บ้านป่าแป๋...

บ้านป่าแป๋...

เราอยู่กันตามหนทางดินแดงที่ขีดเวียนตัวเองอยู่ตามสันเขาระหว่างอำเภอฮอดของจังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่สะเรียงในแดนดอยแม่ฮ่องสอ

ทางไกลสายนั้นแยกย่อยออกจากบ้านกองลอยบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ภาพทะเลภูเขาที่เราเพลิดเพลินระหว่างทางเรียบกริบหายลับไปจากดวงตาเมื่อเราเลือกเข้ามาใช้ทางหลวงชนบทหมายเลข 1270 จากหลุมบ่อค่อยๆ เปลี่ยนตัวเองสู่หนทางลูกรังหลายพื้นผิว สลับสูงชัน รอบด้านคือคลื่นภูเขาสีเขียวแห่งปลายฝน ไร่ข้าวโพดและกะหล่ำปลีคลี่คลุม ไม้ใหญ่ยืนแห้งตายรอห้วงเวลาเผาถาง ราวโลกอวกาศยามเราผ่านเข้าใกล้เขตอุทยานแห่งชาติแม่โถ ภาพทางตาเดินสวนทางกับความเป็นจริงเสมอ

ผ่านพ้น 34 ​กิโลเมตรที่หน่วงหนัก หยอดรถตัวเองไปตามหลุมบ่อที่เพิ่งหมาดโคลน เราเข้าไปถึงเขตบ้านอมพาย เพียงเพื่อที่จะพบว่า บางอย่างได้หยัดยืนและแตกต่างจากภาพด้านนอกราวโลกคนละใบ

ที่ราบผืนใหญ่น้อยที่สลับแทรกแซมอยู่ตามแอ่งดอยคือภาพชัดของการเกษตรอันดำรงตนตามหนทางแห่งบรรพบุรุษ นาขั้นบันไดกำลังเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว หากข้าวคือภาพเชื่อมโยงระหว่างคนตัวเล็กๆ กับผืนแผ่นดิน สำหรับพวกเขา ห้วงนาทีนี้คือภาพชัดอันอ่อนโยนระหว่างผู้คนและพื้นที่ที่พวกเขาหยัดยืนตัวเองอยู่ 

จากหุบดอยที่รายล้อมด้วยผืนป่าและผู้คนของขุนเขา เรามุ่งตรงไปตามแผนที่ง่ายๆ กระดาษแผ่นเล็กๆ ที่ขีดร่างเป็นเส้นทางและหมุดหมายโยงใยกำลังพาเราไปยังอีกหลายหมู่บ้าน

ผ่านบ้านสันติธรรมและหน่วยจัดการต้นน้ำยางอมพาย หากแยกขวา ใครสักคนตรงนั้นบอกว่ามันจะพาเราไปลงแม่ลาน้อยด้วยทางทรหด 

ทางคอนกรีตลำลองช่วยให้เราผ่านเนินชันตรงบ้านสันติธรรมได้ไม่ยาก เมื่อขึ้นไปถึงสันดอย ไร่กะหล่ำของน้องชาวไทยภูเขาเผ่าม้งคลี่ขยาย พร้อมๆ กับขบวนรถกระบะที่มุ่งลงเขาสวนกันบนความกว้างชนิดที่กระจกรถแนบชิด เห็นได้ทุกอณูของรอยยิ้ม บางผืนหากจอดรถแวะดูชีวิตที่ดำเนิน พวกเขาปลูกมะเขือเทศและถั่วแดงสลับเวียน ทว่ามันไม่ได้โยงใยอยู่ด้วยเหตุผลทางเกษตรกรรม กลับผูกยึดอยู่ด้วยระบบทุนที่ส่งผ่านคำว่าราคามาจากพื้นล่าง

ทางป่าเย็นรื่นกลบกลืนเรื่องราวของการเกษตรและปัญหาทบซ้อนที่รอวันแก้ไข พื้นผิวฉ่ำชื้นและเป็นหล่มโคลนอยู่หลายช่วงเพราะเพิ่งหมาดฝนไปไม่นาน เราแวะบ้านไก่ดำของพี่น้องปกาเกอะญอ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ตั้งอยู่บนสันเนิน ไล่ระดับความเติบโตลึกลงไปข้างล่าง

ภาพที่เห็นสวนทางกับหนทางไม่เกิน 10 กิโลเมตรกลางขุนเขาที่พ้นผ่าน ความเรียบง่ายจากพืชพรรณและชีวิตตามแดนดอยตกทอดอยู่ในนาข้าวที่แตกรวง พืชผักตามโรงเรือน และรอยยิ้มจากแม่เฒ่าที่อุ้มโอบหลานสาวไว้ในอ้อมแขน ถ้อยคำสื่อสารด้วยภาษาไทยพื้นล่างดูจะไม่จำเป็น

