เฉลิมศักดิ์ รัตนจันทร์

เฉลิมศักดิ์ รัตนจันทร์

เขาไว้หนวดพองาม แววตาซื่อสัตย์จริงจัง จริงใจ สุขุมนุ่มลึกในน้ำเสียง เขาพาเราทัวร์คณะศิลปวิจิตร รอบๆสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เวิ้งท้องทุ่งลาดกระบัง ติดลำคลองประเวศน์บุรีรมย์ ครอบคลุมเนื้อที่ 60 ไร่ ที่อิ่มเอมกับสภาพชนบทห่างไกล เขาบอกว่ามันทำให้หวนคิดถึงการย้ายถิ่น กลิ่นอายเก่าๆ สมัยนุ่งกางเกงสีดำขาสั้น เสื้อสีขาวตัวโตๆ ปักอักษรที่หน้าอกสีน้ำเงินว่า “ชศ.”หรือโรงเรียนช่างศิลป์ วังหลังสนามหลวง จนย้ายมาเป็นวิทยาลัยช่างศิลป์ ที่หัวตะเข้ เมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา

อาจารย์เฉลิมศักดิ์เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด สมัยประถมศึกษาปีที่ 4 เคยฉายแววประกวดวาดเขียนสีเทียน ให้อิสระทางความคิดตามจินตนาการ ด้วยภาพวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา ฯลฯ ที่สถานีวิทยุและโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม จนได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นสีเทียน จากนั้นเขานำไปแจกจ่ายเพื่อนๆ ที่ไม่ได้รับรางวัลเป็นการแสดงน้ำใจ

เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนดารานุกูล ย่านบางลำพู ด้วยความสนใจในงานศิลปะ ทำให้เขาสอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนช่างศิลป์และได้เป็นศิษย์ของอาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ที่นี่คือแหล่งเพาะบ่มทางปัญญา เสมือนตักศิลาที่เหลาจินตนาการให้แหลมคม เป็นจุดเริ่มต้นของความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ศิลปะ

เมื่อภูมิคุ้มกันทางด้านฝีไม้ลายมือหาญกล้า เขาก็ได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ทางด้านภาพพิมพ์ ที่สถาบันหน้าพระลาน มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาได้ถูกหล่อหลอมจนเป็นทองเนื้อแท้จากสานุศิษย์ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาศิลปะสมัยใหม่ เขาเป็นศิษย์เอกของอาจารย์ธงชัย รักปทุม อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ปรมาจารย์ภาพพิมพ์

จากนั้นเขากลับเข้ามารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ผู้สอนวิชาภาพพิมพ์ที่วิทยาลัยช่างศิลป์ เมื่อกรมศิลปากรได้จัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ขึ้น อันเป็นสถานศึกษาระดับปริญญาตรี เขาจึงย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำที่นี่เพื่อสอนภาพพิมพ์ในระดับนี้ด้วย

ปัจจุบันอาจารย์เฉลิมศักดิ์ดำรงตำแหน่งคณบดี คณะศิลปวิจิตรสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งสถาบันแห่งนี้ต้องดูแลวิทยาลัยนาฏศิลป์ 12 แห่งและวิทยาลัยช่างศิลป์ 3 แห่ง เริ่มจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 โดยเปิดหลักสูตรปริญญาตรีทางช่างศิลป์อีก 2 คณะ คือ ศิลปะนาฏดุริยางค์และคณะศิลปศึกษา ในอนาคตอันใกล้นี้จะเปิดหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก ตามลำดับ

ทัศนะ...ทัศนาศิลป์

“การเป็นครูสอนศิลปะ นอกจากจะมีภาระงานในการถ่ายทอด แนะนำด้านความคิด วิชาการและขั้นตอนเทคนิคของกระบวนการภาพพิมพ์ในรูปแบบต่างๆ แล้ว ผมคิดว่าหน้าที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือครูผู้สอนศิลปะจะต้องทำงานสร้างสรรค์ควบคู่ไปด้วย เพื่อพัฒนาตนเองและนำความรู้ใหม่ๆ จากประสบการณ์ของเราถ่ายทอดไปสู่นักเรียน”

