สุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์

สุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์

1.จักรยาน LA Bicycle เจ้าของสโลแกน “เท่ถึงใจ สไตล์อเมริกัน” คือแบรนด์ที่คุณสุรสิทธิ์สร้างมากับมือ โดยการตั้งชื่อให้สั้นและง่ายต่อการทำความเข้าใจ เขาได้ไอเดียมากจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการแข่งขัน Mountain Bike Down Hill โดยที่ Los Angeles นั้นจะมีเทือกเขาที่ชื่อ Rocky Mountain เขาก็เลยใช้ชื่อ LA เป็นแบรนด์ของจักรยานมาจนถึงทุกวันนี้

 

“ก่อนหน้านั้นผมเคยร่วมทุนกับนักธุรกิจชาวไต้หวันทำจักรยาน แต่พอปี 2540 เศรษฐกิจไม่ดี เขาถอนหุ้นไปหมด ผมก็คิดจะทำจักรยาน LA ขึ้นมา เพราะช่วงนั้นมันมีแต่โรงงานเล็กๆ แล้วผลิตภัณฑ์เจ้าอื่นๆ ก็มีจำนวนจำกัด ครั้งแรกเราเอาแฟชั่นต่างๆ จากธุรกิจที่ผมมีในตอนแรกคือสิ่งทอ มาใส่ในจักรยานได้ เพราะสมัยนั้นจักรยานก็มีแค่สีดำกับสีน้ำเงิน สีเหลืองก็มีน้อย ไม่มีใครกล้าทำออกมา รุ่นก็จำกัด ส่วนใหญ่เป็นแนวแม่บ้าน ไม่ค่อยมีแบบบีเอ็มเอ็กซ์

 

“ผมคิดว่าเราเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มามอบให้ วันแรกออกตลาด เราก็บอกว่าเราเอาของดีมาขาย ราคายุติธรรม เป็นเจ้าแรกที่มีประกันเฟรมให้ 2 ปี จักรยานบางยี่ห้อไม่กี่เดือนสีก็ซีดลอก เพราะใช้สีไม่มีคุณภาพ ของผมต้องมีมาตรฐานสูงกว่าอียู สีต้องทนมากกว่า 5 ปี ผมเอาเข้าเครื่องทดสอบสเปรย์แบบเกลือ หมายถึงว่าสามารถทนน้ำเค็มได้ 430 ชั่วโมงหรือ 18 วัน เราต้องทดสอบให้ผ่าน สีของเราดี เรามั่นใจ เราก็เอาสีแบบนี้มาใส่ในจักรยาน แล้วทำมาตรฐานเดียวทั่วโลก

 

“เราสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ในประเทศ ไม่ใช่ว่ามาหลอกกันเอง ผมมีปรัชญาว่าจะไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ผมถือว่าผู้บริโภคคือผู้ที่มีพระคุณกับผม ฉะนั้นที่คนบอกว่าจักรยาน LA ทน ก็เพราะเราไม่ได้ลักไก่ เราทำตามมาตรฐานอียูตลอดเวลา แล้วอีกอย่าง เรากล้าเปิด LA Shop เพราะเราครบเครื่อง และเราก็มีมาตรฐานการส่งออก เขาดูแม้กระทั่งจักรยานเด็ก ถ้าเด็กก้มลงไปกัดแฮนด์แล้วสีถลอกเข้าปาก สีนั้นมีสารพิษหรือเปล่า จะมีการขูดเอาไปตรวจสอบด้วย ฉะนั้นการผ่านมาตรฐานอียูมันไม่ใช่ง่่ายๆ คนไทยชอบบอกว่าของแพง แต่ไม่เคยถามถึงมาตรฐาน

 

