พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น

พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น

ผลงานของพลอากาศตรีอาวุธ ล้วนประณีต วิจิตร บรรจงในการออกแบบ โดยเฉพาะพระเมรุมาศทรงปราสาทจัตุรมุขยอดเกี้ยวในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทร์ทรา บรมราชชนนี ประดับด้วยศิลปกรรมตกแต่งอย่างงดงามแสดงถึงความเป็นเลิศในงานสถาปัตยกรรมไทยที่ได้สืบสานสร้างสรรค์ให้ปรากฏแก่สาธารณชน อีกทั้งการออกแบบควบคุมการก่อสร้างพระเมรุในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ ท้องสนามหลวง รวมถึงงานสร้างพระอุโบสถ วัดโสธร-วรารามวรวิหาร

พลอากาศตรีอาวุธเป็นคนกรุงเทพฯ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดราชโอรส ต่อมาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนช่างศิลป์และคณะสถาปัตยกรรมไทย จนจบปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมไทย จากมหาวิทยาลัยศิลปากรในปีพ.ศ.2507

ท่านโลดแล่นอยู่ในแวดวงสถาปัตยกรรมไทยและสร้างสรรค์ผลงานมาไม่น้อย เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบูรณปฏิสังขรณ์ กองสถาปัตยกรรมไทย ในกรมศิลปากรและได้เจริญเติบโตเรื่อยมา จากผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณปฏิสังขรณ์ระดับ 9 จนกระทั่งมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรในปี พ.ศ.2544 ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสถาปัตยกรรมไทยและบูรณปฏิสังขรณ์ สถาปนิกระดับ 10 ในปีต่อมา

แม้วัยจะล่วงเลยมาถึง 67 ปี แต่ปัจจุบันท่านยังคงทำงานด้านสถาปัตยกรรมอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญพิเศษของกรมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และเป็นอาจารย์พิเศษ ถือได้ว่าเป็นกำลังสำคัญที่ภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย ให้กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยศิลปากร อีกทั้งทางกองทัพอากาศยังมีการขอพระราชทานยศพลอากาศตรีเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานยศให้ในฐานะผู้สร้างคุณประโยชน์ด้านต่างๆ แก่ประเทศชาติ

อมตะสถาปัตยกรรมสยาม

ปฐมบทเบื้องต้นของการพูดคุย พลอากาศตรีอาวุธเริ่มคลี่คลายเรื่องราวครั้นอดีตให้ฟังอย่างน่าสนใจ

“พื้นเพเดิมของผมเป็นคนฝั่งธนบุรีโดยกำเนิด เกิดที่อำเภอบางขุนเทียน ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็นเขตจอมทอง เริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัจนรัตน์ แล้วมาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดราชโอรส จนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6

“ด้วยความที่ผมชอบด้านการขีดการเขียน ชอบวาดรูปสิ่งที่น่าสนใจ แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร เพราะยังเด็กอยู่ จนกระทั่งครูที่สอนแนะนำให้ไปเรียนต่อที่เพาะช่าง ผมสอบได้ที่เพาะช่าง แต่ในขณะเดียวกันก็สอบเข้าโรงเรียนช่างศิลป์ได้อีกด้วยเมื่อก่อนชื่อโรงเรียนศิลปศึกษา เป็นโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร เรียนที่ช่างศิลป์ 3 ปีและมาสอบเข้าศิลปากร คณะสถาปัตยกรรมไทย ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผมเรียนกับคนตระกูลสุวรรณบุณย์ ตระกูลนี้มีพี่น้อง 4 คนผมเรียนกับตระกูลนี้ถึง 3 คน มีอาจารย์พินิจ สุวรรณบุณย์ สอนวิชาสถาปัตยกรรมไทยเบื้องต้นที่ช่างศิลป์ เรียนเขียนฐาน เขียนบัว ทำคะแนนพอใช้ได้

