สมรักษ์ ปันติบุญ
“พอเข้าไปเกี่ยวข้องกับเครื่องปั้นดินเผา หลังจากนั้นผมก็เกิดความชอบมันจริงๆ อยากเรียนรู้เกี่ยวกับมันมากขึ้น เพราะรู้สึกว่ามันคือความถนัดของเรา แน่นอนว่าผมก็ไม่ทิ้งศิลปะด้าน Fine Art งานจิตรกรรมวาดรูป ผมก็ยังมีเขียนงานอยู่เสมอ เขียนบนผ้าใบบ้าง บนจานบ้าง พยายามจะศึกษาศิลปะในหลายๆ ด้าน อย่างสถาปัตยกรรมผมเองก็มีความสนใจ เมื่อมีโอกาสก็จะไปดูแกลเลอรี่ไปพิพิธภัณฑ์ ไปแลกเปลี่ยนมุมมอง แลกเปลี่ยนแนวคิดกับศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานอยู่เสมอ
“หลังจากนั้น ผมก็มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับกลุ่มสหประชาชาติ ได้ไปสอนศิลปะให้ผู้อพยพบ้าง คนไทยแถบอีสานบ้าง ไปสอนอยู่เกือบ 6 ปี ก็รู้สึกว่าเราไม่แตกฉาน คงจะต้องไปศึกษาต่อ ผมมีแนวคิดอย่างนี้ว่าถ้าเรารู้ว่าเราไม่แตกฉาน มันเป็นเรื่องดีแน่ที่เรารู้ตัวเอง ก็จะไม่หลงตัวเอง ผมก็เลยเลือกไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น เพราะนอกจากจะมีช่างปั้นเยอะแล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นเมืองที่รับศาสตร์จากทั่วโลก เราจะเห็นได้จากการผสมผสานทางวัฒนธรรมหลายๆ อย่างของเขา
“เมื่อไปถึงก็โชคดีมากๆ ที่ได้มีโอกาสเรียนกับมาสเตอร์ด้านนี้ที่ทำสืบทอดกันมาสามร้อยกว่าปี โดยในทุกกระบวนการที่เป็นไปในแง่ของประเพณี วัฒนธรรมก็ยังเป็นแบบดั้งเดิมอยู่ เพราะเขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันเหมาะและมีคุณค่าต่อมนุษย์
“การไปที่ญี่ปุ่นครั้งนั้น นอกจากผมจะไปเรียนแล้ว ยังเป็นเหมือนการเข้าไปแลกเปลี่ยนกัน เพราะคนที่สอนผมเขามีความสนใจในศิลปะงานของสุโขทัยของบ้านเราเหมือนกัน ซึ่งศิลปะของที่สุโขทัยก็จะมีสัญลักษณ์เป็นรูปปลา และเขาเองก็เขียนปลาอยู่ เขาชื่นชอบงานเขียนปลาของบ้านเรามาก ก็เลยมีความสนิทใจที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับผม”
หลังจาก 5 ปีที่ใช้ชีวิตไปกับการเรียนและเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ที่ญี่ปุ่น ในที่สุดเขาก็ได้กลับมาเมืองไทย กลับมายังท้องถิ่นดั้งเดิมแห่งตัวตนของเขาที่จังหวัดเชียงราย ที่นี่นอกจากจะมีดินที่ดีเหมาะแก่งานปั้นของเขาแล้ว ยังเป็นที่พักผ่อนอันสงบเงียบแบบที่เขาต้องการ การตัดสินใจซื้อที่ 9 ไร่ เพื่อสร้างเป็นบ้าน สตูดิโอ และช็อป จึงเกิดขึ้นเมื่อ 19 ปีที่แล้ว
