เทวัญ ทรัพย์แสนยากร ผู้สร้างสรรค์ศิลปะของเสียงเพลง

เทวัญ ทรัพย์แสนยากร ผู้สร้างสรรค์ศิลปะของเสียงเพลง

   

   นักดนตรีแจ๊สโดยเฉพาะผู้เป่าแซกโซโฟนที่คนไทยจดจําได้เป็นคนแรก ๆ ของประเทศไทยก็คือ อาจารย์ต้อง เทวัญ ทรัพย์แสนยากร ผู้อยู่ในวงการดนตรีมาอย่างโชกโชนยาวนานหลายสิบปี ท่านมีฝีไม้ลายมือการเล่นดนตรีอย่างพลิ้วไหว ด้วยเทคนิคชั้นสูง จึงได้รับการรับยอมจากคนในวงการดนตรีมาโดยตลอด และวันนี้เรามาพูดคุยนักดนตรีแจ๊สที่ว่ากันว่าคือมือหนึ่งของประเทศไทย ตั้งแต่เขาเริ่มต้นเล่นดนตรีจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

   อาจารย์เทวัญเกิดที่อําเภอบัวใหญ่ จังหวัดนคราชสีมา อยู่ในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นข้าราชการมีคุณแม่เป็นแม่บ้าน แต่สิ่งอาจารย์เทวัญในวัยเด็กต่างจากคนอื่นคือ เป็นคนที่ชอบฟังเพลงทุกประเภทเป็นอย่างมาก จึงชอบเรื่องของดนตรีมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเข้ามาเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ได้เข้ามาพบกับวงดุริยางค์ของโรงเรียน แต่ในขณะนั้นยังเล่นดนตรีไม่เป็น และไม่ได้เป็นสมาชิกวงดุริยางค์ แต่ด้วยความชอบก็แอบเข้าไปในห้องดนตรีเพื่อทําการซ้อมเป่าจนเกิดเสียงดนตรี หลังจากนั้นก็ทําการซ้อมด้วยตัวเองมาโดยตลอด

   มาวันหนึ่งวงดุริยางค์ขาดคนเล่นเฟรนซ์ฮอร์น (Frenchhorn) จึงเป็นโอกาสที่อาจารย์เทวัญ ได้เข้าร่วมเล่นในวงอย่างเป็นทางการ ซึ่งต่อมาได้มีการประกวดแข่งขันวงดุริยางค์ระดับประเทศ ในปี พ.ศ.2503 ซึ่งวงดุริยางค์ของโรงเรียนคว้ารางวัลที่ 2 ของประเทศมาครองได้

   จนกระทั่งในช่วงมัธยมปลาย ซึ่งเป็นทางเลือกของชีวิตว่าจะต้องสอบเรียนต่อในสายอื่น แต่ด้วยเพื่อนคนหนึ่งได้แนะนําว่าถ้าชอบดนตรีให้มาที่ศูนย์เยาวชน เพราะมีการเรียนการสอนดนตรีที่เป็นมืออาชีพ ซึ่งที่ศูนย์แห่งนี้เองได้มีแซกโซโฟนเหลืออยู่เพียงหนึ่งตัวพอดี อาจารย์เทวัญจึงลองเป่าดู ปรากฏว่าการเป่าครั้งนั้นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของนักดนตรีแซกโซโฟนคนสําคัญของประเทศไทย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

   “การเรียนแซกโซโฟนของผมคือ หัดด้วยตัวเองก็หาหนังสือมาอ่านไม่เข้าใจก็ถามอาจารย์เพิ่มเติม ผมคิดว่าถ้าตัวเองมีพรสวรรค์มันน่าจะได้ดีกว่านี้ เพราะเห็นมีเด็กอัจฉริยะที่ทําได้มากกว่าคนปกติมาก ซึ่งผมคงจะมีแค่ส่วนหนึ่งในแง่ที่ว่าเป่ามันโดนเล่นได้พอดี ซึ่งการที่เราเล่นดนตรีตรงนี้ มีการตั้งปณิธานว่า เราต้องทําความไพเราะให้ได้ เหมือนที่คุณจะไปเรียนวาดรูป คุณต้องวาดความสวยงามให้ได้ ถ้าคุณตกตรงนี้คุณก็แค่พื้น ๆ เหมือนคนธรรมดาทั่วไป บางคนเล่นดนตรีได้แต่ความไพเราะยังไม่เกิด ทําได้หนักเบาเฉย ๆ ความลึกซึ้งจึงเข้าไปไม่ถึง

