วิโรจน์ นุ้ยบุตร
แม้ว่า วิโรจน์ นุ้ยบุตร จะเปลี่ยนนามสกุลปีเว้นปี จาก นุ้ยบุตร เป็นบุตร หนูเคย หนูไม่เคย เป็นนุ้ย วี.ไอ. มาสิ้นสุดที่ชื่อ ไม้ร่มธรรมชาติอโศก แต่เขาก็ยังเป็น วิโรจน์คนเดิม มีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่สวนทางกับศิลปินทั่วไป ล่าสุดเขาจัดนิทรรศการศิลปะ “กะหรุบกุบกิบ” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า รวบรวมผลงานตั้งแต่ปี 2504 จนถึงปัจจุบันการใช้เปลวไฟแทนปลายพู่กัน สวมเสื้อผ้าฝ้ายย้อมด้วยเปลือกไม้ธรรมชาติห่อกาย ตกแต่งเส้นผมด้วยเมล็ดผลไม้แห้ง แล้วเอาขี้แมงอุงที่มียางชันเหนียวมามัด ตัด พัน ม้วน เป็นก้อนๆ เหมือนรังนกกระเซอะกระเซิง ผูกด้วยกำไลข้อมือไว้บนหัว สะพายย่ามเก่าๆ พันธนาการด้วยกระดึงวัว ควาย ห้อยคอ รับกับหนวดเครายาวรุงรัง ตัดกับแว่นตาที่ดูสงบ มีสมาธิ เขาไม่สวมใส่รองเท้า เป็นที่สะดุดตา ดึงดูดความสนใจ แลดูพิสดารแก่ผู้พบเห็น ราวกับปุถุชนคนหลุดโลก
เขาเป็นศิษย์สำนักเดียวกันกับ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นเพื่อนกับอาจารย์กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ เขามีดีกรีเป็นถึงอาจารย์สอนโรงเรียนนานาชาติถึง 21 ปี มีผลงานแสดงทั้งยุโรป อเมริกาและอินเดีย เคยแสดงผลงานกลุ่มร่วมกับ จ่าง แซ่ตั้ง อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ท่านอังคาร กัณยาณพงศ์ ศาสตราจารย์ดำรง วงษ์อุปราช อาจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ และอาจารย์ประเทือง เอมเจริญ
เขาเจนจัดกับบทกวี งานทัศนศิลป์ อันประกอบด้วย ภาพถ่าย ภาพวาดเส้น ภาพคอลลาจ ประติมากรรมสื่อผสม เขาทำงานศิลปะด้วยต้นไม้ ก้อนหินขนาดใหญ่ บนดิน น้ำ ป่าเขา เขามีความสุขอยู่กับธรรมชาติ ค้นคว้า ทดลองและเดินสวนทางมาตลอด จนงานของเขามีเอกลักษณ์พิเศษ คงความแปลกและแตกต่างในจินตนาการที่บ้าบิ่น กล้าหาญมีพลังในตัวเอง ในร่างที่ผอมบาง แต่กลับมีพลังซ่อนเร้นอยู่ภายใน สะท้อนถึงแนวคิดเรื่องราวพุทธปรัชญา บางครั้งประชดประชัน เสียดสีสังคม ด้วยการระบายสี กรีด ฉีกผ้าใบ เอาควันไฟจากเทียนไขลนบนเฟรมให้เกิดสี รูปร่าง มีความคึกคักเคลื่อนไหวอย่างกระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวา ชวนให้พิศวงอยู่เสมอ
ตัวตน...คนหลุดโลก
“เมื่อผมเข้ามาอยู่ในวงการศิลปะ ทำให้ผมพอรู้ว่ามันลำบาก เมื่อผมพร้อม ผมจึงไม่ซี้ซั้ว ไม่บุ่มบ่าม ผมศึกษาค้นคว้าด้วยวิธีการของผมเอง จนเชื่อแน่นอนว่าผมหลุดโลกก็เมื่อตอนผมอายุ 60 ปีแล้ว ผมมีสตูดิโออยู่ที่ป่าดงพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร อยู่ที่นี่มีแต่ป่าเข้าเมืองมามีแต่ป้ายโฆษณา
