อานนท์ ไพโรจน์
เขาจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาศิลปะอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เริ่มสร้างชื่อให้กับตัวเองบนเวทีการประกวดการออกแบบ และชนะมาหลายรายการ อีกทั้งยังพัฒนาฝีมือในแนวโมเดิ้ร์นที่โดดเด่นจนหาตัวจับยากคนหนึ่ง จนเมื่อเรียนจบก็ได้รับโอกาสหลายอย่างจากบริษัทที่เขาได้ร่วมงาน รวมทั้งกรมส่งเสริมการส่งออกด้วย
“เวลาไปงานแฟร์ในต่างประเทศก็เริ่มมีคนเรียกชื่อเรา ผมก็ดีใจ อย่างเมื่อก่อนพิมพ์ลงไปในกูเกิ้ลมีหลักพัน เดี๋ยวนี้เกือบถึง 20 ล้าน แต่จริงๆ ผมก็ไม่ค่อยเชื่อว่าคนที่ได้เสียงข้างมากจะเป็นคนคนที่ประสบความสำเร็จ การที่มีคนเยอะๆ มาบอกว่าเราประสบความสำเร็จ ผมว่ามันไม่จริง เพียงแต่ว่ามันเป็นการวัดผลได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น เราดีใจที่มีคนเรียกชื่อเราแล้วถ่ายรูป ทั้งที่เราไม่เคยเจอเขา และไม่ได้ไปบอกใคร เพียงแต่ว่าเรารู้สึกว่าการที่เขาชอบเราจากความคิดจากทัศนะคติและการสื่อสารจากงาน ผมเชื่อว่าคนรู้จักงานก่อนรู้จักผม”
ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของ บริษัทอานนท์ ไพโรจน์ ดีไซน์สตูดิโอ จำกัด ที่มีสายงานหลักอยู่ 4 อย่างคือ การออกแบบภายใน ทำงานให้กับคอนโดชื่อดัง การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ทำให้กับโรงงาน และทำงานให้ตัวเอง การดีซายน์เซอร์วิสที่ทำงานร่วมกับแบรนด์เนมต่างๆ และในส่วนสุดท้ายคือการทำเวิร์คชอป ให้โอกาสผู้ที่สนใจในการเรียนรู้เรื่องการออกแบบสู่ประสบการณ์จริง
“ผมมองว่าโจทย์งานออกแบบของผมคือการตีโจทย์ การจะสร้างอะไรขึ้นมา
สักอย่าง เราต้องสร้างองค์ความรู้ เช่น อาจเป็นเหตุการณ์บ้านเมือง ธุรกิจ เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ หรือสุดท้ายอาจย้อนกลับมาที่สิ่งใกล้ตัว ผมว่าประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาทางด้าน
การศึกษา แต่มีปัญหาเรื่องของปัญญา คนที่เรียนเยอะไม่ได้หมายความว่าเขามีปัญญา ถ้าเขาไม่ได้เอามาใช้ในทางที่ถูก หรือไม่ได้ใช้ในแง่บวก บางคนไม่มีปริญญา แต่หาเลี้ยงชีพได้ เพราะฉะนั้นถามว่าสิ่งสำคัญคืออะไรที่เราควรจะโตแล้วเรียนรู้ไปกับมัน ผมเชื่อว่าทุกศาสตร์ขององค์ความรู้มนุษย์มีการอุปโลกน์ มีการแบ่งแยก อย่างบ้านถ้ามันใหญ่เท่าตึกจะเรียกว่าบ้านหรือเปล่า หรือถ้าเล็กนิดเดียวจะเรียกว่าเฟอร์นิเจอร์ไหม”
