ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์

ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์

ทายาทสาวสวยวัย 30 ต้นๆ แห่งเครืออัมรินทร์ฯ ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กับตำแหน่งซีอีโอ สายธุรกิจ ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ ภาระอันหนักอึ้งเกินวัยของเธอ เธอมีวิธีสานฝั่งฝันธุรกิจให้เจริญก้าวหน้าและดำเนินไปอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตาม ได้ยินมาว่าบ่อยครั้ง เธอเลือกที่จะปลีกวิเวกจากธุรกิจพันล้าน เข้าหาทางสงบในสถานปฏิบัติธรรม เป็นการชาร์จพลังงาน ก่อนจะกลับมาลุยงานต่อ

 

นับตั้งแต่ “ระริน” หรือที่ใครๆ เรียกชื่อเล่นว่า คุณแพร เรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคณะและมหาวิทยาลัยเดียวกันกับที่คุณพ่อ ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ เรียน เส้นทางของแม่ทัพแห่งนครอักษรคนนี้ ก็เหมือนกับถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้น ให้เป็นหลักในการสานต่อธุรกิจครอบครัว โดยใช้เวลาบ่มเพาะประสบการณ์ร่วม 10 ปี ก่อนที่เธอจะก้าวขึ้นเป็นนักบริหารมืออาชีพอย่างเต็มตัว ผลิตหนังสือเล่มและนิตยสารหลายสิบหัว อาทิ บ้านและสวน, แพรว, สุดสัปดาห์, ชีวจิต, WE, room, my home, Health & Cuisine, Secret รวมทั้งร้านนายอินทร์ และสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ฯลฯ ภายใต้โลโก้รูปสามเหลี่ยม ที่รวมความเป็นอักษร อ.อ่าง อมรินทร์กับตัวอักษร A เข้าไว้ด้วยกัน

 

หลายคนคงหลับตานึกภาพถึงผู้บริหารคนนี้ที่จะต้องทำงานหนัก ในแต่ละวินาทีมีค่ามากมายขนาดไหน สาวมาดมั่น ที่พูดจาไพเราะ หัวเราะง่าย ใจมั่นคงใฝ่ธรรมะนามนี้ เธอมีคำตอบที่ออกมาจากใจดุจสายน้ำอันงดงาม

 

สายน้ำไหล...ระริน

“ระริน แปลว่า สายน้ำ น้ำใสไหลเย็น ค่ะ ตอนแพรเด็กๆ เป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ทำงานหนักมาก เป็นช่วงก่อร่างสร้างตัว ยังไม่มีอะไรที่เรียกว่าร่ำรวยมากมาย เป็นชนชั้นกลาง คุณพ่อกับคุณแม่ก็ไม่ได้เลี้ยงดูมาอย่างคุณหนู ท่านคำนึงถึงการศึกษาของลูกๆ อยากจะเรียนอะไร อยากจะเลือกทำอะไรก็แล้วแต่ลูก แพรเป็นลูกสาวคนโต และมีน้องชายอีกหนึ่งคน คุณพ่อกับคุณแม่ไม่เคยบอกเลยว่าจะต้องมาทำงานที่อมรินทร์ฯ แม้กระทั่งตอนเรียน เข้ามหาวิทยาลัย อยากเลือกอะไร ก็แล้วแต่ ท่านไม่เคยพูดเลยว่าจะต้องกลับมาทำที่นี่ เพราะทางเดินเป็นของเราเองแล้ว

 

“ด้วยความเป็นเด็กค่อนข้างเรียนดี ท่องจำเร็ว (หัวเราะ) ตอนที่เรียนโรงเรียนจิตรลดา ก็ได้เข็มเรียนดี พอมาเรียนอยู่ที่จุฬาฯ ในปีแรกๆ อาจจะไม่ได้ทุ่มเทกับการเรียนเท่าที่ควร เพิ่งจะมาตั้งใจเรียนเอาเมื่อปี 3 ปี 4 เพราะไม่ได้ตั้งเป้าว่าเราจะต้องเอาเกียรตินิยมให้ได้ แต่ตอนคุณแม่เรียน ท่านได้เกียรตินิยม แต่ก็ไม่ได้กดดันอะไรมาก ช่วงปี 3 ปี 4 จะทำกิจกรรมเยอะ เนื่องจากเลือกวิชาโท ละคร แพรก็จะเป็นผู้จัดการอยู่เบื้องหลัง รู้สึกว่าตัวเองไม่ชำนาญเรื่องการแสดง ตอนนั้น จะมีการฝึกงานที่กาดสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ ที่เขาเปิดโรงละครใหม่ๆ เราก็ไปฝึกงาน 3 เดือน ได้ทำงานกับโรงละครจากต่างประเทศที่เข้ามาเล่น

 

“ประสบการณ์ส่วนมากจะได้จากงานกิจกรรม เพราะมันทำให้เราได้รู้จักคน รู้จักการทำงานเป็นทีม ตอนไปทำงานละครกรีซที่กาดส่วนแก้ว แพรจะดูแลเรื่องเสื้อผ้า เราต้องรับผิดชอบในการแต่งตัวของนักแสดงตัวเอกซึ่งมีเวลาเปลี่ยนชุดสั้นมาก เวลาเขาเข้าฉากปุ๊บ เราต้องเตรียมเปลี่ยนชุด รูดซิป ดูความเรียบร้อย เราต้องมีสติในการเตรียมงาน เช็คความเรียบร้อย ก็สนุกกับตรงนั้น ได้ไปอยู่ต่างจังหวัดด้วย นอนในที่ไม่สบายเหมือนบ้านเรา กินอาหารในโรงอาหาร ทำงานกับฝรั่ง ก็เลยได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต

 

