ความหมายของงานที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า
การทำงานมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์เป็นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่าการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ปฏิบัติมากกว่ากิจกรรมใด ๆ เป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาในชีวิตอย่างน้อย 2 ใน 3 ของชีวิต และยังมีความสำคัญในด้านการดำรงชีวิตปัจจัย 4 (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) นอกจากนั้นการทำงานยังเป็นการเปิดโอกาสให้แสดงออกถึงความรู้สติปัญญา ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อันจะนำมาซึ่งความพึงพอใจในชีวิต และยังเป็นการสร้างความก้าวหน้า ความมั่นคงให้กับตนเองและครอบครัว รวมไปถึงการมีคุณภาพชีวิตและฐานะทางสังคมที่ดี
อย่างไรก็ตามคนจำนวนมาก หมดเวลาไปกับการทำงาน โดยมองว่าการทำงานไม่ใช่ความสุขแต่เป็นเพียงกิจกรรมที่ทำเพื่อให้ได้ “เงิน”หรือค่าตอบแทนความเหน็ดเหนื่อยที่เสียไปเพียงเท่านั้น
ผมเคยกล่าวไว้ในหนังสือ ข้อคิดเพื่อการทำงานว่า “หากเราคิดว่า การทำงานเป็นสิ่งที่ดี ชีวิตเราก็จะมีความสุข แต่ถ้าคิดตรงกันข้าม เราจะจมกับความทุกข์ตลอดชีวิต” การที่คนไม่มีความสุขหรือมองว่าการทำงานเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ เพราะหลายคนมองว่า “งาน” กับ “ชีวิต” เป็นเรื่องที่แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง และพยายามหาสูตรการใช้ชีวิตเพื่อแบ่งเวลาให้เป็นสัดส่วน สมดุล ลงตัวมากที่สุด โดยให้เหตุผลว่า ความไม่สมดุลทำให้เกิดปัญหา เช่น อาการหมดไฟ ปัญหาสุขภาพ พลาดการใช้เวลากับครอบครัว คนรัก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าความเข้าใจที่ถูก และ ผิด ในเรื่องงานมีความสำคัญ และเป็นตัวกำหนดความสุข ความสำเร็จและคุณค่าในการดำเนินชีวิต ซึ่งในมุมมองของผม คำว่า “งาน” ในภาษาอังกฤษมีหลายคำ ซึ่งแต่ละคำมีจุดเน้นต่างกัน จึงมีมิติน่าสนใจ ดังต่อไปนี้
1.Work - เน้น Effort หรือ Outcome Performance
งาน (Work) คือ กิจกรรมทั่วไปที่ทำ ไม่ว่าจะโดยสมัครใจหรือจำเป็น โดยอาจจะได้หรือไม่ได้รับค่าตอบแทนก็ได้และเป็นการกระทำที่ไม่ต่อเนื่องเช่น งานที่ใช้แรงกาย งานตรากตรำ ค้าขาย งานฝีมือ ฯลฯ งาน (Work) เกิดจากโอกาสในการใช้แรงงานในทางที่เป็นประโยชน์ซึ่งจะเน้นไปในทางการพยายามทำให้ได้ผลลัพธ์หรือผลการปฏิบัติการ เป็นต้น
2.Employment - เน้น Contract
การจ้างงาน (Employment) คือ สัญญาว่าจ้างให้ทำงานหรือบริการแลกค่าจ้างซึ่งทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยทั่วไปจะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาพการจ้าง เช่น ค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ ฯลฯ ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นสัญญาจ้างงานจึงเห็นได้ว่าการจ้างงาน (Employment) จึงเน้นไปที่ สัญญาการจ้างงาน (Contract) เป็นหลัก
3.Job - เน้น Action
งาน (Job) คืองานที่ทำนอกเหนือจากการทำงานในสำนักงานเป็นเพียงแค่เพื่อให้ได้รายได้ เงินเดือน สวัสดิการ หรือผลประโยชน์ทางสังคมบางอย่างเท่านั้น คนที่ทำงาน (Job) จะโฟกัสไปที่ครอบครัว เพื่อน หรือ งานอดิเรกของตนเองมากกว่าการแสวงหาความรู้ในอาชีพจะไม่ได้สนใจในการเพิ่มประสบการณ์หรือเห็นคุณค่ากับงานที่ทำ ผมจึงมองว่า “งาน (Job)” เป็นเพียงงานที่เน้นไปทางการลงมือ (Action) เพื่อได้ผลลัพธ์ตามความต้องการเท่านั้น
4.Career - เน้น Continuity
“สายอาชีพการงาน” (Career) คือ สิ่งที่ทำเพื่อตัวเอง ต่างกับ งาน (Job) ที่ทำเพื่อคนอื่น งาน (Career) ที่ทำก็ทำเพื่อรายได้ เงินเดือน สวัสดิการ และผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่นกัน เพียงแต่ว่ามีแรงขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มโอกาส เพื่อพัฒนาตนเอง เพื่อฝึกตัวเองให้สามารถสร้างความประทับใจกับคนอื่น และมีวิสัยทัศน์ที่อยากจะก้าวหน้าในอาชีพของตัวเองในระยะยาว มีการตั้งเป้าหมาย และสนุกไปกับการแข่งขันกับเพื่อนร่วมงาน อาชีพจึงต้องเน้นไปที่ความต่อเนื่อง
5.Occupation - เน้น Focus หมกมุ่น