นั่นคือหลักจารึกปณิธานที่เขายึดมั่นปฏิบัติตลอดมา โดยมีสภาพสังคมที่เป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเป็นแรงบันดาลใจในเนื้อหาที่เขาต้องการแสดงให้เห็น ด้วยการสื่อความหมายผ่านกระบวนการขั้นตอนอันซับซ้อนทางเทคนิคของงานภาพพิมพ์ และถ่ายทอดเป็นผลงานอันละเอียดอ่อนด้วยวิธีการ แต่ทว่ารุนแรงในการแสดงออก บางภาพเขาสร้างสัญลักษณ์ของความละโมบอำนาจ ความหยิ่งผยองจากการผสมผสานของรูปทรงทั้งแบบนามธรรมและกึ่งนามธรรม เพื่อสร้างเอกภาพและชีวิตให้กับรูปทรงใหม่ที่ทรงพลัง เข้มข้น ดุเดือด รุนแรง อาทิ ภาพใบหน้าเสือ ดวงตาที่ลุกวาว ปรากฏประกายบนเศษเสี้ยวของชิ้นส่วนอารยะธรรมในบางขณะกลับกลายแปรเปลี่ยนเป็นคมเขี้ยวของอสูรกาย

ผลงานที่โดดเด่นบางชิ้นปรากฏภาพพญาอินทรีสยายปีกมหึมา ผงาดอยู่ในท่ามกลางความเชี่ยวกรากโกลาหลของสายนทีแห่งชีวิตซึ่งจมอยู่ใต้ปลักโคลนหมักหมม อินทรีย์อาจจะตีความไปถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา มันเป็นพลังที่จะจิกกินเอารัดเอาเปรียบ บางครั้งแปรสภาพเป็นลวดลายกนก พลิ้วไหว โชติช่วง สง่างาม สลับสับเปลี่ยนกันไปมา ราวกับการเคลื่อนไหวในห้วงมหรรณพมหากาพย์แห่งความหายนะ เขาสร้างสรรค์ด้วยพื้นสีดำทะมึน ขับให้รูปรอยเส้นสายต่างๆ แสดงทรวดทรงและตัวตนในแผ่นฟ้าสีแดงแผดเผาดั่งแสงสว่างของไฟบรรลัยกัลป์

อนิจจัง! นี่คือจุดจบของเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชียอย่างเราที่โดนขีปนาวุธสอยร่วงด้วยพิษเศรษฐกิจ การไหลเวียนของกระแสเงินตราการซื้อง่ายขายคล่องของบรรดาอสังหาริมทรัพย์ การผุดขึ้นของโครงการตึกระฟ้า การบริโภคจับจ่ายของผู้คนเพื่อแสวงหาสิ่งอำนวยความสะดวกนานาชนิด โดยไม่รู้ตัวว่าความหายนะกำลังมาเยือน

“ผมมองมนุษย์และสภาพชีวิตในมุมของการต่อสู้ดิ้นรน มนุษย์ทุกคนมีด้านมืดอยู่ในตัวของเขาเอง ในแง่หนึ่งของมนุษย์มักคิดว่าตัวเองเป็นผู้มีอำนาจอยู่เหนือใครๆ แม้แต่ธรรมชาติ ในงานชุดแรกๆ ของผม ถ้าใครได้ติดตามดู ก็คงจะเห็นได้ว่างานของผมเป็นเรื่องของพลังชีวิต ซึ่งผมมักจะใช้รูปทรงเดี่ยวรวมตัวคล้ายกลุ่มก้อนของวัตถุ และดูเหมือนกรงเขี้ยวเล็บของสัตว์ งานที่ผมรวบรวมจัดแสดงในครั้งนั้น ผมคัดเลือกงานที่ทำตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 เป็นต้นมา ซึ่งผมได้คลี่คลายรูปทรง พัฒนาสาระ โดยได้แรงบันดาลใจจากสภาพเหตุการณ์ของบ้านเมืองในยุคที่เศรษฐกิจของเรามีปัญหา มันเป็นเหมือนข้อคิดสติเตือนใจให้เราต้องหันกลับมาทบทวนนโยบายด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม แนวการดำเนินชีวิตของเราเสียใหม่ มันเป็นเนื้อหาที่ทำให้ผมอยากสะท้อนหลายๆอย่าง รวมทั้งอัตลักษณ์ความเป็นไทยในงานของผมเองด้วย

“เราเป็นฟันเฟืองเล็กๆ เราก็ทำได้ในหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเท่าที่เราสามารถจะทำได้ ความภาคภูมิใจของผมคือการได้เป็นครู ผมมีความรู้สึกว่าที่ผ่านมาเราก็มีลูกศิษย์ลูกหาที่เราได้มีโอกาสแนะนำเขาในช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นเขาก็ไปเติบโตในสายธารของเขา สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือทำอย่างไรให้เขาเป็นคนดี”

