ธงชัย รักปทุม

ธงชัย รักปทุม

หลังจากจบการศึกษามาจากโรงเรียนเพาะช่างในระดับ ปวช. อาจารย์ธงชัย รักปทุม ได้เข้าศึกษาที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมมหาวิทยาลัยศิลปากร และได้เรียนกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เพียงปีเดียว อาจารย์ศิลป์ก็จากไป การเรียนศิลปะในช่วงที่อาจารย์ศิลป์ยังมีชีวิตอยู่นั้น ทำให้ท่านได้เห็นถึงการศึกษาธรรมชาติเพื่อนำสิ่งที่ได้เห็นมาสร้างขึ้นโดยไม่ทิ้งข้อมูลเดิมมากนัก

ท่านได้แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานจากหลากหลายเรื่องราวที่ครูบาอาจารย์สอนในสาขาจิตรกรรมชั้นปีต้นๆ สอน อาทิอาจารย์วีระ โยธาประเสริฐ อาจารย์ปทีป สว่างสุข อาจารย์สันต์ สารากรบริรักษ์ ที่สอนสีน้ำ สีฝุ่น สีน้ำมัน ซับเจ็คท์ต่างๆ เมื่อขึ้นปี 4 ถึงปี 5 ก็ได้รับการต่อยอดจากอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์ทวี นันทขว้าง อาจารย์มานิตย์ ภู่อารีย์ ส่วนอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ สอนวิชาองค์ประกอบศิลป์ อาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขตต์ สอนสาขาประติมากรรม อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข และอาจารย์อีกหลายท่านช่วยกันฟูมฟัก ท่านจึงสำเร็จจากตักศิลาหน้าพระลานได้

จนกระทั่งความฝันกลายเป็นจริง เมื่อท่านได้รับทุนจากรัฐบาลอิตาลี ข้ามขอบฟ้าไปศึกษาที่สถาบันวิจิตรศิลป์ แห่งกรุงโรม ราวปีค.ศ.1974-1977 ภายใต้การให้การศึกษาของศาสตราจารย์ ฟรังโก เยนติลินิ ในห้วงนั้นดูเหมือนอาจารย์ธงชัยจะถูกกดดันด้วยความรู้สึกในความงดงามของสรรพสิ่งต่างๆ รอบตัว ทั้งหอศิลป์ มิวเซียม อะคาเดมี แหล่งอารยะธรรมต้นแบบงานศิลปะของโลกท่านได้ดื่มด่ำไปกับธรรมชาติ ภูมิทัศน์บ้านเมือง คูคลองสะอาดสะอ้านสบายตา รวมถึงภูมิอากาศและความงามที่จับต้องได้ ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจและหรรษาในการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างเจิดจรัส ไม่ว่าจะเป็นความงามของนางแบบสาวชาวโรม ที่หวนรำลึกถึงเรือนร่างอันงดงาม อ่อนช้อย ผิวพรรณนวลเนียน อาภรณ์ สัดส่วนโค้งเว้าสมส่วนของสาวตะวันตกที่กลมกลืนกับเมืองหนาว จึงเกิดภาพรูปธรรมจากกรุงโรม ด้วยการบรรจงเขียนภาพเปลือย ภาพนู้ด ทุกวี่วัน สม่ำเสมอ เป็นแรมปี จนเข้าขั้นปรมาจารย์โดยไม่มีใครเคยได้ยลมาก่อน จนกระทั่งอาจารย์เฟื้อไปเห็นเข้า ถึงกับเอ่ยปากชม

เมื่อวันเวลาผ่านไปราว 3 ทศวรรษ การแสดงศิลปกรรมย้อนหลังจึงก่อเกิดขึ้น ชื่อศิลปะชุด “นางแบบศิลป์” ที่สะสมประสบการณ์จนอิ่มเอมและสร้างความฮือฮาได้มิใช่น้อย ผลงานสร้างสรรค์ศิลปกรรมกวาดรางวัลระดับชาติมานับไม่ถ้วนทั่ว ถ้าจะแบ่งเป็นยุคๆช่วงแรกระหว่างงานวาดเส้นภาพเปลือยที่อยู่กรุงโรม อิตาลีที่โดดเด่นเชี่ยวชาญอย่างจริงจัง หาตัวจับยาก ช่วงที่ 2 ชุดสีน้ำขนาดใหญ่มีลักษณะชุ่มฉ่ำ มีสีที่สดใส เบิกบานประสานกันอย่างหลากหลายมีชีวิตชีวา คงคุณค่าของทัศนธาตุของสีสัน บ่งบอกถึงความอิสระจากกฎเกณฑ์ ชุดที่ 3 เป็นชุดพลังแห่งสภาวธรรม เป็นผลงานขนาดใหญ่ จะเห็นสีที่ไหลไปมา มีพัฒนาการของการควบคุมองค์ประกอบและทิศทางของการเลื่อนไหลของสีปราศจากรูปแบบ เป็นนามธรรมที่เราสัมผัสได้ถึงพลังการเคลื่อนไหว ที่เป็นไปตามสภาวธรรมเหตุแห่งผล

