ณัฐนลิน น้อยไม้
เธอคือณัฐนลิน น้อยไม้ ช่างภาพหญิงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการถ่ายภาพขาวดำ รวมทั้งการแต่งตัวและทรงผมที่ดูแล้วเป็นแนววัยรุ่นดูดีมีสไตล์ ที่ไม่น่าเชื่อก็คือตอนนี้เธอเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพอีกด้วย
“ครั้งแรกที่สอนหนังสือเนี่ย ยามเขาไล่เราไปจอดรถในฝั่งนักศึกษา เราก็จะโชว์บัตรว่าเป็นอาจารย์ หรือเวลาเข้าห้องเรียน เราก็จะเดินเข้าไปคุยกับเด็ก เขาก็คุยกันเรื่อยๆ จนเราบอกให้มาเริ่มเรียนกัน พวกเขาก็จะมองหน้าเราด้วยความตกใจ”
ในช่วงเริ่มต้นของการถ่ายภาพ ณัฐนลินเข้าเรียนการถ่ายภาพกับมหาวิทยาลัยรังสิตถึงสองครั้ง แต่ด้วยความที่ชอบประเทศฝรั่งเศสเป็นการส่วนตัว จึงทำให้เธอตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการถ่ายที่ประเทศฝรั่งเศสจนจบ ก่อนจะกลับมาทำแม็กกาซีนภาพถ่าย ที่ใช้ชื่อของตัวเองเป็นชื่อนิตยสารว่า NATNALIN ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงการภาพถ่ายมานานหลายปี
“เราเป็นคนที่มีชีวิตส่วนตัวค่อนข้างสูง เป็นคนชอบดูแม็กกาซีน ชอบดูรูป แล้วเราก็ได้ดูหนังสือหลายๆ ประเทศ แล้วเราก็เชื่อว่าหนังสือภาพยังไม่มีในประเทศไทย เพราะฉะนั้นเมื่อเราทำทุกคนก็จะบอกว่าเราบ้า
“ภาพที่ลงหนังสือของเรา รูปทุกรูปทั้งในประเทศหรือต่างประเทศรับรองว่ามีลิขสิทธิ์หมด รวมทั้งช่างภาพดังๆ ที่ติดอับดับท็อปเท็นของโลกก็มีลิขสิทธิ์เหมือนกัน
“จุดประสงค์ที่เราก็ทำคือเราได้เห็นอะไรมาบางอย่าง เหมือนเราได้แชร์พื้นที่ตรงนี้ มันเหมือนเป็นแกลเลอรี่ดีๆ แต่เป็นแกลเลอรี่เคลื่อนที่ ที่คุณจะไปไหนก็ได้ อย่างที่บอกมันเป็น Text ประกอบภาพ ไม่ใช่ภาพประกอบ Text นี่ เชื่อมั้ยว่าเล่ม 1 ถึงเล่ม 6เราต้องออกงานสังคมซึ่งไม่ใช่แนวเราเลย แต่ทุกคนก็รู้จัก มีบางคนถามว่าจะอยู่ยาวแค่ไหน ก็ต้องมาคุยกัน อีกเรื่องหนึ่งก็คือจะโดนคำสบประมาทเยอะมาก”
อย่างไรก็ตาม แม็กกาซีนของเธอก็อยู่มาได้ถึง 5 ปี รวมทั้งสิ้น 37 เล่ม ทำให้เกิดข้อสงสัยในสายตาผู้คนทั่วไปว่าอยู่ได้ยังไง เพราะแม็กกาซีนของเธอไม่มีแอดโฆษณาเลย
“มันอยู่ได้ด้วยทุนในธุรกิจของตัวเอง เราถึงบอกเลยว่าเราไม่ใช่ช่างภาพ แต่เรามีความรู้เรื่องการถ่ายภาพ ทฤษฎีหลักการการทำงาน ชัตเตอร์ ฟิล์ม คือหลักการที่ช่างภาพรู้ เรารู้ แต่เราไม่ได้อยากเป็นตรงนั้น ลองคิดดูสิช่างภาพอันดับ 1 ถึง 10 ยังไม่ตายเลย กว่าเราจะไต่เต้าไปถึงท็อปเท็นให้คนเอางานมาหาเรามันเหนื่อย
“ทุกคนอาจจะไม่เคยเห็นหน้าเรา แต่รู้จักหนังสือเรามากขึ้น เอเจนซี่ก็มีซื้อไปดู มีการวางหนังสือเราในมุมที่เห็นได้ชัดขึ้น คนมาสมัครเองเยอะขึ้น
“จุดเปลี่ยนที่เราขึ้นราคา เพราะเบื่อกระดาษมันไม่สวย ไม่อยากทำ เราเชื่อว่าคนที่อ่าน NATNALIN เชื่อว่าจะเข้าใจ เพราะสิ่งที่พิมพ์ออกมาใหม่ ทุกวันนี้ก็ไม่ได้คาดหวังนะทำเรื่อยๆ เพราะเราเป็นคนที่ตามใจตัวเองอย่างแรง มันเป็นหนังสือของเราไง”
