กฤษณา อโศกสิน
กฤษณา อโศกสิน หรือ สุกัญญา ชลศึกษ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปีพุทธศักราช 2531 หนึ่งในแม่ทัพ นักประพันธ์วรรณกรรมหญิงของเมืองไทย ชื่อชั้นบนทางเดินแห่งบรรณพิภพเป็นเครื่องพิสูจน์สำคัญได้ดีกว่าคำพูดเลิศหรูใดๆ นับเป็นเกียรติที่นักเขียนนามอุโฆษเปิดบ้านย่านสนามบินน้ำให้เยี่ยมเยียนอาศรมอักษร ทุกถ้อยคำที่พูดคุย ยิ่งย้ำให้เห็นถึงวรรคเพชร เวลาเดินเรื่องนวนิยายแต่ละตอน จะมีบทสนทนา มีความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง อย่างเต็มเปี่ยมในทุกตัวละคร ที่มาปะทะกัน ก่อให้เกิดความคิดตามมา ทุกความคิด ทุกคำพูดไม่เคยทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่านี่คือการเทศนาสั่งสอน
เธอบอกว่าเป็นเพราะคำพูดเหล่านี้มาอย่างถูกต้องในกาลเวลา เหตุการณ์และบุคคล ไม่ใช่การประดิษฐ์ประดอย วางคำไว้ตรงนั้นตรงนี้ ถ้าไม่มีก็คือไม่มี ต้องเป็นเอง ตามท้องเรื่อง ตามสัญชาตญาณของมนุษย์ เป็นขั้นเป็นตอน หาใช่หักด้ามพร้าด้วยเข่าไม่ บีบให้เป็น บีบให้พูด เพื่อขยี้อารมณ์ บทประพันธ์ที่เขียน เธอจึงไม่รู้ตัวเลยว่าจะพูดว่าอย่างไร จะไปตามเหตุและผลของตัวละคร เรามีหน้าที่ปั้นและกลึง สะท้อนให้เห็นถึงพลังของเนื้อเรื่องในสังคมไทย ตัวละครจับต้องได้ วิจารณ์ได้ มีเนื้อเรื่องสนุก คนอ่านคาดเดาไม่ออก แฝงปรัชญาปริศนาธรรม เมื่ออ่านแล้ว คนอ่านมีความสุข คละเคล้า ความบันเทิงในนวนิยายเรื่องนั้นๆ
นามปากกา “กฤษณา อโศกสิน” เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2501 ด้วยผลงานการประพันธ์ที่ชื่อ “วิหคหลงทาง” ตีพิมพ์ใน “สตรีสาร” ได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี จากนั้นได้สร้างผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น น้ำผึ้งขม, ระฆังวงเดือน, ชลธีพิศวาส ฯลฯ รวมทั้ง “ปูนปิดทอง” ที่ทำให้เธอกลายเป็นนักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมอาเซียน หรือรางวัลซีไรท์ ผลงานที่ถูกจารึกได้รับการชื่นชมว่าเป็นงานเขียนที่กะเทาะเปลือกสังคมได้อย่างสะใจ ไม่ว่าจะเป็น ลายลูกไม้,ไฟทะเล, เสื้อสีฝุ่น, รอบรวงข้าว, เรือมนุษย์, ลมที่เปลี่ยนทาง, ฝันหลงฤดู, บุษบกใบไม้ ฯลฯ ที่ล้วนได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์
ชีวิตตัวตนของ กฤษณา อโศกสิน จะเป็นดุจดั่งงานประพันธ์หรือไม่ เรามาแกะลายไม้ไปพร้อมๆ กัน
แกะลายไม้หอมวรรณศิลป์
“ตัวตนของดิฉัน เวลาเขียนหนังสือจะใจเย็นมาก แต่ธรรมดาค่อนข้างใจร้อน เป็นคนอ่อนนอก แข็งใน ค่อนข้างดื้อ มองดูเหมือนกับคนหัวอ่อน แต่จะมีความเป็นตัวเองอยู่สูง มีความมั่นใจในระดับหนึ่ง แต่เวลาทำงานมักจะไม่ค่อยมั่นใจ ก็น่าแปลกเหมือนกัน เพราะว่าเวลาที่เริ่มเขียนนวนิยายแต่ละเรื่อง มันก็ต้องขึ้นต้นนับหนึ่งใหม่อยู่เสมอ ฉะนั้นก็เลยไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เรานับหนึ่งและนับต่อไป มันจะเป็นอย่างไร
