พินิจ  สุวรรณะบุณย์

พินิจ สุวรรณะบุณย์

ในอดีตนั้น ท่านสำเร็จการศึกษาสาขาศิลปกรรม จากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรรุ่นที่ 7 เคยรับราชการเป็นนายช่างศิลปกรรม 8งานศิลปประยุกต์ กองหัตถศิลป กรมศิลปากร อาจารย์แผนกช่างสิบหมู่ โรงเรียนศิลปศึกษา อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ในห้วงกว่า 50 ปีที่กรำศึกจนเชี่ยวกราดเชิงช่าง ท่านได้นำเอาศิลปะแบบประเพณีของไทยมาใช้ในการออกแบบ โดยเฉพาะเหรียญตราและเครื่องหมายต่างๆ ซึ่งใช้ในพระราชพิธีและงานของทางราชการที่สำคัญจำนวนมาก อีกทั้งยังเขียนภาพ คัดลอกจิตรกรรมไทยแบบประเพณีเพื่อตกแต่งและอนุรักษ์ ผลงานทุกชิ้น องค์ประกอบภาพ แสง เงา สี เส้น ล้วนมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสื่อความหมายได้อย่างลึกซึ้ง ชัดเจนในตัวเอง

ผลงานหลักที่ได้รับมอบหมายของท่านก็คือการออกแบบเหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ ดวงตราเครื่องหมายดวงตราไปรษณียากร ออกแบบตาลปัตร ออกแบบปกหนังสือ ผลงานที่ท่านเคยออกแบบมานั้นมีมากมายเหลือคณานับ ดังจะขอหยิบยกเกริ่นเป็นอารัมภบทราวกลอนสดๆ เพียงบางส่วน อาทิ เหรียญและเสมาที่ระลึกในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปและอเมริกา เหรียญเสรีชน เหรียญกษาปณ์ในวโรกาสต่างๆ เหรียญคณะรัฐมนตรี ตราจังหวัด ตรากรมตรวจเงินแผ่นดิน ตรากรมแรงงาน ฯลฯ ผลงานประเภทจิตรกรรม สถาปัตยกรรมส่วนหนึ่งเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระอุโบสถพระพุทธสถานมนทิราราม ในพระบรมหาราชวัง ออกแบบสะพักของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เขียนลายปักผ้าคลุมพระแท่นบรมรูปตราจักรี ออกแบบฉากบังเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7ฯลฯ

ปัจจุบันท่านอาจารย์พินิจ สุวรรณะบุณย์ ยังคงเป็นแบบอย่างทำงานศิลปะอย่างขยันขันแข็งสม่ำเสมอต่อเนื่องยาวนาน ใช้ชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย ฝากผลงานไว้เป็นประจักษ์พยาน ล่าสุดเป็นที่ปรึกษาทำฉากบังเพลิงพระศพ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงราธิวาสราชนครินทร์ แม้สิ่งที่บันทึกไว้ในเสี้ยวเวลาต่อไปนี้จะไม่สามารถจะอธิบายแทนสัญลักษณ์ได้ทั้งหมด แต่ให้เชื่อเถอะว่านี่คือสิ่งที่ล้ำค่าอันเป็นเลิศน่าเทิดทูลที่ฝากฝีมือชื่อเสียงไว้ในแผ่นดิน

ทรงสะพักตรามหาจักรี

“มีงานศิลปกรรมที่อยู่ในความนิยมของมหาชนอีกประเภทหนึ่งคือจุลศิลป์หรือประณีตศิลป์ ซึ่งมีความสำคัญเท่าเทียมกับวิจิตรศิลป์ อันเกิดจากการนำงานช่างด้านจิตรกรรมและประติมากรรมมาประกอบกัน เพื่อมุ่งประโยชน์ใช้สอย เรียกว่าศิลปประยุกต์อาทิ เหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึก ตราเครื่องหมายสัญลักษณ์ ฯลฯ หากใช้สำหรับตกแต่งประดับประดาก็เรียกว่ามัณฑนศิลป์เช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องเงินทองรูปพรรณ ถนิมพิมพาภรณ์ เครื่องอุปโภคต่างๆ สมัยอยุธยางานศิลปะประเภทจุลศิลป์มีความเจริญรุ่งเรืองที่สุด ถือว่าเป็นยุคทองหรือยุคคลาสสิคของชาติไทย ได้แก่ การแกะสลักไม้ ลงรักปิดทอง ประดับกระจกสีงานประดับมุก การเขียนลายรดน้ำตู้พระธรรมและตามบานประตูหน้าต่าง