“ในรุ่นผม มีผมคนเดียวที่มาเรียนด้านนี้ โดยเรียนกับพระพรหมพิจิตร ในขณะเดียวกันตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรโดยท่านพระพรหมพิจิตรให้ท่านอาจารย์อัน นิมมานเหมินทร์ ที่มาจากคณะสถาปัตยกรรมจุฬาฯ มาเป็นคณบดีแทนท่าน แล้วมาเปลี่ยนหลักสูตร แทนที่จะเรียนสถาปัตยกรรมไทยเพียงอย่างเดียว ก็มาเรียนควบคู่ไปกับสถาปัตยกรรมร่วมสมัยไปด้วย มีการออกแบบโรงแรม รีสอร์ท โรงพยาบาล ฯลฯ ไปด้วย

“ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนตอนนั้น เพราะว่ามันเหมือนเป็นคู่ขนานกันที่ถือว่าสถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมร่วมสมัยมีความสำคัญเท่าเทียมกัน เพราะครูบาอาจารย์ที่นำมาสอนล้วนมีความชำนาญ ผมเรียนจนจบ 5 ปีก็ทำวิทยานิพนธ์ต่อ ฉะนั้นในการเรียนสถาปัตยกรรมของผมโดยเบื้องต้น มันมาจากความสนใจ ความชอบในแต่ละบุคคล เพราะการเรียนสถาปัตยกรรมมันค่อนข้างจะวงแคบในการออกมาทำมาหากิน แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะผมเขียนแบบสถาปัตยกรรมไทยผมเขียนได้ดีกว่าเพื่อน ได้คะแนน 90% อาจารย์พระพรหมพิจิตรเคยให้รางวัลเป็นหนังสือของท่าน

“อีกสิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้และจำเป็นต้องศึกษา เมื่อผมมีโอกาสเข้าไปที่ห้องท่านอาจารย์พระพรหม เพราะที่นั่นจะมีการเขียนแบบ มีสถาปนิกนั่งทำงานอยู่ ผมก็ขึ้นไปกับรุ่นพี่ที่เรียนหนังสือไปด้วย ทำงานไปด้วย ยุคนั้นถือว่าบุคลากรด้านสถาปัตยกรรมยังขาดแคลน เมื่อผมขึ้นไปคุยกับรุ่นพี่ ผมจึงได้พบกับอาจารย์พระพรหมพิจิตรไปด้วย นอกจากเวลาสอนแล้ว ก็ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ท่านพูดให้ฟัง จึงได้รับความรู้ตรงนั้นมา

“ผมได้รับการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงว่าเขาทำกันอย่างไร เพราะการทำงานสถาปัตยกรรมไทย เวลาทำงานจริงๆ มันต้องขยายแบบเท่าจริง เพื่อที่จะให้เขานำไปปั้นหรือดำเนินงานต่อ มันต้องเป็นตัวเราที่เป็นคนทำ มันจึงมีการเรียนรู้นอกระบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย แต่เมื่อเวลาทำงานจริงๆ มันจำเป็นต้องใช้ ทำให้เราได้เห็นครูบาอาจารย์รุ่นก่อนๆ ที่เขาปฏิบัติงานไปด้วยเขาทำงานกันอย่างไร ขยายแบบอย่างไร แก้ลายอย่างไร การปั้น การประดับปูน อย่างไร

“ในขณะเดียวกัน มีคนเคยถามว่าแบบที่เขียนไปแล้วเอาไปเข้าคอมพิวเตอร์ได้ไหม เพื่อที่จะขยาย ที่มันทำตรงนั้นไม่ได้เพราะเวลาเราเขียนสวยในแบบ พอเวลาสร้างจริงมันไม่พอ อย่างงานสร้างพระเมรุ สมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในแบบความสูงจากแบบก็จริง แต่พอสร้างจริง มันสูงจากแบบไป 2 เมตร ช่วงที่สูงคือมุมที่มองขึ้นไปแล้วมันจะเห็น เพราะการมองขึ้นไปมุมสูงมันจะดูสั้นลงกว่ากัน เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้มันสูง เราก็ต้องยืดชั้นต่างๆ การยืดชั้นต่างๆเวลาจะยืดมันจะเห็นการขยายแบบเท่าของจริง ถ้ามองดูแล้ว มันจะได้ทรวดทรง มันต้องอาศัยความชำนาญ มันไม่มีสูตรตายตัว แต่ผู้ที่ทำงานด้านนี้เขารู้ ภาษาช่างเขาเรียกกันว่า แก้อากาศกิน ทางการช่างหมายถึงว่า เมื่อมองแล้วมันจะหายไป บางทีอาจจะต้องขยายยกสูงขึ้นด้วย

