พรชัย ใจมา
อาจารย์พรชัย ใจมา คือบุคคลที่แสดงให้เห็นถึงผู้ที่มีลักษณะของความซื่อสัตย์ต่อตนเองโดยแท้จริง ด้วยพื้นฐานความบริสุทธิ์ทางด้านความนึกคิดและจิตใจนั้นได้รับมาจากความที่เป็นคนชนบท จึงมุมานะหาหนทางแห่งการเรียนรู้ด้วยการเข้าสู่ระบบการศึกษาทางธรรม
“สมัยนั้นถ้าผมจะเรียนต่อ ก็ต้องเข้าโรงเรียนของสงฆ์ ซึ่งที่เชียงใหม่ยังไม่มี ผมจึงย้ายไปเรียนที่สุพรรณบุรี ที่วัดสกุลปักษี เป็นรุ่นแรกเลย ที่นั่นถือได้ว่าเคร่งทางวินัยมาก เป็นนักเรียนก็ต้องถือศีลอย่างเคร่งครัดเช่นกัน ช่วงนั้นผมรู้สึกเหนื่อยและคิดถึงพ่อแม่มาก ผมชอบอ่านการ์ตูน ชอบวาดรูป พ่อก็จะหาส่งไปให้ อยู่ที่โน่นได้ 2 ปี ยังไม่ทันได้วุฒิ ม.3 ก็ขอลากลับบ้านก่อน เพราะไม่ไหว”
ครั้นพอเปิดหนังสือเรียนวิชาต่างๆ ดูจึงพบว่า ความสนใจในแต่ละรายวิชาเรียนเขาได้ทุ่มเทไปหมดแล้วในลายเล้นที่บรรจงวาดลงในกระดาษแต่ละหน้า จึงแน่ชัดแล้วว่าสิ่งที่เขาต้องการจะศึกษาคือการเรียนรู้ด้านศิลปะ
แต่พอได้เลือกเรียนในสายศิลป์ที่โรงเรียนธรรมราชศึกษา (วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่) ก็กลับพบว่านั่นยังไม่ใช่ในสิ่งที่เขาต้องการ พบจบชั้น ม.4 ก็บอกให้คุณพ่อพาไปฝึกวาดรูป ท่านจึงพาไปฝากฝังให้เขียนร่มที่บ่อสร้าง แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ในสิ่งที่เขามุ่งหวัง เมื่อเริ่มแน่ชัดแล้วว่าการวาดรูปของเขานั้นต้องมาจากการสร้างสรรค์ชีวิต ซึ่งเขาจะต้องค้นหาทางนั้นให้เจอให้ได้ แต่กลับต้องถอดใจและเลือกที่จะเรียนด้านเกษตรแทน เมื่อตกลงใจว่าจะสมัครสอบที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวะแล้ว โชคชะตาจึงทำหน้าที่ของมัน
“พอไปถึงระหว่างที่จะหาคำว่าช่างกลการเกษตรในใบสมัคร มันก็ไปเจอคำว่าศิลปกรรมพอดี นึกอะไรไม่รู้ก็กาอันนี้ไว้ก่อน พอสอบผ่านเข้าไปเรียนก็เลยพึ่งมาเจอว่า นี่แหล่ะที่เราอยากเรียน”
เขาคิดว่าการเรียนศิลปะจากสถานศึกษาเป็นการเข้ามาศึกษาหาความรู้เท่านั้น เวลาเรียนเพียงสองปีจึงน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับเขา (ระดับ ปวช. ต้องเรียนสามปี) แต่ความตั้งใจนั้นกลับต้องโดนลบล้างเพียงเพราะเขาได้ค้นพบว่า “ศิลปะมีอะไรให้เราได้เรียนรู้อีกมากมาย ไม่จบสิ้น” แรงบันดาลใจที่จะศึกษาต่อจึงเกิดขึ้น
“ผมอยากไปดูว่าศิลปากรเป็นอย่างไร หลังจากรุ่นพี่ (อาจารย์ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ และ อาจารย์อลงกรณ์ หล่อวัฒนา) ขึ้นมาเยี่ยมสองวัน ผมตามเขาลงไปกรุงเทพฯ เลย เก็บเงินค่าขนมรวมเงินได้ประมาณ 300 บาท อยู่ได้สองวัน กลางคืนนอนสนามหลวงเอา (หัวเราะ) ผมไปเกือบทุกอาทิตย์นะ หลังจากนั้นก็ได้เข้าไปนอนที่คณะเขา พี่ๆ เขาก็ติวให้ พอได้เห็นบรรยากาศก็เลยยิ่งตั้งใจอยากเข้าเรียนที่นี่ เคยมีครั้งหนึ่งอยากลงมากรุงเทพฯ แต่ไม่มีตังค์นะ เลยใช้วิธีขอติดรถขนผัก แล้วก็ช่วยเขาขนผักแลกเป็นค่ารถไป (หัวเราะ)”
แม้จะพยายามอย่างเต็มที่ในการทำสอบ แต่ด้วยความหวั่นใจ เขาจึงขึ้นไปบนครูบาศรีวิชัย ทางขึ้นดอยสุเทพ ว่า ‘ถ้าหากสอบติดศิลปากร ผมจะกลับมาช่วยครูบาสร้างวัด’ จากนั้นก็ไปบนที่ศาลหลักเมืองว่า ‘ถ้าสอบติดจะช่วยสร้างสรรค์งานศิลปะสืบต่อไป’
