เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี
ในบ้านเราสถาปนิกที่มีอุดมการณ์และพยายามสืบทอดสถาปัตยกรรมไทย ผ่านสิ่งปลูกสร้าง ทั้งอาคาร เจดีย์ วิหาร วัดวา อาราม พุทธศิลป์ มีจำนวนน้อยนิด แต่หนึ่งในนั้นก็ยังมีสถาปนิกผู้ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ นำสถาปัตยกรรมไทยกลับสู่แผ่นดิน คนในแวดวงสถาปัตยกรรมเรียกท่านอย่างสนิทสนมว่า “อาจารย์เผ่า”
โดยตำแหน่ง อาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี คืออาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเกือบ 30 ปี ท่านได้ถ่ายทอดวิชาสถาปัตยกรรมไทยแก่เหล่านิสิตนักศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่าให้มีคุณภาพอันเป็นภารกิจหลัก พร้อมปวารณาตัวว่าจะทำงานด้านนี้ต่อไปอย่างไม่มีวันหยุด นั่นคือความพยายามนำสถาปัตยกรรมไทยมาหยั่งรากทั่วประเทศ เพื่อสืบทอดเอกลักษณ์ของชาติไทยให้ยืนยาว
ล่าสุดคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2553 สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมไทย) ในฐานะที่ท่านได้อุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพที่เน้นรูปแบบไทยประเพณี ทุ่มเทสติปัญญารังสรรค์ผลงานมาต่อเนื่องยาวนาน อีกทั้งยังสั่งสมประสบการณ์ถ่ายทอดลงมาสู่สานุศิษย์ เพื่อหว่านเมล็ดพันธุ์สถาปัตยกรรมไทยให้งอกงาม
ปรัชญาบนเชิงเทียน
“ตอนเด็กๆ ผมไม่เคยคิดใฝ่ฝันว่าจะมาสายอาชีพนี้หรืออยากจะมาเป็นศิลปิน แม้แต่ก่อนจะได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติก็ไม่เคยคิดมาก่อน หลังจากที่เขาส่งรายชื่อผมพร้อมผลงานไป ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ปรากฏว่าผลงานที่ผมออกแบบด้วยตัวเองไปชิ้นแรก เมื่อปี พ.ศ.2533 ก่อนหน้านั้นผมก็ร่วมออกแบบกับ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี มาตลอด โดยช่วยอาจารย์มาตั้งแต่ผมยังเรียนหนังสืออยู่ จึงมีงานของอาจารย์ภิญโญอยู่ในงานที่ผมทำตลอด
“งานที่ผมออกแบบจริงๆ มันเริ่มเมื่อปี พ.ศ.2533 ทีนี้เงื่อนไขของการให้ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ จะต้องมีผลงานต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 20 ปี เพราะฉะนั้นก็จะครบ 20 ปี ในปี พ.ศ.2553 ตอนปี พ.ศ.2547 ที่เสนอไป อายุงานของผมยังไม่ครบ เขาจึงเก็บงานผมเอาไว้ ผมก็ไม่ทราบว่าเขาเก็บไว้ เขาไม่ได้บอกอะไร ผมก็นึกว่าไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร มาเมื่อปลายปีที่แล้ว เขาจึงพิจารณาให้ผม ผมจึงมารู้ตอนนั้น
“ตอนที่เสนอไปมาจาก 3 ที่ คือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สมาคมสถาปนิกสยาม และท่านอาจารย์ภิญโญ สุวรรณคีรี เขาจะให้ศิลปินแห่งชาติคนก่อนเสนอได้ด้วย ทั้งหมด 3 ทาง ตั้งแต่ตอนนั้นและไม่ได้มีการเสนออีกเลย ผมก็ไม่เคยเสนอผลงานเพิ่มเติมเข้าไป หลังปี พ.ศ.2547 ผมทำงานอีกหลายชิ้น แต่เขาไม่ได้ถามมา แสดงว่างานที่เสนอไปตอนนั้นสมบูรณ์แล้วที่เขาจะพิจารณาให้