ฉันจึง....มาหาความหมาย

“ทุกวันนี้มีงานและการแก้ไขปัญหาเข้ามาทุกวัน ผมจึงไม่มีเวลาไปทำตำแหน่งทางวิชาการ ทั้งที่อยากจะทำ การประชุมมีเยอะแยะไปหมด อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการเชิญกลุ่มบุคคลภายนอกไปเขียนภาพที่เขาใหญ่ บางครั้งก็เป็นการเขียนรูปสีน้ำบ้าง ซึ่งผมคิดว่านี่คือส่วนหนึ่งที่เรามีความเชื่อมต่อกับคนที่เขาเป็นผู้ใหญ่ที่เขาไม่มีโอกาสได้เรียนศิลปะตอนเด็กๆ แต่เมื่อเขาได้มาเรียนตอนนี้ เขาจะได้มีโอกาสรู้ว่า สิ่งที่เขาขาดหายไปคืออะไร ตอนนี้หลายคนที่เขาประสบผลสำเร็จในชีวิต อายุ 60 กว่าแล้ว ก็กลับมาเรียนกับเรา เราก็เหมือนกับเพื่อนรุ่นน้อง ที่พี่มาเรียนกับผม มันเหมือนกับเพื่อนที่มองอะไรสบายๆ คล้ายๆ กัน เพียงแต่ว่าผมมีส่วนในการที่จะช่วยให้เขามีความสะดวกสบายในการไปเขียนรูปด้วยกัน นี่ก็เป็นส่วนหนึ่ง

“ผมรู้อย่างเดียวว่าตอนที่จบใหม่ๆ ผมอยากทำงานศิลปะ ผมจบออกไปแล้ว ผมยังกลับมาศิลปากร ผมไปลูบไปกอดแท่นพิมพ์ไอ้ที่เป็นเหล็กๆ นั่นแหละ มันมีความประทับใจ มันมีความผูกพัน เมื่อจบออกมา ผมก็ไปสมัครเป็นทหารเกณฑ์ ไปเป็นทหารบก อยู่จังหวัดลพบุรี มันเหมือนกับเราไปหาความหมาย ตอนที่เราจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม เรียนมา 5 ปี เราก็มีประสบการณ์อยู่ตรงนั้น เราอาจจะมีกิจกรรมอื่นอยู่บ้าง แต่คำว่าทหาร เป็นสิ่งที่คนอื่นเขากลัวกันหมด ช่วงนั้นมันยังมีเรื่องของการสู้รบกันอยู่บ้างในปี พ.ศ.2525-2526 ผมคิดว่าผมอยู่ไม่นาน เขาคงไม่ส่งผมไปชายแดน (หัวเราะ)

“ก็คิดอย่างนั้น แต่เราเห็นเพื่อนรุ่นพี่ๆ เขาไปกัน มันคงจะต้องมีอะไรบางอย่างแต่เมื่อเขากลับมา เขาก็มาเล่าให้ฟังว่า อย่าไปเลยมันเสียเวลา แต่ด้วยความที่ผมเป็นตัวของตัวเอง มันต้องพิสูจน์ว่าที่รุ่นพี่เขาพูดมันจริงไหม จึงสมัครไปเลย ก็ได้รู้กฎระเบียบอะไรหลายอย่าง ทำให้เราหายสงสัย จากนั้นเมื่อปลดประจำการออกมา ก็ไปได้งานที่ จิม ทอมป์สัน เดือนๆ แรกก็สนุก ผมทำอยู่ 8เดือน แต่ไม่ได้ทำงานออกแบบโดยตรง บางทีบอสเขาไปหยิบถุงกระดาษมาใบหนึ่ง แล้วเขาให้เราขยายแบบ ซึ่งเราไม่ได้ใช้ตัวเราเองเลย ตอนหลังๆ เขาก็พยายามให้เราทำงานที่ท้าทาย มีงานที่ออกแบบจากต่างประเทศมา เขาก็ลองเอาไปให้เราทำดู เราก็ทำออกมาได้ดี แต่เมื่อทำไปนานๆ มันไม่ใช่แบบที่เราเป็น มันไม่ได้ทำงานศิลปะเลย เผอิญวิทยาลัยช่างศิลป์ เขาเปิดรับสมัครอาจารย์ ผมจึงไปสอบบรรจุ เมื่อสอบได้ จึงไปขอลาออก จากจิม ทอมป์สัน