“ถ้านึกถึงสิ่งที่เสียดายที่ตอนเด็กๆ ไม่ได้ทำก็คือการเล่นดนตรี สมัยเรียนโรงเรียนจิตรลดา แพรจะเล่นขิม จากนั้นก็ทิ้งไปเลย รู้สึกเสียดายที่ตัวเองไม่ได้เรียนดนตรีสักชิ้น ถ้าย้อนกลับไปได้ อยากจะเลือกดนตรีสักชิ้นที่จะอยู่เป็นเพื่อนเรานึกถึงวันนี้ พอเรามีลูก ถ้าเราได้เล่นดนตรีให้เขาฟังบ้าง มันก็จะดีต่อลูกเรา ก็เลยรู้สึกเสียดาย

 

“หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย ก็หยุดเสาร์-อาทิตย์ พอวันจันทร์ก็มาทำงานเลย ตอนนั้นรู้แต่ว่าต้องไปเรียนต่อ แต่อยากทำงานก่อน ณ ตอนที่เราเรียน เรารู้อยู่แล้วว่าจะต้องมาช่วยคุณพ่อกับคุณแม่ เพราะเราสนใจเรื่องงานหนังสือ แล้วเราเห็นคุณพ่อคุณแม่ทำ ก็สนุกดี เพราะเราโตมากับหนังสือ อ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ ก็คิดแล้วว่าจะมาทำ เพียงแต่ว่าตอนนั้นคิดว่าเราจะมาเริ่มตรงไหนดี ก็มาคุยกับคุณแม่ว่าจะเริ่มตรงไหนดี คุณพ่อกับคุณแม่ก็แนะนำว่าน่าจะไปเริ่มจากฝ่ายขายก่อน ไปอยู่อมรินทร์บุ๊กเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกและเป็นบริษัทในเครือ เพื่อที่เราจะได้รู้จักลูกค้าของเราก่อน

 

“แพรไม่ได้เป็นคนที่รู้สึกว่าฉันจะต้องไปค้นหาตัวเองก่อน ไม่มีความรู้สึกอย่างนั้นเลยนะคะ เรารู้แต่ว่า มันมีงานรออยู่ เราก็ต้องไปทำ ไม่คิดว่าต้องไปเที่ยว คุณพ่อกับคุณแม่ท่านทำงานมาเหนื่อย เราก็ทำงานเลย ทำงานฝ่ายขาย เป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการขาย ในตำแหน่งที่เป็นลูกน้อง จะมีหัวหน้า จึงมาเรียนรู้งาน อยู่เกือบ 2 ปีถึงได้ไปเรียนต่อปริญญาโท ที่ประเทศอังกฤษ สาขาการตลาดเพราะไม่ต้องสอบเลข ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองไม่ชำนาญเลย ที่สนใจด้านมาร์เก็ตติ้ง เพราะต้องเรียนเรื่องการรู้จักลูกค้า เรียนเชิงบริหาร ใช้เวลาสั้น เรียนเพียงหนึ่งปีครึ่งเท่านั้น

 

“วิชามาร์เก็ตติ้งมีอิทธิพลต่อคุณพ่อด้วย คุณพ่อท่านมองเห็นการเติบโตของบริษัทว่าในการที่จะเติบโตต่อไป เรื่องมาร์เก็ตติ้งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่ก่อนเราทำกันไปทำแบบโปรดักชั่นเบส อยากทำอะไร เราก็คิดกันไป แต่คุณพ่อท่านมองเห็นว่าในอนาคตบริษัทต้องเติบโต มันต้องมีคู่แข่ง มันต้องมีการวางแผน เราควรจะมีพื้นฐานด้านนี้ เพราะมันเป็นวิธีคิดเบื้องต้นในการดูว่าระหว่างความต้องการของตลาดกับสิ่งที่เราจะทำได้ มันคืออะไร คุณพ่อจึงแนะนำว่าควรจะไปเรียนด้านนี้”

 

สานฝันในวัยใส

“แพรไปเรียนปีครึ่ง ช่วงปิดเทอม ก็กลับมาช่วยงาน เพราะมีโพรเจ็กต์พระมหาชนกพอดี ก่อนไปเรียนก็มีโพรเจ็กต์พระมหาชนกอยู่แล้ว กลับมาก็เป็นช่วงที่มีอีกเวอร์ชั่นหนึ่งออก จึงกลับมาทำเวอร์ชั่นใหม่ เมื่อเรียนจบ แพรก็กลับมาทำงานเลย ไม่ได้มีช่วงหยุดเพื่อจะไปเที่ยว มีความสุขสนุกกับการได้ช่วยงานคุณพ่อกับคุณแม่ทำงาน ไม่ได้มีความรู้สึกว่าจะต้องหนีไปไหน ที่ทำอยู่เราก็มีความสุขอยู่แล้ว การไปเรียนทฤษฏี มันทำให้เรารู้ว่าในการที่เราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง มันควรจะคำนึงถึงอะไรบ้าง มันทำให้เราเตรียมรับสิ่งที่อาจจะเป็นอุปสรรคหรือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นแบบไม่คาดฝันได้

 