   “พอเข้ามาเรียนที่ศูนย์เยาชน เพื่อนรุ่นพี่ก็ชวนไปแสดงดนตรีร่วมกับเล่นคณะรําวง คือชีวิตช่วงนั้นมันรวดเร็วไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นนักดนตรีอาชีพ พอเล่นกับรําวงได้ ก็มีคนชวนเข้าไปเล่นตามห้องอาหาร หลังจากนั้นก็มาเล่นในไนต์คลับเลย เหมือนเส้นทางมันเดินไปพอดี คราวนี้ไปตรงไหนก็จะมีคนบอกว่าเด็กหนุ่มคนนี้ฝีมือไม่ธรรมดานะ แล้วท้ายสุดผมได้มาเล่นที่ไนท์คลับที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพในตอนนั้น ซึ่งมีนักร้องดัง ๆ ในยุคนั้น ก็คือ สุเทพ วงศ์กําแหง, ธานินทร์อินทรเทพ,รวงทอง ทองลั่นทม ฯลฯ

   “การเข้ามาเล่นดนตรีในกรุงเทพ ผมมีโอกาสเข้าไปอยู่ในวง เดอะไวท์เฮ้าท์ ทําการแสดงที่โลลิต้าไนต์คลับ ระหว่างนั้นผมได้เข้าไปศึกษาเพิ่มเติมที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการ ในภาควิชาเรียบเรียงเสียงประสาน ผมได้รับการถ่ายทอดวิชาจากอาจารย์แมนรัฐ ซึ่งท่านไปเรียนมาจากศิลปินแจ๊สชาวอเมริกา ซึ่งถือว่ายิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก แล้วนํามาถ่ายทอดไว้ที่สถาบัน ซึ่งผมก็ไปเรียนวิชาเรียบเรียงเสียงประสานในสไตล์แจ๊สบิ๊กแบรนด์ ซึ่งนํามาใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ด้วย

   “ผมรับงานแสดงในคลับก็ทําอย่างนี้มาเรื่อย ๆ จนมีคนเริ่มรู้จักชื่อเสียงว่าคนเป่าแซกโซโฟนหนุ่มที่ไม่ธรรมดา ชื่อของต้องเทวัญจึงเริ่มเกิดขึ้น ต่อมาจากวง “ดิอิมพอสซิเบิ้ล” ซึ่งเป็นวงที่โด่งดังในยุคนั้นได้มีการยุบวง คุณเรวัติ พุทธินันทน์ จึงได้ตั้งวงใหม่ชื่อว่าวง Oriental Funk ผมได้รับติดต่อจาก คุณศรายุทธ สุปัญโญ ให้มาร่วมวงด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะไปทัวร์ในต่างประเทศ

   “หลังจากที่วงกลับมาจากต่างประเทศ โรงแรมมณเฑียรเขาได้ทําคลับแนว ดิสโก้เทคพอดี ก็เลยให้วง Oriental Funk มาเล่นประจํา ซึ่งก็ทําให้วงนี้มีชื่อเสียง เป็นระดับเกรด A ของประเทศไทยในตอนนั้น เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในวงการดนตรี และสังคมทั่วไปในภายหลังถึงจุดอิ่มตัวก็มีการแยกย้ายกันไปทํางานของแต่ละคน

   “ผมคิดไว้แล้วว่าสักวันต้องทําการแสดงเป็นแบบ One man Show และตั้งแต่วันนั้นก็ทําเป็น “ต้องโชว์” คือ การเป่าแซกโซโฟนโชว์คนเดียว ผมเป็นคนแรก แรก ๆ ในยุคราว 50 ปีที่ผ่านมา ที่ทําเป็นนักโซโล่เดี่ยว ซึ่งบ้านเราตอนนั้นไม่มีนักโซโล่ เพราะนักดนตรีส่วนใหญ่จะเล่นกันเป็นวงเล่นเพื่อให้นักร้องร้องเท่านั้นเอง พอผมทําออกมาจึงทําให้คนรู้จัก “ต้อง เทวัญ” มากขึ้น

   “พอเริ่มมีชื่อเสียงศิลปินเพลงแทบทุกท่านในยุคนั้นก็เชิญผมไปเล่นดนตรีให้ ก็มีตั้งแต่วงแกรนด์เอ็กซ์ วงอินโนเซ้นท์ พัชรา แวงวรรณ อย่างของค่ายแกรมมีผมไปเป่าให้แทบทั้งหมดเช่น คู่ นันทิดา แหวน ฐิติมา หรือแม้กระทั่งเพลงของ พี่เบิร์ด ธงไชยแมคอินไตย ผมก็ไปช่วยเป่าแซกโซโฟนมาแล้ว นอกจากนี้ยังมี เพลงโฆษณาที่ผมได้ร่วมงานเยอะมาก