“ผมมากรุงเทพฯ เพื่อมาเป็นตัวอย่างของศิลปินตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า ไม่ได้มาเพื่อต้องการโฆษณาชวนเชื่อโอ้อวดเพื่อให้ดังเด่นผมมีผลงานสร้างสรรค์มากมายนับพันชิ้น งานยุคแรกๆ ที่ผมเขียนก่อนปี 2505 ผมเก็บไว้อย่างดีบนโต๊ะแต่ปรากฏว่าน้ำมันท่วมโต๊ะ ก็เลยพัง เพราะภาพมันหล่น พอน้ำแห้ง ภาพก็ขึ้นรา ที่เหลืออยู่ก็ถูกคนโน้นคนนี้เอาไป
“ตอนที่ผมศึกษาธรรมมะที่สันติอโศก ก็มีคนนำเอาผลงานของผมไปเผาทิ้งก็มี เพราะเขาไม่เข้าใจ อย่างภาพบางภาพหรือประติมากรรมสื่อผสม มักจะมีศิวลึงก์กับโยนี เพราะเมืองไทยก่อนประวัติศาสตร์ศิวลึงก์กับโยนีเข้ามาโดยพวกตะลิงปิงที่นับถือศิวลึงก์ เช่นเดียวกับการนับถือศิวลึงก์ว่าพ่อ นับถือโยนีว่าแม่ เป็นตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คล้ายๆ หยินกับหยาง ยับกับย้ง ดาวเดวิดของยิวก็เช่นเดียวกัน แม้แต่โยนิโสมนสิกาแปลง่ายๆ คือกราบพ่อกราบแม่
“พระพุทธองค์เอาตัวแทนของโยนีและศิวลึงก์มาไว้ในพุทธศาสนาเพื่อให้บรรลุ เพื่อให้นิพพาน ไม่ใช่เรื่องอนาจาร ผมจับต้นไม้มาใส่ยกทรง กางเกงใน อยากสื่อว่า ไม่ใช่แค่หมู หมา กา ไก่เท่านั้นที่มีชีวิต แม้แต่ต้นไม้เขาก็มีชีวิต มีความเจ็บปวด มีเลือดเนื้อเราไปฆ่าไปทำร้ายทำลายมัน มันเป็นต้นตอของชีวิต เราจะบอกอย่างไรว่ามันมีชีวิต ผมจึงสร้างประติมากรรมชื่อ “เสียงร้องของป่า” เห็นแล้วมันทารุณหัวใจผมมาก โค่นต้นไม้ล้มครืน เสียงก้องป่า เหมือนป่าร้อง ผมก็นำไม้ที่เขาโค่นล้มมาแกะสลัก มีฟันแหลมคม มีเพศ กำลังร้องเมื่อถูกธนูยิง เหมือนถูกทำลาย ถูกเผา ส่วนเท้าเป็นพระบาทของพระพุทธองค์ ผมสื่อให้เห็นว่าป่ามันมีชีวิตมีจิตวิญญาณ เพราะผมใช้ชีวิตอยู่ในป่า ผมเอาหูไปทาบกับลำต้นเพื่อพูดกับต้นไม้สื่อสารถึงกันและกันและเชื่อว่าต้นไม้มันมีเพศ ซึ่งในความเชื่อเรื่องศิวลึงก์กับโยนี นับถือเป็นความเชื่อและความศรัทธามาแต่อดีต หากสังเกตรูปท่านั่งขัดสมาธิจะมีรูปทรงสามเหลี่ยมนั่นคือ โยนิโทรณะ
“รูปเขียนยุคแรกๆ ที่ยังหลงเหลือ ผมอยู่เขียนไว้ราวๆ 45 ปีที่แล้ว ผมเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบชื่อภาพ “คุณย่าล้อม”เขียนเสร็จจึงนำทองคำเปลวมาติด ผมเขียนจากความรักความผูกพันผสมกัน ผมรักย่ามาก แล้วย่าก็สวยมาก ผมยาวรุงรัง สวมเสื้อผ้าเก่าขาดๆผมเห็นย่าแล้วอยากเขียน แม่เล่าให้ฟังว่าตอนผมแรกเกิด คุณย่าที่ตาฝ้าฟางหยิบกระป๋องพริกไทยป่นมาโรยสะดือไล่ความบ้า จนสะดือพองหนองปะทุ ขับเอาความชั่วร้ายและความบ้าออกไปหมดไส้หมดพุง ผมร้องด้วยความเจ็บปวด ถ้าตาดีหยิบไม่ผิดเอากระป๋องแป้งมาโรย ผมอาจจะไม่เป็นอย่างนี้ก็ได้ อาจจะเป็นนายทุนบริโภคนิยม บ้าไปแล้วก็ได้