“คุณภาพเรามี เรามีเป้าหมาย มีจุดยืน แต่ฝีมือที่จะสานเรื่องราวให้ถึงคุณภาพอันนั้นจะได้แค่ไหน เราไม่ค่อยมั่นใจ เราตั้งเป้าหมายไว้ระดับที่สูงพอสมควร บางทีขึ้นถึง บางครั้งขึ้นไม่ถึง เราต้องพยายามขึ้นไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้ แต่การเดินทางของนวนิยาย มันยาวไกลและนาน การเดินทางจึงต้องระวังตอนต่อตอน บางทีมันสานยาก สานให้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน มันยาก เช่น เราอยากจะเขียนวิชาการใดวิชาการหนึ่ง ให้ออกมาในรูปของนวนิยาย เราจะต้องทำอย่างไรให้เป็นนวนิยาย แต่มีรังสีของวิชาการกระจายอยู่เต็มทั้งเรื่อง โดยที่ผู้รับสารได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เท่าที่เราหวัง
“แรงบันดาลใจในการประพันธ์เริ่มมาจากเมื่อสมัยยังเด็ก ดิฉันอ่านบทประพันธ์ของ ดอกไม้สด อ่านของ รอยจันท์พิมพ์พระ อ่านของ ดวงดาว และ แม่อนงค์ นี่เป็น 4 นักเขียนที่เป็นแรงบันดาลใจ ต่อมาได้อ่านของรุ่นพี่อย่าง อ.อุดากร ที่เป็นนักเขียนรุ่นใหม่หน่อย ช่วงนั้นเขาก็เป็นหนุ่ม เขาจะเขียนอะไรแรงๆ เราก็ชอบวิธีการเขียนของเขา มันมีรสชาติเข้มข้นและแปลกดี ก็เลยเริ่มเขียนเรื่องสั้นแนวที่ยาก หนักและแปลก ช่วงเริ่มต้นจึงไม่ค่อยดัง เพราะมันเป็นเรื่องเครียด เรื่องหนัก คนเขาไม่ค่อยชอบอ่าน คนชอบอ่านโรแมนติก หวานแวว แต่เราไม่ได้ทำ ช่วงนั้นดิฉันใช้นามปากกา ‘กัญญชลา’ เขียนเรื่องสั้นก่อน เรื่องยาว มาเขียนราวปี พ.ศ.2495 และมาใช้นามปากกา ‘กฤษณา อโศกสิน’ เมื่อปี พ.ศ.2501
“ส่วนใหญ่การประพันธ์เรื่องราวต่างๆ จะอยู่ในสถานการณ์ของยุคสมัยนั้นๆ เช่น ราคาข้าวของ ยกตัวอย่าง เกี๊ยวราคาชามละ 1 บาท เมื่อนำมาพิมพ์ใหม่ก็จะไม่ลบราคาออก เพื่อให้รู้ว่าเขียนในยุคสมัยไหน เพราะนวนิยายก็คือประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง คนเขียนเขียนในยุคสมัยไหน ก็จะปรากฏสถานการณ์ เหตุการณ์บ้านเมือง หรือสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยนั้น ถ่ายทอดออกมา ระหว่างบรรทัดจะคงเอาไว้ ไม่ไปลบทิ้ง ผู้ที่ซื้อบทประพันธ์เพื่อนำไปทำภาพยนตร์ เขาอาจจะนำไปแปลงเป็นร่วมสมัยไปเลยก็ได้ หรือเขายังคงสมัยก่อนไว้ เช่นเรื่อง ดวงตาสวรรค์ เขายังคงไว้ ซึ่งวันเวลาที่ดิฉันเคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่อำเภอผักไห่ ก็แล้วแต่เขา เพราะเวลาเป็นละครแล้ว เรามีสัญญาว่าเขาจะปรับปรุงเปลี่ยนบทประพันธ์ ตามความเหมาะสม
“ความเหมาะสมของเขากับของเรามันไม่เท่ากัน บางคนใช้การตลาดนำ จึงเป็นปัญหากับนักเขียนเหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่นักเขียนก็ไม่ได้ไปโต้แย้งขัดคอเขา เพียงรู้สึกว่ามันไม่น่าจะเป็นอย่างนี้ ทำให้ละครบางเรื่อง ความงดงามมันหายไป เรื่องนี้มันก็ลำบากเหมือนกัน เพราะนักเขียนส่วนใหญ่เป็นนักเขียนอาชีพ
“เรื่องราวที่ว่าเป็นน้ำเน่า ถ้าเผื่อคนทำเข้าใจตื้นลึกหนาบางของการทำละครออกมา เพื่อให้ประชาชนติด ถ้าดิฉันเป็นเจ้าของละคร คิดว่าสามารถทำให้ดีได้ เราต้องเข้าใจเจตนารมณ์ของผู้เขียนว่ากำลังจะบอกอะไร เหมือนเราอ่านแล้วเราประทับใจ เราถึงจะไปซื้อบทประพันธ์ของเขา ทีนี้เรื่องอะไร เมื่อซื้อมาแล้ว เสียเงินตั้งเยอะ เรายังไปดัดแปลง จนกระทั่งไม่ดี แบบนี้ เราขาดทุน แทนที่เราจะได้ลูกค้าที่เป็นคนระดับสูง คนระดับกลางและคนระดับล่าง รวม 3 ระดับ ถ้าดิฉันเป็นเจ้าของละคร ดิฉันทำได้ เอาลูกค้าไว้ให้หมด
