ดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา

ดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา

ภายใต้การคุมบังเหียนของ ดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา อธิการบดี มหาวิทยาลัยเอเชียน กูรูผู้สร้างคนคุณภาพออกมาสร้างชาติบ้านเมือง ดร.วิพรรธ์ เป็นเสาหลักผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยเอเชียน มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้รับความร่วมมือจาก lmperial College London ด้านการพัฒนาหลักสูตร คณาจารย์ และการรับรองวิทยฐานะ และได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยอื่นในต่างประเทศด้วย อาทิ University of British Columbia ประเทศแคนาดา, The University of Sydney ประเทศออสเตรเลีย Auckland University of Technology, The University of Auckland ประเทศนิวซีแลนด์ รวมถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศจีนและอินเดียฯลฯ

 

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเปิดสอนระดับปริญญาตรี 3 คณะ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะศิลปะศาสตร์และระดับปริญญาโท วิชาบริหารธุรกิจ นอกจากนี้ยังเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมัธยมศึกษาปีที่ 4, 5 และ 6 โดยความร่วมมือทางวิชาการกับโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ International Programme อีกด้วย

 

การพบปะพูดคุยสรรหาทัศนะมุมมองด้านการบริหารจัดการของผู้ประสบผลสำเร็จ ทั้งผู้นำภาคธุรกิจ การดำเนินชีวิต การศึกษา ผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ จะนำมาซึ่งการแสวงหาปุจฉาว่าทำไมคีย์แมนท่านนี้ถึงมากด้วยความสามารถปานนั้น 

 

ดินดี....ต้นกล้าย่อมงอกงาม

 

ดร.วิพรรธ์ ออกลีลาพลิ้วไหวทันที เมื่อทราบเจตนาของการสนทนาด้านการศึกษา

 

“เมื่อผมมองดูอนาคตประเทศไทยแล้วรู้สึกว่ามันน่าเป็นห่วงว่าบ้านเมืองเราในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาได้ละทิ้งการศึกษา เมื่อตอนที่ผมเป็นนักเรียน ครูที่สอนผม ท่านเหล่านั้นสอบได้ที่ 1 กันทั้งนั้น เดี๋ยวนี้ถ้าไปถามใครบางคนที่จะมาเป็นครู คำตอบก็คือพวกที่สอบอะไรไม่ได้แล้วบางคน ก็ไปสอบครู หรือบางพวกที่สอบบรรจุไม่ได้ก็ไปขับรถแท็กซี่ รอจังหวะเข้ามาเป็นครู ถามตรงๆ ว่าเมื่อแม่พิมพ์เป็นคนระดับนี้ ลูกพิมพ์จะออกมาสวยไหม

 

“เมื่อ 50 ปีก่อนหน้านี้พวกผมเป็นแถวหน้า เรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ 60 คนต่อห้อง เมื่อจบออกไปไปสอบที่อื่นได้ที่ 1 ทั้งนั้นเลย ตอนนี้ที่เรียนจบออกมารุ่นผมเป็นพลเอก พลอากาศเอก พลตำรวจเอก เป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงกันทั้งนั้น เมื่อผมจบออกมาก็สอบเข้าจุฬาฯ เข้าไปเรียนเพื่อไปเป็นอาจารย์ แต่เดี๋ยวนี้คนเก่งๆ หันมาเรียนหมอกันหมด ซึ่งการเป็นครูมันเกี่ยวกับคนที่สอบเก่งๆ ถ้าในตอนนั้นครูทั่วประเทศให้เงินเดือน 3 เท่าของปัจจุบัน คนก็จะเป็นครูกันเยอะ เพราะครูในอนาคตจะเป็นลูกของครูทั้งหมด แล้วแม่ก็จะบอกว่าไปเรียนครูสิ จะได้เงินเดือน 3 เท่าของแม่ แต่ปัจจุบันถามอีกว่าลูกไปเรียนครูสิจะได้เงินเดือนเท่ากับแม่ ลูกก็จะบอกว่า ลืมไปซะแม่ (หัวเราะ)

 