“การที่เรามีพื้นฐานมา ทำให้เราคิดได้ว่าบางอย่าง เราทดสอบก่อนดีไหม ฟังเสียงผู้บริโภค บางอย่างเขาอาจจะไม่ได้เหมือนเรา เราอาจจะมองอยู่มุมเดียว เราควรจะฟัง มันทำให้เราฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคมากขึ้น เราคิดจากตรงนั้นแล้วมาต่อยอดจากตรงนั้นมากขึ้น เราฟังเสียงจากผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน จากความชำนาญที่เราทำอยู่ เราเห็นอะไร มันก็ต้องเอามาบวกกัน คิดว่าสินค้าดีแล้ว มันต้องขายได้ แต่ไม่ใช่แค่นั้น ต้องบวกการสื่อสารด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นเรื่องของสินค้าที่ดี บวกกับการสื่อสารที่ดี จึงได้พื้นฐานมา ทำให้เรานำมาใช้ในการทำงาน เป็นหลักทั่วไปในการทำธุรกิจ เพราะของดีอย่างเดียว แต่วันนี้ถ้าคุณสื่อสารไม่เป็น ของดีก็ตายได้เหมือนกัน หรือสื่อสารดีมาก แต่พอคนซื้อของไป ของคุณห่วยแตก คุณก็ขายได้เพียงครั้งเดียว แล้วไม่มีใครยุ่งกับคุณอีกแล้ว

 

“ถ้าในแง่ของอมรินทร์ฯ คุณพ่อท่านจะมีหลักของบริษัทที่ว่า ‘เราทำงานเพื่อความสุขและความรุ่งโรจน์ของสังคม’ คุณพ่อไม่ได้คิดมาแล้วทำทันที คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า คุณพ่อคิดคำนี้แล้วทิ้งไว้อีก 2 ปีว่ามันจริงไหม เราทำสิ่งนี้ จริงหรือเปล่า ไม่ได้คิดปุ๊บ ฟังดูดีแล้ว ก็เอาคำนี้เลย คุณพ่อใช้เวลาดูเหมือนกันว่ามันใช่ไหม ถ้าใช่ก็จึงลงมือทำให้เป็นปณิธาน เหมือนเป็นหลัก เป็นมอตโต้ให้กับคนทำงานรุ่นต่อๆ มาให้ยึดหลักนี้ แพรก็เลยไม่ได้มีแค่สินค้ากับการสื่อสาร แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่ง นั่นก็คือปณิธานของบริษัท เพราะออกไปแล้วมันสร้างผลเสียให้กับสังคมหรือผู้เสพ เราก็ไม่ทำ เพราะมันก็ไม่ตรงกับ ปณิธาน เพราะฉะนั้นปณิธานก็จะเป็นอีกตัวหนึ่ง ที่ทำให้เรานึกถึง มันมีหลักยึดว่าเราจะทำอะไร

 

“ตอนไปอยู่อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์นั้นไม่ค่อยเท่าไร เพราะว่าสายงานขายที่ค่อนข้างจะยุ่งกับผู้บริโภค และทีมงานเป็นอีกลักษณะหนึ่ง แต่พอกลับมาอยู่ที่ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง เป็นตัวผู้ทำ ซึ่งเราต้องดีลกับคนทำงาน คนทำงานหนังสือ เราก็รู้อยู่ว่าค่อนข้างเป็นศิลปิน (หัวเราะ) แล้วยุคนั้นไม่ค่อยมีการตลาด เราก็ทำในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดแล้ว พอเรามาตั้งหน่วยงานการตลาด ต้องสื่อสารภายในอย่างแรง ว่าทำไมต้องมีการตลาด ทำไมต้องมีการวิจารณ์หนังสือ คอลัมน์นี้อย่างนี้ ควรจะเปลี่ยนตรงนี้นะ ต้องมีการทำรีเสิร์ช ฟังจากเสียงผู้บริโภค มันจะเปิดให้คนวิจารณ์เรา ซึ่งแต่ก่อนเราไม่เคยทำ พอมันผ่านมาแล้ว เราเข้าใจว่ามันธรรมดา มันต้องมีการเปลี่ยนแปลง”

 

อมรินทร์อินเทรนด์ 

“การเติบโตของอมรินทร์ฯ ตั้งแต่ย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน คุณพ่อวางไว้ว่าต้องทำงานอย่างมีคุณภาพ มันจึงเป็นจุดที่เราจะต้องทำสิ่งนั้น สิ่งโน้น สิ่งนี้ต่อไป เราเริ่มต้นด้วยการทำนิตยสาร ด้วยกองบรรณาธิการ เราจ้างคนอื่นพิมพ์ เราจ้างคนอื่นทำ แต่เราพบว่าเราไม่พอใจกับงานพิมพ์ พอเราไม่พอใจ เราทำอย่างไร เราก็เลยต้องมีโรงพิมพ์เอง

 

 “พอเราให้คนอื่นขาย เราก็พบว่าชีวิตเราอยู่ในกำมือเขาแล้ว แล้วการขายยุคนั้น ไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย กว่าจะรู้ว่าหนังสือขายได้ มีของเหลือกลับมาเท่าไร ต้องใช้เวลาหลายเดือน เมื่อเราไม่รู้ข้อมูลโดยตรง เราก็ต้องขายเอง พอเราขายเองด้วย การขายส่งได้สักระยะ แล้วอย่างไรละ จึงเป็นที่มาที่เราจะต้องมีร้านหนังสือของเราเอง เราจะได้ควบคุมคุณภาพของเราได้ เราจะได้รู้จักกับผู้บริโภค จึงทำให้เราเกิดร้านนายอินทร์ แพรคิดว่าเป็นเรื่องที่เหนื่อยที่สุด ช่วง 1-2 ปีแรก คุณพ่อกับคุณแม่เหนื่อยมาก แล้วเราไม่มีโนฮาว เราก็ต้องอาศัยโนฮาวจากพนักงาน ที่เขามาทำ กว่าจะเรียนรู้กันไป ต้องเรียกว่าสู้กันสุดๆ ปัจจุบันเทร็นด์มันเปลี่ยน ต้องขึ้นห้าง สรรพสินค้า เรียกได้ว่าอดทนแล้วก็สู้ เราเจอปัญหาอะไร เราก็แก้กันไป

