สัมผัสประวัติศาสตร์ภาพ : หลากหลายความทรงจำกับรางวัล “ออสการ์”

สัมผัสประวัติศาสตร์ภาพ : หลากหลายความทรงจำกับรางวัล “ออสการ์”

นิสัยอย่างหนึ่งที่นักเขียนบางคน (จริง ๆ น่าจะมีหลายคนนะคะ) มักจะมี นั่นคือการรอเขียนต้นฉบับใกล้วันครบกำหนดส่ง ด้วยความรู้สึกที่บอกตัวเองว่า จะทำให้เรื่องที่เขียนได้บรรยากาศสดใหม่ ไม่แห้งแล้ง ซึ่งในที่นี้มีแน่ ๆ อยู่สองคน คือคุณประภัสสร เสวิกุลและชุติมานี่แหล่ะค่ะ แต่ไม่ใช่ว่าก่อนวันครบกำหนดสมอง และความคิดของเราจะอยู่เฉย ๆ นะคะ ไม่เลยค่ะ มันยังคงทำงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะของคุณประภัสสรนั้น เขาคิดอยู่ตลอดเวลา และคิดเร็ว คิดไว้เยอะแยะ จนเหมือนกับว่าที่คิดไว้ทั้งหลายจะเขียนออกมาไม่หมด อยู่ด้วยกันมา 41 ปี เห็นชัดเจนมากค่ะ ยิ่งช่วงท้าย ๆ ก่อนที่จะถูกเรียกตัวกลับขึ้นไป ยิ่งชัด ยิ่งเจนจริง ๆ เลยค่ะ

มาดูหัวเรื่องของสัมผัสประวัติศาสตร์ภาพในและนอกอาเซียน ฉบับนี้กันดีกว่า ทำไมถึงทำให้ชุติมานำสิ่งนี้ขึ้นมาเป็นหัวข้อ ก็เพราะช่วงที่ผ่านมา ทางกอง บ.ก. ได้เปลี่ยนกำหนดวันส่งต้นฉบับครั้งใหม่ขึ้นมา ทำให้เรามีเวลาคิดเวลาเขียนกันนานมากขึ้น ซึ่งแน่นอนแต่ละวันที่ผ่านไป ความคิดคำนึงหาเรื่องที่จะนำมาเสนอ ไม่เคยเว้นว่างห่างหายไปไหน แต่ก็ยังไม่ยอมลงมือพิมพ์ออกมา และมันก็มากมายเกินกว่าที่จะเจาะจงเลือกมาได้ว่า จะนำเสนอเรื่องใดดี มีหลายครั้งที่ลงมือพิมพ์ไปแล้ว แต่สุดท้ายเรื่องที่ถูกนำเสนอจริง ๆ กลับเป็นเรื่องที่เพิ่งโผล่ขึ้นมา แล้วก็คว้าชัยชนะไปครองในเสี้ยววินาทีสุดท้ายที่นักเขียนอย่างเราต้องยอมแพ้ให้อย่างงง ๆ

และสำหรับฉบับนี้ก็เช่นกัน ก่อนถึงวันครบกำหนดส่งต้นฉบับสองสามวัน ก็มีวันนี้ที่รางวัลออสการ์ประกาศผลออกมา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเทรนด์หรืออยู่ในกระแสความคิดของชุติมามาก่อนสักเท่าไหร่เลย จนกระทั่งข่าวล่าสุดหลังการประกาศผล มิเชล โหยว ได้รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม เป็นนักแสดงหญิงชาวเอเซียคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ไปครอง และผลนี้เองที่ทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับออสการ์ของ ชุติมากลับมากระตุ้นความรู้สึกเก่า ๆ อีกครั้ง

ย้อนหลังไปเมื่อไม่นานนี้เอง เรารู้สึกตื่นเต้นไปด้วยเมื่อภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ Parasite ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และดาราประกอบหญิง ไปครอง เราพลอยยินดีกับพวกเขาในฐานะคนเอเชียด้วยกัน เพราะตอนนั้นต้องยอมรับตรง ๆ ว่า แม้จะอยู่ในตัวเลขวัย 70 กว่าปีแล้ว ก็สามารถกลายเป็นติ่งเกาหลีไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ (โควิดเป็นเหตุ อิ อิ) แต่ก็มีช่องว่างให้กับละครน้ำดี ของช่อง 3 HD ซึ่งก็คือเรื่อง “คือเธอ” ละครของคุณแอน ทองประสม ที่ได้คู่พระนาง อย่าง มาริโอ้ เมาเร่อ และ ญาญ่า อุรัสยา เสปอร์บันด์ มาแสดง ยอมรับว่าดูเรื่องนี้อย่างทุ่มเทสุดหัวใจ เห็นความสามารถสุดยอดเยี่ยมของมาริโอ้ หลาย ๆ ฉากที่แสดงได้กินใจเหลือเกิน จนต้องบอกตัวเองว่า มาริโอ้สมกับตำแหน่งนักแสดงชายสุดยอดเยี่ยมของปี 65 จริง ๆ (ใครไม่ให้รางวัลก็ช่าง พี่นิ -ชุติมา เสวิกุล ขอให้เองค่ะ)

