ภัทราวดี มีชูธน
ต้นตระกูลของภัทราวดีรุ่นแรก เริ่มต้นตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมีเชื้อสายมาจากแขกศรีลังกาที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้วรับราชการสืบทอดกันมา คุณตาพระยาราชมนตรีได้เป็นข้าราชบริพารในล้นเกล้าฯ พระพุทธเจ้าหลวง ส่วนคุณยายคือคุณหญิงบุนปั่น สาวเชียงใหม่ พระญาติของเจ้าดารารัศมีที่ได้ตามเสด็จมายังพระนคร
เมื่อพบรักกับคุณตา ทั้งคู่จึงร่วมหอลงโรงกัน ทั้งสองได้สร้างครอบครัวขึ้น ณ ชุมชนวังหลัง และได้ถือกำเนิดธิดาคือ คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ และคุณหญิงบุนปั่น ลงหลักปักฐานทำธุรกิจเรือรับจ้าง ส่งคนข้ามฟากด้วยเรือแจวเพียงสองลำให้บริการชาวบ้านที่ต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากท่าวัดระฆังไปยังท่าช้าง วังหลวง ขยายกลายเป็นเจ้าของกิจการทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร เมื่อบุตรสาวเติบใหญ่ จึงให้มอบหมายเป็นผู้ดูแลกิจการแทน คุณหญิงสุภัทราถึงกับต้องมีนักดาบ 4 คนเป็นผู้คุ้มครองความปลอดภัยเพราะท่าเรือทุกแห่งเป็นถิ่นนักเลงหัวไม้ มีการชิงไหวชิงพริบ แย่งผลประโยชน์กันตลอด
ต่อมาคุณหญิงสุภัทราสมรสกับนายสะอาด มีชูธน วิศวกรผู้สันโดษอารมณ์ศิลป์ จึงให้กำเนิดหลานสาวของคุณตาคุณยาย “เด็กหญิงภัทราวดี” จอมซนแห่งคุ้งน้ำแห่งนั้น
เด็กหญิง ณ ริมน้ำ
หากหลับตา มโนภาพย้อนหลังไปราว 60 ปีก่อน ครั้นสยามเพิ่งผ่านพ้นภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 มาหมาดๆ ผู้คนต่างสัญจรด้วยรถเจ๊ก รถราง หรือเรือแจวรับจ้างเป็นหลัก โดยเฉพาะตามคลองขุดต่อจากแม่น้ำเจ้าพระยา สายนทีสีทันดรเส้นเลือดใหญ่ในการคมนาคมของคนสองฝั่ง ท่ามกลางต้นมะเกลือสูงใหญ่แผ่กิ่งก้านกว้างให้ร่มเงา มีบ้านไม้หลังน้อยๆ ในชุมชนวังหลังแฝงตัวตั้งตระหง่านอยู่อย่างสง่าบริเวณท่าริมฝั่งธนบุรี วัดระฆังโฆสิตาราม เยื้องกับพระบรมมหาราชวัง
เด็กผู้หญิงวัยน่ารักคนหนึ่งนามว่า เด็กหญิงภัทราวดี หรือ “หนูเล็ก” ได้กำเนิดขึ้นด้วยความรักของพ่อและแม่ เธอใช้ชีวิตชาววังไม่ต่างจากเด็กคนอื่นทั่วไป วิ่งเล่นริมตลิ่งตามตรอกไปยาวถึงโรงพยาบาลศิริราช บ้างก็นั่งเล่นหมากเก็บ นึกสนุกก็กระโดดน้ำเล่นริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่สนุกสนาน
เธอเติบโตมาเคียงสายธารา ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนราชินี ได้บ่มเพาะกิริยามารยาท ได้รับการฝึกสอนศิลปะรำไทย ขับร้องเพลงไทยเดิมมาจาก “ครูเล็ก กุญชร วังบ้านหม้อ” เมื่อเติบโตขึ้นมา คุณหญิงสุภัทราผู้เป็นมารดาเห็นแวว จึงได้ส่งไปเรียนไฮสกูลที่ประเทศอังกฤษ
