โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ 42 เหตุการณ์ก่อน 14 ตุลาคม 2516

โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ 42 เหตุการณ์ก่อน 14 ตุลาคม 2516

จากข่าวต่างจังหวัดที่ฉันต้องเดินทางไปทำมากมายจนอาจจะกล่าวได้ว่า ถ้าเป็นข่าวต่างจังหวัด ฉันเหมาทำหมดไม่ว่าจะเป็นข่าวอาชญากรรม หรือข่าวผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ แล้วก็มาถึงข่าวต่างประเทศ อาจจะเป็นเพราะหัวหน้าข่าวรู้ว่า ฉันเคยเรียนต่างประเทศ มีความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งในสมัยนั้นหานักข่าวที่พูดภาษาอังกฤษได้น้อยคน

วันหนึ่งหัวหน้ากองบรรณาธิการ “คุณสมิต มนัสฤดี” เรียกฉันไปพบและบอกว่า

            “ผมจะส่งคุณไปทำข่าวที่ฮ่องกง”

 เรื่องมีอยู่ว่าข่าวต่างประเทศส่งมาด่วนในตอนเช้าว่า พระเอกกังฟูยอดนิยมของยุคสมัยนั้นชื่อ “บรูซ ลี” ถึงแก่ความตายด้วยโรคหัวใจ เรื่องนี้เป็นที่สนใจของคนทั่วโลก รวมทั้งคนไทยที่เป็นแฟนหนังชุด “ไอ้หนุ่มฯ”

            “คุณจะต้องไปสืบมาว่า บรูซ ลี ตายด้วยโรคอะไร ข่าวนี้เป็นข่าวที่ขายได้ เราจะต้องได้เรื่องและภาพให้เร็วที่สุดก่อนทุกฉบับ”

ฉันได้เดินทางไปฮ่องกงในเช้าวันนั้น การเดินทางเพียงสองชั่วโมงฉันก็มาร่วมงานศพของ “บรูซ ลี”

 ภาพงานศพที่เต็มไปด้วยพวงหรีดดอกไม้มากมาย และบรรดาดารา นักร้อง นักแสดงของฮ่องกงมารวมกันเป็นภาพที่ฉันส่งมาถึงหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” ก่อนทุกฉบับ เมื่อฉันโทรศัพท์ข้ามประเทศมาถึงสำนักงาน หัวหน้ากองบรรณาธิการสั่งว่า

            “คุณจะต้องอยู่อีกสอง...สามวัน ข่าวบรูซ ลี ตายมีเบื้องหลังที่คุณจะต้องเอามารายงานให้มากที่สุด”

การที่ได้ไปเล่าเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์ที่เยอรมัน ทำให้ฉันมีเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ต่างประเทศหลายคนและหลายประเทศ อย่างที่ฮ่องกงเพื่อนฉันชื่อ “แพคทริค พูน” เราสนิทสนมกันมาก เมื่อตอนเรียนหนังสือเราจะนั่งข้างกัน สอบถามปัญหามากมายที่ภาษาอังกฤษของฉันแข็งแรงสู้เขาไม่ได้ “พูน” เป็นคนช่วยเหลือในการทำข่าว รวมทั้งหาที่พักให้โดยไม่ต้องพักโรงแรมที่มีราคาแพงของฮ่องกง

 หลายวันที่ทำข่าวอยู่ที่นี่ ฉันพักรวมกับชาวฮ่องกงที่เป็นแฟลตเล็ก ๆ ห้องแคบ ๆ บนถนนนาธาน ทำให้ฉันได้รู้จักเมืองนี้มากกว่าคนท่องเที่ยวนักเดินทางชาวไทยที่มาฮ่องกงเพื่อช็อปปิ้ง กินอาหารอร่อย หรือไปเล่นการพนันที่มาเก๊า

ประสบการณ์มากมายหลายวัน มีประโยชน์มากเพราะอีกสิบกว่าปีต่อมา ฉันสามารถทำทัวร์พาคนไทยมาเที่ยวฮ่องกงเป็นเวลาติดต่อกันหลายปี เป็นอาชีพอีกอาชีพหนึ่งที่ฉันสามารถทำได้มากกว่าเป็นนักข่าว หรือนักหนังสือพิมพ์