“สิ่งเหล่านี้ที่ผมได้มาในช่วงนั้น หากจะเปรียบเทียบการเรียนสถาปัตยกรรมร่วมสมัย เขาก็ต้องเรียนรู้เรื่องสภาพภูมิอากาศในเชิงช่าง ผมคิดว่ามันไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันตรงนั้น มันต้องมีเหตุผลกัน ในเบื้องต้นเราต้องเรียนเหมือนกันในชั้นนี้สถาปัตยกรรมไทยมันมีโอกาสที่จะได้ศึกษาในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย เพราะว่าผลงานในนั้นมันจะมีเรื่องของปรัชญาในการออกแบบ ความเชื่อ ความคิด ในด้านต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมไทย แม้แต่การหันหน้าก็ดี การขวางดวงอาทิตย์ก็ดี มันไม่ได้บอกว่าสิ่งนี้เป็นวิทยาศาสตร์”

โบราณสอน...วอนจงฟัง

“ยกตัวอย่างการเรียนสถาปัตยกรรมไทย มันจะมีความเชื่อเรื่องอะไรบ้าง โบราณเขาบอกว่าอย่าปลูกเรือนขวางตะวัน ซึ่งคนเขาก็เชื่อว่าเขาจะเอาด้านแคบไปทางตะวัน เพื่อเราจะได้ตามตะวัน สิ่งเหล่านั้นก็คือวิทยาศาสตร์นั่นเอง แต่ถ้าเราขวางตะวัน มันก็จะร้อน นี่คือสถาปัตยกรรมไทยที่เราจะต้องเรียนรู้ทางด้านความเชื่อต่างๆ ถ้ารู้จักประยุกต์นำมาใช้ มันก็คืองานวิทยาศาสตร์ที่โบราณไม่ได้สอนเอาไว้ แต่ความจริงมันเป็นอย่างนี้

“อย่างการปลูกเรือนไม่ให้ปลูกในที่ เป็ดไซ้ ไก่ตอด สลักลอด หมูสี เขาห้ามทำอย่างนี้ เป็ดไซ้ก็หมายความว่าเป็นที่ลุ่มแน่นอนเป็ดจะไซ้ในที่ลุ่มชุ่มน้ำชื้นเฉอะแฉะ ไอ้ที่บอกว่าไก่ตอด มันก็ต้องเป็นที่ที่มีแมลง มีมอดเยอะ เวลาไก่มันคุ้ยเขี่ยกินถือว่ามีส่วนต่อสถาปัตยกรรม ส่วนสลักลอดหมูสีนั้นเขาจะไม่ให้ปลูกเรือนเตี้ย เพราะว่าภูมิอากาศบ้านเรือนของเราความชื้นมันสูง เพราะฉะนั้นเรือนโบราณต้องยกพื้นก่อน เพราะลอดมันคือตัวม้าตัวหนึ่งที่ทางรับพื้นของเรือนไทย ถ้าเกิดทำให้หมูมันสีได้ แสดงว่าพื้นมันเตี้ย (หัวเราะ)

“มันเป็นคำพูดโบราณอยู่ในกลุ่มของสถาปัตยกรรมไทย แต่มันก็ไม่ได้บอกว่าจริงๆ มันคืออะไร แต่ถ้าเกิดในปัจจุบันก็เป็นการให้เราได้รับรู้ว่าโบราณเขาห้ามไว้อย่างไร แสดงว่าอย่าปลูกเรือนเตี้ย อย่าปลูกในที่ชื้นแฉะเป็นความคิดของภูมิปัญญาไทยโบราณที่มีสำนวนมาประกอบ เพราะฉะนั้นในด้านของฐานานุศาสตร์ของสถาปัตยกรรมของเราในอดีต เป็นต้นว่าอาคารประเภทเครื่องย่อควรใช้อย่างไร ใช้อะไรบ้างหรือว่าฐานานุศาสตร์เดิมที่จะใช้กับอาคารแบบเดิมอย่างวังหลัง วังหน้า สนามหลวง ยังต้องเคลือบทองกับอาคารที่ยังมีอยู่ พวกนี้ต้องเรียนรู้”