ณ ที่นั่น เธอได้สัมผัสกับศิลปะการแสดง การร้องเพลงแบบตะวันตกและเริ่มสนใจศิลปะการแสดงอย่างจริงจัง เมื่อบิดามารดาเห็นถึงความวิริยะอุตสาหะตั้งใจ จึงส่งเธอไปเรียนศิลปะการแสดงต่อที่ Pasadena Playhouse ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอได้ร่ำเรียนศิลปะการออกแบบ การเป็นนางแบบ แต่งหน้าและการเป็นสไตลิสต์ ณ Joycelyn Ryan Studio และกลับมาแผ่นดินแม่เพื่อมาประกอบอาชีพนางแบบและนักออกแบบเสื้อผ้าจนได้รับความสำเร็จอย่างสูง กระทั่งมาเจริญรุ่งเรืองโด่งดังเป็นพลุแตกใช้ชื่อในการแสดงว่า “ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์” ดาวรุ่งอนาคตไกลในยุคโรงหนังศาลาเฉลิมกรุงเฟื่องฟู จากในฐานะนักแสดงพัฒนามาเป็นผู้กำกับการแสดง ผู้สร้างนักแสดง และครูเล็กของสานุศิษย์
เธอคือผู้สร้างโรงเรียนการแสดง โรงละครภัทราวดีเธียเตอร์ สร้างสรรค์ผลงานการแสดงร่วมสมัยที่มีพื้นฐานจากวรรณคดีไทยรวมทั้งได้คิดค้นวิธีการนำพุทธธรรมมาสอดใส่เสนอเป็นละครร่วมสมัยจนเกิดเป็นการแสดง “ร่ายพระไตรปิฎก” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง ส่งผลให้เกิดการแสดงในชุดพระไตรปิฎกขึ้นมาอีกหลายชุด อีกทั้งเธอยังได้สนับสนุนและบุกเบิกการเปิดศูนย์ศิลป์ชุมชน ด้วยความร่วมมือกันระหว่างครูอาวุโสและลูกศิษย์รุ่นใหม่ เพื่อสืบสานและพัฒนาองค์ความรู้ชุมชนในพื้นที่ต่างจังหวัด อาทิศูนย์ศิลป์วัดเอรัณฑวัน จังหวัดเชียงใหม่ สวนศิลป์บ้านดิน จังหวัดราชบุรี พร้อมกับอุทิศเวลา เพื่อการฝึกอบรมครูและนักเรียนให้รู้จักประยุกต์ใช้ศิลปะการละคร ในการสอนวิชาการต่างๆ รวมทั้งกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาจิตใจ
ปัจจุบันเธอได้สร้าง “โรงเรียนภัทราวดี มัธยมศึกษา หัวหิน” ที่หมู่บ้านหัวนา ริมถนนเพชรเกษม ตำบลหนองแก อำเภอหัวหินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญพิเศษหลากหลายสาขาวิชาชีพ เพื่อพัฒนาเยาวชนให้เติบโตอย่างมีศิลป์ มีศาสตร์ มีคุณธรรม มีวัฒนธรรม เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองต่อไป แม้เวลาจะล่วงเลยไปก็ไม่สามารถหยุดยั้งความคิด ความก้าวหน้า ความ
ล้ำสมัย ความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของคนบันเทิงเยี่ยงเธอไปได้ คุณความดีส่งผลให้ต่อมาในปี พ.ศ.2550 เธอได้รับพระราชทานปริญญาเอก ดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) สาขานาฏศิลป์และการละครจากมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