“การสอนตรงนั้น ผมก็สอนเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2542 ทางกรมศิลปากร มีนโยบายที่จะเปิดสอนระดับปริญญาตรี ผมก็สมัครมาสอนในส่วนของปริญญาตรี จึงโอนย้ายมาอยู่คณะศิลปวิจิตร แต่มันก็คือส่วนต่อยอดมาจากช่างศิลป์ ปีนี้เป็นปีที่ 11 ก่อนหน้านี้ผมเป็นหัวหน้าภาคศิลปกรรมของคณะ ผมคิดว่าผมเดินมาถูกทาง ได้สอน ได้ทำงานศิลปะตลอดมา เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้แสดงงานบ่อยเท่านั้น เพราะในการแสดงงานแต่ละครั้ง มันมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากพอสมควร มันใช้เงินเป็นหลักแสนบาท จึงเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่ง เมื่อมาเป็นครูแล้วมักไม่ค่อยได้แสดงผลงาน ต้องรอแสดงงานกลุ่ม ด้วยสาเหตุที่ว่าเงินเดือนครูไม่เยอะ

“งานศิลปะผมทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ ผมไปไหนผมก็เขียนรูปไปเรื่อยๆ ผมมีโอกาสได้เขียนสีน้ำก็เขียน ทำทุกอย่างได้เท่าที่เรามีเครื่องมือในการทำ อย่างตอนที่ผมไปเป็นทหาร เมื่อเขารู้ว่าผมจบมาจากศิลปากร เขาก็ให้ผมออกแบบเสื้อประจำกองพัน ซึ่งก็เป็นเรื่องส่วนหนึ่งที่ทำมาตลอด

“ที่สำคัญ บางทีคนเก่งมันไม่สำคัญ แต่ต้องเป็นคนดีด้วย ปัญหารอบๆ เราในปัจจุบันมันมีคนเก่งเยอะ แต่จิตใจภายในมันไม่ได้พัฒนาไปด้วย การบอกเด็กก็ไม่ได้บอกเขาตรงๆ บางทีผมพูดแล้วเด็กเขาตามไม่ทัน ยกตัวอย่างเช่น เด็กผู้หญิงที่รูปร่างหน้าตาดีเมื่อมีคลาสที่ต้องเรียน แล้วเดินเข้ามาในห้อง ทำให้เด็กๆ ผู้ชายในห้องมันไม่อยากเรียน เราก็บอกว่า ‘เธอนะ สวยก็สวย แต่ถ้าเธอแต่งตัวมาอย่างนี้ ทำให้พวกเพื่อนเธอเขาไม่เป็นอันเรียน ช่วยกรุณาลดความสวยลงมาหน่อย’ พอออกจากห้องหลังเลิกเรียนเด็กนักเรียนผู้หญิงคนนั้นกลับพูดกับผมว่า ‘อาจารย์ เกิดมาสวยช่วยไม่ได้ค่ะ’ (หัวเราะ) อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ได้สอนตรงๆ แต่ก็สอดแทรกในการสอนเข้าไป เท่าที่เรามีโอกาส โดยไม่ใช้วิธีด่าที่เขาไม่ค่อยชอบ แต่ใช้วิธีพูดคุยแบบเพื่อนกันมากกว่า”

พลังภาพพิมพ์ 

ในช่วงแรกที่อยู่โรงเรียนช่างศิลป์ ต้องสร้างสรรค์ทั้งเขียนภาพสีน้ำ สีน้ำมัน การปั้น สเกตซ์ภาพ เมื่อมาเรียนที่ศิลปากร อะไรเป็นจุดเปลี่ยนให้มาเรียนภาพพิมพ์ อาจารย์เฉลิมศักดิ์จึงเผยตัวตนออกมาว่า