 

“ส่วนหนึ่งที่มันไปด้วยอีกส่วนหนึ่ง เป็นเพราะเรามีแบ็ค คืออมรินทร์พริ้นติ้งฯ เราเป็นผู้ผลิตด้วย ถ้าเราไม่เป็นผู้ผลิต มันก็อาจจะเหนื่อยกว่านี้ แต่ด้วยความที่เราเป็นผู้ผลิตด้วย ทำให้นายอินทร์มีแบ็ค คือตัวหนังสือกับสำนักพิมพ์ด้วย ในการที่จะทำให้ร้านมีความแตกต่างจากที่อื่นในแง่ของการเล่นมาร์เก็ตติ้ง มาถึงวันนี้ได้ มันก็ผ่านการต่อสู้ มีความพยายาม มีการเรียนรู้มาเยอะมาก มันก็เกิดจากการขยาย มาอยู่ในห้างเดอะมอลล์ทุกร้าน ทุกสาขา มาในห้างเซ็นทรัล เราก็เริ่มมีพันธมิตร จากพันธมิตรจึงทำให้เราเติบโตมา ก็เกิดจากการวางแผนด้วย โดยเน้นความมีคุณภาพ

 

“ระยะเวลา 10 ปีที่แพรทำงานมา แพรพูดกับพนักงานและทีมงานเสมอว่า สิ่งที่ขายดีที่สุดคือความศรัทธา ยกตัวอย่างวัด การบริจาคที่เยอะที่สุดคือพุทธบริษัท ต้นทุนแทบจะไม่มีอะไรเลย มาจากศรัทธา แต่ศรัทธาในงานธุรกิจคืออะไร ศรัทธาในงานธุรกิจมาจากการทำสิ่งที่ดีมีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ดีแล้วต้องสม่ำเสมอด้วย แล้วคุณจะได้ศรัทธาจากลูกค้า ศรัทธานี้มันจะทำให้เราอยู่ได้อย่างยั้งยืน แพรจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ ว่าทำอะไรแล้วทำให้ดี อย่าทำไม่ดี ออกไปแล้วโดนคนว่า มันจะไม่คุ้มกัน

 

“อย่างเราทำแมกกาซีนแต่ละเล่ม กว่ามันจะอยู่ได้ มันต้องใช้เวลา เราก็ต้องทำอย่างต่อเนื่อง อัมรินทร์ฯ เองก็เคยเจอวิกฤติ ในช่วงที่ฟองสบู่แตก ช่วงนั้นก็วิกฤต เพราะโฆษณาเป็นรายได้หลักของบริษัท เพราะมันกระทบ โฆษณาเป็นส่วนแรกที่ตกฮวบลงไป เพราะฉะนั้นจึงกระทบกันหมด แล้วเราทำอย่างไร ทุกคนก็ต้องปรับตัว ลดค่าใช้จ่าย ทุกคนต้องช่วยกันประหยัด ยุคนั้นคุณพ่อยังไม่ได้จากไป ทุกคนก็มองว่า วิกฤติของเศรษฐกิจมันมีมา แล้วมันก็จะผ่านไป สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือว่า ทำอย่างไรในช่วงวิกฤตินี้ ที่ให้มันอยู่ได้อย่างดีที่สุด เพราะทุกคนเจอมาหมด ตอนนั้นที่คุณพ่อตัดสินใจ เราปิดนิตยสารไปบางเล่ม เพราะคุณพ่อมองว่ามันเป็นภาระมากเกินไป สำหรับบริษัทแล้วมันขาดทุน เราก็ต้องตัดใจ เพื่อที่จะรักษาส่วนอื่นๆ ไว้

 

“เวลานั้นคุณพ่อจึงตัดสินใจปิดหนังสือ 2เล่ม วิกฤตินี้ก็เป็นโอกาสอย่างหนึ่งของเราด้วย ทำให้เป็นช่วงที่เราลุกขึ้นมาปรับหนังสือกันเยอะ โจทย์ก็คือการลดต้นทุน อย่างหนังสือ ต้นทุนก็คือกระดาษ เราก็ลดจำนวนหน้าลง แต่ลดจำนวนหน้าอย่างไร ที่ไม่ทำให้ผู้อ่านของเรา รู้สึกว่าเขาเสียอะไรไป ซึ่งมันกลายเป็นเรื่องดี แต่ก่อนแพรว สัมภาษณ์ใหญ่ 20หน้า พอเกิดวิกฤติ เราก็ต้องลดหน้าลง แต่พอเราตัด เราไม่มีผลสะท้อนกลับจากผู้อ่านเลย กลายเป็นว่าดี เพราะว่าคนอ่านได้เร็วขึ้น มันกระชับ สัมภาษณ์บางที มันไม่จำเป็นต้องถึง 20 หน้า บางที 10 หน้าก็เพียงพอแล้วที่จะรู้จักใครสักคน ก็ปรับคอลัมน์ที่ไม่เวิร์คเอาออก คอลัมน์นี้ดี กระชับอีกได้ไหม ลดหน้าเป็นหลัก เพราะว่านั้นคือค่าใช้จ่ายหลักๆ ของต้นทุนการผลิต พนักงานก็จะต้องช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไร คอลัมน์ไหนดี คอลัมน์ไหนควรปรับ สุดท้ายทำอย่างไรให้คนอ่านแล้ว รู้สึกว่าเขายังพอใจอยู่ ไม่รู้สึกว่าหนังสือบางลง แพรว่าผู้อ่านก็เข้าใจได้ด้วยว่าเศรษฐกิจมันเป็นอย่างนี้”

 