ช่วงที่จบศิลปากรใหม่ๆ อาจารย์อาวุธเคยใช้ชีวิตด้วยการเป็นสถาปนิกอิสระกับรุ่นพี่อยู่หนึ่งปีครึ่ง จึงลาออกมา เนื่องจากคุณพ่ออยากให้ลูกรับราชการ เพราะเมื่อรับราชการแล้วจะทำให้ครอบครัวมีหน้ามีตาในสังคม มีความมั่นคง อาจารย์อาวุธจึงสอบเข้ารับราชการทหารที่กองทัพอากาศ ท่านได้เล่าเกร็ดชีวิตรับราชการทหารอากาศให้ฟังว่า

“เผอิญกองทัพอากาศเขาเปิดรับสถาปนิก ผมก็ไปสมัครทำงานในตำแหน่งสถาปนิกด้วยการออกแบบอาคารต่างๆ ในกองทัพอากาศ ทั้งกรมสรรพาวุธ ก็ออกแบบทำไปตามหน้าที่ของสถาปนิก ส่วนใหญ่เป็นอาคารร่วมสมัย โดยคำนึงถึงการประโยชน์การใช้งานอะไรในราชการ ช่วงที่รับราชการทหารคงจะไม่ได้อะไรมาก เพราะเราทำในลักษณะงานร่วมสมัยที่มันอยู่ในความถนัดของเราด้วย แต่ส่วนดีของการรับราชการทหาร มันทำให้เรารู้เรื่องกฎระเบียบที่ปฏิบัติในทางราชการ รู้วิธีการทำแผนงานต่างๆ ซึ่งเราไม่เคยรู้เรื่องเหล่านี้ว่าเขามีการวางแผนในการปฏิบัติงานกันอย่างไร การที่มอบหมายงานควรทำอย่างไรให้ถูกกฎระเบียบราชการผมจึงได้ความรู้ด้านธุรการตรงนั้นมามากกว่า โดยเฉพาะเรื่องการทำแผนงานในอนาคต”

ชีวิตทหารพลิกผัน

อาจารย์อาวุธเล่าอย่างออกรสถึงเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องเดินหันหลังออกจากรั้วกองทัพอากาศอย่างตั้งใจปนขำๆ ด้วยว่า

“ผมรับราชการทหารอากาศอยู่นานถึง 9 ปี จนกระทั่งได้รับพระราชทานยศเรืออากาศเอก จะด้วยโชคร้ายกลายเป็นดีก็ไม่ทราบเผอิญมีอยู่วันหนึ่ง ผมเดินทางไปทำงานในกองทัพอากาศตามปกติ มันเป็นทางเดินช่องเล็กๆ ผมก็เดินตรงไป ส่วนนายซึ่งเป็นพลอากาศเอกก็เดินเฉียงตามมา ทีนี้เราก็เดินไปเรื่อยๆ โดยมองไม่เห็นท่าน ท่านก็เดินตามหลังผมไป ที่ผมบอกว่าเป็นความโชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่ทราบ ผมไม่ได้ยืนตรงทำความเคารพท่าน ท่านก็บอกผมว่าเมื่อกี้ทำไมไม่ทำความเคารพ ผมก็บอกตรงๆ ว่าผมมองไม่เห็นท่าน เพราะท่านเดินมาข้างหลังผม ท่านก็ดุอีกว่า กระเป๋ากระดุมก็ไม่ติด ป้ายชื่อก็ไม่ติด จึงให้ไปรายงานตัวพร้อมลงโทษถูกขัง 3 วัน

“ตรงนั้นมันจึงเป็นจุดหักเหของชีวิตรับราชการทหาร เมื่อเราไปรายงานตัวกับผู้บังคับบัญชา ท่านสั่งลงโทษโดยให้ขังเป็นเวลา 3วัน นายที่เป็นผู้บังคับบัญชาสายตรงให้ควบคุมความประพฤติ แล้วท่านจะต่อรองขอเป็นกักขัง แต่คำสั่ง เมื่อสั่งลงมาแล้วแก้ไขไม่ได้ นายจึงนำผมไปขังไว้ที่กองรักษาการแทนการเข้าเรือนจำ

