พงศ์นรินทร์ อุลิศ

พงศ์นรินทร์ อุลิศ

นั่นคือเบื้องหน้าอันน้อยนิด แต่สิ่งที่เขาทำนั้นมีอีกมากมาย หลายอย่างเป็นอิทธิพลต่อการแสดงออกของวัยรุ่น เขาเป็นManaging Director ของบริษัทออแกไนซ์ที่ชื่อ ยักคิ้ว เป็น Head Coach ให้กับคลื่นวิทยุ Fat Radio 104.5 แถมยังจัดรายการ หนังหน้าไมค์ ร่วมกับ นรา นักวิจารณ์หนังชื่อดังอีกด้วย แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือการที่เขาเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการบริหารงานโรงภาพยนตร์ House RCA ซึ่งถือว่าเป็นโรงหนังนอกกระแสอันน้อยนิดที่มีอยู่ในบ้านเรา

 

สมัยก่อน เขาชอบดูหนังหลากหลายแบบ แต่มีหนังอยู่ประเภทหนึ่ง เป็นหนังที่แถมมาจากหนังใหญ่ๆ ที่ซื้อเข้ามาฉาย หนังประเภทนี้หาดูยากและคนทั่วไปก็คงไม่มีโอกาสได้ดู นั่นเป็นจุดที่ทำให้เขาคิดไว้ว่าน่าจะมีโรงที่ฉายหนังแบบนี้บ้าง แล้ววันหนึ่งก็เหมือนมีคนมาเติมเต็มฝันของเขาให้เป็นจริง เมื่อเขาได้พบกับ คุณอุ๋ย ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ ลูกสาวของเสี่ยเจียงแห่ง
สหมงคลฟิล์ม เธอชักชวนชวนเขามาร่วมกันทำโรงหนังอาร์ต ซึ่งคำว่า “หนังอาร์ต” ก็ทำให้ต้องมานั่งคุยกันอยู่พอสมควรเพื่อแนวทางที่ตรงกัน

 

“เราอยากฉายหนังเล็กๆ สิ่งที่ง่ายกว่าก็คือการทำอะไรที่ชัด เมื่อบอกคนว่าเราฉายหนังอาร์ต คนจะเข้าใจว่ามันคือประเภทนี้นี่เองในแง่การสื่อสารจะง่าย แต่เราจะมีปัญหากับคำว่าอาร์ตเอง เพราะว่ามันเป็นความหมายที่ลบในสังคม พอพูดว่าอาร์ต มันจะเล็กและแคบ ไม่รู้เรื่อง หยิ่ง บางครั้งจองหองเลยด้วยซ้ำ

 

“ในโลกนี้มีหนังให้คนดูหลายพันเรื่อง แต่มันหายไปไหนหมด ปีหนึ่งเราคงดูหนังไม่ถึงร้อยเรื่อง แล้วที่เหลือไปไหน อย่างหนังเปรู ไอซ์แลนด์ มันไปไหน มันคงมีหน้าตาในเชิงการตลาดน้อย ดารา หรือบริษัทที่สร้างอาจไม่รู้จัก แต่เรื่องแค่นี้ไม่ได้หมายความว่าหนังจะไม่ดีหรือดูไม่รู้เรื่อง นั่นคือประเด็นที่ว่าทำไมเราไม่เรียกมันว่าหนังอาร์ต

 

“เรารู้อยู่แล้วว่าเราทำอะไร เรารู้อยู่แล้วว่าเราทำโรงหนังที่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบดู ดังนั้นเราไม่ได้ตกใจอะไรที่คนน้อย เดือนแรกผมมีสมาชิกอยู่ประมาณ 5,000 คน แต่ก็รู้อยู่แล้วว่าพวกเขาต้องหายไป วันไหนเราตัดสินใจเลือกหนังที่มหาชนชอบดู คนก็จะเยอะหน่อย ตอนนี้ก็ยังอยู่ได้ครับ”

 

ความแตกต่างระหว่างโรงหนัง House กับโรงหนังอื่นๆ นั้น เขาบอกว่าที่นี่เป็นเจ้าเดียวที่ฉายหนังเล็กแบบนี้ ซึ่งถ้าเป็นในโรงหนังที่อื่น อาจมีการเอาเรื่องที่อยู่ในตลาดมาร่วมฉาย แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังยึดถือในความเป็นตัวตนอยู่เช่นเดิม ในทางกลับกันหนังเล็กๆ ในแบบของเขาก็เริ่มได้รับความสนใจจากโรงหนังใหญ่เช่นกัน

 

“อย่างเมเจอร์ หรือ SF เขาก็เริ่มมีเอาหนังเล็กๆ ไปฉายบ้างแล้ว สภาพการตลาดเริ่มเปลี่ยนไป ซึ่งผมดีใจนะที่ผู้ประกอบการไม่ว่าจะที่ใดในโลกฉายหนังหลากหลาย การมีโรงหนังอย่างเราอาจทำให้มีบรรทัดฐานใหม่ๆ เกิดขึ้นเหมือนกัน แต่จะบอกว่าเป็นเพราะเรา บางทีอาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่มันทำให้เกิดความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ผมก็เชื่อว่าความหลากหลายนั่นเองคือสิ่งมนุษย์ควรได้เจอ