“ดิฉันไม่เคยคิดที่จะเป็นผู้จัดละคร แต่ใจดิฉันคิดว่าทำได้และทำได้ดีทีเดียว การทำบทจะสำคัญที่สุด เราจะทำบทให้เป็นอย่างไรก็ได้ แปลงเรื่องที่สวยงามที่สุดให้เละที่สุด เน่าที่สุดก็ได้ (หัวเราะ) เรื่องเน่าที่สุดแปลงให้เป็นคล้าสสิกที่สุดก็ได้ มันอยู่ที่คนทำบทว่าเข้าถึงวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างไร เพียงไหน”
สาสน์สู่สารัตถะ
“วิถีชีวิตของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เฉพาะกายภาพ มันลึกเข้าไปในจิตวิญญาณ ของมนุษย์แต่ละคนด้วย มันลึกขนาดนั้น มันมีมิติ ถ้าเราให้บทประพันธ์ หรือละครมีมิติได้ แล้วคนตามถึงก็จะเป็นสิ่งที่ยอดที่สุด จิตวิญญาณ ความรู้สึกวิถีชีวิตของ มนุษย์ที่ดิฉันเข้าถึง อาจจะเป็นเพราะว่าสมัยเด็กๆ ดิฉันประสบกับความทุกข์จากการที่สูญเสียคุณแม่ตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 13 ขวบ มันเป็นชีวิตที่ไม่ปกติ แต่เราได้เรียนรู้จากความไม่ปกตินั้น ธรรมะมีส่วนที่ทำให้เราเข้าใจชีวิต ธรรมะที่เราเรียน แล้วเราได้รับการอบรมบ่มเพาะมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กๆ อยู่ในครอบครัวที่ดี คุณพ่อคุณแม่เป็นคนดี มีอุดมติ มีการศึกษา เป็นคนอยู่ในระดับที่เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี โดยการใช้ธรรมะกล่อมเกลาในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เหมือนกับคนไทยทั่วไปในสมัยนั้น ส่วนมากจะเป็นคนที่รู้ผิดชอบชั่วดี
“จากความสูญเสียคุณแม่ในครั้งนั้น ทำให้ระบายออกมาเป็นตัวอักษร ดิฉันเริ่มเป็นนักเขียนเมื่อตอนอายุ 15 ปี สมัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเขียน แต่ดิฉันก็จะมีรสนิยมทางด้านการเขียนเองด้วย คล้ายๆกับเป็นความรักชอบส่วนตัว แต่ไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นอาชีพ คิดแต่เพียงสนุกๆ เห็นเพื่อนรุ่นพี่ที่โรงเรียนราชินีคือ คุณประภาศรี นาคะนาท ซึ่งเป็นน้องของคุณประหยัด ศ. นาคะนาท เธอเขียนเรื่องสั้น ตั้งชื่อเรื่องสวยงาม เพราะพริ้งมาก จึงรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจ ก็ประทับใจจากตรงนั้น
“ทุกวันนี้ก็ยังอยากเขียนตลอดเวลา อยากเขียนทุกวัน เวลาที่ไม่มีนัดออกไปนอกบ้าน จะนั่งเขียนตั้งแต่เก้าโมงครึ่งเป็นต้นไป อย่างที่บอกไว้ตอนแรกว่าไม่มีความมั่นใจนั้น หมายความว่าเวลาที่ขึ้นเรื่องใหม่แต่ละเรื่อง เราจะนึกว่าเราจะทำได้ดีเหมือนเรื่องนั้นเรื่องนี้ไหม เราจะกลัวอยู่ตลอดเวลา อย่างเรื่อง น้ำเล่นไฟ ที่ได้รางวัลดีเด่น เขียนไปก็กลัวไปว่ามันจะถึงเป้าที่เราตั้งไว้ไหม เราตั้งไว้สูง เพราะมันมีข้อมูลทางวิชาการเยอะมาก เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เขียนยาก คือชุดล้านนา 3 ภาค เราเริ่มต้นจากศูนย์ เราไม่มีความรู้เรื่องล้านนาเลย แต่เพื่อนบอกว่าน่าจะเขียน