“วิธีทำ”
จำนวนคนที่มีอาชีพทำอาร์ตเวิร์คออกแบบปกให้กับสำนักพิมพ์น่าจะอยู่ที่ราวหลักพันขึ้นไป แต่ “วิธีทำ” คือกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงด้านการจัดอาร์ตเวิร์คให้กับหนังสือระดับต้นๆ ของประเทศ รับรองว่าหลายต่อหลายเล่มคุณต้องเคยผ่านตามาบ้าง
ปกติแล้วการออกแบบปกหนังสือนั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นผลงานของคนเดียว แต่คุณสาวิตรี อนันต์รัตนสุข และคุณธีรวัฒน์ สัญญรัตน์ กลับเลือกที่จะทำออกมางานหนึ่งชิ้นโดยใช้ความคิดของคนสองคนในนาม “วิธีทำ” นามแฝงเจ้าของงานออกแบบหนังสือคุณภาพกว่า 300 เล่ม
คุณสาวิตรีนั้นเรียนจบทางด้านนิเทศศิลป์มาโดยตรง มีประสบการณ์ทำหนังสือและนิตยสารชื่อดังหลายเล่ม ส่วนคุณ ธีรวัฒน์เรียนจบมาทางด้านสถาปัตยฯ ทำงานด้านการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมต่างๆ ก่อนที่จะมารวมตัวกันทำงานอาร์ตเวิร์ค ต่างคนต่างก็เคยมีงานออกแบบหนังสือเล่มแรกของตัวเองมาแล้ว คุณธีรวัฒน์ออกแบบหนังสือชื่อ วันยังค่ำ ส่วนคุณสาวิตรีก็ออกแบบหนังสือชื่อจระเข้ ผึ้ง ตั๊กแตน โจดี้ ฟอสเตอร์ ผู้ชาย ผู้หญิง ของ ‘ปราย พันแสง
“ผมมีโอกาสได้ทำงานให้รุ่นพี่ที่สถาปัตย์ พอดีตอนนั้นผมก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็เลยชวนสาวิตรีมาว่าเราได้งานนี้มาจะทำไหม เขาก็ตกลง นั่นเป็นชุดแรกที่ทำด้วยกัน ซึ่งตอนแรกก็ใช้ชื่อว่า “สาวิตรีธีรวัฒน์” ก่อน แล้วชื่อมันเหมือนการ์ดเชิญงานแต่งงานยังไงไม่รู้ (หัวเราะ) มีอยู่วันนึงก็คิดขึ้นมาได้เองว่า วิธีทำ ก็เลยใช้ชื่อนั้นมาตลอด”
ขั้นตอนในการทำงานนั้น พวกเขาจะบอกกับทางสำนักนักพิมพ์ให้ส่งข้อมูลของหนังสือเล่มนั้นมาให้อ่านก่อน หลังจากนั้นจะพยายามหารูปแบบที่คิดว่าเหมาะกับเรื่องนี้มากที่สุด หากคนใดคนหนึ่งอยากทำหนังสือเล่มที่ตัวเองชอบ ก็จะยกหน้าที่ให้เป็นคนจัดการเล่มนั้นไปเลย แต่จะต้องมีการช่วยกันทำงานในสิ่งที่อีกฝ่ายขาดหายไป ถ้าใครคนนึงติดงานก็จะสลับงานกันไปมาได้ตลอดในตอนท้ายก็จะมาดูกันอีกทีว่าเหมาะสมแค่ไหน และปรับเปลี่ยนกันไปให้หนังสือออกมาสวยงามมากที่สุด ซึ่งคุณสาวิตรีเผยว่า
“ถ้าเรื่องที่มันไกลตัวมากๆ เราต้องอ่านแบบจับใจความที่หนังสือต้องการจะบอก เพราะว่าบางอย่างเราไม่สามารถรู้ได้ทุกศาสตร์ทุกเรื่อง”
การทำงานร่วมกันสิ่งที่ย่อมเกิดขึ้นก็คือปัญหาความคิดเห็นที่ไม่ลงตัว เพราะคนหนึ่งอาจคิดว่าผลงานที่ตัวเองทำลงไปนั้นดีแล้ว แต่อีกคนก็จะบอกว่าผลงานที่ตัวเองทำดีอยู่แล้วเช่นกัน พวกเขาบอกว่าสิ่งเหล่าเกิดขึ้นบ่อยมาก แต่ก็สามารถจัดการได้ลงตัว