   “สิ่งที่ผมมีต่างจากนักดนตรีปกติคือ ผมเป็นนักดนตรีที่สร้างสรรค์รูปแบบใหม่ให้กับเสียงเพลงได้ ซึ่งเมื่อก่อนนักดนตรีในลักษณะนี้มีจํานวนน้อย ส่วนมากเขาจะเล่นตามคําสั่ง ซึ่งผมตั้งใจที่จะเป็นนักดนตรีโชว์เดี่ยวที่เป่าแซกโซโฟน ซึ่งไม่มีใครเคยกล้าทํามาก่อนในประเทศไทย ซึ่งผมเป็นคนนําร่องขึ้นมาเลย

   “แต่ความเป็นศิลปินต้องผสานให้เข้ากับความเข้าใจของสื่อมวลชนให้พอดีด้วย มันต้องเริ่มจากการที่เขาติดตามผลงานของผมมาพอสมควร การที่สื่อจะเขียนสิ่งที่เขาต้องการออกมาจึงทําได้จัดเจนขึ้นในคําจํากัดความของ “เทวัญ” ผมไปในแต่ละครั้งที่มีการให้สัมภาษณ์ บางคนเขาก็ให้ฉายาเรามาเองอย่างเช่น แซกโซโฟนมือหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งผมไม่กล้าพูดเอง แต่มาจากสื่อมวลชน และประชาชนที่เห็นผลงานของเราเอง

   “แม้ผมจะเป็นศิลปินเดี่ยว แต่ตัวเองยังไปทําวงดนตรีอินฟินิตี้ ร่วมกับ คุณศรายุทธ สุปัญโญ ในสไตล์ฟิวชั่นป๊อบแจ๊ส ผมก็ไปเป่าให้หลายอัลบั้มว่าเป็น วงแจ๊สแนวฟิวชั่น และเป็นวงแรกของประเทศไทยที่มีเป็นผลงานออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งสมัยก่อนวงดนตรีแจ๊สแต่ส่วนใหญ่ไม่มีผลงานออกมา เราก็ไปเติมเต็มในส่วนที่ขาดของวงในยุคนั้น

   “นอกจากนี้ผมยังได้ร่วมวง “กังสดาล” ร่วมกับคุณ อัมพร จักกะพาก ที่ใช้เครื่องดนตรีไทยอย่างปี ขลุ่ย ซอด้วง ซออู่ จะเข้ ระนาดบรรเลงร่วมกับโซปราโน อัลโตแซ็กโซโฟน นําเพลงไทยของเดิมมาเรียบเรียงในรูปแบบแจ๊สเป็นการเปลี่ยน วิธีการแนวผสมผสานเป็นการทําสิ่งที่มีให้มีความโมเดิร์นขึ้น

   “ซึ่งก่อนที่จะตัดสินใจทําวงในครั้งแรกก็ผมประกาศหาสมาชิก ใครที่คิดว่ามีความสามารถก็อยากให้เขามาก็มีนักนักดนตรีกลุ่มหนึ่งเข้ามาคือตระกูล “ปานพุ่ม” พี่ชายของแมว จิรศักดิ์ ชื่อ “คุณวิบูลย์ ปานพุ่ม” เข้ามาหาผมแล้วบอกว่าเดี๋ยวพวกผมจะเล่นให้ดู คือเขามากันทั้ง 3-4 พี่น้องครบวงเลย ผมก็ดูว่าผมจะเล่นเข้ากันได้ใหมคือความตั้งใจและฝีมือการเล่นดนตรีของพวกเขาถือว่าดีมาก ผมก็ตั้งวงขึ้นมาเลยมี เบส กลอง กีตาร์ และตัวผมก็เล่นแซกโซโฟนไปโชว์ที่ไหนก็มีคนนั่งฟัง |

   “พวกเราเล่นดนตรีกันมาเรื่อย ๆ ต่อมาภายหลังคิดว่าควรเอาเครื่องดนตรีไทย เข้ามาร่วมด้วยสัก 1 ชิ้น ผมเลือกเอาระนาดเข้ามาผสม มีนักดนตรีเพิ่มมาอีกคน หนึ่งคือคุณบุญยงค์ ฟักภู่ มาเป็นมือตีระนาด จึงกลายเป็นวง “เทวัญ โนเวลแจ๊ส” ที่ชัดเจนมากเป็นแจ๊สร่วมสแนว Contemporary สไตล์ร่วมสมัยที่สร้างสรรค์ 