จากนักข่าวชาวเขาที่เพื่อนร่วมงานพูดหยอกเย้า ด้วยความรักหรือความชังก็ช่างเถิด เพราะหลังจากไปทำข่าวที่ฮ่องกงกลับมาแล้ว พวกเพื่อนก็เรียกฉันด้วยสมญานามใหม่ว่า “นักข่าวบรูซ ลี” แต่มีข่าวใหญ่อีกข่าวหนึ่ง ที่ฉันภาคภูมิใจมาตลอดก็คือข่าวที่เรียกว่า “14 ตุลาคม 2516” เหตุการณ์ที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติ ที่เรียกว่า “วันมหาวิปโยค”

            เรื่องราวทั้งหมดมีฉันอยู่ในเหตุการณ์มาตั้งแต่เริ่มต้น

เหตุการณ์ที่เริ่มต้นนั้น ไม่ใช่เกิดที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ บนถนนราชดำเนินอย่างที่ว่ากัน แต่มันเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย เริ่มจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเปิดแห่งที่สองต่อจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยรามแห่งนี้เกิดขึ้น จากการที่รัฐบาลของพื้นที่บริเวณหัวหมาก ซึ่งเป็นของตระกูล “โอสถานุเคราะห์” เพื่อใช้ทำเป็นสถานที่แสดงสินค้าที่เรียกว่า “ไทย เอ็กซ์โป” เป็นครั้งแรก  แต่หลังจากงานเสร็จสิ้นแล้วรัฐบาลก็ไม่ได้ทำอะไรต่อ ตอนนั้นฉันทำงานอยู่ที่ “บริษัท เต็กเฮงหยู” ของ “คุณสุรัตน์  โอสถานุเคราะห์” ฉันจึงเสนอ “คุณพี่เพชร” เป็นชื่อที่ฉันเรียกท่าน ไม่ใช่ “คุณสุรัตน์” อย่างที่วงการค้าและการเมืองเรียก ในฐานะพี่ทำงานเป็นที่ปรึกษาท่านทั้งการค้าและการเมือง

ฉันให้ความเห็นว่า ตระกูล “โอสถานุเคราะห์” มีสิทธิที่จะทวงคืนที่ดินผืนนั้นได้ เพราะรัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงไว้

ในปีนั้นฉันศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รู้จักอย่างสนิทสนมกับ “ดร.ศักดิ์  ผาสุกนิรันดร์” เป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัยนี้

ดร.ศักดิ์มีความเมตตาฉัน เช่นเดียวกัน “อาจารย์พรต พุทธินันทน์” ที่เป็นคนสอบสัมภาษณ์เมื่อฉันสอบผ่านข้อเขียน ทำให้ฉันสามารถเข้าศึกษามหาวิทยาลัยที่ได้รับการขับขานว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนโดยแท้จริง

ด้วยแนวความคิดที่ “ดร.ปรีดี พนมยงค์” ผู้ให้กำเนิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบให้ไว้จึงทำให้มหาวิทยาลัยเปิด คือผู้ให้ที่ต้องการศึกษาเข้าเรียนได้โดยไม่ต้องสอบเข้า แต่หลังจากที่มีเผด็จการทหารเกิดขึ้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ถูกลดความสำคัญลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่เคยถูกทหารยืดมหาวิทยาลัยเป็นที่ทำการของกองทหารรักษาดินแดน เมื่อถูกร้องเรียนจึงโยกย้ายไปตั้งอยู่ที่อื่น ชื่อเต็มของ“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง”

ก็ถูกทหารตัดให้เหลือเพียง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เท่านั้น เสมือนหนึ่งว่าไม่ต้องการให้มหาวิทยาลัยนี้ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

 เช่นเดียวกับการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เผด็จการทหารก็มีกำหนดให้มี “สภาการศึกษา” ขึ้นทำหน้าที่เป็นผู้จัดสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ไม่ยอมให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดสอบเอง และไม่ให้มีมหาวิทยาลัยเปิดเช่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นอีก