“สำหรับต้นแบบงานจุลศิลป์ของผมนั้น ได้มอบต้นฉบับการร่างออกแบบให้กับหอจดหมายเหตุ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังไว้ศึกษา ผมตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาอย่างดีและทำงานทุกชิ้นจนสุดความสามารถ แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมา เมื่อย้อนกลับมาดูผลงาน มันก็ยังมีส่วนบกพร่องแต่เหมือนเรามีประสบการณ์มากขึ้น

“ที่ออกแบบแล้วประทับใจก็มีอยู่หลายชิ้น อย่างเจ้ามหาราช มีสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ่อขุนเม็งรายมหาราชพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลปัจจุบัน

“ผลงานที่ประทับใจอีกอย่างหนึ่งหาที่สุดมิได้ก็คือ ทรงสะพักตรามหาจักรี (ผ้าห่มสไบเฉียง) จำได้ว่าเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมพ.ศ.2503 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา ติดต่อกับหัวหน้ากองหัตถศิลป กรมศิลปากร โดยแจ้งว่าได้รับพระราชเสาวนีย์จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเยือนสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป ท่านมีพระราชประสงค์ให้ช่างกรมศิลปากรออกแบบลวดลายผ้าทรงสะพักและโดยช่างปักชั้นเยี่ยมในวัง เพื่อจะนำไปทรงแต่งฉลองพระองค์ในการเสด็จฯ ออกงานสำคัญผมโชคดีได้รับมอบหมาย ด้วยความเต็มใจปฏิบัติงานสนองพระราชประสงค์ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูแสดงความหมายสำคัญให้เด่นเป็นพิเศษ และเพื่อเสริมบุญบารมีของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและแสดงสัญญาลักษณ์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ลักษณะเป็นแถบผ้ากว้าง 30 เซนติเมตร ความยาวตลอดผืนประมาณ 150 เซนติเมตร ปักดิ้นทอง ดิ้นเงิน เลื่อมเป็นลายทรงข้าวบิณฑ์ ประดับด้วยทับทิมและปีกแมลงทับอย่างวิจิตร ตรงชายทั้งสองข้างปักรูปตรามหาจักรี เปล่งรัศมีเจิดจ้า ทรงสะพักองค์นี้นับว่ามีความงดงามเป็นเอก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถท่านทรงแล้วเพิ่มความสง่างามหรูหรา พวกฝรั่งมังค่าตลอดจนชาวไทยต่างตื่นตาสนใจออกปากชมกันไม่จบสิ้น ปัจจุบันต้นแบบผมได้มอบให้เป็นสมบัติของหออัครศิลปิน จังหวัดปทุมธานี

“วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวน 5,000 บาทซึ่งมากโขในสมัยนั้นผมรับเงินนั้นด้วยความปลาบปลื้มปีติเป็นล้นพ้นและนำไปชำระค่าซื้อที่ดินปลูกบ้านอยู่อาศัย ยังซอยวัดทองเพลง ฝั่งธนบุรี รวมกับเงินค่าเขียนจิตรกรรมฝาผนังแบบเดิม พระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมหาราชวัง เกี่ยวกับพระราชกรณีย์กิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี พ.ศ. 2503 อีก 7,000 บาท แล้วตั้งชื่อบ้านว่า “ภูมิสิริ” ภูมิแปลว่า พื้นที่ สิริแปลว่ามงคล ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ

“ก่อนหน้านั้น ผมยังได้รับรางวัลเกียรตินิยมศิลปะ ประเภทมัณฑนศิลป์ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 ของกรมศิลปากรในชื่อภาพ “บรมราชภิเษก” และภาพ “พระพุทธประวัติ” ประเภทจิตรกรรมแบบไทย ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4อีกด้วย”

พหูสูตประยุกต์ศิลป์

“ผมออกแบบตราหน้าหมวกกองทัพบกไทยขนาดเท่าของจริงปักดิ้นสีทอง อีกอย่างหนึ่งคือการออกแบบเสาหลักเมืองของจังหวัดต่างๆ ที่ออกแบบแต่ละที่จะไม่เหมือนกัน อาทิ เสาหลักเมืองของจังหวัดอุบลราชธานี สระบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรีจันทบุรี อ่างทอง ฯลฯ กำหนดศัสตราวุธในพระหัตถ์เทพารักษ์ ณ ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร

“การออกแบบทุกครั้งผมมีหลักอยู่อย่างหนึ่ง เวลาออกแบบผมต้องหาข้อมูลก่อน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง ทบวง กรม กอง ต่างๆผมเป็นคนที่อ่านหนังสือมาก เพราะการจะเป็นศิลปินสาขานี้ แนะนำว่าต้องเป็นพหูสูตอ่านหนังสือค้นคว้าให้มาก อย่างในวรรณคดีเกี่ยวกับเทพเจ้า เราต้องอัญเชิญมาเป็นตรานารายณ์ พระพรหม พระอินทร์ ฯลฯ ซึ่งคติความเชื่อเหล่านี้ยังมีอยู่ เช่น ตราจังหวัดยโสธร หรือราชบุรี ฯลฯ เมื่อผมพ้นออกมาแล้ว การออกแบบต่างๆ ก็ตกเป็นหน้าที่ของกรมการปกครอง ตอนนี้เขามีช่างประจำแต่ในอดีตเขาต้องมาพึ่งกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบให้ สมัยนี้เขาก็ออกแบบได้ดี จึงเป็นแบบสมัยใหม่ เขาไม่มีเทพเจ้าอะไรอีกแล้ว เพราะเขาไม่ได้ศึกษา อย่างพระอินทร์เป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ของกรมพละ พระอินทร์เป็นเทพเจ้าที่ดังมากในวรรณคดีกล่าวไว้เยอะ อย่างเรื่องสังข์ทองที่ลงมาช่วยเจ้าเงาะให้พ้นจากทุกข์ อย่างแบบตราเครื่องหมายภาพพระอินทร์เจ้าแห่งอากาศ เทพผู้เป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ประทับท่าพระมหาราชลีลาบนพระแท่น พระหัตถ์

ทาชูวชิระ(สายฟ้า) ปราบความแห้งแล้งของฤดูกาล พระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรคาวุธ เบื้องล่าง มีลายเมฆชอุ่มฝนรองรับ นั่นคือแบบตราสำนักงานตรวจบัญชีกองทัพบก คือพระอินทร์จะสอดส่องเอามือป้องหน้าเหมือนกับเป็นการตรวจตรา ซึ่งยังมีอีกหลายอันในการออกแบบตราสัญลักษณ์

“ส่วนใหญ่การออกแบบเกิดขึ้นโดยอาศัยเอกลักษณ์จากภาพเทวดา ภาพบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ ภาพสัตว์จริงหรือสัตว์ในป่าหิมพานต์ในนิยายวรรณคดี ดอกไม้ ใบไม้พฤกษชาติและสถาปัตยกรรม ฯลฯ ตามความนิยมนับถือเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิริมงคล เราจึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อนำความหมายรูปแบบแนวทางความคิดให้เกิดผลสำเร็จสมบูรณ์สมตามความมุ่งหมาย ตามวัตถุประสงค์และงดงามประทับใจ ซึ่งหัวใจสำคัญของการออกแบบนั้นต้องมีจุดเด่นของประธาน มีจังหวะช่องไฟชัดเจน และมีรายละเอียดที่ควรเน้น นอกจากนี้ยังมีการออกแบบสร้างเกี่ยวกับเหรียญโลหะมีค่า ซึ่งเป็นผลงานอันเกิดจากความคิดเชิงออกแบบทางด้านศิลปกรรมและฝีมือสร้างสรรค์ของศิลปินแต่ละคน แต่ละเชื้อชาติอีก 3 ประเภทคือ เหรียญราชอิสริยาภรณ์

“ที่ผมภูมิใจคือออกแบบเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ส่วนที่ผมได้รับคือทุติยดิเรกคุณาภรณ์ คนที่จะได้ต้องทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติบ้านเมือง นอกจากนั้นยังมีการออกแบบเหรียญกษาปณ์เงินตราหมุนเวียนและเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกพิธีสำคัญ ทั้งหมดล้วนเป็นผลงานที่เกิดจากการออกแบบทั้งสิ้น”

สิ้นแสงสุรีย์ฉาย

“ผมได้ศึกษาเล่าเรียนกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านเคยเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยและความรู้หลายอย่างให้ผมฟัง ท่านเป็นฝรั่งชาวอิตาเลียน ที่เดินทางมุ่งหน้าจากด้าวแดนไกลมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มาเป็นช่างปั้นในสยามประเทศและพำนักอาศัยอยู่ถึงสี่แผ่นดิน ท่านปั้นพระบรมรูปสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ปั้นพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปั้นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ฯลฯ ท่านเรียกผมว่า “หนูเล็ก” เพราะผมตัวเล็ก

“ผมเรียนที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ก่อนที่จะสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในปัจจุบัน ก่อนหน้านั้นอาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุขอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ จบมาจากเพาะช่าง ผมไม่ได้จบเพาะช่าง แต่ผมมีเลือดศิลปินเพราะคุณปู่รับราชการที่กรมศิลปากรมีฝีมือในเชิงช่าง ผมจึงเป็นทายาทสืบสกุลช่าง การเรียนศิลปะในช่วง 4 ปีตามหลักสูตรมีจิตรกรรม ประติมากรรม กายวิภาคประวัติศาสตร์และแบบอย่างศิลป์ทฤษฏีสีและทฤษฏีองค์ประกอบศิลป์ ฯลฯ ท่านอาจารย์ศิลป์เป็นผู้สอนส่วนใหญ่