“ผมเป็นคนเกิดที่กรุงเทพฯ ผมเป็นลูกคนจีน เตี่ยผมเสียตั้งแต่ผมอายุ 4 ขวบ ผมจึงต้องไปอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีกับคุณอา พ่อแม่ผมมีลูก 4 คน ผมเป็นคนที่ 2 แม่ผมไม่มีรายได้ เมื่อเตี่ยผมเสีย จึงเหมือนเรือแตก ไม่รู้จะทำอย่างไร เลี้ยงลูก 4 คน ญาติพี่น้องก็ต้องช่วยกันดูแล
“ผมไปเติบโตไปเรียนหนังสืออยู่ที่โน่น สมัยชั้นประถมศึกษา ผมได้ช่วยอาจารย์ที่สอนศิลปะตกแต่งรถแห่เทียนพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี ประเพณีแห่เทียนพรรษาที่นั่นถือว่าสุดยอดที่สุดแล้ว สมัยเรียน เรื่องศิลปะผมได้คะแนนสูงมาโดยตลอด เพราะมีฝีมือและชอบศิลปะอยู่แล้ว ผมช่วยทำรถแห่เทียนพรรษามาหลายปี จนกระทั่งผมจบชั้นประถม ที่อำเภอวารินชำราบ และไปเรียนต่อโรงเรียนชายที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
“ประเพณีการแห่เทียนพรรษาในสมัยก่อน ไม่เหมือนสมัยนี้ที่เป็นธุรกิจมากเกินไป สมัยก่อนโรงเรียนหรือหมู่บ้านไหนที่อยู่ใกล้วัดไหนก็จะช่วยทำเทียนให้กับวัดที่อยู่ใกล้ เขาเรียกว่าคุ้มวัดนั้น เผอิญโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชอยู่ใกล้วัดที่อยู่ติดกับโรงเรียน โรงเรียนก็ทำหน้าที่ช่วยวัดทำเทียนพรรษา ชาวบ้านละแวกนั้นก็จะมาช่วยลงขันกัน ทำงานด้วยความศรัทธา ความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน ไม่ได้คิดว่าจะต้องแข่งขันเอาชนะกันอย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนสมัยนี้ ต้องว่าจ้างช่างราคาเป็นแสนๆ ทำเทียนเป็นต้นๆ เราทำตามกำลังศรัทธา ความสามารถ มีพระ มีครูที่มีความสามารถในด้านนี้เป็นผู้นำในการทำ เดี๋ยวนี้แข่งกันระหว่างจังหวัด ก็ต้องจ้างช่างมาทำ เอาเป็นเอาตาย ต้องชนะกันให้ได้ เป็นแชมป์ต้องรักษาแชมป์ให้ได้ 3 ปีซ้อนถึงจะสละสิทธิ์
“ส่วนเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยวก็ผิดรูปผิดทาง มันควรจะให้เอกลักษณ์เฉพาะถิ่นคงอยู่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเพณีผีตาโขนที่ด่านซ้าย จังหวัดเลย ต้องให้เอกลักษณ์เขาอยู่ได้ คุณจะไปส่งเสริมเรื่องเดียวกันอีกทั่วประเทศ แล้วคนจะเลือกไปที่ไหน จังหวัดที่ใหญ่กว่า พร้อมกว่า เขาก็ต้องไปที่สะดวกสบายกว่า นักท่องเที่ยวเขาไม่ได้คิดว่าที่นี่คือความดั้งเดิมของพื้นที่ตรงนี้ ประเพณีแห่เทียนพรรษาจัดที่โคราชยิ่งใหญ่กว่าอุบลคนก็ไปโคราช มันใกล้นิดเดียว 200 กว่ากิโลเมตรจากกรุงเทพฯ แต่ไปอุบลต้องต่อไปอีก 400 กิโลเมตร แล้วถามว่าคนจะเลือกไปที่ไหน”
ดื่มด่ำซึมซับวัฒนธรรม