“พระพุทธเจ้าบอกว่าทุกข์เท่านั้นที่เกิด ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป ผมเกิดมาก็เจอความทุกข์ ผมปฏิเสธความทุกข์ด้วยการร้องไห้ เมื่อผมมาศึกษาธรรมะจึงรู้ว่าเรามัวหลงต้อนรับความสุข เรานึกว่าสุขมันดีจริง แต่เมื่อมันจากเราไปแล้ว มันทิ้งความรักขมๆ ทิ้งน้ำตา ทิ้งความตายไว้ให้ ตรงข้ามกับความทุกข์ ถ้าเรารู้จักต้อนรับกับมันให้ดีๆ หัวเราะกับมันให้เกียรติดีที่สุด ครู่เดียวมันออกไปแล้ว ถ้าเราต้อนรับมันดีแล้ว มันจะทิ้งความสุขที่แท้จริงไว้ให้กับเรา”
คุยกับต้นไม้
“ผมเกิดที่ตำบลชลคราม อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี เมื่อ พ.ศ.2485 จบประถมโรงเรียนวัดชลคราม จบมัธยมโรงเรียนหลังสวนศรีวิทยา จบโรงเรียนเพาะช่างแผนกฝึกหัดครู ป.ม.ช. หลังจากที่ทำงานแล้ว ผมมารู้จักต้อนรับความทุกข์เอาเมื่อตอนอายุ 67 ปี เมื่อมาศึกษาธรรมะ คำว่าศีลกับศิลป์ก็เหมือนกัน ศิลปะคือศีลที่ปฏิบัติ คนเขียนรูปคือการปฏิบัติ ฝึกจิต ฝึกอารมณ์ เป็นการระบายผ่านสี แสง ต้องเขียนด้วยความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เขียนด้วยความหลอกลวงจอมปลอม ศิลปินต้องทำงานด้วยจิตที่เรียกว่า จิตรกรรม คนที่ทำงานด้วยจิตคือจินตนาการจิตเป็นเรื่องจริงของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งสมมุติ ศิลปะคือสิ่งที่เราปฏิบัติศิลปินมาจากคำว่าคนที่ถือศีลเป็น คนต่างประเทศเขาให้ความเคารพศิลปินมาก เขาให้ความสำคัญกับศิลปิน แต่คนไทยกลับนำเอาคำว่าศิลปินไปใส่มั่วไปหมด ใครไม่รู้อะไรเลยก็เรียกว่าศิลปินหมด ต่อไปนกเขาตัวไหนขันเก่งๆ หมาตัวไหนเห่าหอนเก่งๆ ก็อาจเป็นศิลปินได้
“ด้วยความที่ผมอยู่กับป่าดงดิบ ในป่าจะมีช้าง มีเสือ มีหมีร้องฮัมเพลง ผมก็จะให้พ่อร้องเลียนแบบสัตว์ป่าให้ฟัง พ่อกับแม่รักผมมาก แม่ก็จะปั้นดินเหนียวเป็นรูปชะนี ปั้นเสือ บางทีแม่ก็เขียนให้ดูบ้าง ทำให้ผมเริ่มซึมซับคำว่าศิลปะ เมื่อเติบโตขึ้นมา ผมจะคุยกับสัตว์ตลอด ไม่ว่าเดี๋ยวนี้ผมก็จะโอบกับต้นไม้ เอาหูไปแนบแล้วพูดว่า “เออ เจ้าสุขดีนะ” คุยไปเรื่อย ชาวบ้านเขาหาว่าผมบ้าเสือดำ เสือโคร่งผมก็คุยมาแล้ว ถ้าเป็นเสือดำจะเรียกง่ายมาก ผมจะนำเอาไหกระเทียมกดลงไปในน้ำ แล้วเอาน้ำใส่ไปในไหหน่อย แล้วเอาปากก้มไปจ่อไห จากนั้นตะโกนว่า “เอ๊าๆๆๆ” เสียงมันจะก้องป่า เสือดำที่อยู่ในป่าข้างบ้าน มันจะวิ่งมา มันนึกว่าเป็นตัวเมีย แต่เมื่อเสือดำมันวิ่งมาเห็นผม มันรู้ว่าผมไม่ใช่หน้าตัวเมีย (หัวเราะ) มันก็วิ่งกลับไป
“ตอนมาอยู่กรุงเทพฯ ผมเลี้ยงเหี้ยเอาไว้ดูเล่นตัวหนึ่ง เลี้ยงหมีตัวใหญ่ มันชอบกินเบียร์ เลี้ยงอีกา นกทึดทือ นกฮูก งูเหลือมและลิง อยู่ร่วมกรงตาข่ายใหญ่เดียวกัน หรืออย่างการเดินถอยหลังไปเรียนหนังสือ ผมก็ทำมาแล้ว ถึงแม้มันไม่ใช่ทางออก แต่ผมก็ฝึกตัวเอง ทวนกระแสมนุษย์บ้างจะได้ไหม อย่างการไม่สวมรองเท้า เท้าผมได้เข้าถึง ได้สัมผัสก่อนใคร อันไหนร้อน อ่อน แข็งเย็น ผมเข้าถึงและรู้สึกได้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าจริงตามที่เขาบอกในตำราที่ทำไว้จนขึ้นราแล้ว บางครั้งมันสวนทางกับเพื่อนๆแต่สิ่งที่เขายกให้เราคือคำว่าบ้า