เราก็บอกว่าทำไม่ได้ เพราะเราไม่รู้จักล้านนา เราไม่รู้จักหับเมือง แต่เพื่อนเขาเชื่อว่าเราทำได้ เขาจึงนำเอาหนังสือมาให้อ่าน โชคดีที่หนังสือเล่มหนึ่งในหลายสิบเล่มที่เขาซื้อมาให้ ชื่อ ประวัติศาสตร์ล้านนา ของ ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ซึ่งเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์ที่ดีมาก ทำให้ดิฉันเกิดแรงบันดาลใจอยากเขียน ช่วยผลักดันความท้อถอยว่าจะไม่เขียนเรื่องยากขนาดนี้ จนเกิดฮึดสู้ขึ้นมาว่าเราน่าจะเขียนได้
“แต่ถ้าเริ่มต้นเขียนแล้วจะไม่มีอาการท้อ มีอยู่เรื่องหนึ่งชื่อ เนื้อใน ตอนนั้นลงตีพิมพ์ที่ลลนา เป็นเรื่องที่คุณอัญชัน นักเขียนซีไรท์คนหนึ่ง เขาอยู่อเมริกา เขาส่งเรื่องย่อมาให้ดิฉันอ่าน พร้อมกับบอกว่าคนที่เขียนได้คือดิฉัน เราก็อ่านเรื่องย่ออยู่ 3 หน้า มันยากมาก วางไว้เป็นปี แล้วบอกว่าเขียนไม่ได้ ตอนนั้นคุณนันทวัน หยุ่นเป็นบรรณาธิการ ก็ให้คุณนันทวันดู เขาบอกว่ายาก มันเหมือนกับการขุดสันดานดิบของมนุษย์ขึ้นมาตีแผ่ มันยากมาก เหมือนน้ำอมฤตกับน้ำกรดสาดเข้าหากัน เราจะเขียนอย่างไร ให้คนอ่านอ่านตามแล้วรู้สึก เกิดความซาบซึ้งไปพร้อมๆ กับตัวเราซึ่งเป็นนักเขียน มันจบเรื่องนั้นแล้ว มันไม่มีเรื่องต่อ คุณนันทวันจึงให้ดิฉันเขียน ดิฉันจึงตั้งชื่อเรื่องว่า เนื้อใน เพราะมันชัดเจนมาก ประเภทดีสุดขั้ว ชั่วสุดขีด
“สิ่งที่เป็นเชื้อโรคสำหรับนักเขียนนั้น ดิฉันคิดว่านักเขียนบางคนมีนิสัยประจำตัวของเขาอยู่แล้วที่ไม่ชอบทำงานอย่างต่อเนื่อง เขาจะทำมั่ง หยุดมั่ง มันก็จะลำบากที่เขาจะก้าวขึ้นมาเป็นที่รู้จักของประชาชน ถึงแม้ว่างานของเขาจะดีก็ตาม แต่ถ้าเผื่อว่าทำงานไม่ติดต่อ คนก็จะลืม พอมาอีกเรื่องหนึ่ง เพิ่งมาเขียนอีก ก็จะต้องมารื้อฟื้นกันอีกว่าคนนี่เป็นใคร เราต้องฝึกตัวเองตั้งแต่เด็ก วางระเบียบไว้ให้กับตัวเอง เพราะการเป็นนักเขียนอาชีพจะอ้างว่าไม่มีอารมณ์เขียนไม่ได้ มันต้องมีอารมณ์เขียน อยู่ตลอด ถ้าไม่มีอารมณ์ ก็ต้องสร้างมันขึ้นมาให้ได้ นักเขียนอาชีพส่วนใหญ่ไม่ต้องสร้างอารมณ์ เรารักงานนี้ เราตั้งใจที่จะทำงานนี้ให้ดีที่สุด แล้วเรามีกำลังใจที่ว่า เราอยากให้ประโยชน์ทุกแง่ทุกมุมแก่ผู้อ่าน
“เรามีความมุ่งหมายที่มั่นคงว่าเราอยากจะให้ประโยชน์แก่ปวงชน ให้เกิดความบันเทิง ได้รับความรู้ ได้ประโยชน์จากการใช้ชีวิต อย่างฉากเข้าพระเข้านางหรือฉากอีโรติก อ่านเท่าไรก็ไม่รู้สึกว่าน่าเกลียด ไม่มีวันรู้ว่าเป็นเรื่องโป๊ เราต้องมีการคัดคำ พูดง่ายๆ ว่าเราอย่าพลาดการใช้ถ้อยคำ ลีลา ภาษา สำนวนในการเขียน ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมประโยค หรือการใช้คำซ้ำก็ไม่ควรใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทสำคัญของตัวละคร เรายิ่งจะต้องระมัดระวังว่าเราจะเขียนให้ผู้ใหญ่เข้าใจ แต่เด็กอ่านแล้วจะไม่รู้เรื่องเลย”
เงาสะท้อนมายาคติ
