
คอร์รัปชัน (Corruption) : ปัญหาที่แก้ได้จริง หรือแค่ความฝัน ?
คอร์รัปชัน: ปัญหาที่แก้ได้จริง หรือแค่ความฝัน? (1) การคอร์รัปชัน (Corruption) มิใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานและมีมาโดยตลอดแต่ยังไม่สามารถหาทางออกให้กับปัญหาได้อย่างสะเด็ดน้ำ โดยผมเคยนำเสนอข้อเสนอทางออกเอาไว้จำนวนมาก รวบรวมเป็นหนังสือชื่อว่า “กลเม็ดเด็ดปีกคอร์รัปชัน” ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 ทว่าการคอร์รัปชันไม่เพียงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย แต่มันยังเป็นปัญหาสำคัญในสายตาของต่างชาติด้วย ล่าสุดองค์กรความโปร่งใสสากลหรือ Transparency International (TI) นำเสนอรายงานผลการจัดอันดับความโปร่งใส Corruption Perception Index (CPI) ประจำปีค.ศ. 2023 ระบุว่าไทยอยู่อันดับ 108 จากทั้งหมด 180 ประเทศ นับเป็นอันดับ 4 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนรองจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม โดยสิงคโปร์อยู่ในอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและอยู่ในอันดับ 5 ของโลก
นอกจากนี้เฉพาะปีพ.ศ. 2566 – 2567 ไทยมีคดีคอร์รัปชันสำคัญเกิดขึ้นหลายคดี ส่วนใหญ่วนเวียนอยู่กับกลุ่มทุน ข้าราชการ และนักการเมือง เช่น ทุนจีนสีเทา ส่วยสินบน ส่วยทางหลวง เป็นต้น การคอร์รัปชันส่งผลกระทบความเสียหายต่อประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ทั้งความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณภาครัฐ การเพิ่มต้นทุนการดำเนินธุรกิจ เช่น สินบน ใต้โต๊ะ เป็นต้น
สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับการยอมรับว่าจัดการปัญหาคอร์รัปชันได้มีประสิทธิภาพติดอันดับต้น ๆ ของโลก เพราะมีความจริงจังในการแก้ปัญหา กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์และมีบทลงโทษรุนแรง ขณะที่จีนเองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ให้ความสำคัญกับการกวาดล้างแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ส่งผลทำให้มีการจับกุมและการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก การคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญที่ไม่เพียงลดทอนความเจริญก้าวหน้าของประเทศแต่ยังทำให้ประเทศถดถอยลง เนื่องจากงบประมาณของรัฐไม่ถูกนำไปใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกทั้งยังลดแรงจูงใจในการเสียภาษีและการดำเนินธุรกิจอีกด้วย
สาเหตุของการคอร์รัปชัน
จากการวิเคราะห์สาเหตุของการคอร์รัปชัน พบว่ามีด้วยกันหลายสาเหตุทั้งที่เป็นปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยระบบหรือองค์กร (2)
1.ปัจจัยส่วนบุคคล ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการคอร์รัปชัน เปลี่ยนแปลงได้ยากและต้องใช้เวลาพัฒนาให้ดีขึ้น มีลักษณะดังนี้
ทัศนคติ/ ค่านิยม: ความร่ำรวยหรือผลประโยชน์อยู่เหนือความถูกต้อง ธนานิยมหรือค่าของคนอยู่ที่ความร่ำรวย เกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทอง และการเป็นเจ้าคนนายคน มีความคิดว่ารวยแต่โกงดีกว่าซื่อสัตย์แต่จน ยกย่องผู้มีอำนาจและอำนาจนิยม เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน ให้ประนีประนอมและปฏิบัตินิยมมากกว่าหลักการนิยม รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ยกย่องเงินมากกว่าความดีและความถูกต้อง เพราะกตัญญูนิยมซื่อสัตย์จะถูกเอาเปรียบ
ความรู้: ขาดความรู้ว่าแบบไหนคือพฤติกรรมดีและไม่ดี (2)
ลักษณะนิสัย: เห็นแก่ตัว เห็นแก่เงินหรือผลประโยชน์ คดโกง ไม่ซื่อสัตย์ ไม่กล้ายืนหยัด ชอบรวยทางลัด รักสบาย หนักไม่เอาเบาไม่สู้ ขาดจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ไม่มีวินัย ฟุ่มเฟือย
2.ปัจจัยระบบหรือองค์กร ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อและส่งเสริมให้เกิดการคอร์รัปชัน เปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่าปัจจัยส่วนบุคคลและสามารถดำเนินการได้ทันที มีลักษณะดังนี้
ไร้ประสิทธิภาพ: ระบบตรวจสอบไม่รัดกุม หละหลวม และไม่โปร่งใส มีการอุปถัมภ์แบบเลว เอาพวกพ้อง เปิดช่องใช้ดุลพินิจ สินบน และเส้นสาย ไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพราะดำเนินงานยุ่งยาก ทำให้กฎหมายมีช่องโหว่
เพิ่มแรงจูงใจทำผิด: สาเหตุจากเงินเดือนน้อย จึงไม่เอาจริงเอาจัง และยังถูกลงโทษ
ข้อเสนอและทางออก
การแก้ปัญหาคอร์รัปชันควรพัฒนาครบทั้งคน ระบบ และบริบท หรือที่ผมเรียกว่า “การปฏิรูปสามประสาน” จำนวนหนึ่งเป็นข้อเสนอที่ผมเคยนำเสนอในการบรรยายและหนังสือ ดังนี้
1.คน
