วิโชค มุกดามณี

วิโชค มุกดามณี

ศาตราจารย์วิโชค มุกดามณี ศิลปินชั้นเยี่ยม ท่านคือผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมกรรมและภาพพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะนักวิชาการ นักจัดการแวดวงศิลปะ ท่านมีผลงานสร้างชื่อเสียงไปทั่วอุษาคเนย์ และเป็นผู้เปิดประตูสู่ยุโรป อเมริกา ท่านคือรัตนชาติที่เปล่งรัศมีแห่งสีสัน สะท้อนวิถีอารยชน เคี่ยวกร่ำจนเข้มข้นเห็นเนื้อในแห่งตัวตน

บ่ายแก่ๆ ลมโกรกเบาๆ พาหนะนำพามาข้ามสะพานนนทบุรี สายตาทอดยาวเย็นฉ่ำกับสองฝากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนกรุงเทพ -ปทุมธานีสายใน ตำบลบางแขยง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี แลดูวิถีชีวิตผู้คนก่อนจะเลี้ยวขวาเข้าทางสำนักสักยันต์ชื่อดังประมาณ 200 เมตร ขวามือก็พบกับ “วินตาสตูดิโอ” กำแพงสีส้ม ตึกสูงสองชั้น ตั้งตระหง่านรอรับผู้มาเยือน การเยี่ยมชมสตูดิโอเรื่องราวจึงอุบัติขึ้น

ตั้งแต่ชั้นแรกด้านหน้าเป็นโต๊ะสนุกเกอร์ของบรรดาเซียนคิวทอง ด้านหลังเป็นห้องหับโอ่โถง เมื่อเข้าไปภายใน ต้องตะลึงกับผลงานล้ำค่า มีชั้นหนังสือที่คงความขลังๆ นับพันเล่ม ผสมผสานกับภาพเขียนและประติมากรรมชิ้นน้อยใหญ่ จากการแลกเปลี่ยนผลงานของเหล่าศิลปินชื่อดัง อาทิ อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ อาจารย์ทวี รัชนีกร อาจารย์เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ ศิลปินแห่งชาติสลับกับเครื่องปั้นดินเผา เซรามิก รูปทรงอิสระบ้าง แบบแอบสแทร็คบ้าง

บริเวณชั้นสองเป็นสตูดิโอสร้างสรรค์ผลงานของ 2 พ่อลูก “วิชญ หรือวิน มุกดามณี” ยุวศิลปิน บุตรชายคนเดียว ที่ได้ดีเอ็นเอจากพ่อเพาะบ่ม ผลงานหลากหลายภาพสะท้อนเรื่องราวของแต่ละยุคสมัย แลดูรกทึบไปด้วยคลังอุปกรณ์ประกอบงาน แต่การจัดวางกลับเป็นระบบ บ้างก็นำมาติดตั้ง มีทั้ง สื่อผสม “ภาพสงครามอ่าวเปอร์เซีย” ที่ได้ถูกนำฟอร์มเนื้อหามารับใช้เรื่องราวการพุ่งรบเข่นฆ่า หรือจะเป็นสื่อผสมที่ชื่อ “สัญญาณสิ่งแวดล้อม” เป็นตาลปัตรขนาดใหญ่ยักษ์ 4 อัน วางพิงกำแพง เหมือนต้นไม้กำลังจะตายใบแตก ดูแล้วเงียบเหงาซึมเศร้า ศิลปินต้องการสื่อ ให้เห็นถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม การต่อต้านคนตัดไม้ทำลายป่า ทำลายธรรมชาติ แตกสลายแปรสภาพ นอกจากนั้นยังมีการเตรียมขึ้นงานสื่อผสมอีก 3 ชิ้นซึ่งมีขนาดใหญ่ วางหลบอยู่มุมห้อง เพื่อเตรียมแสดงผลงานเดี่ยวในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ที่หอศิลป์แห่งชาติ เขาสร้างสรรค์ด้วยการใช้ดินสีแดงจากปราสาทเมืองเพชร จังหวัดกาญจนบุรี ใช้ขี้เถ้าผสมแกลบ นัยว่าดำกว่าสีอะคริลิกเสียอีก บ้างก็ใช้การขูด ใช้ฝีแปรง พู่กัน สีสเปรย์ บางอันใช้พลาสติก ผ้า กระดาษ ไม้ โลหะต่างๆ ทั้งเหล็ก อะลูมิเนียม ทองเหลือง สเตลเลส เข้ามาผสมผสานประกอบกัน เป็นการทดลองตามคอนเส็ปต์ที่เป็นธรรมชาติและวัสดุให้เข้ามาอยู่ร่วมกัน ดูแล้วไม่ธรรมดา

