นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
ล่าสุด เต๋อ นวพล ก็ได้ปล่อยผลงานที่เกิดจากไอเดียส่วนตัวชื่อว่า ‘Mary Is Happy, Mary Is Happy’ให้ได้ติดตามกันจนเกิดกระแสในหมู่คนเสพหนังนอกกระแส โดยเรื่องนี้เขาทดลองด้วยการหยิบข้อความในทวิตเตอร์ของสาวน้อยคนหนึ่งมา 410 ข้อความ แล้วนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ขึ้น ไม่ว่าจะมองผ่านแง่มุมไหนล้วนน่าสนใจในผลงานและตัวตนของหนุ่มคนนี้
เขาเล่าว่าตัวเองเป็นคนที่สนใจในพฤติกรรมคนและสังคม สมมติว่ามีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น ความหลากหลายของคนในสังคมมักจะมีพฤติกรรมตอบสนองที่แตกต่างกันไป เขารู้สึกว่าอะไรพวกนี้มันน่าสนใจ
“ชีวิตผมอาจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากสักหน่อย รู้สึกว่าทุกครั้งที่โลกมันเปลี่ยนแปลง ก็เพราะมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ของคน โครงสร้างของสังคมเปลี่ยนแปลงตามไปหมด เอาง่ายๆ คนสมัยก่อนทำไมถึงอยู่กันยาว เพราะกว่าเขาจะจีบกันได้มันโคตรลำบากต้องใช้ความเพียรมากกว่าจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานา เขาจึงรักกันนาน เลิกรากันยาก ไม่มีทางรู้ว่าจะเจอคนต่อไปอีกเมื่อไหร่ ขณะที่วันนี้มีเฟซบุ๊กถ้าเลิกกันวันนี้ พรุ่งนี้เราเจอคนใหม่อีกห้าคนแล้ว ความสัมพันธ์ของคนยุคนี้จึงฉับพลันมาก ยังไม่รู้จักกันก็คุยกันได้แล้ว เพราะเทคโนโลยีเชื่อมคนเข้าด้วยกัน อะไรที่เกิดขึ้นมาใหม่แค่นิดเดียวมันเปลี่ยนสังคมได้เลย”
ในขณะที่หลายคนมักจะมีทัศนคติที่ว่าหนังนอกกระแสดูเข้าถึงยาก ด้วยวิธีคิดที่ตรงข้ามกับหนังตลาด คนทำอย่างเต๋อมองว่าหลายครั้งก็ต้องให้เครดิตคนทำหนังนอกกระแส เพราะบางอย่างที่ฮอลลีวู้ดเอาไปใช้ ก็มาจากหนังทดลองพวกนี้ แต่พอหนังเมนสตรีมนำไปใช้เลยกลายเป็นสไตล์ แต่คนที่ลองทำเป็นพวกแรกๆ ก็คือคนทำอินดี้เหล่านี้
“หนังนอกกระแสอาจจะดูยากก็จริง แต่คนเราพอดูอะไรง่ายตลอดมันก็เบื่อเหมือนกันนะ”
เราจึงได้เห็นบทบาทสองด้านของเขา ทั้งการทำโปรเจ็กต์ส่วนตัวที่ต้องลงมือเขียนบทและกำกับเอง รวมถึงการเป็นทีมเขียนบทให้กับค่าย GTH ที่หลายต่อหลายเรื่องนั้นค่อนข้างจะประสบความสำเร็จและถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง
ซึ่งตรงนี้เกิดขึ้นจากความเข้าใจหนังทั้งสองโหมดอย่างชัดเจน ว่าเรื่องราวประมาณนี้ควรอยู่ในโหมดนอกกระแส หรือเรื่องราวบางอย่างที่มีความเป็นไปได้ นำเสนอแล้วน่าจะโดนคนจำนวนมากก็จะพัฒนาต่อไปในโหมดของแมส (Mass) ที่ต้องเล่าเรื่องให้ง่าย เป็นไปแบบปกติ แล้วถ้าคอนเทนต์แข็งแรงด้วยก็จะยิ่งดี เขาว่าอย่างนั้น