“เมื่อจบจากจุฬาฯ ผมสอบชิงทุนรัฐบาลเพื่อไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเพื่อที่จะกลับมาสอนหนังสือ แต่พอไปแล้วรู้ว่ากลับมาก็สอนไปก็อย่างนั้นๆ ผมจึงไปเป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยชื่อดังอีกหลายแห่ง แต่แล้วก็ลาออกมาอีก เพราะมันเหมือนมีชนักปักหลังตัวเอง ผมต้องการสร้างตัวเองเพื่อให้มีสถานภาพทางเศรษฐกิจขึ้นมา แล้วตอนนี้ผมมาทำให้ฟรี โดยผมออกมาหาเงินพันกว่าล้านมาสร้างมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยชาติสร้างคนทางอ้อม เป็นผู้เสียสละชีวิตตัวเอง 15 ปี เพราะด้วยความกตัญญูที่เราได้รับจากการศึกษาเมื่อ 50 ปีก่อน ในฐานะนักเรียนทุนหัวแถว จึงกลับมาสอนอีก แล้วเดี๋ยวนี้พวกนักเรียนหางแถวที่ไปเรียนวิชาครูเสร็จแล้วพอจบกลับมาจากเมืองนอกก็เป็นดอกเตอร์หางแถว มักจะอวดเก่งชอบออกกฎหมาย ชอบปฏิรูปการศึกษา เปลี่ยนใหม่หมดเลย จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ทุกวันนี้เรียนไปเพื่อสอบเท่านั้นเอง แล้วเดี๋ยวนี้ ถ้าเด็กไม่ใช้ชีวิตในวัยเด็ก เด็กก็จะเพี้ยนกันไปหมด

 

“ผมอยากจะบอกว่าถ้าครูทุกคนได้เงินเดือน 3 เท่าของปัจจุบัน เราจะได้ครูที่ดี ครูบางส่วนที่ผมสอน มาเป็นนักเรียนของผมไม่เสียสตางค์ เช่น นักเรียนยากจนของรัฐบาลก็เรียนฟรี แต่ว่าเงินเดือนสูง รัฐบาลเป็นคนออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด สมมติผมให้นักเรียนเดือนละ 1 หมื่นบาท ปีหนึ่งสำหรับค่าเล่าเรียน 1 หมื่นบาท รัฐบาลยอมจ่าย นักเรียน 60 คนต่อห้องนักเรียนแค่จ่ายโรงเรียน 6 แสน เพราะ 60% เป็นเงินเดือนครูได้ไหม อีก 40% เป็นเงินค่าบำรุง ค่าบริหารถ้า 6 แสนบาท ครูได้เงินเดือน 3หมื่นบาท 3 เท่าของปัจจุบัน รัฐบาลเอาเด็กจนๆ มาเรียน 60 คนต่อห้อง ถ้าเอกชนอยากทำใช่ไหม ผมเอา 30 คนต่อห้อง จากค่าเล่าเรียน 1 หมื่นเป็น 2 หมื่นบาท รัฐบาลออก 1 หมื่นบาท พ่อแม่ออกอีก 1 หมื่น เท่ากับเดือนละ 1 พันบาท เสร็จแล้วโรงเรียนผมดีกว่านั้น เอาตามหลักสูตรฝรั่ง 15 คนต่อห้อง ก็ 4 หมื่น รัฐบาลออก 1 หมื่น หรือพ่อแม่ออก 3 หมื่น หรือ 10 คนต่อห้อง ก็เป็น 6 หมื่น รัฐบาลออกให้หมดคนละ 1 หมื่นบาทต่อปีไม่ว่ารวยหรือจน ต้องได้เรียนฟรี

 

“ในปัจจุบันปัญหาการศึกษายังคงมีอยู่อาจจะมาจากหนึ่ง ไม่รู้จักปัญหา สอง ไม่คิดแก้ปัญหา สาม ขี้โกง (หัวเราะ)

 

“ผมคิดอย่างนี้ได้ เพราะผมไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย แนวคิดพวกนี้มันมีมาตั้งแต่เด็กแล้ว เราต้องการจะสร้างสถานภาพตัวเองให้อยู่เหนือความกดดันของสังคม แล้วเราทำอะไรที่มีประโยชน์เพราะในอดีตเราเรียนที่อัสสัมชัญ เราเห็นความเสียสละของบราเธอร์เด็กๆ จึงอยากจะเป็นนักบวชอย่างท่าน ไม่ใช่แค่เสียสละอย่างเดียว หัวใจของเขาก็เป็นพระจริงๆ หลายคนที่เป็นบราเธอร์ ท่านก็เป็นเด็กกำพร้ามาก่อน เราจึงรักบราเธอร์เหมือนกับพ่อ”