“ช่วงที่ผมศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราวปี พ.ศ.2514-2518 ผมไม่ได้คิดว่าจะมาสนใจทางไทยๆ แค่คิดว่าเรามีฝีมือทางด้านศิลปะ ประกวดงานศิลปะก็ชนะเลิศมาโดยตลอด ทั้งระดับจังหวัด จึงมีพื้นฐานพอที่จะเรียนสถาปัตยกรรมได้ ผมชอบคณิตศาสตร์ ชอบฟิสิกส์ และวิชาสามัญ รุ่นเดียวกันมี รศ.ดร.ทิพย์สุดา ปทุมานนท์, ดร.ดุษฎี ทายตะคุ, คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ รุ่นผมเป็นรุ่นแรกที่ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง มันต้องผ่านทุกวิชา ถึงจะขึ้นชั้น เดี๋ยวนี้ตกวิชาไหน ก็ซ่อมวิชานั้น บางคนเรียน 7-8 ปี รุ่นผมแพ็คกันดี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
“ผมเป็นคนต่างจังหวัด เมื่อเรียนจบแล้ว ก็อยากออกไปทำงานให้กับคนในต่างจังหวัด จึงตั้งใจจะรับราชการ แต่ช่วงที่จบ จังหวะที่ยังไม่มีตำแหน่งว่าง ผมจึงไปสมัครทำงานที่การเคหะแห่งชาติ อยู่ที่นั่น 11 เดือน ทำงานอยู่สักพักหนึ่ง เขาก็ไม่ค่อย ให้งานมาทำ ผมจึงลาออก ตอนนั้นยังไม่มีอัตราข้าราชการ เผอิญรุ่นพี่มาชวนให้ไปออกแบบโชว์รูม บริษัทสยามกลการ จำกัด อำเภออู่ทอง คุมงานประมาณ 1 ปีจบ ที่นั่นทำให้ผมมีโอกาสร่วมทำงานกับศาสตราจารย์ พลเรือตรี สมภพ ภิรมย์ ท่านเกษียณจากอธิบดีกรมศิลปากร และยังเป็นศิลปินแห่งชาติอีกท่านหนึ่ง ท่านมาเป็นที่ปรึกษาให้กับสยามกลการ ท่านให้ความเมตตาผมมากในเรื่องของการทำงาน ผมสนิทกับลูกท่านที่เป็นพี่ชายของท่านกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
“ช่วงจังหวะนั้น ทางกรมอาชีวศึกษาเขารับสมัครราชการพอดี ผมจึงไปสอนอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี ประมาณ 2 เทอม ผมก็แต่งงานกับ รศ.แจ่มใส สุวรรณศักดิ์ศรี ภรรยาผมทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดขอนแก่น จังหวะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น เขาเปิดรับตำแหน่งสถาปนิก กองอาคารและสถานที่ จึงขอย้ายไปทำงานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น 3 ปี ตอนอยู่ที่นั้นก็บู๊อยู่กับผู้รับเหมา ขัดใจผู้ใหญ่บางคนตลอด ผมเป็นคนตรงไปตรงมา ตอนหลังก็ต้องทำใจ เพราะว่าถ้าเรายืนกรานของเราคนเดียว โดยที่เราไม่ยอมผ่อนอะไร มันก็อยู่ไม่ได้ ทุกวันนี้จึงทำใจ ขอเพียงอย่างเดียว ตัวเราอย่าเป็นเท่านั้นพอ เราจะไปแก้ทั้งกรมหรือแก้คนอื่นมันยาก
“ผมมาเรียนสถาปัตยกรรมไทยจริงๆ กับอาจารย์ภิญโญ สุวรรณคีรี ตอนขึ้นปี 2 ในวิชาสถาปัตยกรรมไทย ตอนนั้นท่านเรียนจบจากต่างประเทศพอดี ท่านก็มาสอนพวกผมเป็นรุ่นแรก ผมมีพื้นฐานทางศิลปะไทยอยู่แล้ว และมีความชื่นชอบ งานชิ้นแรกที่ทำเป็นลายไทย ท่านมีพิมพ์เขียวมาให้เป็นหน้ายักษ์ หน้าพระ หน้านาง แล้วแต่ใครจะเลือกเขียนหน้าไหน ไปเขียนมา นัยที่อาจารย์กำลังจะบอกว่า ยักษ์มันยังมีหลายสี เขียนสุครีพ แล้วก็ลงสี มาส่งอาจารย์ มีผมคนเดียวที่เดินทางไปวัดพระแก้ว ผมก็ไปดูช่างที่เขาส่งซ่อมจิตรกรรมฝาผนังอยู่ ผมก็อยากรู้ว่าที่เขาปิดทอง เขาทำอย่างไร เขียนไปด้วย ปิดทองไปด้วย ชฎานี่ต้องปิดทอง ยักษ์ชื่อนี้ ตนนี้ ผิวสีอะไร เราต้องเขียนให้ถูก ผมก็ไปถามช่างที่เขียนจิตรกรรมอยู่ เขาก็อธิบายว่าทำอย่างไร เวลาปิดทอง เขาก็สอนว่าใช้ยางมะเดื่อ ใช้ทองไปซื้อจากที่ไหน เขาก็แนะนำให้ ผมก็ไปซื้อ แล้วนำมาเขียน ใช้เวลาเสาร์อาทิตย์เขียนส่ง