เพริศแพร้วพรรณนา

“ผู้อ่านส่วนใหญ่ก็เข้าใจ ถ้าเราไม่ทำ ก็ต้องเพิ่มราคา การเพิ่มราคาเป็นอะไรที่น่ากลัวมากกว่า ราคาเดิมแต่ปรับให้หนังสือมันกระชับขึ้น พออ่านแล้วเขาพอใจ มันก็ตอบโจทย์ได้จบ มีอีกช่วงที่เราปรับ ขยับราคาขึ้น ปรับราคาแต่ละครั้ง เราก็ต้องทำให้ผู้อ่านของเรารู้สึกว่าเขาไม่ได้สูญเสีย เขาได้อะไรจากการที่แพงขึ้น ก็ต้องปรับกันไป ที่แพรวหรือบ้านและสวนอยู่ยาวมาถึงทุกวันนี้ เพราะเราปรับตัว เราทำของให้ดีสม่ำเสมอ คำว่าดีสม่ำเสมอ เราจะเอาสิ่งที่ดี เมื่อ 3 ปีที่แล้วๆ มาบอกว่ามันจะดีในปีนี้ คุณคิดผิดนะ แพรอยากจะบอกว่าทำธุรกิจมา หลักไมล์มันไม่มีเส้นชัย มันก็คือผ่านช่วงไปเรื่อยๆ ไม่มีปักธงถึงเส้นชัยแบบนั้น เพราะว่าคนอ่านเปลี่ยนในแต่ละปี มีผู้อ่านใหม่ๆ มา ผู้อ่านเดิมเขาก็อายุมากขึ้น

 

“เพราะฉะนั้นอย่างนิตยสารแพรว คนอ่านอยู่อายุประมาณ 25-40 ปี สุดสัปดาห์ คนอ่านจะอายุ 20-30 ต้นๆ ต้องดูทาร์เกตกรุ๊ปของนิตยสาร แพรจะให้ทุกเล่มทำปรู๊ฟปริ๊นต์ของนิตยสาร นิตยสารทุกเล่มต้องมีปรู๊ฟปริ๊นต์ เหมือนการสร้างบ้าน คุณต้องปรู๊ฟปริ๊นต์ว่า แก่นของหนังสือคืออะไร ต้องชัดเจนกับตรงนี้ ผู้อ่านคือใคร อายุเท่าไร เราปรับได้ไหม ถ้าปรับได้ เราก็จะดูสิ่งนี้ตลอด พอมีแล้วมันจะชัด แพรวเป็นอย่างนี้นะ แต่ถ้าคุณไม่ปรับ จะเกิดอะไรขึ้น เพราะวันนี้แพรวอยู่มาประมาณ 30 ปีแล้ว

 

“ถ้าเรายังอยู่อย่างนั้น ผู้อ่านของเราเมื่อ 30 ปี วันนี้ก็คง 60-70 บางคนไม่อยู่แล้ว แล้วผู้อ่านใหม่ๆไม่มีเลย คุณต้องคอยปรับเสมอให้ผู้อ่านกลับมาใหม่ตลอด เพราะเทรนด์มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เด็กรุ่นนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว อย่างคนอายุ 25ปีเมื่อหยิบแพรวมาอ่าน ไม่ได้รู้สึกว่าเชย มีแต่เรื่องโบราณ เราก็ต้องทำให้คนวัยนี้อ่านได้ มันก็ต้องปรับอยู่เสมอ แล้วคิดและทำอะไร เราก็ต้องปรับปรุงอยู่เสมอ บ้านและสวนก็เช่นเดียวกัน ปรับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาร์ตเวิร์ค เนื้อหา คอลัมน์ วิธีการเขียน การสื่อสาร บรรณาธิการ ก็ปรับ เพราะแพรวเริ่มโตขึ้น ตอนนี้แพรวมีบรรณาธิการมาจนถึงปัจจุบันเป็นคนที่ 4 แต่ยังอยู่กับเราทั้ง4คน เราปรับขึ้นไป คน แรกคุณสุภาวดี โกมารทัต เป็นรองประธาน คุณนวลจันทร์ ศุภนิมิตร ปัจจุบันก็มาเป็น กรรมการผู้จัดการสายงานนิตยสาร คนก่อนหน้านี้คุณฉันทนา ยุทธภูมิ ก็มาเป็นบรรณาธิการอำนวยการ ดูมากกว่า1เล่ม

 

“การคัดสรรบรรณาธิการ ส่วนใหญ่เราพยายามหาคนในก่อน เพราะว่าทำงานกับเรามา รู้จักนิตยสารในระดับหนึ่ง แน่นอน บรรณาธิการต้องมีความรู้หลากหลาย สิ่งที่สำคัญของบรรณาธิการก็คือต้องมีความสามารถในการบริหารคน เวลาและงาน บางคนทำงานเก่งมากแต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นบรรณาธิการได้เสมอไป พอขึ้นมาเป็นบรรณาธิการแล้ว ต้องดีลกับคน กับเวลา มากกว่าดีเทลของเนื้องาน เราให้ความสำคัญว่าคนที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้ ต้องมีทักษะเรื่องการบริหารคนซึ่งสำคัญมาก เรื่องงาน เรายังเติมได้ เรายังช่วยได้ เรายังเสริมให้ได้ แต่เรื่องคน มันเป็นเรื่องทัศนคติที่มาตั้งแต่ต้น มาเปลี่ยนทีหลังยาก พูดง่ายๆ มันเป็นสันดานอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น คนที่เป็นหัวหน้าต้องมีสันดานดี (หัวเราะ) ต้องมีทัศนะคติดี ถ้าเจอหัวหน้าที่ทัศนคติแย่กับแย่ มันจะพาให้ทีมงานแย่ เนื้องานก็แย่ไปด้วย ถ้าเก่งแต่ทัศนคติไม่ดี อย่างนั้นไม่เอา ทัศนะดี ยังไม่เก่งมาก ยังเติมได้ นี่คือสิ่งที่ตัวแพรทำงานมา 10 ปี แพรเชื่อว่าทฤษฏีนี้ถูก