“ภายหลังสำเร็จการศึกษาตอนอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ก็ได้ไปช่วยเหลืองานเล็กๆ น้อยๆ โดยอาศัยปัจจัยจากอาจารย์ฝรั่ง ท่านจุนเจือตามสมควร ท่านอาทรต่อความเป็นอยู่ของผมตลอดเวลา คอยสนใจไต่ถามเสมอว่าทางกรมศิลปากรบรรจุหรือยังเพราะท่านกรุณาฝากให้ จนกระทั่งผมได้รับการบรรจุเข้าเป็นข้าราชการในแผนกหัตถศิลป์ กองสถาปัตยกรรม จึงรีบไปกราบเรียนข่าวดีให้ท่านทราบ เช้าวันนั้นสังเกตเห็นสีหน้าท่านเบิกบานแช่มชื่นยินดีอย่างที่สุด ยกมือทั้งสองข้างจับไหล่ผมเขย่าแสดงความรู้สึกยินดี กล่าวอวดกับผู้ใกล้ชิดว่า ‘เดี๋ยวนี้หนูเล็ก เป็นข้าราชการแล้วนะ’ พูดซ้ำอยู่หลายครั้ง พระคุณนี้จะตราตรึงใจมิรู้ลืมตราบชั่วชีวิต

“ผมเคยสอนโรงเรียนแผนกช่างสิบหมู่โรงเรียนศิลปศึกษา ท่านชวน หลีกภัย คือหนึ่งในลูกศิษย์ ผมเรียนอยู่ 2 ปี เช้าขึ้นมานุ่งกางเกงขาสั้นมาเรียนครบ 6 ชั่วโมง นุ่งกางเกงขายาวรัดเลาะข้ามกำแพงด้านข้างไปฟังเล็คเชอร์ เรียนเตรียมธรรมศาสตร์แถวๆวังหน้า ท่านชวนพูดกับผมว่า ‘ถ้าผมเรียนจบโรงเรียนศิลปศึกษามา หากจะเป็นศิลปินแห่งชาติ ก็เป็นได้ถ้ามีฝีมือ แต่การเป็นศิลปินมันดีเฉพาะตัว ไม่ได้ช่วยประเทศชาติ แต่ถ้าใช้วิชาความรู้ทางด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ยังช่วยเหลือคนในประเทศชาติได้ ท่านจึงไม่เป็นศิลปิน มุ่งหน้าเรียนการเมืองที่ธรรมศาสตร์’

ชีวิตพินิจเหมือนถูกประกาศิตให้รับราชการโดยตรง เพราะก่อนหน้านั้นนายพนม สุวรรณะบุณย์ พี่ชายเจ้าของฉายาศิลปินพู่กันทองเป็นนักเขียนภาพปกหนังสือนวนิยายชื่อดัง อาทิ บ้านทรายทอง พจมาน สว่างวงศ์ ฯลฯ ชักชวนไปทำงานหนังสือพิมพ์ แต่ด้วยความเคารพอาจารย์ศิลป์มากจึงนำความไปปรึกษา ท่านทักท้วงว่าให้ทำงานราชการอยู่ใกล้ชิดท่านดีกว่า จะได้ฝึกฝนความรู้ให้แกร่งกล้ายิ่งขึ้น ศิลปินวัย 82 ร่างเล็ก เพิ่มความกระจ่างเสริม

“อาจารย์ฝรั่งท่านบอกว่าถ้านายหนูเล็ก ทำงานหนังสือพิมพ์ได้เงินดีจริงประสบผลสำเร็จ แต่เป็นอาชีพที่ไม่แน่นอน ดีไม่ดีเดี๋ยวได้ดีกรีขี้เมาแถมมาอีก (หัวเราะ)