“อาจารย์เห็นเข้าก็ทึ่งว่าทำไมเราเขียนมีความแตกต่างจากเพื่อน ผมก็อธิบายไป ท่านก็เห็นถึงความตั้งใจของเรา จึงเริ่มถามถึงเรื่องราวของชีวิตผม แล้วบอกว่าอยากทำงานหาเงินไหม อาจารย์ก็ให้มาทำงานด้วย ผมได้เงินเรียนจากการช่วยงานอาจารย์ แรงบันดาลใจเกิดจากตอนเด็กๆ จึงกลับมามองเรื่องสถาปัตยกรรมไทย ผมว่าจิตรกรรมไทยมันเป็นเอกลักษณ์ของไทย ไม่มีชาติไหนที่มีอย่างเรา ศิลปะแสดงถึงความเป็นชาติ เรื่องอย่างนี้เราน่าจะให้ความสนใจ เรียนรู้ ทำงานต่อไปได้จากคนรุ่นก่อน คนไทยเรากำลังจะละทิ้งความเป็นไทยของเรา ผมได้หลักความคิด หลักปรัชญา จากอาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร มาพอสมควร ประจวบกับที่ได้เรียนสถาปัตยกรรมไทยกับอาจารย์ภิญโญ แล้วก็ทึ่งในฝีมืออาจารย์ภิญโญ ที่เขียนลายไทยฟรีแฮนด์ ผมยังเขียนไม่ได้เลย อาจารย์ได้เล่าชีวิตของอาจารย์ให้ฟัง ก็คล้ายๆ กัน ท่านก็เรียนรู้จากพระ ตั้งแต่สมัยเด็กๆ ไปตัดตัวหนังตะลุง ทำลายแทงหยวก ประดับงานศพ ได้ทำกับมือมาตั้งแต่เด็กๆ”
คันฉ่องส่องวิถี
“พื้นฐานชีวิตผมมาจากความยากลำบาก ก่อนที่ผมจะเข้าจุฬาฯ ฐานะของผมติดลบ ผมอยู่ทุกวันนี้ ชีวิตดีกว่าเก่าเยอะ คนเราไม่รู้จะร่ำรวยไปหาอะไร ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงาน ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะไปนั่งทำงานที่ออฟฟิศเอกชน ผมจะไม่ทำงานอย่างนั้น ผมทำงานใหญ่ระดับชาติ เพราะผมเป็นคนเรียนดี จบเกียรตินิยม ผมทำงานมามาก งานออกแบบทางด้านสากลก็ทำมาเยอะ ฉะนั้นที่ผมมีอยู่ มีกิน มีใช้ ทุกวันนี้ ผมไม่ได้ออกแบบงานไทยแล้วรวย ผมออกแบบงานอื่นด้วย ผมไม่ได้ออกแบบเฉพาะงานสถาปัตยกรรมไทยเท่านั้น ที่ผ่านมาผมทำภูเก็ตแฟนตาซี ให้คุณผิน คิ้วไพศาล ด้วยงานออกแบบมันไม่ได้ลงทุนอะไรมากมาย ใช้สมอง ใช้ความคิด ใช้ความสามารถ งานออกแบบภายในจุฬาฯ ตั้งหลายตึก ทางจุฬาฯ ก็จ่ายค่าเหนื่อยแบบเต็มที่ อย่างที่ผมออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง ศาลาการเปรียญ พระอุโบสถ วัดราษฎร์บำรุง ซอยเพชรเกษม 69 เขตหนองแขม อันนั้นคุณยายทองอยู่ นาควัชระ ซึ่งเป็นแม่ของหมอวิทยา คุณยายจ่ายค่าแบบ ให้เลย เพราะท่านมีฐานะ ท่านรู้ว่าควรจ่ายเท่าไร งานเสร็จท่านก็เขียนเช็คให้ ผมเจ็บไข้ได้ป่วยเข้าโรงพยาบาล ท่านยังให้ลูกชาย นำเงินมาจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลให้ผมด้วย คนดีๆ ที่มีใจกุศลอย่างนี้ก็มี
