ธีรานนท์ จักรชัยอนันท์ ระฆังชีวิต วิจิตรงานศิลป์
อาจารย์กล้า หรือ ธีรานนท์ จักรชัยอนันท์ เป็นบุคคลท่านหนึ่งที่มีประสบการณ์สูงในเรื่องของศิลปะ โดยเฉพาะด้านภาพพิมพ์ มีผลงานเป็นยอมรับในระดับประเทศจำนวนมาก ปัจจุบันเขาเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะศิลปวิจิตร สาขาภาพพิมพ์ให้กับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งการเป็นอาจารย์สอนศิลปะนี้เอง เขาได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ มาช่วยส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาทักษะ และความสามารถด้านศิลปะในหลายรูปแบบอีกด้วย
เรื่องราวชีวิตของอาจารย์กล้า เริ่มต้นจากการเกิดในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน โดยมีพี่ชายและน้องสาวอย่างละคน โดยมีคุณแม่เป็นแม่บ้าน ส่วนคุณพ่อมีอาชีพเป็นพ่อครัวในภัตตาคารและโรงแรม การศึกษาในช่วงวัยเด็กของอาจารย์กล้า เขาบอกว่าตัวเองเป็นคนที่เรียนไม่เก่ง แต่ถนัดในเชิงศิลปะมากกว่า ตรงส่วนนี้เองทำให้ในช่วงที่เรียนในระดับวิชาชีพชั้นสูง จึงได้เริ่มสัมผัสกับศิลปะที่หลากหลายโดยเฉพาะเรื่องของภาพพิมพ์
ในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี อาจารย์กล้าจึงได้มุ่งเน้นเรียนศิลปะสาขาภาพพิมพ์เป็นหลัก แต่ชีวิตก็พลิกผันนิดหน่อย เมื่อเขาเข้าคัดเลือกการเกณฑ์ทหารจับได้ใบแดง ทำให้ต้องพักการเรียนชั่วคราวเพื่อไปเป็นทหารรับใช้ชาติหนึ่งปี ก่อนกลับมาเรียนต่อจนจบปริญญาตรีศิลปบัณฑิต (สาขาภาพพิมพ์) คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จากนั้นก็เรียนต่อจนจบระดับปริญญาโท ศิลปมหาบัณฑิต (ภาพพิมพ์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
“ช่วงที่เรียนปริญญาตรี ผมรับงานทั่วไป ใครมาให้ทำงานศิลปะอะไรก็ทำ พอดีทางสาขาเขาเรียกให้กลับไปช่วยสอนเป็นอาจารย์พิเศษ จึงมีโอกาสได้เริ่มสอนตั้งแต่ตอนนั้นครับ การเป็นอาจารย์พิเศษ มันก็ดีนะครับ ได้มาสอนให้ความรู้และได้ทำงานศิลปะด้วย ถือว่ามีความสุขดี
“หลังจากนั้นอีก 3 ปี ผมมีครอบครัว ทำให้ต้องขยันมากขึ้นเพราะว่ามีรายจ่ายเพิ่ม จึงหางานพิเศษทำ คือผมต้องทำงานด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย ค่าเทอมลูกในตอนนั้น ต้องส่งเข้าศูนย์พัฒนาเด็ก เดือนละ 5,000 บาท คือผมต้องจ่ายทุกเดือน พอเขาเข้าอนุบาล 1 มีค่าใช้จ่ายเกือบ 30,000 บาทครับต่อเทอม ก็ต้องทำงานให้เยอะขึ้นครับ”
วิชาภาพพิมพ์
“งานที่ผมถนัดคือทำภาพพิมพ์ ผมถนัดสกรีน ซึ่งทำได้ดีในระดับหนึ่งครับ แต่ไม่ได้เก่งอะไรมาก บางทีผมก็รับจ๊อบพิมพ์งาน Etching ที่เป็นภาพพิมพ์โลหะกัดกรด ก็ทำได้นิดหน่อย