ส่วนผลงานที่เขายกให้เป็นมาสเตอร์พีซในช่วงเวลานี้นั้นคือ งานดีซายน์ที่มีชื่อว่า Cell เป็นงานชิ้นที่โด่งดังในต่างประเทศ โดยเบื้องหลังของงานตัวนี้คือการออกแบบชิ้นแรก
ตั้งแต่เขาลาออกมาจากการเป็นพนักงานบริษัทเพื่อมาทำงานอิสระของตัวเอง ด้วยความเชื่อ
ที่ว่าน่าจะอยู่รอดได้ ซึ่งก็เป็นผลสำเร็จตามที่คาดหวังไว้ โดยเขามีการออกแบบในไอเดียใหม่ที่ฉีกกฎเดิมของการหล่องานขึ้นมาสักชิ้นว่าจะมีน้ำหนักมาก ใช้วัสดุเยอะ ทำให้เนี้ยบ ก็เปลี่ยนใหม่ทำให้ Cell ของเขานั้นบางและเนี้ยบ ซึ่งกว่าจะทำต้นแบบเสร็จสมบูรณ์ก็
กินเวลาไปเป็นปี
“ความจริงสิ่งที่ผมออกแบบมันไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์อย่างเดียว เพราะทั้งหมดมันคือเทคนิคองค์ความรู้ ถ้าให้ผมออกแบบเก้าอี้ 4 ขา เราตามเขาไม่ทันหรอก เราต้องทำสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น เราจะทำอะไรที่จีนไม่อยากทำ ฝรั่งขี้เกียจทำ ก๊อปปี้ยากด้วย เพราะมันพูดถึงรายละเอียดที่ซับซ้อนมากขึ้น แล้วพิสูจน์หลักการที่ทำด้วยว่ามั่วหรือเปล่า พอเราทำมันได้ขึ้นมาชิ้นหนึ่ง คราวนี้เรื่องของเทคนิคมันจะเป็นอะไรก็ได้
“งานชิ้นนี้ที่ประเทศจีนสั่งเราไป แล้วเขานำไปอยู่ย่านเดียวกับสนามกีฬารังนกของจีน เรารู้สึกดีใจมากที่มันไปคล้ายกัน เรายังแอบคิดเลยว่าอยากจะเอาไปตั้งใกล้ๆ คือผมเชื่อว่าทุกอย่างบนโลกนี้รวมถึงเรื่องเพลงและดนตรีมันอาจไม่ใช่เรื่องของการก๊อปปี้หรอก อาจจะมีอะไรบางอย่างที่ถูกแปรรูป”
ส่วนงานที่เขามีโครงการที่จะสร้างให้เกิดขึ้นในปีหน้าก็คือ การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการศึกษา เป็นโครงการที่ร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก ที่ไม่ใช่การออกแบบ แต่จะนำดีซายน์ใหม่ๆ ไปใส่ในชุมชนผลิตภัณฑ์ของกลุ่มโอท็อป เพื่อทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ให้กับชุมชนอย่างเช่นแพ็คเกจ ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกไปยังต่างประเทศง่ายขึ้น
“ผมมองว่าไม่ใช่เอาดีซายน์ไปขาย แต่เอาความรู้ไปให้ด้วย อย่างการออกแบบโดยไม่วางแผนนั้นไม่ควร อย่าออกแบบโดยที่ไม่จุดยืน ทุกวันนี้จึงมีคนที่เคยทำโถเซรามิก 5 ดาว แต่ปีต่อมาไม่ได้รางวัล ก็มาต่อว่าทำไมไม่ได้รางวัล เพราะเขาไม่ได้เข้าใจว่าคุณไม่ได้สานต่อความรู้ ผมว่าความคิดสร้างสรรค์มันไม่ใช่การคิดอะไรใหม่ แต่เป็นความคิดดีๆ ซึ่งมันดีต่อคน ดีต่อธุรกิจ มันดีในเชิงอื่นๆ หรืออย่างโครงการนี้ ผมมองว่าไม่ได้เอากระดาษไปยื่นให้เขา แต่เราจะเข้าไปร่วมด้วย”