ผสานรักผสมศิลป์
ภายในอาณาจักรเนื้อที่ 30 ไร่ ใกล้ทะเลหัวหิน ถูกจัดวางตกแต่งสถาบันสไตล์โมเดิร์นอาร์ตฟอร์มหลายหลัง นาม “โรงเรียนภัทราวดี มัธยมศึกษา หัวหิน” ดูร่มรื่นเป็นธรรมชาติ สบายอุราด้วยบ้านถ้ำ โขดหิน สระบัว ลานเอนกประสงค์ ตัดกับสนามหญ้าเขียวขจี มีสายลมอ่อนๆ แสงแดดระยิบสะท้อนน้ำจากฝั่งทะเล อุปมาดั่งวิมานสวรรค์บนแดนดิน ปรมาจารย์การแสดงเธอเผยด้วยรอยยิ้มแห่งมิตรภาพว่า
“ปัจจุบันดิฉันทำโรงเรียนมัธยมกับวิกหัวหิน และจะมีวีคเอนด์สคูลและอาร์ตแคมป์สำหรับประชาชนทั่วไป โดยมุ่งเน้นการศึกษาในเรื่องศิลปะศาสตร์ การสร้างคนและการให้อาชีพกับคนที่ต้องการโอกาสทางวิชาชีพแขนงนี้ เป็นความประสงค์ของคุณแม่ที่ให้ทำงานชิ้นนี้ เพื่อให้พวกเขามีวิชาและสามารถไปสู่ระดับโลก ไม่ใช่แค่ระดับชาติ นักเรียนทุนของเราที่เคยสร้างไว้มุ่งไประดับโลกเยอะมาก เราทำมา 20 ปีแล้ว เริ่มตั้งแต่สอนครั้งละ 20 บาท แล้วมา 50 บาท แต่เดี๋ยวนี้เก็บครั้งละ 200-300 บาทตามสภาพเศรษฐกิจ เพื่อให้ครูเขาอยู่ได้ ที่ภัทราวดีเธียเตอร์ นักเรียนทุนมีมากถึง 30% ของนักเรียนทั้งหมด ช่วงนั้นดิฉันมีทั้งเล่นคอนเสิร์ต เล่นภาพยนตร์ เล่นละครทีวี ทำอะไรได้เงินมาทั้งหมดก็เข้ามูลนิธิฯ เข้ากองทุน แล้วนำเงินเหล่านั้นกระจายไปให้การศึกษากับเด็กๆ จนบัดนี้ 20 ปีก็ยังสนับสนุนให้เราเรียนรู้และพัฒนาอาชีพอยู่เรื่อยๆ
“ส่วนคุณแม่ท่านเป็นนักธุรกิจทำเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา เรือด่วนเจ้าพระยา เมื่อดิฉันอายุ 16 จบไฮสกูลและยังไม่อยากเรียนต่อ เคยริเริ่มทำธุรกิจล่องเรือรับประทานอาหารยามค่ำคืน บุกเบิกเป็นคนแรก โดยใช้เรือของคุณแม่ที่จอดทิ้งไว้เฉยๆ ตอนกลางคืนมาทำให้มีประโยชน์ สร้างรายได้เสริมให้แก่คนขับเรือ นำนายท่าหน้าตาดีมารับหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟ มีการสีไวโอลินเบาๆ เคล้าอาหารเย็น แต่ต่อมารู้ตัวว่าเด็กเกินไปที่จะทิ้งการศึกษา จึงกลับไปเรียนต่อ ธุรกิจล่องเรือสำราญจึงหยุดไป เหลือแต่ธุรกิจการเดินเรือข้ามฟากและเรือด่วนเจ้าพระยา ซึ่งท่านให้พี่สาวมาสานงานต่อ
“คุณแม่ท่านเห็นว่าดิฉันเป็นศิลปิน แล้วท่านก็ดูงานดิฉันมาตั้งแต่เด็ก จนมองเห็นว่าเราชอบการร้องรำทำเพลง จึงอนุญาตให้ไปเรียนศิลปะการแสดง เมื่อจบออกมาดิฉันก็รับเล่นภาพยนตร์ เล่นละครทีวี ท่านจะดูทุกเรื่อง ทุกการแสดง ดิฉันเล่นละครเรื่องบัลลังก์เมฆ ท่านดูจนจบถึงตอนสุดท้ายแล้วท่านก็เสียจากเราไป ต้องบอกว่าท่านเป็นแฟนพันธุ์แท้ของดิฉันจริงๆ