หากสิ่งหนึ่งที่สำคัญและเป็นจุดร่วมของหนังนอกกระแสรวมถึงหนังแมส (Mass) ก็คือ การพัฒนาบทและตัวละคร ที่เป็นการถ่ายทอดภาพในหัวให้ออกมาเป็นตัวหนังสือ และโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มในที่สุด ขั้นตอนนี้เรียกว่าคนเขียนบทจะไม่มีภาพในหัวก่อนไม่ได้ เพราะเมื่อถึงเวลากำกับจะกำกับนักแสดงให้แสดงอย่างที่ต้องการได้อย่างไร ดังนั้นช่วงเวลาของการเขียนบทจึงค่อนข้างนานที่สุด เนื่องจากมีรายละเอียดที่ซับซ้อนและนับว่าเป็นขั้นตอนสำคัญมากที่สุดขั้นตอนหนึ่ง
“การเขียนบทหนังเหมือนการสร้างชีวิตคนขึ้นมา คนมีอะไรซับซ้อน ถ้าไม่เคยเข้าใจคนอื่น ก็ไม่สามารถเขียนตัวละครเป็นคนอื่นได้เลย ตัวละครจะกลายเป็นเราหมด คิดแบบเดียวไปหมด มันจะแบน ออกมาเป็นหนังที่คนไม่ค่อยเชื่อ หนังที่เราเชื่อคือหนังที่ตัวละครมีมิติ ซับซ้อน อาจจะทำอะไรไม่ดี แต่เราเข้าใจว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจแบบนั้น”
ในด้านมุมมองส่วนตัวเขามองว่าหนังนอกกระแสที่ดีคือ “ความเป็นตัวของตัวเอง เหมือนคนกำลังจะออกไปเปิดร้านของตัวเอง ก็แค่ทำให้มันดี แล้วถ้ามันสามารถทำให้อยู่รอดในระยะยาวได้ด้วยก็ดี ไม่เช่นนั้นจะเป็นเหมือนพลุที่ยิงขึ้นไปแล้วก็หาย”
Mary Is Happy, Mary Is Happy จึงสะท้อนชัดว่า การทดลองในครั้งนี้ ทั้งวิธีคิดและมุมมองนำเสนอของเขาดูจะประสบผลสำเร็จไม่มากก็น้อย หนำซ้ำหนังยังก่อให้เกิด Culture กับคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมา สร้างผลตอบรับที่ทำให้คนดูกลับไปทำอะไรต่อหลังจากได้ดูหนังของเขา และที่ไม่น่าเชื่อก็คือ หนังที่บอกว่าอยู่นอกกระแสเรื่องนี้ กลับมีบางคนเข้ามาดูเป็นรอบที่สี่แล้ว ซึ่งหนังแมส (Mass) บางเรื่องยังไม่สามารถทำได้ แต่เขากลับทำให้มันเกิดขึ้นได้
เหมือนทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาล้วนแต่เป็นบทเรียนให้กับเขาอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าผลงานทั้งหลายก่อนหน้านี้จะมีเสียงตอบรับค่อนข้างน่าพอใจ แต่เขากลับมองว่า ตัวเองยังเพิ่งเริ่มต้น ยังต้องมีอะไรอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้และคิดหาแง่มุมใหม่ๆ ต่อไป การทำหนังไม่ใช่ว่ามีบทเรียน 10 บท เรียนจบแล้วก็จบไป แต่การทำหนังมันมีอะไรที่ไม่คิดว่าจะเจออยู่ตลอด เพียงแค่มีความรู้พื้นฐาน หรือประสบการณ์ก้อนหนึ่งไว้กับตัว เวลาไปถ่ายเรื่องใหม่มันก็จะเจอเคสใหม่ ปัญหาใหม่เสมอ
“การทำหนังให้คนไทยดูมันยั่งยืนกว่าทำให้ฝรั่งดู ซึ่งเขาไม่มีทางเข้าใจมุขหรืออะไรบางอย่างที่ต้องการจะบอกได้ดีเท่ากับคนไทย” ประโยคทิ้งท้ายของหนุ่มคนนี้ที่กำลังจะมีผลงานเรื่องถัดไปร่วมกับ GTH ให้ได้ติดตาม อีกไม่นานเกินรอ