 

“ขอให้มีสันดานดี พอสันดานดี เขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้ แล้วเขาฟัง อย่างหนึ่งของความเป็นหัวหน้า ต้องเปิดใจรับฟัง อย่างแพรทำงานตรงนี้ แพรมีหน้าที่วิจารณ์ค่อนข้างเยอะ เพราะว่าเราดูในฐานะที่เราเป็นผู้อ่านคนหนึ่ง เราต้องวิจารณ์ แล้วการวิจารณ์ที่เกิดประโยชน์ เราต้องวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ถ้าหัวหน้าไม่เปิดใจรับฟัง มีอีโก้ คิดว่าของฉันดีที่สุดแล้ว เสร็จเลย แล้วแพรก็เห็นว่าเสร็จมาหลายคน แล้วก็ไปต่อลำบาก เพราะว่าพอคุณไม่เปิดใจรับฟังแล้วจะทำอย่างไรได้ งานทุกงานพร้อมถูกวิจารณ์ได้เสมอ แล้วเราวิจารณ์งาน เราไม่ได้วิจารณ์คน เพราะฉะนั้นจะพูดเสมอว่าเวลาวิจารณ์ ให้แยกร่าง อย่าเอาตัวเองเข้าไปผูกกับงาน วิจารณ์งานไม่ได้วิจารณ์คน ทุกอย่างแก้ไขได้ ขอให้ฟัง ขอให้พร้อมจะแก้ไข

 

“เราเองในฐานะหัวหน้า เราก็ฟังว่าคิดอะไร คิดอย่างไร วันนี้แพรบอกว่าแพรมานั่งตำแหน่งซีอีโอ งานซีอีโอหลักๆ คือ หนึ่ง ให้ไดเร็กชั่น สอง ทำหน้าที่สนับสนุนไดเร็คชั่นเพื่อให้ เขาได้รู้ว่าจะไปกันทางไหน จะได้ไปทางเดียวกัน ทิศเดียวกัน แต่เราก็รับฟังคนอื่นด้วย มีความเห็นอย่างไร ตกลงกันแล้วนะไปทางนี้นะ หลังจากนั้น แพรมีหน้าที่สนับสนุน มีอะไรที่เราจะช่วย สนับสนุนให้งานเขาทำได้ดี เป็นไปได้ เราต้องทำงานสนับสนุนเยอะกว่าด้วย

 

“ปัจจุบันมีการซื้อหนังหัวนอกมาทำเป็นนิตยสาร เราก็ต้องใช้นักเขียนไทย ส่วนหนึ่งเราก็แปล แต่การแปลไม่ได้แปลทั้งดุ้น เราก็ต้องใช้ทักษะในการปรับแก้ที่ให้มันเหมาะสำหรับคนไทย ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้แปลทั้งหมด เราก็ต้องมีส่วนที่เราทำเองด้วย แม้กระทั่งนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค เรายังต้องมีคอลัมน์ที่ทำเอง มันเป็นข้อดีที่เราได้เรียนรู้วิธีการทำงานของฝรั่งว่าเขามีวิธีคิดอย่างไร เขาทำอย่างไร แพรว่าไม่ทำให้นักเขียนไทยหายไป แพรว่าเป็นข้อดีที่ว่าเราได้เรียนรู้ อย่างนิตยสาร Instyle ที่เราซื้อมา เสร็จแล้ว เราก็นำมาปรับเรื่องหรือเติมอะไรเข้าไป เราก็ใช้ความสามารถของกองบรรณาธิการเราอยู่ดี ในแง่ที่ไม่ได้แปลมาทั้งดุ้น”

 

โลกที่เปลี่ยนไป

“ในแง่ของธุรกิจ ตอนนี้น่าจะพูดถึงเรื่องของดิจิตอล สำหรับแพรเอง ในฐานะที่เป็นพับลิชเชอร์ แพรว่าการที่มีช่องทางใหม่ๆ ที่ทำให้คนเข้าถึงการอ่านได้ แพรว่ามันเป็นเรื่องดี มันเป็นช่องทางใหม่ แม้กระทั่งพ็อกเก้ตบุ๊ก สำหรับแพรแล้ว คุณจะอ่านอย่างไรก็ได้ คุณจะอ่านหนังสือ คุณแฮปปี้ที่จะอ่านกระดาษ ก็อ่านจากกระดาษ คุณแฮปปี้ที่จะอ่านด้วยแท็บเล็ต ก็อ่านด้วยแท็บเล็ต ในฐานะที่เราเป็นพับลิชเชอร์ เราก็ยังต้องส่งเสริมให้คนอ่านหนังสือ ทางใดก็ได้ ขอให้อ่านก็แล้วกัน

 

“แพรคิดว่า อย่างไรการอ่านก็ยังเป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนา พัฒนาทั้งตัวคนและพัฒนาชาติ การดูไม่ได้ช่วยเท่ากับการอ่าน การอ่านมันจะส่งเสริม มันมีการวิจัยกันอยู่แล้ว การดู การฟัง การอ่านมันทำให้สมองของเราได้ทำงานมากที่สุด เพราะมันสามารถสร้างจินตนาการ ในฐานะพับลิชเชอร์ สิ่งที่เราทำคือการส่งเสริมให้คนอ่าน จะอ่านในรูปแบบไหน แน่นอน เราก็ต้องตามไลฟ์สไตล์เขาให้ทัน จะทางไหนก็ได้