“ผมอยากจะให้ไปดูที่ประเทศอินเดีย คุณจะทำอะไรก็ได้ เป็นปัจเจกบุคคลไปหมด อิสระมาก คุณจะแก้ผ้าเดินก็ได้ อินเดียเป็นประเทศเดียวในโลกที่แก้ผ้าเดินแล้วมีคนเข้ามากราบไหว้ แต่ที่อื่นแก้ผ้าเดิน ถูกจับหมด เพราะฉะนั้นมันจะเป็นไปตามปากว่าบ้าๆๆแต่ผมไม่ได้เป็นไปตามปากว่า เพราะผมยังปีกกล้าขากรรไกรแข็ง ผมจึงมาคิดว่าบ้ามันเป็นอย่างไร ผมมาตีบทแตกว่าบ้ามีอยู่แค่3 จำพวก หนึ่ง บ้าจริง คือบ้าไปสู่นิพพาน ค้นหาความจริงเพื่อความหลุดพ้น ผมก็บอกว่าบ้าก็บ้าวะ บ้าไปหาความจริง ผมเอาเลยไม่ยี่หระ เขาว่าบ้าก็ยอมรับว่าบ้า ต่อมา บ้าจี้ โดนจี้ให้มีลูก มีเมีย มีรถ มีบ้าน มันเหนื่อยนะ ตลอดชีวิตที่เกิดมา จนกระทั่งตาย จี้ให้ใส่เสื้ออย่างนั้น ผูกเน็คไท และสุดท้าย บ้าไม่จริง ไปดูได้ตามโรงพยาบาลบ้า เพราะคนเขาว่ามากๆ ก็เลยบ้า แต่พวกนี้บ้าไม่จริง บ้าเพราะความอยาก เพราะอะไรหลายๆ อย่างไปรวมไว้ที่โรงพยาบาลบ้า แต่ผมบ้าไปหาความจริง
“ผมไปนั่งที่ไหนผมก็จะได้เพื่อนเยอะ เพราะผมแต่งตัวอย่างนี้มีแต่คนมากราบไหว้ นึกว่าอย่างไงมันต้องเป็นโยคีแน่ๆ (หัวเราะ)บางคนมาขอหวย มาขอน้ำมนต์ มาขอของดี จะเข้ามาขัดก็มี มีผู้หญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง จับเคราแล้วเอากรรไกรมาตัดขาด จากนั้นลงไปกราบผมแล้วพูดว่า “อาจารย์คะ หนูขอหนวดเอาไว้บูชานะ” ผมจะโกรธจะแค้นจะว่าอย่างไงได้ เพราะมันจบไปแล้ว ยังไงผมก็เอาเครามาติดไม่ได้แล้ว จึงเดินต่อไป
“มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาเชิญมาอ่านบทกวีที่กรุงเทพฯ ให้พักที่โรงแรม 5 ดาว ผมใส่เสื้อผ้าขาดๆ เพื่อแหกตาคนให้ดูว่าเรากำลังทำอะไร ทีนี้พอผมเข้าไปในโรงแรม บ๋อยเข้ามาผลักอกชี้มาที่เท้าบอกว่า “ชู ชู ชู ” ถ้าผมใส่สูทผูกเน็คไท ผมจะไม่ได้คุยกับเขาแล้วผมจะไม่ได้ความรู้อะไรเลย ผมบอกบ๋อยว่า “นี่เป็นรองเท้าหนังแท้ที่แม่ให้มา เป็นรองเท้ากายสิทธิ์ ขาดเมื่อไรก็ซ่อมด้วยตัวมันเองได้” สักครู่มันยกมือไหว้ แล้ววิ่งไปหาผู้จัดการ แล้วเชิญผมเข้าห้องวีไอพี สักพักพวกบ๋อย พวกเจ้าหน้าที่โรงแรมเข้ามากราบ เอาอีกแล้ว ผมก็ได้คุยอีก ตอนนั้นวันเกิดหนังสือพิมพ์มติชนครบรอบปีที่เท่าไรผมจำไม่ได้ ผมอ่านกวีร่วมกับ ส. ศิวรักษ์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ คุณขรรค์ชัย บุนปาน เขาชอบผมมาก ผมอ่านกวีทีไร กีตาร์ขาดหมด อ่านให้มันมีความรู้สึก อ่านตะคอกไปตามอารมณ์”
ครูสอนศิลปะระดับโลก