“ดิฉันมีครูดีๆ แล้วก็มีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศหลายแห่งในฐานะภรรยานักการทูตคานาดา เขาเชิญไปดูโอเปร่า ดูบัลเลต์ ดูงานดีๆ ของศิลปินระดับโลก ได้เห็นสิ่งที่ดีที่สุด ได้พบครูดีๆ ศิลปินเก่งๆ ทำให้มีโอกาสได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม รวมทั้งได้ทำงานร่วมกับผู้กำกับละครเพลงบรอดเวย์คือ Mr. Author Faria เขาเคยมาเรียนรำไทยที่เมืองไทย เราจึงสนิทและเป็นเพื่อนรักกัน
“ต่อมาเขาสอนให้เราสร้างและแสดงงานประเภทละครเพลง และ One Woman Show ชื่อว่า คืนหนึ่งกับภัทราวดี คุณแม่ท่านสนับสนุนให้มาเปิดการแสดงที่โรงละครแห่งชาติ ในปี 1981 เป็นคอนเสิร์ตที่มีการร้องเล่นเต้นระบำครั้งแรกของประเทศที่แสดงโดยศิลปินไทย ก็ประสบความสำเร็จมาก และจุดประกายให้เกิดสถาบันใหญ่ๆ สำหรับการสอนดนตรีและสอนดารานักร้องที่มีชื่อเสียงในยุคนี้มากมาย
“คุณแม่จึงสนับสนุนให้เราเปิด ภัทราวดีเธียเตอร์ ซึ่งแต่ก่อนเป็นโรงเรียนสุภัทรา ท่านชอบเรื่องการศึกษา ตอนที่ท่านอยู่ในวังท่านมีโอกาสอ่านหนังสือให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 และพระมเหสีของพระองค์ฟัง ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 6สวรรคต คุณแม่ออกจากวังก็ได้เรียนที่ธรรมศาสตร์ เป็นนักกฎหมายรุ่นแรกของประเทศ ท่านทำธุรกิจประสบความสำเร็จได้เพราะการศึกษา ท่านจึงสอนดิฉันเสมอมาว่า การเรียนหนังสือทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการ ฉะนั้นหลายๆ คนที่ไม่มีโอกาสได้ศึกษา ท่านก็จะให้โอกาส แล้วท่านก็ให้เราทำเท่าที่จะทำได้ต่อจากท่าน แต่ว่าไม่ให้ลำบากยากจน และก็ไม่ใช่ทำเพื่อหากำไรเอามาใช้จ่ายสุขสบาย ฟุ้งเฟ้อ ส่วนจะทำด้วยวิธีใด ท่านให้คิดเอาเอง
“ภัทราวดีเธียเตอร์อยู่มานาน 20 ปี ที่ผ่านมาก็สามารถทำงานที่เป็นกุศลและดูแลตัวเองได้ แต่ตอนนี้ดิฉันอายุ 62 ปีแล้ว เหมือนไม้ใกล้ฝั่ง แล้วใครจะมาทำตรงนี้ต่อจากเรา เราต้องทำให้เป็นระบบระเบียบ เพื่อความต่อเนื่อง ก็เลยใช้ที่ของคุณแม่
เป็นที่ที่หัวหิน จาก 100 ไร่ เรานำมา 30 ไร่ ลงทุนทำโรงเรียน เพื่อให้มันเกิดความมั่นคงกับการศึกษาและการพัฒนามนุษย์จากประสบการณ์ 20 ปีที่รวบรวมไว้นำมาเผยแพร่อย่างเป็นระบบระเบียบ แล้วมีการหารายได้แบบธุรกิจเอื้ออาทรการศึกษา นำศิลปะศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาสมองซีกขวาให้สมดุลกับสมองซีกซ้าย รู้จักการนำองค์ความรู้มาใช้กับการดำรงชีวิต