“ตอนแรกผมไม่รู้จักภาพพิมพ์มากเท่าไร จนกระทั่งมาเข้ามหาวิทยาลัย สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าตรงนี้มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะในศาสตร์ตอนนั้นมันค่อนข้างจะใหม่ มันอาจจะมีมาไม่เกิน 10 ปี แล้วมันสามารถที่ส่งออกไปต่างประเทศได้ มันเป็นภาษาสากลส่งง่ายราคาไม่แพง แต่ถ้าเป็นเพ้นท์ติ้งหรืองานปั้น ค่าใช้จ่ายในการส่งมันสูงมาก ซึ่งอันนี้มันเป็นช่องทางหนึ่ง ที่เราจะได้สูจิบัตรจากต่างประเทศมา เพื่อจะมาดู เพราะว่าช่วงก่อนหน้านั้น นิตยสารต่างๆ หรือข้อมูลมันยังมีไม่มาก พวกหนังสือหรือสูจิบัตรที่เราได้มา มันได้จากพวกที่เขาทำงานศิลปะกันจริงๆ มันเป็นแค็ตตาล็อกของเขาเลย ทำให้เรามีโอกาสนำผลงานเข้าไปร่วมแสดงด้วยอันนี้ก็เป็นเหตุผลสำคัญ

“ราวปี พ.ศ.2525 ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า อาจารย์กมล ทัศนาญชลี ท่านเข้ามาบุกเบิกให้แนวทางศิลปะภาพพิมพ์ในช่วงนั้นเป็นลักษณะสื่อผสมชื่อ ชุดหลอดสี ที่ผมเห็นแล้ว ประทับใจมาก แล้วท่านก็เอาหลอดสีที่เป็นภาพพิมพ์เอามาม้วน ซึ่งท่านก็ทำให้เราเห็นว่า ภาพพิมพ์มันไม่ได้มีแค่ 2 มิติแบนๆ เราสามารถเห็นก้าวกระโดดไปอีกด้าน ภาพพิมพ์มันเป็นต้นแบบ เป็นศาสตร์ที่จะต้องเดินทางต่อ

“สำหรับอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ท่านก็เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องของวู้ดคัท ลักษณะตัวตน ผมก็ประทับใจในแนวทางของท่าน แต่การทำงานศิลปะทุกคนก็พยายามเหวี่ยงตัวเอง เพื่อจะหาบุคลิกตัวเองออกมาให้ได้ว่าเรามีบุคลิกอย่างไร ไม่ใช่ว่าเห็นศิลปินระดับชาติที่ประสบผลสำเร็จ แล้วเราไปตามท่าน เราจะเจ๊ง เราก็พยามหาแนวทางแนวความคิดต่างๆ ของแต่ละคนว่ามีแนวคิดมาจากตรงไหน ผมจึงเลือกที่จะทำภาพพิมพ์ แต่ผมก็ยังทำอย่างอื่นประกอบ อย่างเพ้นท์ติ้ง แต่เราชัดเจนตรงนี้ แต่โดยพื้นฐานเราสามารถทำเพ้นท์ติ้งได้ ทำงานปั้นได้ เขียนภาพลายไทย มันมีพื้นฐานรวมๆ กันมา

“อัตลักษณ์ของผมมาจากแนวความคิดมากกว่า ผมจะยึดในส่วนที่มองสภาพรอบๆ ตัว แล้วมองว่ามันมีผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างไร แล้วนำจุดตรงนั้นมาขยาย เพื่อสะท้อนกลับไปเหมือนกระจกให้คนอื่นเขาได้มาเห็นบ้าง เขาอาจจะฉุกคิดได้ว่า ทำอย่างนี้มันอาจจะมีผลเป็นส่วนที่ทำให้สังคมเรามันไม่ได้ประโยชน์อะไร แนวความคิดของผมมันจะมีการเปรียบเทียบบ้าง แต่ว่างานเหล่านั้นเป็นงานในเชิงแนวความคิด แต่ในเรื่องของทั่วๆ ไปในการแสดงออกก็ไม่ได้ติดยึดกับอะไร ผมบอกตรงๆ ผมทำงานมาไม่ได้ทำเพื่อขาย เพราะว่างานของผม ผมไม่สนใจใคร

“แต่สิ่งที่เราทำ เราไม่ได้เน้นว่ามันจะต้องเป็นผลในเชิงพาณิชย์ ผมก็ทำตามแนวคิดของผมไปเรื่อยแล้วก็พัฒนาไปว่าจากตรงนั้นมันก็ต่อเนื่องไปเป็นการสร้างรูปทรง มีช่วงหนึ่งที่ผมได้รับเหรียญเงินในงานศิลปกรรมแห่งชาติ ก็เป็นรูปพลังแห่งชีวิต ซึ่งตรงนั้นมันก็เป็นเอกภาพ ตัวภาพมันสมบูรณ์ หลังจากนั้นเราก็พัฒนาไปถึงจุดในเนื้อหาที่มันอยากจะบอกอะไรมากกว่านั้น บอกถึงพลังธรรมชาติ มันมีทั้งดีและไม่ดี อยู่ที่ว่าเราจะไปอยู่ตรงไหนของมัน เหมือนกับคนเรา มันไม่มีใครดำจัดหรือขาวจัด ทุกคนก็จะอยู่ในจุดที่เทาอ่อนหรือเทาแก่ก็แล้วแต่ มันเหมือนกับเป็นเมนคอนเส็ปต์