“ตอนเรียนอยู่เพาะช่าง ผมเป็นรุ่นแรกที่จัดนิทรรศการแสดงผลงานภายนอก แต่ผมไม่มีเงิน ผมก็นั่งเรือจากสุราษฏร์ธานี มาลงเกาะสมุย แล้วโบกขอต่อเรือจากเกาะสมุยมาลงคลองแสนแสบ แถวสมุทรสาคร ขณะนั่งเรือมาก็เขียนรูปไปด้วย พอมาถึงเพาะช่างก็มีการจัดนิทรรศการร่วมกันกับเพื่อนๆ จัดแสดงที่วังสราญรมย์ ทางโรงเรียนเห็นว่าดี จึงจัดขึ้นอีกที่บางกะปิแกลเลอรี่ วันนั้นฯพณฯ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานเปิดงาน คนอื่นก็พูดคุยกับท่านพร้อมยกมือไหว้ มีผมคนเดียวที่ไม่ยกมือไหว้ ท่านจึงถามว่า “อ้าว นี่คุณ นักเรียนน่าจะมีความเคารพผู้ใหญ่ ใครๆ เขายกมือไหว้ผมกันทั้งนั้น แต่ทำไมคุณไม่ไหว้” ผมตอบหน้าตาเฉยว่า “ผมรู้จักแต่ชื่อ ไม่รู้ว่าท่านเป็นใคร แล้วผมจะไหว้ท่านได้อย่างไร ต้องขออภัยที่ไม่ได้เคารพท่าน” ผมไม่ได้กลัวนะ ผมพูดฉะฉาน ท่านคึกฤทธิ์ก็เดินดูผลงาน ดูจากแววตาแล้ว ดูเหมือนท่านสนใจผมมาก เมื่อเดินมาดูรูปผม ท่านชอบมาก ผมใช้สีบีบราดผมเขียนรูปหนังตะลุง เขียนภาพแม่ค้ากำลังหาบขายของ แต่เทคนิคผมใช้การบีบสีราด ไม่ได้ใช้พู่กันแล้วใช้น้ำมันราด ท่านก็ซื้อไปทั้งหมด 4 รูป พร้อมส่งผมอุปการะให้ผมเรียนพร้อมๆกับพี่ถวัลย์ ดัชนี อย่างเต็มที่ “ท่านคึกฤทธิ์ดีกับผมมาก ท่านเรียกผมว่าลูกทุกคำ มีอยู่วันหนึ่งผมทำให้ท่านโกรธ ผมเป็นเด็กจึงไปสารภาพกับท่าน ท่านต่อว่าผมก็เสียใจ จากนั้นท่านไม่ส่งเสียให้เรียนอีกเลย ทั้งๆ ที่เหลืออีก 1 ปีจะจบ
“ความจนจึงเข้ามาเยือนอีกครา ไม่มีที่อยู่ ต้องไปเช่าหลังคาส้วม อาศัยในป่าน้ำครำ แถวเจริญพาสน์ ย่านฝั่งธนบุรีกับเพื่อน 3คน เดือนละ 80 บาท ตอนหลังผมไปเขียนรูปริมถนน เผอิญมีฝรั่งจีไอที่ไปรบที่เวียดนามกลับมากรุงเทพฯมาเจอผมเขียนรูป เขาก็ชอบมาก เขาก็มาขอผมกับน้าชายให้ไปอยู่ที่บ้านเขา เขาจะเลี้ยงไว้เป็นลูกบุญธรรมส่งเสียให้เรียน มีคนขับรถมารับมาส่ง มีแซนวิช แฮมเบอร์เกอร์ มาให้กินที่โรงเรียน นี่ล่ะ เวลาลำบากมักจะมีเทวดาลงมาช่วยเสมอ(หัวเราะ)
“ตอนที่ผมอยู่กับฝรั่งและรู้จักกับอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ ช่วงนั้นผมได้เรียนรู้เยอะมาก จนกระทั่งผมจบจากเพาะช่างปี พ.ศ.2507มีผม มี กมล ทัศนาญชลี ณัฐ กาญจนทัต ก็ไปหางานทำกัน เพราะเรา 3 คนเขียนรูปมาด้วยกัน ตอนหลังไปชวน จ่าง แซ่ตั้ง ที่เขียนรูปจากภาพถ่าย ชวน ประเทือง เอมเจริญ ที่เขียนรูปอยู่หน้าโรงหนังมาเขียนรูปด้วยกัน สนุกสนานมาก
“ต่อมาผมชวน กมล กับ ณัฐ ทั้งคู่ไปสมัครเป็นครูสอนวาดเขียน แต่ผมไม่เอา ผมสมัครเป็นภารโรง (หัวเราะ) แต่เขาไม่รับ ผมว่าผมสมัครเป็นครูไม่กี่วันเขาคงไล่ผมออก เพราะผมไม่ชอบระบบประจบสอพลอ เลียแข้งเลียขา ผมไปสอนให้ฟรีๆ เขายังไม่ต้องการเลย สุดท้ายผมไปสอบแข่งขันเอาชนะศิลปินที่จบปริญญาตรี จนกระทั่งผมเข้าไปเป็นครูโรงเรียนนานาชาติ ISB ย่านสุขุมวิท ผมได้เงินเดือน เดือนละ 8,000 บาท ในขณะที่ณัฐสอนโรงเรียนรัฐบาลได้เดือนละ 750 บาทเท่านั้น เพื่อนๆ จึงพากันงง เพราะแต่ก่อนไม่มีอะไรจะกิน เดี๋ยวนี้กินฮอตดอก มีรถขับมารับมาส่ง แต่งตัวแบบเอลวิส เพรสลี่ย์ สี่เต่าทอง ตามอิทธิพลของฝรั่ง ตอนนั้นกิเลสยังมีอยู่ อยากจะหลุดก็หลุดไม่ได้
