พิศมัย วิไลศักดิ์
มี้ พิศมัย วิไลศักดิ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์-นักแสดง) ประจำปี พ.ศ.2553 นักแสดงที่คนรอบข้างต่างเรียกเธอว่า “แม่” เพราะเธอมอบความรักและไออุ่นให้กับผู้อื่นอยู่เสมอมา ไม่ว่าจะในหรือนอกวงการ
คุณพิศมัยมีชีวิตวัยเด็กอยู่แถวๆ ย่านบางลำพู เธอจบชั้นประถมจากโรงเรียนบำรุงวิทยา ด้วยความที่เป็นคนชอบร้องรำทำเพลง เธอตัดสินใจเข้าเรียนที่โรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร และนั่นคือจุดกำเนิดที่ทำให้นับถึงวันนี้เธอมีผลงานการแสดงหลายร้อยเรื่อง
ฉุยฉาย ฉายแวว
สิ่งหนึ่งที่คุณพิศมัยได้รับการยอมรับจนทำให้เธอเป็นที่รู้จักตั้งแต่สมัยแรกๆ ก็คือ “การรำ” ลีลาการร่ายรำของเธอสอดคล้องกับบทร้องและเสียงเพลงที่บรรเลง ความงดงามอ่อนช้อยที่เธอแสดงออกมานั้น ตราตรึงอยู่ในใจผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ “ฉุยฉาย”
“ด้วยความที่มี้ชอบรำ ชอบร้อง พี่ชายก็เลยให้เรียนนาฏศิลป์ พอเข้านาฏศิลป์ได้ ก็เลือกรำ พอรำได้ ครูส่องชาติ ชื่นศิริ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครรำ) ประจำปี พ.ศ. 2534) เขาเห็นแวว ก็ให้มี้รำอยู่บ่อยครั้ง แล้วก็มีครู
ท่านอื่นๆ อีก จนมาเริ่มเป็นที่รู้จักของทุกๆ คน ก็ครั้งที่เล่นเรื่อง การะเกด เมื่อปี พ.ศ.2501 คู่กับคุณลือชัย นฤนาท และคุณชนะ ศรีอุบล จากนั้นก็ได้แสดงภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง
“เรื่องของเรื่องก็คือบทละครของคุณอิงอร ซึ่งก็คือเรื่องการะเกด นักแสดงต้องรำได้ ทีนี้คุณอิงอรก็รู้จักกับคุณน้อย ชลานุเคราะห์ ที่อยู่กรมศิลปากร พอเขาเห็นใครรำได้ก็ไปคัดมา ช่วงก่อนหน้านั้นครูเขาก็ฝึกให้มี้รำตั้งแต่เด็กๆ แล้ว สิบสามก็เป็นนางเอกแว่นแก้ว พอได้มาเล่นการะเกด ก็เลยเริ่มมีคนรู้จักมี้จากฉากรำฉุยฉายค่ะ”
จากโลกภาพยนตร์สู่โลกแห่งละคร
ภาพแรกที่ได้เจอมี้ในวันที่เรานัดสัมภาษณ์ก็คือ เธอกำลังซ้อมการแสดงละครเวทีเรื่อง “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ท่วงท่า ลีลาและน้ำเสียงที่เธอถ่ายทอดออกมานั้นงดงามเกินบรรยาย
“จริงๆ แล้วละครเวทีเป็นสิ่งที่มี้ไม่ค่อยชอบเล่นเท่าไร เพราะเสียงเราไม่ดี แล้วยิ่งร้องเพลงไทยด้วยก็ต้องใช้พลังเยอะมาก ก็มีเพี้ยนบ้าง ซ้อมกันเป็นเดือนๆ แล้วพอแอ๊คติ้งด้วย ก็ยิ่งต้องใช้พลังเยอะ แล้วบางครั้งเพลงไทยมันจะช้ามาก เรายังเคยแซวว่าอย่าช้ามากนะ มันเหนื่อย แต่เราก็เต็มที่กับสิ่งที่เราทำ
“เริ่มต้นเลยมี้มาจากหนัง แล้วก็มาเริ่มเล่นละครโทรทัศน์ ยุคสมัยนั้นเป็นยุคสมัยที่ต้องท่องบท เราก็ต้องจำบทให้ได้ รวมไปถึงเรื่องของการเคลื่อนไหวและแอ๊คติ้ง พอเราได้ฝึกจากตรงนั้นก็ทำให้เรามีความจำดีด้วย อีกอย่างบทประพันธ์ที่เขาเขียนมา ก่อนอื่นเราก็อ่านทำความเข้าใจครั้งหนึ่งก่อน เพราะมีเหมือนกันที่เล่นจากบทประพันธ์ของนักประพันธ์ ก็อ่านทั้งเรื่อง สคริปต์จะเป็นเรื่องรอง เพราะนักประพันธ์จะละเอียดมาก ทำให้การจินตนาการในส่วนของคาแร็คเตอร์นั้นๆ เห็นภาพชัดในหัวเรา จะเล่นเป็นนางเอก ก็ทำให้เห็นภาพนางเอกชัดเจนขึ้น ยิ่งพอมาเป็นบทย่า บทยาย ก็ยิ่งเข้าใจมากขึ้น
“เด็กรุ่นนี้จะสบายหน่อย เล่นเรื่องสองเรื่องก็ดังแล้ว ช่วงแรกที่มี้เล่นละคร ต้องทำทุกอย่าง กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนนั้นเขาไม่มีหรอกที่จะใช้นักแสดงมาเป็นโฆษณา วงการมันเล็กมาก สร้างหนังอย่างเดียว ทีวีก็ยังไม่นิยม กว่าหนังจะจบก็หลายเดือน ต่างกับปัจจุบันหนึ่งเดือน สองเดือนก็จบ”
เพราะครูบาอาจารย์...จึงมีวันนี้
ความรู้ของมี้ถูกบ่มเพาะจากครูผู้มีพระคุณหลายท่าน เธอเองไม่เคยลืมที่จะตอบแทนพระคุณครู ทุกวันนี้เธอยังคงระลึกถึงบุญคุณของครูผู้สอนสั่งอยู่เสมอๆ
“มี้นับถือครูบาอาจารย์มาก เพราะท่านให้ชีวิตที่เราเป็นอย่างทุกวันนี้ ให้ความสามารถที่เราแสดง มีทุกสิ่งทุกอย่างในวันนี้ก็เพราะครูบาอาจารย์ให้มา สั่งสอนเรามา ไม่ว่าจะเรียนหนังสือหรือร้องรำทำเพลงก็มาจากในโรงเรียน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เรานับถือมาตลอด ไม่มีอาจารย์ ก็ไม่มี พิศมัย วิไลศักดิ์
“อย่างทุกวันนี้มี้ก็บอกน้องๆ นักแสดงว่า เราอยู่ตรงนี้ อย่าทะนง คนมาเกิดมาแทนเราเยอะแยะ เดี๋ยวก็มีคนนี้มา คนนั้นมา เราต้องทำตรงนี้ให้ดี ตั้งใจทำงานให้ดี เคารพงาน เคารพวิชา เวลาที่เขานัดหมาย มอบหมายงาน เราก็ทำอย่างตั้งใจ ไม่ใช่เขาพูดอะไร เราก็ไม่สนใจ ต้องเอาใจใส่ งานก็จะดำเนินไปได้ มันจะส่งผลดีกับเราในอนาคต
“มี้โชคดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ เด็กทุกคนเขาเคารพรักเรา เขาดีใจที่ได้เล่นกับเรา แล้วถ้าเล่นกับเรา เราก็ไม่กั๊ก มี้สอนให้เขาทำได้ เราให้เขารับส่งกับเรา สมมติว่าผู้กำกับเขามอบมาแล้วว่าให้เล่นอะไร เราก็ฟังเขา แล้วเราก็มาทำของเรา ช่วยเสริมบ้าง เพราะบางครั้งถ้าตัวละครหลายตัวผู้กำกับดูรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ทั่วถึง เราอยู่ใกล้ๆ ก็จะช่วยแนะนำ”
ที่สุดแห่งรางวัลชีวิต
ชีวิตการเป็นนักแสดงของคุณพิศมัยนั้น ตลอดเส้นทางเธอได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ทั้งรางวัลตุ๊กตาทอง นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากเรื่อง “ดวงตาสวรรค์” รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากเรื่อง “ไร้เสน่หา” เข้าชิงรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากเรื่อง “ค่าน้ำนม” รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดีนักแสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม จากเรื่อง “เงิน เงิน เงิน” และเรื่อง “กำแพง” และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย แต่รางวัลหนึ่งที่เธอได้รับและถือเป็นที่สุดแห่งชีวิตก็คือการได้รับคัดเลือกให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์-นักแสดง) ประจำปี พ.ศ.2553
“ไม่เคยคิดเลยนะคะว่าจะมาถึงตรงจุดนี้ ถ้าถามว่าทำไมมาอยู่ตรงนี้ได้ ก็บอกได้คำเดียวว่าเพราะความรักในการแสดง ตอนที่ทราบเรื่องว่าได้รับรางวัลนี้ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มี้เหนื่อยมาก ทำงานเจ็ดวัน เล่นละครหลายเรื่อง ตั้งแต่ เมียไม่ใช่เมีย ค่าของคน ดอกส้มสีทอง รอยไหม รอยมาร ต้องเดินทางตลอด อย่างรอยไหมก็ต้องเดินทางไปเชียงใหม่ แล้วมี้ขับรถเองด้วย ก็เหนื่อยนะกับงานที่ทำ
“แต่พอได้รับมาก็บอกได้เลยว่า โอ้โห มันเหนือสิ่งอื่นใด เพราะการจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติเนี่ย ไม่ใช่เราเสนอตัวเองนะ ต้องเป็นคนอื่นเสนอให้เรา เขาก็มาขอประวัติ ขอจนประวัติกระดาษเหลืองแล้วก็ยังไม่ได้สักที แต่พอถึงวันนี้ เราได้แล้ว ก็ไม่ได้ใฝ่ฝันไว้หรืออะไร แต่ก็ยอมรับว่าเป็นที่สุดของชีวิตจริงๆ เพราะเป็นรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยที่พระองค์ท่านมอบให้สมเด็จพระเทพฯ เป็นผู้แทนพระองค์
“ทีนี้การที่เราจะได้รับรางวัล วันที่เข้าไปรับ ศิลปินแห่งชาติก็ต้องมีการแสดง เราก็คิดว่าจะหยิบอะไรไปแสดงดี ทางนั้นเขาก็ยืนยันมาเลยว่าต้องรำฉุยฉาย ก็ไหว้ครูไปหลายรอบ ย้ำว่าขอให้อย่าล้ม ขอให้ยกขาขึ้น ขอให้การแสดงราบรื่น เพราะฉุยฉายคนนี้คือพระนารายณ์แปลง เป็นของสูง ก็ขอให้ลูกรำแล้วประทับใจผู้ชม สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดี”
ชีวิตที่อบอุ่น