 

นักเรียนทุนในต่างแดน

ดร.วิพรรธ์ หยุดจิบน้ำชาแก้กระหาย ก่อนจะย้อนรอยชีวิตในวัยเยาว์ว่า

 

“คนทุกคนย่อมมีชีวิตวัยเยาว์ วัยเด็กของผม ผมยังเล่นลูกหิน ลูกข่าง หยอดหลุม ทอยกองกันกับเพื่อนๆเพื่อนบางคนหาลำไพ่พิเศษด้วยการขับตุ๊กตุ๊ก ขับแท็กซี่ ฉีกตั๋วตามโรงหนัง บางคนมีฐานะเป็นเจ้าของตลาด มีเขียงหมูก็สบายไป แต่ผมไม่มีอย่างเขาผมมีเงินพกติดตัววันละ 5 บาท กันฝนตกกลับบ้านไม่ได้ จะได้ซื้อก๋วยเตี๋ยวกิน เดินกลับบ้าน 15 นาที กินก๋วยเตี๋ยวอีก 15 นาทีทำอย่างนี้มา 8 ปี ไม่ค่อยได้ใช้เงินเลย แม่จะสอนเสมอว่าอย่าไปอิจฉาเพื่อนฝูงที่ร่ำรวยกว่าเรา ตราบใดที่เสื้อเชิ้ตของเราขาวกว่าพวกเขา สร้างความจริงให้กับลำแข้งของตัวเอง แล้วก็ไม่ต้องให้ใครรู้ว่าเราไม่มีเงิน เพราะเสื้อเราขาวไม่แพ้คนอื่น เรียนหนังสือเราก็ไม่แพ้เขา

 

“ปัจจุบันสังคมมันเปลี่ยนไป เด็กสมัยนี้น่าสงสารโดดเดี่ยวไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร ไม่มีโอกาสได้เล่น ลูกหิน ทอยกอง ลูกข่างของเล่นพวกนี้เขาอาจจะไม่รู้จัก จะเห็นได้ว่าพวกนี้นับวันจะเห็นแก่ตัวมากขึ้นทุกวัน กลับจากโรงเรียนมาก็เล่นเกมคนเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับใคร พอโตขึ้นมาก็หันหาคอมพิวเตอร์ ก็ไม่เกี่ยวข้องกับใครอีก ไม่พูดคุยกับใคร ไม่เหมือนเด็กในสมัยก่อน เล่นกันเป็นกลุ่มๆ คนคุยกันไม่ถูกใจกันก็ต่อย (หัวเราะ) ก็จบกัน มันจึงเป็นสังคมที่สอนให้มีการต่อรอง สอนการเจรจา เราต้องดูทางหนีทีไล่ แต่ปัจจุบันมันไม่มีแล้ว

 

“ช่วงแรกๆ ของการเรียนหนังสือชั้นมูล ช่วงประถม 1 ผมก็เรียนไปเรื่อยๆ จนได้พาร์ทชั้นขึ้นมา ตอนนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ญี่ปุ่นบุก อายุแค่ 3 ขวบ ทำให้รู้ว่าเราไม่เคยได้อะไรจากสงคราม นอกจากความลำบากของพ่อแม่ที่จะต้องหาทางเอาตัวรอด เพราะญี่ปุ่นมายึดสนามหน้าบ้าน แถวสาทร ฝึกทหาร พ่อแม่กลัวไม่ปลอดภัย จึงปิดประตูหนีไปไกลๆ แถวๆ ประตูน้ำเพราะกลัวทหารญี่ปุ่นจะทำร้าย สักพักก็กลับมาที่บ้าน ต่อมาก็ถูกเครื่องบินสัมพันธมิตรบอมบ์กองทัพญี่ปุ่นแถวนั้นอีก ก็เลยตัดสินใจหนีไปอยู่ที่มหาชัย ผมก็เข้าโรงเรียนจีน ได้พาร์ทชั้นขึ้นไปเรื่อยๆ พอสงครามสงบ จึงไปเข้าเรียนที่อัสสัมชัญ จนจบ ม.8 ก็ไปสอบเข้าจุฬาฯ

 

“ผมมีชื่อติดบอร์ดสอบติด 1 ใน 50 ของประเทศไทย เรียนเตรียมแพทย์ได้ 1 ปี จึงสอบชิงทุนรัฐบาลได้ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ตอนนั้นอายุเพียงแค่ 19 ปีเท่านั้น ก็ต้องไปเรียนที่ลอนดอนกับเพื่อนๆ อีก 6 คน จนจบปริญญาเอก วิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า