ทั้งหมดถือว่าเป็นความกล้าหาญท้าทายต่อการแสดงออกทางการสร้างสรรค์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ในมิติที่ลึกได้หลุดพ้นจากพันธะผูกพันทั้งปวงในรูปแบบการสมมุติสัจจะ โดยเฉพาะโลกทั้งใบของเขา ที่หยิบฉวยเหตุการณ์รอบโลก การต่อสู้ของคนในชาติ ถูกสร้างสรรค์ออกมาอย่างงดงาม สะท้อนสภาวะของความเป็นจริงในปัจจุบันที่ต่างก็เผชิญ พบเห็น สัมผัสสะเทือนอารมณ์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

หนึ่งสมองสองแขน...ล้านดวงใจ

ลูกบอลสีขาวขนาดย่อมที่อาจารย์ธงชัยถือไว้ในมือ ถูกแต่งแต้มสาดสี สร้างสรรค์แปลกแหวกแนว เหมือนเราเป็นยักษ์ มองดูจากนอกโลกไกลๆ จะเห็นออกมาเป็นแผ่นดิน ท้องทะเล ท้องฟ้า ภูเขา ตามจิตจินตนาการของคนเสพงานศิลป์ การจัดวางเป็นชั้นๆกินเนื้อที่ขนาดใหญ่ล้วนไม่ธรรมดาเมื่อได้ยล

“ผลงานชุดนี้มองรูปแบบ 3 มิติของลูกบอลฉาบสีดูฉูดฉาด มีความรู้สึกผสมผสานออกมาเป็นเรื่องราวในจินตนาการ ความรู้สึกเป็นเกสเตอร์ เป็นจิตรกรรม ผมเปลี่ยนเอาเทรนด์สี่เหลี่ยมแล้วนำเอาลูกบอลกลมๆ เป็นเทรนด์ แล้วผมก็นำสีมาเท มาราดสีลงไปทีละสีที่บอล จับบอลเขย่าไปเขย่ามา มันก็จะเกิดพลังของน้ำ พลังของแรงเหวี่ยง ฉับพลัน เราต้องควบคุมให้อยู่โดยใช้สีอะคริลิกซึ่งจะแห้งเร็วกว่าสีน้ำมัน ผลงานชิ้นนี้ผมเรียกว่า พลังสภาวธรรมชื่อ สภาวะสุนทรีย์ ถูกถ่ายทอดออกมา ถ้าเราไม่ทำให้มันเกิดพลังแรงบิด แรงเหวี่ยง แรงไหว พลังตรงนี้มันก็ไม่เกิด จึงเป็นศิลปกรรมสื่อผสมเทคนิคตรงนี้ ผมต้องเทสีที่ 1 ก่อน แล้วสีที่ 2ตาม จากนั้นหยอดสีที่ 3 หยอดต่อกันไป แล้วจึงยกบอลขึ้นมาหมุน แต่ละสีจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เมื่อนำมาผสมผสานกัน จึงเกิดสภาพเหมือนลอยตัว มันต้องคิดตลอด จึงจะออกมาใหญ่มาก เมื่อเราทำต่อเนื่อง ก็คิดงานใหม่ขึ้นมาอีก เป็นรูปแบบนามธรรมนี่คือผลงานชุดล่าสุด ที่ดวงใจหลายๆ ดวงบนโลกมนุษย์มารวมกันอยู่ที่นี่