“เราซื่อสัตย์กับผู้บริโภค เราทำทุกอย่างตามมาตรฐาน คำว่าซื่อสัตย์ก็คือ เรามีทั้งหมดราคาเท่าไหร่ในรุ่นนี้เราก็บอก คือให้ผู้ใช้มีโอกาสเลือก แต่ละรุ่นดียังไงเราก็บอก ผมกำลังจะบอกว่าเราใส่ใจ ใส่ความซื่อสัตย์ทุกอย่างลงมาในผลิตภัณฑ์ของเรา ไม่ยอมให้เกิดการลักไก่ ไม่เสียเบี้ยบ้ายรายทาง มันไม่ดี หรือเรื่องของมาตรการเพื่อสิ่งแวดล้อม เราก็ไม่สร้างมลภาวะ เพราะเราไม่มีน้ำเสีย มีค่าน้ำนู่นนี่เล็กน้อย ขนาดฝรั่งยังมาถ่ายรูปเลย” 

 

2.นอกจากเรื่องของโรงงานผลิตจักรยานได้มาตรฐานแล้ว บริษัท LA Bicycle (ประเทศไทย) จำกัด ยังทำธุรกิจที่เรียกว่าแทบจะครบวงจรของอุตสาหกรรมจักรยานเลยก็ว่าได้ เช่น ผลิตและจำหน่าย ส่งออก นำเข้า ซื้อแบรนด์ดังเข้ามาทำการตลาด และยังมีการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ที่สำคัญยังมีการผลิตจักรยานไฟฟ้าออกมาด้วยนวัตกรรมจักรยานไฟฟ้าอัจฉริยะ “LA E-RIDE” ซึ่งมีสมองกลคล้ายกับระบบไฮบริดของรถยนต์เลยทีเดียว

 

“ถ้าเป็นไฮบริดของรถยนต์จะมีไฟฟ้าผสมน้ำมัน เวลาปกติคือไฟฟ้า แต่พอเหยียบคันเร่งมากก็เปลี่ยนเป็นน้ำมัน แต่ของเราไฟฟ้าจะจ่ายออกมาก็ต่อเมื่อมีคนถีบจะมีการส่งสัญญาณไปที่เซ็นเซอร์ จ่ายมาที่สมองกล ถ้าขี่ไปเรื่อยๆ ไฟฟ้าก็จะเข้ามาช่วย เราจะออกแรงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ พอเราขึ้นเนินสูง เซ็นเซอร์จะช่วยผลักพลังให้เพิ่มมากขึ้น ถ้ามีการแตะเบรกไฟฟ้าจะตัดหมดเลย แล้วเราควบคุมความเร็วไว้ทีไม่เกิน 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าความเร็วเกิน ไฟฟ้าจะตัด นอกจากจะปั่นเร็วกว่าเท่านั้นเอง เราใช้คอมพิวเตอร์สมองกล 32 บิท เร็วที่สุดในโลก หน้าปัดก็เหมือนรถยนต์ที่สามารถใส่สมาร์ทโฟนลงไปได้ จะกดเพลงฟังก็ได้ มีโทรศัพท์มาก็รับสาย

 

“เวลาเอารถเข้าไปในอู่ รถเราใช้ระบบคอมพิวเตอร์เอาไว้ตรวจสอบ เราจึงเรียกว่าระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ มีสายไฟฟ้าเส้นเดียว มีปลั๊กเสียบแล้วจะบอกหมดเลยว่าแบตเตอรี่อ่อนหรือไม่ ตอนนี้เราได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ไปแล้วทั่วโลก ปัจจุบันเราส่งออกไปที่เยอรมันกับสแกนดิเนเวียด้วย”

 

การทำผลิตสินค้าอะไรสักอย่างหนึ่ง นอกจากเรื่องของต้นทุนและมาตรฐานการผลิตแล้ว เรื่องของคู่แข่งก็มีความสำคัญไม่น้อย เพราะคู่แข่งในการส่งออกนั้นมีมากเป็นเท่าตัว นอกจากองค์ประกอบหลักอย่างคุณภาพของสินค้าและบริการที่ต้องดีไว้ก่อน เรื่องของการวางแผนการตลาดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับธุรกิจนี้