“ผมจะดูรอบๆ แล้วก็มองว่าถ้าให้งานของเรามันสามารถที่จะสะท้อนอะไรบางอย่างที่ทำให้คนฉุกคิดได้ ตรงนั้นผมก็ถือว่าผมพอใจแล้ว ผมไม่ได้เน้นการขายอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นแนวเซมิแอบสแตรกบ้าง บางทีก็มีชุดหลังๆ ที่ออกในแนวแอบสแตรกมันก็เป็นเรื่องของพลังความสมดุลกับสภาวะจิตใจ ถ้าเราไม่มีความสมดุลในสภาวะจิตใจเรา บางทีเราก็จะไปฟุ้งซ่านกับความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเรา”

ซึมซับเพื่อหลั่งริน

“บางครั้งงานที่ทำมา มันต้องมีการทดลอง มันอาจจะเป็นผลงานที่ดี แต่มันเป็นก้าวหนึ่งที่จะต้องเดินไป เมื่อเราได้รางวัลแล้ว เราคงไม่ไปยืนอยู่หยุดนิ่ง ซึ่งตรงนั้นผมคิดว่ามันไม่ได้เป็นการสร้างงาน มันต้องมีความคิดต่อเนื่องแล้วก็พัฒนาจากความคิดของเราเทคนิคของเราไปตรงนี้ แต่นั้นคือการหาหนทางสร้างอะไรใหม่ๆ ผมจึงได้ประโยชน์จากการมาสอนนักศึกษา โดยเฉพาะการร่วมแสดงผลงานของผมในต่างประเทศ ทั้ง จีน อินโดนีเชีย มาเลเซีย

“ผมคิดว่าศิลปินบ้านเรากับของเขา มันไม่แตกต่างกัน ของเขาก็คล้ายๆ กับเรา เพียงแต่ว่าโอกาสในการสร้างสนามของเขาที่ประเทศของเขาเอื้ออำนวยอะไรหลายๆ อย่างเพื่อคนทำงานศิลปะ อาจจะมีความแตกต่างกัน ก็แล้วแต่ละประเทศที่มีความพร้อมไม่เหมือนกัน อย่างทางประเทศมาเลเซีย เมื่อดูแล้วในเรื่องของหอศิลป์ต่างๆ ผมว่าของเขายังไม่เข้มข้นเท่าประเทศของเรา แต่ในขณะเดียวกัน ความพร้อมในการสนับสนุนของเขามีมากกว่าของบ้านเรา

“เขามาเมืองไทย มาเจอผมเมื่อเดือนที่แล้ว เขาบอกว่าหอศิลป์กรุงเทพฯ ของเรานี่สุดยอดเลย โดยเฉพาะศิลปินของไทยไม่แพ้ใครในโลก แต่ปัญหาของเราอย่างที่ทราบๆ กันอยู่ พอมีปัญหาบ้านเมืองเกิดขึ้น มันก็ทำให้เครดิตตรงนี้มันพัง มันจะมารวมถึงศิลปะด้วย เพราะข่าวสารต่างๆ มันถึงกัน บางทีเขาก็จะถามเราว่า การเมืองบ้านคุณเป็นอย่างไร ผมก็บอกว่าผมไม่มีไอเดียเรื่องการเมือง

“บางครั้งมันอยู่ตรงนั้น มันก็เป็นการแข่งขันกันเล็กๆ ไม่ใช่ว่าเราไปถึงเราจะไปบอกจุดอ่อนของประเทศเราให้คนอื่นเขารับรู้อย่างเดียว แต่ว่าในเรื่องของการสนับสนุนมันขึ้นอยู่ของแต่ละประเทศ อย่างที่ผมไปแสดงงานที่มาเลเซีย เราจะเห็นได้ว่าไม่มีผลงานของศิลปินประเทศกัมพูชาหรือศิลปินของประเทศลาว เพราะเขาไม่มีกำลังที่จะส่งไป อันนี้เป็นความชัดเจน เรื่องกำลังของประเทศด้วยเรื่องของเศรษฐกิจประเทศ แต่ว่าบางประเทศ เขามีความสนใจมากถึงแม้ว่าประเทศของเขาจะไม่ได้ร่ำรวย ยกตัวอย่างประเทศมองโกลเลีย เขาก็ยอมทุ่มที่จะทำ มันอยู่ที่หน่วยงานเล็กๆ ด้วยที่จะเห็นความสำคัญของงานศิลปะ