“งานของผมเป็นงานคราฟท์ เป็นศิลปะที่ทำด้วยมือ สืบเนื่องจากของโบราณ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของผม ส่วนงานเซรามิคอาร์ต เป็นผลงานศิลปะที่แฝงไปด้วยความรู้สึก จินตนาการ และตอบสนองตนเองเป็นสำคัญ จุดหมายในการทำงานแต่ละอย่างโดยหลักแล้วก็คือเพื่อตอบสนองตนเอง เพื่อความรัก รักในสิ่งที่เราทำ ผมว่าเราทุกคนมีความคิดที่คล้ายๆ กัน ลึกๆ จริงๆ แล้วมนุษย์ก็คล้ายๆ กัน สิ่งที่เราทำมันย่อมสนองตอบความต้องการของเราเสมอ
“ความเป็นคนเชียงของนี่แหละที่ทำให้ผมกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ที่เชียงราย เพราะเมื่อก่อนผมจะเบื่อวิถีชีวิตเด็กบ้านนอกมากๆเบื่อการไปตลาด เบื่อการตักบาตรที่วัด เบื่อการขี่จักรยาน เพราะอายสาว เบื่อที่ไม่มีตึกสูงๆ สวยๆ ผมอยากจะไปใช้ชีวิตแบบโมเดิร์น แต่พอได้ใช้ชีวิต ได้เรียนรู้มันไป ในที่สุดมันก็จะวนกลับมาที่เดิม ผมกลับชอบที่จะอยู่เงียบๆ ในบ้านในสวนมากกว่า เพราะคนเรามันต้องมีสักแห่งไว้เป็นที่สงบจิตสงบใจ เพื่อพักผ่อนอยู่ในที่ที่อันควร ตามวิถีชีวิตของมัน
“ส่วนการมาบุกเบิกสร้างงานที่นี่ ที่แสนห่างไกลในความรู้สึกของหลายคนนั้น ผมมองว่าในสิ่งที่เราอยากให้มีนั้น มันสามารถสร้างได้หมด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ที่ว่าคุณจะหาช่องทางของมันได้หรือไม่ อย่างผมทำเครื่องปั้นดินเผาที่นี่ แรกๆ ก็จะมีคนบอกว่าอย่าไปทำเลย ใครจะมาสนใจ แต่ผมก็เชื่อมั่นว่าทำได้ ที่สำคัญมันยังไม่มีใครทำ นี่คือช่องว่างที่ผมมองเห็น แล้วผมก็ทำมันปรากฏว่าไกลแค่ไหนคนก็มาเยี่ยมเยียน
“ผมว่าคุณจะทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องมองหาช่องว่างที่ยังไม่มีใครทำ เมื่อคิดได้ก็เริ่มลงมือทำ มันไม่ยากหรอก มันท้าทาย ไม่มีคู่แข่งอีกต่างหาก สนามของคุณจะกว้างมากเลย แต่คนส่วนใหญ่มักเริ่มทำในขณะที่คนอื่นๆ เขาทำกันหมดแล้ว นี่สิ ผมว่าเหนื่อยกว่า ในการทำงานเชิงพาณิชย์ การตลาดของเรา เราก็คิดเอง กำหนดเอง ตามเป้าหมายของเราเอง
“ผมเองก็ทำงานร่วมกับภรรยา เขาเป็นคนที่มีความรู้ว่าทำแบบไหนที่เราจะอยู่ได้ ไม่เดือดร้อน และไม่เป็นภาระผู้อื่น ผมชื่นชมเธอในเรื่องนี้”
จากความจับผลัดจับผลู ไม่ได้ตั้งใจเดินตามทางสายนี้ แต่สิ่งที่ได้กลับเป็นความหมายแห่งชีวิตที่ยิ่งใหญ่ การได้มาซึ่งอิสระแห่งวิถีทางและแนวคิดที่ชัดเจน กลับเป็นแรงผลักดันให้แต่ละก้อนดินที่ปั้น แต่ละส่วนผสมที่ผสาน ถักทอความหมายได้มากกว่าแค่ผลที่ได้เชิงพาณิชย์
