ยูเนสโก รับรอง เมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีการแถลงข่าวการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และนายเสริมศักดิ์ พงษพานิช รมว.วัฒนธรรม ซึ่งก่อนการแถลงข่าวคณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมรับชมการถ่ายทอดสดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก
สมัยสามัญครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในการรับรองเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก อย่างเป็นทางการด้วย
ประวัติ เมืองโบราณศรีเทพ
เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนสินค้า เส้นทางการค้า และวัฒนธรรมระหว่างพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความสำคัญ มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8-18) ที่มาของชื่อ เมืองโบราณศรีเทพ ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกขานกันว่า “เมืองอภัยสาลี”
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2447 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้เสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ ทรงตั้งพระทัยจะสืบค้นหาเมืองศรีเทพที่ปรากฏในทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมืองในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์และได้พบเมืองโบราณขนาดใหญ่ทางทิศตะวันออกของภูเขาถมอรัตน์ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งเมืองวิเชียรบุรีนั้นมีชื่อเดิมว่า เมืองท่าโรง และเมืองศรีเทพ
จึงทรงมีพระวินิจฉัยว่าชื่อเมืองโบราณแห่งนี้น่าจะเป็นต้นเค้าของการเรียกชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรีว่า เมืองศรีเทพ กรมศิลปากรจึงได้ใช้ชื่อเรียกเมืองโบราณที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำรวจพบว่า เมืองศรีเทพ จนกว่าจะค้นพบหลักฐานเอกสารที่ยืนยันชื่อที่แท้จริงของเมืองโบราณแห่งนี้
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ หรือ ไพศาลี เป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3693 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 นับจากนั้นเป็นต้นมา และในปี พ.ศ.2527 เมืองโบราณศรีเทพ ได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ภายใต้การบริหารจัดการในรูปแบบอุทยานประวัติศาสตร์
ลักษณะทางกายภาพ เป็นเมืองที่มีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย เมืองในและเมืองนอก มีพื้นที่ประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,889 ไร่ เมืองใน ผังเมืองค่อนข้างกลม มีพื้นที่ประมาณ 1.87 ตารางกิโลเมตร (1,300 ไร่) ภายในตัวเมืองมีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลอนลูกคลื่น มีโบราณสถานกระจายตัวอยู่ 48 แห่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู มีรูปแบบศิลปกรรมในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) และวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 16-18) ซึ่งมีโบราณสถานที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ ได้แก่ โบราณสถานเขาคลังใน โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ และโบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองค่อนไปทางทิศตะวันตก
นอกจากนี้ยังมีสระน้ำโบราณทั้งขนาดใหญ่และเล็กอีกจำนวนกว่า 70 แห่ง เมืองนอก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน มีพื้นที่ประมาณ 2.83 ตารางกิโลเมตร (1,589 ไร่) ผังเมืองค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน
ภายในตัวเมืองสำรวจพบโบราณสถาน จำนวน 64 แห่ง มีสระน้ำโบราณจำนวนมาก นอกคูเมืองกำแพงเมืองโบราณ ยังมีการสำรวจพบโบราณสถานอีกจำนวน 50 แห่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทิศเหนือของเมือง ที่สำคัญ ได้แก่ โบราณสถานเขาคลังนอก โบราณสถานปรางค์ฤๅษี กลุ่มโบราณสถานเขาคลังสระแก้ว และสระแก้ว สระน้ำโบราณขนาดใหญ่ ส่วนทางด้านทิศตะวันตกนอกเมืองโบราณศรีเทพห่างออกไปประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเขาถมอรัตน์ ภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะซึ่งใช้เป็นจุดสังเกตในการเดินทางที่สำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
โดยบริเวณเชิงเขาเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือและกำไลหินที่สำคัญ ต่อมาในสมัยทวารวดีได้มีการดัดแปลงถ้ำหินปูนที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขาให้เป็น ศาสนสถาน ในพุทธศาสนาแบบมหายาน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14
เมืองโบราณศรีเทพเป็นเมืองโบราณสำคัญในเส้นทางเครือข่ายทางการค้าและวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาในการเลือกสรรชัยภูมิที่ตั้งอันเป็นจุดเชื่อมโยงผสมผสาน การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนสินค้าภายในและระหว่างภูมิภาค ที่มีพัฒนามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเขมรโบราณ ก่อตัวขึ้นจากชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรม
ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก เมื่อ 2,500-1,500 ปีมาแล้ว อันเป็นความชาญฉลาดของมนุษย์ในการเลือกที่ตั้งของชุมชนขึ้นในพื้นที่ที่สามารถควบคุมเส้นทางธรรมชาติที่ใช้เป็นเส้นทางผ่านเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเปรียบเสมือนประตูเชื่อมต่อระหว่างดินแดนด้านตะวันออกของที่ราบลุ่มภาคกลางกับดินแดนที่ราบสูงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาจรวมถึงพื้นที่ทางด้านตะวันออกและตะวันตกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์แห่งนี้เป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในเส้นทางการแลกเปลี่ยนทรัพยากรด้านโลหะกรรมที่สำคัญของประเทศไทยในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายและพัฒนาขึ้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าและวัฒนธรรมที่เข้มแข็งในเขตพื้นที่ศูนย์กลางของภูมิภาคตอนในที่สามารถเชื่อมโยงกับสถานีและเส้นทางการค้าทางทะเลทำให้มีบทบาทสำคัญในการรับและส่งผ่านวัฒนธรรมไปยังเมืองโบราณร่วมสมัยเดี
ยวกันในสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น เมืองโบราณแห่งนี้ยังเป็นเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่มีความสำคัญโดดเด่น ในพื้นที่ศูนย์กลางภูมิภาคตอนในของประเทศไทย แสดงถึงภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์และผสมผสานงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาเถรวาท มหายาน และศาสนาฮินดู จนมีเอกลักษณ์รูปแบบเฉพาะสกุลช่างของตนเอง
ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเทวรูปรุ่นเก่า กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งเทวรูปรุ่นเก่า ที่พบจากเมืองโบราณศรีเทพ ได้แก่ พระนารายณ์หรือพระวิษณุสวมหมวกทรงกระบอก พระกฤษณะโควรรรธนะ เป็นประติมากรรมลอยตัวที่มีลักษณะกายวิภาคชัดเจน ประทับยืนด้วยอาการตริภังค์หรือเอียงสะโพกเล็กน้อย แสดงอาการเคลื่อนไหวจากลักษณะดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถชั้นสูงของช่างฝีมือมีเอกลักษณ์ความงามและความลงตัว
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดให้บริการทุกวัน ระหว่างเวลา 08.30 -16.30 น.โดยไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ สำหรับค่าธรรมเนียมเข้าชม ประชาชนชาวไทยคนละ 20 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 100 บาท ยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมให้แก่พระภิกษุ สามเณร ในพระพุทธศาสนาหรือนักบวชในศาสนาอื่น ๆ วันหยุด
ขอขอบคุณภาพจาก : กระทรวงวัฒนธรรม