   “วง “เทวัญ โนเวลแจ๊ส” ก็ไปคว้ารางวัลวงยอดเยี่ยมในงาน “แจ๊สเฟสติวัล ในเอเชีย” ซึ่งจัดที่มาเลเซีย เป็นงานแจ๊สเฟสติวัลใหญ่ คือในยุคนั้นคนส่วนใหญ่ จะมาดูวงของผมแสดงว่าสร้างรูปแบบวงที่มีความแปลกใหม่ ซึ่งวงของเราในตอนนั้น ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลกแล้ว

   “ในภายหลังผมได้ขยายวงให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นการเพิ่มสีสันเข้าไปกลาย เป็นวงเทวัญ โนเวลแจ๊สใหญ่ มีจํานวนสมาชิก10 กว่าคน ใช้เครื่องดนตรีไทยผสม เกินครึ่ง คือ ระนาด ขิม ขลุ่ยวงดนตรีในยุคนั้นจึงมีความเป็นไทยค่อนข้างสูง ในขณะที่วงในช่วงแรกออกแนวโมเดิร์น แต่ช่วงหลังออกแนวความเป็นไทยมากขึ้น

   “แต่การทําวงที่ใหญ่ขึ้นมันก็มีความยากคือ จํานวนคนที่มากการซ้อมของวง อาจไม่สมบูรณ์เต็มที่ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นปัญหาบ้าง ระบบการจัดการในช่วงแรก จึงยังไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าไหร่ แต่เราก็ปรับเปลี่ยนกันมาจนดีได้ในภายหลังโดยจุด เด่นคือเรามีคอนเซ็ปต์ที่แข็งแรง มีการคลีเอทีฟอยู่ตลอดเวลา ถือว่าเป็นการนําร่อง วงดนตรีในในแนว Contemporary ในประเทศไทย ซึ่งก็คือแนวแจ๊สที่ผมบุกเบิก มาทุกวันนี้ ช่วงหลังมีคนอื่นทํากันหลายวงแล้ว ซึ่งวิธีการแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน

   “วิธีการนําเครื่องดนตรีต่างประเภทมารวมกัน มันต้องใช้วิธีการหลอมรวมให้ เป็นหนึ่ง ไม่ใช่การเอาเครื่องดนตรีไทยมาเล่นผสมเครื่องดนตรีสากลเลย แบบนี้ มันเหมือนเอาเครื่องดนตรีมาให้อยู่คู่กันเฉย ๆ มันไม่ผสานสอดคล้องซึ่งมีส่วนเสีย มากกว่า แต่การทํางานของผมได้วางแพทเทิร์นของคอร์ดฮาโมนิคต่าง ๆ และการ ทําริที่มให้กลองตีอย่างไรก็จะฉีกออกไป และทุกคนจะต้องเล่นในสิ่งที่เราหลอมขึ้น มาใหม่ คือไม่ให้เป็นสากลทั้งหมดและไม่เป็นไทยทั้งหมด คือเมื่อหลอมรวมจะเป็น อะไรก็ได้แต่อย่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นที่ชัดเจนขึ้นมา

   “เรื่องของดนตรีมันก็เหมือนกับโลกของเราที่มีหลายสิ่งประกอบกัน ผมยก ตัวอย่างมันมีภาษามากมาย เรารู้ว่าภาษาเกาหลี และภาษาญี่ปุ่นอยู่ใกล้กัน รู้ว่าพูดอย่างไร เราฟังไม่ออกแปลไม่ได้ แต่ทําไมเราถึงสามารถแยกทั้งสองภาษานี้ ได้ว่าอย่างไหนคือภาษาเกาหลีหรือภาษาญี่ปุ่น เรื่องของดนตรีก็เหมือนกันเลย ถ้านักดนตรีคนไหนแยกความต่างนี้ไม่ออกจะทํางานแนวสร้างสรรค์ยากนิดหนึ่ง เป็นเพียงคนที่นําเครื่องดนตรีมาผสมกันแค่นั้นเอง