“อย่างประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีเขาก้าวหน้าไปมาก แม้แต่ประเทศจีนที่เขามีพลังตรงนี้ ซึ่งเราเคยดูถูกดูแคลนเขามาเมื่อ 10กว่าปีที่แล้ว ตอนนี้ต้องยอมรับว่าประเทศของเขาให้ความสำคัญอย่างสูง พูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า ประเทศจีนเขาเต็มเหนี่ยวอย่างปีที่แล้วที่เมืองกวางโจ เมืองทั้งเมืองเป็นเมืองแห่งการศึกษา เป็นอาร์ตทั้งหมด มันถึงขั้นนั้นไปแล้ว แต่ของบ้านเรา มันสะดุดอะไรบ้างเล็กๆ น้อยๆ ของเราไปเรื่อย ของเขาทุกอย่างทุกทางที่เขาทำได้เขาสนับสนุนหมดเลย ส่วนประเทศเกาหลีหรือญี่ปุ่น ของเขาสนับสนุนมานานแล้ว เขาเห็นคุณค่า อย่างที่เกาหลี มีหอศิลป์ซื้องานของศิลปินดังๆ มาประดับไว้ เมื่อก่อนตอนเด็กๆ ผมยังจำได้ว่าประเทศไทยเรายังส่งทหารไทยรุ่นจงอางศึกไปช่วยรบให้กับประเทศเขาเลย แต่ตอนนี้ของเขาเจริญมากทำไมเมืองไทยทำไม่ได้อย่างเขา

“เรามัวแต่คิดถึงเรื่องมูลค่าโดยไม่คิดถึงคุณค่าทางศิลปะ ตัวศิลปะเองมันยกระดับจิตใจของคนอยู่แล้ว อะไรที่คุณเข้าไปแตะมันจะเป็นบวกไปหมด แต่ว่าในจุดนี้ มันยังอยู่ในวงที่จำกัดสำหรับคนที่รักและเข้าใจมันอย่างจริงๆ จังๆ คนอื่นอาจจะคิดเหมือนกันแต่อาจจะมองต่างมุมไปคนละมุม เขาจะเห็นความจำเป็นด้านอื่นที่ชัดเจนกว่า ศิลปะมันค่อนข้างจะดูไม่รู้ว่าเป็นอะไร มันต้องใช้เวลาในการซึมซับ ใช้เวลาในการเรียนรู้ เหมือนเรียนรู้ทฤษฏี เมื่อเรียนรู้ทฤษฏีแล้ว คุณจะเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว คุณก็สามารถที่จะสื่อหรือบอกต่อให้คนอื่นเข้าใจได้ เพราะศิลปะมันช่วยยกระดับจิตใจของมนุษย์”

หมุดหมาย....ปลายทาง

“มีคนเคยเปรียบเทียบว่า คนเรียนศิลปะเหมือนคนเห็นใบไม้ตกลงมา แล้วเขาเห็นความงามของใบไม้ที่เหี่ยวแห้ง หล่นลงมาจากต้น แต่คนที่บรรลุไปถึงในจุดที่หลุดพ้นก็จะไปเห็นถึงเรื่องการแตกสลาย การเกิดใหม่ มันต่อเนื่องกัน อันนี้น่าจะเป็นคำนิยามอันหนึ่งที่พูดถึงศิลปะและคนทำงานศิลปะที่เห็นบางจุด ตราบใดที่คุณทำงานศิลปะแล้วคุณหยุดไปเฉยๆ มันก็ตาย แล้วเราจะเอาอะไรไปสอนเด็ก การสอนเด็กในทางศิลปะมันเป็นเรื่องที่ไม่ยาก ถ้าเขาเข้าใจเรา แล้วรู้สึกว่าเราจริงใจ คล้ายๆ วิทยาศาสตร์ ถ้าจะเปรียบเทียบกับศิลปินระดับโลกอย่าง เลโอนาโด ดาวินซี เขาเป็นคนที่คิดทุกๆ อย่าง เป็น ผมมองว่าศิลปะกับวิทยาศาสตร์มันคล้ายกัน เพียงแต่มันเดินมาคนละทางกัน ทางหนึ่งมันใช้เรื่องความสุนทรีย์ในเรื่องของอารมณ์ จิตวิญญาณ แต่วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่มีเหตุ มีผล พิสูจน์ได้ วิธีคิดมันเหมือนๆ กัน เพียงแต่มันเดินทางมาคนละด้านเท่านั้นเอง