 

“ต้องพูดว่าสภาพสังคมค้าขาย ณ ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ทุกประเทศฟรีสไตล์ อยากจ้วงอะไรก็จ้วง ช้าเร็วก็เรื่องของคุณ แต่หนึ่ง คุณต้องพัฒนาคุณภาพสินค้า สอง ราคา และสุดท้ายคือการบริการ เช่น ส่งของเร็วกว่าคนอื่นไหม ตรงเวลาไหม เบี้ยวเขาบ่อยไหม แต่ถ้าข้อที่สามไม่ดี เบี้ยวเขาตลอด ต่อให้สองข้อแรกดี ฝรั่งเขาก็ไม่เอา เพราะเขาถือเรื่องเวลามาก อย่างเขาอีเมลมาถาม แล้วสามวันหกวันเราไม่ตอบ เขาวิ่งหนีเลย เขาถือว่าบริษัทนี้ใช้ไม่ได้

 

 “สำหรับผม คู่แข่งของผมก็คือตัวผมเอง ถ้าเราหยุดพัฒนาเมื่อไหร่ เราก็จะถอยหลังเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น เราต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับโทรศัพท์มือถือสมัยก่อนมันใหญ่ นำ้หนักเยอะ ต้องเช่า ถ้าจะซื้อก็ราคาเป็นแสน ไม่มีอะไรเลย มีแต่โทรออก รับสาย ไม่โชว์เบอร์ด้วยนะ ปิดเสียงก็ไม่ได้ ยกหูมาหนักก็หนัก แต่พอไม่กี่ปีผ่านมา คนละเรื่องเลย เพราะฉะนั้นเราต้องไม่หยุดพัฒนา คนเราอย่าไปกลัวว่าใครจะมาแซงเรา เราต้องถามตัวเองว่าเราทำร้ายตัวเองหรือเปล่า ผมชอบบอกลูกน้องเสมอว่าการทำร้ายตัวเองก็คือ การที่ไม่พัฒนา ไม่ยอมมองตัวเองว่าตัวเองอยู่ตรงไหน ผมชอบใจคำขวัญของบริษัทไต้หวันบริษัทหนึ่งมาก เขาบอกว่าต้องทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน ต้องทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้” 

 

3.ไม่ใช่แต่เพียงความสำเร็จของเขาที่เกี่ยวกับจักรยาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีอีกหลายบริษัทและหลายธุรกิจที่เขาดูแลอยู่ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ วงการธุรกิจอุปกรณ์วิทยาศาสตร์และห้องวิจัย วงการอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ที่เขาให้ความสำคัญเป็นหลักก็คงเป็นเรื่องของวงการสิ่งทอและจักรยานที่สร้างมูลค่ารวมหลายพันล้านบาท มาถึงวันนี้เขามาไกลเกินกว่าที่คาดหวัง จากอดีตเด็กชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในย่านสำเพ็ง ต่อสู้ความลำบากมากับครอบครัว ได้ผ่านประสบการณ์ต่างๆ หลายอย่างที่น่าจดจำ

 

“สมัยผมเรียนหนังสือ เด็กๆ ผมอยู่ที่สำเพ็ง เลิกเรียนก็ต้องมาช่วยพ่อมาลงผ้า แค่ 100 มัดก็ไม่มีที่เก็บแล้ว เพราะบ้านเราแคบ ไม่มีโกดัง พอ 3-4 โมง รถมาส่ง ไม่เกิน 1 ทุ่มเราต้องเอาไปส่งต่อให้หมด ผมรู้อยู่แล้วว่าเราจะต้องกลับมาช่วยที่บ้าน ไม่มีใครสั่ง

 