“ถ้าไม่มีเหตุการณ์ในวันนั้น ผมอาจจะรับราชการทหารจนเกษียณอายุ ในที่สุดย้ายจากรับราชการทหารมารับราชการที่กรมศิลปากร ก็เริ่มออกแบบเล็กๆ น้อยๆ ทำงานตามปกติ จนกระทั่งเปลี่ยนอธิบดีกรมศิลปากรมา 3 ท่าน จนมาถึงท่านอธิบดีเดโชท่านก็ถามผมว่าแบบโรงปั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะตั้งหน้ารัฐสภา เขาขอมาให้ทางกรมศิลปากรปั้นพระรูป ตอนนี้อยู่ที่ไหน ผมก็บอกว่าอยู่ที่ผม ผมทำจนเสร็จเรียบร้อย เพราะตามระเบียบเมื่อเวลาใช้งานจะมีลายลักษณ์อักษรกำกับ พอเสร็จก็ส่งคืนไป ทีนี้งานนี้จะทำเร่งด่วน ท่านจึงเรียกใช้ผม ผมก็ทำเสร็จเรียบร้อย มีวิศวกรคำนวณเสร็จ เผอิญผู้อำนวยการกองหัตถศิลป์ท่านลาออก ผมก็เก็บแบบคืน เพราะท่านใช้ผมด้วยวาจา ผมก็ไม่ได้ส่งแบบไปที่ไหน“

“อะไรต่ออะไรในช่วงนั้นเริ่มดีขึ้น เมื่อผมมารับงานใหญ่ชิ้นแรกคือบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ จากนั้นมา ก็เริ่มงานบูรณปฏิสังขรณ์วิหารพุทธไสยาสน์ วัดโพธิ์ งานบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมหาราชวัง วัดพระแก้ว ทำราวๆ ปีพ.ศ.2521-2522 ซึ่งก่อนหน้านั้นยังไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากทำหลังคาพระอุโบสถอย่างเดียว แล้วเหลือเวลาอีกไม่กี่ปีก็จะมีพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ท่านผู้อำนวยการกองหัตถศิลป์ก็บอกให้ผมไปสำรวจ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมได้นำความรู้จากการที่ไปเป็นธุรการกองทัพอากาศนำมาทำแผนให้ท่าน มีงบประมาณ มีระยะเวลากำหนดที่จะให้งานเสร็จ จากนั้น จึงได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วเรื่อยมา จนกระทั่งเสร็จทันพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีในปี พ.ศ.2525”

สกุลช่างชั้นครู

“เมื่อสมโภชวัดพระแก้วเสร็จแล้ว หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็เสด็จมาสมโภชศาลหลักเมือง จึงมีรับสั่งจากท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในสมัยนั้น บอกกับผมว่าทุกอย่างก็บูรณปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว เหลือแต่ศาลหลักเมือง เพราะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านก็มาตั้งเป็นคณะกรรมการทำ เพราะเห็นว่าบุคลากรของกรมศิลปากรเหนื่อยมาเยอะแล้ว ก็ให้ทางกรมโยธาธิการมาเป็นประธาน แต่ทางนั้นขาดแคลนบุคลากรทางด้านสถาปัตยกรรมไทย เขาก็ขอข้าราชการจากกรมศิลปากรไปร่วม ผมก็ไปออกแบบตัวศาลหลักเมือง

“ออกแบบไปครั้งหนึ่ง แล้วมีการแก้ไข ท่านรองราชเลขาฯ ท่านมาเรียกแล้วบอกว่าให้เขียนแบบศาลหลักเมืองให้เป็นแบบในสมัยรัชกาลที่ 4 ท่านก็นำรูปถ่ายมาให้ดู เหมือนกับประตูมีมุขส่องขึ้นไป ท่านก็เล่าให้ฟัง จึงมีการร่างแบบขึ้นไป 5 แบบ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างแบบที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ศาลเทพารักษ์ก็ดี หอพระพุทธรูปก็ดี โดยการทำแปลนลักษณะรูปศาลใหม่เป็นแบบจัตุรมุข ส่วนยอดปรางค์นั้นให้คงไว้เช่นเดิม หรือแม้แต่ลานพลับพลาเจษฎาบดินทร์ก็ดี ซึ่งงานที่เข้ามามันแปลก ส่วนมากผมจะไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวเหมือนกัน แต่ก็ได้เข้าไปทำ ท่านผู้อำนวยการกองหัตถศิลป์ท่านก็มาบอกให้เขียนแบบพระบรมรูปอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 3 ผมเขียนไปคร่าวๆ 3 แบบ แบบทรงพระราชนิยม แบบวัดราชนัดดาและแบบใหม่