“สมัยที่ผมเรียนอยู่เพาะช่าง ผมเองก็เขียนภาพสีน้ำไม่เป็น เมื่อเห็นว่าภาพใกล้จะเสีย จึงใช้สีขาวแต้มแต่งไป แล้วนำไปใส่กรอบส่งอาจารย์ ปรากฏว่าได้รับรางวัลที่ 1 ติดโบสีเหลืองนำไปโชว์ไว้กลางห้อง จากนั้นก็เริ่มฝึกฝีมือมาเรื่อย ต่อมาเมื่อมาอยู่ที่ศิลปากร อาจารย์ปทีป สว่างสุข ให้ไปเขียนสีน้ำทิวทัศน์ท้องนา ท้องทุ่ง ที่บ้านท่านในชนบท ผมเขียนพู่กันจนชำนาญ เขียนเช้ากลางวัน ถึงเย็นทุกวัน จนกระทั่งมีความชำนาญ สามารถสะบัดทีเดียวได้เลย มันเป็นความวิริยะอุตสาหะ มานะของเราในอดีต ที่ต้องทำงานหนัก ทำงานมากกว่าคนอื่นหลายเท่า เราต้องขยัน ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็สู้เขาไม่ได้ เพราะผู้มีฝีไม้ลายมือยอดเยี่ยมกว่าผมมีหลายคน

เปิดประตูสู่...อารยะศิลป์

การไปศึกษาหาอารยะธรรม ด้วยการเรียนจิตรกรรมชั้นสูง ที่สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งโรม ณ ประเทศอิตาลี นั้นย่อมได้ความรู้ใหม่ๆเข้ามาเพื่อนำมาถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์

“ความจริงผมได้ความรู้จากครูทุกท่านอยู่ในตัวผมหมด ผมเก็บเอาจุดเด่นๆ ของท่านไว้ แต่เมื่อถึงเวลาจะออกมาเอง อย่างอาจารย์เฟื้อ นอกจากงานศิลปะแล้ว ท่านจะคมในเรื่องของหนังสือมาก ทั้งวาทะ บทบาทในการเขียนหนังสือจะนิ่ง แน่วแน่ ชั้นเชิงสุดยอด ผมจะได้ความขยันจากอาจารย์ชลูด เพราะต้องทำองค์ประกอบทุกอาทิตย์ ผมได้ความรู้จากอาจารย์ศิลป์ พอผมขึ้นปี2 อาจารย์ศิลป์ ท่านก็เสีย แต่ลูกศิษย์ยุคแรกๆอาจารย์ท่านก็ส่งเสริมให้ไปเรียนต่อด้านศิลปะที่ประเทศอิตาลี ผมเองก็อยากไปเมื่อได้ไปศึกษาต่อที่นั่น ทำให้เราเห็นออริจินัลเพ้นท์ติ้งของแวนโก๊ะว่าเป็นอย่างไร ของโมเนต์ ได้ดูสถาบันวิจิตรศิลป์ที่เมืองฟลอเรนซ์ ซึ่งเป็นเมืองเกิดของอาจารย์ฝรั่งที่ท่านเคยเรียน ผมได้เห็นต้นฉบับของจริงจากภาพวาดที่มันนูนออกมาจับต้องได้ทำให้รู้ว่าเขาป้ายสีเป็นอย่างไร มันมีความรู้สึก

“ช่วงที่อยู่อิตาลีจะมีครูมาสเตอร์ ครูโปรฯ ผู้ช่วย ผมเรียนอยู่กับโปรเฟสเซอร์ ฟรังโก เยนติลินิ คนเดียวกับที่สอนท่านอาจารย์สวัสดิ์ ผมเขียนแต่ภาพนู้ดตลอด 1 เดือน มีนางแบบเป็นฝรั่ง ช่วงนั้นผมจะกังวลอยู่กับเรื่อง เส้น เรื่องแสงเงา สัดส่วน ที่นั่นเขาให้อิสระทางความคิดมาก คุณจะเขียนอะไรก็ได้ ผมไปดูพิพิธภัณฑ์ ได้ไปเห็นรูปแกะสลักวีนัส ศิลปะในยุคต่างๆ ของศิลปินระดับโลกอายุหลายร้อยศตวรรษ ทำให้นึกถึงเนื้อหาแนวความคิดรูปแบบนามธรรมหรือ Abstract และรูปธรรมหรือ Figurative ที่เคยสร้างสรรค์สมัยอยู่เมืองไทย ชั่วแว้บหนึ่งภาพหญิงสาวชาวอิตาลีของบอตติเชลลีในภาพกำเนิดวีนัสที่ผมลุ่มหลงก็ปรากฏแจ่มใสขึ้นมาให้เห็นในความรู้สึกความงามที่บอตติเชลลีสะท้อนบ่งบอกให้เห็นถึงชาติกำเนิดหญิงสาวคนนั้น เขาเขียนสีกึ่งแบนๆแล้วตัดเส้นรูปทรงหญิงสาวภายนอก ตอนหลังจึงรู้ว่าเขาเขียนออกมาหน้าเป็นคนอิตาลีเพราะมันอยู่ที่อิตาลี ถ้าอยู่เมืองไทย เราก็เขียนสาวไทย