ค่าของคน...อยู่ที่ผลของงาน

“งานของผมเป็นการผสมผสานให้มาอยู่รวมกัน ก็เหมือนกับเราจะไม่กินน้ำอัดลมหรือจะไม่นั่งเครื่องบินก็ไม่ได้ มันกลายเป็นว่าเราต้องแบ่งธรรมชาติแล้วนำมาประสานกัน บางครั้งมันเข้ากันบ้างไม่เข้ากันบ้าง อัตลักษณ์ของผมเริ่มจากการทำโลหะ ทำไดคัทแบบโหดๆ ส่วนงานเพ้นท์เป็นไอเดียใหม่ที่คนไม่ค่อยได้เห็น เขาจะรู้จักผมในเรื่องสื่อผสม งานที่ผมสร้างสรรค์ในวงการศิลปะปลอมยาก เพราะเดี๋ยวนี้มีการปลอมงานของศิลปินดังๆ เยอะมาก เช่น ปลอมงานของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ปลอมของอาจารย์ทวีนันทขว้าง และท่านอื่นๆ อีกมากมาย การปลอมถ้าเป็นเพ้นท์ติ้ง ปลอมง่าย ขั้นตอนไม่ซับซ้อน เพราะตอนหลังงานมันมีคุณค่าขึ้นหลังจากศิลปินวายชนม์ โดยเฉพาะงานของอาจารย์เฟื้อ ชิ้นหนึ่งราคาหลายล้านบาท มีคนบอกว่าให้นำไปพิสูจน์ บางทีเราเองยังพิสูจน์ไม่ได้ เพราะลายเซ็นดูยาก ดูฝีมือก็ลำบาก เพราะบ้านเราไม่มีตัววัดเหมือนในต่างประเทศ เช่น วัดความเก่าของผ้าใบความเก่าของสี เรายังไม่ถึงขั้นนั้น เราจึงใช้ดูกัน ศิลปินไทยใช้วิธีดูสไตล์ แล้วถามลูกหรือถามญาติบ้างว่ารูปนี้เขียนช่วงไหน

“อย่างบ้านอาจารย์เฟื้อมีอยู่ชุดหนึ่งเป็นรูปอยู่ในสถานทูตที่ประเทศอินเดีย เราก็ไม่เคยรู้มาก่อน แล้วเขาเอามาให้ผมดูว่าใช่ไหมช่วงนั้นผมอยู่ที่คณะจิตรกรรมและอยู่ที่หอศิลป์มาเกือบ 8 ปี เวลาเขาจะซื้อขายรูป คนเขาก็จะมาที่คณะจิตรกรรม มาที่หอศิลป์เพื่อขอให้ผู้อำนวยการหอศิลป์ดูให้หน่อยว่าของจริงหรือเปล่า มันเป็นไปโดยอัตโนมัติไม่รู้ตัว ไม่เคยคิดว่าผมจะเป็นคนพิสูจน์ให้เขา แต่คนที่เขาต้องการขาย ก็คือคนที่เป็นลูกของครูบาอาจารย์เรา อย่างคนที่เก็บรูปของอาจารย์เฟื้อไว้ ที่เขียนรูปประกายเพชรรูปนั้นเขาขาย 4.5 ล้านบาท เขาเอาลูกกรงล็อคไว้กลัวคนมาขโมย ผมก็ดูแล้วบอกว่าใช่ เพราะผมมีภาพต้นแบบเดิม ทีนี้คนที่จะซื้อ ขอให้ช่วยยืนยันผมก็ไปยืนยันในนามคณะจิตรกรรม เขาก็ให้สตางค์ค่ายืนยันเป็นเปอร์เซ็นต์ ประมาณ 2 หมื่นบาท ผมก็ให้คณะจิตรกรรมไป เพราะเราทำในนามคณะ พี่สาโรจน์ จาลักษณ์ ท่านยังตกใจเลย ท่านคิดไม่ถึงว่ารูปของอาจารย์เฟื้อจะมีราคาสูงถึงเพียงนี้ เพราะข้อมูลของอาจารย์เฟื้อ ผมมีครบ ศิลปินบางท่านก็ไม่กล้าพูด เจียมเนื้อเจียมตัว กลัวไม่เข้มข้น

“พื้นเพเดิมผมเกิดที่จังหวัดสงขลา เรียนอยู่ที่มหาวชิราวุธ มีความสนใจศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ โตขึ้นมาหน่อยก็จะไปเขียนรูปตามหน้าโรงหนัง อย่างงานของพี่เปี๊ยกโปสเตอร์ก็เป็นแรงบันดาลใจของผมที่ทำให้ไปเขียนโปสเตอร์หนัง ทีนี้มีอาจารย์เจน ที่มหาวชิราวุธ ท่านเป็นคนที่ชอบส่งเสริมเด็ก ท่านก็บอกผมว่าให้ผมไปเรียนวาดภาพดีกว่า ใจผมจึงเขว เผอิญผมมีรุ่นพี่ชื่อ ไกรสร สิงห์สุวรรณ ท่านเสียไปแล้ว เรียนอยู่ที่ศิลปากร เขาเป็นช่างปั้นรูปที่เมืองโบราณ ผมก็ถูกรุ่นพี่ท่านนี้นำไปฝึกฝน ให้เขียนรูปจากของจริง จากที่แกปั้นบ้าง ระบายสีกล้วยน้ำว้า แจกันดอกไม้ แกจะสอนของจริง เราก็ฝึก

“เมื่อจบจากมหาวชิราวุธ ผมจึงตัดสินใจสอบเข้าโรงเรียนช่างศิลป์ พอเข้าไปเรียนแล้วมันเพลิดเพลิน สภาพแวดล้อมมันมีแรงดึงดูด มีทั้งรุ่นพี่บ้าง อาจารย์บ้าง ทำให้เรามีข้อมูลเยอะ เมื่อเรียนจบโรงเรียนช่างศิลป์ จึงไปสอบเข้าที่ศิลปากร นั่นคือแรงจูงใจ แต่พอเรียนที่ศิลปากร เราเริ่มเห็นแนวเราว่าน่าจะเรียนสาย Fine Art โดยตรง ไปทางมัณฑนากร ไม่น่าจะเรียนอินทีเรีย ตอนนั้นไม่รู้เรื่องเรียน เขียน ปั้น พอขึ้นปี 2 น่าจะเรียนเขียนรูป แต่พอเข้ามาเรียนงานปั้นแล้วเรารู้ว่ามันช้า ใจเรามันร้อน อยากเห็นผลงานเร็วๆ คนที่ทำงานปั้นจะมีกระบวนการ ค่อยๆ ขึ้นรูป ค่อยๆ ปั้น มันช้าแต่เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันเปลี่ยนไป ขึ้นรูปได้เร็วขึ้น มีสเกตซ์ก็ทำได้เลย”

สู่เส้นทาง....นักแสวงหา

“เมื่อก่อนทำเพ้นท์ ต้องออกแบบก่อน มันใช้เวลา ก็เลยตัดสินใจเรียนเพ้นท์ติ้ง ผมก็เรียนตามปรกติ ไม่ได้ใช้สื่อวัสดุอะไร เพ้นท์สีน้ำมัน พอเรียนปริญญาโท ผมได้ทุนไปเรียนที่ Tokyo Gakugei University กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงรู้สึกว่ามันไม่ค่อยทันใจ เวลาเราเขียน คือเราเห็นของเรา สามารถนำมาใช้ได้เลย จะไปเขียนให้มันวาวไปทำไม เอาของวาวมาใช้ได้เลย ไปเขียนให้มันวาวให้มันเหมือนไปทำไม เราสามารถนำมาใช้ได้เลย ใช้คอลลาจปะติดลงไป ตอนนั้นเริ่มใช้วัสดุ ใช้โลหะ ผ้า พลาสติก เพราะแนวคิดช่วงนั้นมันต่อต้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็จะนำพลาสติกมาเผาไฟ เอาโลหะมาเจาะเป็นรูนำมาขูด มาทำลาย เริ่มนำวัสดุ มาผสม พอเริ่มทำไปเรื่อยๆ เหมือนกับเราไปตั้งเงื่อนไขว่า เราจะเข้าไปต่อต้าน เพราะว่าสังคมบอกว่าเราต้องต่อต้านสิ่งแวดล้อมที่มันเข้ามาทำลายธรรมชาติ

“อันนั้นเป็นวิธีคิดเพราะตอนนั้นอายุเพียงแค่ 30 ปีเอง พอทำไปเป็นปี จึงปรับวิธีโดยใช้วัสดุทั้ง 2 แบบให้เข้ากัน แล้วเริ่มคิดใหม่วัสดุบางอย่างมันน่าจะใช้อะไรบ้าง จัดการกับมันได้ ถ้าเป็นผ้าใช้กรรไกหรือใช้การเย็บ แต่ถ้าเป็นโลหะต้องเจาะหรือกรีด ถ้าเป็นไม้ก็ต้องเขาเดือย มันมีวิธีของมัน งานที่ผมทำมันเป็นงานสื่อผสม ใช้สื่อ 2-3 อย่าง ผสมเข้าไปให้มันได้ผลตามที่เราต้องการไม่ต้องไปเขียน แต่ถ้าอยากเขียน ก็เขียนได้ พอทำตรงนี้เสร็จ รู้สึกว่ามันน่าพอใจโดยส่วนตัว มันสะเทือนอารมณ์ มันสนองตอบในสิ่งที่เราอยากให้เป็นอย่างนั้นได้ ทำแล้วมันมีพลัง แทนที่จะมานั่งเขียนต้นไม้ ก็นำเอาต้นไม้จริงมาเลย ใช้ไฟส่อง มันก็ให้ผลในเรื่องอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ต้องมานั่งเพ้นท์ ให้มันชัดเจนไปเลย ดูแล้วมันได้ผลเร็วตามที่เราคิด อยากจะเพ้นท์โดยใช้ดินไปทับกับวัสดุ เพื่อจะมาแทนว่ามันเป็นพิมพ์เป็นแม่แบบที่เหลืออยู่ ก็นำดินเข้าไปเผา แล้วนำมาปะ บางอย่างมันใช้ได้เร็วขึ้นระยะหลังจึงใช้โลหะ ใช้ไม้ ใช้เหล็ก ใช้อะลูมิเนียม ใช้ทองแดงบ้าง อย่างงานของพี่เดชา วราชุน จะสร้างสรรค์ด้วยการใช้เหล็กกับทองแดงเหมือนกัน แต่ใช้คนละแนวกับของผม ของท่านจะคิดถึงเรื่องการวางจังหวะ ความสัมพันธ์ ความงาม งานของผมจะกรีด จะทำลาย จะเอาเข้าไปข้างใน คนละวิธีกัน

“คนที่ทำงานแนวรุ่นพวกผม บางทีเมื่อทำไปนานๆ เรื่องมันชักจะตัน ไม่รู้ว่าจะเอาเรื่องอะไรมาทำอีก ถ้ามีแรงสะเทือนใจมากระทบ มันจะเห็นสิ่งที่เห็น ศิลปินอาศัยเรื่องราวในเหตุการณ์นำมาทำ เหมือนกับผมอาศัยเรื่องราวเหตุการณ์ตอนสงครามอ่าวเปอร์เซีย รู้สึกว่ามันรุนแรงมาก มันไม่ได้ธรรมดา มีการนำระบบของเทคโนโลยีมาใช้ ไม่เหมือนกับช่วง 14 ตุลาคม 2516 ตอนนั้นยังเรียนอยู่ศิลปากร ช่วยอย่างเดียวคือการเขียนการ์ตูนล้อการเมือง เขียนป้าย เขียนโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ แต่พอเหตุการณ์6 ตุลาคม 2519 ผมทำงานแล้ว เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนช่างศิลป์ ตอนนั้นเห็นเหตุการณ์หมดที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่เคยคิดที่จะนำเหตุการณ์นั้นมาเขียนภาพ เห็นแล้วมันสะเทือนอารมณ์ มันน่ากลัวมาก”

แทนคุณแผ่นดิน

“ในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ปี พ.ศ. 2549 ที่สวนเกษตรหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ตอนนั้นผมทำประติมากรรมอยู่ 3 ชิ้น โดยร่วมกับศิลปิน 14 ท่าน เป็นศิลปินไทย 8 ท่าน ศิลปินต่างประเทศอีก 6 ท่าน ทำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวชื่อ “ความงอกงาม” เป็นประติมากรรมที่สื่อถึงพืชพันธุ์ที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ แตกหน่อ งอกงามขึ้นมา เป็นแรงบันดาลใจของความคิดที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงหว่านเมล็ดพันธุ์ไปในทุกพื้นที่ ในโครงการพระราชดำริพืชพันธุ์เหล่านี้จะค่อยๆ แตกหน่อขึ้นมา เป็นสัญญลักษณ์ของความเจริญเติบโตที่แทนค่าความหมายของการมีชีวิต ตอนนั้นผมเป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ที่ผมสร้างสรรค์งานนี้เพราะว่าเดิม เขามองว่าผมชอบงานจัดการ มาประสานทำโครงการก่อน เพราะมีเพื่อนฝูง มีพันธมิตรเยอะ เหมือนกับที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ผมทำประติมากรรมพืชสวนโลก ผมก็ต้องไปเจรจาให้เขาเข้าใจว่างานศิลปะ มันสำคัญอย่างไร บางครั้งอธิบดีท่านไม่เข้าใจงานศิลปะ ซึ่งมันอธิบายยากมาก แต่ผมก็พยายามทำจนได้งบประมาณมาเหมือนกับนายกเทศมนตรี องค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดสงขลา ท่านให้งบประมาณเทศบาลมาสมทบเพื่อทำงานศิลปะ เพราะท่านเห็นความสำคัญของศิลปกรรม ก็เริ่มทำหอศิลป์ ออกแบบหยดน้ำบนฐาน คล้ายกับสามง่ามมหาวชิราวุธทำรูปปั้น

“บางทีบ้านเราเกี่ยวข้องกับคนเยอะๆ เกี่ยวกับงานศิลปะ คนสมัยใหม่จะเข้าใจยาก สาเหตุมาจากคนไม่มีความรู้ข้อมูลที่จะทำให้เขาเข้าใจ เขาจะเรียนรู้จากที่ไหน เหมือนอย่างชาวบ้าน เราบอกว่ารูปนี้ดี เขาไม่รู้หรอกว่ารูปปั้นเป็นรูปอะไร ถ้ารัฐบาลเข้าใจควรให้งบประมาณสร้างหอศิลป์ อย่างหอศิลป์กทม. กว่าจะได้มาก็แทบตาย ถ้าเป็นไปได้รัฐบาลอย่ามองว่าลงทุนเรื่องศิลปะแล้วมันจะขาดทุน น่าจะมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่สูงมาก สร้างอาร์ตเบสพื้นที่ศิลปะ เขาจะได้มีกิจกรรม ผมไปบางจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเขาก็ไม่ให้สร้างหอศิลป์ เขาไม่มีพื้นที่แสดง จริงๆ อาจจะเจียดพื้นที่ศาลากลางจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับชุมชนให้เขามีพื้นที่แสดงออกได้ มันจะเกิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมทางศิลปะและมันจะเกิดความร่วมมือระหว่างศิลปิน ประชาชนและเด็ก แต่เมื่อไม่จัดสรรงบประมาณมาให้ ต่างคนก็ต่างอยู่ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่เหมือนในกรุงเทพฯ มันได้เปรียบกว่า ผมอยากแสดงงาน ผมก็ไปหอศิลป์แห่งชาติ

“คนกรุงเทพฯ ได้เปรียบกว่าเยอะ เพราะมีพื้นที่แสดงงาน แต่ผู้คนเขาก็ไม่ค่อยได้มาดูกันมากนัก ศิลปะช่วยจรรโลงจิตใจ ศิลปะมันช่วยอะไร เราก็ต้องมองว่าผลประโยชน์ที่มันตอบเป็นรูปธรรม ตอบเป็นตัวเลข มันค่อนข้างยาก แต่งานศิลปะถ้าเราเปรียบเทียบย้อนกลับไปสมัยก่อน คนเราเข้าวัดเข้าวาไปดูรูปปั้น ไปดูรูปเขียนลายจิตรกรรมฝาผนัง มันช่วยในเรื่องของจิตใจมาก เห็นแล้วมีเรื่องให้คล้อยตามที่ศิลปินเขียน สังคมปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่จะเบื่อ เขาไปเร็วเกินไป ถ้าให้เขาดูอย่างนั้นมันก็ไม่ถูก เขาก็ต้องดูความเป็นปัจจุบันของเขา เขาต้องดูศิลปินปัจจุบันว่าแต่งตัวอย่างไร มีสีสันอย่างไร แต่ถ้าเขาไปดูในแง่เรื่องของวัตถุเขาก็จะได้แค่นั้น แต่ถ้าเขาได้ดูงานของศิลปิน เขาก็จะได้เห็นงานศิลปะที่มันย่อยมาจากสังคมแล้ว เขาจะเห็นภาพอีกมุมหนึ่ง เพราะรูปเขียนจะบ่งบอกให้เขารู้ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร มีอะไรจูงใจให้เกิดความดี ความงามบ้าง มีเรื่องสะท้อนให้เขาเห็นมุมที่น่ากลัว

“มีลูกศิษย์ผมบางคนเขียนรูปเรื่องของผลพวงจากสื่อหนังสือพิมพ์ การฆาตกรรม การข่มขืน ศิลปินมันเริ่มสะท้อนสิ่งที่เห็น ไม่ใช่เพื่อให้เด็กกลัว แต่สะท้อนให้เด็กเกิดสติ งานศิลปะถ้ามันได้เกิด ติดตั้งและทำให้คนได้เห็น จะรู้ว่ามันช่วยเรื่องจิตใจ เมื่อเราไปศูนย์การค้ามาบุญครอง เดินข้ามมาดูหอศิลป์นิดเดียว เราเห็นรูปเขียนของพระพี่นางฯ ผมว่าเราเย็นขึ้น สงบขึ้นเยอะ ดูนิ่ง เราดูรูปเขียนที่สะท้อนในเรื่องของสงคราม เราเห็นตั้งแต่ศิลปินยุคอดีต อย่าง ปิกัสโซ หรือโฮยา ก็สะท้อนเรื่องของสงครามว่ามันอันตรายอย่างไร มีภาพให้เห็นว่าเขามองสงคราม เขามองปัญหาเขาสะท้อนให้เราระวัง ให้เรากลัวให้วิตก เพื่อไตร่ตรอง บางเรื่องศิลปินก็ให้ข้อคิด ทั้งความงาม ความดี ให้คนได้สดชื่น มีความสุข เพราะตรงนี้มันมีหลายอย่างหลายประเภท”

เพราะรัก จึงอยากทำ

“ผมเป็นครูมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ร่วม 33 ปีแล้ว ผมสอนเพื่อให้ลูกศิษย์มีพื้นฐาน ผมสร้างพื้นฐานให้กับเขา ช่วงหลังๆมาสอนวิธีคิดให้กับเขา ประมวลดูแล้ว เด็กของเราสำหรับศิลปะทางบ้านเรา คงจำเป็นต้องเดินตามรอยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ท่านพูดเสมอว่า สร้างอะคาเดมิก เพื่อให้เขามีความเข้มแข็ง แล้วเติมวิธีคิดให้กับเขาให้เขาได้มีสติที่จะคิด สุดท้ายเมื่อถึงเวลา เราปล่อยให้เขาไปทำเอง แต่ทว่าพอถึงเวลาปล่อยให้เขาไปทำเอง เขาไม่ค่อยอยากไป เขาอยากจะกลับมาหาเราบ่อยๆ คือกลัว เวลาจบปริญญาตรีไปแล้ว เมื่อหลุดจากครู เขาจะไม่กล้า อยากจะกลับมาให้ครูแนะนำใหม่ ซึ่งเราบอกว่าอย่าไปกลัว มันต้องมีการค้นคว้า ต้องกล้าทดลอง กล้าทำ กล้าแสดงออก แก้ปัญหา พัฒนา คลี่คลาย เพื่อเป้าหมายในการสร้างสรรค์รุดหน้ายิ่งขึ้น ผมสอนพื้นฐานส่งเสริมให้เขา มีวิธีคิด ถ้าเขากลับมาหา ก็ต้องหาทางออกให้เขาบ้าง ถ้าเป็นครูสอนศิลปะเราต้องลงลึกกว่าเขามากไม่ใช่รู้จักแค่ชื่อ เลขที่ ชั้น มันต้องรู้ชีวิตเขา รู้อารมณ์เขา รู้ครอบครัวเขา รู้ความเป็นไป รู้ปัญหาเขาบ้าง ถ้าไม่รู้อะไรเลย บางทีอาจจะแนะนำเขาไปได้ไม่ถูกทาง

“ส่วนผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับผม ถ้าไปทางเรื่องของศิลปะ ผมผ่านการแข่งขันระดับนานาชาติ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยุโรปและอเมริกา และผมอาจจะมีประวัติตรงนี้ที่คนคิดไม่ถึง คือผมชนะเลิศประกวดการ์ตูนโลกมา ครั้งหนึ่งเป็นเหตุการณ์ในช่วงวิกฤตน้ำมันโลกครั้งแรก ตอนนั้นอาหรับขึ้นราคาน้ำมันแบบมโหฬารเมื่อหลายปีก่อน รูปนี้ถือว่าโด่งดังมาก ที่กลั่นความคิดออกมาเพราะตอนนั้นรู้สึกว่าทนไม่ไหว จึงเขียนโดยการเอาอาหรับขึ้นมาอย่างเดียว เป็นรูปหมวกอาหรับคุ้มครองโลกพลังงานเป็นเพ้นท์ติ้ง จึงชนะระดับโลก มีผู้ประกวดจากทั่วโลก อันนี้ถือว่าสร้างชื่อเสียงให้กับผมและประเทศชาติ เป็นที่ฮือฮาไปทั้งวงการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐถึงกับลงข่าวหน้า 1 ผมก็ไม่ได้คิดอะไร ตอนนั้นรู้แต่ว่าเขียนให้มันสะใจ ทำไมมันถึงได้ครองโลกน้ำมันขนาดนี้ แล้วเขียนทิ้งท้ายว่า “มายด์เวิร์ค” รูปนี้ถือว่าท็อปฮิตได้ เพราะน้ำมันมันยังขึ้นอีกหลายบาท

“ผมไม่ใช่ศิลปินยอดเยี่ยมแห่งชาติ แต่คนในวงการเขาแต่งตั้งให้ว่าศิลปินชั้นเยี่ยม เขาให้เกียรติผม เขาให้เครดิตผมว่าเป็นศิลปินแนวสื่อผสม แนวจัดวางในรุ่นนี้ นอกนั้นยังมีรุ่นหลังๆ ในวงการ เขามองว่าผมเป็นคนที่ผลักดันวงการศิลปะในช่วงที่ผมเข้ามาเกี่ยวข้องในวงการ อาจจะเป็นเพราะผมกล้าพูด กล้าทำและผลักดันอาจารย์หลายๆ ท่าน ผมดึงให้ท่านกลับมา มีรุ่นพี่ๆ ที่เก่งๆ ที่เรามองข้ามไปจะได้กลับมา ลูกศิษย์ท่านอาจารย์ศิลป์ อย่างอาจารย์สันต์ สารากรบริรักษ์ อาจารย์พิชัย นิรันต์ อาจารย์ทวี รัชนีกร คือท่านเหล่านี้ เมื่อก่อนท่านทำงานของท่านอยู่แล้วและดังอยู่แล้ว แต่เราไม่ค่อยได้เห็นผลงานของท่านเหล่านั้น หรืออย่างงานของ พี่วิโรจน์ นุ้ยบุตร เพื่อนพี่กมล ทัศนาญชลี ทุกคนไม่รู้ว่าเขาทำงานมาเป็นพันๆ ชิ้น ตอนเด็กๆ เดินถอยหลังไปเรียนหนังสือ โตขึ้นอยู่ในป่า สร้างผลงานโดยใช้วัสดุธรรมชาติ จบจากเพาะช่างไปเป็นครูสอนโรงเรียนนานาชาติ นำช้าง ม้า วัว ควายเข้าไปให้นักเรียนเขียนของจริง เขาใช้ควันไฟเขียนรูป มีบริษัทชื่อดังของฝรั่งต่างชาติบินตรงเพื่อมาติดต่อซื้อผลงานที่เขาสร้างสรรค์งานศิลปะ เขาบอกว่างานของเขาแพงมาก แต่ต่อรองกันไปต่อรองกันมา สุดท้ายพูดถูกคอกันขายให้ 2 รูป 3 บาท(หัวเราะ)

“ประมาณปลายปี ผมจะจัดแสดงผลงานเดี่ยวของตัวเองที่หอศิลป์แห่งชาติ ห้องละ 1 ชิ้น มีทั้งหมด 4 ห้อง 4 ชิ้น แต่เป็นเพ้นท์ติ้งที่ผมนำมาประกอบ เป็นการจัดวาง ตอนนี้กำลังเตรียมงานจัดวางห้อง มันต้องใช้เวลาลงทุนแล้วทำค่อนข้างหลายสตางค์ แต่อยากทำเพราะอยากมัน” (หัวเราะ)

วลี... ดุจกวีดีดดิ้น

“รุ่นพี่ๆ ผมอย่างพี่หวัน (ถวัลย์ ดัชนี) เป็นคนที่ทำให้วงการศิลปะมีชีวิตชีวา เป็นไปได้อย่างไร รูปหนึ่งที่พี่หวัน เขียน ราคา 50ล้านบาท ท่านเป็นคนทำให้แวดวงศิลปะบ้านเรามันมีชีวิตชีวา ผมเคยถามพี่หวันว่า ‘รุ่นพี่เขาบอกว่าเวลาพี่พูด ต้องหาร 3 ไม่ใช่พูดแล้วเขาจะเชื่อทั้งหมด’ พี่หวันทำตาดุๆ ตบโต๊ะเปรี้ยง! แล้วบอกว่า ‘วิโชค ไอ้เรามันเป็นศิลปินจะพูดอย่างนี้ได้อย่างไร เราจะพูด1+1 เท่ากับ 2 ได้อย่างไร ภาษาศิลปินมันมีความไพเราะ จะไปพูดได้อย่างไรว่าภูเขามันคือดินที่งอกขึ้นไปบนอากาศ ภูเขามันคือหนังกำพร้าส่วนหนึ่งที่มันกำลังค่อยๆ เคลื่อนตัวต่างหาก’ (หัวเราะ) นั่นคือวิธีคิดของเขา เขาไม่ได้คิดแบบบอกให้มันตรงๆ อย่าบอกให้มันชัดเจน แต่อยากบอกให้มันมีลีลาของศิลปะ ผมเคยหยอกล้อว่า ‘พี่หวันเอาหนังเสือมาห่ม คนเขาจะว่าเอาว่าพี่ทำลายสัตว์ ทำลายสิ่งแวดล้อม’ พี่หวัน บอกว่า ‘ผมไม่ใช่ตุ๊ด ไม่ใช่แต๋วนะ ถึงจะห่มผ้าแพร’(หัวเราะ) นั่นคือวิธีตอบของแก ฟังแล้วสนุก

“ผมเชื่อว่าเทคนิคที่ผมค้นพบ คนมันก็ทำหลายๆ แบบ แต่ไม่เหมือนกับเรา วิธีคิดทำงานสื่อผสม มันต้องตีความวัตถุแนวคิด แล้วตีให้เข้ากับตัวเรา เราไม่ได้เอาโลหะมาใช้เพราะเราชอบใช้โลหะ แต่โลหะมันมีผลต่อความรู้สึก บางครั้งผมก็ใช้น้ำ อย่างงานที่จัดแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น ผมใช้น้ำหล่อเลย น้ำอยู่ในเซรามิกที่ผมดีไซน์ รองรับให้มันอยู่ในคอนเส็ปต์ ของแต่ละเรื่องที่มันสอดคล้องกับวิธีคิดของเรา บังเอิญตอนนี้โลหะมันใช้แล้วติดใจ ชุดใหม่ที่ผมทำเป็น 3 มิติ ทำเป็นเหล็ก แล้วผมก็เชื่อมเหล็กขนาดใหญ่บางทีทำเสร็จแล้ว เอาเข้ามาในบ้านไม่ได้ (หัวเราะ) ประตูมันเล็ก “ผมเคยเปิดโรงงานเซรามิก ตอนที่กลับจากญี่ปุ่นใหม่ๆ ผมไปเรียนเซรามิกมาจากกรุงโตเกียว ไฟมันกำลังแรง เขาให้ปั้นถ้วย ปั้นแจกัน ผมก็ทดลองทำแล้วนำเอาสีของเขามาเคลือบ เรียนรู้ดูแล้วไม่ยากไม่น่าซับซ้อนอะไรมากมาย พอกลับมาเห็นว่าโรงงานเซรามิก ย่านอ้อมน้อย เขาจะขาย ลงขันหุ้นกับเพื่อนคนละแสนสองแสนซื้อมา ตอนนี้ตัวโรงงานยังอยู่แต่ปิดแล้ว เพราะอยู่ไม่รอด เพราะเวลาเราคิดออกแบบดีไซน์ออกวางจำหน่ายปั๊บ เขาก็อปปี้เหมือนเปี๊ยบเลย จึงอยู่ยากผมจึงหันมาทำเซรามิกนามธรรม เป็นแบบของเราเอง เพื่อไม่อยากให้เขาลอก เลยฉีกหนีไปเลยมันเป็นเทคนิคเฉพาะตัว ดูไม่ออกว่ารูปอะไร”

เสพศาสตร์...งานศิลป์

“สิ่งที่ผมอยากฝากไว้ก็คืออยากให้ศิลปินรุ่นใหม่หรือรุ่นหลังๆ หรือลูกศิษย์ลูกหา ช่วยกันอ่านช่วยกันดูหนังสือศิลปะ เพราะตอนนี้เรามีหนังสือศิลปะอยู่หลายรุ่น หลายเล่ม ถ้าไม่มีหนังสือพวกนี้ วงการจะไม่รู้จักพวกเรา เพราะฉะนั้น นอกจากการทำงานศิลปะแล้ว น่าจะดูงานศิลปะไป ฟังเขาพูดเรื่องศิลปะ และได้อ่านหนังสือศิลปะ ที่เขาพูดมันจะช่วยให้เราเพิ่มพูนความรู้ เพราะศิลปะเป็นเรื่องที่พิเศษและพิสดารมาก กว่าที่ศิลปินจะได้คิดเพื่อให้เกิดรูปขึ้นมา ความพิเศษของความงามมันเป็นความพิเศษที่แต่ละคนพยายามจะสร้างให้ดีที่สุด เพื่อจะทำในสิ่งที่เขาคิด ที่เขารู้สึก มันคงไม่ง่ายที่จะดูงานศิลปกรรมใน 1 หรือ 2 วัน ต้องดูกันเป็นช่วงเป็นปีและเป็นเวลา อย่าไปเบื่อเสียก่อน ผมเชื่อว่าคนทำงานศิลปะยังมีอีกหลายคนที่มีดีกรีความเข้มข้น อยากให้พวกเราจับตากันดู ศิลปินไทยที่เก่งๆ ก็มีเยอะมาก ไม่แพ้ชาติใดในโลกก็ว่าได้ แต่ละคนสุดยอดทั้งนั้น ผมอยากจะเห็นหนังสือดีๆ ที่สัมภาษณ์ศิลปินรุ่นใหญ่ที่เก่งๆ พร้อมนำเสนอผลงาน ออกมาเป็นหนังสือรวมเล่ม เป็นการเก็บรายละเอียด เก็บข้อมูลแต่ละช่วง ผมเชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังมาก ไม่เฉพาะนักศึกษาศิลปะ แม้แต่ตัวผมเองก็อยากจะเก็บไว้เป็นหลักฐานในแต่ละยุคแต่ละช่วงของตัวตนเขา เพราะศิลปินที่ยิ่งใหญ่ ย่อมมีแนวคิดที่แตกต่างและมีประโยชน์แน่นอน”

การอ่านหนังสือคือการอ่านความคิดของผู้อื่น