“ก่อนหน้าที่อาจารย์ฝรั่งจะเข้ารับการผ่าตัดโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลศิริราชเพียงไม่กี่วัน นายพิพัฒน์ ไกฤกษ์จากแบงก์ชาติก็มาขอให้อาจารย์ศิลป์ ออกแบบธนบัตร ผมมีโอกาสได้พูดคุยเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการจะโอนย้ายงานเขียนแบบลวดลายธนบัตรชนิดใหม่ซึ่งท่านเป็นผู้ออกแบบให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ยังไม่ทันตกลงตัดสินใจอย่างไรดี คำสุดท้ายที่ยังก้องกังวานอยู่ในหูของผมคือ ‘รอไว้ให้ฉันออกจากโรงพยาบาลเสียก่อน ค่อยพูดกันใหม่’ แต่แล้ว อนิจจา ท่านไม่กลับออกมาอีกเลย คงทิ้งอมตะวาจาว่า ‘พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว’ ไว้เป็นอนุสรณ์แก่ปวงศิษย์ ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุ 70 ปี ผมไปรดน้ำหอมหลั่งน้ำตาลงแทบเท้า เพราะมือท่านสูงเกินกว่าจะเอื้อมถึง พร้อมกับน้อมกราบเคารพดวงวิญญาณของท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้เปี่ยมด้วยพระคุณความดีมากกว่าพระเดช หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยากยิ่ง ผมจึงเขียนกลอนอาลัยท่านว่า ‘ศีรก้มกราบแทบเท้า อาจารย์ศิลป์ท่าน ผู้ประศาสน์วิชาการ แก่ศิษย์  ได้สามารถสร้างสรรค์งาน  ผลเลิศลือเลื่อง ปรากฏนายพินิจ ชื่อก้องเกียรติขจร’

ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว

“สมัยนั้นอาจารย์ศิลป์ลงมือปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ท่านบอกกับผมว่า นายรู้มั้ย ฉันอยู่ใกล้ชิดท่านมาก ฉันปั้นพร็อตเทรตท่าน นายรู้มั้ย รัชกาลที่ 6 เขาไม่เหมือนอย่างเรานะ ธรรมดารอบตาคนเรามีเยื่อ 2 ชั้นรัชกาลที่ 6 มี 4-5 ชั้น พอผมมาดู จริงของท่าน เพราะอาจารย์เป็นช่างปั้น อยู่ใกล้ชิด ต่อมาท่านปั้นพระบรมรูปรัชกาลที่ 8 เป็นอนุสาวรีย์

“ตอนนั้นหลักสูตรที่ผมเรียนจิตรกรรมตอนหลังปรับปรุงหลักสูตรเป็นองค์ประกอบศิลป์เรียนละเอียดมาก อย่างกายวิภาค แพทย์เขาเรียนเกี่ยวกับการรักษาโรค ก็ไม่ค่อยละเอียด แต่อาจารย์ศิลป์จะสอนเรื่องโครงกระดูก กล้ามเนื้อละเอียดยิ่งกว่าแพทย์ ต้นแขนปลายแขน ต้นขาปลายขา เริ่มต้นมาจากไหนเชื่อมต่อกับอะไรตรงไหน เป็นหลักสูตรของอะคาเดมี่อิตาลี

“ท่านภาคภูมิในความเป็นไทย ท่านบอกว่า ใจไทยแต่กายฝรั่ง ฉันนี่เกิดผิดที่ ใจฉันเป็นไทยแต่ร่างกายเป็นฝรั่ง ชื่อเดิมท่านชื่อคอร์ราโด เฟโรจี มาจากตระกูลพ่อค้า ท่านจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นศิลป์ พีระศรี สุดท้ายก็มาสิ้นบุญในประเทศไทย ตอนนั้นที่กรมศิลปากรท้องฟ้าหม่น นักศึกษานั่งคอตก น้ำตานองเหมือนกับสิ้นแสงตะวันที่เคยให้ความสว่าง ท่านมีคติของชาวอิตาลีที่แปลว่า‘ศิลปะไม่มีวันตาย’ ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น แล้วเราชาวศิลปากรก็ยึดถืออันนี้ ท่านพูดเสมอว่า ‘นาย ถ้าฉันตายไป นายรักฉัน นายคิดถึงฉัน นายทำงานศิลปะ’ ท่านจะมีความภาคภูมิใจมาก ศิลปะสมัยใหม่สมัยนั้นจะเรียนพวก Realistic ตอนหลังเป็นพวกAbstract เราต้องเรียนรู้ทุกอย่างพวกปูนปั้น เขียนรูป จิตรกรรม ฯลฯ มันยังมีอะไรแฝงอยู่อีกมากมาย

“ใครที่จะมาเป็นลูกศิษย์ อาจารย์ศิลป์ท่านจะดูฝีมือ ดูนิสัยใจคอว่าเหมาะกับงานอะไร เวลามอบงานให้ สำหรับรุ่นผมตอนนี้ก็เสียชีวิตไปเกือบหมดแล้ว แต่เดี๋ยวนี้พอสิ้นอาจารย์ศิลป์แล้ว เด็กสมัยนี้ก็เหมือนกับว่าฉันเก่ง ฉันไม่ง้อใครแล้ว