“ในช่วง 2-3 ปี ผมต้องวางแผนว่าจะเขียนอะไร เขียนทิวทัศน์เราก็เขียนได้เฉพาะหน้าร้อน หน้าหนาวเขียนไม่ได้จะหนาวตายผมเขียน Abstract ผมก็ทำในยุคนั้นจนได้รับรางวัลแห่งชาติ ตอนนั้นชื่อเสียงในสังคมที่เมืองไทยของผมเริ่มดังพอสมควร พวกAbstract ผมจะทำที่ไหนก็ได้ แต่เมื่อผมมาถึงที่นี่แล้ว ได้มาเห็นเลือดเนื้อของเขาแล้ว ทำไมเราไม่ทำล่ะ นี่คือที่มาของการเขียนบอตติเชลลี ยุคเรอเนซองซ์ เพื่อได้เรียนรู้เรื่องรูปร่างความงาม ผ่านความรู้สึกที่ดีงามของเรา ฝีมือเราจะได้พัฒนา เพราะการเขียนนู้ดนั้นยากที่สุดในกระบวนการเขียนถึงความมีชีวิตและสัดส่วนของมนุษย์ จึงเลือกเอานู้ดมาเพื่อพัฒนาฝีมือเรา

“แล้วทำไมต้องเขียนสีชอล์ก เพราะสีน้ำมันมันแห้งช้ากว่าจะทำเสร็จเราต้องพัฒนาความคิดเรา การเขียนนู้ดจะพัฒนาในหลายๆอย่าง ผมก็เขียนสีชอล์กกึ่งวาดเส้น กึ่งผสมสี วันหนึ่งผมวาดได้ 2 รูป บางวัน 3 รูป พอขึ้นปี 2 ผมก็เรียนอีกคอร์สหนึ่ง ก็จะมีนางแบบอีกชุดหนึ่ง ผมจึงได้ความรู้ 2 ชั้น อีกทั้งสิ่งแวดล้อมที่ผมเรียนอยู่ มันมีแต่หอศิลป์เต็มไปหมด วันหนึ่งผมตื้อๆ มึนสมองผมก็หลบไปมิวเซียม ไปดูโมเดิร์นอาร์ต เมื่อกลับออกมาจากหอศิลป์ เราก็จะได้พลังกลับมา ฉะนั้นอัตลักษณ์ผมจึงไม่มีเลยเพราะผมพัฒนาสร้างสรรค์ไปเรื่อยๆ ผมไม่ยึดติดกับสไตล์ มันจะมีฝีมือของผมบ่งบอกไปทุกที่

“จากนู้ด ผมพัฒนาไปผสมผสานสี ผมเขียนนู้ดที่อิตาลีเยอะมาก เพื่อนๆ ส่งงาน 15 ชิ้น ผมส่งถึง 200 ชิ้น ผมเขียนทุกวัน ผมเขียนที่โรม เขียนที่ฟลอเรนซ์ เขียนวีนัส ผมมองไมเคิลแองเจโลเป็นก้อนเมฆ ผมก็รวบรวมเขียนทุกอย่างที่ผมชอบใส่ลงไปในเฟรม แล้วมาจัดองค์ประกอบเข้าด้วยกัน ผมก็นั่งเพ้นท์เป็นภาพตำนานการสร้างโรม เอารูปหมาป่ามาใส่ เอารูปดอกกุหลาบ มาจัดวาง ทุกวันนี้รูปนี้ยังอยู่ข้างกายผมตลอด รูปนู้ดก็เช่นกัน ผมเขียนจากเส้นเดียว แม้หุ่นนางแบบนั่งพักอิริยาบถ ผมก็ยังเขียนต่อถ้าไม่ทำมากกว่านี้ จะเขียนเส้นเดียวไม่ได้ ผมเขียนโดยไม่มีการร่างก่อน เขียน เส้นเดียวหมด พัฒนาเทคนิคมาสู่การกรีดแล้วมาประทับใจรอยเหี่ยวย่นเพราะเราเริ่มสนุก

“จากนั้นผลงานของผมพัฒนามาสู่สี ผมมาเรียนที่นี่ ผมได้ปัญญามาจากเขา สุดท้ายผมเบื่อรูปแบบจึงเปลี่ยนมาเป็น Abstractเอาสีสันต่างๆ มากึ่งเซมิ Abstract เกือบจะหลุด งานพวกนี้มีพื้นฐานมาจากนู้ดทั้งนั้น”