ช่วงปีที่ผ่านมา เรื่องสุขภาพทำให้เธอต้องเดินทางเข้า-ออกโรงพยาบาลอยู่หลายครั้ง แต่น้ำเสียงที่เล่าเรื่องเหล่านี้ให้กับเราฟังกลับเป็นเสียงที่ฟังแล้วสบายใจและมีความสุข
“เจ็บนะคะ แต่ก็รู้สึกอบอุ่น เพราะทุกครั้งที่เราเข้าโรงพยาบาล หมอก็ให้เกียรติมาดูแลเราอย่างดี บรรดาเหล่าผู้จัดและนักแสดงก็ไปเยี่ยมเราเยอะมาก มีทั้งมาเล่นดนตรีให้ฟังถึงในห้อง ทำให้เราได้เสียงหัวเราะ จนหมอต้องปิดป้ายห้ามเยี่ยม (หัวเราะ) เพราะกลัวเราจะไม่ได้พัก มันก็เลยมีความสุข แม้จะป่วย เราก็ยังมีความสุข
“ทุกวันนี้ความเหงาเป็นอย่างไร มี้ไม่รู้จักนะ เพราะยังไม่มีช่วงที่เหงาเลย มีแต่ว่างานเยอะจัง มี้ว่างไหม ตอนที่ลูกๆ เหล่าบรรดาผู้จัด นักแสดง เขาจัดงานครบ 6 รอบให้ เรายังไม่มีเวลาไปขอบคุณเขาเลย เพราะอยู่กับงานละครเวทีสมเด็จพระนเรศวรมหาราชบ้าง ไปหาหมอบ้าง
“ทุกวันนี้เวลาไปทำงาน ก็ขับรถไปคนเดียว ไปไหนมาไหนก็ชอบไปคนเดียว คือเราชอบอยู่อย่างนี้ มาถึงกองถ่ายก็รู้สึกอบอุ่น เดี๋ยวก็มีคนมายกกระเป๋าให้ มีคนหาของให้กิน มีคนมาพูดคุยด้วย แล้วเราก็เป็นคนเฮฮา ตลก เวลาที่มี้ดุบ้าง เขาก็ไม่ถือ ถือเป็นเรื่องตลก ทำงานก็ไม่เครียด มีความสุขมากกว่า”
จนกว่าจะหมดลมหายใจ
ด้วยความรักและชื่นชอบในการแสดง เจ็ดวันทำงานของเธอจึงผ่านไปอย่างมีความสุข เมื่อถามถึงเรื่องเกษียณ เธอตอบชัดเจนเหมือนกับศิลปินแห่งชาติท่านอื่นๆ
“ศิลปินไม่มีคำว่าเกษียณ จนกว่าจะหมดลมหายใจ สำหรับมี้ก็คงจะอยู่ตรงนี้ละค่ะ เพราะอย่างเราจะไปเปิดร้านอาหารก็คงเปิดไม่ได้ เพราะทำอาหารไม่เป็น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ให้ไม่เป็นปัญหา กับผู้จัด สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ เพราะอย่างที่บอกตั้งแต่แรกแล้วว่างานนี้ เป็นงานที่เราเลือกแล้ว
“มี้ได้บทที่ดีมาตลอด อาจเป็นเพราะอายุเราก็ขนาดนี้แล้ว แต่เรายังจำบทได้ อย่างตอนที่เล่นเรื่องรอยมาร วันหนึ่งถ่ายสิบกว่าฉาก นั่งท่อง ทำความเข้าใจอยู่คนเดียวเป็นหน้าๆ แล้วเราก็ต้องคิดต่อว่า ในเรื่องต้องรักหลาน ต้องรักมาร์กี้ เราก็คิดว่าเราจะทำอย่างไรให้เด็กรุ่นใหม่มารักเรา ก่อนการแสดงมี้ก็เรียกเขามา มาๆ จูบกับย่าหน่อย เวลาแสดงละครด้วยกันจะได้เข้าถึง แล้วเขาก็จะได้มีความรู้สึกร่วมกับเรา อย่างครั้งที่ช่องสามเขามีจับรางวัล มาร์กี้เขาก็เข้ามาให้เราอวยพรก่อนที่เขาจะขึ้นไปจับฉลาก เราก็บอกว่า ขอให้ได้นะลูก แปลว่าเขารู้สึกแล้วว่า เราคือย่าเขาจริงๆ แล้วก็ได้จริงๆ มาร์กี้เขาจับได้รถเลย”
ศิลปินร่วมสมัย ใส่ใจเทคโนโลยี