ถ้าพูดถึงผลงานภาพถ่ายของณัฐนลินนั้น มีมากมายนับไม่ถ้วน มีงานในแนวต่างๆ มากมายอย่าง แนวมาโคร พร็อทเทรต แลนด์สเคป ฯลฯ ที่จะเน้นแนวขาวดำเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเธอบอกว่าที่ต้องเป็นภาพขาวดำเพราะชอบที่จะควบคุมงานของตัวเอง ซึ่งสามารถทำได้เองแทบทุกกระบวนการ
“เอกลักษณ์ในสไตล์ของเรา จะมีเป็นซีรี่ส์ เป็นงานที่เน้นองค์ประกอบภาพรวม ไม่ได้เน้นจุดใดเป็นหลัก เราคิดอยู่ในหัวแล้วจบเลย เพราะเรามีความอดทนต่ำ เราจะใช้ไฟดวงเดียวหรือสองดวงเป็นหลัก ภาพเราจะนิ่งๆ องค์ประกอบซ้ายบ้างขวาบ้าง และมันก็ขึ้นอยู่กับว่าแบบจะทำให้เรารู้สึกยังไง เราไม่ได้ดึงตัวเขาออกมา เขาทำให้เรารู้สึกเพราะการที่จะเรียนรู้กันมันไม่มีเวลามากพอ
“ลองสังเกตดูว่างานของเราจะเป็นแนวคอนเส็ปต์ อย่างงานธีมสีแดงเขาให้ถ่ายอะไรก็ได้ คือมันยากไง เราก็เลยต้องจำกัดให้มันแคบลง เป็นธีมสีแดงอย่างที่เห็น ซึ่งภาพสีส่วนใหญ่จะใช้กล้องดิจิตอลในการถ่าย”
“ในความรู้สึกดิจิตอลเป็นเหมือนโพลาลอยด์ มันไม่สิ้นเปลือง แต่ถ้าถามว่ามันมีวันตายมั้ย มันมี ถ้าคุณกดแบบไม่คิด เราว่ามันดีกับงานพาณิชย์ ความสะดวกสบายประหยัดเวลา รวดเร็ว เราโชคดีที่เราเกิดมาได้ใช้สองรุ่น เราโชคดีที่ๆ ได้เรียนรู้ของหลักการของฟิล์ม พอมาใช้เรื่องของดิจิตอลมันจึงเป็นเรื่องง่าย เพราะมันสามารถเพิ่ม ISO รวมถึงการปรับเรื่องอื่นๆ ได้ คุณถ่ายเสร็จก็สามารถเช็คได้เลย แต่คุณถ่ายฟิล์มเนี่ย คุณต้องระวัง เมื่อก่อนภาพจะแพงมากเพราะต้องเผื่อไว้สำหรับการซ่อมงาน
“ตอนนี้ก็ใช้ทั้งสองอย่างนะ สำหรับการสแน็ปเล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นว่าดิจิตอลเราทำกับงานสี แต่ฟิล์มเราใช้กับงานขาวดำ”
จากประสบการณ์ด้านการถ่ายภาพที่สั่งสมมานาน และยังได้ท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เธอจึงมีทัศนะของตัวเองในเรื่องของวงการภาพถ่ายบ้านกับเมืองนอก ซึ่งเธอบอกว่า
“ที่เมืองเขาพูดเรื่องเดียวกัน หมายถึงวิธีการทำงาน แต่บ้านเราคนนี้พูดอย่างคนนั้นพูดอย่าง อย่างการทำภาพขาวดำ อาจารย์อาจจะอยู่บ้างไม่อยู่บ้าง แต่ที่นั่นอาจารย์เขาอยู่กับคุณจนเลิก แล้วคุณต้องบอกว่าคุณทำอะไรกับรูปภาพมาดีหรือไม่ดี มันเป็นวิธีการที่พูดภาษาเดียวกัน ที่นี่ยังพูดคนละเรื่องเลย
“ช่างภาพที่จบออกมาแต่ละปีมีเยอะมั้ย เยอะ แต่ถ้าถามว่าพวกเขาจะได้ขึ้นมามั้ย ไม่มีทาง ถ้าท็อปเท็นมันไม่ตาย เพราะความคุ้นเคยที่เคยใช้งาน มีใครกล้าเปิดโอกาสให้พวกเด็กๆ ขึ้นมามั้ย อยู่ที่ว่าใครจะได้โอกาสตรงนั้นมากกว่า คือทุกคนเก่งหมดอยู่ที่โอกาสจะเข้ามารึเปล่า
แม้ณัฐนลินจะไม่ประกาศว่าตัวเองว่าเป็นช่างภาพอาชีพ แต่ก็ถือว่าเป็นคนในวงการภาพถ่ายที่ฝีมือดีคนหนึ่ง เธอจึงมีคำแนะนำดีๆมาฝากสำหรับคนที่คิดจะถ่ายภาพ
“อับแรกเทคนิคเป็นส่วนสำคัญ อุปกรณ์ก็สำคัญ แต่ที่สำคัญที่สุดคือมันสมอง มุมมอง นั่นแหละคือวัตถุดิบที่ดีที่สุดในการที่คุณจะทำงานออกมา แล้วเราเชื่ออย่างหนึ่งว่าภาพมันมีองค์ประกอบของมัน มันจะมีกฎ แต่กฎมีไว้ให้แหก สี่เหลี่ยมจัตุรัสไม่ได้มีไว้ให้เราเดินตาม มีไว้ให้เราทำแล้วก็เดินออกมา มันสำคัญที่ว่าคุณฟังสัญชาติญาณตัวเองรึเปล่า”