 

“สำหรับอมรินทร์ฯ มันก็ต้องมีด้วย อย่างแมกกาซีนทุกวันนี้ เราก็มีเวอร์ชั่นฟรีแมกกาซีนที่อ่านด้วยiPad เราก็ต้องพัฒนาต่อ เรามีเว็บไซต์ ถ้าพูดถึงในแง่แมกกาซีนก่อน สิ่งสำคัญที่จะส่งเสริมกับทีมงาน ก็คือทำอย่างไรก็ได้ให้คนอยู่กับแบรนด์เรา วันนี้คุณต้องคิดแตกต่างว่าคนจะเจอแพรวในอายุอย่างนี้ เจอที่ไหนได้บ้าง ถ้าเกิดคุณมีทางเดียวให้เขาเดิน มันอาจจะไม่พอแล้ว เพราะวิถีชีวิตไลฟ์สไตล์คนมันเปลี่ยน แล้วจะเปลี่ยนไปอีกในวันข้างหน้า จะมีอะไรอีก เราก็ไม่รู้ นี่คือคอนเทนต์ที่เราต้องการนำเสนอ คอนเทนต์นี้จะไปสู่เขาอย่างไร ในรูปแบบไหน เป็นเรื่องที่เราจะต้องสนุกที่จะต้องทำสิ่งนั้น แมกกาซีนวันนี้ หรืออย่างเว็บไซต์ อย่างแอ๊ปพลิเคชั่น โจทย์ก็คือทำอย่างไรให้มันอยู่กับเรา ทางไหนก็ได้ที่สะดวกกับเขา หน้าที่เราคือส่งคอนเทนต์นั้นมันจะเป็นรูปแบบไหน มันก็ต้องหาวิธีกันไป แต่ละกลุ่มมันก็คิดไม่เหมือนกัน ต้องเอาผู้บริโภคเป็นหลัก

 

“ผู้บริโภคเป็นแบบนี้ ก็จะทำอย่างนี้ๆ ผู้บริโภคแบบนี้ ชอบถนัดแบบนี้ ก็ไม่จำเป็นว่าทุกแมกกาซีนจะต้องเหมือนกันทุกเล่ม ไม่จำเป็น ขอให้มันสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้อ่าน โปรดักชั่นกับการสื่อสารต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง จึงมีการจัดอีเว้นต์เพื่อตอบสนองผู้บริโภค เรื่องมาร์เก็ตติ้งอีเว้นต์ ถ้าทั้งเครือ ของเราจัดกันทุกอาทิตย์ค่ะ (หัวเราะ) แล้วแต่งานและวัตถุประสงค์ของงาน ว่าคืออะไร วิธีไหน และต้องใช้งบประมาณระดับไหน เอาวัตถุประสงค์เป็นตัวตั้งว่าทำเพื่ออะไร ทำเพื่อขยายผู้อ่าน หรือทำเพื่อจะประชาสัมพันธ์หรือทำเพื่อให้ลูกค้าลงโฆษณาได้ประโยชน์ ต้องดูโจทย์ก่อน จากโจทย์ถึงจะแตกออกมาได้”

 

สมบัติอันล้ำค่า

“คุณพ่อท่านเคยเขียนจดหมายให้แพรในวันเกิดว่า ‘สงสารลูก พ่อรู้สึกว่านี่เป็นภาระที่พ่อทิ้งไว้ให้’ แต่แพรบอกคุณพ่อว่า ‘นี่คือสมบัติที่มีมูลค่ามหาศาลต่างหาก ไม่ใช่เรื่องของเงิน แต่เป็นความภาคภูมิใจ เพราะอย่างน้อยในอาชีพนี้ ก็ได้ทำประโยชน์ให้กับคนอื่น แม้ไม่มากมาย ต้องขอขอบคุณคุณพ่อ กับคุณแม่ที่ทำไว้ให้’

 

“แพรมีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ แต่ก็เข้าใจคุณพ่อ วันนี้เรามีลูก ก็เข้าใจว่าทำไมวันนั้นคุณพ่อถึงพูดคำนี้ เพราะว่าการทำธุรกิจมันไม่มีง่ายขึ้น มันมีแต่เรื่องท้าทาย มีเรื่องให้เราแก้อยู่ตลอดเวลา คุณพ่อคงเป็นห่วงว่า มันก็เหมือนเป็นภาระเรา เหมือนเป็นมรดกที่คุณพ่อทำไว้ให้ แล้วคุณพ่อก็ทำไว้ดีมาก สร้างความเชื่อถือให้กับคนอ่านมาไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่นแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของเราที่เราจะต้องสานงานต่อ ขณะเดียวกันวันนี้

 

“แพรมองว่างานก็ส่วนงาน เราก็ส่วนเรา พยายามไม่เอาตัวเอง สนุกกับมัน เราใช้ธรรมะนำทาง เหมือนกับความรัก แต่ไม่ได้ผูกพัน เราต้องวางใจในระดับหนึ่ง แพรถือว่าเรารักในงานที่ทำ มันก็ยังพอจะเป็นประโยชน์กับคนนะ มีคนที่ได้ใช้บริการจากเรา เขามีความสุขและได้ประโยชน์ มันจึงเป็นแรงขับเคลื่อนให้เราได้ทำงานต่อ เราจะได้ไม่เป็นคนเครียด ไม่ได้หมายความว่างานกับตัวฉันเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้างานมันแย่ ฉันต้องแย่ไปด้วย แพรว่าเราต้องรู้จักแยกแยะ แพรเพิ่งจะมาคิดแบบนี้ได้ในระยะหลังๆ เมื่อได้ไปปฏิบัติธรรม แพรจะนึกเสมอว่า ชีวิตเราคืออะไร ชีวิตเราคือ การเวียนว่ายตายเกิด อย่างคุณแม่ท่านมีเป้าหมายชัดเจนมากๆ ท่านไม่อยากเวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว แต่ในชาติไหนไม่รู้ คุณแม่ก็ตอบไม่ได้ นั่นคือหนทางที่คุณแม่จะเดิน คือนิพพาน ส่วนแพรเอง พูดตรงๆ แพรยังไม่เด็ดเดี่ยวอย่างคุณแม่ ยังมีทั้งทางตรงนั้นที่เราอยากจะไป และยังมีทางตรงนี้ที่อยากจะทำ