 

“การไปศึกษาต่อ เราได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ได้รับอารยะธรรมที่ทันสมัย เรียนรู้วัฒนธรรมของชาวอังกฤษ เรียนรู้ระบบการศึกษาได้กลิ่นอายใหม่ๆ ต้องไปอยู่บ้านกับครอบครัวชาวอังกฤษตามต่างจังหวัด ถูกฝึกฝนด้วยการนำเมล็ดพืชมาให้ปลูก เสมือนเขาเป็นญาติๆ ร่วมกันหมด คนที่มีหน้าที่ดูแลผม ผมก็รักท่านเหมือนแม่ ท่านเพิ่งเสียไปเมื่อปีที่แล้ว

 

“ผมได้รับความซึมซับปลูกฝังความเป็นผู้ดีขึ้นมาอีก แม้กระทั่งคำพูดคำจาเล็กๆ ในการเชิญเพื่อนให้มาช่วย ต้องเชิญอย่างไรให้สุภาพ ยกตัวอย่าง ‘เออ...ผมจะย้ายบ้าน มาช่วยผมไหม’ ในเมื่อคุณไม่อยากจะไปย้ายให้เขาเลย คุณจะทำอย่างไร คุณก็จนใจที่จะไปช่วย เพื่อไม่ให้เขากลับคำพูด แต่หากเป็นผู้ดีอังกฤษพูด เขาจะถามว่า ‘วันเสาร์นี้ ผมจะย้ายบ้าน คุณว่างพอที่จะมาช่วยผมไหม’ คำพูดเปิดทางเพื่อให้คุณปฏิเสธ นี่คือความเป็นผู้ดีของเขา

 

“วัฒนธรรมไทยกับอังกฤษนั้นไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไร แต่คำว่าผู้ดีไทยก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้ดีถึงทุกวันนี้ อย่างในอดีตเจ้านายใหญ่ๆ โตๆ เขาจะส่งลูกหลานไปเรียนที่อังกฤษ แล้วพวกเขาได้อะไรกลับมาบ้าง อย่างถนนสายใหญ่ๆ ทั้งหลายในเมืองไทยที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ล้วนมาจากอังกฤษ ทราบไหมครับว่าถนนสายแรกของประเทศไทยคือถนนอะไร ถนนบ้านหม้อครับ กว้างขนาดช้าง 2 ตัวเดินได้ ส่วนถนนราชดำเนินนั้นมาทีหลัง ช่วงนั้นจึงมีการก่อสร้างสถาปัตยกรรมที่เรียกว่าโคโลเนียลสไตล์ตั้งอยู่เยอะมากในแถบย่านนั้น เพราะเราได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศพอสมควร พวกเราจึงโชคดีที่ได้ไปเรียนที่นั่น เพื่อนำความรู้กลับมาสร้างความเจริญให้กับประเทศไทย”

 

มองผ่านปรัชญา

เคยมีคำพูดที่ว่า นักเรียนนอกที่ไปจบมาจากต่างประเทศ เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว ชอบเดินตามก้นฝรั่งนั้น ดร.วิพรรธ์ รำลึกความหลังว่า

 

“คนรุ่นผมที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ต้องเป็นคนรู้จริง ทั้งของเมืองนอกและของเมืองไทย แต่ถ้าไม่รู้จริง เมื่อถูกถามว่าพุทธศาสนาคืออะไร ก็จะตอบไม่ได้ เราต้องอ่าน ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ต้องศึกษาพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ เรามองว่าฟากตะวันออกเจริญกว่าฝั่งตะวันตกมานาน แต่ก็มีปัญหาหลักคือการถ่ายทอด เสร็จแล้วพอมาศตวรรษที่ 18 ยุโรปเขาเริ่มมีวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ แล้วมีสมาคมถ่ายทอดความก้าวหน้า สิ่งที่ค้นพบใหม่ๆ แล้วสังคมทั้งหมดให้การยอมรับ ให้ชื่อเสียง ก็เลยทำให้เขากระจายความรู้นั้นมหาศาล จนกระทั่งเขาค้นพบเครื่องจักรไอน้ำทั้งหมด มาจากศตวรรษที่ 18 มาสู่ศตวรรษ ที่ 19 และ 20 แต่ของฝั่งตะวันออก เราไม่ได้มีการถ่ายทอด เพราะสมัยก่อนจะกลัว ใครรู้ดี ต้องเก็บไว้เป็นความลับ ไม่อย่างนั้นจะถูกฆ่า มันจึงทำให้เราที่อยู่ฟากตะวันออก เจริญช้ากว่าฟากตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด

 

“แต่ตะวันออกของเราจะมีอะไรมากกว่าตะวันตกเยอะ พวกเขาจะเชื่อแต่ว่าถ้าเห็นรูป เสียง กลิ่น รส รู้แล้วว่ามันเป็นจริง ถ้าไม่เห็นก็บอกว่าไม่จริง แต่ตะวันออกของเราเจริญมาจากอินเดีย ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ มันมีรูปตภพและอรูปตภพในเรื่องของจิตวิญญาณเข้ามา เห็นทั้งกายและจิต เราจึงสามารถบอกว่าเรามีมากกว่าฝั่งตะวันตก อย่างเช่นการระลึกชาติได้ ของเขาไม่ยอมรับแต่ของเราทุกอย่างมันเป็นไปได้ แม้ว่าเราจะนำทิฐิมาใช้บ้างแต่เราก็ต้องแปลมันให้ด้วยเช่นกัน

 

“เมื่อครั้งที่ผมไปที่ยุโรป ผมก็จะสอนหลักพุทธศาสนาและหลักปรัชญาตะวันออก เอาไปใช้ในหลักธุรกิจอย่างไร ผมจะสอนพวกเขาด้วยหลักที่โลกเราอยู่ได้ ทั่วโลกก็ปรากฏการณ์เดียวกัน คือกฎสังขาร การเวียนว่าย ตาย เกิด กฎแห่งกรรม ซึ่งฝรั่งเขาไม่รู้เขารู้แต่กฎแอ็คชั่น แอนด์ รีแอ็คชั่น เป็นกฎของนิวตัน, กฎเดอะ ลอส อินดักชั่น กฎของแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งหมด, กฎเดอะ ลอสดีดักชั่น กฎของคณิตศาสตร์ ถ้าสามเหลี่ยม 2 รูปมี 2 มุมเท่ากัน มุมที่ 3 ต้องเท่ากัน เราต้องเก่งพอที่จะดึงระดับเราลงไปให้ถึงระดับเขาให้เข้าใจได้ โดยเอากฎของทั้งหมดมาศึกษา แล้วแตกมาได้ 5 กฎ โดยเฉพาะกฎของวิวัฒนาการที่ควรเปลี่ยนแปลง เรามาจากดิน หลักพุทธศาสนามันอยู่ในนั้นหมด เพียงแต่คนที่ไปศึกษาบ้างแล้ว คิดว่าตัวเองรู้ ผลสุดท้ายฝรั่งเขาก็ไม่รู้จริง แล้วคนไทยเองก็ไม่รู้จริงด้วย

 

“ตอนที่ผมจบจากอังกฤษ คิดว่าจบดอกเตอร์แล้วยังไม่พอ ต้องมีดีกรีต่อท้ายอีกเรียกว่า B.T.B. หรือบีทัวร์อเมริกัน (หัวเราะ)เราก็เลยยกชั้นแห่ไปอเมริกันด้วยกันหมด ก็ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นมาอีก ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของคนอเมริกาว่าคนอเมริกาเป็นชาติที่ทำงานหนัก แล้วเป็นชาติที่มาจากคนระดับกลางถึงล่าง ดูง่ายๆ อย่างมาตราเมตริกค่าครองชีพ เมื่อเปรียบเทียบกับอังกฤษ ตอนนั้นเงินเดือนที่ได้ 3-4 เท่าตัว ผมจบดอกเตอร์ทำงานที่อังกฤษตอนนั้นเขาให้ 2,000 ปอนด์ ตอนปี ค.ศ.1967-1968 
เมื่อ 40 กว่าปีก่อน แต่ที่อเมริกา ผมได้ 12,000 บาท ซึ่งสมัยนั้น 1 ปอนด์เท่ากับ 3 เหรียญ ตกลงเราได้เงินเดือน 2-3 เท่ารถยนต์ที่อังกฤษอย่างเลวๆ คันหนึ่งประมาณ 500 ปอนด์ แต่ที่อเมริการถยนต์ใหม่เอี่ยม อย่างยี่ห้อ มัสแตงราคาประมาณ2,400 เหรียญหรือ 800 ปอนด์ ราคาเนื้อวัวปอนด์ละ 99 เซ็นต์ น้ำมันลิตรละ1.50 สตางค์ แกลลอนละ 34 เซ็นต์ เท่ากับ 4ลิตร