“ทุกวันนี้งานที่ผมสร้างสรรค์อยู่ ผมอยากจะดูซิว่าใครจะมาเป็นเบอร์ 2 รองจากผม ต้องดูมาก อ่านมาก คิดมาก อนึ่งผู้ที่จะเป็นช่างต้องมีความรักความชอบที่จะทำ ช่างสังเกตช่างจดจำ มือซน หมั่นขีดเขียนเป็นอุปนิสัย ต้องใช้ทั้งความคิดและฝีมือประกอบด้วยกัน ดั่งพระราชดำรัสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ผู้ทรงเป็นยอดอัจฉริยะศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้รับการยกย่องถวายพระสมัญญานาม ‘สมเด็จครู’ ที่ว่า กินเข้าไปแล้ว ตกออกมาเป็นเหงื่อให้คนลือ หมายถึงศึกษาจากธรรมชาติ หาวัตถุดิบเข้าไปในตัวเรา เสร็จแล้วก็ไปกลั่นออกมาเป็นความคิดและผลงาน จึงถือว่าผู้ที่มีความสามารถเรียกได้ว่าเป็น Action นายช่างนั้นถ้าเพียงแต่เขียนได้ แต่ไม่มีความคิด เราเรียกว่าช่างไม่ใช่นายช่าง นายช่างสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้

“การออกแบบของผม มีคนเคยถามว่าใช้เวลาเท่าไร ไอ้ที่เขียนนั้นมันไม่เท่าไร แต่ตอนที่จะหาคอนเส็ปต์ เพื่อที่จะออกแบบต้องใช้เวลานาน งานที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบ ผมไม่ได้ออกแบบเพียงชิ้นเดียวหรือสองชิ้น ผมออกแบบไปเรื่อยๆ ผมดูแล้วว่าอันนี้ผมชอบ แต่ผมไม่มีสิทธิ์ที่จะไปตัดสิน ต้องเสนอผ่านขึ้นไป ปรากฏว่าเขาตัดสินเอาอันที่เราไม่ค่อยชอบไปใช้ แต่ผมก็คิดเสมอว่า ปลูกบ้านต้องตามใจผู้อยู่ ส่วนผลงานที่ไม่เอา ผมก็เก็บไว้ ทีนี้พอมีงานรุ่นหลังมามันก็เข้ารูปเข้ารอยพอดี ปรับปรุงนิดหน่อยก็เสร็จ บางคนเลยบอกว่า ผมออกแบบยังกับเนรมิต ออกแบบได้เร็วมาก

“พี่น้องผมเป็นช่างเขียนหมด แต่ก่อนผมอยากจะเรียนสถาปัตย์ ต่อมาอาจารย์ศิลป์ตั้งโรงเรียนศิลป์แผนกช่างศิลป์ สมัยหลวงวิจิตรฯ เป็นอธิบดีกรมศิลปากรคนแรก ตอนหลังผมเรียนสำเร็จ ท่านไปเป็นทูตที่ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาพระยาอนุมานราชธนมาเป็นอธิบดีฯ ต่อ ผมรับราชการที่กรมศิลปากรถึง 9 อธิบดีฯ หากมีอะไรติดขัดในการออกแบบ ผมก็มักจะไปปรึกษาราชบัณฑิตยสถาน อย่างพระยาอนุมานราชธนฯ ท่านคือปราชญ์ของเมืองไทยคนหนึ่ง ท่านถือว่าเป็นลูกศิษย์ของกรมพระยานริศฯ มีท่านอาจารย์พระกรมวิจิตร ซึ่งเป็นลูกศิษย์กรมพระยานริศฯ เหมือนกัน เป็นช่างออกแบบ 2 ท่านทำงานร่วมกัน ราวกับคนหนึ่งร้องอีกคนหนึ่งร่ายรำ พระยาอนุมานราชธนท่านก็มีทหารเสือของท่าน เวลาออกแบบแต่ละครั้งผมจะยึดถืออันนี้ เหมือนกับการออกแบบตราสัญลักษณ์ให้กรมแรงงาน (กระทรวงแรงงาน) ผมได้ไปเรียนปรึกษาขอคำแนะนำจากพระยาอนุมานราชธนว่าควรจะเป็นอย่างไร จากนั้นผมก็นำมาสร้างภาพขึ้น มีเทพเจ้าสามองค์ องค์กลางสมมุติเทพให้เป็นเทพเจ้าตัวแทนรัฐบาล ทางขวาเป็นนายจ้างและทางซ้ายเป็นรูปผู้ใช้แรงงาน”