   “อีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้ทําร่วมกับการเล่นดนตรีคือการการสร้างคาแรคเตอร์ตัวเองขึ้นมาให้คนได้จดจํา มันเป็นแก๊กหนึ่งที่คิดขึ้นมา ผมคิดว่าทุกคนควรต้องสร้างอยู่แล้วแต่ว่ามันต้องถาวร ซึ่งยังไม่มีใครทําในสิ่งที่ผมทําแล้วผมจะไม่ทําในสิ่งที่คนอื่นทํามาก่อน อย่างการตัดผมทรงโมฮอกหรือทรงที่คนปกติเขาตัดกัน ผมก็ทําทรงผมที่มันเกิดความสมดุลจนในที่สุดก็ได้ทรงที่เหมาะสมกับตัวเองมีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมไปทําการแสดงที่ประเทศอเมริกา คนผิวดําเดินสวนกับผมเขาหันมามองยกนิ้วให้ด้วยชื่นชอบในคาแรคเตอร์ถึงขนาดต้องหันมาชื่นชม เหมือนเป็นการเซอร์ไพรส์สําหรับเขาด้วย

   “จากการที่ผมอยู่ในวงการเพลงแจ๊สมาตลอด ผมคิดว่านักดนตรีรุ่นใหม่เก่งขึ้น มีการพัฒนาขึ้นมาก ต้องขอบคุณสถาบันการศึกษาเปิดสอนอย่างเป็นระบบ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นแหล่งผลิตบุคคลกรด้านดนตรีที่มีคุณภาพ เรามีนักดนตรีมาตรฐานเท่ากับระดับอินเตอร์เนชั่นแนลในประเทศไทย ทุกแขนง ทั้งแนวคลาสสิคเราก็พร้อมหมด ในเชิงฝีมือถือว่าดีขึ้นมาก แต่ในเชิงสร้างสรรค์ต้องเสริมอีกหน่อย เพราะนักดนตรีต้องสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น

   “อีกด้านหนึ่งในชีวิตของผมก็ภูมิใจนะ ที่มีหลายเห็นคุณค่าในสิ่งที่ผมทํามาตลอด หลายปีที่ผ่านมา ผมได้พบเจอแฟนเพลงหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นพนักงานช่วยงานในครัวโรงแรมที่เดินมาบอกผมว่า ผมฟังเพลงอาจารย์ทุกชุดเลย คือแค่นี้ผมก็ดีใจมากแล้ว ซึ่งแฟนเพลงของผมมีหลายระดับ ไม่ได้แบ่งแยกว่าต้องเป็นคนรวยหรือคนจนเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้าเขาเข้าใจในงานเราเขาก็จะตามเราตลอด

   “ในการที่คนยกย่องว่าผมเป็นนักดนตรีแจ๊สระดับต้น ๆ ของประเทศ เราก็ต้องเก็บเอาไว้ข้างในเพราะมันก็เป็นมุมหนึ่ง แต่ที่เราทําคือการให้ความสุขคนในด้านเสียงดนตรี ซึ่งธรรมชาติของผมจะทําให้สิ่งที่คนอื่นไม่ทํา ซึ่งเป็นไปในแนวทางสร้างสรรค์ที่ไม่ใช่ทําให้แย่ลง แต่ไม่ใช่บอกว่าทําแล้วดีกว่าต้องสัมผัสเอง สมมติว่ามีทางเดินอยู่ 3 ทาง ซึ่งทุกทางสามารถไปถึงจุดหมายได้ แต่คนส่วนใหญ่มักใช้ทางราบเรียบอยู่เพียงเส้นทางเดียว แม้ว่าทางอื่นมันจะขรุขระบ้างแต่มันก็ไปถึงปลาย ทางได้เหมือนกัน

Did You Know

• ชื่อที่เป็นทางการของอาจารย์เทวัญ คือ เมธวัชร์ ทรัพย์แสนยากร

• เครื่องดนตรีที่อาจารย์เทวัญเล่นแล้วเป็นที่จดจําคือ แซกโซโฟนขลุ่ยไวโอลิน

• ผลงานเดียวของอาจารย์เทวัญ

NOVEL JAZZ (พ.ศ. 2535)

อ้อน (พ.ศ. 2536)

เทวัญ โนเวลแจ๊ส 3 (พ.ศ. 2543)

เทวัญ และลินเดอแมนน์ สองขั้วจิ๋วแจ๊ส (พ.ศ. 2544)

IT'S POSSIBLE (พ.ศ. 2552) UNSEEN MELODIES

 

LEGENDS OF JAZAA ผู้เป่าแซกโซโฟนที่คนไทยจดจําได้เป็นคนแรก ๆ ของประเทศไทย