“ผมเรียนที่โรงเรียนเผยอิง โรงเรียนสีตบุตรบำรุง แล้วไปเรียนต่อที่ปีนัง แต่ปีนังไม่มีมหาวิทยาลัย ผมได้ไปเรียนภาษาจีนใหม่อีกรอบ ผมไปอยู่ปีนัง 3 ปี ได้ภาษาจีนและภาษาอังกฤษ เพราะที่นั่นสมัยนั้นเขาพูดกันแค่ 2 ภาษา ตอนอยู่ที่ไทยเราก็ไม่ได้เรียนเก่งอะไร แต่โชคดีที่พอเรากลับมาแล้วได้ติดต่อกับนักธุรกิจไต้หวันอยู่ตลอดเวลา ผมเลยพูดจีน อ่านออกเขียนได้ ภาษาจีนกลางพูดได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์

 

“พอผมบอกกับพ่อว่าอยากจะไปเรียน พ่อก็ให้ไปเลย พ่อบอกว่าพ่อมีหน้าที่ส่งเสีย ส่วนผมมีหน้าที่เรียน ผมก็เอาคำสั่งสอนมาใช้จนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องเรียนเป็นเรื่องของผม เรียนให้ดี อยากเรียนอะไรเรื่องของคุณ ถ้าไม่ดีแล้วอย่ามาโทษกัน เพราะลูกผมชอบมาถามว่าป๊าจะเรียนอะไรดี ผมก็บอกว่าชอบอันไหนก็เรียนอันนั้น แล้วหลังจากนั้นไม่ต้องมาโทษผม บางคนชอบบังคับลูก ลูกก็ไม่อยากเรียน ผมบอกอยากเรียนอะไร เรียนไปเลย เพราะคนเราถนัดไม่เหมือนกัน ถึงอยากจะให้เขามาค้าขาย แต่บางทีคนเรามันก็บังคับชีวิตกันไม่ได้

 

“หลังจากเรียนจบที่ปีนัง ผมก็กลับมา ช่วงนั้นคุณพ่อผมอยากจะทำโรงงานทอผ้า แต่เงินก็ไม่ค่อยมี 
แบงค์ก็ไม่ปล่อยกู้ ก็ต้องมาหาโรงงานเก่าๆ มีที่ดินอยู่ 3 ไร่ มาทำโรงทอผ้า ผมมาอยู่ที่อ้อมใหญ่ปี พ.ศ. 2510 ก็นั่งรถเมล์มา ผมยังจำได้ออกจากวงเวียนใหญ่ก็มืดตลอด มีสว่างนิดหน่อยที่บางแคเท่านั้น

 

“มาถึงตอนนี้หลายๆ คนคงถามว่าทำสิ่งทอแล้วมาจักรยานได้ยังไง ผมถือว่าเราขับรถเราจะไปไหนก็ได้อย่าทำให้ผิดกฎหมาย น้ำมันต้องพร้อม รถต้องอยู่ในสภาพดี ถ้าคุณทำธุรกิจผิดกฎหมาย ผมไม่ทำ คลุมเครือ สีเทาก็ไม่เอา พอไม่เอาพวกนี้ เราจะทำอะไรก็ได้แล้ว”

 

แม้จะผ่านประสบการณ์การทำงานมาอย่างโชกโชน แถมยังประสบความสำเร็จในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของจักรยานที่มีแนวคิดดีๆ ถ่ายทอดออกมาให้คนรุ่นหลังได้ฟัง แต่ธุรกิจที่เขาไม่สามารถถอดออกจากใจได้เลยคือเรื่องของสิ่งทอ เพราะเป็นธุรกิจที่เขาต่อสู้กับความยากลำบากมาตั้งแต่แรกเริ่ม

 

