิทยานิพนธ์ ผมมีทุนอยู่ก้อนหนึ่งจากการขายงานได้ ผมก็เลยให้พ่อแม่ ส่วนหนึ่งก็เลยเก็บไว้ตั้งต้นทำงาน ช่วงแรกๆ ผมก็ประกวดงาน ดูเหมือนไม่ใช่อาชีพเลยนะ แต่เหมือนเป็นบทพิสูจน์ว่าถ้าเราอยู่ได้ใน 2 ปี แล้วมีExhibition มันก็จะเป็นสเต็ปที่ก้าวไป คนจะรู้จักเรามากขึ้น
“ผมส่งงานประกวดอยู่ 2-3 ปี จนมาวันหนึ่งผมกับเพื่อนสนิทที่ชื่อ เอกสิทธิ์ ก็ได้แสดงงาน Exhibition ขึ้น ตอนนั้นลำบากมากไปขอสปอนเซอร์ใครก็ไม่มีใครให้ ก็เลยไปหารุ่นพี่บางคนที่ช่วยได้ แล้วก็มีเงินส่วนตัวบ้าง ก็เลยเอาทุนมารวมกันกับเพื่อน เป็นลักษณะศิลปินคู่มาได้ 10 ปีแล้ว หลังจากนั้นก็มีคนรู้จักเรามากขึ้น”
การแสดงภาพส่วนสำคัญของชีวิต
“อย่างผมมีการจัดแสดงผลงานแต่ละครั้ง ต้องเตรียมตัวประมาณ 2 ปีต่อหนึ่งชุด ถ้าเกิดมันมี Exhibition อื่นๆ ที่เราร่วมแจม ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่ามีการใช้งานเยอะหรือไม่ เพราะการแสดงเดี่ยวต้องมีอย่างน้อย 20 ภาพ แล้วภาพต้องมีขนาดใหญ่ แต่ว่าภาพเล็กของผมมันประมาณหนึ่งเมตรคูณแปดสิบ ขนาดมันจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ถ้าผมทำภาพที่ใหญ่มันจะต้องขึ้นอยู่กับอายุและสายตาด้วย เพราะถ้าผมอายุมากไป เกรงว่าจะยกรูปไม่ไหว สายตาก็ไม่ดี เพราะงานของผมจะคอนทราสต์ระหว่างแสงและเงา
“ผมวาดภาพมาเป็นพันแล้ว ตอนเรียนไม่นับนะ แล้วการทำงานของผมจะไม่ได้ทำงานอยู่แค่ Exhibition ที่จะเอามาจัดแสดงเพราะนอกเหนือจากนั้นผมจะมีงานที่สเก็ตไว้เองอีก ไม่ว่าจะเป็นภาพเหมือนแทบทุกแนว ช่วงแรกที่เราทำคือทำเพื่อจัดแสดงเวลาเรามีเรื่องอะไรที่นึกถึงขึ้นมาเราก็จะสเก็ตช์ไว้ พอเราอยากทำขึ้นมาเป็นชิ้นเราก็อยากที่จะเอาไปโชว์คนอื่น พอได้โชว์เกิดมีคนอยากสนับสนุนงานของเรา อันนี้คือผลพลอยได้ที่ให้ผมทำงานต่อไป
“ลึกๆ แล้วถามว่าคนทำงานศิลปะอยากขายรูปมั้ย อยาก ผมเองก็อยากขายได้ เพื่อเราจะได้มีทุนมาทำงานต่อ สมัยก่อนเป็นอุดมคตินะ แต่ถ้าขายไม่ได้แล้วจะเอาอะไรกิน เราคิดว่ามันอยู่ที่ตัวบุคคล เราอยู่กลางๆ ดีกว่า ไม่เดือดร้อนใคร และใช้จ่ายได้ตลอดชีวิต เพราะผมการันตีตัวเองไปแล้วว่าจะทำงานศิลปะตลอดชีวิต”
“ศิลปินต้องอิงกับผู้ที่ชื่นชอบงาน คนที่จะมาซื้องาน คนที่ชอบงานไม่ได้น้อยลง มันมีแต่เพิ่มขึ้น แต่ว่าคนที่ต้องการเป็นเจ้าของและต้องเก็บมันน้อยลงแน่นอน เพราะคนที่มีกำลังซื้อน้อยลง ธุรกิจที่เขาทำก็สั่นคลอน ผมว่าศิลปินลำบากแล้ว แกลลอรี่ลำบากกว่า เพราะแกลลอรี่เขาเป็นธุรกิจเลย ถ้าเขาขายรูปไม่ได้ เขาก็ไม่มีเงิน ศิลปินนี่ยังมีรายได้จากการเขียนรูปที่สามารถทำได้หลายรูปแบบกว่า แต่แกลลอรี่มียอดรายรับรายจ่ายประจำ ศิลปินนี่จะหยุดไม่ทำก็ยังได้”
สไตล์การทำงาน
“จริงๆ คอนเส็ปต์หลักของผมในการทำงานมันเกี่ยวกับบรรยากาศ เพราะสิ่งนี้มันไม่เคยหายไปจากงาน มันครอบคลุมถึง แสงสเปซ คือมันอาจเป็นรสนิยมส่วนตัวที่เราไม่รู้ วันหนึ่งเรามานั่งวิเคราะห์ อย่างงานชิ้นแรกๆ ของผมจะเป็นต้นกล้วย เป็นประเพณีคราวนี้แนวเรื่องมันก็เป็นประเพณีมาตลอดโดยที่เราไม่ได้ระบุหรือจำกัด แต่กลายเป็นว่าเรื่องราวทุกชิ้น ต่อๆ มามันกลายเป็นประเพณีไปหมดเลย
