พันนา ฤทธิไกร
ย้อนกลับไปในช่วงเริ่มแรกของชีวิต เขาเป็นคนจังหวัดขอนแก่น เรียนจบวิทยาลัยพลศึกษามหาสารคาม แต่ด้วยใจที่อยากเป็นสตั๊นท์แมน ทำให้เขาพยายามเข้ามาเรียนรู้วิชาการแสดงแขนงเสี่ยงตาย จนได้รับความไว้วางใจให้แสดงแทนในฉากเสี่ยงตายของนักแสดงตัวเอกในสมัยนั้น ก่อนจะพยายามผันตัวมาทำหนังในแบบของตัวเอง
แม้จะผ่านช่วงเวลาในยุคตกต่ำของอุตสาหกรรมหนังในเมืองไทยอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ล้มลุกคลุกคลานกับหนังประเภทนี้อยู่บ้าง แต่ด้วยใจที่เป็นนักสู้เขาก็กลับมาสร้างความตื่นตาอีกครั้งกับเป็นนักแสดง และผู้กำกับคิวบู๊อย่างเช่น อั้งยี่ อินทรีแดง และมาโด่งดังอย่างมากในหนังเรื่อง องค์บาก ต้มยำกุ้ง คนไฟบิน ตามลำดับ
ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขาได้รับรางวัลสตั๊นท์ยอดเยี่ยม (Best Stunt Work) จากเทศกาลภาพยนตร์แอ๊กชั่น เฟสต์ ปี 2011 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากหนังเรื่อง โคตรสู้โคตรโส ซึ่งเป็นหนังที่มีฉากแอ๊กชั่นเป็นจุดขาย แสดงให้เห็นว่าหนังแอ็คชั่นแม้จะมีคู่แข่งมากมายทั้งในฝั่งยุโรป และอเมริกา แต่สตั๊นท์แมนคนไทยก็ได้รับความไว้วางใจในเวทีระดับโลกเช่นกัน
ส่วนโพรเจ็กต์ล่าสุดที่เขากำลังปลุกปั้นอยู่ก็คือ ต้มยำกุ้งภาค 2 ที่นำเอาสุดยอดนักบู๊ของไทยในตอนนี้มารวมตัวกัน ทั้ง จา พนม ยีรัมย์, เดี่ยว ชูพงษ์ ช่างปรุง และจีจ้า ญาญิน วิสมิตนันทน์ นอกจากคิวบู๊ที่มีศิลปะการต่อสู้ใหม่เกิดขึ้นแล้ว จะเอาแนวการต่อสู้แบบมวยไทยใส่เข้าไป ซึ่งต้มยำกุ้ง 2 นี้จะนำเอาเทคโนโลยีการใช้เลนส์ 3D มาใช้เป็นครั้งแรกอีกด้วย โดยมีงบประมาณในการสร้างหนังเรื่องนี้สูงถึง 300 ล้านบาท
“ตอนนี้เรามีโพรเจ็กต์ต้มยำกุ้งภาค 2 ซึ่งเอานักแสดงและทีมงานชุดเดิมมารวมพลังกันอีกครั้ง ความแตกต่างของหนังเรื่องนี้คือความใหม่มันอยู่ที่ศิลปะการต่อสู้ของจาและจีจ้า นับเป็นครั้งแรกที่มีการเอาสองคนนี้มารวมตัวกัน ซึ่งอาจเป็นไปในแง่ของการตลาด แต่ในเรื่องของศิลปะการต่อสู้ก็น่าสนใจมาก เพราะทั้งสองคนนี้เก่ง ส่วนคิวบู๊ เราจะยึดหลักเดียวคือแอ๊กชั่นสมจริง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเรา”
การจะเป็นนักแสดงคิวบู๊นั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นกันได้ง่ายๆ คุณพันนาบอกว่าต้องมีพื้นฐานของร่างกายที่แข็งแรง ก่อนจะเข้ามาฝึกฝนอย่างหนัก แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือทางด้านจิตใจ ที่ต้องมีความอดทนต่อความท้อแท้และความยากลำบาก ซึ่งถ้าหากมีความตั้งใจจริง การเป็นนักแสดงประเภทนี้ก็ถือว่าผ่านไปได้หนึ่งส่วนแล้ว
“แต่ก่อนผมทำหนังสายเยอะ ประมาณ 70-80 เรื่อง และมีงานนอกด้วย ผมว่าประสบการณ์ของการทำหนังหลายเรื่องเลยเป็นเหมือนหลักสูตรเทรนนิ่งให้กับนักแสดงรุ่นต่อมา คือซ้อมตรงนี้ถึงจะปลอดภัย ได้ความรู้จริง เราไม่มีมหาวิทยาลัยแต่เรามีประสบการณ์ที่มันกลายเป็นอณูไปแล้วว่าเราจะขยับยังไง ก้าวยังไง