สร้างการงานอาชีพอย่างมีคุณธรรม การเปิดโรงเรียนอย่างเต็มเวลาเช่นนี้สามารถให้ทุนการศึกษากับเด็กๆ ที่มีความสามารถได้มากกว่าเดิม สร้างสังคมให้เด็กๆ ได้เจริญเติบโตไปด้วยกัน เมื่อจบการศึกษาไปแล้วยังช่วยเหลือ เกื้อกูลทำธุรกิจการงานด้วยกัน”
หยั่งรากฝังดิน
“ดิฉันเชื่อว่าคนที่ทำธุรกิจอะไรก็ตาม ก็ต้องทำประโยชน์เพื่อสังคม หรืออย่างท่านทำงานโรงงานทำเหล็ก เหล็กก็มีประโยชน์ในการสร้างบ้านเมือง แต่ดิฉันทำอย่างอื่นไม่เป็นนอกจากสอนศิลปะศาสตร์ ศิลปะไม่ได้สร้างคนให้เป็นแค่ดารานะ แต่มันสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มนุษย์ที่มีสมองซีกซ้าย ซีกขวา สมดุลกัน เขาจะรู้ผิดชอบชั่วดี มีรสนิยม รู้จักเลือกว่าอันไหนควรทำ อันไหนไม่ควรทำ คนเราเมื่อมองเห็นความงามก็จะเห็นความดี จะไม่ใฝ่ต่ำ จะไม่สกปรก รกรุงรัง รักความสงบ ความเป็นธรรมชาติคนเหล่านี้เมื่อโตขึ้น จะทำงานอะไร ก็จะดีงาม ซื่อสัตย์ ไม่คอรัปชั่น ไม่โกงไม่เอาเปรียบผู้อื่น เพราะมันไม่ดีและไม่งาม
“เรานำธรรมะเข้ามาสอนร่วมกับการสอนศิลปะศาสตร์ค่อนข้างเยอะ ถ้าสอนเรื่องธรรมะอย่างเดียว เด็กวิ่งหนีเพราะไม่รู้ว่าจะนำมาใช้ได้อย่างไร แต่ถ้าสอนเรื่องการเคลื่อนไหว การแสดง แล้วแฝงธรรมะไปด้วย เด็กจะรู้จักการทำงาน และดำรงชีวิตอย่างเอื้ออาทร รู้จักการฟังเพื่อความเข้าใจ รู้จักการดูเพื่อเห็นตามความเป็นจริง การเอาใจเขามาใส่ใจเรา การเคารพในความคิดของผู้อื่นการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างพอเพียงและสบายใจ
“การทำงานตรงนี้เมื่อเห็นเด็กแต่ละคนโตขึ้นและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน รวมทั้งเป็นคนดี มันเป็นความสุข เป็นผลกำไรที่ไม่ใช่เราได้รับเพียงคนเดียว แต่คนทั้งโลกพลอยได้รับผลกำไรนั้นด้วย
“โดยปกติเราก็อยู่อย่างสบาย ลูกๆ ก็เลี้ยงดูเราอย่างดีมีบ้านอยู่ จะไปเที่ยวไหนเขาก็พาไปเที่ยว มีลูกบางคนที่เราพลาด เพราะความไม่รู้ จึงต้องหาวิธีแก้ไข หืดขึ้นคอเลยล่ะ แต่ก็ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ มาใช้ในการสอนลูกคนอื่น สอนตัวเองด้วย
“การสร้างคนก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ รดน้ำพรวนดินเอาใจใส่ก็ได้กินลูกผลที่อร่อย เอาใจใส่น้อย ต้นไม้ก็แคระแกร็น มีมดแมลงไชชอน พอรดน้ำมากก็แฉะ เฉาตาย การบ่มเบาะคนโดยใช้ศิลปะ มันทำให้ต้นไม้หยั่งรากลึก ทำให้เขามีศักดิ์ศรี เพราะสำนึกว่าเราเป็นใคร มาจากไหน สำคัญอย่างไร ยิ่งรากลึก กิ่งก้านยิ่งแผ่ขยายกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ เป็นที่พึ่งพิงของมนุษย์และสัตว์โลกอีกมากมาย