“แต่ที่ทำให้กับวัดกับวาถามว่าผมได้ค่าแบบไหม ตอบว่าผมไม่ได้ เราไม่ได้ลงทุนอะไรมากมาย งานมันเสร็จออกมาดี เราก็สบายใจ “ผมเรียนรู้มาในเรื่องของไทยประเพณี ถามว่าผมยอมรับพวกนั้นไหม ผมก็ยอมรับ อะไรที่เป็นรูปแบบเดิม ที่เราต้องรักษา โดยเฉพาะเรื่องของการอนุรักษ์ เราก็ต้องรู้รูปแบบๆ ไทยประเพณี เพื่อที่เราจะอนุรักษ์บูรณะให้มันคงเดิมอยู่ได้ หรือถ้าเราออกแบบให้กับวัดอยู่ในเมือง ซึ่งมันมีสถาปัตยกรรมอยู่แล้ว มันคงต้องดูความเหมาะสมในรูปแบบให้มันกลมกลืนอยู่ได้ ไม่ใช่เราออกแบบหน้าตาให้มันแปลกกว่าชาวบ้าน แล้วอยู่ในวัดเดียวกัน บางทีเราก็ต้องดูความเหมาะสมด้วย
“ผมมองว่าโฟล์กอาร์ต ระดับที่เป็นช่างชาวบ้านเอง ผมมองว่าไม่ค่อยก้าวหน้า เนื่องจากช่างมันไม่เหมือนเดิม สังคมเรามันเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ทุกวันนี้ การทำงานทางด้านศิลปะด้วยใจรักด้วยศรัทธาจริงๆ มันเกือบจะเหลือน้อยมากในระดับชาวบ้าน ทุกคนต้องทำมาหากิน เหมือนกับธุรกิจ ยกตัวอย่างง่ายๆ ในสมัยโบราณ การสร้างที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาปนิกใหญ่ก็คือพระมหากษัตริย์เป็นแม่กองใหญ่ ที่ท่านทำตั้งแต่สมัยอยุธยามาแล้ว สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ท่านนำเอาศิลปะแบบจีนเข้ามา แบบราชนิยม ท่านก็มีไอเดีย แต่ท่านอาจจะมีลูกไม้ ลูกมือทำ ที่นี้คนที่ทำงานให้ในอดีต ก็ทำด้วยความศรัทธา มันจึงออกมาจากจิตวิญญาณ คนเราต้องสนุกกับการทำงาน งานมันถึงออกมาได้ดี อย่างช่างปั้นปูนเพชรบุรี งานก็ออกมางดงาม
“ทุกวันนี้งานมันไม่ใช่อย่างนั้น แม้แต่รัฐสภาที่จะสร้างใหม่ ออกแบบให้ตายอย่างไร แต่ช่างฝีมือไม่ถึง มันก็ออกมาดีไม่ได้ ฉะนั้นช่างระดับชาวบ้านก็เหมือนกัน คนเราต้องทำมาหากิน ต้องเอาตัวรอดในสังคม คนที่จะมาทำงาน ทุ่มเท นั่งคิดเป็นเดือนๆ แล้วค่อยทำผลงานออกมานั้น ผมว่ามันหายาก คนสมัยก่อนเขามีเวลา เขานั่งคิด อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับสิ่งสวยๆ งามๆ สภาพอากาศที่ดีๆ อยู่ในชนบท เขาถึงจะสร้างอะไรขึ้นมา เหมือนกับนักแต่งเพลง ถ้ามานั่งคิดแต่งเพลงอยู่กับความวุ่นวายในเมือง ไม่มีทางได้ นักแต่งเพลงสมัยเก่าต้องไปหาบรรยากาศ มันถึงได้ความสละสลวยของบทเพลงออกมา
“ทุกวันนี้โฟล์กอาร์ตมีพัฒนาการไหม ผมว่าบางเรื่องไม่มี บางเรื่องมี อย่างเรื่องของการทอผ้า มันดีขึ้น มีเทคนิคใหม่ๆ มีการดีซายน์ แล้วงานสถาปัตยกรรมมีไหม อย่างเมื่อก่อนผมว่าแทบหาไม่ได้ ที่มันมีก็คือเกิดจากความคิด ความอ่านของคนที่ออกแบบ อาจจะมีบ้างสำหรับสถาปนิก แต่ระดับชาวบ้านที่คิดเอง ผมว่าน้อยลง
“ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง แม้แต่งานที่เป็นไทยประเพณี เราก็จะหาคนที่ทำงานฝีมือได้น้อยลง เพราะว่าล้มหายตายจาก มันอยู่ไม่ได้ ผู้รับเหมาได้งานมา ไปจ้างช่างให้เขาได้กำไรไหม ก็ต้องกดราคา ค่าแรง ค่าฝีมือ การว่าจ้าง แล้วช่างฝีมือจะอยู่ได้อย่างไร งานมันจะอยู่ได้ ช่างมันก็ต้องอยู่ได้ ช่างอยู่ได้ งานถึงจะออกมาดี ถ้าช่างอยู่ไม่ได้ พอหมดงาน เขาต้องกลับไปทำนา กลับไปหาอาชีพอื่น เพื่อให้เขามีชีวิตอยู่รอดได้ เขาจะทำงานดีได้อย่างไร ช่างมีฝีมือเยอะๆ ระดับอายุ 40-50 ปี ก็มีอยู่ที่ สามารถทำงานได้ แต่ในปีหนึ่ง เขาได้ค่าตอบแทนจากฝีมือเขาสักเท่าไร ช่างได้ค่าตอบแทนที่น้อยมากถ้าเทียบกับสถาปนิก”