“เราเกิดมาจากอะไร ต้องรู้กำพืดของตัวเอง มีผู้ใหญ่ในวงการสิ่งทอตอนนี้อายุ 80 ปีได้แล้ว เขาถามว่าเมื่อไหร่จะพักผ่อน ผมบอกไม่เห็นเสียหายตรงไหน ทุกวันนี้ผมก็ไปช่วยเขา ใครมีปัญหาก็มาปรึกษา ผมก็ช่วยเขาคิด ใครประสบปัญหาแบบเรา เราก็ช่วย มันเปรียบเหมือนมีดน่ะ ถ้ามีดเก่าอยู่เฉยๆ สนิมก็เขรอะ ไม่มีประโยชน์ มันต้องลับอยู่ตลอดเวลา การลับก็คือ ช่วยคนนู้นคนนี้คิด เพราะฉะนั้นผมก็เลี้ยงลูกหลาน พนักงานไม่ทิ้งหรอก เพราะผมถือว่าผมเป็นคนถือหางเรือ คนพายเรือก็พายไป เราช่วยถือหาง

 

“เดี๋ยวนี้อะไรก็เริ่มเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่บางทีรับมือไม่ทัน อย่างเมื่อก่อนเกาหลีมาดูงานประเทศไทย เวียดนามมาดูงานประเทศไทย แต่อีกห้าปี เราคงต้องไปดูงานที่เวียดนามก็ เป็นไปได้นะ เพราะเขาขยันขันแข็ง เขารบมาสี่ห้าสิบปี เพิ่งจะมาหยุดรบเมื่อยี่สิบปีมานี่ เห็นมั้ยว่าเขาอดทนแค่ไหน คนไทยสบายจนเคยตัว อย่างเด็กรุ่นนี้ไม่เคยลำบาก พวกผมนะลำบากมาก่อน

 

“คนจีนสมัยก่อนสองคนเลี้ยงลูกสิบคน แต่สมัยนี้หกคนเลี้ยงเด็กคนเดียว หกคนมีใคร เหมาเจ๋อตุงให้มีลูกคนเดียวมานานแล้ว ฉะนั้นผัวเมียสองคนก็มีลูกคนนึง พ่อแม่เขาก็มีลูกคนนึง พ่อแม่ขึ้นไปอีกก็มีลูกแค่คนเดียว ก็ปู่ย่าตายาย หกคนเลี้ยงคนเดียว เพราะฉะนั้นเด็กคนเดียวจะเป็นคนดีได้ยังไง เพราะถูกโอ๋ เดินไม่เป็นแล้ว หกคนอุ้มคนละสองชั่วโมง วันนึงก็หมดแล้ว”

 

4.มาถึงวันนี้กิจการหลายๆ อย่างเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่เขาเองก็ไม่เคยลืมที่จะตอบแทนสังคม อย่างเช่นเรื่องของการทูลเกล้าฯ ถวายเงิน และสิ่งของในโครงการสำคัญๆ บริจาคเงินในการสร้างเขื่อนกั้นน้ำ สร้างโรงเรียน และอีกหลายสิ่งที่เขาภูมิใจ อย่างการเป็นประธานลูกเสือชาวบ้านรุ่นแรกของอ้อมใหญ่ หรือการเป็นผู้เสียภาษีเงินได้เป็นอันดับสองของจังหวัดนครปฐม

 

“บ้านเราคนสุขภาพแย่ ปีนึงๆ เราต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่าแสนล้านในเรื่องสุขภาพ ทำไมเราไม่สร้าง Bike lane เรามีเทศบาลเมือง อบต. อบจ. น่าจะออกเป็นข้อบังคับหรือขอความร่วมมือว่าทุกที่จะต้องมีงบในการสร้าง Bike lane เช่น ปีแรก 5 กิโล ปีต่อไป 2-3 กิโลก็ว่ากันไป อบต.เล็กๆ ก็กิโลนึง อบจ.ใหญ่ๆ ก็ต้องดูกันไป สิบปีให้มันจบ

 