“ตอนที่ดิฉันริเริ่มเป็นผู้จัดละครโทรทัศน์ให้กับช่อง 3 ก็ได้เกิดอุตสาหกรรมละครโทรทัศน์ แบบเป็นตอนครึ่งชั่วโมง ไม่มีการบอกบท เพื่อให้ตัวละครคิดเอง แสดงเอง มีการจัดฉากแสงสีให้สวยงาม มีมิติ มีความเหมือนจริงมากขึ้น สร้างนักแสดงหน้าใหม่มากมาย ที่ไม่ต้องหล่อต้องสวย แต่มีความสามารถ”
แสงทองส่องนำใจ
“อย่างคุณปัญญา นิรันดร์กุล ดิฉันเห็นแววก็นำมาเล่นละครเรื่อง ศรีธนญชัย ต่อมาเขาเจริญเติบโตออกมาตั้งบริษัทเวิร์คพอยท์เอ็นเทอร์เทนเมนท์ เขาก็ยังน่ารัก เขายังมาจ้างดิฉันไปทำงานให้เขาบ้าง ไม่ทิ้งกัน คุณจิ๊ อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ เมื่อก่อนนี้ก็มาช่วยทำงานประสานงานที่ช่อง 3 จะทำกันอยู่ 2 คนทุกรายการ เดี๋ยวนี้เขาก็เจริญเติบโตไปดี รุ่นใหม่ๆ เช่น อ้น สราวุฒิ มาตรทอง อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร เขาก็เป็นนักแสดงที่มีคุณภาพ เราเป็นส่วนเล็กๆ ในการให้อาชีพ ให้แนวทางในการพัฒนาชีวิต คุณแม่ท่านคงเล็งเห็นแล้วว่าเรามีตาในการเลือกคน ท่านจึงสนับสนุนให้ทำงานนี้ต่อไปจนทุกวันนี้
“การฝึกเด็กๆ แต่ก่อน เขาจะมาหาเราหลังโรงเรียนเลิก กว่าจะกลับบ้านก็สี่ทุ่ม เที่ยงคืน เช้าต้องไปโรงเรียน มันเหนื่อย ก็เลยตัดสินใจทำโรงเรียนสามัญศึกษาที่เอื้อให้เขาเรียนชั้น ม.1 ถึง ม.6 เป็นโรงเรียนประจำและไปกลับ สอนหมดทุกอย่าง ทั้งวิชาสามัญและวิชาชีพ เช่น วิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก เทคโนโลยีต่างๆ ถ่ายภาพ ทำภาพยนตร์ บริหารจัดการ ทำประชาสัมพันธ์ตลอดจนทำอาหาร บริการ ทำสวน ปลูกผัก ร้องรำทำเพลง ดนตรี ให้เด็กๆ ค้นพบตนเองว่าชอบอะไรมากที่สุด จะได้สนับสนุนให้เติบโตไปทางนั้น เพื่อการไปศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ที่นี่ไม่ใช่สร้างศิษย์อย่างเดียว เราจะพัฒนาครูให้มีทักษะการสอนที่น่าสนใจและสร้างสรรค์ เพื่อช่วยกันทำงานแทนครูรุ่นใหญ่ที่ใกล้ฝั่งแล้ว
“ที่ผ่านมาเราเคยสอนเด็กพิเศษ สอนเด็กเปรต เด็กทึบ แล้วเห็นว่าเด็กทึบกับเด็กเปรตไม่มีในโลก มีแต่ว่าเด็กพวกนี้มีพรสวรรค์และมีแรงเยอะกว่าปรกติ ครูต้องตามเด็กพวกนี้ให้ทัน แรงครูต้องเยอะ นอนดึกตื่นเช้า มีความคิดเชิงสร้างสรรค์สูง รู้เท่าทันอารมณ์เด็ก และรู้วิธีช่วยเขาให้คิดเป็น ศิลปะการแสดงสอนให้คนรู้ปัญหาและแก้ปัญหา จึงเป็นหลักสูตรที่มีประโยชน์มากสำหรับเด็กที่โรงเรียนอื่นๆ ไม่ยอมรับ
“ทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ก็เข้ามาช่วยบ้างในบางโปรเจ็คท์ ท่านให้เราพัฒนาผู้บริหารศูนย์สามวัย ในพระอุปถัมภ์ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชและพระองค์เจ้าศรีรัศม์ ตอนนี้เราก็ไปพัฒนาอำแพง จังหวัดสมุทรสาคร สวนศิลป์บ้านดินตำบลเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี ของคุณมานพ มีจำรัส โดยใช้ศิลปศาสตร์ช่วยพัฒนาจิตใจ และเศรษฐกิจ ให้รู้จักคำว่าสร้างสรรค์และพอเพียง ภูมิใจในถิ่นกำเนิดและช่วยกันพัฒนาโดยไม่เสียจุดยืน ไม่ขายจิตวิญญาณ สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดได้เห็นผลแล้ว แม้ต้นไม้ต้นนี้จะโตช้านิด แต่ผู้ใหญ่ก็เริ่มเห็นความสำคัญ
“เราอยู่อย่างพอเพียง เป็นข้าฯ พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวฯ ดูพระองค์ท่านทรงงาน และนำมาเป็นตัวอย่างในการคิด ดิฉันโชคดีได้มีโอกาสทำงานในบางโครงการของพระองค์ท่านและราชวงศ์ ได้รับการสนับสนุน ให้กำลังใจ หายเหนื่อย ดิฉันจึง
มุ่งมั่นว่าจะทำงานนี้ถวายพระองค์ท่านเพื่อเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินจนวันตาย”
เส้นทางชีวิต
“ตอนเด็กๆ เราได้รับการปลูกฝังความคิดความอ่านจากคุณแม่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งมันวิเศษมาก เราจึงอยากจะถ่ายทอดให้เด็กรุ่นใหม่อย่างที่เราเคยได้รับมา เรามีพี่เลี้ยงที่มีความเป็นศิลปินสูง เธอชื่อไสว ทุกคนเรียกเธอว่าแม่ไหว ตกตอนเย็นเธอจะทำกับข้าวให้คุณแม่รับประทาน เธอจะสลักผักหรือผลไม้ทุกชิ้น น้อยหน่าคว้านเมล็ดออก แล้วจัดวางเป็นรูปดอกไม้ในชามแก้ว มะม่วงน้ำปลาหวานและผลไม้ทุกชนิด แม่ไหวต้องแกะสลักลวดลาย เร็วมาก เป็นชีวิตประจำวัน ทุกครั้งที่คุณแม่จะไปร่วมงานศพแม่ไหวก็จะทำพวงหรีดด้วยการนำกลีบดอกบานบุรีมาเย็บเป็นดอกไม้ ยามว่างเธอก็จะนั่งสลักขันเงิน เธอเป็นหญิงชาววังมาก่อน ดิฉันจึงได้เรื่องศิลปะศาสตร์จากแม่ไหวนี่แหละ
“ตอนที่ดิฉันเรียนโรงเรียนราชินี ครูก็จะสอนเพิ่มเติมเรื่องกิริยามารยาท เราเลยโตมาอย่างกุลสตรี มีความเป็นผู้หญิงไทย แต่การศึกษาในต่างประเทศสอนให้กระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว เพราะเมืองเขาหนาว เราจึงเอาสองอย่างมาผนวกกัน คือเร็วอย่างมีสติ ก็ค่อยๆ ค้นหาความพอดีมาตลอดชีวิต ไม่ง่ายนักหรอก
“งานแรกหลังจากกลับมาจากอเมริกาก็คือการเป็นนางแบบให้ห้องเสื้อระพี เพราะคุณแม่เป็นพีอาร์ที่ดี เราประสบผลสำเร็จทุกวันนี้ก็เพราะท่านเป็นโปรโมเตอร์ ตอนนั้นนางแบบส่วนมากจะเป็นนางงาม เธอจะค่อยๆ เยื้องย่าง ดิฉันจะเดินแฟชั่นโชว์สลับกับนางงามทุกคน เพราะเราเดินเร็ว เปลี่ยนเสื้อผ้าเร็ว นำเสนอเสื้อผ้าได้ทุกรูปแบบ เพราะเรียนมา