ปฏิวัตินิยามคนดี: คนดี = คนที่เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว มิใช่มุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น หากประเทศชาติบ้านเมืองประกอบด้วยคนดีลักษณะที่ว่านี้ จะช่วยลดปัญหาการคอร์รัปชันและส่งเสริมให้ประเทศชาติเกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างมาก เช่น การตระหนักว่าเงินภาษีเป็นของส่วนรวมควรถูกนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ สร้างประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวมสูงสุด เป็นต้น
พัฒนาผู้นำไตรภาวะ: ภาวะการนำ ภาวะการบริหาร และภาวะคุณธรรม หรือการเป็นผู้นำที่ทั้งเก่งนำ เก่งบริหาร และเก่งคุณธรรม แต่ละภาวะมีความสำคัญต่อการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ในส่วนของภาวะคุณธรรมเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยหนุนเสริมให้การพัฒนาประเทศประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน เช่น การยึดหลักธรรมะสากล (3) เป็นต้น
สร้างไอดอลบ้านสามหลัง: พ่อแม่ ครู/ อาจารย์ ผู้บังคับบัญชา/ หัวหน้างานคือผู้นำอุดมการณ์ทางกายภาพและผู้นำอุดมการณ์ทางจิตภาพร่วมกันสร้างชาติ เช่น การส่งเสริมให้มีโรงเรียนพ่อแม่ สร้างพ่อแม่คุณภาพกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น
ปลุกจิตสำนึกรักชาติรักคนในชาติ: เห็นแก่ประโยชน์ของชาติมากกว่าประโยชน์ของตนเอง ยินดีเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เช่น การไม่ให้ - รับสินบนใต้โต๊ะ เป็นต้น
แกนนำ ดี เก่ง กล้า: ยืนหยัดในความดีและความถูกต้อง สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมแวดวงต่าง ๆ เช่น ไม่นิ่งเฉยกับความไม่ถูกต้อง แต่หาวิธีทำเต็มที่อย่างมีสติปัญญาในสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
2.ระบบ
ปฏิรูประบบชนชั้น: แบ่งชนชั้นด้วยความดี ยิ่งเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมาก ยิ่งดำรงตำแหน่งสูง เพื่อประโยชน์จะเกิดแก่คนหมู่มาก
ออกแบบระบบดี: 7 องค์ประกอบ ครอบคลุมและครบถ้วนทุกประเด็น
โครงสร้าง (Structure): เน้นจัดโครงสร้างให้มีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนงานรอบคอบและรอบด้าน
กระบวนการ (Process): ใช้ระบบคุณธรรมความสามารถ คัดคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาอยู่ในตำแหน่ง ต้องมีขั้นตอนการทำงานชัดเจนไม่เปิดช่องและมีระบบการรายงานแบบเวลาจริง (real time) สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ รวมถึงมีความเข้มงวด ระบบตรวจสอบประชาชนต้องมีส่วนร่วมด้วย
กฎ/ กติกา/ กฎหมาย (Rules/ Regulations/ Law) : บริหารงานด้วยตัวชี้วัด โดยใช้ตัวชี้วัดกำกับทุกงาน มีการบังคับใช้กฎ/ กติกา/ กฎหมายอย่างเคร่งครัดเป็นธรรม เพื่อสร้างกติกาส่งเสริมคนดี
ค่านิยม/ ปทัสถาน (Value/ Norms) : ผู้นำเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม รวมถึงมีคุณธรรมสูง มีอุดมการณ์ มีความรู้ความสามารถ มีความทุ่มเทจริงจัง และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์
วัฒนธรรม (Culture) : เสียสละ ทุ่มเท เปิดเผย โปร่งใส เป็นแบบอย่างได้ ต้องเห็นแก่ส่วนรวม ต้องมีส่วนร่วม ต้องยกย่องคนที่ความดี เพื่อส่งเสริมอารยอุปถัมภ์หรืออุปถัมภ์เชิงบวก
ประเพณี (Tradition) : ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้มีความคล่องตัวและลดสายการบังคับบัญชา
สถาบัน (Institution) : มีแผนสร้างทายาทผู้นำรุ่นใหม่ (Succession Plan) ให้เป็นคนดี เก่ง กล้า
3.บริบท
ยอมรับบริบท (Context Taker) : ปรับเปลี่ยนระบบให้คนสามารถทำงานและสร้างผลลัพธ์ได้อย่างเต็มที่ พร้อมกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ
สร้างบริบท (Context Maker) : สร้างค่านิยมใหม่ในสังคม ทำให้คนตระหนักและมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม
การแก้ปัญหาคอร์รัปชันควรมองครบทั้งคน ระบบ และบริบท ไม่เพียงมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นแต่ต้องเตรียมพร้อมป้องกันปัญหาระยะยาว ด้วยการสร้างคนที่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ พัฒนาระบบที่มีประสิทธิภาพ คำนึงบริบทที่สอดคล้องและมีทรัพยากรที่พร้อม
*หมายเหตุ *
(1) ดร.แดน Live สด กับประเด็น คอร์รัปชัน : ปัญหาที่แก้ได้จริง หรือแค่ความฝัน?วันพฤหัสบดีที่ 17ตุลาคม 2567 เวลา 19:00 น.
(2) บางส่วนมาจากหนังสือ “กลเม็ดเด็ดปีกคอร์รัปชัน” อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, กลเม็ดเด็ดปีกคอร์รัปชัน (กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2547)
(3) ประกอบด้วย มนุษยนิยม มนุษยธรรมนิยม เสรีธรรมนิยม สิทธิเสมอหน้าที่นิยม ภราดรธรรมนิยม สามัคคีธรรมนิยม สันติธรรมนิยม ยุติธรรมนิยม อภัยธรรมนิยม สิ่งแวดล้อมนิยม