“คุณสุวรรณี สุคนธา เคยบอกดิฉันว่า ถ้าไม่ใช่ฉันกับคุณแล้ว คนอื่นเขียนเรื่องอีโรติกไม่ได้ เพราะสิ่งที่ถ่ายทอดออกมาได้งดงามนั้นคือความระมัดระวัง ความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ สำหรับนักเขียนใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาในปัจจุบัน ดิฉันไม่ค่อยได้ตามข่าวเท่าไร แทบจะไม่ค่อยอ่านงานของเขา อาจจะมาจากดิฉันไม่มีคอมพิวเตอร์ เลยเหมือนคนตกยุคตกสมัย เขียนด้วยลายมือตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้เรื่องเว็บไซต์ อินเตอร์เน็ต ถึงลูกสาวจะมีคอมพิวเตอร์ ดิฉันก็ไม่อยากดู มันรับไม่ได้แล้วในวัยนี้ มันมีความรู้สึกว่ามันยากสำหรับเรา ดูอักษรที่มันเรียงอยู่ในเครื่องแล้วปวดตา ก็เลยไม่ค่อยได้รู้จักนักเขียนรุ่นใหม่ว่าเขาเขียนอะไรกันบ้าง เขาเขียนไปแนวไหน ทิศทางไหน
“ยกตัวอย่างเรื่อง ดอกส้มสีทอง ของคุณถ่ายเถา สุจริตกุล คนเขียน เป็นคนที่มีความรู้สูง เขียนเรื่องสนุก เคยเขียนมาหลายเรื่องๆ มงกุฎดอกส้มก็เป็นเรื่องเด่นของเธอ ดิฉันถือว่าไม่ใช่ละครน้ำเน่า เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่าเป็นการสอนคนให้รู้จักในหลายแง่มุม ทั้งด้านมืดและสว่าง ถ้าเราเก็บทุกส่วนในรายละเอียดของเรื่องราวมาก็จะได้ประโยชน์ แต่ที่เป็นห่วงกันก็คือเด็กที่แยกแยะไม่เป็น ส่วนเด็กที่แยกแยะเป็นก็จะรู้ ดิฉันเคยไปถามเด็กคนหนึ่งว่าดูละครดอกส้มสีทองหรือเปล่า เขาบอกว่าดู ดิฉันถามอีกว่าแล้วหนูชอบใคร ไม่ชอบใคร เขาบอกว่าเกลียดนางเอก เกลียดเรยา ไม่ชอบ เพราะว่าเขาพูดไม่ดีกับแม่ แล้วก็หลายใจ ดิฉันว่ามันชัดเจนดีว่าเด็กดูแล้วเข้าใจ แต่เด็กบางคนก็อาจจะไม่เข้าใจอย่างนี้
“มันจึงมีอยู่สองจำพวก คือพวกที่เข้าใจกับพวกที่ไม่เข้าใจ แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังเข้าใจพวกหนึ่ง ไม่เข้าใจอีกพวกหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา แต่ความจริงแล้วเรื่องนี้นางเอกเลวเกินไปเท่านั้นเอง มันเหมือนการตอกย้ำความเลว ของคนค่อนข้างเยอะ ข้อเท็จจริงยังมีคนอย่างนี้มากมาย ทีนี้พอมาเห็นเป็นภาพ ฉายติดต่อกันเป็นเดือนๆ มันจึงรู้สึกว่าเยอะ แต่ที่จริงแล้วมันคือชีวิตจริง
“อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะกล่าวถึงงานวิจารณ์วรรณกรรมเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีคอลัมน์นี้ในหนังสือ ดิฉันอยากจะรื้อฟื้น งานวิจารณ์วรรณกรรมขึ้นมาอีก เคยบอกกับอาจารย์ทั้งหลายในสายงานวิชาการเพราะมันดี มีความสำคัญสำหรับนักเขียนมาก เวลานักเขียนเขาผลิตผลงานออกมา แล้วมีผู้อ่านที่เป็นนักวิชาการทางด้านวรรณกรรมมาวิจารณ์ผลงานของเขาให้ มันจะช่วยให้วงการวรรณกรรมแตกดอกออกช่อ สมัยก่อนจะมีอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนวิจารณ์ลงในหนังสือสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ อ่านแล้วได้ความรู้ดีมาก