 

“วันนี้ต้องทำงาน งานก็งาน เราก็เรา เราทำอย่างวางใจ ที่พูดมามันก็ไม่ง่าย แต่ว่านั่นคือสิ่งที่แพรบอกกับตัวเองว่าทำให้ดีที่สุด ทำเหตุปัจจัยให้ดีที่สุด ถ้าเรามั่นใจว่าเราทำเหตุปัจจัยให้ดีที่สุดแล้วก็พึงหวังกับผล ที่มันน่าจะดี มันก็เป็นเรื่องของผล เพราะเราไม่รู้ มันมีเหตุปัจจัยอีกนานัปการ ที่เราไม่เห็น ที่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้น เหตุปัจจัยใดที่เราทำได้ เราทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด ถ้าคุณพ่อมีญาณวิถีใดหยั่งทราบ แพรคงจะพูดอย่างนี้ว่า คุณพ่อ แพรมีความสุขกับการทำงาน ขอบคุณคุณพ่อที่ทำรากฐานไว้ให้อย่างดีมาก แพรก็ทำต่อตรงนี้ และทำเหตุปัจจัยให้ดีที่สุด แต่่เราไม่สามารถจะทำผลได้ เราทำได้แต่เหตุปัจจัยเท่านั้น ซึ่งแพรคิดว่าคุณพ่อคงรับรู้ได้

 

“มีครั้งหนึ่งที่คุณพ่อเคยเขียนคำพูดไว้ ในหนังสือวันที่มะเร็งขึ้นสมอง หลักๆ สรุปรวมใจความ คุณพ่อจะเขียนว่า ‘เวลาเราโต ให้โตอย่างแข็งแรง อย่าโตแล้วมั่ว อย่าเทียบว่ายอดไม้ฉันสูงกว่าคนอื่นแค่ไหน แต่ให้ความสำคัญไปถึงรากด้วย เพราะนั่นคือสิ่งสำคัญ’ แพรว่ามันคือทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ธุรกิจ มันคือทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ 

 

จุดประกายให้การตลาด

กลิ่นอายภายในอาณาจักรอัมรินทร์ฯ ที่คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ ซีอีโอผู้คุมบังเหียนดูแลอยู่มี 13สำนักพิมพ์ 12หัวหนังสือ 36ปีแห่งความยิ่งใหญ่บนเนื้อที่กว่า20ไร่ มีหลากหลายอารมณ์ศิลป์แฝงตัวอยู่ในแต่ละตึก แต่ละชั้น ตามบุคลิกที่คุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ วาดหวังไว้ ท่านให้ความสำคัญกับงานศิลปะมาก ทำให้ศิลปิน นำผลงานมาพิมพ์งานที่นี่จำนวนมาก แม้งานศิลปะจะพิมพ์ยากมาก ตั้งแต่การถ่ายรูป พิมพ์สีให้ตรงกับผลงานของจริง อมรินทร์ฯ จึงเชี่ยวชาญการพิมพ์งานศิลปะของบรรดาศิลปิน

 

วลีความหนึ่งคุณแพรเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าอยากรวยมากๆ ก็ไปทำอย่างอื่น อย่ามาทำหนังสือหรือนิตยสาร เพราะมันไม่ใช่ธุรกิจที่จะสร้างความร่ำรวยมหาศาลให้กับเรา” คุณแพรยิ้มกลั้วหัวเราะ ก่อนจะขยายความอย่างอารมณ์ดีว่า “ต้องบอกว่าในการทำงาน ที่แพรทำหนังสือ มันเป็นงานละเอียดที่ต้องอาศัยทีมงาน เป็นงานที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง มันไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะฉะนั้นถ้าคิดว่าอยากจะมีเป้าหมายว่า อยากจะรวย แล้วรวยเร็วๆ ก็อย่างที่บอก ให้ไปทำอย่างอื่น เพราะงานที่แพรทำ ต้องใช้เวลา ใช้แรงกาย ใช้แรงใจ ใช้ทีมงาน

 

“ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ทำ ถามว่าทำธุรกิจนี้รวยได้ไหม ก็รวยได้ แค่จะบอกว่าคุณต้องให้เวลา ให้แรงกาย แรงใจ ทุ่มเทกับมัน เพราะธุรกิจนี้ มันมีหลายมิติ มันไม่ได้มีสูตรสำเร็จ มันมีมิติเยอะ ถ้าอยากทำงานสบายๆ รวยไวๆ อันนี้อาจจะไม่ใช่ แต่ถ้าไม่ได้เอาความรวยเป็นเป้าหมาย แต่มีความสุขที่ได้ทำสิ่งนี้ ก็ทำเถอะ มันจะได้ความสุขทันที เพราะหนังสือแต่ละเล่มที่เราออกไป มันได้ผลตอบสะท้อนกลับกลับมาทันที มันเป็นความชื่นใจ ที่กลับมาทันทีเหมือนกัน นั่นละคือความหมายของแพร”

จิตวิญญาณแห่งสายน้ำชายคลองบางกอกน้อย ย่านตลิ่งชัน