จารึก..จรด..แผ่นดิน

“ผมนับถือพระยาอนุมานราชธน ท่านเป็นนักปราชญ์ ท่านเป็นคนขยัน บ้านอยู่ที่ถนนเดโช สีลม ขึ้นรถรางมาถึงหลักเมือง สุดทางท่านก็เดินอ้าวๆ มาสนามหลวง เข้าที่ทำงานกรมศิลปากร ท่านจะพกหนังสือใส่กระเป๋าเสื้อ อ่านมาตลอดทาง ท่านเดินเร็วและชอบนั่งรถรางมาก มีคนเคยถามท่านว่า ทำไมท่านไม่นั่งรถยนต์ เห็นลูกท่านนั่งรถยนต์ ท่านบอกว่านั่น เขาลูกพระยา ผมมันลูกเจ๊ก(หัวเราะ) กลางวันพอกินข้าวเสร็จท่านจะเข้าห้องสมุดอ่านหนังสือเกือบทุกเล่ม ช่วงบ่ายเดินมาคุยกับอาจารย์ศิลป์บ้าง คุยกับพระเทชา พินิมิต ผู้เชี่ยวชาญด้านลายไทย ภาพรามเกียรติ์บ้าง เก็บเกี่ยวความรู้ไปเรื่อยๆ ท่านเป็นนักเขียน เสร็จแล้วนำมาแต่งหนังสือ บางทีอาจารย์ศิลป์แต่งหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ ท่านนำมาแปลเป็นภาษาไทย ผมก็เขียนภาพประกอบ พวกประติมากรรมไทย เวลานี้ใช้เป็นตำราสอนในมหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนงานปั้นผมเรียนมาทั้ง 2 อย่างทั้งงานเขียนงานปั้น

“หลักสูตร 4 ปี ปี 1-2-3 เรียนคละกันทั้งทฤษฏีและปฏิบัติ แต่พอขึ้นปี 4 ต้องตัดสินใจเลือกเอาว่าจะเรียนสาขาอะไร เพราะต้องรับประกาศนียบัตร ตอนนั้นยังไม่มีปริญญา จบแล้วจะเป็นช่างเขียนหรือช่างปั้น ผมเลือกเรียนปั้น อาจารย์ศิลป์บอกว่าไม่ได้นายเรียนปั้นไม่ได้ ท่านก็อธิบายว่านายเรียนปั้นไม่ได้รู้มั้ย เพราะต้องใช้กำลัง ต้องทุบดิน ต้องลงแรง ร่างกายนายไม่เหมาะสมนะ หนูเล็ก ท่านอธิบายโดยละเอียด นายรู้หรือเปล่างานช่างเขียนมันสำคัญนะ มันมีแค่ 2 มิติ ไม่มีลึก มีแต่โครงสร้าง กว้าง สูงยาว แต่นายรู้หรือเปล่า มันอยู่ที่การให้แสง ถ้านายให้แสงถูกต้องตามหลัก มองดูแล้วมันนูนขึ้นมาได้ มันมีมิติขึ้นมา ส่วนงานปั้นดูได้รอบตัวมี 3 มิติ แต่งานเขียนมี 2 มิติจากแบนๆ ทำให้นูนขึ้นมาได้ ผมเคารพท่าน ผมจึงไม่เรียนปั้น

“อย่างงานออกแบบต่างๆ ผมศึกษาหมดเลย ด้านหน้า ด้านหลัง ต้องมีความสัมพันธ์กัน อย่างเหรียญตราประจำพระองค์รัชกาลที่4 รัชกาลที่ 5 เป็นพระเฉลิมมงกุฎ เป็นสังวาลย์อะไรต่างๆ คนปั้นมีหลายคนที่มีฝีมือเฉพาะ เพื่อให้แสงและเงาถูกต้อง มันจะมีชีวิตลอยขึ้นมา

“ผมรับราชการกรมศิลปากรมาถึง 42 ปี ผมไม่เคยรับงานพิเศษที่เรียกว่าผลประโยชน์ภายนอกเลย เพราะผมมีความละอาย เรากินเงินเดือนหลวงแล้ว ผมมีอุดมคติ ถ้าผมจะหากิน ผมก็ร่ำรวยกว่าคนอื่นเหมือนกัน แต่ผมไม่ทำเพราะฉะนั้นบุญกุศลอันนี้จึงส่งเสริมให้ผมได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ผมได้รับการยกย่องเป็นข้าราชการตัวอย่างในด้านศิลปะของกรมศิลปากรคนแรกของวงการ ได้รับรางวัลพ่อตัวอย่างแห่งปี ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตมศักดิ์ สาขาวิจิตรศิลป์ จากมหาวิทยาลัยเคลตัน มลรัฐแคลิฟอร์เนียสหรัฐอเมริกา ได้เป็นดอกเตอร์ หลังจากผมเออร์ลี่รีไทร์ก่อน 8 เดือน ผมก็กลับมาช่วยกรมศิลปากร มาเช้าเย็นกลับ ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้เงินเดือนละ 7,000 บาทต่อเดือน สัญญา 5 ปีจากนั้นผมได้รับมอบหมายออกแบบโลโก้เป็นตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนหลังมีการประกวดคนชนะได้สองแสนบาท ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงรับสั่งว่าไม่เอาแล้วไม่ต้องมีการประกวดที่ศิลปากรมีช่างอยู่ตั้งเยอะแยะ ต่อมาผมออกแบบฉลอง 60 ปีครองราชย์ อะไรต่างๆ ผมออกแบบ ลูกศิษย์คือ สุเมธ พุฒพวง ก็มาช่วยระบายสีให้