“เรามีการตั้งเกณฑ์มาตรฐานไว้ว่าฉากที่เสี่ยงตายมากที่สุดก็ต้องมีความปลอดภัยมากที่สุด ถ้าไม่ปลอดภัยเราไม่ถ่าย บางคนบอกว่าทีมงานของพันนาโง่ที่มาบู๊กัน แต่มันไม่ใช่ เพราะคนเขาไม่รู้ไง ถ้าไม่ปลอดภัยก็เหมือนกันการวัดดวงซึ่งเราไม่เอา ทีมงานผมไม่เคยมีใครเคยเสียชีวิต มีแต่ลงข่าวว่าบาดเจ็บเท่านั้น”
อย่างที่เราเห็นกันอยู่ว่าการแสดงคิวบู๊นั้น มีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา แต่ด้วยความเป็นมืออาชีพของการทำงานที่ทำให้กับความเสี่ยงให้กลายเป็นความไม่เสี่ยง ตามที่คุณพันนานั้นได้วางแผนเอาไว้ให้ดีที่สุด แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเคยเกิดเหตุการณ์พลาดพลั้งบาดเจ็บบ้าง
“เคยมีอยู่ในช่วงตอนหนุ่มๆ ที่เราไม่รอบคอบ คือกระดูกแขนทะลุออกมาเลย มันเป็นเรื่องง่ายๆ นะ แค่ความสูงไม่เท่าไหร่ เป็นฉากที่โดนกระชากลงมาแล้วเอาแขนค้ำพื้นซึ่งเราต้องป้องกันไม่ให้คอโดนพื้น ปรากฎว่ากระดูกแขนทะลุออกมาเลย ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่มีการบาดเจ็บมากมายอะไร ขนาดที่ว่าผมขับมอเตอร์ไซค์ประสานงานกับรถปิคอัพ แล้วตัวลอยข้ามรถปิคอัพก็ยังไม่เป็นไร”
หนังที่เขาเลือกให้เป็นงานมาสเตอร์พีซที่ประทับใจมากก็คือหนังเรื่ององค์บาก ซึ่งออกฉายในวันที่ 31 มกราคม ปี พ.ศ. 2546 องก์บากเป็นผลงานการกำกับโดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว แต่ในส่วนของการกำกับคิวบู๊นั้นเป็นของ พันนา ฤทธิไกร และแสดงนำโดย
จา พนม ยีรัมย์ หนังเรื่องนี้เหมือนเป็นการปลุกกระแสหนังแอ๊กชั่นเมืองไทยให้ฟื้นคืนมาอีกครั้ง โดยจุดขายของหนังเรื่องนี้ที่เป็นเอกลักษณ์คือ การไม่ใช้สลิง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน ทำให้เป็นหนังไทยที่โด่งดังทั้งในและต่างประเทศมากๆ ทั้งในอเมริกาหรือทางฝั่งเอเชียอย่างเกาหลีหรือฮ่องกง รายได้รวมของหนังเรื่องนี้ทั่วโลกประมาณ 620 ล้านบาทเลยทีเดียว
“เรื่ององค์บากทำมากันประมาณ 8 ปี มันเป็นสิ่งที่เราคาดฝัน สิ่งที่เราชอบ มันตอบโจทย์ชีวิตเราว่าเราทำอะไร เราคิดถึงอะไรอยู่ มันเป็นครั้งแรกที่เราคิดแบบนี้ได้ เราเอามวยไทยมาทำ แต่ละทศวรรษจะมี บรูซ ลี, เฉินหลง, เจ๊ท ลี เกิด แต่ครั้งนี้มี จา พนม เกิด แต่ตอนที่ทำหนังเรื่ององค์บากก็ยังไม่รู้ว่าจาจะเกิดรึเปล่า แต่เราเชื่อมั่นในความคิด เราคือมวยไทยโบราณ เราได้บุคลากรที่มีคุณภาพ เราได้ความคิดใหม่จากมวยไทยโบราณ ซึ่งเมื่อก่อนผมคิดจะทำหนังมวยแต่เป็นมวยไทยเวที แต่ครั้งนี้มันทุ่มทับจับหัก สามารถฆ่าคนได้ มันจึงเป็นของใหม่ในความเก่าขึ้นมา
“ผมว่าหนังแอ๊กชั่นไม่มีวันตาย ไม่ว่าจะเป็นหนังของประเทศไหนก็ตาม อย่างหนังแอ๊กชั่นของฝั่งยุโรป ผมว่าเขาเก่งนะ เขามีเทคนิคสูงมาก ผมยังชอบเลย แต่สตั๊นท์แมนของไทยมีใจ แล้วก็มีความเป็นไทย หนังแอ๊กชั่นของผมในแง่ของศิลปะ เราก็ถ่ายทอดความเป็นศิลปะลงไปให้เด่นชัดก็พอ”