ส่วนญาญ่านั้น นอกจากความสามารถยอดเยี่ยมเช่นกันแล้ว ความสวยของตัวเธอเอง เสื้อผ้า หน้า ผม ยกนิ้วให้กับทีมออกแบบเครื่องแต่งกาย และทีมแต่งหน้า แต่ที่ทึ่งมาก ๆ ก็คือ ผู้กำกับทั้ง2 ท่าน  น้องนักเขียนบท นักแสดงทุก ๆ คน และทีมงานทุกฝ่ายนะคะ เรียกว่าขอยกความดีให้คุณแอน ทองประสมที่ทำเรื่องนี้ให้เราดู อย่างสบายหูเพราะคำผรุสวาทที่แย่ ๆ ไม่ค่อยมีปรากฏในเรื่องนี้ให้ระคายความรู้สึก มีแต่น้ำตาของญาญ่าที่ท่วมจอแทบทุกตอน กับอารมณ์เดี๋ยวรักเดี๋ยวแค้นของ ก้าวกล้ามาริโอ้เล่นเอาคนดูสติแตกตามความรักความแค้นของ สายขิมกับก้าวกล้า ไปด้วย ซึ่งคนดูที่ชื่นชมคนหนึ่งในจำนวนล้าน ๆ คนของ “คือเธอ” ก็คือชุติมานี่เองแหล่ะค่ะ...อิ อิ แอบเผลอบอกความในใจไปจนได้ ขออภัยค่ะ...

         แต่ย้อนหลังไปไกลกว่านั้นอีกนิ๊ดดดดดด ๆ แบบยาว ๆ เลย (ปี1993) ตอนที่คุณภัสสร รับราชการอยู่ที่สถานทูตไทยในกรุงเวลลิงตัน นิวซีแลนด์ ถ้าคุณ ๆ ยังพอจำกันได้ว่า มีภาพยนตร์เรื่องโด่งดังเรื่องหนึ่งมาถ่ายทำที่นี่ นั่นก็คือเรื่อง The Piano ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ภาพติดตาผู้ชมโดยแทบจะทันทีที่ปล่อยโปสเตอร์ออกมา เรียบง่าย แค่มีเปียโนตัวหนึ่งตั้งอยู่บนหาดทรายกับแม่ลูกคู่หนึ่ง เท่านั้นเอง ตอนก่อนถ่ายทำก็มีข่าวเรื่องการคัดตัวนักแสดงออกมาให้ผู้คนได้ทึ่งกัน เพราะดาราเด็กที่ต้องมาเล่นเป็นตัวเดินเรื่องในเรื่องนี้ คือ แอนนา พาร์ควิ้น                                              

(Anna Helene Paquin) ซึ่งตอนนั้นเหมือนเป็นโชคชะตาฟ้ากำหนดเลยก็ว่าได้ เพราะเธอไม่ได้ตั้งใจจะไปคัดตัวแต่อย่างใด แค่พี่สาวชวนไปเป็นเพื่อน แต่ในจำนวนเด็กกว่า 5,000คน ที่สมัครเข้ามาทดสอบหน้ากล้อง เด็กหญิงอายุ 11 ปีที่ไม่ได้มีความคิดที่จะมาสมัครคัดตัวคนนี้กลับได้รับโอกาสให้ทดสอบ และสามารถคว้าชัยชนะนั้นมาได้อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว คนที่ได้เล่นบทนี้กลายมาเป็นตัวเธอ เรื่องราวนี้โด่งดังในตอนนั้น เหมือนนิยายที่ไม่น่าจะมาอยู่ในชีวิตจริง แต่มันก็เป็นไปแล้ว และข้อสำคัญ ในตอนนั้น เราสองคนก็อยู่ที่นิวซีแลนด์และรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ด้วยตัวพวกเราเองมาตั้งแต่ต้นเลยละค่ะ

ความที่ตอนนั้นมีวิญญาณของนักเรียนการแสดง ช่อง 3 ฝังอยู่ในตัวชุติมาแล้ว หนังก็เคยเล่นมาแล้ว ละครก็ได้มีโอกาสเข้าฉากมาแล้ว ทั้งเป็นตัวประกอบ และทั้งที่ได้เล่นเป็นตัวละครที่มีบทพูด ได้รู้สึกถึงอารมณ์ของนักแสดงตอนแสดงจริง ๆ มาแล้ว ออกรายการทีวีก็บ่อย ทำให้ช่วงที่อยู่นิว ซีแลนด์ เป็นอีกช่วงชีวิตหนึ่งของชุติมาที่ได้ทำอะไรตามฝันจริง ๆ หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าอบรมการเขียนบทกับอาจารย์นักเขียนบทชื่อดังที่บินตรงมาจากอังกฤษ ได้เข้าเวิร์คชอป ที่สถานีโทรทัศน์ AVALON (ต่อมาเป็นTV -Avalon Film & Television Studios Wellington NZ) ซึ่งเป็นสตูดิโอชื่อดัง สอนด้านภาพยนตร์ ละครและการแสดงจัดขึ้น คิดว่าน่าจะเป็นคนไทยคนแรก ๆ ที่เข้าไปร่วมเลยละค่ะ แล้วยังเคยมีโมเม้นท์ที่เราสองคนไปไล่ตามดูดาราที่เล่นซีรีส์เกี่ยวกับนักข่าว แถวบริเวณบ้านที่เธอพักใกล้ชายหาดริมทะเลในเวลลิงตัน และได้พบพูดคุยกันก็เคยทำมาแล้ว

ที่เกริ่นมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า ในตอนนั้น พอข่าวเรื่อง The Piano ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ มีชื่อของ แอนนา พาร์ควิ้น อยู่ด้วยในประเภทรางวัล ดาราสมทบหญิงยอดเยี่ยมเท่านั้นละค่ะ แทบจะในทันทีนั้น กระแสของเรื่องนี้ก็เปรี้ยงขึ้นมาทันที กลายเป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด คือ ฝ่ายที่ชื่นชม ตื่นเต้น ยินดีแล้วก็ลุ้นให้เธอได้รางวัลนี้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งคือกระแสกลับกัน หักดิบพลิกความรู้สึก คือ กังวลกลัวเธอจะเสียใจหากไม่ได้ (จริง ๆ ก็คงรู้อยู่แล้วว่าแนวโน้มที่จะได้มีแน่ ๆ ) ก็เลยช่วยกันทำให้เห็นว่าเธอคงไม่ได้หรอก อย่าเพิ่งกังวลไป อย่าหวังไปเลย ทั้ง ๆ ที่นับวันนับคืน เสียงที่เชื่อมั่นว่า ออสการ์ตัวนี้ต้องเป็นของแอนนาแน่ ๆ แต่ฝ่ายนี้ก็พยายามที่จะทำให้แอนนารู้สึกว่าเลิกคาดหวังซะ ทั้งนี้เพราะกลัวว่าหากเธอไม่ได้ขึ้นมาจริง ๆ แล้วจะแย่นั่นเอง เลย กลายเป็นกระแสก่อความกังวลใจ หาทางพูดให้แอนนา เลิกคิดฝันว่าจะได้ เล่นเอาคนที่กลัวเธอจะผิดหวังพลอยหนักใจไปด้วย พยายามหาทางย้ำและไม่อยากให้แอนนาได้

แต่ฝ่ายสนับสนุนที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของนิวซีแลนด์ อดที่จะตื่นเต้น ดีใจ กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ได้ เพราะเป็นชื่อเสียงของประเทศชาติ และที่สำคัญของคนนิวซีแลนด์ แม้จะเป็นเด็กหญิงอายุ 11 ปี ก็ตาม จึงไม่ได้แค่เชียร์กันเฉย ๆ มีดีไซเนอร์คนดังของนิวซีแลนด์ เตรียมออกแบบเครื่องแต่งกายให้เธอแต่งในวันประกาศผล หลาย ๆ คนหลาย ๆ ฝ่ายเตรียมความพร้อมให้เธอเพราะไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ผลดีย่อมตกเป็นของนิวซีแลนด์ นั่นเอง ทุกฝ่ายจึงทำงานกันอย่างเต็มกำลังความสามารถและพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน

 แต่ปัญหาคือ... อิ อิ ตอนนี้หน้ากระดาษหมดแล้วละซิคะ ทำงายดี... งั้นขอเล่าต่อฉบับหน้าแล้วกันนะคะ

สัมผัสประวัติศาสตร์ภาพ : หลากหลายความทรงจำกับรางวัล “ออสการ์”