“หนังสือต่างๆ ในปัจจุบัน ไม่ค่อยจะเปิดหน้าวิจารณ์วรรณกรรม นักเขียนใหม่ๆ ที่อยากจะเกิดก็เกิดลำบาก จริงอยู่ว่าการวิจารณ์ไม่มีอิทธิพลมากพอที่จะไปเปลี่ยนแปลงนักเขียนได้ แต่ก็ช่วยให้นักเขียนมีกระจกเงาบานหนึ่งสำหรับที่จะส่องดูงานของเขา เขาจะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ไม่เป็นไร นักวิจารณ์ไม่ต้องมาเดือดร้อน เขาอาจจะว่านักวิจารณ์ว่าเขาไม่ได้คิดอย่างนี้แต่การที่ไม่ได้คิดอย่างนั้น แล้วนักวิจารณ์คิดอีกอย่างหนึ่งก็เป็นการดีที่ว่าเป็นคนละมุมมอง ดิฉันคิดอย่างนี้ตลอด ใจกว้าง ยอมรับคำวิจารณ์เสมอ เพราะดิฉันเขียนหนังสือ ไม่ได้เขียนจากกฎเกณฑ์การเขียนวรรณกรรมใดๆ ทั้งสิ้น เริ่มต้นจากการเขียนอะไรก็เขียน เราจะไม่รู้จนกว่าตัวละครจะแสดงบทบาทของเขาไปถึงสุดสายปลายทาง ตัวละครจะประกอบกรรมบางอย่างจนรู้ได้ว่าจะจบเรื่องอย่างไร เราจะต้องไม่ให้คนอ่านรู้เลยว่าเราจะจบอย่างไร ทำให้เขาทายไม่ถูกนี่คือความสุขอย่างยิ่งของนักเขียน คือทำให้คนอ่านสงสัย อยากรู้อยู่อย่างนั้น
“บทประพันธ์แต่ละเรื่อง ดิฉันจะกะสัดส่วน ดิฉันเว้นวรรค ฉะนั้นสัดส่วนในระหว่างเว้นวรรคก็สำคัญ เหมือนกับเราทำกับข้าวเราก็ต้องกะสัดส่วน โดยที่ว่าเราก็ไม่ได้ทำกับข้าวเป็นมากมาย แต่เรารู้สึกว่าสัดส่วนแค่นี้ มันพอดีแค่นี้ ความพอดีแค่ไหน เรารู้ว่ามันคือสัดส่วนที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เมื่อไม่ถูกต้องปั๊บ ตัวละครมันจะบอกเราทันทีเลยว่าผมไปไม่ได้นะ หนูไปไม่ได้นะ เพราะว่ามันฝืนจนเรารู้สึกสัมผัสได้ ดิฉันก็จะรื้อแผ่นนั้นออก แล้วคิดใหม่ว่าควรจะทำอย่างไร ที่จะให้มันสนุกกว่านี้”.......................................
ลมหายใจในตัวอักษ...............................................ร
“การเว้นวรรคก็เหมือนการเว้นช่องไฟให้ตัวอักษรได้มีที่หายใจ บางทีเราอาจเป็นห่วงข้อมูลบางข้อมูล เราก็อยากจะเขียนให้มันอัดเข้าไป แต่มันไม่ได้ พอเราอ่านดูแล้ว รู้สึกมันทึบ ไม่มีเสน่ห์ ไม่มีความสบายใจอยู่ในระหว่างบรรทัดให้คนอ่านได้เสพต่อ เราก็นึกว่าเราควรทำให้ข้อมูลมันโปร่งขึ้น โดยที่ดึงบางอย่างออก แล้วใส่พอสมควร มันเหมือนกับน้ำกับเนื้อ มันต้องขลุกขลิกเสมอกัน นั่นคือเสน่ห์ที่ผู้เขียนไม่สามารถบอกได้ นอกจากผู้อ่านเท่านั้น
“สำหรับคนที่อยากจะเข้ามาเป็นนักประพันธ์ ดิฉันเชื่อว่านักเขียนทุกคน ย่อมชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว การจะเป็นนักเขียนที่ดีได้นั้น ต้องเป็นคนช่างสังเกตสิ่งต่างๆ ที่ผ่านตาเราไป ที่เราสัมผัส ทั้งสิ่งเล็ก สิ่งใหญ่ พยายามเก็บให้ได้ พอเก็บได้แล้ว มันต้องใช้ความคิดด้วยว่าเรื่องนี้มันควรจะเป็นอย่างไร เราต้องหาเหตุผลจากเรื่องราวที่เราไปสะดุดเข้าว่ามันควรจะเป็นอย่างไร เราฝึกตัวเราเองให้ใช้ความคิดอยู่เสมอ
“ถ้าใครอยากจะเดินบนถนนหนังสือเพื่อมาเป็นนักเขียน ข้อแรก ถ้าเกิดอยากเขียนหนังสือเป็นอาชีพ ไม่ใช่เขียนหนังสือเพื่องานอดิเรก เขียนบ้าง ไม่เขียนบ้าง ถ้านำมาเป็นอาชีพ ต้องวางกฎระเบียบไว้ให้ตัวเองประพฤติปฏิบัติทุกวันอย่างเข้มงวด คล้ายๆ กับว่าเราจะต้องฝึกเขียนหนังสือทุกวัน ฝึกให้ได้ อาจจะครึ่งวัน หรือครึ่งไหนก็ได้ที่เราถนัด อาจจะกลางคืนก็ได้ แต่ควรจะเขียนทุกวัน การเขียนหนังสือทุกวันคือการลับมีด ลับสติปัญญาของเรา ลับสำนวน โวหาร ลับลีลาต่างๆ ที่เราควรจะมีคุณสมบัติ พร้อมที่จะเป็นนักเขียน
