พันทิภา ตันชูเกียรติ

พันทิภา ตันชูเกียรติ

“ดิฉันไม่ได้เกิดมาเพื่อธุรกิจ ณ ทุกวันนี้ที่มีและเป็น ล้วนมาจากความหลงใหลในกระดาษ” เธอเล่าย้อนไปถึงเมื่อครั้งวัยเด็ก“เมื่อก่อนก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้วเป็นคนชอบงานด้านศิลปะหรือเปล่า แต่ที่แน่ใจเลย คือเป็นคนที่ชอบกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นผิวสัมผัสหรือกลิ่น มันคือสิ่งที่เราหลงใหล อะไรที่เกี่ยวกับกระดาษจะชอบมาก จะชอบเล่นตุ๊กตากระดาษ เก็บซองจดหมายกระดาษจดหมาย เวลาไปเที่ยวไหนมีถุงกระดาษก็จะเก็บ หรือไปเจออะไรที่เกี่ยวกับกระดาษก็จะเก็บมาตลอด 

“พอช่วงที่โตขึ้นเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียน สาธิตปทุมวัน ก็ตั้งใจไว้ว่าจะเรียนสายวิทย์ เพราะรู้สึกว่าอยากเรียนด้านมัณฑนศิลป์แต่ก็ได้เลือกเรียนสายศิลป์-ฝรั่งเศสแทน เนื่องจากเป็นคนที่อ่อนเลข เลยต้องเบนเข็มไปโดยปริยาย พอเรียนจนจบ ม.ปลายตอนเอ็นทรานซ์ก็เลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนแรกอยากเรียนโฆษณา แต่พอเรียนไปเรื่อยๆ ก็มาเลือกเอกภาพยนตร์ ภาพนิ่ง พอเรียนจบจากที่ตั้งใจจะทำงานเก็บประสบการณ์ก่อนสัก 1 ปี ตอนนั้นเป็นช่วงปี พ.ศ.2540 เงินบาทลอยตัวพอดี งานก็หายาก ก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นไปเรียนต่อเลยแล้วกัน”

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการตามหาตัวตนของเธอ เพราะเมื่อไปถึงที่อังกฤษ เธอได้เลือกเรียนต่อด้านกราฟิกดีไซน์ เพราะด้วยความที่เป็นคนรักในตัวหนังสือ จึงเลือกเรียนในสาขาด้านออกแบบตัวอักษร “ดิฉันได้เรียนรู้ทั้งประวัติความเป็นมา ที่มาที่ไปของโครงสร้างตัวหนังสือ หน้าตาของฟ้อนท์ในลักษณะต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เราอยากรู้มานาน 

“ช่วงที่เรียนปริญญาโทตัวแรก ได้มีโอกาสเรียนในคลาสของที่อาจารย์เป็น Book Artist เขาทำงานศิลปะเกี่ยวกับหนังสือ และได้สอนให้รู้จักงานศิลปะในรูปแบบของหนังสือ รู้ในเรื่องวัสดุ อุปกรณ์ที่สำคัญหลายๆ อย่าง Book Art ถือเป็น Fine Art แขนงหนึ่งที่เราต้องค่อยๆ ทำ ค่อยๆ สื่อสารไปกับกระดาษให้ได้ 

“ครั้งแรกในคลาสจำได้เลยว่าผลงานมันบูดเบี้ยวมาก แต่ด้วยวิธีการสอนของอาจารย์ก็เลยไม่ทำให้รู้สึกท้อ ซึมซับความประทับใจเหล่านั้นเก็บไว้ เรียนรู้ว่าศิลปะจะช่วยบำบัดเรา เวลาที่ท้อ หมดแรง หรือมีปัญหาอะไร เราจะปล่อยไปตามธรรมชาติ เราได้รู้จักตัวเองเยอะขึ้น มีสมาธิกับตัวเองมากขึ้น แค่นี้เราก็จะอยู่กับมันได้อย่างมีความสุข” 