ทองแท้ไม่แพ้ไฟ
“ผมเป็นสถาปนิก ผมไปออกแบบให้วัด ผมจะไปเรียกค่าแบบเป็นแสนๆ ได้อย่างไร พระบางรูปอยากจะสร้างงานเพื่อให้ตนเองมีสมณะศักดิ์สูงขึ้น เพื่อมีผลงาน ผมก็ถามว่าท่านเอาเงินใครมาทำ เงินชาวบ้านทั้งนั้น ท่านไม่ได้ร่ำรวย ท่านต้องอาศัยเงินชาวบ้านมาทำบุญ แล้วท่านจะทำใหญ่โตอย่างนี้ไปเพื่ออะไร ท่านก็อยากจะสร้างศาลาหลังใหญ่มากราคาประมาณ 30-40 ล้านบาท ผมก็บอกท่านว่า พระทั้งวัดท่าน มีอยู่เท่าไร ศรัทธาในวัด ปีหนึ่ง เขาเข้ามาทำบุญเท่าไร แล้วท่านจะสร้างอาคารหลังขนาดนี้ ด้วยงบประมาณขนาดนี้ ท่านจะหาปัจจัยที่ไหน ท่านจะสร้างกี่ปี มันถึงจะเสร็จ ในหนึ่งปีที่มีคนเข้าวัดมากที่สุดวันเดียว คือวันแข่งเรือ แล้วอีก 300 กว่าวันที่เหลือ ใครเข้ามาใช้
“ผมก็พูดตรงไปตรงมาอย่างนี้ ท่านก็บอกกับผมว่า ‘ปลูกเรือน ต้องตามใจผู้อยู่’ พอพระท่านพูดอย่างนี้ ผมก็บอกเลย ว่า ‘เงินใครล่ะหลวงพ่อ ไม่ใช่เงินหลวงพ่อนะ เงินชาวบ้านทั้งนั้น ไม่ใช่สร้างบ้านให้หลวงพ่อเองนะ ถ้าหลวงพ่อออกเงินเอง ผมจะออกแบบให้ ถ้าหลวงพ่อไม่ได้ออกเงินเอง แล้วไปเรี่ยไรคนอื่นมาทำ ผมไม่ทำนะ ใหญ่โตขนาดนี้’ สุดท้ายก็ไม่ทำ (หัวเราะ)
“สถาปัตยกรรมไทยมีหลายฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรม ถ้าเราทำให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างเครื่องยอดก็ใช้ได้ แต่ถ้าไปทำให้สามัญชน ให้วัดวาอาราม อยู่ๆ ไปทำเครื่องยอดก็ไม่เหมาะ ถามว่าผิดไหมไม่มีใครห้ามหรอก แต่มันดีไม่ดี เหมาะหรือไม่เหมาะ มันเป็นเรื่องวิจารณญาณของแต่ละบุคคล ผมว่าถ้าคุณไปสร้างบ้าน แล้วคุณไปขึ้นช่อฟ้า ใบระกา อยู่บ้านคุณ แล้วคุณสบายใจหรือเปล่า มันไม่มีกฎหมายห้าม อยู่ที่ความเหมาะสม อย่างการปิดทอง สมัยก่อนเขาก็บอกเอาไว้ว่า วังหน้าปิดทองไม่ได้ ปิดได้เฉพาะวังหลวง เขาต้องให้เกียรติ ทำเป็นกษัตริย์ สังคมไทย เรายกย่องกษัตริย์เหมือนสมมุติเทพ เหมือนนารายณ์อวตาร เราก็ยกย่อง ฉะนั้นคนก็จะทำอะไรก็ต้องไม่ไปเทียบหรือทำเสมอเหมือน
“เวลาที่ผมสอน ก็จะสอนนิสิตว่าอะไรเหมาะ อะไรควร แล้วอะไรที่ควรจะเปลี่ยนได้แล้ว ก็เปลี่ยน ยกตัวอย่างเรื่องโครงสร้าง ผมสอนให้ใช้เหล็กหมดแล้ว คุณจะไปใช้ไม้เป็นท่อนซุงเหมือนเมื่อก่อนได้อย่างไร สมัยรัชกาลที่ 1 ยุครัตนโกสินทร์ วัดพระแก้ว ยังไม่มีการใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก แล้ววันนี้ยังไปใช้ไม้อยู่เหมือนเดิม เท่ากับคุณผลาญทรัพยากรโดยใช่เหตุ ผมออกแบบศาลาไทย ตรงหน้าหอประชุม กองทัพเรือที่เป็นสีแดงไทย แต่ข้างในเป็นเหล็กทั้งนั้น มีเวลาทำอยู่ 7-8 เดือน ในการออกแบบก่อสร้าง เพื่อทำให้ทันการจัดเลี้ยงผู้นำเอเปคที่มาประชุม เพราะตอนแรกสถาปนิกกองทัพเรือเป็นผู้ออกแบบ แล้วรัฐบาลโดยคุณสุรเกียรติ เสถียรไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เขาก็บอกว่ารูปแบบมันไม่เป็นไทย ให้ไปหาคนอื่นมาออกแบบ เขาจึงติดต่อมาที่ผม
