มนต์ชีพ ศิวะสินางกูร
เราคงคุ้นหน้าคุ้นตากันดีกับ ครูเป็ด มนต์ชีพ ศิวะสินางกูร ผู้ที่มีประสบการณ์ในวงการเพลงบ้านเรามากมาย ด้วยความชอบทางด้านเพลง ในช่วงวัยรุ่นเขาจึงพยายามหาโอกาสเข้ามาทำงานเกี่ยวกับเพลง ไม่นานนักก็เป็นผลสำเร็จ เขาได้มาอยู่กับบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเพลง ในเวลาต่อมาเขาแสวงหาแนวทางของชีวิตอีกครั้ง จนได้ออกอัลบั้มโดยใช้ชื่อเรียกแทนตัวเองว่า นายสะอาดมีผลงานเพลงออกมาให้ฟัง 3 ชุด เพลงเด่นๆ ก็อย่างเช่น คำตอบ ไม่ต้องทอน เจ้าชายรองเท้าแตะ
เมื่อฤดูกาลผันเปลี่ยน เขาย้ายตัวเองมาทำงานเบื้องหลังมากขึ้นและกลายเป็นผู้ที่ผลักดันศิลปินออกสู่แนวหน้าให้คนได้รู้จักกัน เขาแต่งคำร้อง ทำนอง คุมงานห้องอัด ร้องคอรัส ปลุกปั้นแนวทางของศิลปิน แถมยังแต่งเพลงอันเป็นที่รู้จักมากมายอาทิ ฉันเลยโอเค, รักเราไม่เก่าเลย, รับได้ทุกอย่าง, อยากให้เธออยู่ตรงนี้
ปัจจุบันเขาหันมาทุ่มเทกับการสถาบันพัฒนาศิลปิน มนต์ชีพ สตูดิโอ ของตัวเอง ที่นี่มีการสอนเรียนร้องเพลง เรียนร้องเพลงเรียนกีตาร์ เรียนแต่งเพลง และความรู้ด้านดนตรีทั่วไป โดยเรียนกับกับอาจารย์ผู้สอนที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน และสอนร้องเพลงโดยตัวครูเป็ดเองอีกด้วย
“โพรเจ็กต์์ของเราพยายามแยกนักเรียนออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มที่เริ่มเป็นวัยรุ่นตั้งแต่ 11 ปีขึ้นไป กับอีกกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 11ปีลงมา เรามีนักเรียนอายุน้อยสุด 2 ขวบ 4 เดือน แต่เขาเป็นคนที่พูดรู้เรื่อง ส่วนที่อายุมากสุดก็ 65 ปี อายุขนาดนี้แต่ก็ยังเป็นคนที่มีชีวิตชีวานะครับ
“เรามักจะผลักดันให้นักเรียนเรียนสองอย่างคือ ถ้าไม่เรียนร้องเพลงกับเต้น ก็จะร้องเพลงกับเล่นกีตาร์ แต่ว่าต่อไปจะขยายเป็นเปียโนด้วย ผมคิดว่าถ้าจะพัฒนาการเป็นศิลปิน คุณจะมีอาวุธติดกายคือร้องเพลงอย่างเดียวคงไปไม่รอด ควรจะมีร้องเพลงกับเต้นได้ด้วย หรือร้องเพลงเล่นดนตรีได้ด้วย หรือคุณร้องเพลงได้แต่เต้นและเล่นดนตรีไม่ได้ แต่คุณพูดเก่งก็พอได้เพราะที่นี่สอนพูดด้วย”
การเป็นครูสอนร้องเพลง ครูเป็ดบอกว่าเหมือนจิตวิทยา เพราะการร้องเพลงของผู้เรียนนั้นจะรวมกับถึงวิถีชีวิตเขาด้วย อย่างคนที่ร้องเพลงไม่ชัด ส่วนหนึ่งอาจมาจากพ่อแม่พูดเร็ว หรือแม่เป็นคนเสียงแหบ ลูกก็จะจะเสียงแหบตาม เพราะคนเรามักจะเลียนแบบพฤติกรรมโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นครูเป็ดจะไม่ได้ดูแค่ตัวผู้เรียนเท่านั้น แต่จะดูสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขาด้วย
“ผมมองว่าเรามีหลักสูตรการร้องเพลงอยู่กับชีวิตจริง เราดูเป้าหมายของเด็กที่เอาไปใช้จริง ว่าเขาเอาไปใช้จริงเท่าไหร่ เราก็เอาวิชาการ เอาประการณ์ที่ผมมีไปใส่ เอาเวทีหรือโอกาสที่ให้เขาได้แสดงออกมาใส่ เราเป็นหลักสูตรที่ได้เจอประสบการณ์จริงและได้ใช้จริง เราจะไม่เอาอะไรที่ไม่จำเป็นมาใส่ เราไม่บ้าทฤษฎี แต่เราบ้าปฏิบัติ คือการร้องเพลง ผมไม่ต้องการว่าเรารู้นั่นรู้นี่แต่จะบอกว่าไหนลองร้องสิ ดีไหม ถ้าร้องดีก็ใช้ได้
“การร้องเพลงเรามียอดเขาอยู่ 2 -3 ยอดที่เราจะต้องไปถึง หนึ่ง คือการประกวด ถ้าได้ที่หนึ่ง คือประสบความสำเร็จถึงยอดเขา สอง มีมิวสิควิดีโอของตัวเอง อันนี้ก็เป็นอีกยอดเขาหนึ่ง หรือคุณไปประกอบอาชีพทางด้านการ้องเพลง เลี้ยงตัวเองได้ คือเราพยายามส่งเสริมให้นักเรียนไปสู่ยอดเขาเหล่านั้น ซึ่งต้องเรียนรู้อะไรบ้าง เราจะแจกแจงให้ฟังว่าต้องทำอะไรบ้าง คุณร้องเพลงดีที่โรงเรียนยังไม่ถือว่าผ่านคุณต้องร้องให้คนหนึ่งร้อยหรือหนึ่งพันคนฟัง คุณต้องทำได้ดีบนเวที หรือที่ห้องอัดคุณสั่นเกร็งก็ถือว่าไม่ผ่าน”
ที่ครูเป็ดสามารถสอนและบอกเรื่องราวปัญหาของการร้องเพลง รวมถึงลักษณะของคนที่ควรจะพัฒนาไปในแนวทางใดได้นั้นเป็นเพราะมาจากการศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง และประการณ์ที่มีจากการที่เคยอยู่บริษัทยักษ์ใหญ่มาก่อน ตอนนั้นเขามีหน้าที่ในการจัดการศิลปินที่จะเข้ามาอยู่ในสังกัด
“ผมจะเจอคนอยู่ 3 ประเภทคือ หนึ่ง พวกที่แบบว่าคนนี้ใช่แน่นอน พวกนี้จะมีน้อย แต่ประเภทใช่รึเปล่า อันนี้เยอะ ประเภทไม่ใช่อันนี้เยอะที่สุด เราจึงต้องมีวิธีการนำเสนอ เราต้องมีวิธีที่ทำให้เขาจากไปอย่างรู้สึกดี ทั้งที่เราปฏิเสธเขา บางคนอยู่กับเรานาน อย่างวงแคลช เขาเก่งมาก แต่ไม่รู้ว่าจะออกแนวไหนดี คิดอยู่ประมาณ 3 ปี แต่ในที่สุดก็ออกมาชุดแรกจนทางแกรมมี่เชื่อมั่นว่าจะให้ออกชุดที่สอง หรือ โบ สุนิตา คนนี้ร้องเก่งมาก แต่หาตัวตนไม่เจอ เพราะให้ร้องเป็นศิลปินคนไหนเขาทำได้เหมือนหมดพลิกอยู่ประมาณ 5 ปี
“เราคิดว่าด้วยตลาดปัจจุบัน เราจะพลิกหาใครสักคน มันไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในค่ายใหญ่แล้ว ระหว่างค่ายใหญ่ที่มีคนคิดเยอะมีคนช่วยกันเยอะ กับค่ายเล็กไม่ต้องคิดมาก เจอศิลปินแล้วให้ออกไปเลย คือโอกาสเกิดพอกัน เพราะว่าสื่อต่างๆ ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ ใครๆ ก็ทำได้แล้ว
“ผมคิดว่าผมสนุกในเรื่องของการหา คนคนนี้ถ้าเป็นศิลปินจะเป็นแนวไหน แล้วจะร้องเพลงอะไร มีภาพพจน์ยังไง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราสนุกในการทำงาน กับอีกเรื่องหนึ่งคือการเอาคนที่ร้องเพลงไม่เก่งเลยมาฝึก มันก็ท้าทายดีเพราะมันยาก”
ไหนๆ เราก็มาคุยกับผู้ที่อยู่ในวงการเพลงตัวจริงคนหนึ่งแล้ว เนื่องจากยุคดิจิตอลเข้ามามีบทบาททำให้วงการเพลงเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างชัดเจน ค่ายใหญ่อาจไม่ใช่สูตรสำเร็จเสมอไปของการปั้นศิลปิน การเปลี่ยนแปลงของรายได้และยอดขายจึงมีผลกระทบตามมาอีกระลอก โดยครูเป็ดมีแนวทางที่น่าสนใจว่า
“อนาคตอันใกล้ ความเฟื่องฟูของวงการเพลงมันลดลง คลื่นที่มามีผลกระทบต่อชีวิตเราจะแก้ไขกันอย่างไร แต่ละคนมองไม่เหมือนกัน แต่ผมมองว่าตัวของเพลงเอง ที่มันขายด้วยตัวมันเองไม่ค่อยเกิด สมัยก่อนเพลงมันมีค่า คือเอาเพลงมาใส่เทป ใส่ซีดีขาย ถัดมาเอามาดาวน์โหลด แต่ก็แทบจะไม่ได้เงิน ต่อไปเพลงมันจะคล้ายๆ หนังโฆษณา คือเอาเงินลงทุนไปทำหนังโฆษณาแล้วเปิดให้คนดูฟรีๆ หนังโฆษณาไม่ได้ทำเงิน แต่โยงไปที่สินค้า ผมจึงมองว่าอีกหน่อยเพลงจะเป็นแบบนี้ คือตัวมันไม่ได้มีคุณค่าในตัวเอง แต่ต้องอิงกับในส่วนอื่น ซึ่งถ้าไม่อิงไม่ได้ หรือเพลงทำให้คนคนนี้ดัง แต่ไม่ได้ขายเพลง”
Know Him!
>> ครูเป็ดจบการศึกษาในคณะเภสัชฯ จากมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านดนตรีแต่อย่างใด
>> ในบรรดาเพลง 300 กว่าเพลงที่ครูเป็ดแต่งขึ้น มีอยู่ 5 เพลงที่ชอบเขามาก คือเพลงคำตอบ,อยากให้เธออยู่ตรงนี้,ขอเช็ดน้ำตา,เกลียดเธอไม่ลง,รักครั้งสุดท้าย
>> นอกจากจะอยู่ในวงการเพลงแล้วครั้งหนึ่งเขายังถูกรับเชิญไปแสดงหนังเรื่องแก๊งชะนีกับอีแอบโดยรับบทเป็น เฮียเพ้ง