“สมัยก่อนมีคำพูดว่า นักประพันธ์ไส้แห้ง ก็คงจะเป็นอย่างนั้น ดิฉันก็ไม่ทราบว่าเขาได้ค่าตอบแทน เรื่องละเท่าไรในยุคนั้น มันคล้ายๆ กับว่าเมื่อนำมาเป็นอาชีพแล้ว มันตั้งตัวไม่ได้จากอาชีพนักเขียน ดิฉันจำได้ว่าเมื่อก่อนเขียน 2 เรื่องสั้น ครั้งแรก ดิฉันได้ค่าเรื่อง 110 บาท ดิฉันดีใจแทบแย่ ไม่รู้สึกว่าถูกไป ตอนนั้นยังเด็ก อายุเพียงแค่ 20 ปี ส่งเรื่องสั้นไปให้นิตยสาร ศรีสัปดาห์ 2 เรื่องแรก เขาให้มา 110 บาท ได้ค่าเรื่องครั้งนั้น ทั้งบ้านพากันดีใจ ยิ่งพอรวมเล่มเสร็จ เขาให้มาอีก 3,500 บาท ยิ่งดีใจกันใหญ่ ถือว่าเป็นเงินก้อนแรกของชีวิต ตอนนั้นราวๆ ปี พ.ศ.2497
“มีนวนิยายหลายเรื่องที่ถูกนำไปแปลเป็นบทโทรทัศน์ คำพูดของตัวละครที่ทั้งตรงและแทงใจคนอ่าน จน ณ เพชร สำนักพิมพ์ขอคัดเลือกมาไว้ในหนังสือนวนิยาย ‘วรรคเพชร’ แต่ละวลี แต่ละประโยค มันแทรกอยู่ในละคร แต่ละเรื่องเป็นเรื่องราวตั้งแต่ดิฉันยังเด็ก เพราะชีวิตดิฉันตอนเด็กๆ มันทุกข์ จึงทำให้ดิฉันเป็นคนช่างคิด เวลาที่เขียนอะไร มันจะใส่ความคิดของตัวเองเข้าไป ใส่เข้าไปในความคิดของตัวละคร ผ่านตัวละคร
“วรรคเพชรในหนังสือนั้นดึงเอามาจากนวนิยาย 10 เรื่อง ตั้งแต่ดิฉันยังเด็กๆ จำได้ว่า เรื่อง ป่ากามเทพ จนมาถึงเรื่อง จำหลักไว้ในแผ่นดิน หรือเรื่อง ข้ามสีทันดร เรียกว่าประพันธ์มาหลายช่วงอายุ การที่ดิฉันเขียนไปในแต่ละวรรค มันไปตามบทบาทของตัวละคร ไม่ใช่ตัวดิฉันคิดเขียน ดิฉันดึงเอามาจากตัวละคร เป็นความคิดของตัวละครออกมาอย่างนี้ ดิฉันเป็นคนถ่ายทอดตัวละครนั้น ดึงมาจากการเจรจา โต้ตอบกันระหว่างตัวละครกับตัวละคร หรือความคิดของตัวละครขณะนั้น ในสิ่งแวดล้อมของเรื่องราวนั้นๆ
“ยกตัวอย่างเรื่อง ข้ามสีทันดร เป็นเรื่องราวของภูเขา 7 ชั้น ที่กั้นทะเล 7 ชั้นอีกเหมือนกัน ทะเลมี 7 ชั้น กว่าจะข้ามไปถึงภูเขาสัตตบริภัณฑ์ โอ้โห ยากลำบาก เพื่อจะขึ้นไปยังเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของโลก ตอนแรกเป็นเรื่องของศาสนาพราหมณ์ อยู่ในไตรภูมิพระร่วง เป็นเรื่องราวของการเลิกยาเสพติด เป็นความยากลำบากมากของคนที่ติดยา เพราะฉะนั้นการที่จะเลิกยาเสพติด เราเปรียบเทียบเหมือนกับเราข้ามสีทันดร ข้ามทะเลในไตรภูมิ เหมือนบทประพันธ์ของ คุณสุวรรณี สุคนธา ที่เขียนเรื่อง น้ำพุ ดิฉันเขียนเรื่อง ข้ามสีทันดร เป็นเรื่องยาเสพติด แต่ของคุณสุวรรณีเป็นเรื่องจริง ของดิฉันเป็นเรื่องแต่ง แต่เรื่องแต่งก็เอามาจากความจริง บางส่วนเป็นเรื่องของคนจริงๆ ที่เราสานให้มันเกิดเป็นเรื่องราวขึ้นมา”
เสียงเพรียกแห่งชีวิต
“หลายคนสงสัยว่า ชีวิตรักของ กฤษณา อโศกสิน ที่เป็นชีวิตจริง มีชีวิตรักที่เหมือนกับนวนิยายเรื่องไหนบ้าง ตอบได้ว่าไม่ค่อยเหมือน มันปนๆ กันไป ดิฉันไม่กล้าเขียนเรื่องชีวิตรักของตัวเอง (หัวเราะ) มันไม่ได้อยู่ในกฎเกณฑ์ ชีวิตจริงก็ไม่มีกฎเกณฑ์ เขียนหนังสือขึ้นมาได้ทุกวันนี้ ก็ไม่มีกฎเกณฑ์ กฎเกณฑ์หมายถึงกฎเกณฑ์ทางสากล ที่เขาระบุมาว่าคุณต้องเขียนอย่างนี้นะ 1-2-3-4 อย่างนี้ไม่มี แต่เคยเขียนแบบชีวประวัติส่วนตัว อันนั้นมี