เรื่องทั้งหมดนี้ฉันได้เสนอความเห็นว่า น่าจะมีมหาวิทยาลัยเปิดขึ้นแทนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์” ท่านก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน จนกระทั่งท่านสามารถเจรจากับ “จอมพลถนอม กิตติขจร” นายกรัฐมนตรีตกลงยอมให้มีมหาวิทยาลัยเปิดขึ้นคือ “มหาวิทยาลัยรามคำแหง” และตั้งให้ “ดร.ศักดิ์  ผาสุกนิรันดร์” เป็นอธิการบดีคนแรก

            “คุณต้องมาทำงานเป็นอาจารย์ที่นี่ มาช่วยผมทำงานด้วยกัน” ดร.ศักดิ์บอกเช่นนั้นกับฉันในวันที่ท่านรับตำแหน่ง

ฉันปฏิเสธความหวังดีของท่าน เพราะรู้จักตัวเองดีว่า ฉันไม่เหมาะสมที่จะรับราชการ เพราะงานที่ฉันรักมากที่สุดในชีวิตคือการเป็นนักข่าว เพื่อมุ่งหวังว่าจะได้เป็นนักหนังสือพิมพ์ เมื่อถึงเวลาอันควรประสบการณ์ทำงาน ฉันสามารถพัฒนาตัวเองเป็นนักเขียน และถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะได้เป็นนักประพันธ์ ซึ่งเป็นความลับสูงสุดในชีวิตของฉัน

“มหาวิทยาลัยรามคำแหง” เป็นมหาวิทยาลัยแรก ที่มีการเคลื่อนไหวที่จะขับไล่รัฐบาลทหารเผด็จการของจอมพล “ถนอม กิตติขจร” จากข่าวที่ฉันเป็นคนไปทำมาเสนอ คือ เรื่องเฮลิคอปเตอร์ทหารตกที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

 เรื่องที่เกิดขึ้นในบ่ายวันอาทิตย์ที่น่าเบื่อหน่าย อย่างที่รู้กันว่าในวันอาทิตย์เป็นวันที่ข่าวหายาก แม้นักข่าวก็ไม่อยากจะมาทำงานแม้ว่าจะได้เบี้ยเลี้ยงวัดหยุดเพิ่ม สำหรับฉันไม่เคยหยุด ค่าเบี้ยเลี้ยงสองเท่ามีค่าสำหรับการดำรงชีวิตในยามตั้งตัว

            หัวหน้าข่าว “วิรัช ศิริชุมแสง” เรียกฉันไปพบและบอกว่า

            “เอารถไปทำข่าวเฮลิคอปเตอร์ตกที่นครปฐม”

คำสั่งของท่านทำให้ฉันกระตือรือร้นขึ้นอีก เพราะการไปทำข่าวต่างจังหวัด ก็จะได้ค่าเบี้ยเลี้ยงเพิ่มขึ้นอีก เรื่องเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ทหารตก ก็ไม่ใช่เป็นข่าวใหญ่ แต่เพราะว่าวันอาทิตย์เป็นวันที่หาข่าวยาก โดยเฉพาะข่าวที่มีภาพประกอบ หัวหน้าข่าวจึงต้องการข่าวเล็ก ๆ มาใช้

รวมทั้งอำเภอบางเลน นครปฐมก็ไม่ได้ไกล สามารถเดินทางไปกลับได้ เพียงไม่กี่ชั่วโมง ภาพและข่าวสามารถตีพิมพ์ได้ในเย็นวันนั้น

เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ทหารตกกลางท้องนา ห่างจากถนนประมาณกิโล ช่างภาพที่มาด้วยบอกว่า เราถ่ายภาพไกลมองเห็นเครื่องตกพอเพียงแล้ว แต่ฉันบอกกับเขาว่า เราจะต้องเดินตัดทุ่งเข้าไปถ่ายให้ได้ใกล้ที่สุด เพราะจะเป็นภาพที่สวยกว่า

            “แดดมันร้อนนะ ผมใช้เลนส์ซูมถ่ายก็ได้” เพื่อนช่างภาพแย้ง

            “แต่ภาพเลนส์ซูมจะไปเห็นอะไรชัดเจนเท่ากับเราได้เห็นด้วยตาของเราเอง”

