โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย ตอนที่ 43 ในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16

โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย ตอนที่ 43 ในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16

ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

มีเหตุการณ์เล็ก ๆ เกิดขึ้นก่อนที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เมื่อมีนิสิตนักศึกษาตั้ง “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา”  ขึ้น ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีนาย “ธีรยุทธ บุญมี” เป็นผู้นำ

นายธีรยุทธเป็นนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ และเป็นนักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ฉันมีความสนิทสนมและคุ้นเคยกับเขาตั้งแต่เมื่อเขาสอบได้เป็นที่หนึ่งในประเทศ เพราะเขาให้ฉันสัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ที่ฉันทำในตอนนั้นเป็นฉบับเดียวและเป็นฉบับแรก

หลังจากนั้นเราก็ติดต่อถึงกันตลอดมา เมื่อเขาตั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาขึ้นเขาจะใช้ “ศาลพระเกี้ยว” ซึ่งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่นัดพบพูดคุยกันในเรื่องบ้านเมือง โดยมีบรรดานิสิตนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยมาร่วมวงด้วย

งานแรกที่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาทำก็คือ การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นด้วยการเดินขบวนไปประท้วง การค้าเอารัดเอาเปรียบคนไทยที่องค์กรการค้าญี่ปุ่นที่ชื่อ “เจโท” (Jeto) อยู่ถนนราชปรารภ

                การเคลื่อนไหวครั้งนั้น นับว่าเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกของศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาและได้รับความสนใจจากประชาชนที่มีความเห็นด้วย

แต่การเคลื่อนไหวครั้งนั้น แตกต่างไปจากการเคลื่อนไหวของนักศึกษารามคำแหงที่เกิดขึ้นภายหลัง เพราะเป็นการต่อต้าน “จอมพล ถนอม กิตติขจร” ที่ต่ออายุราชการซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่หารเข้าไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ทุ่งเซซาโว”

การชุมนุมของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา ครั้งนั้นแม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นการแสดงพลังของคนรุ่นใหม่ที่มีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน และที่สำคัญประชาชนคนไทยทั้งประเทศมีความเห็นเช่นเดียวกัน แต่ก็เป็นเพียง “พลังเงียบ” ที่ไม่กล้าแสดงออกมา การกระทำนี้ก็เหมือนกับว่า ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาได้วางระเบิดเวลาเอาไว้รอระเบิด และสุดท้ายก็ระเบิดขึ้นจริง จากเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516”

เรื่องนี้มีฉันเข้าไปรวมอยู่ด้วย อย่างที่ได้เขียนแล้วว่าฉันกับนาย “ธีระยุทธ บุญมี” เป็นนักเรียนสวนกุหลาบด้วยกัน จึงมีความสนิทสนมและไว้วางใจกัน จนทำให้ฉันไปรวมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองกับบรรดานิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบัน ที่จะใช้ศาลาพระเกี้ยวในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่นัดพบชุมนุมกัน

ในบรรดานิสิตนักศึกษาเหล่านี้ คนที่เด่นเป็น “ดาวจุฬา” ชื่อ “จีรนันท์ พิทยปรีชา” ที่เป็นนักศึกษาปีหนึ่งคณะเภสัชศาสตร์ เราเริ่มสนิทกันเพราะบ้านเธอที่ต่างจังหวัดตรัง เป็นร้านขายหนังสือพิมพ์เธอชอบอ่านหนังสือพิมพ์และรู้จักฉันงานต่าง ๆ ที่ฉันทำ “จีรนันท์” เป็นคนที่มีความสามารถมากมาย มีความรู้ในเรื่องการเมือง มีบุคคลเป็นผู้นำและเขียนหนังสือเก่ง จนทำให้ฉันแปลกใจว่าทำไมเธอจึงเลือกเรียนคณะเภสัช

จากการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง พวกเราทั้งหมดมีความเห็นตรงกันก็คือ ประเทศชาติบ้านเมืองในตอนนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย เหตุเพราะมีการปกครองด้วยรัฐบาลทหารเผด็จการ ที่ไม่ยอมให้รัฐธรรมนูญปกครองประเทศให้ถูกต้องเช่น อารยะประเทศทั้งหลายในโลก

                จึงมีความเห็นว่าเราจะต้องเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องกันเสียที

แต่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายมาก ฉันเองเคยเดือดร้อนมาแล้ว เมื่อสมัยเริ่มทำงานเป็นนักข่าวการเมืองประจำกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตอนนั้นมี “จอมพล ประภาส จารุเสถียร”  ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และก็เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งเป็นอธิบดีกรมตำรวจด้วย

