ตำนานสมเด็จ พระนเรศวรมหาราช
สนุกและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ สำหรับภาพยนตร์แห่งสยามประเทศเรื่องนี้ เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งแต่ภาคแรกมาจนถึงภาคนันทบุเรง ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้เข้าใจความเป็นมาของประวัติศาสตร์ที่ควรจดจำได้เป็นอย่างดี และแม้จะได้มีการวางแผนไว้ว่าภาคหน้า ภาคยุทธหัตถี จะเป็นภาคสุดท้าย แต่ในความรู้สึกผมแล้ว ไม่แน่ใจว่าครั้งหน้าตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะจบลงหรือไม่ เพราะยังมีเนื้อหาประวัติศาสตร์สำคัญๆ อีกหลายอย่างที่น่าพูดถึงผ่านแผ่นฟิล์มให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา
หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวร (พันโทวันชนะ สวัสดี) ประกาศเอกราชที่เมืองแครงเมื่อปี พ.ศ.2127 ก็ทำให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง หรือ นานเตี๊ยะบาเยง (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) ได้โปรดกรีฑาทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาให้กลับคืนเป็นเมืองขึ้นถึง 4 ครั้ง คือในครั้งภาคยุทธนาวี ที่พระยาพะสิม (ครรชิต ขวัญประชา) และพระเจ้าเชียงใหม่นรธาเมงสอ (ชลิต เฟื่องอารมย์) ยกทัพมาตี และศึกนันทบุเรง ในปี พ.ศ.2129 ศึกมหาอุปราชาในปี พ.ศ.2133 และสุดท้ายศึกยุทธหัตถีในปี พ.ศ.2135
โดยในศึกทั้ง 4 ครั้ง การรบในศึกนันทบุเรงถือเป็นอีกศึกหนึ่งที่ก่อร่างสร้างวีรกรรมขึ้นมาอย่างมากมาย ตั้งแต่เรื่องราวของพระแสงดาบคาบค่าย ที่สมเด็จพระนเรศวร ออกปล้นค่ายของมังจาปะโร (ชลัฏ ณ สงขลา) และต้องศาสตรากลางสมรภูมิศึก หรือจะเป็นการรบระหว่างพระราชมนู (นพชัย ชัยนาม) กับลักไวทำมู (สมชาติ ประชาไทย) ยอดขุนพลของหงสาวดีที่ทำให้พระราชมนูพลาดพลั้งเสียที ส่งผลให้สมเด็จพระนเรศวรซึ่งพึ่งหายจากอาการประชวรต้องลุกขึ้นมาสู้กับลักไวทำมูเพื่อล้างแค้น
การเล่าเรื่องของ ท่านมุ้ย-หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้กำกับ ทำได้ตื่นเต้นและสนุกกว่าภาคที่แล้ว ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะได้เฉลยเรื่องราวต่างๆ ที่ทิ้งปมไว้ในภาคยุทธนาวี อีกทั้งยังมีความเป็นดราม่าที่ทำให้คนดูรู้สึกและรู้จักในความเป็นสมเด็จพระนเรศวรมากขึ้น
แม้ว่าปมต่างๆ จะค่อยๆ ถูกคลี่คลาย แต่ก็มีตัวละครบางตัวหายไปจากภาคนี้ อย่างเช่น บทของรัตนาวดี (จักจั่น-อคัมย์สิริ สุวรรณศุข) และอังกาบ (นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) ที่ทิ้งปมรักซ้อนปมรบไว้ในภาคที่แล้ว ในภาคนี้กลับไม่มีการกล่าวถึงแม้สักนิดเดียว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวละครทั้งสองเป็นตัวละครที่ท่านมุ้ยสร้างขึ้นใหม่ และได้ทำหน้าที่ไปแล้ว คือเสมือนเป็นตัวแทนของหญิงชาววังที่ไม่เคยเห็นพม่า และได้แต่คิดไปต่างๆ นานา ว่าพม่ารามัญสูงใหญ่ราว 2 เมตร ซึ่งหลังจากที่ทั้งคู่ออกนอกประตูวังและได้ไปพบเจอ ก็ทำให้รู้ความจริงว่าพม่ารามัญก็มีรูปร่างไม่ได้ต่างอะไรกับชาวสยามแม้แต่น้อย แต่ก็ไม่แน่ว่าในภาคหน้า เรื่องราวปมรักที่ทิ้งไว้ อาจจะกลับมาอีกก็เป็นได้
ฉากดราม่าที่เกิดขึ้นในเรื่อง นับเป็นการดึงคนดูให้ออกจากความตึงเครียดของสนามรบได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องราวของ เลอขิ่น (อินทิรา เจริญปุระ) กับพระราชมนู ที่ต่างแง่งอนกัน และไม่กล้าเปิดเผยความจริงของจิตใจ จนกระทั่ง เลอขิ่นตัดสินใจจะ กลับเมืองคัง พระราชมนูออกมาห้ามพอดี ทำให้กลายเป็นซีนที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจและน่าติดตาม
เลิฟซีนที่เกิดขึ้นในเรื่อง ท่านมุ้ยผู้กำกับก็สื่อออกมาได้อย่างน่าสนใจ ใช้ภาพแทนในการเล่าเรื่องได้อย่างมีศิลปะ อาจมีบางเสียงมองว่าทำไมต้องไปเน้นถึงเรื่องราวแบบนี้ ทำไมไม่เน้นฉากสำคัญๆ ผมมองว่ามันเป็นการผ่อนอารมณ์ของหนังให้ได้อารมณ์ที่ครบถ้วน ลองนึกดูว่าถ้าหากเข้าไปชมภาพยนตร์ที่มีแต่ยิงกัน ฟันกัน ฆ่ากัน ตลอดทั้งเรื่อง มันคงไม่น่าติดตาม ยิ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของพงศาวดาร เป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง การมีฉากที่ทำให้คนดูผ่อนอารมณ์ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และทำให้เรื่องราวสนุกขึ้น
ส่วนของภาษานั้น นับเป็นจุดเด่นมาตั้งแต่ภาคแรกแล้ว เพราะถ้อยคำมีความสละสลวยชวนให้น่าฟัง แต่สำหรับภาคนี้มีการปรับเปลี่ยนภาษาให้ฟังได้ง่ายขึ้นในตัวละครบางตัว คงเป็นเพราะนักแสดงบางส่วนที่รับบทอาจไม่คุ้นชินกับบทพูดในยุคนั้น ทำให้ท่านมุ้ยได้มีการปรับภาษาให้พูดได้ง่ายขึ้น แต่ถึงแม้จะลดทอนลง แต่เสน่ห์ของภาษาและเรื่องก็ไม่ได้น้อยลงแม้แต่น้อย
สุดท้ายแล้ว ใครที่ลุกออกจากโรงภาพยนตร์ก่อนที่ End Credit จะจบลงก็คงต้องบอกว่าน่าเสียดายไม่ใช่น้อย เพราะมีปมบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในเรื่องและถูกเฉลยในตอนท้ายนี้ และไม่ว่าเรื่องราวของตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จะไปในทิศทางไหน จะมีภาคต่อหรือจะจบลงในภาคหน้า แต่ความประทับใจต่อทุกๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องนี้ คงไม่จางหายไป และคงเป็นที่กล่าวขวัญไปอีกตราบนานเท่านาน