บนวิถีแห่งปรัชญา

“งานทุกอย่างที่ผมเขียน จะใช้ธรรมะเข้าไปทั้งหมด ภาพแต่ละภาพจึงมีพลัง อย่างงานที่ได้รับรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติเกือบทั้งหมดผมใช้ธรรมะเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นงานดรอว์อิ้ง โรยทราย เพ้นติ้ง เขียนสีน้ำ บางครั้งผมเขียนท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ 0 องศา เป็นไข้ไป 10 วัน เพราะเขียนรูปสีน้ำมาตลอด 10 วันที่เวนิช งานของผมจึงพัฒนารูปแบบไปตลอด เพราะความประทับใจมันยังอยู่ มันเหมือนเป็นฤดูกาลในแต่ละวัน วิถีชีวิตของแต่ละคน มันไม่เหมือนกัน มันจึงเกี่ยวข้องกับเรื่องของปรัชญา มีสุขมีทุกข์คละเคล้ากันไป มีพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก มีแสงแดดในแต่ละวันมีความเหงา ความว้าเหว่ จนกระทั่งความว่างเปล่า

“เมื่อพูดถึงสีน้ำ หลายคนบอกว่าผมเป็นสีน้ำตัวจริง เวลาไปเขียนภาพชายหาด ท้องทะเลมันมีขยะเยอะ แต่เราเห็นเป็นความงามไปหมด ผมจะสอนลูกศิษย์ผมโดยผมจะทำให้เขาดู ฉากสีชมพูมันไม่เห็นแต่อาศัยความรู้สึกที่เรามองจากตรงนี้ ทำไมจึงเขียนแม่น้ำลำธารเป็นสีแดง เพราะพลังความรู้สึกที่ออกมาให้เราเห็นว่า ธรรมชาติมันไม่จำเป็นต้องสีเขียวเสมอไป เราเห็นแสงออกมาเพื่อให้เห็นมิติ มันเป็น Semi Abstract

“ช่วงหลังก่อนเกษียณ ผมใช้ฟองน้ำเขียนโดยไม่ใช้พู่กัน บางครั้งใช้ลูกกลิ้งสีลงไปก่อน อย่างภาพแหลมพรหมเทพ ผมมองเหมือนพรหมที่ไม่ได้เห็นด้วยตาธรรมดา แต่เห็นจากตาแห่งความคิด เราต้องสร้างแรงบันดาลใจสีสันมันออกมาจากดำเป็นขาวได้ดำเป็นแดงได้ ดำเป็นชมพูได้ เรากลับค่าสีได้ มันมีธรรมะอยู่ในตัว อาจารย์เฟื้อ ท่านสอนจิตรกรรม ท่านจะให้ความสำคัญกับการใช้สีเป็นพิเศษ มีกฎเกณฑ์เฉพาะตัว เช่น ห้ามใช้สีดำ เพราะจะทำให้สีที่ระบายหรือผสมด้วยสีดำไม่สดใส ให้ใช้สีเข้ม เช่น สีUltamatine Blue หรือสี Cobalt Blue แทน

“ศิลปะมันก่อให้เกิดคุณค่ากับชีวิตที่งดงามทั้งหลาย แต่จะผิดยุคก็ไม่ได้ เพราะยุคนั้นมันสะท้อนถึงรสชาติเชิงราคะตัณหา ศิลปะจึงสอนให้เป็นคนดีด้วยผลงาน สีที่ผสมผสาน ศาสนาสอนให้เราเป็นคนดีด้วยบทบัญญัติด้วยศีล ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มสุรายาเมา สร้างคนเป็นคนดีด้วยภาษา ด้วยคำสอน แต่ถ้าพูดถึงมิติอย่างยุคแวน โก๊ะเองนั้น เขาขายรูปไม่ได้เลย เขาไม่ได้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการขายรูปได้ แม้ชีวิตเขาจะลำบาก แต่หัวใจของเขามีความสุข”

ลิ้มรสทางปัญญา

“ผลงานของผมจึงมีหลากสไตล์ แต่ถามว่ารูปแบบๆ นี้เคยเห็นจากที่อื่นไหม ไม่เคย เพราะมันเป็นรูปแบบของผม แล้วทำไมผมไม่ทำแบบเดิมไปตลอดชีวิตล่ะ มันก็เปรียบเหมือนกับการกินอาหารในแต่ละมื้อ อาหารหลายอย่างอร่อยทุกอย่าง เรื่องของอาหารก็เป็นศิลปะ แต่เป็นศิลปะที่ให้รสชาติแก่ชีวิต แก่หัวใจด้วยการลิ้มรสของลิ้น แต่ทว่าศิลปะเราลิ้มรสทางปัญญา ทางใจ