“ขณะที่อายุราว 20-21 ปี เมื่อจะไปสอนที่นั่น ผมได้หนังสือของหลวงวิจิตรวาทการชื่อ กำลังใจ เอามาอ่านเพื่อนำไปสอนเด็กระดับประถม 4-5 ที่กำลังเจี๊ยวจ้าว กำลังซน ผมสอนวิชาศิลปะ ขณะที่ลบกระดานดำ ผมเริ่มเขียนรูปนางเงือกโดยไม่ยกมือขึ้นเหมือนเขียนเลขศูนย์ เด็กเฮชอบใจกันใหญ่ ผมสอนมาได้ 2 ปี ผู้อำนวยการนำหนังสือตำรามาให้เป็นแบบสอน ผมสอนสู้ฝรั่งไม่ได้ เพราะฝรั่งมันเขียนตำรา ผมไม่ทำตามตำรา ผมคิดค้นเทคนิคการสอนเอง ผมใช้ประชามติด้วยการโหวตกับเด็กว่า “วันนี้เธออยากเรียนอะไรเรียนกับใคร”เด็กยกมือขึ้น “เรียนกับควายครับ” “เรียนกับช้าง” “เรียนกับคนขับรถ 10 ล้อ” ผมก็นำเอาวิธีสอนของผมไปนำเสนอผู้บริหารว่าต้องจ้างควายมาเท่าไร จ้างช้างมาเท่าไร จากนั้นก็จูงควายขึ้นชั้นเรียน เด็กๆ พากันดีใจที่ได้เรียนกับของจริง ผมบอกเด็กว่าคุณจะเขียนรูปควายให้ผมก็ได้ แต่ถ้าไม่เขียน ทำท่าควายให้ดูก็ได้ ให้เนื้อหามันเกี่ยวกับควาย ผมให้คะแนนหมด ดีกว่านำเอาหุ่นนิ่งมาให้เขียน เด็กจะเบื่อ ทีนี้ควายมันขี้ มีเด็กคนหนึ่งขนขี้ควายใส่ถุงไปชั่งกิโล แล้วคำนวณออกมาว่าควายหนึ่งตัวอายุเท่านี้ กินวันละเท่านี้ จะขี้วันละกี่กิโล เดือนหนึ่งขี้กี่กิโล เอากับมันซิ
“นี่คือตำรามือหนึ่งของการสอนศิลปะแนวใหม่ ของการเรียนวิชาศิลปะ เพราะศิลปะมันกว้าง เราต้องเปิดใจกว้าง ผมสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 ถึง พ.ศ. 2528 ผู้อำนวยการสถาบัน Dr. Albert J. Bryniarski ให้ใบรับรองว่า ‘วิโรจน์คือนักการสอนศิลปะมือหนึ่ง ที่ไม่เป็นรองใครในโลก’
“ผมลาออกจากการเป็นครู ISB ขณะที่เงินเดือนเกือบห้าหมื่นบาท เพราะอุบัติเหตุ มีอยู่วันหนึ่งผู้อำนวยการอยากได้บัตรอวยพรเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ เพราะผมไม่เคยเขียนให้ใคร ผมจึงเขียนรูป ส้นตีนคนและสัตว์ไปให้ แทนที่เขาจะไล่ออก ผอ.ฝรั่งกลับหัวเราะชอบใจชื่นชมยกย่องว่า ‘เยี่ยมมาก นายแน่มาก ข้าพเจ้ายอมรับจริงๆ’ สิ่งที่ผมทำมันสะท้อนสังคมเรา เราต้องตามเขา ให้เขาทำก่อนเราจึงทำตามเขา แต่ของผมทำให้เขาตาม หลักการสอนของผมจะเป็นตามแนวความคิดของตัวเองร่วมกับคนข้างเคียงเมื่อเราได้ความรักจากเด็กมันจะสอนง่าย ผมเอาความรักมาให้ บางครั้งปิดแอร์ 4-5 ตัว ทำห้องเรียนให้เป็นลำธารสาย น้ำมีปลามีต้นไม้ รื้อพรมออกหมด นำขอนไม้มาให้เด็กๆ นั่งเพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ หรือจ้างวงกลองยาวมาตีให้ฟัง หรือเอาเครื่องดนตรีมาให้เด็กมาเคาะ มาตี แล้วถามเด็กว่ามีความรู้สึกอย่างไรกับเสียงดนตรีแต่ละชิ้น แล้วเขียนอะไรก็ได้ตามความรู้สึกลงไป มีการร้องรำทำเพลงดังลั่นให้มันเข้าจังหวะ เด็กจะมีความรู้สึกที่ดี ไม่ทะเลาะทำร้ายกัน ผมเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง ให้ความสำคัญกับเขาทำให้เด็กชอบ