“ดิฉันตั้งปณิธานไว้ว่าจะเขียนหนังสือไปตลอดชีวิตเท่าที่สุขภาพของเราจะเอื้ออำนวย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบีบคั้นให้ตัวเองต้องเขียน สุขภาพอำนวยแค่ไหนก็แค่นั้น ทุกวันนี้ดิฉันไม่มีงานอื่น ไม่มีธุรกิจ ไม่ได้ทำอะไรทั้งสิ้น บ้านช่อง ลูกสาว เป็นผู้ดูแลหมด ดิฉันจึงเขียนหนังสืออย่างเดียว การได้รับเกียรติให้ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ก็ไม่ได้รู้สึกว่า เราพิเศษกว่าใคร ดิฉันรู้สึกว่าเป็นนักเขียนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ส่วนรางวัลเกียรติยศที่ได้รับ ที่เขายกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นความภาคภูมิใจ แต่ดิฉันก็เอาใส่พานวางไว้บนหิ้งบูชา คล้ายๆ กับว่าตัดจากตัวเราไปเลย เราไม่ได้หอบเอาไป ไม่ใช่ว่าไปที่ไหนๆ ก็หอบความเป็นศิลปินแห่งชาติไป อันนั้นมันไม่ใช่
“ศิลปินเหมือนไม้ที่งอกขึ้นมาจากประสบการณ์ จากแรงบันดาลใจ และการตกผลึกของชีวิต โดยเฉพาะศิลปินแห่งชาติ เขาเดินทางมาไกล เขาต้องมีประสบการณ์สูง มีความเข้าใจชีวิตลึกซึ้ง ทุกอย่างที่ลึกซึ้งของเขา ต้องตกผลึก ไม่อย่างนั้นเขาจะทำงานที่เด่นขึ้นมาไม่ได้เลย”
เจียระไนประกายวรรณกรรม
นักประพันธ์ชื่อก้องนาม “กฤษณา อโศกสิน” จนถึงปัจจุบัน เธอยึดอาชีพนักเขียนอย่างจริงจัง ส่วนนามปากกา “กฤษณา อโศกสิน” ได้มาอย่างไรนั้น เธอขยายความให้ฟังว่า
“มันแว่วขึ้นมาในสมอง ในขณะที่นั่งคิดว่าจะใช้นามปากกาอะไร มันเกิดขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ แปลมาได้ความว่า “ไม้หอม ทรัพย์ที่ปราศจากทุกข์” ชื่อและนามสกุลนี้มาอย่างสายฟ้าแลบจริงๆ เทวดาให้มา ง่ายๆ สั้นๆ นามปากกานี้ สร้างผลงานออกมาค่อนข้างเยอะ เช่น น้ำผึ้งขม, ระฆังวงเดือน, ชลธีพิศวาส และอีกมากมายกว่าร้อยเรื่อง
“ส่วนเรื่องสั้น เรื่องแรก ของขวัญปีใหม่ ตีพิมพ์ใน ไทยใหม่วันจันทร์ ปี พ.ศ.2489 เรื่องที่สอง “เมื่อฉันเสียดวงตา”ประกวดเรื่องสั้นสตรีสาร ปี พ.ศ.2491 เรื่องที่สาม เขาขอให้เขียนเป็นชีวิตที่เรียนอยู่ คณะพาณิชยการศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ใต้ร่มชงโค ตีพิมพ์ในหนังสือ สีฟ้า
“ส่วนเรื่องการเมือง มาเขียนราวๆ ปี พ.ศ.2514-2515 เขียนลงบูรพา เขียนก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 มาเขียนอีกครั้งหนึ่งปี พ.ศ.2519 ช่วงที่เกิดเรื่อง 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เขียนอีกทีเรื่อง สะพานข้ามดาว เขียนก่อน ลมที่เปลี่ยนทาง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดิฉันรักมาก
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายนามปากกา อาทิ “กฤษณา อโศกสิน” จะเขียนเรื่องหนักๆ “กัญญชลา” เขียนเรื่องชีวิตเบาๆ “สุปปวาสา” เขียนเรื่องแทรกพุทธศาสนา “กระเรียนทอง” เขียนเรื่องตลก “ญาดา” แนวนวนิยายเรื่องสั้นทั่วไป
ทุกวันนี้ เธอยังเขียนนวนิยายอย่างต่อเนื่อง เวลานี้กำลังเขียนอยู่ 3 เรื่อง เรื่อง ลูกไม้ลายดอกรัก ลงนิตยสารพลอยแกมเพชร เรื่อง ดาดฟ้าดาว ลงนิตยสารสกุลไทย และเรื่อง ริมหน้าต่างกระจก ลงนิตยสารขวัญเรือน