“ชีวิตคนเราเกิดมามีอยู่ 3 อย่างเป็นส่วนใหญ่ คือ หนึ่ง ร่างกาย สอง ปัญญา สาม จิตใจ เด็กๆ จะต้องพัฒนา 3 อย่างไปพร้อมๆกัน ถ้าเด็กมีร่างกายที่เติบโตอย่างเดียว วุฒิปัญญาไม่เกิด ไม่มีการศึกษา เขาก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกได้ มันเป็นไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ แต่เมื่อเด็กมีความคิดทั้งสองอยู่ จิตใจดี สติปัญญาดี แต่ไม่มีจิตใจที่งดงาม มันก็เหมือนสภาวะจิตใจบกพร่อง เหมือนเหตุการณ์ของคนไทยในยุคปัจจุบันนี้ เพราะเราโตเพียง 2 อย่าง จิตใจของเขาไม่ได้โตตามไปด้วย คนที่ฉลาดกว่าคนอื่นแต่จิตใจไม่ดี สังคมจึงอยู่ไม่ได้

“อาจารย์กมล ทัศนาญชลี เคยเชิญผมไปทำเวิร์คช็อปที่สหรัฐอเมริการ่วมกับศิลปินนานาชาติ ผมพบปะศิลปินซีกโลกตะวันออกและตะวันตก อันเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะเชื่อมโยงเผยแพร่งานศิลปะร่วมสมัย จากนั้นก็พาไปแกรนด์แคนยอน ผมเขียนชุดแกรนด์แคนยอนกว่า 100 รูป ผมเขียนสดๆ ที่โน่น ใครจะเขียนอย่างไรก็แล้วแต่ หรือเราไปดูมาแล้วกลับมาเขียนที่บ้านก็ได้ศิลปะไม่จำเป็นต้องเขียนสดตลอด จำเอามาก็ได้ เพราะเราไม่ได้ไปก๊อบปี้ธรรมชาติ แต่การได้เขียนสดๆ จากธรรมชาติ มันได้ความรู้สึกสั่นไหว ความสั่นสะเทือนอารมณ์ ผมจึงนำเอาตรงนั้นมาใส่ในงานใหม่ เมื่อเดินดูมันมีรถวิ่งผ่าน ผนวกกับกาลเวลา องค์ประกอบเปรียบเสมือนกับโขดหินยามเย็นโพ้ลเพ้ล ที่มีแสงสีทองส่องฟากฟ้าหรือยามที่ฝนตกฉ่ำ ก้อนหินก็ดำมืดทะมึน แล้วมีแสงฟ้าแลบออกมาปรากฏซึ่งมันมีมิติแห่งความฝัน ผมทำเป็นรูปสีน้ำที่ใหญ่มากแสดงในงานศิลปกรรมแห่งชาติ

“แม้แต่งานชุด สภาวะสุนทรีย์ ก็ไม่เคยมีใครทำมาก่อน มันเกิดจากสิ่งต่างๆ ที่พานพบในปีก่อน ขณะที่ทำมัน ไปเจอส่วนที่อยู่ข้างในเป็นสิ่งที่สวยงามเยอะ มันเหมือนมีรูปซ้อนรูปอยู่ แต่สภาวะที่อยู่ข้างในมันสวย แล้วทำไมเราต้องหาอะไรมาบังหน้าอีกทำไมมันจึงเป็นเรื่องราวจากยุคหนึ่ง มาสู่อีกยุคหนึ่งตลอด ผมจึงปล่อยมาทำอย่างอื่น พร้อมกับนำเอาพลังสภาวธรรมมาใส่มันเข้าไปเป็นพลังของโลกที่มันดีดดิ้นเข้ามาขนาดนี้ ถ้าเผื่อเราเทสีไม่เป็น เทเฉยๆ มันก็จะไม่เกิดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเราไม่มีองค์ประกอบศิลป์อย่างนี้ มันจะลื่นไหลมาเป็นจังหวะเล็ก จังหวะใหญ่ จังหวะละเอียดละเมียดละมัยอย่างนี้ได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีองค์ความคิด