 

“ผมทำงานเป็นซีเนียร์ เอนจิเนียร์ เมื่อปี ค.ศ.1968 เราเป็นพวกดีไซน์เอนจิเนียร์ ออกแบบไอซีต่างๆ เราเป็นผู้บุกเบิกพัฒนาให้กับบริษัทเขา ทำอยู่ราวๆ 6 ปี ชีวิตตอนนั้นสนุกสนานกับเพื่อนฝูงมาก เพราะยังเป็นวัยรุ่น ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เราอย่าไปฝืนธรรมชาติ แล้วก็ถึงเวลาที่จะกลับบ้านเกิดเมืองนอนเสียที เพราะคุณแม่ผมท่านไม่ค่อยสบาย เผอิญตอนนั้นผมถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกาส่งมาให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพื่อมาทำงานให้กับบริษัท ITT บริษัทนี้ใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลกจึงได้เรียนรู้หลักบริหารธุรกิจไปด้วยการกระทำ

 

“ถ้าเราเรียนปรัชญาของนักปราชญ์เก่าๆ มันจะมีเวลาเร่ง เวลาสร้าง เวลาเปลี่ยน เวลาหยุด เวลาทำอะไรต่อ แล้วต้องมีความพอดีชีวิตคนเราต้องมีความพอดี สมมุติว่า คุณมีเงิน 100 ล้านบาท ทำงานมาตลอดชีวิต วันที่คุณกำลังจะตาย คุณนับมันได้ 1,000ล้านบาท คุณได้อะไรจาก 100 ล้านมาเป็น 1,000 ล้าน คุณได้แค่เลขศูนย์มาอีกตัวจากแบงก์นั่นเอง แล้วคุณใช้ชีวิตทั้งชีวิตมาสร้างไอ้ตัวศูนย์ตัวนี้เหรอ แล้วคุณก็ไม่มีโอกาสได้ใช้มันด้วย อันนี้คือปรัชญาที่เราเข้าใจ แล้วเป็นไปตามหลักธรรมชาติ เราเกิดมาแค่นี้มาตัวเปล่า ก็ไปตัวเปล่า

 

“ที่ผมออกมาทำเกี่ยวกับการศึกษานั้นก็เพื่ออนุชนรุ่นหลัง ผมเคยเรียนอยู่ Imperial College London ค่าเล่าเรียนค่อนข้างสูงมาก คำถามก็คือทำไมเราไม่นำเอา Imperial College มาอยู่ในเมืองไทย ตั้งขึ้นมาเพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปมีโอกาสได้เรียนแบบไม่แพง จึงเป็นที่มาของ Asian University เป็นการหาความลำบากใส่ตัวเองแท้ๆ (หัวเราะ) เหมือนเราต้องเริ่มต้นใหม่ การศึกษาต้องไม่คิดคำว่ากำไร แต่เราต้องไม่โง่พอที่จะขาดทุน (หัวเราะ) เราต้องเน้นที่คุณภาพ เป็นความตั้งใจที่อยากได้ประสิทธิภาพของงานที่เราเคยเรียนมาแล้ว เอามาใช้กับการศึกษาในเชิงของหลักบริการในเชิงธุรกิจ

 

“11 ปีที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่ผ่านมา ผมพบอุปสรรคมาไม่น้อย เราลงทุนไป 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ขยัก ขยักแรก 750ล้าน อีกขยัก 750 ล้าน ขยักแรกเราใช้ในปี ค.ศ.1995-1996 เป็นเวลา 2 ปี พอขึ้นปี ค.ศ.1997 เราเริ่มก่อสร้าง ปีค.ศ.1998 เริ่มเปิดรับสมัคร เผอิญปี ค.ศ.1997 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทย ที่เรียกว่า วิกฤติต้มยำกุ้งการที่เราลงทุนไป 750 ล้าน ก็เป็นไปได้ยาก เราก็เลยปรับแผนโดยเราไม่ต้องสร้างหอพักให้อาจารย์แล้ว เราก็ร่นปริมาณที่ต้องการจาก 1,500 ล้าน ก็เหลือ 1,000 กว่าล้าน ก็ต้องหาทุนอีก 250 ล้าน ตอนนั้นได้มาแล้ว 780 ล้าน ขาดเพียง 120ล้าน ตกลงเราเปิดรับปี ค.ศ.1997 จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีการลงทุนเพิ่มที่เหมาะสมเพียงพอ จึงทำให้การบริหารงานของการศึกษาลำบากและนานกว่าที่ควรจะเป็น มิเช่นนั้นเราน่าจะลอยลำไปนานแล้ว แต่ด้วยความบากบั่น ประกอบกับผลงานของนักศึกษาที่จบออกไปแล้ว ดีมากๆ มันทำให้เรามีกำลังใจที่จะสู้ต่อไปได้ ภายใน 2-3 ปี ข้างหน้า เราก็จะลอยลำแล้ว