บรรดานักข่าวรู้นิสัยของ “จอมพลประภาส  จารุเสถียร” ว่าเป็นคนฉุนเฉียวขี้โมโห ใครถามไม่ถูกใจถูกอารมณ์ก็จะโกรธ จนกระทั่งนักข่าวไม่กล้าถามอะไรตรง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ

เพราะความที่ฉันเป็นนักข่าวการเมืองหน้าใหม่ ไม่รู้เบื้องหน้าเบื้องหลังที่นักข่าวรุ่นพี่ เขาระมัดระวังในการสัมภาษณ์นายทหารผู้นี้วันหนึ่งในการให้สัมภาษณ์

ที่กระทรวงมหาดไทย ฉันลุกขึ้นถามท่านว่า เมื่อไหร่การร่างรัฐธรรมนูญจึงจะเสร็จเสียที เพราะเวลานับสิบปีแล้ว ที่การร่างรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ เท่านั้นเองเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที

“จอมพลประภาส  จารุเสถียร” ลุกขึ้นจากที่ตั้งพูดด้วยเสียงดังว่า

                “คุณเป็นใคร ทหารควบคุมตัวนักข่าวคนนี้ไว้ สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์แอบแฝงเข้ามาเป็นนักข่าว”

ทหารหลายคนปรี่เข้ามา แต่ฉันก็เดินเข้าไปหา “จอมพลประภาส จารุเสถียร” และพูดกับท่านด้วยเสียงที่แสดงความสุภาพแตกต่างจากเสียงสัมภาษณ์ที่จะต้องเสียงดังชัดเจน

                “ท่านครับ ผมไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ผมเป็นนักข่าวใหม่ ไม่รู้ว่าคำถามอย่างไรจึงจะถูกต้องสมควร เรื่องรัฐธรรมนูญก็เพียงอยากให้ท่านได้มีโอกาสพูด เพราะท่านไม่เคยพูดเรื่องนี้มาก่อน หากท่านได้พูดบ้านประชาชนจะได้เข้าใจ”

  “จอมพลประภาส จารุเสถียร” มองผมด้วยสายตาแปลก ๆ อยู่ครู่หนึ่งแล้วตอบ ฉันด้วยเสียงดังอย่างผู้มีอำนาจว่า

            “เอาล่ะ ครั้งนี้ผมจะไม่จับคุณ แต่ต่อไปขอให้ระมัดระวังคำพูดไว้ให้ดี”

ท่านกล่าวแล้วก็เดินออกจากห้องให้สัมภาษณ์ด้วยท่าทางไม่สง่างาม

รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ประชาชนไทยเรียกร้องกันมากในสมัยที่เผด็จการทหารปกครองประเทศโดยปราศจากธรรมนูญแห่งรัฐบาลใช้อำนาจเผด็จการ มีกฎหมายที่น่ากลัวทีรู้กันทั่วก็คือ “มาตรา17”

            มาตราที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จ ที่จะทำอะไรก็ได้ จับใครก็ได้ขังใครก็ได้โดยไม่ต้องผ่านอำนาจศาล ตุลาการ ผู้คนจึงเกรงกลัวมาตรานี้

และเหตุที่มีแต่ผลนี้เอง จึงทำให้มีการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญปกครองประเทศเกิดขึ้น

กลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง จึงมีการเคลื่อนไหวแบบเงียบ ๆ หรือที่กล้าหาญมากก็คือ กลุ่มที่ประชุมปรึกษาหารือกันที่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งประกอบ นักคิด นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ

และในที่สุดจึงกล้าลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการที่มี “จอมพล ถนอม กิตติขจร” เป็นนายกรัฐมนตรี

มีผู้ความคิดเห็นด้วยมากมาย มีตั้งแต่กลุ่มผู้เคลื่อนไหว ประชาชน นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ แม้แต่ศิลปินนักร้อง มีจำนวน 100 คน

จากหอพระเกี้ยว บรรดาผู้มีความคิดเห็นเช่นเดียวกันก็ออกไปรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ทหารอาสา สนามหลวงมีการแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญมีข้อความที่เป็นประวัติศาสตร์ที่สมควรจะต้องจดจำไว้

ผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของ “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” รับสั่งตอนหนึ่ง เมื่อคณะราษฎร์ต้องการให้พระองค์สละราชบัลลังก์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงการครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ว่า

                                “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละราชอำนาจอันเป็นอำนาจของข้าพเจ้าเดิมให้แก่ราษฎร  โดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิเด็ดขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”

บรรดาผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญประมาณ 10 คน นำใบปลิวดังกล่าวแจกประชาชนตั้งแต่ย่านบางลำพู ไปจนถึงย่านประตูน้ำ และที่นั่นบรรดาผู้แจกใบปลิวถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม โดยที่ยังไม่ได้ตั้งข้อหาใด

