ไซยาไนด์ คืออะไร? ทำความรู้จักกับสารอันตรายที่คร่าชีวิตได้ในพริบตา
ไซยาไนด์ หนึ่งในสารเคมีที่หลายคนอาจเคยผ่านตาผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ โดยไซยาไนด์ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นร้อนของสังคมหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ เนื่องด้วยความอันตรายของมันที่สามารถคร่าชีวิตคนได้ในพริบตา
แล้วไซยาไนด์คืออะไร พบได้ที่ไหน แล้วเราจะสามารถมือกับมันอย่างไรได้บ้าง วันนี้ทาง MiX Magazine ขอหยิบข้อมูลพอสังเขปของสารอันตรายชนิดนี้ มาฝากให้ทุกคนได้ทำความรู้จักและเตรียมรับมือกับมันกันครับ
ไซยาไนด์ คืออะไร?
ไซยาไนด์ คือสารเคมีอันตรายและมีความเป็นพิษสูงมาก ออกฤทธิ์เร็ว เป็นสารเคมีที่มักนำมาใช้สร้างประโยชน์ในแวดวงอุตสาหกรรม เช่น การทำเหมืองแร่ การผลิตกระดาษ สิ่งทอ พลาสติก และยาฆ่าแมลง สามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และอาหาร เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการเสียชีวิตสูงมาก
ไซยาไนด์มีกี่รูปแบบ
ไซยาไนด์สามารถพบได้ทั้งในรูปแบบของแข็ง ของเหลว และแก๊ส โดยแต่ละชนิดมีดังต่อไปนี้
- โซเดียมไซยาไนด์ (Sodium cyanide หรือ NaCN) รูปแบบของแข็งสีขาว ละลายได้น้ำ นิยมใช้เคลือบเงาหรือเคลือบสีเหล็กในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง
- โพแทสเซียมไซยาไนด์ (Potassium cyanide หรือ KCN) รูปแบบของแข็งสีขาว ละลายน้ำได้ดีมาก เมื่อเจอความร้อนจะทำให้เกิดควันพิษ นิยมใช้สกัดแร่ทองหรือเงินในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง
- ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide หรือ HCN) รูปแบบของเหลวและแก๊สไม่มีสี นิยมใช้เป็นแก๊สพิษในสงคราม พบได้ในควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม
- ไซยาโนเจนคลอไรด์ (Cyanogen chloride หรือ CNCl) รูปแบบของเหลวและแก๊สไม่มีสี แต่มีกลิ่นฉุน นิยมใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลหะ หรือการสังเคราะห์สารอินทรีย์
สามารถพบได้ที่ใดบ้าง
ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่สามารถพบได้ในพืชผักและผลไม้ต่าง ๆ เช่น มันสำปะหลัง หน่อไม้ อัลมอนด์ แอปเปิล และอื่น ๆ ซึ่งพบในปริมาณที่น้อย และในร่างกายของมนุษย์ก็สามารถเกิดขึ้นได้จากกระบวนการเผาผลาญ ซึงไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
นอกจากนี้พบว่า ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มักถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรม เช่น การทำเหมืองแร่ การผลิตกระดาษ สิ่งทอ พลาสติก และยาฆ่าแมลง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นอีกด้วย
กลไกการออกฤทธิ์
เมื่อไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกาย สารอันตรายนี้จะเข้าไปกับเซลล์ต่างๆ ส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจนและพลังงานอย่างรวดเร็ว เพราะร่างกายของมนุษย์จำเป็นต้องได้รับออกซิเจนตลอดเวลา
เมื่อร่างกายขาดออกซิเจนแล้ว อวัยวะแรกที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือสมอง ส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ เกิดอาการชัก และหมดสติ
โดยไซยาไนด์เป็นสารอันตรายที่ออกฤทธิ์รวดเร็ว หากได้รับในปริมาณที่มากพอก็จะทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และเสียชีวิตได้ในระยะเวลาไม่เกิน 10 นาที
ข้อปฏิบัติและวิธีรับมือ
ไซยาไนด์ สามารถเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้หลากหลายวิธี ทั้งการสัมผัสโดยตรงผ่านผิวหนัง ดวงตา การสูดดม และการรับประทาน
หากสัมผัสโดยตรงผ่านผิวหนัง ควรรีบถอดชุดโดยไม่ใหชุดโดนบริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพิ่มเติม ล้างน้ำให้สะอาดมากที่สุด ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล
หากสัมผัสโดยตรงผ่านดวงตา ควรรีบล้างดวงตาด้วยน้ำสะอาดอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 นาที ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล
หากสูดดมหรือรับประทานเข้าไป ให้สังเกตอาการ ถ้าหมดสติ หัวใจหยุดเต้น ให้รีบทำการ CPR โดยไม่แนะนำให้ใช้ปากเป่าลมเพราะอาจปนเปื้อนสารพิษได้ ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล
นอกจากนี้ หากจำเป็นต้องมีการเก็บสารเคมีอันตรายชนิดนี้ไว้ใกล้ตัวก็ควรแยกเก็บในภาชนะที่มิดชิด ไม่ปนเปื้อนกับภาชนะหรือวัตถุอื่น ๆ
และควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก โดยเฉพาะอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ เพราะความร้อนจะช่วยขจัดสารไซยาไนด์ท่าปนเปื้อนอยู่ในอาหารให้เจือจางลงไปได้บ้าง