ผลปรากฏว่าติด พอเขาได้เข้ามาเรียน จากแรกเริ่มที่ยังคงมีความคิดว่าจะเรียนไม่กี่ปี “ก็มาเรียนที่นี่เอาเสียนานเลยถึง 6 ปี (หัวเราะ) เพราะงานวิทยานิพนธ์ที่ผมทำมันใหญ่มาก ต้องเขียนวัดทั้งหลัง ใช้เวลานานกับมันอยู่สามปี ช่วงที่เรียนก็มีรับจ็อบบ้าง
ไปประกวดได้รางวัลบ้าง งานก็เริ่มขายได้ เริ่มมีเงินแล้ว ทีนี้พอกลับมาเขียนรูปที่เชียงใหม่ ไม่นั่งรถผักแล้ว นั่งเครื่องบินมาเลย (หัวเราะ)
“จากนั้นผมก็ต่อปริญญาโท ใช้เวลาเรียน 5 ปี เพราะเป็นการเขียนวัดอีกหลังหนึ่งเหมือนกัน พอจบอาจารย์เขาก็อยากให้ผมกลับไปเป็นอาจารย์ที่นั่นต่อ ผมก็บอกท่านว่ามีความตั้งใจเดิมคืออยากจะกลับมาช่วยครูบาสร้างวัด มาทำงานที่บ้านมากกว่า ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ก็อยู่ที่นี่มาตลอด
“แม้จะไม่ได้เรียนกับอาจารย์ศิลป์ แต่สิ่งที่ท่านทิ้งไว้คือจิตวิญญาณ อย่างเวลาที่ผมขี้เกียจ คำว่า ‘พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว’ มันจะสะท้อนอยู่ในใจ ถ้าไม่มีคำๆ นี้ ผมคงไม่มีทุกวันนี้แน่นอน คำพูดต่างๆ ของอาจารย์ศิลป์ที่ถ่ายทอดมามันไม่มีคำไหนมาหักล้างได้เลย เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกถ่ายทอดมารุ่นสู่รุ่น อย่างคำว่า ‘นายคิดถึงฉัน นายไม่จำเป็นต้องทำอะไร นายทำงาน’ ท่านเลยยังอยู่กับพวกเราตลอดไป
“อัตตลักษณ์ของผมคืองานวิถีชีวิตชาวบ้านที่ดูแล้วสบายใจ สังเกตว่าสีจะบางๆ ที่มาของมันก็คือช่วงอยู่ปีสี่ตอนต้น ผมคิดที่จะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ค้นพบวิธีตอนปีสาม สร้างงานที่ถมสีเข้มจนเกินไป จนนำไปล้างน้ำ แล้วปรากฏว่าสีที่ได้กลับพอดี นี่เป็นเรื่องของความบังเอิญ (หัวเราะ)
“เดี๋ยวนี้งานผมจะเน้นไปในแนวเกี่ยวกับพุทธประวัติชาดก เพราะอายุเริ่มมากขึ้น งานพวกนี้ต้องใช้ความละเอียดสูงก็เลยต้องเริ่มทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ งานที่ทำก็มีตั้งแต่บนผืนผ้าใบ ไปจนถึงฝาผนังที่วัด มันต้องใช้กำลังเยอะมาก
“งานชิ้นเอกของผมก็คืองานพระชุดชาดก 10 ชาติของพระพุทธเจ้า ที่จะนำไปเก็บไว้ที่เชียงใหม่ อาร์ต มิวเซียมที่เมื่อสร้างเสร็จ จะสามารถแสดงงานได้ช่วงปลายปี เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ตั้งอยู่ที่สันกำแพง เป็นงานที่กลุ่มศิลปินทำไว้เพื่อไว้เป็นอนุสรณ์ให้แก่คนรุ่นหลัง”
อีกหนึ่งความคิดเห็นเล็กๆ ที่อาจารย์พรชัยได้ถ่ายทอดถึงเรื่องจิตรกรรมฝาผนังที่มีการแทรกเรื่องราวต่างๆ ลงไปจนมีการวิพากษ์ต่างๆ นานา “อย่างโดเรมอนอะไรแบบนั้น มันเป็นเรื่องปรกตินะที่ช่างเขียนภาพจะมีการสอดแทรกอะไรลงไปในงานของเขา เพื่อบอกเล่าเรื่องเรื่องราวของยุคสมัย อย่างงานของผมก็จะมีตัวผมเองไปแอบซ่อนอยู่ในงาน อาจเป็นดงพุ่มไม้อะไรก็ว่าไป มันไม่ใช่เรื่องแปลก
“คนสมัยก่อนเขามีช่องทางการบันทึกประวัติศาสตร์น้อย แต่สมัยนี้มันมีหลายช่องทางก็จริง มันก็ต้องแล้วแต่ผู้ที่สร้างงานเขาด้วย มันเป็นเรื่องของแก๊กน่ะ อย่างวันนี้อาจมีงานที่เขียนว่ามีคนนั่งเล่นเฟสบุ๊กอยู่ก็เป็นได้ มันอยู่ที่มุมมองมากกว่า”