“ผมทำงานชุดนี้เหงื่อแตกท่วมตัว น้ำหนักลดจนพ่ายผอมเพราะเราต้องสะบัด เหวี่ยงเฟรมขึ้นหัว บิดซ้าย บิดขวา กระชาก มันไปไกลเกินกว่าที่เราจะใช้พู่กันเขียนเป็นสีสัน มันเป็นเหมือนคลื่นพลังมหาศาล พลังเทพเจ้าแห่งศิลปะต้องเข้ามาแล้ว ผมอันเชิญองค์พระพิฆคเณศวร องค์ท้าวจตุคารมรามเทพ ก่อนทำงานผมก็จะนั่งทำสมาธิก่อนผมภาวนาอันเชิญเทวดามาปรากฏเป็นพยานที่เราได้ทุ่มเทงานของเราเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะในแผ่นดินนี้ จาก 2 มือหลายๆ ดวงใจ จากคนๆ เดียว จึงกลายเป็นว่างานแนวนี้ งานชิ้นนี้ สมัยนี้และเวลานี้เป็นเวลาๆ ไป ใครที่ยึดมั่นกับตัวเองอยู่กับเวลาหรือแนวทางเดียวตลอดทั้งชีวิตที่ผ่านมาก็ขอให้บรรลุเป้าหมายของเขา

“นั่นเป็นอีกเวทีหนึ่ง แต่เวทีเราไม่ใช่ตรงนั้น มันเหมือนกับแนวทางใครแนวทางมัน ผมเบื่อง่ายหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่ในเมื่อผมพบอะไรใหม่ๆ จากความประทับใจอะไรต่างๆ มันอาจจะเกิดขึ้นคนละแนวในแต่ละวันเวลา มันมาจากความรู้สึกข้างในที่เราทำมันปรากฏออกมาจากงานทั้งหมด สีมันจึงสวยองค์ประกอบมันดี แต่ถ้าเราขยับเหวี่ยงสีไม่เป็น เราให้พลังไม่ได้ มันก็จะไม่เป็นรูปบางวันจิตใจไม่นิ่งพอเหวี่ยงเสียก็มี หรือการผสมน้ำแล้วสีเหนียวไม่ได้ที่ เหลวเกินไป เหนียวเกินไป งานก็ออกมาไม่ได้ แต่ละชิ้นไม่ใช่น้อยๆ

“ฉะนั้นการเริ่มต้นของผม จะต้องย้อนจากข้างหลังเข้ามา จากการเหวี่ยงสี จึงเพิ่มเติมด้วยแนวทางเอาสีเข้ามาพาดตามลักษณะที่เป็นส่วนตัว แนวความคิดที่เราพุ่งกระจายไปสู่ตรงนี้ ขั้วนี้ ถ้าเกิดปีนี้ยังทำอย่างนี้อยู่ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว เราต้องเปลี่ยนแปลงตลอด เพราะมันจะได้พัฒนาความคิดไปด้วย เราได้เห็นสี ได้ตกแต่งมันบ้าง เอาตรงนั้นมาเสริมบ้าง นำมาพ่นสี นำมาเขย่าสีเหวี่ยงสีของเราไปเรื่อยๆเป็นเฟรมไปหมดแล้วเอามาใส่เฟรมใหม่ ผมจึงทำเฟรมเอง”

ย่อโลกทั้งใบมาไว้ในมือ

จากการสังเกตผลงานล่าสุด สภาวะสุนทรีย์ เป็นรูปลูกโลกขนาดใหญ่ทั้งใบทำด้วยบอลลูน ออกในแนวแฟนตาซีนั้นต้องการสื่อให้เห็นถึงอะไรแฝงอยู่

“งานนี้เป็นการย่นระยะเวลาย่อโลกเป็นของผม แล้วผมก็จะนำเอาของเล่นที่ซื้อแถวพาหุรัด มาใส่บนโลกเป็นองค์ประกอบของเราวางรูปทรงไปตามนี้มันจึงผสมกันเป็นหนึ่งเดียว เราต้องการสื่อให้เห็นถึงความงามที่มันมีทุกหนทุกแห่งในโลก ความงามมันมีอยู่ในสรรพสิ่งทั้งหลายที่มันปรากฏ แต่ถ้าเรามองผ่านไปมันก็จะไม่เห็นความงาม แม้แต่ท้องฟ้า ต้นไม้ที่มีอยู่ประจำวันก็งดงาม แต่เราละเลย ในขณะที่เราขาดความสุขหรือเครียดเพราะเราไม่ดูมันเลย ของที่เขาทำมามันจึงไม่งามไปหมด