 

“อย่างที่ผมเรียนไปแล้วว่า ผลของการศึกษาห้ามพูดคำว่ากำไร เพราะถ้าพูดว่ากำไร จะเป็นการเอาเปรียบนักเรียน เราต้องคิดถึงเรื่องเด็กตลอด เราจะเลือกสอนวิชาที่ให้กำไรชีวิตพวกเขาเท่านั้น วิชาที่ขาดทุนเราจะไม่เปิดสอน ฉะนั้นกำไรชีวิตของผมก็คือการที่ได้เห็นลูกศิษย์เราประสบผลสำเร็จ เช่นตอนนี้นักเรียนที่จบออกไปรุ่นแรก ได้ไปทำงานในบริษัทดังที่สุดของเยอรมนี และอีกหลายบริษัทในยุโรป สิ่งที่ผมดีใจที่สุดคือลูกหลานญาติโยม ลูกศิษย์ได้ดี ผมพอใจแล้ว

 

“การตัดสินใจมาเปิดมหาวิทยาลัยเอเชียนในชีวิตก็ไม่เคยมีใครทักท้วง ส่วนมากผู้ใหญ่ทุกคนเห็นชอบด้วย เพราะเป็นกุศลกรรมหลายคนคิดว่ามันคงเป็นไปไม่ได้ในสิ่งที่ผมจะทำ เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ซึ่งปัญหาที่ตามมา มันก็มีอยู่หลายขั้นตอน ขั้นแรกการนำเอาสถาบันที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก มาร่วมมือทางวิชาการด้วยกัน ปัญหาที่ 2 ต้องระดมทุน 1,000 กว่าล้านบาท ประการที่ 3 คุณต้องบริหารงานกับอาจารย์ทั้งหลายรอบโลก ประการที่ 4 การบริหารในวงเงินจำกัด ประการที่ 5 เมื่อไม่มีทุนเข้ามา จะทำให้มันอยู่รอดได้อย่างไร ประการที่ 6 ทำอย่างไรให้เรารักษาคุณภาพให้เป็นที่ 1 ประการสุดท้าย คือความไม่เป็นธรรมของภาครัฐบาลกับเอกชน ทำไมทำร่วมกันไม่ได้ เขามองเห็นภาคเอกชนเป็นลูกเมียน้อย ทางรัฐบาลเข้าใจผิด ต้องควบและคุมแทนที่จะส่งและเสริม ซึ่งมันค่อนข้างแตกต่างกันอย่างชัดเจน”

 

สานฝันให้ถึงฝั่ง

“ในอนาคต การพัฒนาการศึกษาของที่นี่คือแหล่งการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นอินเตอร์ ลูกศิษย์เราไม่แพ้ใครในทุกด้าน แล้วเรามองความต้องการของสังคมเป็นหลัก อย่างตอนนี้จะทำอย่างไรให้พยาบาลพูดภาษาอังกฤษให้ได้ทั้งหมด เราจะหาทางฝึกพยาบาลให้ได้อย่างไร ที่ไม่ต้องเสียเงิน ทำอย่างไรเราถึงจะเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูชั้น 1 ตอนนี้ผมไปจ้างเด็กที่จบระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ทางด้านคณิตศาสตร์ เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ มาเรียนภาษาอังกฤษกับเรา ต้องจ้างมาเรียน 2 ปีโดยให้เงินเดือนกับเขาแล้วเรียนฟรี เมื่อครบ 2 ปีก็ผ่องถ่ายออกไป สิ่งเหล่านี้ทำไมรัฐบาลถึงไม่มาช่วยกัน

 