 

“เราพยายามบอกคนดูว่าโลกนี้ยังมีหนังอีกแบบนะครับ คุณอาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้แล้ว จากนั้นคนดูต้องเลือกกันเอง ถ้าเราไม่ทำ ไม่สร้างคนดู ก็ไม่มีการสร้างหนังดีๆ ผมไม่อยากให้เป็นลักษณะที่ว่าถ้าหนังอาร์ตต้องให้หน่วยงานรัฐทำ ไม่ล่ะ ผมขอทำธุรกิจแบบนี้ อย่างมากก็แค่เจ๊ง แต่ผมก็อาจจะเจ๊งเหมือนกัน ถ้าผมไปทำอย่างอื่น ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าคุณขายก๋วยเตี๋ยวเนื้อแล้วจะประสบความสำเร็จ คุณอาจจะแพ้ก็ได้ แพ้ชนะขอให้ทำตามที่เราเลือกเหอะ ถ้าแพ้ปีหน้าเราก็มาลุ้นใหม่

 

ธุรกิจที่เขาดูแล เป็นธุรกิจที่มีรายละเอียดมากพอสมควร มันจึงไม่ใช่งานง่าย ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าการที่จะมีคนดูในโรงมากถือเป็นเรื่องที่ประหลาด เพราะในขณะที่นิวยอร์กมีโรงหนังแนวนี้อยู่ประมาณ 200 โรง ก็ยังมีคนดูน้อยเช่นกันเมื่อเทียบกับโรงหนังใหญ่ๆเขาพูดถึงหลักการทำธุรกิจโรงหนังที่ฟังดูเหมือนง่ายว่า “ก็แค่ทำให้มันรอด”

 

“เรื่องของธุรกิจมันก็เป็นเรื่องของรายจ่ายกับรายได้ ในเมื่อรายได้เราจำกัด ทำยังไงรายได้ก็จำกัด ดีกว่านี้ก็คงเป็นก้าวเล็กๆ ก้าวมด แต่ทำยังไงเราจะรอดได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหาวิธี อย่างเช่น จ้างพนักงานน้อยๆ คนหนึ่งทำได้หลายอย่าง ผู้จัดการโรงต้องฉายหนังเป็น อีกคนต้องมาเป็นคนฉีกตั๋วด้วย ก็เป็นวิธีการจัดการกับคน ค่าน้ำไฟก็ประหยัดกันหน่อย ข้างหน้าจะมีประตูไม้บานใหญ่ตามหลักต้องถูกเปิดเสมอ ซึ่งจะดูดีกว่าประตูที่ปิด แต่ผมเปิดโรงหนังได้ประมาณ 5 เดือน พอลองปิดประตู ประหยัดค่าไฟไปหมื่นห้า ผมก็เลยปิด ฮ้วยจุ้ยกับหมื่นห้าเลือกหมื่นห้าดีกว่า (หัวเราะ)”

 

ย้อนกลับมาในงานของคลื่นวิทยุซึ่งก็มีปัญหาที่คล้ายกันกับหนัง เพราะการทำงานในสายนี้มันเป็นแนวที่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ฟังความเข้าใจของผู้คนกับการฟังเพลงจึงต้องมีการใช้เวลาสื่อสารอยู่พอสมควร

 

“เพลงที่เราเคยเปิดไม่มีใครรู้จัก แต่แล้ววันหนึ่งก็มีคนได้ยินมากขึ้น คนอื่นก็เอาไปเปิดบ้าง เพลงนั้นก็กลายเป็น Mass ขึ้นมาทันที เรื่องตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว เราเปิด แค่บอกว่ารักเธอ ของวงหมีพูห์ แล้วก็กลายเป็น Mass ขึ้นมา แต่พอตอนเราเปิดบอกว่าอินดี้ๆ ผมก็งง เพลงเดียวกันเลยนะ หรืออย่าง เดอะพีชแบนด์ ไม่มีใครสนใจ เราเปิดก่อนคนอื่นครึ่งปี พอคนอื่นเล่นบ้าง อ๋อ เพลงเพราะ แต่พอเราเปิดเขาบอกอินดี้ คือเรื่องแบบนี้คนไทยชอบสร้างนิยามก่อนถึงจะกล้าแตะมัน

 

“แฟตเรดิโอเกิดขึ้นจากการเปิดเพลงที่หลากหลาย คุณอาจจะไม่รู้จัก แต่ก็ไม่ได้บอกว่าที่นี่เปิดเพลงเซอร์หรืออาร์ต ซึ่งคุณอาจจะชอบมันได้ ผมเลยเปิดเพลงค่ายเล็กค่ายน้อยเยอะหน่อย แต่เพราะเราเปิดค่ายเล็กเยอะ คนก็เลยบอกอินดี้ ทั้งที่ของเรา อินดี้ก็มี 
แกรมมี่ก็มี อาร์เอสก็มี แต่อินดี้คนจะเข้าใจง่ายกว่า คนจะบอกว่าผมอินดี้ ผมเด็กแนว ก็เรื่องของคุณ