สำหรับการทำข่าว เป็นที่รู้กันว่าช่างภาพจะต้องฟังคำของนักข่าว เขาจึงต้องเดินตามฉันเข้าไปในท้องนา ที่แดดในยามบ่ายของเดือนเมษาร้อนผะผ่าว ภาพเฮลิคอปเตอร์ตกเสียหายไม่มากนัก ไม่มีใครอยู่ในเครื่องที่เห็นแต่ควันไฟคุ้งอยู่ข้างใน

            “ได้รูปสวยแล้วรีบกลับโรงพิมพ์หัวหน้าข่าวรออยู่” เพื่อนช่างภาพบอก แต่สำหรับฉันยังกลับไม่ได้ เพราะถึงจะมีภาพแต่รายละเอียดของข่าวยังไม่มี ฉันเดินสำรวจรอบเครื่อง เพื่อประมวลความเสียหายใช้ประกอบการเขียนข่าว

            “เดี๋ยวอย่าเพิ่งไป รอผมตรงนี้ก่อน” ฉันบอกกับเขา เมื่อได้กลิ่นเหมือนเนื้อย่างคลุ้งออกมาจากเครื่อง ความคิดตอนนั้นสงสัยว่า อาจจะมีคนถูกไฟคลอกอยู่ภายใน

แต่เมื่อเดินเข้าไปก็พบว่า มีซากหัวกระทิงไหม้ไฟตกอยู่ ฉันจึงรู้และเข้าใจว่าเฮริคอปเตอร์ลำนี้คงจะนำคนเข้าไปล่าสัตว์ป่าบินกลับมา และเกิดอุบัติเหตุ ฉันหยิบซากหัวกระทิงไฟไหม้ขึ้นมาชูไว้ แล้วบอกช่างภาพว่า

            “ถ่ายภาพนี้ไว้ นี่เป็นหลักฐานสำคัญ ที่เราจะเอาไปใช้ประกอบข่าวให้สมบูรณ์”

เช้าวันรุ่งขึ้น ภาพหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” เป็นฉบับเดียวที่ไม่ใช่รายงานเพียงว่ามีเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ทหารตกที่บางเลน อย่างที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น แต่มีภาพฉันชูหัวกะทิงไหม้ พร้อมกับมีคำบรรยายใต้ภาพว่า

            ...หัวกะทิงไฟไหม้ ติดอยู่ในเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ตก ที่บางเลน นครปฐม เมื่อบ่ายวันอาทิตย์...

เพียงวันเดียวที่นสพ.ไทยรัฐ ลงภาพหัวกระทิงติดอยู่ในเฮลิคอปเตอร์ทหาร ตกที่อำเภอบางเลน นครปฐม กลายเป็นข่าวเล็กที่เป็นข่าวใหญ่โต เมื่อมีหนังสือพิมพ์หลายฉบับทำข่าวตาม

เริ่มจาก “นสพ.สยามรัฐ” ที่นักข่าวรายงานว่า มีทหารกับดาราสาวคนหนึ่ง แอบเข้าไปล่าสัตว์ที่ “ซาเซโว” ซึ่งเป็นภาษากะเหรี่ยงที่ทางการเรียกว่า “ทุ่งใหญ่นเรศวร” เป็นเขตหวงห้าม เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ลำที่ตกเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่เข้าไปร่วมกระทำความผิดนี้ด้วย

เรื่องการล่าสัตว์ในเขตคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจของประชาชนอย่างมาก เพราะผู้กระทำความผิดไม่ใช่เป็นชาวทหาร แต่เป็นทหารเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทำเสียเอง

ความรู้สึกของประชาชนในยามนั้นไม่ค่อยชอบทหารอยู่หลายเหตุผล นับตั้งแต่รัฐบาลทหารที่ถูกเรียกว่าเป็น “รัฐบาลเผด็จการ” บริหารประเทศมาตั้งแต่สมัยจอมพล “สฤษดิ์ ธนะรัชต์” มาจนถึง “จอมพล ถนอม กิตติขจร” สืบทอดอำนาจติดต่อกันมานานสิบกว่าปี และที่สำคัญก็คือ “จอมพล ถนอม กิตติขจร” ต่ออายุราชการเพื่อให้ตัวเองและคณะติดต่อกันมาถึงสองครั้งสองคราว

นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง คือกลุ่มคนที่แรกที่ออกมากเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

การกระทำที่กล้าหาญของพวกเขา เริ่มจากเกิดการทะเลาะแบ่งแยกความคิดของนักศึกษาที่แตกออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายหนึ่งต้องการแสดงออกถึงความไม่พอใจ และต้องการให้รัฐบาลออกมาชี้แจง ส่วนอีกฝ่ายมีความเห็นว่าไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการศึกษา

ด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างกันนี้เอง เกิดมีการชกต่อยปะทะกันบริเวณหน้ารูปปั้น “พ่อขุนรามคำแหง” ฉันอยู่ในเหตุการณ์ทำข่าวและเก็บภาพที่นักศึกษารามคำแหงชกต่อยทำร้ายมาตลอด จนหัวหน้าข่าวสั่งว่า

            “สันตินายจะต้องติดตามข่าวนักศึกษารามคำแหงมาเสนอทุกวัน ข่าวนี้อาจจะลุกลามใหญ่โตแน่”พี่พินิจ นันทวิจารณ์” หัวหน้าข่าวผู้มีพระคุณที่มาจากนสพ.พิมพ์ไทยเป็นผู้สั่งฉัน

ในช่วงระยะเวลานั้นข่าวใหญ่นับตั้งแต่ข่าวเฮลิคอปเตอร์ทหารตก ข่าวทหารกับดาราเข้าไปล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร อำเภอสังขละ กาญจนบุรี ฉันเป็นคนทำเป็นสกู๊ปพิเศษ

โดยเฉพาะข่าวล่ากระทิงที่ “ซาเซโว” ฉันได้รับการช่วยเหลือจากนาย “ผ่อง เล่งอี้” เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ซึ่งภายหลังได้รับตำแหน่งเป็นอธิการบดี เพราะความที่ท่านเป็นนักเรียนสวนกุหลาบฯ สถาบันที่ฉันเรียน ภาพข่าวที่ได้มาจึงล้ำหน้ารวมเร็วกว่าหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น

แต่สำหรับข่าวนักศึกษารามคำแหงก็เช่นกัน ฉันรู้จักนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวหลายคน ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นกลุ่มที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเหตุการณ์

            “14 ตุลา วันมหาวิปโยค” อย่างเช่น “สมพงษ์ สระกวี” ,“วิสา  คัญทัพ” นักศึกษาคนนี้เป็นคนแต่งบทกลอนที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองสมัยนั้นจดจำและใช้ตลอดมาว่า

                                    ...เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน...

จากเหตุการณ์ทั้งหมดก็ลุกลามเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เหมือนอย่างที่พี่ “พินิจ นันทวิจารณ์” คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า เมื่อบรรดานักศึกษารามคำแหงจำนวนนับพันคนที่เคลื่อนไหวอยู่ในมหาวิทยาลัย ออกมาเคลื่อนไหวนอกมหาวิทยาลัย

โดยการเดินขบวนไปชุมนุมกันอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยประชาธิปไตย เรียกร้องให้ “จอมพล ถนอม กิตติขจร” นายกรัฐมนตรีที่ถูกเรียกว่าเป็น “รัฐบาลทหารเผด็จการ” ลาออกจากราชการ มีโปสเตอร์หนึ่งที่นักศึกษาเขียนตัวโต เป็นข้อความที่ก่อให้เหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งเกิดตามมา ข้อความประวัติศาสตร์ที่นักศึกษาเขียนไว้คือ

                                    ...สภาสัตว์ป่าซาเซโว อนุญาตให้ต่ออายุราชการต่อไปอีก...

“สันติ   เศวตวิมล”

นักเขียนบรรณาธิการอาวุโส

เจ้าของรางวัลนักเขียนรางวัลนราธิปประพันธ์พงศ์ 2565

โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ 42 เหตุการณ์ก่อน 14 ตุลาคม 2516