“กำแพงโบสถ์สมัยก่อนเขาต้องใช้ผนังหนาให้ใหญ่ เพื่อรับน้ำหนัก มันไม่มีฐานราก ไม่มีการตอกเสาเข็มเหมือนสมัยนี้ นั่นคือหลักการ ก็ต้องเปลี่ยนวิธี แต่รูปร่าง หน้าตา สัดส่วน ความงาม ยังเป็นแบบเดิมได้ ผมอยากออกแบบให้ดี ให้สวย ทีนี้มันไม่ใช่เอาความอยากของเรา เราต้องดูให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมสังคมที่เขาใช้งาน โดยเฉพาะอากาศที่แปรปรวนเป็นปัญหากับคน ในเรื่องของความร้อน เราจะออกแบบอาคารอย่างไร อยู่แล้วไม่ร้อน เหมือนคนสมัยก่อน เขาไม่มีแอร์ ทำไมเขาอยู่ได้ เขาใช้ความโปร่ง โล่ง มันมีร่มเงาของสิ่งแวดล้อม มีต้นไม้ ใบหญ้า สมัยก่อน 40-50 ปี เขายังกันสาด มีปริตร เป็นการให้เงากับอาคาร ทุกวันนี้กระจกเปลือยทั้งนั้น”
หว่านเมล็ดพันธุ์ สถาปัตย์ฯ
“การเป็นนักออกแบบที่ดีต้องไม่สร้างภาระให้กับสังคม ถ้าผมออกแบบบ้าน บ้านผมก็ต้องมีชายคา ที่กันแดดกันฝน ไม่ออกแบบสวยอย่างเดียว เป็นกล่องกระดาษ บางคนเปิดแมกกาซีนของต่างประเทศให้ลูกค้าดูว่าอยากได้หน้าตาแบบไหน อย่างนั้นไม่ใช่เป็นสถาปนิกที่ดี ผมก็จะสอนลูกศิษย์ของผมแบบนั้น ผมว่าศิลปินก็คือครู เขาจึงยกย่องให้เราเป็นศิลปินแห่งชาติ เพราะอยู่ในคุณสมบัติอย่างนั้น ต้องสอน ต้องถ่ายทอดให้กับคนอื่นไม่ใช่เป็นพระเอกอยู่คนเดียว ผมเป็นครู ผมก็สั่งสอนไม่ใช่เฉพาะวิชาการให้กับลูกศิษย์อย่างเดียว ผมยังต้องสอนเรื่องคุณธรรมด้วย
“ผมพูดจากใจจริง การเป็นศิลปินแห่งชาติไม่ได้ทำให้ผมคิดว่าตัวเองใหญ่โตหรือสลักสำคัญอะไรขึ้น ผมก็บอกกับทุกคนว่าของพวกนี้มันของนอกกาย มันเป็นสิ่งที่เขาปรุงแต่งให้เรา สักวันหนึ่งเราก็ต้องจากไป ตำแหน่งก็ไม่เหลืออยู่ อย่าไปคิดอะไรมาก เราก็ทำงานของเราไป อย่าไปคิดว่าวันหนึ่งต้องได้ผลตอบแทน เมื่อมันมาก็ไม่ต้องไปยินดียินร้ายกับมันมาก ไม่ใช่ว่าเป็นศิลปินแห่งชาติแล้วค่าตัวขึ้น เราทำอย่างไรก็ต้องทำอย่างนั้น ต้องคงเส้นคงวา แต่ความรับผิดชอบต้องมีมากขึ้นด้วย
“ปีหน้าผมก็จะเกษียณอายุราชการ ผมไปซื้อบ้านอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น เตรียมพักผ่อนแล้ว แต่พอวันที่ได้รับเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ ลูกศิษย์ลูกหาในคณะบอกว่าต้องอยู่ต่อ เพราะผมบอกเขาก่อนหน้านั้นแล้วว่าผมต้องไปนะ ไม่ต้องเป็นห่วง ถ้าอยากให้ผมช่วยอะไร ผมก็จะกลับมาช่วย ไม่ต้องมาจ้างผม ผมยินดีที่จะมา ทุกคนก็เข้าใจ
“การสอนของคณะสถาปัตย์จะสอนให้คนคิด ให้จินตนาการ เมื่อให้หลักของการดีซายน์ ที่นี่สอนให้มีจินตนาการ เพราะความชอบของเขามีอยู่ เขาก็ไปได้ ทำไมละครสถาปัตย์ถึงฮิตกว่าละครอักษรศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ก็เพราะมันมีมุกต่างๆที่ทำให้ละครมันมีชีวิต มีความสนุกสนาน