เรามักจะเห็นผู้ใหญ่หลายๆ ท่านไม่ค่อยสนใจเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ บ้างก็ว่าเป็นเรื่องไร้สาระ บ้างก็ว่าสิ้นเปลือง ไม่ก็บอกว่าเป็นเรื่องราวของวัยรุ่น คนยุคใหม่ แต่สำหรับคุณพิศมัย เธอเรียนรู้และใส่ใจเทคโนโลยีเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันทำให้เธอสามารถรับรู้ได้ว่าคนรอบข้างเธอเป็นอย่างไรบ้าง และยังทำให้เธอเข้ากับเด็กยุคใหม่ได้อีกด้วย
“Line มี้ก็เล่น facebook มี้ก็มี ตอนนี้กำลังหัดโปรแกรมภาพที่เรียกว่า Instagram อยู่ เรื่องของเรื่องมาจากที่ก่อนหน้านี้ เวลาที่พวกเด็กๆ มากองถ่าย เขาจะเล่นแต่โทรศัพท์มือถือกัน เขามีโลกส่วนตัวกันหมดเลย แล้วพอเวลาเขามีงานอะไร เขาก็จะส่งบอกต่อๆ กัน สรุปเราก็ไม่รู้เรื่อง พอมีใครมาถามว่า มี้ วันนี้มีงานนั้น มีงานนี้ เราก็บอกไม่รู้เรื่อง เลยไม่ได้การแล้ว ต้องไปฝึกบ้าง เขาไปไหนเราก็จะได้ไปด้วย ไม่ใช่ไม่รู้เรื่องอะไร อย่างตอนวันเกิด พี่เบิร์ด (ธงไชย แม็คอินไตย์) เขาก็ส่ง Happy Birthday มาให้ในเฟซบุ๊ก เราก็ต้องตามยุคตามสมัยด้วย
“แต่อย่างละครซีรีส์เกาหลี มี้ไม่ดูนะ กลัวติด (หัวเราะ) อีกอย่างเราต้องเอาเวลามาดูละครที่เราเล่นบ้าง แล้วก็ดูข่าว ดูละครก็ดูเพื่อให้เห็นถึงความบกพร่องของเรา เพราะทุกๆ ครั้งที่ถ่ายแต่ละฉากเสร็จ เราจะไม่มีเวลามานั่งดูหน้ามอนิเตอร์ เพราะต้องท่องฉากบทต่อไป ต้องเตรียมตัวเปลี่ยนชุด แล้วก็ต้องดูเรื่องของบล็อกกิ้งว่าเราต้องเดินไปทางไหน การทำแบบนี้ถือว่าเราได้ลับสมองนะ ลองนึกดูว่าถ้ามี้ไม่ได้มาทำงานตรงนี้ วันๆ หนึ่งนั่งอยู่กับบ้านเฉยๆ มันก็ถอยหลัง สุดท้ายก็จะเป็นอัลไซเมอร์”
สัมมาคารวะ ทำให้ยืนยาว
นักแสดงหน้าใหม่ๆ มีให้เห็นกันเกือบตลอดเวลา แต่สำหรับคุณพิศมัย เธออยู่ในวงการนี้มาสามสิบกว่าปี ทุกวันนี้เธอก็ยังมีละคร มีงานแสดงที่เข้าแถวเรียงต่อยอดกันให้เธอทำอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเป็นเพราะ เธอเตรียมพร้อมล่วงหน้ากับการทำงานทุกครั้ง ทำให้ไม่ว่าผู้จัดท่านไหนจะเรียกเธอไปเล่นละคร ก็สบายอกสบายใจ
“กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เราก็ต้องปูมานะ เราต้องมีให้เขาก่อน อย่านึกว่าจะเอาของเขา เราต้องให้ใจ ให้อะไรหลายอย่างถึงจะมีคนรักเรา ไม่ใช่รักด้วยปาก ต้องรักด้วยใจ รักเราด้วยใจ อย่างงานวันเกิดเรา คุณไก่ (วรายุฑ มิลินทจินดา) เขาก็บอกว่า เขาเชิญคนที่รักมี้จริงๆ ตอนแรกตั้งใจจะเชิญเยอะกว่านี้ แต่เขามาด้วยใจหรือเปล่า อย่างใครที่มาไม่ทัน หรือติดธุระเขาก็มาทีหลัง ป้าจุ๊ (จุรี โอศิริ) ก็บอกกับเราว่า เมื่อก่อนนะมี้ เด็กๆ ที่เคยอยู่กับมี้มา มี้เคยดูแลเขามา วันนี้เขากลับมาดูแลมี้กันหมด เราก็ว่าจริง อยู่กันตั้งแต่ยังไม่มีลูกมีเต้า จนลูกเต้าเขาโต เขาก็รักเราเหมือนเป็นครอบครัวใหญ่
