โรคฝีดาษลิง โรคติดต่อจากสัตว์ ที่อาจอันตรายถึงชีวิต!

โรคฝีดาษลิง โรคติดต่อจากสัตว์ ที่อาจอันตรายถึงชีวิต!

โรคฝีดาษลิง หรือ โรคฝีดาษวานร เป็นโรคที่ใกล้เคียงกับอีสุกอีใส และไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า โดยผู้ป่วยจะมีไข้ ร่วมกับ ตุ่มผื่นตุ่มหนองทั่วตัว และ ต่อมน้ำเหลืองโต  โรคนี้ถูกพบครั้งแรกในลิง จึงตั้งชื่อว่า ฝีดาษลิง  ฝีดาษลิงไม่เคยพบในประเทศไทย อย่างไรก็ดีผู้ที่กลับจากอัฟริกา หรือ สัมผัสกับสัตว์ป่าต่างถิ่น หากมีอาการดังกล่าว ก็ควรปรึกษาแพทย์

ซึ่งทางกรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง ว่าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์ที่มีเชื้อไวรัส Orthopoxvirus ซึ่งโดยธรรมชาติของเชื้อไวรัสดังกล่าว มีรังโรคอยู่ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ สามารถติดต่อไปยังสัตว์อื่น ในตระกูลลิงไม่มีหาง กระต่าย และสัตว์ฟันแทะอื่น ๆ เช่น กระรอกดิน ได้ ยิ่งไปกว่านั้น โรคฝีดาษลิง ยังสามารถติดต่อไปยังมนุษย์ได้อีกด้วย และถึงแม้ว่าจะพบได้ไม่บ่อย แต่อาจอันตรายถึงชีวิต

โรคฝีดาษลิง ติดต่อได้อย่างไร?

ฝีดาษลิงอาจแพร่กระจายได้เมื่อมีการเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยแตกบนผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หรือผ่านทางตา จมูก หรือปาก  ซึ่งหลังการได้รับเชื้อไวรัสจะอยู่ในต่อมน้ำเหลือง และใช้เวลาฟักตัว 7-21 วัน จึงแสดงอาการ 

โรคฝีดาษลิง อาการอย่างไร?

โดยอาการจะเริ่มจากการมีไข้ และต่อมน้ำเหลืองโต 1-2 วัน จึงมีผื่น ผู้ป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่มีไข้ โดยผื่นจะเริ่มจากมีแผลในปาก จากนั้นจะเริ่มมีผื่น ขึ้นที่ตัว หน้า ฝ่ามือ และฝ่าเท้า โดยผื่นจะมีขนาด 2-10 มิลลิเมตร

ในช่วง 2-4 สัปดาห์ต่อมา ผื่นจะค่อยๆ เปลี่ยนจากผื่นนูนแดง เป็นตุ่มน้ำ แล้วจึงเป็นฝี โดยผื่นจะเปลี่ยนรูปแบบพร้อมๆกัน ทั่วทั้งตัว หลังตุ่มหนองแตกจนแห้งดี ผู้ป่วยก็จะอาการดีขึ้น และหมดระยะในการแพร่กระจายให้ผู้อื่น

ปัจจุบัน ไม่มีการรักษาจำเพาะสำหรับโรคฝีดาษลิง โดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้อยู่ที่ 1-10% ซึ่งจัดว่าต่ำกว่าโรคไข้ทรพิษมาก

โรคฝีดาษลิงรักษาอย่างไร?

ขณะนี้ไม่มีวิธีรักษาฝีดาษลิง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อ

การรับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ได้ผล 85% ในการป้องกันฝีดาษลิง และบางครั้งก็ยังคงมีการใช้วัคซีนนี้อยู่

โรคฝีดาษลิง ป้องกันอย่างไร?

โรคฝีดาษลิง ป้องกันอย่างไร?

- ปัจจุบัน มีวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิงในสหรัฐอเมริกา คือ JYNNEOS

- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์

- งดรับประทานของป่า หรือปรุงอาหารจากสัตว์ป่า

- เลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่มาจากพื้นที่เสี่ยง หรือสัตว์ป่าป่วย

- เลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการ

หากพบผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อฝีดาษลิง แนะนำให้แยกผู้ป่วย ป้องกันระบบทางเดินหายใจของผู้ใกล้ชิด และนำส่งสถานพยาบาลที่สามารถแยกกักตัวผู้ป่วยได้  หลีกเลี่ยงการเลี้ยง หรือนำเข้าสัตว์ป่าจากต่างประเทศที่ไม่ทราบประเทศต้นทาง

อ้างอิง: กรมการแพทย์ 

โรคฝีดาษลิง โรคติดต่อจากสัตว์ ที่อาจอันตรายถึงชีวิต!