“เมื่อมาเรียนที่นี่ จึงได้รับรู้ในเรื่องของแนวความคิด การจบจากที่นี่แล้วไปประกอบอาชีพเป็นนักแสดง ก็แล้วแต่ใครจะชอบ ไม่จำเป็นจะต้องไปออกแบบอาคาร ลูกศิษย์ผมจบออกไปแล้วไปออกแบบเสื้อผ้าก็มี พอเราให้หลักคิดเขาแล้ว เขาก็จะคิดต่อว่าเขาอยากจะเป็นอะไร”
สถาปัตยกรรมสยามอยู่ยั้งยืนยง
ผลงานในงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณีของอาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี นั้นมีอยู่มากมายทั่วประเทศ นำมากล่าวคงไม่มีหมด งานทุกชิ้นที่ออกแบบก่อสร้างล้วนส่งเสริมการใช้จิตวิญญาณความเป็นไทย วิถีเรียบง่าย อยู่กับธรรมชาติ สภาพพื้นที่ อย่างกลมกลืน ในงานจึงไม่จำเป็นต้องมีสัญลักษณ์โบราณทั้งหมด โดยท่านพยายามเปลี่ยนแปลงการใช้วัสดุ คิดวิธีใหม่ อย่างวัดราษฎร์บำรุง เป็นงานชิ้นแรกๆ ที่ได้ออกแบบ
ตอนที่ท่านรับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ท่านพูดว่า “ไม่มีใครในโลกที่จะออกแบบงานไทยประเพณีได้ดีเท่ากับคนไทยด้วยกันเอง ฉะนั้นต้องให้เขาได้มีโอกาสได้ทำงาน และถ้าไม่หวงแหน สร้างผลงานสืบต่อบรรพบุรุษ ก็ไม่ควรเกิดมาเป็นคนไทย ไม่ใช่ไปให้คนที่ไม่รู้เรื่องทำงาน ผมเองมีลูกศิษย์ไม่มาก ปีหนึ่งราว 10 คนเท่านั้น ขนาดลูกศิษย์ 10 คนจบออกไป ทำงานไทยประเพณีมีไม่ถึงครึ่ง ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร”
อาจารย์เผ่าปวารณาตัวอีกว่า “ตราบใดที่ผมยังมีแรงทำงานอยู่ ก็คงทำไปเรื่อยๆ พยายามนำสถาปัตยกรรมไทยมาหยั่งรากทั่วประเทศ เพื่อสืบทอดเอกลักษณ์ของชาติไทย ผมอยากให้ลูกศิษย์ ลูกหา หรือคนรุ่นใหม่ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของงานทางด้านนี้ ผมพูดอยู่หลายที่ว่าสถาปัตยกรรมไทยสร้างชาติ เพราะทุกวันนี้เรามีรายได้อย่างต่ำ จากการท่องเที่ยวปีละ 500,000 ล้านบาท เท่าที่ผมทราบ เดี๋ยวนี้น่าจะมากขึ้น
“เมื่อก่อนเราค้าข้าวเป็นรายได้หลักของประเทศ แต่ตอนนี้การท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก เวลานักท่องเที่ยวมา เขามาเที่ยวชมธรรมชาติ ธรรมชาติของเราดี เขามาเพราะอาหารการกินของเราถูกและอร่อย เขามาเพราะวัฒนธรรมของเราน่าสนใจ มาเที่ยวชมวัดวาอาราม เกือบครึ่งของนักท่องเที่ยวมาเมืองไทยก็อยากจะไปชมวัดพระแก้ว อยากไปพระนครศรีอยุธยา อยากไปสุโขทัย อะไรที่เป็นของคนไทย เป็นของชาติ อันนี้เราต้องจรรโลงรักษาไว้ เพราะมันสร้างชาติได้จริงๆ
“ผมเชื่อว่าสถาปัตยกรรมไทยจะมีอายุยืนยาวต่อไปได้ เพราะเรายังมีคนที่จะเป็นช่างที่จะสร้างงานพวกนี้ต่อไปได้แน่นอน มีสถาปนิกที่จะออกแบบทางด้านนี้ได้ อย่างน้อยที่สุด เราต้องรักษาสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างมาให้ยืนยาวต่อไป ชาติบ้านเมืองถึงจะอยู่ต่อไปได้ ถ้าวันหนึ่งเราปล่อยให้วัดพระแก้วร้าง ชาติจะอยู่ได้หรือเปล่า ชาติไทยต้องยืนยาวต่อ ของพวกนี้ต้องอยู่คู่บ้านคู่เมือง”