“ทางไหนทำได้ก็รีบทำก่อน ทางไหนถนนแคบ ลำบาก ก็อย่าเพิ่งทำ สุดท้ายมี Bike lane เสร็จ แล้วตรงไหนอยากให้มันร่มก็ทำโครงเหล็กขึ้นมา แล้วปลูกไม้เลื้อยง่ายๆ พอปลูกเสร็จ 5 ปีให้หลังก็ร่มหมด ทุกคนก็อยากเดิน สร้างบรรยากาศดีๆ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ปีแรกลงทุนสร้างตรงนี้ ก็แขวนป้ายโฆษณาตรงนี้ สปอนเซอร์ต่างๆ ก็แขวนป้ายโฆษณาไป

 

“แค่มีคนขี่สัก 1 เปอร์เซ็นต์ก็หกแสนกว่าคนแล้ว ถ้าเขาสุขภาพดีขึ้นก็ใช้ยาน้อยลง ไปหาหมอน้อยลง รัฐก็เสียงบประมาณน้อยลง ประหยัดเงินได้ มันเป็นทางอ้อมหมด แล้วตีเป็นจำนวนเงินไม่ได้ สุดท้ายห้าปีสิบปีมาคูณเงิน จะเห็นภาพชัดเจน

 

“ตรงนี้ผมพูดเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อตัวเอง เพราะมี Bike lane ก็ไม่จำเป็นจะต้องซื้อจักรยานของผม ของใครก็ได้ แม้กระทั่งผู้เฒ่าผู้แก่เช้าๆ มาเดินเล่น แดดออกก็ไม่เป็นไร เพราะมันมีร่มเงาไม้ ดีที่สุดในโลกเลย

 

“LA Bicycle ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาแน่นอน เรามาแค่ 12-13 ปี แต่เราสร้างจักรยานไฟฟ้าได้ ผมอยากจะฝากบอกว่าวันหน้าไม่ว่าจะหนึ่งล้อ สอง สาม สี่ล้อ เราก็อยากจะเข้าไปดูแลผู้บริโภค ผมไม่กล้าบอกว่าผมจะสร้างรถยนต์นะ แต่ผมบอกทีมงานว่าสุดท้ายเราก็คงต้องทำถ้าเรามีเทคโนโลยีต่อไป”

 

Did You Know?

>> เพียง 15 ปีที่จักรยาน LA ได้กำเนิดขึ้น มีการส่งออกกว่า 15 ประเทศ และในประเทศกว่า 50 สาขา ตัวแทนจำหน่าย กว่า 150 ร้านค้า ในหนึ่งปีมียอดจำหน่ายกว่า 1 ล้านคัน สร้างมูลค่าให้กับประเทศหลายพันล้านบาท

>> จักรยาน LA ไม่ได้มีแต่จักรยานเด็กหรือแม่บ้านเท่านั้น แต่ยังมีจักรยานสำหรับคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ไปจนถึงนักกีฬา ราคาตั้งแต่พันกว่าบาทไปจนถึงหลักแสนบาท เป็นรายเดียวในประเทศไทยที่มีจักรยานให้เลือกครบวงจรอีกด้วย

>> คุณสุรสิทธิ์ ไม่ได้แขวนพระ แต่สิ่งที่ติดตัวเขาไว้ตลอดคือรูปคุณพ่อกับคุณแม่ ในวันที่เขาบริจาคเงินสร้างโรงเรียน สิ่งที่เขาขออย่างเดียวก็คือการใส่ชื่อคุณพ่อคุณแม่ลงในนามผู้สร้าง

>> เคล็ดลับการทำงานของเขาคือการไม่เอางานกลับไปทำที่บ้าน เพราะจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ถึงขนาดที่ว่าเขาขอร้องให้พนักอย่าเอางานกลับบ้าน เพราะอาจเป็นต้นเหตุของปัญหาครอบครัว

>> เทคนิคการดูแลหลายๆ บริษัทพร้อมๆ กันก็คือ การสร้างคนที่เก่งและดี

ในสภาวะน้ำมันขึ้นราคาทุกวัน เราควรทำอย่างไรกันดี?