“หลักการของภาพพิมพ์ก็คือมันจะมี 4 เทคนิค คือภาพพิมพ์แกะไม้ (Woodcut) ภาพพิมพ์ร่องลึก (Etching) ภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน (Silkscreen) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าภาพพิมพ์ตะแกรงไหม และภาพพิมพ์หิน (Lithograph) มันจะเป็น 4 พื้นฐานหลักและเราค่อยมาแตกว่าเราจะเอาอันไหนผสมอันไหน ให้มันเกิดความสมบูรณ์ของงาน แล้วมันตอบสนองกับความต้องการของตัวเราให้มากที่สุด
“ส่วนใหญ่งานของผมจะเป็นสกรีน แต่งานสกรีนของผมจะไม่อยู่ภายในขนบธรรมเนียมประเพณีของภาพพิมพ์ เพราะงานภาพพิมพ์ ส่วนใหญ่จะเป็นงานจำนวน พิมพ์ซ้ำได้หลายชิ้น งานของผมจะมีแค่ชิ้นเดียว ที่เป็น Canvas ใหญ่ ๆ แต่ถ้าเป็นภาพพิมพ์ร่องลึก (Etching) ที่มีจำนวนมากก็ทำได้ แต่ผมเลือกที่จะทำแค่ชิ้นเดียว มันสนองความรู้สึกได้ดีกว่า ถ้าจะทำเทคนิคอื่น ๆ มันสามารถทำได้หมด อย่าง ภาพพิมพ์หิน (Lithograph) ก็พิมพ์ซ้ำได้เยอะ ๆ
“ตอนผมทำ Thesis ก่อนเรียนจบปริญญาโทผมก็ไม่ได้ทำงานที่เป็น Addition แต่ผมทำงานลอยตัวเลย เป็นห้องให้ลูกของผมเข้าไปวิ่งในงานผมได้ มันเป็นเหมือนงาน Installation ผมทำเป็นห้องกั้นขึ้นมาแล้วก็มีบ้านอะคริลิค และก็มีคำสอนอะไรของผม แล้วลูกผมก็เดินเข้าไปในรอบบ้านและเข้าไปในบ้านอะคริลิคได้
“ความยากอย่างหนึ่งของงานภาพพิมพ์คือการสื่อสารให้คนภายนอกรับรู้ เพราะเขาจะไม่ทราบเรื่องกระบวนการพิมพ์ว่ามีความยากความพิเศษ ผมว่าถ้าเราสนใจ ใส่ใจมันอยู่รอบตัวเราหมดเลยนะ เพียงแต่มันไม่ได้ถูกบอกว่าอันนี้นี่แหละคือภาพพิมพ์ เพราะเขาคิดว่ามันเป็นงานอุตสาหกรรม ถ้าเกิดจะให้มาเป็นทางศิลปะเลยคนเขาก็คงจะไม่เข้าใจ
“บางทีมันก็ยากที่จะอธิบายว่า อุตสาหกรรมกับศิลปะมันเหมือนและต่างกันยังไง แต่จริง ๆ แล้วมันไปด้วยกันได้ เพราะบางทีคนทำงานศิลปะก็ต้องพึ่งพาระบบอุตสาหกรรม ถ้าเกิดจะพิมพ์ผ้ายาว ๆ ก็ต้องพึ่งโรงงาน เพราะว่าถ้าเราซื้ออุปกรณ์มาทำเองมันไม่คุ้มที่เราจะต้องมานั่งลงทุน เราก็ต้องพึ่งพาเขา และเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างพิมพ์ผ้าถ้าเราออกแบบไฟล์ไป มันก็เป็นงานของเรา แต่เราไปพึ่งพาโรงงานให้เขาทำให้เรา มันก็ไปได้มันก็คืองานศิลปะยกระดับที่ไม่ใช่งานทั่วไป เดี๋ยวนี้เขาก็แบบพิมพ์ผ้าผืนใหญ่ ที่จัดเป็นงานพวก Install อะไรพวกนี้ เราก็ต้องพึ่งพาโรงงานอุตสาหกรรม เพราะเขาจะมีเทคนิคที่ดี ถ้าในระดับระบบการศึกษามันจะเป็นแบบระบบ Manual แต่ถ้าเกิดไปโรงพิมพ์จะใช้เครื่องจักรทันสมัยได้เลย”
คุณค่าของภาพพิมพ์
“โดยปกติคนทั่วไปไม่ได้รู้จักเรื่องของภาพพิมพ์มากนัก แต่ถ้าได้สัมผัสโดยการมาทดลองทำ เขาจะรู้เลย บางทีอาจคิดว่ามันง่าย แต่ในความจริงแล้วมันไม่ได้ง่าย มันต้องผ่านการทำงานหนัก อย่างผมทำพวกนี้มันก็ต้องถ่ายบล็อกมาปาดซ้ำ ๆ แล้วเปลี่ยนสี ถ้าสีมันไม่โอเคผมก็ต้องเปลี่ยนสีใหม่ งานผมมันจะทับกันเยอะมาก ถ้าเกิดเราอธิบายให้คนภายนอกเขาฟังได้ และเขาต้องเปิดใจยอมรับ เพราะบางคนเขาคิดว่ามันเป็นอย่างนี้ มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าเกิดเขายอมรับเปิดใจ และถ้ารับฟังเขาก็จะรู้ถึงคุณค่าของงานภาพพิมพ์