“อย่างคนนึงออกแบบปกหลังเสร็จแล้ว พอกลับมาอีกทีปรากฎว่ามันหายไป ก็เลยถามว่า อ้าว ทำไมถึงลบออกไป ก็เลยมีการท้วงติงกัน ช่วงหลังๆ ก็เลยมานั่งดูกันใหม่ ถามความเห็นของกันและกันว่าอันนี้ดีไหม วิธีนี้มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะบางทีทำงานคนเดียว อยู่กับงานมากเกินไปจะตัน แต่มีอีกคนเข้ามาจะได้อีกความคิดเห็นนึง สองหัวดีกว่าหัวเดียวแน่นอนครับ” คุณธีรวัฒน์กล่าวปิดท้าย
แต่ก็มีบางงานที่มันไกลตัวเขามากเกินไปจนไม่สามารถที่จะสื่อสารออกมาได้ เขาจึงเลือกที่จะไม่ทำงานที่พวกเขาคิดว่าสื่อสารกับมันไม่ได้ นั่นแสดงถึงความซื่อสัตย์ในตัวเองและรักษาคุณภาพงานของพวกเขาไว้ให้ดีที่สุด
“บางงานที่เราอ่านไม่รู้เรื่อง เราก็ปฏิเสธเขาไป เพราะถ้าเรายังไม่รู้เรื่อง แล้วจะให้คนที่ไม่รู้เรื่องออกแบบหนังสือมันจะยิ่งไปกันใหญ่”
ก่อนที่คุณสาวิตรีจะเสริมต่อว่า
“คือสมมุติถ้าเราทำมันออกมาจริงๆ ถ้าบางคนอ่านหนังสือเล่มนั้นได้เข้าใจเราก็จะโชคดี แต่มันจะมีบางคนอ่านรู้เรื่อง แล้วจะถามว่าทำไมปกเป็นแบบนี้มันก็จะไม่ดี ก็จะเกิดคำถามว่าคนทำปกได้อ่านหนังสือรึเปล่า”
งานที่พวกเขาบอกว่าเป็นงานชิ้นมาสเตอร์พีซก็คือการทำหนังสือที่มีชื่อว่า “Diary Of Question” หรือ สมุดบันทึกแห่งคำถามพวกเขาหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาให้เราชมอย่างปลื้มใจ ไม่ใช่มีแต่เนื้อหาข้างในเท่านั้นที่มีคำถาม เพราะแค่ภายนอกหากได้มองก็จะคิดในใจว่านี่มันคือหนังสืออะไร สันปกไม่มี ปกก็ไม่ได้แข็ง ทั้งเป็นกระดาษปอนด์หยาบเบา แถมเปิดเข้าไปข้างในบางหน้าก็ไม่สามารถเปิดออกมาได้อีก ต้องใช้มีดกรีดมันออกมา คล้ายกับว่าสร้างมาจากความผิดพลาดของหนังสือเล่มอื่นๆ จึงจงใจทำให้ดูเหมือนพลาดที่หน้ากระดาษติดกันขึ้นมาเสียอย่างนั้น ทั้งที่จริงมันคือความตั้งใจที่ทิ้งคำถามไว้ให้คนอ่านอย่างคาดไม่ถึงเหมือนชื่อหนังสือนั่นเอง
“คือผมเป็นคนที่ทำอะไรเรียบๆ แล้วเข้าใจง่ายๆ แต่คนชอบบอกว่าไม่เห็นเข้าใจเลย ตอนแรกที่คิดหนังสือต้องมีการตั้งคำถามให้ได้มากที่สุดก่อน แล้วก็คิดถึงองค์ประกอบของหนังสือแต่ละปีที่มติชนจะมีหนังสือพิเศษแต่ละเล่มออกมา แล้วมีอยู่ปีนึง เขาใช้ชื่อว่า Diary of Question มันเป็นหนังสือที่รวบถ้อยคำของบรมครูทั้งหลายในประเทศไทย ซึ่งมันจะเป็นทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ทางสำนักพิมพ์ก็ปล่อยฟรีสไตล์โดยไม่ได้จำกัดไอเดียของพวกเรา”
หลังจากทำงานในวงการหนังสือมานานพอสมควร ตอนนี้พวกเขาสองคนก็ได้ฤกษ์เปิดออฟฟิศเล็กๆ เพื่อทำงานด้านอาร์ตเวิร์คอย่างจริงจังมากขึ้น บนแผงหนังสือคงมีผลงานของพวกเขาที่นำความสวยงาม และความแปลกใหม่มาฝากนักอ่านกันอีกไม่น้อย