“เมื่อนำงานที่ทำมาผสานกับความงามในหัวใจของผม ผลที่ได้มันก็ยิ่งดับเบิ้ลเข้าไปอีก นั่นคือการผสมในโลกแห่งความงามอย่างที่ผมนำรถบัสมาแล้ว ผมก็จะมีกองทหาร มีปืน แล้วมีเพลิงไหม้ มีไฟลุกท่วมในวันสงกรานต์วิปโยค ผมนำเอาเหตุการณ์บ้านเมืองมาเป็นความงาม ต้องทันสมัยตลอดเวลา (หัวเราะ) มันมีอะไรอยู่บนโลกมากมายเอามาสร้างเป็นงาน นำทหารไปผสมผสานด้วยแต่ถ้าไม่ได้พูดคุยก็จะดูไม่ออก อย่างมีฝูงเครื่องบินบินไปประเทศดูไบ เราแฝงอะไรเข้าไป มีการลงสีหนักบ้าง เบาบ้าง เรามีหมดทั้งตะหลิว กระทะ หอไอเฟล เสือ สิงห์ กระทิง แรดเป็นเฟรมไปหมดในโลกนี้ยิ่งใหญ่ยิ่งมันผมสร้างสรรค์งานจนไม่มีที่จะเก็บผลงาน เพราะมันใหญ่มาก

“ผมทำงานนี้ผมก็ประกาศให้ประชาชนมาช่วยกันทำเวิร์คช็อปกับผมวันหนึ่งที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯเมื่อกลางปีที่แล้วปรากฏว่ามีผู้คนมากันเต็มเลย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาช่วยกันติดช่วยกันแปะ น่ารักมาก เมื่อถึงวันแสดงผลงาน ผมจึงแต่งชุดแฟนตาซี ใครเห็นก็หัวเราะ บางคนยิ้มๆ มันเป็นความสนุกบวกกับความงามของความสุข โดยมี ฯพณฯ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ศิษย์เก่าโรงเรียนศิลปศึกษา มาเป็นประธานพิธีเปิดนิทรรศการศิลปกรรมเดี่ยว มันมีทั้งกลิ่นอายของความเป็น 3 มิติ ผมวางฟอร์มทำโครงสร้างเสร็จผมก็พอใจแล้ว

“เมื่อเราทำมาถึงจุดนี้ เราอยากจะทำชิ้นที่มันใหญ่มหาศาล ผมจึงสร้างหอไอเฟล หอเอนปิซา นำตัวการ์ตูนยอดมนุษย์ ไอ้มดแดงแม้กระทั่งตึกทันสมัยในประเทศดูไบ เครื่องบินโดยสาร เครื่องบินรบ เนื้อหาเรื่องราวได้จากความคิดใกล้ตัว จากเทคโนโลยี จากการค้าเสรี จากสื่อนานาชนิดหลายอย่างรวมกันเรียกว่า “วัฒนธรรมสังคมยุคใหม่” ทำให้ผมประทับใจกับสรรพสิ่งของสีสัน ความน่ารัก น่าเอ็นดูในของเล่นเด็ก ดูแล้วบริสุทธิ์ สนุกสนาน เร้าใจ มีชีวิตชีวาอย่างมาก ผมละเลงสีทุกอย่างลงบนโลกผมใช้สีราด ผมก็คิดของผมว่าผมเป็นมนุษย์ตัวน้อยๆ ก็สามารถเยาะเย้ย ถากถาง ทำเรื่องของผมได้ ที่สหรัฐอเมริกาเขาใช้คริสตัลหุ้มห่อระหว่างตึก แต่ของผมนำมาห่อหุ้มโลก มันจึงเกิดโลกแห่งสภาวะสุนทรีย์ หากเรารู้จักมอง รู้จักค้นหา มันก็จะเกิดความงามขึ้น วันเปิดงานแสดงจึงฮือฮามากเมื่อไปดูงานของผม ผู้คนก็จะหัวเราะกันแล้ว แต่หากสังเกตในรายละเอียดของเล่นแต่ละชิ้น มีการลงสีที่สอดประสานกัน สะท้อนให้เห็นถึงความงาม มันเป็นความในใจที่นำโลกทั้งใบมาอยู่ในมือ เพื่อเป็นการถ่ายทอดความงามเป็นจุดประสงค์ใหญ่ ต่อไปอาจจะมีงานของผมเป็นบอลลูนลอยอยู่บนฟ้าก็ได้”

ท่ามกลางรัตติกาลของวิถีธารแห่งการสร้างสรรค์ศิลปะ