“วันหนึ่งท่านทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ อธิบดีกรมศิลปากรคนใหม่ ท่านเรียกใช้ผมให้ไปประชุมแทนที่คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ผมก็ไป เขาก็พิจารณาเรื่องแบบอนุสาวรีย์อยู่พอดี เมื่อเปิดดู ผมก็บอกว่านี่มันแบบที่ผมเขียนให้ไปดู ทางคณะกรรมการท่านก็มอบหมายงานนี้ให้ผมไปทำต่อ ผมก็มาทำผัง ทำอะไรอีก จากนั้นก็เข้าไปยังคณะกรรมการ เพื่อสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 3 พร้อมกับออกแบบลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ด้วย ซึ่งเวลาทำงานก็ค่อยๆ ทำไป ตอนแรกจะทำศาลาเล็กๆ ข้างๆ ก็ให้ช่างปูนปั้นปั้นกันสดๆ เลย

“จนกระทั่งวันหนึ่ง มีผู้ใหญ่ท่านให้ออกแบบพระอุโบสถที่วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เขาก็นำแปลนที่ดินมาให้ผมดู ผมก็ออกแบบไป จนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อีกครั้ง หลังจากออกแบบเสร็จ พระองค์ทรงตรัสว่าราคาที่สร้างเท่าไร ผมก็กราบทูลพระองค์ว่า ราคาราวๆ 60 ล้านบาท ตอนนั้นปี พ.ศ.2534-2535 พระองค์ก็ทรงยิ้มๆ ผมก็ทูลถวายแบบไป อีก 1 อาทิตย์ก็ได้รับโทรศัพท์รับสั่งมาว่าแบบที่ทูลถวายไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทอดพระเนตรแล้วมีกระแสรับสั่งมาว่าให้ทำในราคา 10 ล้านบาท ผมก็กลับมาคิดใหม่ เพราะยังไม่ได้ทำอะไร พออีก 3 วันต่อมา ก็มีโทรศัพท์เข้ามาอีก บอกว่าที่พระองค์รับสั่งว่าให้ทำในราคา 10 ล้านบาท ไม่ใช่แค่โบสถ์นะ แต่ให้สร้างทั้งวัด

“ผมก็มานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรดี แต่เราต้องทำให้ได้ โดยนำเอาวัสดุที่เคยใช้กับวัด จะมีกระเบื้องหางมน ลวดลายต่างๆ ก็เขียนแบบขึ้นมาใหม่ มันจะต้องมีลักษณะของสถาปัตยกรรมไทยรวมอยู่ด้วย เมื่อเขียนแบบเสร็จแล้ว จึงขอวัสดุที่จำเป็นในท้องตลาดเช่นแบบบานประตู ก็ใช้แบบอลูมิเนียมที่มีการขายตามท้องตลาด ตามบริษัท ห้างร้านต่างๆ ในหลวงทรงมีกระแสรับสั่งออกมาอีกว่า อย่างนั้นแหละที่พระองค์ต้องการ หาวัสดุที่ใช้ง่ายแบบชาวบ้าน วัดที่อยู่ตามต่างจังหวัด เขาจะได้ทำเป็นแบบอย่างได้ มีขนาดเล็กๆ ก็ได้ ทำแบบง่ายๆ จึงมีคนไปคิดแล้วเรียกว่าสถาปัตยกรรมพอเพียง”

สร้างสรรค์...ส่งเสริม

ชีวิตอาจารย์อาวุธดูเหมือนจะไม่ค่อยหยุดนิ่ง กระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา ขณะที่เดินพูดคุย ยังขอตรวจงานไปด้วย