“เกี่ยวกับความเห็นเรื่องนักศึกษาวิชาศิลปะรุ่นใหม่ เมื่อสำเร็จการศึกษาไม่นานมักจะไปทำงานประยุกต์ศิลป์อื่นๆ แทนการรับราชการ เพื่อให้อยู่รอดในกระแสเศรษฐกิจปัจจุบัน ทัศนคติการดำเนินชีวิตของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ผมมองว่าเด็กสมัยนี้ถ้าได้เงินมากเอาไว้ก่อน การรับราชการถ้าพูดไปเหมือนน้ำรองปลาตาย อย่างเราต้องลงทุน ผมเหนื่อยแต่ผมมาได้ดีในบั้นปลาย กินบำนาญ ได้เงินตำแหน่งศิลปินแห่งชาติอีก ศิลปินแห่งชาติได้เงินช่วยเหลือพวกคุณลุง คุณป้า คุณตา คุณยาย ทั้งหลายซึ่งเขาไม่ได้เป็นข้าราชการ ท่านเหล่านั้นควรได้เงินมากกว่านี้ ไอ้เรามันมีบำนาญ ศิลปินแห่งชาติได้เงินเท่ากันหมด เวลามีงานของกระทรวงวัฒนธรรม เราช่วยเหลืองานสาธารณประโยชน์อย่างเต็มกำลัง ในการเผยแพร่ให้ความรู้ ผมไปช่วยไม่เคยขาด ที่เห็นเป็นประจำมีอาจารย์ชเรือง วิเชียรเขตต์ อาจารย์มานิต ภู่อารี อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ฯลฯ

หนุ่มผมยาว...เจ้าแห่งฮิปปี้

“ความจริงวัฒนธรรมถือว่าเป็นสมบัติหรือศิลปะประจำชาติ ทุกชาติที่เจริญแล้วต้องมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง บ้านเราบางคนไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไร งานของผมสร้างสรรค์เป็นผลงานเพื่อประเทศชาติ งานประติมากรรม กว่าจะสร้างสรรค์มันต้องใช้เวลานาน

“เวลาเรารับงานชิ้นหนึ่ง เสร็จเราได้เงินก้อน แต่งานปั้นขั้นตอนมันเยอะ เวลารับงานชิ้นหนึ่งต้องใช้เวลาปั้น พองานเสร็จเงินที่ได้มาไม่ค่อยเหลือก็มี มันเป็นถาวรวัตถุทรงคุณค่าราคาจึงสูง โดยเฉพาะการหล่อเป็นบรอนซ์ นักสะสมงานศิลปะจึงหันไปนิยมศิลปะสมัยใหม่เพราะมันสามารถทำได้เร็ว เราก็ไม่ว่ากัน ทำไมเขาไม่ค่อยสนใจศิลปะไทยเพราะมันใช้เวลา ต้องประณีต แม้กระทั่งการออกแบบโลโก้ มันจึงเป็นวัฒนธรรม เหมือนเป็นไดนามิก อย่างตัวนก มีความหมายเป็นจ้าวเวหา ผมเขียนพญาครุฑทะยานนภากาศ ศิลปินคนอื่นเขาอาจจะเขียนเป็นการประดิษฐ์ อาจจะเป็นนกก็ได้ เป็นตราสัญลักษณ์สำหรับอาชีพราชการเกี่ยวกับการบิน

“หลังจากเกษียณ ผมไม่ได้ทำงานอย่างอื่นอีก ส่วนมากจะมีผู้แนะนำงานมาให้ผมสร้างสรรค์ ตอนนี้มีอยู่ชิ้นหนึ่งของกสท.โทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นการออกแบบเป็นเครื่องประดับ ความหมายของรูปครุฑทะยานเป็นตราไปรษณีย์ ทำเป็นเข็มกลัดบางแบบก็เป็นป้ายชื่อหรืออาจจะเป็นปกหนังสือ เรื่องค่าตอบแทนผมไม่เคยเรียกร้องจากใคร มีคนเคยบอกผมว่าเป็นถึงระดับศิลปินแห่งชาติ ทำไมอาจารย์ต้องทำให้เขาฟรีๆ

ท่านใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสงบเรียบง่าย