“คุณค่าของงานภาพพิมพ์คือ มันอยู่ที่ Concept อยู่ที่เทคนิควิธีการ อย่างการทำภาพพิมพ์โลหะ การกัดกรดเวลากัดให้มันลึก เมื่อพิมพ์จริงกระดาษมันจะนูนขึ้นมา บางทีการทับซ้อนของสี ที่มันมีมิติมากกว่า แล้วมันเหลื่อม งานของผมมันจะมีเทคนิคที่เหลื่อม ถ้ามองด้วยตาจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้ามองผ่านเลนส์เมื่อไหร่จะมองไม่เหมือนงานจริง ผมว่ามันมีเสน่ห์ตรงนี้
“การเรียนภาพพิมพ์มันข้อดีอย่างหนึ่ง คือเราได้คิดวิเคราะห์ ต้องคิดก่อนข้ามสเต็ปเลยว่า ถ้าเรากัดกรดเท่านี้ มันจะได้ออกมาแบบนี้ไหม บางทีมันก็ไม่ได้อย่างที่เราคิด เพราะว่าเราต้องคอยบรู๊ปงานของเรา ดูไปบ่อย ๆ มันจะออกมาเป็นยังไง น้ำหนักมันได้ไหม มันดำไหม ถ้ามันไม่ดำเนี่ย เราต้องเพิ่มอะไรเข้าไปอะไรอย่างนี้ มันจะได้วิธีคิดและกระบวนการวางแผนการทำงาน ซึ่งสามารถนำมาใช้กับการดำเนินชีวิตได้”
ศิลปะไทยยังห่างไกลกับต่างชาติ
“ผมได้รับการคัดเลือกให้ไปแสดงงานที่อู่ฮั่นก่อนโควิด-19 ระบาดแค่ 3 เดือน อยู่ที่นั่น 16 วัน ผมมีโอกาสดูงานศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ของที่นั่น ต้องบอกตามความจริงว่าเขาพัฒนามากกว่าประเทศไทยเยอะ และเป็นงานแสดงศิปะที่อินเตอร์จริง ๆ เพราะเขาเชิญศิลปินชื่อดังมาแสดงงาน ในเรื่องศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของเขาก็จัดได้ดีมากมีเรื่องราวทั้งภาพพิมพ์จีนสมัยโบราณให้ดู ถึงแม้จะบอกว่าจีนเป็นคอมมิวนิสต์แต่เขามีพัฒนาการดีมาก
“งานศิลปะของจีนถือว่ายิ่งใหญ่ครับ แต่บางอย่างเขาก็ปิดกั้นไม่ให้คนของเขาออกมา โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ของตะวันตก แต่ศิลปินจีนถือว่าพัฒนาไปไกลมาก เขามีผู้สนับสนุนงานศิลปะให้กับศิลปินจีนเยอะมาก ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทยแทบไม่ต้องพูด แค่จุดเริ่มต้นของการศึกษาขึ้นพื้นฐานยังไม่ได้สนับสนุนศิลปะตั้งแต่ต้นเลย ผมว่าเราไม่ต้องพูดถึงดีกว่า
“แน่นอนว่าศิลปินของไทยถ้าเกิดเราอยากจะเป็นอย่างไร เราก็ต้อง Present ไปในทิศทางนั้น แต่ถ้าเราอยากขายงานได้เยอะ ๆ เราก็ต้องวิ่งเข้าไปหา Curator (ภัณฑารักษ์) ต้องไปหาคนมา Support มาดูงานเรา ถ้าเกิดถูกตาถูกใจ เขามันก็ง่ายขึ้น ผมว่าเดี๋ยวนี้มันไม่ยากแล้วนะ ถ้าเกิดเราลงรูปงานไปแล้วมีคนชอบ จังหวะดี ๆ มี Curator (ภัณฑารักษ์) มาเห็น เขาก็มาติดต่อเรา มันง่ายมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนครับ ถ้าเกิดเราอยากให้งานเป็นอย่างไรก็ Present ไปในทิศทางนั้น มันอยู่ที่เรามากกว่าว่าเราจะเลือกไปทางไหนครับ แต่ของผมเลือกอยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ”
งานที่ภูมิใจ
“ปัจจุบันผมทำงานที่เรียกว่าชุดระฆัง เพราะว่าผมต้องการเปลี่ยนการรับรู้ ระฆังเราได้ยินเสียงอย่างเดียว แต่เราไม่เคยเห็นเสียง เราไม่รู้ว่าเสียงมันเป็นยังไง ผมก็เลยจินตนาการว่าเสียงของผมเป็นแบบนี้ โดยใช้ทัศนภาพนะครับ เส้น สี รูปทรง Space ซึ่งแต่ละสีของผมมันแล้วแต่ความรู้สึก บางช่วงเวลาสีมันเปลี่ยน ความรู้สึกมันก็เปลี่ยน มันก็จะสะท้อนว่าเสียง สี แสง มันอยู่ในความรู้สึกนี้จะเป็นสีนี้
“ในความเป็นจริงเสียงระฆังของแต่ละคนมันก็ไม่เหมือนกัน อย่างเวลาที่เราไปตีระฆัง รูปทรงฟอร์มภายนอกนั้นมันเหมือนกัน แต่เวลาที่ตีใบนึงเสียงอาจทุ้ม แต่อีกใบนึงเสียงแหลม แต่ถ้าเกิดเราเปลี่ยนการรับรู้ เป็นตาเรามองให้มันเห็นเสียง ซึ่งมันก็แล้วแต่คน แต่ถ้าเป็นผม ผมทำแบบนี้ แต่ถ้าเป็นคนอื่นคงจะทำอีกแบบนึง แล้วมันก็จะถ่ายทอดความรู้สึกได้มากมาย
“ส่วนเรื่องของเทคนิคที่ผมทำ ตะแกรงไหมก็คือ ภาพพิมพ์ที่เป็น Silk Screen เมื่อก่อนเขาจะใช้ผ้าไหม แต่เดี๋ยวนี้เป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ มันจะมีผ้าที่เบอร์ละเอียด เบอร์หยาบ ถ้าจะสกรีนเสื้อเขาก็ไม่นิยมที่แบบละเอียดมาก เพราะว่าสีมันจะตันเร็ว แต่ถ้าเป็นงานของผมต้องใช้เบอร์ที่ละเอียด ประมาณ 77 ขึ้นไปถึง 120 ครั้ง แล้วผมก็จะทับซ้อนกัน จนบางทีผมก็ทับซ้อนกันจนไม่รู้ว่าเป็นพัน ๆ ครั้ง งานคอนเซ็ปต์นี้ผมยังอยากทำต่อไปเพราะว่า มันยังพัฒนาได้อีก ผมอยากทำให้จนมันเหลื่อม รูปทรงมันบางหายเข้าไปในงาน ให้คนเข้าไปจินตนาการในงานเองว่ามันคืออะไร
“ผมไม่คาดเดานะครับว่าใครจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ เพราะบางทีการทำงานศิลปะ หากต้องมานั่งอธิบายเหมือนเขียนหนังสือให้เขาอ่านแล้วเข้าใจ ผมว่างานศิลปะมันจะไม่ได้ทำงานอะไรเลย แต่ถ้าเราเขียน Concept สัก 1-2 บรรทัด และคุณก็ไปคิดเอา ไม่อย่างนั้นมันก็เหมือนกับการอ่านหนังสือ ถ้างานของผมต้องมาแปลเป็นตัวหนังสือให้อ่าน ผมว่างานผมมันก็จะลดคุณค่าลงไป มันไม่ได้จินตนาการ
“ในอนาคตผมจะทำชุดนี้ต่อ แต่ผมจะลบรูประฆังให้มันเลือนมากกว่านี้อีก ให้มันเบลอไปยิ่งกว่านี้อีก ผมอยากจะทำให้ได้ ผมอยากจะทำชิ้น 2 เมตร 40 ต่อกันยาวทั้งห้อง ให้มันเป็นห้อง ผมอาจจะมีทำเป็นเปเปอร์มาเช่ ผมจะสกรีนใส่กระดาษสาแล้วเอาไปแปะ ๆ ให้มันเป็นเสียงของผมแปะเป็นรูประฆังให้มันลอยขึ้นมา ให้มันมีปฏิสัมพันธ์ในห้องว่าคอนเซ็ปต์ของผมเป็นแบบนี้ และสิ่งที่มันรายล้อมรอบระฆังนั่นมันคือเสียงของผม ที่คุณสามารถมองเห็นกันได้ ขอเวลาอีกสัก 2 ปี ซึ่งผมอยากจะแสดงเดี่ยวอีก 2 ปีผมอยากจะแสดงเดี่ยวที่ดี ๆ ผมจะไปหาหอศิลป์ที่แบบเป็นห้องกับงานผมซัก 40 ชิ้น
“สำหรับเรื่องของงานศิลปะ ผมคิดว่าศิลปะมันไม่ยากนะครับถ้าเราเปิดใจทำ และเปิดใจยอมรับเรียนรู้ ทุกอย่างมีความสุข ถ้าชอบด้วยจะยิ่งมีความสุขครับ แล้วมันก็เป็นอะไรที่แบบว่าสนองทุกอย่างในตัวเองได้ดีกว่า”