“ทุกวันนี้ผมยังทำงานอยู่ตามปกติ ก็มีไปสอนหนังสือที่จุฬาฯ ส่วนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะไปบรรยายเรื่องสถาปัตยกรรมในยุคต่างๆ แต่ที่นั่นเขาเรียนเพื่อจะนำไปทำเรื่องการท่องเที่ยว ฉะนั้นเขาจะเรียนเพื่อเรียนรู้เบื้องต้นเฉยๆ เพื่อศึกษาลักษณะของสถาปัตยกรรมตามท้องถิ่นหรือประเทศต่างๆ เมื่อเขาเห็นสถาปัตยกรรมเหล่านั้นแล้ว เขาจะดูอย่างไร จะแตกต่างกับการสอนที่จุฬาฯ ผมสอนระดับปริญญาตรีและปริญญาโท เขาจะเขียนเรื่องของวิทยานิพนธ์ด้วย ทั้งในการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย สอนเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องต่างๆ

“ส่วนงานที่กรมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หน้าที่หลักคือผมจะเข้าไปช่วยบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลวงต่างๆ อย่างที่วัดมกุฎกษัตริยาราม ผมเป็นประธานอนุกรรมการด้วย เข้ามาเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัด ก็ทำมาเรื่อยๆ โดยมีกรมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของเรื่อง ขณะเดียวกันก็มีวัดรวมอยู่ซึ่งเป็นของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ส่วนหนึ่ง ของวัดส่วนหนึ่ง ของประชาชนส่วนหนึ่ง ผมเข้าไปทำเกือบเสร็จแล้ว ทางกรมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีแนวความคิดที่จะบูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างไว้ รวมทั้งการทำแผนการออกแบบ

“ผมคิดว่าในเมื่อผมไม่มีวันเกษียณ ผมก็ต้องทำอย่างนี้ต่อไปจนกว่าจะไม่มีแรง แต่ถ้ามีแรงอยู่ ก็ยังคงต้องทำต่อไป มันจะทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีด้วย เมื่อมีงานทำก็จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ก็จะคุยกับเด็กๆ บ้าง มันทำให้เราแก่น้อยลงไปได้บ้าง ตอนนี้ก็บูรณปฏิสังขรณ์ที่วัดเทพศิรินทราวาสในการที่จะสมโภชครบ 100 ปี วันสวรรคตสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 อยู่ในส่วนการซ่อมบำรุงพระอุโบสถ ส่วนพระที่นั่งสันติชัยปราการอันที่แล้วที่อยู่ตรงป้อมพระสุเมรุ รัฐบาลให้ผมออกแบบทำสวนสันติชัยปราการด้วยเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสครบ 72 พรรษา

“เมื่อเราทำงาน เราต้องคิดตลอด อย่างป้อมพระสุเมรุ เราถือว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ตอนนี้เหลือ 2ป้อมคือป้อมพระสุเมรุและป้อมมหากาฬ ฉะนั้นเวลาออกแบบออกมา จะทำพระที่นั่งสันติชัยปราการ ทุกคนคิดว่าน่าจะปิดทองให้แวววาวที่พระที่นั่งต่างๆ ผมก็เสนอไป ซึ่งผู้ใหญ่ก็เห็นด้วยแต่ผมไม่ลงรักปิดทอง ผมทำอย่างอื่นเพราะผมไม่อยากให้ตัวพระที่นั่งโก้กว่าป้อมพระสุเมรุ ซึ่งป้อมนี้มีความสำคัญกว่า เพราะฉะนั้น ผมทำอย่างอื่นให้รู้สึกว่าเป็นพระที่นั่ง ถ้าไปดูจะรู้สึกได้แม้แต่ช่อฟ้ายังต้องแกะสลักลายกนก

“เวลาว่างๆ นอกจากดูกีฬาเทนนิสแล้ว บางคืนผมก็นั่งเขียนแบบที่ยังค้างอยู่บ้างนิดหน่อย ส่วนวันหยุดก็จะไปเดินดูตลาดเก่าๆ ทั้งตลาดดอนหวาย ตลาดอัมพวา เพื่อไปดูวิถีชีวิต ดูสถาปัตยกรรมไทยโบราณ มันช่วยให้เราผ่อนคลาย สงบ และมีความสุข”

ศิลปินหลากหลายสาขาได้ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม