Unicorns กับการสร้างชาติ

Unicorns กับการสร้างชาติ

“Unicorn”คือคำที่ใช้เรียกบริษัทสตาร์ทอัพ (Startup)ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไปหรือประมาณ 31,000 ล้านบาทซึ่งมูลค่าของธุรกิจเกิดจากการวิเคราะห์ขนาดของตลาดเป้าหมาย และโอกาสในการเติบโตของบริษัทรวมถึงการวิเคราะห์คาดการณ์ทางการเงินของบริษัท โดยคำนวณเป็นมูลค่าในปัจจุบัน (Present Value) ซึ่งในต่างประเทศจะเห็นบริษัทสตาร์ทอัพชื่อดังจำนวนมากใน Silicon Valley ประเทศสหรัฐอเมริกาเช่น Uber, Airbnb หรือ Snapchat เป็นต้น ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพจากจีนเพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นXiaomi หรือ Didi Chuxing ผู้ให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอปรายใหญ่ในจีนที่ได้ผ่านจุดประสบความสำเร็จกลายเป็น Unicorn เป็นต้น ซึ่งหากเราสรุปลักษณะของ Unicornให้ชัดเจนอาจสรุปได้ดังนี้

(1) เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่เพิ่งก่อตั้งหรือดำเนินงานอยู่ในช่วงแรก ซึ่งผู้ก่อตั้งมีไอเดียทางธุรกิจ และมีวิสัยทัศน์ที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต โดยมีนวัตกรรรม หรือ ต้นแบบของสินค้าและบริการ ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิตอลโดยแบ่งสัดส่วนตลาดเป็น ซอฟต์แวร์ ร้อยละ 87 ฮาร์ดแวร์ ร้อยละ 7 สินค้าและบริการอื่นๆ ร้อยละ 6เป็นต้น แต่อาจไม่มีทุนเพียงพอ สำหรับการดำเนินธุรกิจในขั้นต่อไป

(2) มีเอกชนเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี ในช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจต้นทุนสูงกว่าผลตอบแทน ทำให้ต้องหาผู้ร่วมทุน และต้องมีแผนธุรกิจที่สมเหตุสมผล เพื่อจูงใจนักลงทุนได้ แต่ส่วนใหญ่จะระดมทุนจากนอกตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนมักเป็นธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ไม่ได้กระจายหุ้นไปสู่นักลงทุนรายย่อย เพราะบริษัทมีความเสี่ยงสูงมาก อาจยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานของบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) แต่ก็มี Unicornบางส่วน พยายามกระจายหุ้นสู่สาธารณะ

(3) มีอัตราการขยายตัวสูงและรวดเร็วจากการวิเคราะห์พบว่าสตาร์ทอัพที่จะกลายเป็น Unicornต้องระดมทุนได้ประมาณ 212 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 7,000 ล้านบาทรวมถึงต้องทำยอดขาย 125ล้านดอลลาร์ต่อปี ภายใน 10 ปี [1]หรือประมาณ 4,125 ล้านบาทมีอัตราการเติบโตร้อยละ 75 ต่อปี (Compound Annual Growth Rate) และใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 7 ปี นับตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ จนเป็น Unicornจึงทำให้เป็นที่สนใจของนักลงทุน ที่ต้องการผลตอบแทนสูง

(4) มีธุรกิจสตาร์ทอัพจำนวนน้อยที่สามารถเติบโตเป็น “Unicorn”เนื่องจากสถิติของสตาร์ทอัพที่กลายเป็น Unicornระบุว่ามีสตาร์ทอัพเพียงร้อยละ 0.00006 หรือมี 6 บริษัทใน 10 ล้านบริษัทสตาร์ทอัพที่จะกลายเป็น Unicorn(สถิตินี้รวมสตาร์ทอัพทั้งหมด ที่จัดตั้งขึ้นและปิดตัวลง)แสดงว่าเป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะกลายเป็น Unicorn

คำถามที่น่าสนใจต่อมาคือ การส่งเสริมสตาร์ทอัพให้พัฒนาเป็น Unicorn มีความสำคัญอย่างไร? มีประโยชน์ต่อการสร้างชาติอย่างไร? ผมขอสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ Unicornต่อการสร้างชาติ ดังนี้

1.การส่งเสริมUnicornช่วยนำประเทศขี่ยอดคลื่นเศรษฐกิจความรู้

โลกกำลังอยู่ในยุคการเปลี่ยนแปลงของคลื่นอารยะ ซึ่งผมได้นำเสนอและอธิบายไว้ในหนังสือ “สยามอารยะแมนนิเฟสโต”[1]จากคลื่นลูกที่ 3 คือ ยุคสังคมสารสนเทศ สู่คลื่นลูกที่ 4คือยุคสังคมความรู้ ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งยุคของการวิจัยและพัฒนา โดยเน้นทักษะการสร้างความรู้และนวัตกรรม ในขณะที่ประเทศไทยมีส่วนผสมของคลื่น 3 ลูก ได้แก่ ยุคสังคมเกษตร ยุคสังคมอุตสาหกรรม และยุคสังคมสารสนเทศ ทำให้การพัฒนาสังคมความรู้ยังล่าช้ากว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะระบบการศึกษา ที่เน้นปริมาณแต่ยังมีปัญหาในเชิงคุณภาพ โดยวิเคราะห์จากสถิติความสามารถแข่งขันด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 53 จากจำนวนทั้งสิ้น 63 เขตเศรษฐกิจ (IMD) และมีคะแนน PISAอันดับที่ 5 ของอาเซียน

ด้านการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังไม่โดดเด่น จากสถิติความสามารถแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 38 จากจำนวนทั้งสิ้น 63 เขตเศรษฐกิจ (MID) สัดส่วน ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา อยู่ที่ร้อยละ 1.14 ของจีดีพีสัดส่วนนี้เพิ่งเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแต่ยังน้อยกว่าประเทศนวัตกรรมชั้นนำที่มีสัดส่วนร้อยละ 2-3ของจีดีพีและประเทศไทยมีนักวิจัย 0.9 คน ต่อประชากร 1 พันคน(2559) เมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำมีนักวิจัยมากกว่า 4 คนต่อประชากร 1 พันคนเป็นต้น

ผมจึงเสนอว่าการพัฒนาเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องพัฒนาสู่ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Economy) เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรม เพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยี การส่งเสริมให้เกิด Unicornจึงเป็นการยกระดับประเทศ สู่สังคมความรู้ เนื่องจาก Unicornเป็นธุรกิจที่มีนวัตกร (Innovator) ที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจนวัตกรรม และยังเป็นผู้บุกเบิกตลาด (First Mover) ช่วยเร่งการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมถึงการกระชากเปลี่ยนหรือเข้ามาแทนธุรกิจดั้งเดิมที่ผลิตภาพต่ำ จึงเป็นการเร่งการสร้างชาติสู่ สังคมความรู้ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำในคลื่นลูกที่ 4

2.การส่งเสริมUnicornช่วยขับเคลื่อนสู่ประเทศรายได้สูง

ประเทศไทยมีความเสี่ยงติด “กับดักรายได้ปานกลาง”อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำ เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันถดถอยลง ความน่าสนใจในการลงทุนลดลง โดยเปรียบเทียบจาก

เศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เป็นคู่แข่งจำนวนมาก รวมถึงด้านการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศถูกประเทศเพื่อนบ้านแซงหน้าอีกทั้งประเทศไทยยังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก่อนประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ทำให้จำนวนประชากรโตช้าและมีแนวโน้มลดลง ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มขาดแคลนแรงงานรุนแรงขึ้น มีส่วนทำให้อำนาจต่อรองในเวทีภูมิภาคจะลดลงเรื่อย ๆ ขนาดจีดีพีของประเทศไทยอาจกลายเป็นที่ 3 หรือ 4 ของอาเซียนในอนาคต

การส่งเสริมให้เกิด Unicornเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ เร่งเพิ่มจีดีพีต่อหัวของประชากรประเทศไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง เพราะธรรมชาติของ Unicornมีอัตราการขยายตัวสูงมากและต่อเนื่อง ใช้เวลาสั้นมาก นอกจากนี้ Unicornยังเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีผลต่อจีดีพีมากหากส่งเสริมให้เกิด Unicornจำนวนมากในประเทศย่อมทำให้จีดีพีโตเร็ว อย่างไรก็ตามการส่งเสริม Unicorn ต้องระวังว่าการเติบโตที่เกิดขึ้นต้องไม่ใช่เพียงการแย่งส่วนแบ่งตลาดจากธุรกิจรายอื่นในประเทศ โดยไม่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้นมากนัก

3.การส่งเสริมUnicornช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ผมเสนอแนวคิดและเขียนหนังสือ SLEs ไม่ใช่ SMEs”[1]วิเคราะห์ว่า ธุรกิจในอนาคตที่จะอยู่รอดและแข่งขันได้ ต้องเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือไม่ก็ธุรกิจขนาดเล็กไปเลย เพราะการแข่งขันรุนแรงขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีความเป็นเสรีมากขึ้น และเป็นโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ธุรกิจใหม่เกิดได้ง่าย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีรวดเร็วขึ้น ทำให้วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์สั้นลง เกิดผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ เร็วขึ้น

โดยธุรกิจขนาดใหญ่ มีความได้เปรียบหลายด้าน อาทิ มีเงินทุนมาก มีสายป่านยาว ต้นทุนต่ำ เนื่องจากความประหยัดจากขนาด เข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ โดยเฉพาะตลาดระหว่างประเทศ  มีปัจจัยการผลิตที่หลากหลายและมีคุณภาพ มีความสามารถลงทุนวิจัยและพัฒนา ส่วนธุรกิจขนาดเล็ก ต้องใช้ความได้เปรียบบางด้าน เช่น ความยืดหยุ่นสูง ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้เร็ว มีต้นทุนในการเริ่มต้น และเปลี่ยนแปลงธุรกิจต่ำ เข้าถึงตลาดเฉพาะ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะบางตลาด และลูกค้าบางกลุ่มที่ธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่คุ้มที่จะเข้ามาแข่งขัน เป็นต้น

การส่งเสริมให้เกิด Unicornช่วยยกขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะ Unicornเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ถ้าประเทศมี Unicornจำนวนมากก็สามารถแข่งขันได้มากขึ้น มีพลังเงิน ในการขยาย ปรับปรุง และรักษาเสถียรภาพ มีความสามารถขยายตลาดสู่ต่างประเทศ มีศักยภาพในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ มีต้นทุนต่ำ สามารถแข่งขันด้านราคาได้ 

ดังนั้นการที่จะพัฒนาให้เกิด Unicornต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาสตาร์ทอัพหมายความว่า ต้องส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพจำนวนมากในประเทศ ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีนวัตกรรม และมีเอกลักษณ์

 

[1]เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2542).  SMEs หรือ SLEs: แนวโน้มธุรกิจไทยในศตวรรษหน้า. กรุงเทพฯ: ซัคเซส มีเดีย.

เฉพาะตัว รวมถึงมีการสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ในการพัฒนา เพื่อจะสามารถทำให้สตาร์ทอัพผ่านจุดประสบความสำเร็จจนกลายเป็น Unicornในอนาคตต่อไป และผมจะนำเสนอแนวคิดการส่งเสริม Unicorn ในประเทศไทยในบทความต่อไป

[1]เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2555). สยามอารยะ แมนิเฟสโต : แถลงการณ์สยามอารยะ. กรุงเทพฯ: ซัคเซส พับลิชชิ่ง.

[1] Plant, Charles. Unicorn Math: An Algorithm for Rapid Growth. Narwhal Project (June 2020). Available from: https://narwhalproject.org/wp-content/uploads/2020/06/Unicorn-Math.pdf [Accessed 2021/09/27]

Unicorns กับการสร้างชาติ