จากนั้นก็มาเปิดร้านเสื้อสำเร็จรูปที่สยามสแควร์ ศูนย์การค้าเฉลิมโลก และ เพลินจิตอาเขต ก็ขายดี เพราะในยุคนั้นมีร้านขายเสื้อสำเร็จรูปเพียงไม่กี่แห่ง จากนั้นก็หันมาเปิดโรงเรียนสอนการเดินแบบและนำลูกศิษย์ มาทำแฟชั่นโชว์ที่ทุกคนชอบซื้อตั๋วเข้ามาดู เพราะเป็นแฟชั่นโชว์ ที่แหวกแนวสนุกสนาน นางแบบทุกคนต้องเต้นรำ รำละคร เราเคยเล่นสเกตบนรันเวย์ เคยตกลงมาด้วย คนก็นึกว่าเล่นตลก (หัวเราะ)”
ดั่งฟ้าลิขิต
“หลังจากเบนเข็มมาทำละครเวที ดิฉันได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากราชวงศ์มากมาย ได้เคยรับเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงมาทอดพระเนตรการแสดงละครเรื่อง อิเหนา-จรกา ในปี พ.ศ.2536 และเมื่อปีพ.ศ.2537 เรื่อง เงาะป่า และการแสดงโขนรามเกียรติ์ ตอน สหัสสเดชะ ถือว่าเป็นมงคลชีวิตอย่างสูง ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จมาท่านจะพระราชทานเงินขวัญถุงให้ทุกครั้ง แล้วมากกว่าค่าตั๋วเสียอีก เงินที่ได้รับพระราชทานทั้งหมดก็นำมาเป็นกองทุนสนับสนุนเด็กๆ ในคณะเพื่อเรียนการแสดงในอนาคต
“ทุกครั้งที่เราบอกว่าเราเหนื่อย ก็จะมีอะไรมาดลจิตดลใจให้ทำต่อ หรือบางทีบอกว่าจะไม่ทำแล้วนะพอแล้ว ปรากฏว่าเราได้พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานทุนจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้มาทำละครหลายเรื่องเช่น ลิเกชาละวัน ละครชาตรีเรื่องสังข์ทอง เดี๋ยวนี้ไม่ต้องขอเลย ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้มารับทุนทุกปีเราเป็นประชาชนตัวเล็กๆ แต่พระองค์ท่านยังทรงเมตตาเอ็นดู แล้วเราจะเลิกได้อย่างไร เราคงต้องทำงานถวายพระองค์ท่านไปจนชั่วชีวิต
“ชีวิตมนุษย์ทุกคนคือละครเรื่องหนึ่ง ถึงจะเกิดมาในโลกเดียวกัน แต่ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านดินฟ้าอากาศ สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทำให้เรื่องราวของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นเรื่องราวของใคร แต่อยู่ที่ว่าคนๆ นั้นมีวิถีชีวิตและมีความเกี่ยวข้องกับอีกหลายๆ ชีวิต ที่ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาหล่อหลอมให้ชีวิตหนึ่งเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และเราเองก็เป็นองค์ประกอบในชีวิตคนอื่นๆ เช่นกัน
“ไม่มีชีวิตใดไม่มีคุณค่า ไม่ว่าจะอยู่เบื้องหน้า หรือเบื้องหลัง แม้กระทั่งหมดลมหายใจ ล้มตายลง ก็ยังกลายเป็นปุ๋ยเพื่อความอุดมสมบูรณ์ให้ผืนดิน เป็นประโยชน์ให้ต้นไม้ต้นใหม่ๆ เจริญเติบโตได้เหมือนกันทุกคน”