“ตอนแรกที่ทำ ผมก็ไม่รู้หรอกว่านี่คือทาง แต่จะรู้ก็ต่อเมื่อเราทำไปเรื่อยๆ เพราะเราจะเริ่มติดแล้ว ห่างจากมันไม่ได้เลย แต่มันเป็นความยินดีที่จะติดอยู่กับมัน ผมคิดว่าสไตล์งานปั้นของผมนั้นไม่แตกต่างจากของคนอื่น แต่เรื่องของเซ้นส์ทางศิลปะนั้นอาจจะต่างกัน เพราะมีการผสมความเป็นตัวตนของเราลงไป ที่จะสังเกตได้ก็คือผมชอบอะไรที่มันเป็นธรรมชาติ อย่างดิน ผมใช้ดินที่มีอยู่ในท้องถิ่น เนื่องจากเชียงรายมีภูเขาเยอะ วัตถุดิบที่นำมาใช้ก็ได้มาจากในท้องถิ่นนี่ล่ะ ไม่ว่าจะเป็นขี้เถ้าฟาง ขี้เถ้าไม้ไผ่พวกเศษวัสดุ อย่างใบไม้นั้นเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำงานของผมเลย
“ทุกครั้งที่เปิดเตา มันมีความท้าทายอยู่เสมอ งานเครื่องปั้นดินเผามันทำให้ความรู้สึกกับเราได้มากมาย มันเป็นงานที่ท้าทายมันเป็นงานที่ให้ความรู้สึกกับเราได้หลากหลาย บางทีก็ให้อารมณ์เศร้าอย่างฉับพลัน มันสนองตอบเราได้เร็วมาก มีนักเคมีวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาเขาเคยบอกไว้ว่า การทำเคลือบแต่ละอันที่ผสมกันออกมา มันก็ได้ตัวใหม่ๆ อยู่เสมอ
“สำหรับผมทุกครั้งที่เริ่มลงมือทำงาน เหมือนกำลังทำการทดลองครั้งใหม่อยู่เสมอ อย่างตอนนี้ผมกำลังเก็บพวกใบไม้แห้งเพื่อนำไปเผา แล้วเอาขี้เถ้ามากรอง จากนั้นก็เอามาผสมกับส่วนผสมต่างๆ เพราะผมต้องการให้มันคงเอกลักษณ์ความงามของธรรมชาติไว้ในงานทุกชิ้น
“ถ้าเป็นดินปั้นที่ดี แค่เราขับรถผ่านก็จะรู้ได้เลยว่าตรงนี้ดินดีหรือไม่ ผมเองชอบเดินทาง เวลาเดินทางไปไหน ผมก็จะดูไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ดินที่ได้ก็มักจะมาจากการเดินทางนี่แหละครับ อย่างที่นี่ภูเขาเยอะ ดินก็จะเยอะไปด้วย
“แรงบันดาลใจในการทำงานของผมมันมีการผสมผสานระหว่างกลิ่นไอของความเป็นญี่ปุ่นและไทยล้านนา ผมมองว่าการผสมผสานนั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้เรายังอยู่ได้ มันมีหัวใจของมันอยู่ในทุกๆ สิ่ง ซึ่งงานศิลปะมันก็ต้องมี เพราะถ้าไม่มีเท้ามันก็จะลอยคนเท้าลอยนี่มันลงดินไม่ได้นะ เท้าลอยมันเกิดทุกที่นะ โดยเฉพาะคน แต่ผมพยายามที่จะไม่เป็น พยายามที่จะรู้ตัวอยู่เสมอ”
สิ่งที่เป็นในทุกวันนี้ก็คือการตกตะกอนทางความคิด และเรียนรู้ในสิ่งที่ได้เจอ เขาซึมซับและรับได้เสมอกับในทุกความเปลี่ยนแปลง เพราะถือว่านั่นคือธรรมชาติของชีวิต
“ในขณะที่เราหนุ่มสาว มันเป็นช่วงเวลาแห่งการเดินทาง ช่วงเวลาแห่งการแสวงหา อย่างในตอนนั้นผมเองก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอะไรในชีวิตที่ชัดเจนนัก เพียงแต่มันมีช่วงชีวิตที่ทำให้ได้ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ มันก็เลยได้มีโอกาสเดินตามเส้นทางของมันไปเรื่อยๆ แต่ว่าถ้าเราทำให้ดี เราจะรู้ขั้นตอนที่แท้จริงในการทำงานนั้นๆ ได้ไม่ยาก
“เราต้องเอาจริงเอาจังในบางเรื่องที่คิดว่าจะฝากชีวิตไว้ได้ ทำมันด้วยหัวใจและมีปรัชญาในการทำ อย่าไปท้อ ทำเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ และไม่เป็นภาระของสังคม ผมว่าขาก็จะไม่ลอย ผมเองก็เคยมีช่วงที่ขาลอยนะ จึงต้องไปเรียนต่อศึกษาต่อ เพื่อให้เกิดความรู้ที่แท้จริงในงานที่ทำ ที่เขาว่างานที่ลึกซึ้งนั้นมันเป็นอย่างไร เมื่อรู้ว่าเราขาดอะไร เราก็ออกไปตามหา ออกไปเพื่อให้มันรู้
“ผมเองก็เดินทางชีวิตตามปรัชญาของเซนบ้าง เช่นเวลาเราจะทำแจกันสำหรับใส่ดอกไม้ ผมก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของดอกไม้ว่ามันมีความสวยงามในตัวของมันอยู่ สังเกตดีๆ มันมีดอกที่สวยงามไว้เพื่อดึงดูด เพื่อการเจริญพันธุ์ต่อไป ขณะเดียวกันลำต้นของมันก็ไม่เคยที่จะแข่งแย่งความสวยงามอันเป็นจุดเด่นไปจากดอกไม้เลย แจกันจึงมักต้องไม่เด่นเกินไปกว่าความสวยงามของดอกไม้ อันนี้ทัศนะของผม
“อันที่จริงถ้วยชามอะไรนั้นมันไม่ต่างกันเท่าไหร่หรอก แต่เซ้นส์ในการรับรู้ความสวยงามทางศิลปะแค่ไหนก็แล้วแต่คนจะมองอีกอย่างคือเราต้องไม่ไปทำลายธรรมชาติ แต่มันจะมีความคงทน มีความเหมาะสม และสวยงาม พอที่จะตอบสนองความต้องการของคนได้
“งานของผมไม่ได้เดินทางไปนิพพาน ไม่ได้ไปตรัสรู้อะไร งานของผมแค่เดินทางมาเพื่อการใช้สอย และตอบสนองความต้องการของตนเองบ้าง ของผู้อื่นบ้างเท่านั้น เวลาทำงานก็อย่าไปนึกคิดอะไรมากมาย เราต้องปล่อยวาง จะได้มีความสุขกับการทำงาน และงานที่เราทำนอกจากมันจะเลี้ยงดูเราได้แล้ว มันก็ต้องเลี้ยงจริตของเราได้ด้วยถึงจะดี”
แม้งานปั้นของเขาจะเป็นไปในแง่มุมของศิลปะเชิงพาณิชย์ แต่เขาก็ยังไม่ละทิ้งในความเป็นตัวตนคนที่หลงใหลในศิลปะ งานทั้งสองด้านสองแง่มุมจึงผ่านมือทั้งสองของเขามาแล้วนับไม่ถ้วน แต่ละอย่างล้วนคงไว้ซึ่งคุณค่าของความหมายแห่งจิตวิญญาณ
“ลูกค้าที่มาซื้อส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกสถาปนิก อินทีเรียร์ดีไซเนอร์ หรือพวกเจ้าของโครงการ สปา โรงแรม งานของผมใช้ความปราณีตมาก เป็นงานที่เรียกกันว่า Tradition เป็นงานที่แสดงถึงประเพณี และวิถีชีวิตแบบโลกตะวันออกได้ด้วยงานเครื่องเคลือบดินเผา บางครั้งสิ่งที่พวกเขาซื้อไปอาจไม่ใช่เพียงแค่ถ้วยโถโอชามเท่านั้น แต่มันคืองานที่มีความหมายทางศิลปะเคลือบอยู่อีกชั้นหนึ่ง
“ผมเป็นทั้งผู้ที่ทำงานด้านศิลปะและทำงานด้านพาณิชย์ สิ่งที่จะถ่วงดุลในงานทั้งสองด้านของผมได้ก็คือผมต้องมีความซื่อสัตย์และทำงานของตนเองให้ดี เพราะงานด้านพาณิชย์นั้นมันจะเคลื่อนองคาพยพของคนเราได้จริงๆ และเราจะมีแต่จินตนาการไม่ได้ เราต้องมีการดำเนินชีวิตที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงได้ด้วย
“นอกจากงานเครื่องปั้นที่ทำในเชิงพาณิชย์แล้ว ผมก็มีทำงานศิลปะไปแสดงงานอยู่เหมือนกัน อย่างเมื่อไม่นานมานี้ก็มีแสดงงานที่ฮ่องกง เป็นงานของถ้วยชาม อย่างเมื่อสองปีที่แล้วก็ไปแสดงที่ Ardel Gallery อยู่ร้อยกว่าชิ้น คอนเส็ปต์คือเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมก็ทำงานที่เรียกว่างานนู้ดไปแสดง งานแต่ละชิ้นจะเผยให้เห็นถึงเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เป็นการเล่าเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมผ่านงานศิลปะของผมนั่นเอง แนวคิดก็คือผมมองว่าเมล็ดก็เหมือนมนุษย์ซึ่งเป็นตัวแทนของสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
“ผมเป็นชาวเหนือ ผมได้มองเห็นความเป็นมาตั้งแต่เดิมจนถึงการเปลี่ยนแปลง มนุษย์เพิ่มขึ้น การหากินก็ยากขึ้น เมื่อ 20 ปีที่แล้วกับปัจจุบัน ประเทศไทยเปลี่ยนไปเยอะเลย มีการตัดไม้ทำลายป่ามากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ การจัดการบริหารเป็นไปอย่างขาดความเข้าใจในธรรมชาติและวิถีชีวิต มันจึงเป็นไปได้ยากที่เราจะเจริญงอกงาม”
หัวใจหลักของความสำคัญในงานช่าง สมรักษ์ได้กล่าวว่า ‘ปรัชญาของมันมีไม่มาก เพียงแค่ได้สืบทอดได้แบ่งปัน ได้เลี้ยงตัวเองและผู้อื่น มันคือวิถีที่สวยงามอย่างแท้จริง ความเข้าถึงความสำคัญในงาน ทำในงานของตนเองให้ดีมันคือการที่ประสบความสำเร็จแล้วในสิ่งที่ตนกำลังทำ’
“บอกตรงๆ เลยว่างานของผมไม่ต้องปั้นผู้สืบทอดเลย เพราะมันไม่มีอะไรเป็นความลับ มีคนเก่งกว่าเราอีกมากมาย ผมคิดอย่างนี้นะ ใครอยากเรียนอยากรู้อะไรมาหาผม ถ้ามีความขยัน อดทน ตั้งใจจริง ผมสอนให้อยู่แล้ว ให้คิดอยู่เสมอว่าเมื่อเราได้ทำอะไรก็แล้วแต่ ขอให้ทำให้ดีที่สุดเท่านั้น ผมไม่ยึดติดกับงานของผมสักชิ้น เพราะคิดว่าไม่มีอะไรที่จีรัง นานไปมันก็เสื่อมสลาย”
About Him
สมลักษณ์ ปันติบุญ คือศิลปินเซรามิคชาวเชียงราย ที่มาสร้างปั้นดิน ให้กลายเป็นงานศิลปะ โดยเริ่มต้นจากการเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตภาคพายัพ หรือที่เรียกกันคุ้นปากคนเชียงใหม่ว่า“เทคโนตีนดอย”
หลังจากจบก็ได้ไปเรียนต่อเซรามิคที่ญี่ปุ่นกับอาจารย์ Twao Onuma และ Tarouemon Nakagato เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี2532 แล้วกลับมาตั้งหลักปักฐานที่เชียงราย เพื่อทำความฝันของตน ผลิตงานเครื่องเคลือบดินเผาที่ตนรัก นอกจากที่นี่จะกลายเป็นช็อปสำหรับผู้ที่สนใจงานเครื่องปั้นได้เลือกซื้อเลือกชมกันแล้ว ยังเปิดให้เป็นสถานที่เรียนรู้ด้านงานปั้นแก่ผู้ที่สนใจ และนิสิตนักศึกษาทั่วไปด้วย