“ถ้าจะถามว่าเป้าหมายสูงสุดของผม หลังจากเกษียณแล้วจะทำอะไร ก็คงทำงานศิลปะตรงนี้ไปจนชีวิตจะหาไม่ ผมไม่ได้คิดว่าจะไปเป็น ส.ส.หรือจะทำอย่างอื่น ผมมีโอกาสมีความสุขอย่างหนึ่งที่เราได้เห็นนักเรียนนักศึกษาที่เขาเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปและใช้อะไรก็แล้วแต่ที่จะประกอบอาชีพและเป็นคนดี แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว โดยไม่ต้องการอะไรมาก

“สำหรับผมทำในสิ่งที่เราคิดว่ามันมีประโยชน์เท่าที่พอทำได้ เราตัวเท่ามด เราก็ทำประโยชน์เท่ามด ในขณะที่ทุกคนก็ต้องตายหนีไม่พ้น ฉะนั้นผมก็ไม่ได้แสวงหาอะไรมากมาย มันไม่ถึงกับละโลภ ละกิเลส แต่มันก็ไม่ถึงกับโลภมาก มันมีความรู้สึกว่าเรามีเงินที่จะซื้อกระดาษ เรามีเงินพอที่จะซื้อสี บางทีเราทำงานไม่ไหว เราเห็นนักศึกษามาช่วยงานเรา เราให้ค่าแรงเขาบ้าง แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

“นักศึกษาบางคนเรียนดี แต่ขาดทุนทรัพย์ เราก็ช่วยเหลือเจือจานให้ทุนการศึกษากับเขาตามกำลัง บางครั้งผมกับภรรยาก็ช่วยเหลือเพื่อนศิลปินให้เขาได้ไปดูงานที่เขาแสดงที่ประเทศมาเลเซีย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็ไม่แพงมาก เพื่อเขาจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์แล้วกลับมาถ่ายทอดเรื่องราวที่พบเห็นได้สัมผัสจริง ผมว่าถ้าเรามีความสุขอยู่คนเดียว แต่รอบๆ เราตายหมด เราจะมีความสุขอยู่ได้อย่างไร

“ใครก็ตามที่อยากจะเดินทางเข้ามาในแวดวงการศิลปะหรืออยากจะเป็นศิลปิน ไม่ต้องมีอะไรมาก ขอให้รักและมีความอดทนการทำงานศิลปะ อย่าไปคิดว่าต้องขายรูปได้ อย่าไปคิดว่าเราทำเพื่อขาย ถ้าเราทำแล้วเรารู้สึกว่าสบายใจ เรามีความสุข ผมว่าพอแล้ว อย่างเดี๋ยวนี้บุคคลภายนอกที่เขามาอบรมศิลปะกับเรา แล้วเราก็พาเขาไปเขียนสีน้ำ จัดงานแสดงผลงานให้กับเขา เขาก็มีความสุข เมื่อได้มีการรวมกลุ่มมาพูดมาคุยถึงเรื่องศิลปะ มันมีความต่อเนื่อง คิดอยากจะไปเขียนรูป ไม่อยากให้เข้ามาแล้วบอกว่ากูจะมาเป็นศิลปินใหญ่ ซึ่งมันก็ห้ามไม่ได้นะ

“โดยส่วนตัว ผมคิดว่าถ้าคุณจะเข้ามาทางนี้ ขอแค่อยากจะทำ รักมันจริง แล้วมีความจริงใจ อดทนที่จะทำ ฝึกทักษะที่จะทำให้ตัวงานมันสามารถจะแสดงถึงความคิด ความรู้สึกที่เราตั้งใจไว้ได้เท่านั้นพอ ส่วนถ้ามันจะมีอะไรมากกว่านั้นก็เป็นผลพลอยได้ อย่าไปคิดถึงมัน ให้มันเป็นผลพลอยได้ไปจะดีกว่า”

ศิลปินข้าราชการที่เคี่ยวกร่ำตรากตรำดั่งกรรมกรศิลป์