“ผมเคยตัดผมโดยไม่ต้องดูกระจก ตัดออกมาเหมือนทรงหมาแทะ แล้วห้อยกระดิ่งทาลิปสติกไปสอนหนังสือ มีอยู่วันหนึ่งผอ.บอกว่ารัฐบาลไทยต้องการให้ครูโรงเรียนนานาชาติผูกเน็คไททุกคน มีผมคนเดียวที่ไม่ผูก บังเอิญเพื่อนมันเมาไปขโมยสากกะเบือขนาดใหญ่มีผ้าแพรสีเขียว แดง เหลือง ผูกติดอยู่ มาจากศาลเจ้าแม่ทับทิม พอหายเมา มันเอามาให้ผม เพราะผมคุยกับเจ้าแม่ทับทิมรู้เรื่อง ผมจึงห้อยสากกะเบือ แทนเน็คไทไปสอนเด็ก ผอ.มาเห็นผมเข้า เขาเลยไม่ยอมพูดกับผมไปอีกนาน(หัวเราะ)
“ถ้าเป็นผู้บริหารไทย ผมคงถูกไล่ออกไปนานแล้ว แต่ที่นี่เขาไม่ไล่ เพราะเขาเห็นผลงานผมมันดีเยี่ยม ไม่มีที่ติ เขาจะดูที่เนื้องานมีเด็กผู้ชายอยู่คนหนึ่งชื่อ คิมิ เป็นชาวญี่ปุ่น ลูกของคุณเรอิโกะ ฮาดะ นักประพันธ์เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยมด้านวรรณกรรมศิลปะแห่งประเทศญี่ปุ่น เด็กคนนี้เป็นออทิสติก ซึ่งไปที่ไหนไม่ได้แล้ว เขามาเรียนกับผม ผมสอนจนเขาเป็นศิลปินได้ สามารถจัดแสดงนิทรรศการภาพวาดของตัวเองได้”
ศิลปินแท้ (ย่อม) ไม่ฉวยโอกาส
“ช่วงที่ผมสอนอยูโรงเรียนนานาชาติ ผมยังสร้างสรรค์ศิลปะอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา จนสถาบันเกอร์เธ่ได้คัดเลือกให้แสดงงานคู่กับ Horst Janssen ศิลปินเอกของเยอรมันและของโลก ในสถานที่สำคัญๆ หลายแห่ง ทั้งในประเทศไทยและยุโรป อเมริกาและอีกหลายประเทศ หนังสือพิมพ์ของไทยและต่างประเทศลงข่าวประกาศเกียรติคุณผมต่างๆ นานา ตอนนั้นดังมาก ผมขยันมากตื่นนอนขึ้นมาก็เขียนรูป มีอยู่งานหนึ่งเขาต้องการให้ผมนำผลงานไปแสดงที่เพชรบุรีซึ่งเป็นแกลเลอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น เขาต้องการโฆษณาโปรโมตผม แต่ผมโอหังมาก ผมไม่ยอมเซ็นชื่อในภาพที่ผมเขียนคือโง่แต่อวดฉลาด เจ้าของแกลเลอรี่เขาให้ผมเขียนประวัติตัวใหญ่ๆ ผมเขียนว่า ‘นายวิโรจน์ นุ้ยบุตร ประวัติหมาไม่แดก’ คนจัดเขาโกรธผมมาก ชักปืนขึ้นมา ทำท่ากวนๆ ผมจึงยกเลิกงาน แล้วขอรูปคืนทั้งหมด เขาไม่ยอม เขายึดรูปผลงานของผมทั้งหมด ปัจจุบันผมยังไม่ได้คืนสักภาพเดียว คนอย่างนี้เลิกคบ