คนทั้งหมดถูกนำตัวไปควบคุมกับขังไว้ที่ “รร.ตำรวจ บางเขน” ที่อยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิต

ฉันเริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งของประเทศชาติ เมื่อหัวหน้ากองบรรณาธิการ “คุณสมิต มนัสฤดี” บอกให้ไปทำข่าวที่นั่น เพราะผู้ที่ถูกจับกุมเป็นคนที่ฉันคุ้นเคยสนิทสนมกันดีคือ “นายธีรยุทธ บุญมี” เพื่อนนักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

“รร.ตำรวจบางเขน” ในปีนั้นค่อนข้างจะเป็นสถานที่ไกลและเปลี่ยวฉันเป็นนักข่าวเพียงคนเดียวและหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่ไปทำข่าว

ในตอนนั้นเวลาเย็นมาก ประมาณห้า...หกโมงเย็น อากาศเริ่มขมุกขมัว เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมให้ฉันเข้าเยี่ยม แต่นำตัวผู้ที่ถูกจับกุมทั้งหมดจำนวน 13 คนออกจากตึกที่คุมขัง โดยไม่แจ้งว่าจะนำตัวไปที่ใด

ในตอนนั้นคนทั้งหมดอยู่ในสภาพอิดโรยและตื่นกลัว ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเคยรู้ว่าการที่ตำรวจเบิกตัวออกมาในเวลาเช่นนี้อาจจะไม่ปลอดภัย เพราะเหตุการณ์ในอดีตตำรวจสมัยหนึ่งเคยเบิกผู้ต้องหาที่เรียกว่า “สี่อดีตรัฐมนตรี” มายิงทิ้งที่บางเขน

ความรู้สึกของฉันในตอนนั้นก็คือ จะต้องป้องกันคนทั้งหมดฉันตะโกนบอก “ธีรยุทธ บุญมี” ว่าอย่ากลัว อย่าแตกกลุ่มกัน หากมีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องเป็นตายด้วยกัน

                “จับมือกันไว้ เดินเรียงหน้ากัน” ฉันบอกกับพวกเขา

บรรดาคนทั้ง 13 คนเริ่มจับมือกันและเดินตรงมา อย่างกล้าหาญ ฉันถ่ายรูปประวัติศาสตร์นี้ไว้โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทันเห็น เพราะก่อนหน้าเขาเคยเตือนฉันว่าห้ามถ่ายรูปอย่างเด็ดขาด

ฉันรู้ว่าอันตรายเริ่มเกิดขึ้นแล้ว เมื่อตำรวจคนหนึ่งตะโกนว่ามีช่างภาพถ่ายรูปทันทีฉันรีบวิ่งออกมาจากโรงเรียนตำรวจ ขึ้นรถตระเวนข่าวที่จอดรออยู่ริมถนนบอกเขาว่า....

                “หนี...หนีเร็วขับไปถึงโรงพิมพ์เร็วที่สุด”

รูปผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ 13 คน ที่ถูกจับกุมรูปนั้นจึงเป็นรูปประวัติศาสตร์ เมื่อมีการตีพิมพ์เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จะต้องมีรูปนี้รวมประกอบกับภาพประชาชน ที่ออกมาชุมนุมบนถนนราชดำเนินเป็นจำนวนนับแสนคนซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยมีการชุมนุมเดินขบวนกันมา

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ผ่านมาหลายปี เจ้าหน้าที่ตำรวจท่านหนึ่งซึ่งอยู่ในเหตุการณ์โรงเรียนตำรวจ บางเขนบอกฉันว่า

                “คุณรู้ไหมว่า ผมได้รับคำสั่งจากผู้ใหญ่ให้จับกุมคุณ และยึดกล้องถ่ายรูปกับฟิล์มที่คุณถ่าย ไม่ให้ภาพนี้หลุดออกไปเป็นข่าว ถ้าจะต้องมีการตายก็ต้องยอม”

...จนบัดนี้นายตำรวจท่านนั้นก็ไม่อธิบายให้ละเอียดว่า เหตุการณ์ในเย็นวันนั้น จะต้องมีใครตายกันบ้าง

ผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญทั้งสิบสามคน กับนักข่าวอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนักข่าวคนเดียวของหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่เข้าไปทำข่าวในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น....

 

                                                                                                                “สันติ    เศวตวิมล”

                                                                                                       นักเขียนบรรณาธิการอาวุโส

                                                                                       เจ้าของนักเขียน รางวัลนราธิปประพันธ์พงศ์

ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516