“อาชีพ” (Occupation) คือ งานที่กระทำตามภาระและหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบเช่น นักบัญชี ชาวประมง เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ เป็นต้น ซึ่งจะเลือกอาชีพตามความชอบหรือความถนัด จึงเป็นการหมกมุ่นการงานเพื่อทำให้หมดเวลาโดยได้รับค่าตอบแทนเป็นรายได้ ค่าจ้าง หรือเงินเดือน เป็นงานที่สุจริต ไม่ผิดศีลธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม ในมุมมองผมคำว่า “อาชีพ” (Occupation) จึงมุ่งเน้นไปที่การ หมกมุ่น (Focus) มากกว่า
6.Profession - เน้นมาตรฐาน (Standard)
“วิชาชีพ” (Profession) ในทางพุทธศาสนา คือการเป็นไปตามธรรมชาติตามสภาวธรรม ตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงการเลี้ยงชีพอย่างเดียว แต่ต้องดูจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของอาชีพนั้น เช่น อาชีพแพทย์ ช่วยให้คนหายเจ็บป่วย หรืออาชีพนักกฎหมาย ช่วยให้คนได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น ผมจึงมองว่า วิชาชีพ (Profession) เป็นการพัฒนามาจากอาชีพ แต่ต้องใช้ความรู้ความสามารถ ความชำนาญขั้นสูงด้านสติปัญญามากกว่าการใช้กำลังด้านร่างกาย จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเรียนรู้ ฝึกฝนเป็นพิเศษ มีความรับผิดชอบสูงมากกว่างานในอาชีพทั่วไปผมจึงเห็นว่า วิชาชีพ (Profession) จึงมุ่งเน้นมาตรฐาน (Standard) ที่ยึดมั่นทั้งในทางจริยธรรม และยึดมั่นในตนเอง และเป็นที่ยอมรับจากสาธารณชน
7.Vocation – เน้นรับจิตสำนึกจากเสียงเรียกภายใน (Inner Calling)
อาชีพ (Vocation) สะท้อนว่างานที่ทำสอดคล้องไปกับตัวตนทั้งใน และนอกเวลาทำงานรู้สึกมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งทั้งทางส่วนตัวและทางอารมณ์กับงาน ทั้งยังมีความกระตือรือร้นในการทำงานมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน มีความพยายามที่จะทำงานหนักขึ้นและนานขึ้นเพื่อผลงานที่ดีกว่า มีความพึงพอใจในงานมีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่จิตสำนึกบอกว่ามีคุณค่า งานจึงเป็นความรู้สึกเหมือนกับเป็นคุณค่าแห่งความหมายแห่งชีวิต ที่ทำให้เราแสดงออกความหมายชีวิตผ่านงานที่ทำ งานจึงไม่ใช่สิ่งที่ทำเพียงแค่เงิน หรือด้วยความจำใจ ฯลฯ สำหรับผม อาชีพ (Vocation)จึงเน้นไปที่การรับจิตสำนึกหรือเสียงเรียกในจิตใจ (Inner Calling)
ดังนั้นในมุมมองของผมคำว่า “งาน” จึงหมายความว่า “การรับจิตสำนึก” (Inner Calling) โดยให้น้ำหนักทั้ง 7 คำร่วมกันแต่ให้น้ำหนักคำว่า (Vocation) หรือเสียงเรียกในจิตใจให้อุทิศตัวมากที่สุด เป็นการรับเสียงเรียกมาเป็นจิตสำนึก และ รับมาอย่างตั้งใจจะประกาศให้ทราบทั่วกันว่า จะอยู่ในเรื่องนี้ จะหมกมุ่นอย่างต่อเนื่อง จะลงมือทำเหมือนเป็นสัญญา และจะพยายามอย่างถึงที่สุดจนกว่าจะเกิดผลลัพธ์
โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า
สิ่งที่ขับเคลื่อนให้ทำงาน คือ จิตสำนึก (ไม่ใช่เงินทอง,ตำแหน่ง, ชื่อเสียง ฯลฯ)
ความรู้สึกต่องาน คือ ความรักงาน (ไม่ใช่ เกลียดงาน ปฏิเสธงาน)
การตัดสินใจเลือกงานคือ การเลือกสิ่งที่จะจดจ่อที่มีคุณค่าสูงสุด (ไม่ใช่ สิ่งที่มีมูลค่าเป็นหลัก)
เป้าหมายของการทำงาน คือ การ “สร้างชีวิตให้ดี เก่ง กล้า” (ไม่ใช่เพื่อ ‘สร้างเนื้อ สร้างตัว’)
ผลลัพธ์ของการทำงาน คือ ความสุข ชีวิตที่มีคุณค่าและความหมาย (ไม่ใช่ ตรากตรำ จำใจ)
หากต้องเลือกงาน ขอให้เลือกงานที่บูรณาการเข้ากับอุดมการณ์เป้าหมายในชีวิตได้ หากมีงานอยู่แล้ว ขอให้ปรับมุมมอง ความคิด ทัศนคติ ความรู้สึกต่องานที่ทำ ให้เป็นไปตามนิยามความหมายงานที่แท้จริงที่หมายถึง “การรับจิตสำนึก ไม่ใช่การรับจ้าง” และเป็นคุณค่าแห่งความหมายในชีวิตและเห็นผลลัพธ์เลอค่าจากงานที่ทำ ซึ่งตลอดชีวิตผมที่ผ่านมา ผมอุทิศเวลา ความรู้ เงินทอง ทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อมีส่วนสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ให้กับโลกนี้ให้ได้มากที่สุด เฉกเช่นเดียวกันในการเลือกงาน ผมจะเลือกประเภทของงานที่สามารถปลดปล่อยศักยภาพในตัวออกมาได้มากที่สุด เป็นงานที่มีคุณค่าในชีวิตผมและมีคุณค่าเกิดประโยชน์ต่อคนในสังคมให้มากที่สุดนั่นแหละครับ คือความหมายของงาน ที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่าที่แท้จริง