“ผมกลับไปบ้านที่ดงพะโต๊ะ ตั้งต้นเขียนรูปใหม่ เขียนจากแรงบันดาลใจ ชื่อรูป ‘งูกินหาง’ เพื่อสะท้อนอะไรบางอย่าง ผมสร้างสรรค์ผลงานด้วยควันไฟมาตั้งแต่อยู่ชั้น ป.2 เพราะเห็นไฟมันลามทุ่ง กำลังจะดับเป็นควัน จึงนำเอาเถ้าจากควันไฟมาเขียนก็ออกมาสวยงาม แปลกดี แล้วก็พลิ้วไหว ชอบมาก จากนั้นก็ติดใจจึงเขียนเรื่อยมา ใช้ทั้งลูกไม้ ยางไม้ จากต้นไม้มาใช้สมัยแรกๆ เพราะอยู่ป่าหาสีไม่ได้ เงินก็ไม่มีจะซื้อข้าวสารกรอกหม้อ อีกทั้งยังต้องส่งเสียเด็กๆ แถวบ้านให้เล่าเรียนด้วย บังเอิญมีฝรั่งอเมริกามากับใครคนหนึ่ง มาหาผมที่บ้าน ยื่นนามบัตรให้ บอกว่ามาจากพิพิธภัณฑ์นิวยอร์ก บินมาประเทศไทยเพื่อมาขอซื้อรูปผมไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ พร้อมกับแนบหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่เขาตัดคำสัมภาษณ์ พร้อมผลงานของผมมาให้ดู ผมก็บอกว่ารูปของผม ผมไม่ขาย เขาก็ตื้อผมให้ขายให้ได้ ผมก็บอกว่ารูปของผมมันแพงมาก เขาบอกว่าแพงเท่าไรก็จะซื้อ ผมก็โอเค จับมือเป็นสัญญา ผมก็บอกว่าแต่คุณต้องจ่ายเงินสดเท่านั้นนะ เขาก็โอเค ยินดีจ่ายหมด ขอให้บอกตัวเลขมาแล้วฝรั่งก็เลือกรูปขนาดใหญ่ 3 รูป เขียนด้วยควันไฟกับยางไม้ ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะตัวที่ผมรักมากที่สุด ผมอุทานในใจ สัญญาเป็นสัญญา ‘เท่าไร’ ฝรั่งถาม พร้อมกับยื่นมือมาจับมืออีกครั้ง ผมบอกว่า ‘3 รูป 2 บาทครับ’ ฝรั่งนึกว่าพูดเล่น ทั้งๆ ที่ผมพูดจริง เหงื่อฝรั่งเริ่มแตก เขาบอกว่า ‘อย่าพูดเล่น’ ผมบอกว่า ‘ศิลปินพูดจริง ไม่เคยพูดเล่น 3 รูป 2 บาทคุณจ่ายมา’ เขาให้คนที่พามา จ่ายให้ผม 2 บาท ผมยังแถมรูปสีน้ำให้ไปอีกหลายรูป ฝรั่งหอบรูปกลับไปอย่างงงๆ ทั้งๆ ที่วันนั้นผมจน แทบไม่มีเงินจะซื้อข้าวสารกรอกหม้ออยู่แล้วแต่ผมเป็นศิลปิน ที่ไม่ฉวยโอกาส พอฝรั่งกลับไป เมียวิ่งเข้ามากอดผม ร้องไห้ น้ำตาไหลพรากพร้อมกับพูดว่า ‘หนูรักพี่มากเพราะพี่เป็นศิลปินที่ไม่ฉวยโอกาส’
“เราไม่ใช่ทุนนิยม ไม่ใช่นายทุน ผมเลยได้หัวใจตรงนี้มา เหมือนกับพระเจ้าเบื้องบนมาเช็คผมเป็นช่วงๆ ว่าผมเป็นศิลปินตัวจริงที่หลุดออกไปจากคนอื่นทั้งหลายอยู่ไหม ผมได้ศึกษาธรรมะได้ปฏิบัติธรรม นอนกระดานแผ่นเดียว กินมังสวิรัติมื้อเดียวมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2524 ตอนนี้ผมทิ้งหมด ไม่มีอะไรแล้ว บ้านช่องเรือนชานทั้งที่ดิน 100 กว่าไร่ ผมบริจาคให้เขาหมด ผมอาศัยเขาอยู่ เงินเดือนก็ไม่มี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 ผมอยากจะรู้ว่ามนุษย์มหัศจรรย์มันเป็นอย่างไร ผมเลยเอาร่างกายผมมาเป็นตัวทดลองโดยไม่มีตัวช่วย ไม่มีแม้ไม้ค้ำยัน ผลงานของผมตอนนี้กระจัดกระจายอยู่ที่เชียงใหม่ ที่สระแก้วและที่กรุงเทพฯ บ้าง ส่วนที่ชุมพร เขียนเสร็จเก็บไว้ยากมาก เพราะพื้นที่มันชื้น ภาพขึ้นราหมด
“ภาพที่ผมขายไป แล้วเศรษฐีเอาไปเก็บไว้เพื่อจะอวดคนโน้นคนนี้ รูปนี้ซื้อมา 100 ล้านบาทนะ เศรษฐีไม่ได้ซื้องานศิลปะ แต่มาซื้อลายเซ็นของคนดัง ผมอยากให้เขามาดู มาคุยกับศิลปิน แล้วมาซื้องานศิลปะ ทุกวันนี้ผมยังสร้าง