“บ้านเมืองเราทุกวันนี้ พูดแต่ปาก เสร็จแล้วบอกว่าจะส่งมาให้ผมเรียนก็ถือว่าปีละหมื่นบาท แต่รัฐบาลส่งไปเรียนเมืองนอกปีละ 2ล้านบาท กลับไม่พูด และเดี๋ยวนี้ผมฝึกอาจารย์สอนภาษาอังกฤษทั่วประเทศลดครึ่งราคา เป็นการวางอนาคตทางการศึกษาให้กับประเทศ ในเมื่อรัฐบาลไม่ทำ ถึงจะเป็นอย่างไรเราก็จะทำให้มันดูออกมาว่ามันทำได้ เพราะผมไม่มีอะไรจะเสีย อย่างมากก็แค่ตาย (หัวเราะ) แล้วเมื่อบางคนเขายอมตายเพื่อประเทศชาติได้ ทำไมผมจะทำไม่ได้

 

“พูดถึงกลุ่มหุ้นทุกคนเขาไว้ใจผม ลงทรัพย์สินมาให้ 50 ล้าน กระทรวงการคลังลงให้อีก 100 ล้าน แบงก์ต่างๆ อีก ทรัพย์สินพ่อตาผมก็ลงมาให้อีก 200 ล้าน ผมก็ทำเพื่อกลุ่มหุ้น บุคคลพวกนี้ที่มีความศรัทธาในตัวผม ผมย่อมทำให้เขาผิดหวังไม่ได้ ถึงจะหนักเราก็สู้แล้วก็มาหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องครู ผมกำลังให้ครูทุกคนได้เข้าใจว่าวิกฤติครูทั่วประเทศต้องมีคุณภาพและได้รับเงินเดือน 3 เท่า ภายใน 9 ปี ต้องทำให้ได้ ถ้าผมเป็นรัฐบาล ผมบอกเลยสมมุติ ครูเงินเดือน 10,000 บาท 3ปีข้างหน้าเป็น 15,000 บาทได้ไหม ถ้าไม่ได้อย่าเป็นรัฐบาล เมื่อคุณได้ 15,000 บาท อีก 3 ปีบวกอีก 50% 7,500 บาท ก็เป็นเงิน 22,000 บาท อีก 3 ปี ปีที่ 9 เป็น 33,000 บาท 3 เท่า ทำไมจะทำไม่ได้ ถ้าไม่มีสตางค์เดี๋ยวผมหาให้เองเอาไหม

 

“ถ้าผมทำอย่างนี้ ผมจะแก้ไขครูที่ไม่มีคุณภาพ เพราะงบประมาณแผ่นดินไทยไม่พอไม่เป็นไร ผมจะแก้เป็นภาคๆ แต่ถ้ารัฐบาลจะทำแบบผม ลดเอา 5% จาก GDP มาทำ ถ้าจะให้เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษได้ ผมทำได้ใน 9 ปี โดยประกาศเลยว่าเด็กมหาวิทยาลัยทุกคนถ้าไม่ได้ TOEFL 500 ห้ามจบ ไม่มีประกาศนียบัตร อย่างผมจะหาครูฝรั่งชั้นหนึ่งมาให้แล้วใครอยากได้กี่คนมาเอาไปเลย ใครๆ ก็บอกว่าทำไม่ได้หรอก นั่นเพราะเขาไม่ได้ลงมือทำ ครู 10,000 คน สอนนักเรียนได้ 400,000 คน ซึ่งผมอาจต้องใช้เงินถึง 5,000 ล้าน แต่ผมไม่เอาเงินรัฐบาลสักบาทเดียว ขอเพียงให้นายกฯ เชื่อผม ประกาศเลยที่กรุงเทพฯ ขึ้นราคาน้ำมันลิตรละ 1 บาทตอนนี้ขึ้นไป 10 กว่าบาทแล้วยังไม่ได้อะไรเลย ผมขึ้นอีก 1 บาท ผมได้ 7,500 ล้าน 5,000 ล้านผมนำมาใช้กับครูสอนภาษาอังกฤษ อีก 2,500 ล้านผมนำไปเพิ่มให้กับครูสอนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ทั่วประเทศแล้วจะทำอย่างไรให้ครูดีๆ ถึงกลับมาเอง เช่น ครูคณิตศาสตร์ 1,000 คน &am

อาณาจักร Asian Universityมณีเม็ดงามริมฝั่งตะวันออก