“สำหรับใครที่คิดจะเข้าวงการ อันดับแรกก็คือต้องรักก่อน รักที่จะทำงานตรงนี้ อดทนได้ไหม ถามตัวเองว่าทำได้ไหม มีมนุษยสัมพันธ์พอไหม เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่ขาดอยู่อย่างหนึ่งก็คือสัมมาคารวะ ไม่ค่อยจะเคารพผู้หลักผู้ใหญ่กัน เด็กรุ่นใหม่ยังต้องฝึกอีกเยอะ เพราะการที่เราทำแบบนี้ได้ การงานของเรามันก็จะราบรื่น ไม่ใช่มาเพื่อหาผลประโยชน์ พอมาถึงก็จะเป็นพรีเซ้นเตอร์งานโฆษณา งานนี้ได้เท่าไร งานนั้นได้เท่าไร อย่าพึ่งไปคิดตรงนั้น ทำงานตรงนี้ให้ดีก่อนดีกว่า ถ้าทำได้อย่างนี้ การอยู่ในวงการยืนยาวมันก็ไม่ใช่เรื่องยาก”
ทั้งหมดที่เราได้เห็นเธอ ทั้งจากหน้าจอโทรทัศน์ บนเวที และการพูดคุยกับเธอในครั้งนี้ ทำให้เรารู้สึกได้ว่าผู้หญิงคนนี้มีความรักความอบอุ่น สมกับที่คนทั้งประเทศเรียกเธอว่า “แม่” จริงๆ
Did You Know?
เรื่องเสียงเป็นสิ่งที่คุณพิศมัยกังวลมากที่สุด เนื่องจากเธอเป็นคนเสียงใหญ่ ใครต่อใครมาชวนเธอเล่นละคร เธอก็จะไม่ยอมเล่น ไม่ว่าจะเป็น ส. อาสนจินดา, สุพรรณ บูรณะพิมพ์ หรือแม้แต่ท่านมุ้ย ชวนให้เธอไปเล่นละครช่องเจ็ด ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นขาวดำ เธอก็ไม่เล่น ขนาดท่านมุ้ยบอกว่าไม่ต้องมีบทพูดเลย เธอก็ไม่ยอมเล่น จนกระทั่งได้มีโอกาสได้แสดงละครเรื่องแรกคือ “ห้องที่จัดไม่เสร็จ” ของคุณกฤษณา อโศกสิน ซึ่งเป็นนวนิยายสะท้อนภาพความห่วงหาอาทรที่ไม่มีวันสิ้นสุดของผู้เป็นแม่ เหตุผลที่เธอมาเล่นก็เพราะนักแสดงหลายคนสนับสนุนให้แสดง จากนั้นเธอก็แสดงเรื่อยมาจนทุกวันนี้
“ช่วงแรกใช้เสียงพากย์ทั้งหมด อย่างบางเรื่องก็เป็นเสียงของ ป้าจุ๊ (จุรี โอศิริ) จนกระทั่งเวลาที่ป้าจุ๊ไปไหนมาไหน ก็จะมีคนแซวว่าทำเสียงพิศมัย แต่จริงๆ พิศมัยต่างหากที่ใช้เสียงของป้าจุ๊ (หัวเราะ) มี้เริ่มเล่นละครเรื่องแรกก็คือเรื่อง ห้องที่จัดไม่เสร็จ ก่อนหน้านั้นใครให้เล่นก็ไม่ยอมเล่น เพราะเสียงเราใหญ่ แต่บทที่ได้รับในเรื่องก็คือบทแม่ เราอ่านเรื่องแล้วสนุกดี ก็เป็นแม่ก็ได้ เพราะเสียงก็ใช่ ก็เลยเริ่มเล่นละครตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”