 

ด้วยเหตุที่เขาคลุกคลีกับทั้งวงการหนังเล็กและเพลงที่หลากหลาย ในยุคแรกๆ คนบางกลุ่มจึงให้คำจำกัดความว่าเขาเป็นหนึ่งในต้นตำหรับของเด็กแนว เด็กอินดี้ ทั้งที่ตัวเขาเองบอกว่าเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น

 

“พูดกันตลอดว่าเด็กแนวรุ่นหนึ่ง หัวหน้าเด็กแนวบ้าง เราเองก็ไม่เคยพูดนะว่าเป็นเด็กแนว ใครไม่รู้ก็พูดกันไปเอง แต่เอาเถอะเราดันมีปัญหาว่าเราไม่ชอบการไม่หลากหลาย ที่ทำอะไรเหมือนกันหมด เราไม่อยากให้คนในประเทศคิดแบบนั้น เราอยากให้เขาเปิดกว้างรับความหลากหลายบ้าง ควรมีประสบการณ์บ้างว่าอะไรดีไม่ดี ควรจะชอบ หรือไม่ชอบอะไร

 

“ไม่เคยมีครั้งไหนที่โลกทำตามคนส่วนใหญ่ โลกหมุนทวนเข็มตลอด คุณศุ บุญเลี้ยง เคยเขียนไว้ในหนังสือว่า โลกมันหมุนไปตามคนบ้า คนที่เชื่อว่าบินได้ แต่คนส่วนใหญ่บอกว่าบินไม่ได้เพราะไม่มีปีก ดาวินชี่เขียนปีกไว้เมื่อ 700 ปีที่แล้ว คนก็หาว่าบ้าอย่างเรื่องของโลกกลมที่เมื่อก่อนคนไม่เชื่อ แต่แล้วมันก็ถูกพิสูจน์ เพราะฉะนั้นถ้าไม่กล้าทำอะไรที่หลากหลายมันจะไม่เกิดความหลากหลาย แต่เมื่อมีคนมาบอกว่าเป็นเด็กแนว ผมบอกว่าไม่ได้แนว โลกนี้มันมีมากกว่านั้นกล้าที่จะเลือก หนังตลาด เพลงตลาดผมฟัง ผมบอกว่าผมไม่ได้แปลก ผมไม่ได้มาชวนคุณทำอะไรที่มันอาร์ตเลยนะ ไม่ได้ชวนคุณมาทำอะไรที่ไม่รู้เรื่อง คนที่บอกผมเป็นเด็กแนว ผมไปเจอพวกติสท์ตัวจริง อย่างพวกเขียนรูป เขาบอกผมตลาดมาก”

 

สิ่งที่เขาอยากจะทำต่อไปก็คือการส่งเสริมให้คนโดยเฉพาะวัยรุ่นให้กล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่ดี และเหมาะสมในสังคม เสมือนฟันเฟืองตัวเล็กๆ ที่คอยขับเคลื่อนให้สังคมไปในทิศทางที่น่าอยู่มากขึ้น

 

“ผมกินข้าว กินกาแฟ นอน ตื่น ขี้เกียจบ้างขยันบ้าง เหมือนคนปกติ ผมไม่ชอบเที่ยวต่างจังหวัด ชอบอยู่กับที่ ชอบทำอะไรเดิมๆซึ่งอาจจะดูขัดแย้งกับที่บอกว่าช่วยหลากหลายหน่อย ผมค่อนข้างมีความสุข ชอบสิ่งที่เราคิด ทั้งที่เวิร์ค และไม่เวิร์ค เพราะในความพยายามนั้น หลายครั้งมันก็โง่ บางทีก็ผิดหรือล้มเหลว พยายามทำแล้วไม่ได้ผล แต่หลายครั้งทำแล้วได้ผลก็เยอะแยะ เราต้องให้คุณค่ามันเท่ากัน ซึ่งหลายครั้งต้องให้คุณค่าแห่งความล้มเหลวมากกว่าด้วย เพราะมันยังไม่เสร็จไง

 

“ทุกวันนี้งานผมยังไม่เสร็จสักอย่าง อย่างโรงหนัง ยังมีอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีกตั้งเยอะ ถ้าถามว่าเราทำอะไรได้ดีที่สุด เราอาจเป็นเราได้ดีที่สุด พยายามคิดและเชื่อไปเรื่อยๆ เพราะเราชอบในความคิดของเรา ไม่อยากทำอย่างอื่น เป็นแค่นี้ก็ดีแล้ว”

หากพูดถึงชื่อของ คุณจ๋อง พงศ์นรินทร์ อุลิศ