งานแรกหลังจากเรียนจบกลับมาคือ การเป็นผู้ดูแลในส่วนของโพรดักส์ของเว็บไซต์เกี่ยวกับอาหารอยู่ประมาณปีครึ่งจนกระทั่งบริษัทปิดตัวลง พร้อมกันนั้นเธอก็ยังคงทำสมุดอยู่เรื่อยๆ มีคนสนใจนำไปวางขายที่ร้านบ้าง เริ่มมีคนมาสั่งทำแบบพิเศษบ้าง จนเริ่มก่อร่างเป็น สตูดิโอ ลิเกไบเดอรี่ (Likaybindery) ขึ้นในปี 2004 เพื่อเป็นสถานที่ทำงาน เมื่อเริ่มมีคนอยากรู้ถึงที่มาที่ไปของงานแต่ละชิ้น คลาสจึงได้เปิดขึ้นเพื่อสอนเป็นกรุ๊ปเล็กๆ เมื่อ
สองปีที่แล้ว 

“จากความที่ประทับใจในการสอนของอาจารย์ที่โน่น เลยอยากถ่ายทอดให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากเราบ้าง ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ให้เข้าไปสอนคณะศิลปกรรม เน้นการสอนให้นักศึกษาพัฒนาระบบความคิด ในรูปแบบของชิ้นงานที่เป็นหนังสือ เมื่อได้ลองทำงานด้านนี้รู้เลยว่าเราชอบสอนหนังสือ ทุกครั้งที่เข้าคลาสก็เหมือนต้องเตรียมของไปแลกกับนักศึกษาที่มาเรียน เพราะบางทีเด็กๆ อาจมีมุมมอง หรือแง่ความคิดดีๆ เราก็นำมาแชร์กัน 

“ดิฉันจะพยายามบอกกับนักเรียนว่าถ้าค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร ให้ลองไปใช้ชีวิต ลองไปมีประสบการณ์กับมันให้เต็มที่ แล้วมันจะทำให้เรารู้ว่าเราชอบมันจริงๆ หรือเปล่า เพราะทุกอย่างไม่มีอะไรที่สวยงามตลอดเวลา เราต้องพร้อมที่จะเจอกับมันในทุกด้านให้ได้ ขอให้ทุกคนมีความกล้าที่จะลอง เราก็จะรู้ว่าธรรมชาติของเราถูกจริตกับงานที่เราทำอยู่หรือไม่”

 

Know Her

• จากเด็กนิเทศ จุฬาฯ ผันตัวเองมาสู่งานศิลป์ หลังจากเข้าไปศึกษาต่อหลักสูตรกราฟิก ดีซายน์์ที่ Central Saint Martin School of Arts and Design กรุงลอนดอน ประเทศ อังกฤษ จากนั้นต่อปริญญาโทด้าน Typo/Graphic จาก London College of Printing  พ่วงด้วยปริญญาโทด้าน Book Arts จาก Camberwell College of Arts (London)

• หลังจากที่ได้มีโอกาสเข้าไปสอนที่ Raffles College Bangkok อยู่สองปี ปัจจุบันเธอยัง ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์พิเศษของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเดิมของเธออีกด้วย 

• อุปกรณ์คู่กายในการทำหนังสือของเธอนั้นคือ Bone Folder เป็นตัวใช้พับกระดาษ ใช้กรีด กระดาษ เข้ามุมได้อย่างเรียบร้อยซึ่งมีที่มาจากการนำกระดูกสัตว์จริงๆ มาใช้ แต่ถ้าที่ ญี่ปุ่นจะใช้ไม้ไผ่แทน 

• ด้วยความที่รักหนังสือ เธอจึงมีหนังสือเล่มโปรดหลายเล่ม อาทิ Sound Bites: Eating on Tour with Franz Ferdinand by Alex Kapranos (นักร้องและมือกีต้าร์ของวง) และ หนังสือชีวประวัติของผู้หญิงแกร่งอย่าง มารี อองตัวแนตต์

ในขณะที่ระบบทุนนิยมกำลังกลืนหลายต่อหลายสิ่งในสังคม