ครึ่งทางตามแผนที่ในกระดาษใบเล็กที่เรายึดถือพาดิ่งตรงลงสู่หมู่บ้านปกาเกอะญอขนาดใหญ่อย่างบ้านห้วยฮากไม้ใต้ ฟ้ายามบ่ายใสสดเท่าที่มันควรจะเป็น ที่นี่สุขสงบและเต็มไปด้วยภาพจริงแท้ของความงดงาม ลำห้วยฮากไม้ใต้อันเป็นต้นน้ำหนึ่งในนับร้อยสายของแม่สะเรียงไหลเย็นอย่างไม่มีวันแห้งขอด บัวตองติดดอกเหลืองพราว เหนือขึ้นไปคือขั้นบันไดของข้าวดอยที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวในวันเก็บเกี่ยว

เรานั่งมองดูหมู่บ้านปกาเกอะญอแห่งหนึ่งที่งดงามราวภาพเขียน หย่อมบ้านเรือนและแปลงผักเมืองหนาวถูกโอบล้อมด้วยผืนนาและป่าเขาทึบแน่น นาทีที่อยู่ห่างไกลจากสิ่งที่คนข้างล่างเรียกเอาเองว่าความเจริญ โลกตรงนี้ก็ดูจะมีหนทางและการมีชีวิตอีกรูปแบบที่ไม่ต้องการการตัดสินตีความ

ลัดเลาะผ่านบ้านโก๊ะไม้หลู่ เราดิ่งตรงลงสู่บ้านป่าแป๋หมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าละเวือะ (ลัวะ) อันแสนเก่าแก่ อันเป็นที่ตั้งของศูนย์ย่อยของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง ตัดลงจากความสูงกว่า 1,000​ เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ความใหญ่โตของพื้นที่หมู่บ้านที่ไล่เรียงตามหลืบดอยสะท้อนคืนวันนับร้อยปีของการมีอยู่แห่งชีวิต

หลังเข้าไปเยี่ยมชมโรงเรือนผักเมืองหนาวชั้นดีที่มีขนาดใหญ่กว่าที่บ้านอมพายที่เราจากมา คนงานชาวละเวือะเพาะหน่อกล้าพันธุ์ลงหลุมพลาสติกทรงจัตุรัส ฉีดน้ำยาอินทรีย์สำหรับบ่มเพาะกล้า ไม่นานนักเราก็เข้าสู่ความเป็นหมู่บ้านอันเติบโตกลางขุนเขา

ถนนเล็กๆ ลัดลงหุบเข้าไปสู่หย่อมบ้านป่าแป๋บ้านไม้แข็งแรงคงทนเต็มไปด้วยแม่เฒ่าในชุดแสนสวย สร้อยประดับนับสิบเส้นที่คล้องคอเปี่ยมสีสันอันเป็นสัญลักษณ์ของหญิงละเวือะ

ฉางข้าวเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยเรื่องราวและทิศทางในการดำรงชีพแห่งหนึ่งคือธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้พี่น้องชาวละเวือะบ้านป่าแป๋ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2513 ห้วงยามนั้นเงินพระราชทานอีก 20,000 บาทสำหรับซื้อข้าวจากข้างนอกมาให้ชาวบ้านอันแร้นแค้นได้กู้ยืม และลงหลักปักแรงในที่นาของตน ยามเมื่อข้าวดอยแตกรวงเต็มทุ่ง ก็เก็บเกี่ยวมาใช้คืน ระบบเช่นนี้มุ่งหวังให้การพึ่งตนเองก่อเกิดขึ้นทดแทนการหันไปหาพืชทำเงินและทำลายป่าอย่างฝิ่นเช่นในอดีต

บ้านป่าแป๋ฉายชัดชีวิตชีวาอยู่ตามนาขั้นบันไดที่หลังหมู่บ้าน เราเดินเลาะทางดินไหล่เขาไปเพื่อจะพบว่า โมงยามแห่งการลงแขกเกี่ยวข้าวนั้นแสนรื่นเริง

ผู้คนแทบทุกรุ่นอายุตั้งแต่ชายหนุ่มกำยำ แม่เฒ่าในชุดแสนสวยที่สาวๆ สมัยใหม่ไม่ค่อยนิยมใส่ หรือ   แม้แต่เด็กน้อย ทุกคนรวมกันอยู่ตามลานข้าวที่แตกรวงสุกส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ

พวกเขาตีข้าวกันกลางหุบเขาโดยมีข้อตกลงกันง่ายๆ เหมือนเช่นอดีตว่าหากไม่เสร็จสิ้นภายในหนึ่งวัน ค่าปรับจากเจ้าของนาต้องเพิ่มเหล้าอีกหนึ่งขวด วงข้าวกลางวันหอมไปด้วย “สะเบื๊อก”​ อาหารพื้นถิ่นของคนละเวือะ หมูสามชั้นต้มสุกและคลุกด้วยพริก มะนาว ผัก กลิ่นหอม รสจัดจ้าน มันง่ายดายเมื่อกินกับข้าวดอยและเหล้าข้าวหมัก แม้จะไม่ถนัดนัก แต่สำหรับการหยิบยื่นราวญาติมิตร เราเองก็ยิ้มรับไมตรีท่ามกลางขุนเขาไปอย่างชื่นมื่น

ที่หน้าสำนักสงฆ์ป่าแป๋ “เญือะละเวือะ” หรือบ้านของคนละเวือะโบราณตั้งหลังคาสอบ ใต้ถุนสูง แสดงให้เห็นชีวิตในอดีตของพวกเขา เตาไฟฟืนตั้งอยู่หน้าชานเรือน ด้านในเต็มไปด้วยความคิดความเชื่อในเรื่องไหว้ผีเรือนที่ตกทอดอยู่ตามผนังบ้าน

คนบ้านป่าแป๋ผูกโยงการมีที่หยัดยืนในผืนภูเขาไว้กับตำนานมานับพันปี ทั้งตำนานของขุนหลวงวิลังคะ ที่เชื่อกันว่าเคยปกครองเชียงใหม่และร่วมรบต่อสู้กับพระนางจามเทวีจนพ่ายแพ้เสื่อมอาคมด้วยโดนสวมหมวกลั่นทมแดงอันเปรียบเสมือนเลือดประจำเดือน จนต้องหนีมาอยู่กลางป่าเขา 

คนละเวือะที่นี่มีธรรมเนียมการใช้เงินรุ่นโบราณเป็นค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ในพิธีแต่งงาน พวกเขาจะใช้เงินพดด้วง เงินกิ่ง และเงินครั่ง ซึ่งเป็นเงินโบราณที่ใช้กันในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นถึงล้านนายุคหลัง หากเป็นค่าปรับต่างๆ จะใช้เงินรูปีของอังกฤษที่ปกครองอินเดียและพม่ามาใช้จ่าย เงินเก่าแก่ที่ตกทอดในพิธีกรรมเหล่านี้สะท้อนการมีชุมชนและการติดต่อกับทางแม่สะเรียงต่อไปถึงพม่ามานับร้อยปี ...

ชีวิตผ่านพ้นทั้งความทุกข์ยากและเติบโตจนมีนาทีปัจจุบัน ว่ากันว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บนแดนดอยบ้านป่าแป๋เต็มไปด้วยโรคระบาดอย่างฝีดาษ จนเกือบสิ้นหมู่บ้านเมื่อราวปี พ.ศ. 2489 ยังไม่รวมไฟป่าที่มอดไหม้ในปีถัดมา ซึ่งล้วนอยู่ในความทรงจำของเฒ่าละเวือะแทบทั้งหมู่บ้าน

ค่ำคืนผ่านพ้นกลางเดือนดาวและอากาศหนาวเย็น เมื่อตะวันแตะตีนฟ้าของวันพรุ่ง ห้วงยามของบ้านป่าแป๋และพืชพรรณก็ดำเนินไปเหมือนที่มันควรจะเป็น

ไม่กี่วันที่นี่ ท่ามกลางทางลูกรังแสนยาวไกลและอาจยากเย็นในโมงยามฤดูฝน ที่นี่ราวโลกหลบเร้นอันไกลแสนไกล ทั้งที่จริงมันตั้งอยู่ห่างจากทางหลวงแอสฟัลต์เรียบกริบไม่ถึง 40​ กิโลเมตร

เรื่องราวของผืนป่าและสายน้ำแห่งหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งทอดยาวไหลเวียน มากไปด้วย เรื่องราวทอดยาวสะท้อนรอยทางก้าวย่าง อันเรียงรายอยู่ด้วยสิ่งที่พอจะเรียกได้ว่าความสุข

ความสุขของใครสักคนที่ได้เห็นชีวิตเติบโตไปกับขุนเขา นาข้าว พืชผักผลไม้ที่แตกใบออกผลเป็นชีวิตที่ดีและเท่าเทียม 

How to Go?

จากจังหวัดเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 (เชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอน) ถึงแยกกองลอยในเขตอำเภอแม่สะเรียง ราว 180 กิโลเมตร จากนั้นแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1270 อีก 34 กิโลเมตรถึงศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียงที่บ้านอมพาย (10 กิโลเมตรสุดท้ายเป็นทางลูกรัง หากเป็นฤดูฝน ยากต่อการเข้าถึง ควรใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง บ้านอมพาย ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน www.royalprojectthailand.com พิกัดจีพีเอส N20.22895 E41.2794 

สี่ห้าหมู่บนรอยต่อของแม่ฮ่องสอน - เชียงใหม่