“งานแต่ละส่วนมันพัฒนาตามประสบการณ์ของเรา มีอยู่ครั้งหนึ่งก่อนจะเป็นชุดแสง ได้ไปเชียงใหม่เข้าร่วมงานยี่เป็งเลยประทับใจมาก เหมือนมันเข้าไปฝังอยู่ในจิตใจ ก็ทำอยู่ชุดหนึ่งนานพอสมควร แต่ก็มีอีกชุดหนึ่งที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวัด ตอนนั้นไปเวียนเทียน เรื่องราวที่เราศึกษาธรรมมะตอนบวช เหมือนเราได้รู้เรื่องอะไรมากขึ้นในพระพุทธประวัติ และธรรมะ ก็เลยเริ่มเปลี่ยนมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับแสง เงา
งานมาสเตอร์พีช
“ผลงานชิ้นสำคัญของผมเลยก็คือเมื่อปี 2007 เป็นชุดยี่เป็ง ไปชนะการประกวดที่ญี่ปุ่น เป็นรางวัลใหญ่ที่สุดตั้งแต่ได้มา เพราะมันเป็นระดับเอเชียที่ยอดเยี่ยมเลย ในหัวข้อการประกวดเขาให้ผมเลือก 2 หัวข้อระหว่างเรื่องความรักกับเรื่องของสันติภาพ ผมเลยเลือกของสันติภาพในเรื่องความสงบสุข ก็เลยเอามาเขียนในคอนเส็ปต์ที่ว่าความสุขแบบพอเพียงความสุข ถ้าเราไม่รู้จักพอในความสุขเราก็จะค้นหาและเพิ่มเติม ผมเลยเขียนวิถีชีวิตของไทยในภาคเหนือ เป็นดินแดนที่ทุกคนน่าจะค้นหา
“งานในครั้งนี้ผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ ก็ส่งไปรอบแรกผ่านก็ดีใจ เพราะผลงานได้ร่วมแสดงแน่นอน วันหนึ่งอยู่ดีๆ ก็มีคนโทรมาจากญี่ปุ่น แล้วคนญี่ปุ่นพูดภาษาอังกฤษก็ฟังยาก เขาบอกให้ผมไปเช็คอีเมล ก็เลยทราบว่าได้รางวัล ก็รู้สึกว่าจะเป็นผลงานที่ประทับใจ ณ ตอนนี้”
ผลงานที่กำลังจะมาถึง
“ภาพสเก็ตช์ที่ผมมีนะ บอกตรงๆ ว่าผมวางแผนไปเรื่อยๆ ผมตายไปแล้วยังทำไม่หมดเลย จินตนาการของคนเรามีเยอะ แต่ในขณะที่เราวาดรูปเนี่ยเราทำไม่ทัน ความคิดเรา บางทีรูปหนึ่งเราใช้เวลาคิดเพียงแค่วันเดียว แต่ใช้เวลาทำเป็นเดือน มันก็เลยไม่พอดีกัน เราวางแผนเป็นโปรเจ็คท์ง่ายๆ ในหัวเลยว่าชุดนี้เราจะคัดเลือกมาว่าจะเสนออะไรเป็นพิเศษ ปีต่อไป จบชุดนี้แล้วจะต่อด้วยอะไร
“ปีหน้าผมจะแสดงงานเดี่ยวแล้ว ชุดต่อไปมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับไตรภูมิ มันยังมีอะไรที่จะให้แสดงอีกในชุดต่อไป ซึ่งมันจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับนรกกับสวรรค์ที่ซ้อนกันอยู่ เราจะเปรียบเปรยในด้านลบจะไม่ค่อยเน้นแต่จะแสดงให้เห็นว่ามันมี ความต่างคือบางคนคิดว่าความงามตัวนี้เป็นที่สุดแล้ว ในความเป็นจริงความงามนั้นมีหลายระดับมาก ถ้าคนมองความงามแล้วหลงมันว่านี่คือสิ่งที่ต้องการแล้ว ถ้าวันหนึ่งเราไปเห็นสิ่งที่ดีกว่า เราก็อยากได้สิ่งที่ดีกว่าไปเรื่อยๆ อันนี้มันคือต้นเหตุของความโลภนั่นเอง
“ปัจจุบันโลกสังคมเรามีเรื่องราวที่วุ่นวาย แต่ว่าทุกคนไม่เคยกลับมามองตัวเองจริงๆ เมื่อทุกคนพบความสุขที่ทุกคนค้นหา ในคำตอบของตัวเองมันเป็นความสุขที่มาจากความสงบ ถ้าทุกคนไม่ทำอะไรที่วุ่นวาย มีจริยธรรม ทำเพื่อตัวเองคนเดียวให้เป็นแบบนี้ทุกคนก็จะอยู่อย่างสันติได้”