ข่าวลุงพลสะท้อนสื่อ ประเทศไทยในวันนี้เรามีสื่อคุณภาพดีหรือไม่?
จากกรณีข่าวการหายตัวไปของน้องชมพู่ เยาวชนอายุ 3 ปี จากพื้นที่หมู่บ้านกกกอก จังหวัดมุกดาหาร ก่อนจะพบเป็นศพบนเขาภูเหล็กไฟ หลังเหตุการณ์เสียชีวิตของน้องชมพู่ก็ได้เกิดกระแสสังคมและคำถามมากมายถึงการขึ้นไปบนเขาที่สูงชันของเด็กอายุ 3 ปี ตลอดจนผู้ต้องสงสัยในคดีว่าอาจเป็นคนใกล้ชิดตัวเด็กเพราะไม่มีร่องรอยการต่อสู้หรือขัดขืน
“นายไชย์พล วิภา” หรือลุงพล อายุ 44 ปี ลุงของน้องชมพู่ ตกเป็นอีกหนึ่งผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ เราได้เห็นปรากฏการณ์ “ลุงพลฟีเวอร์” จากการเกาะกระแสของสื่อและคนดัง สื่อมวลชนหลายเจ้าเจาะลึกและนำเสนอชีวิตของลุงพลมากขึ้นจนกระแสสังคม ณ เวลานั้นถูกชี้นำไปในทิศทาง “สงสารเห็นใจ” ลุงพลถูกนักปั้นดาราชื่อดังนำเข้าสู่วงการบันเทิง ได้ร่วมงานกับนักร้องชื่อดังอย่างจินตหรา พูนลาภ มีงานเดินแบบ ช่องยูทูปเบอร์จนมีแฟนคลับจำนวนมากถึง 3.59 แสน คน เกิดสงครามโซเชียลของกลุ่มคนรักลุงพลและกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการนำ “ผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรม” มาปั้นออกสื่อจนเกินงาม ทั้งที่คดีนั้นยังไม่สิ้นสุดอยู่เนือง ๆ แล้วการนำเสนอของสื่อที่ทำให้เรารู้กระทั่งลุงพลจัดห้องนอนแบบไหนให้อะไรกับประเทศไทย?
กระแสลุงพลเงียบหายไปซักระยะ จนค่ำวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาก็เกิดข่าวใหญ่ขึ้น หลังตำรวจออกหมายจับลุงพล 3 ข้อหาคือ
1. พรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุอันควร
2. ทอดทิ้งเด็กอายุไม่เกินเก้าปี เพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล เป็นเหตุให้เด็กถึงแก่ความตาย
3. กระทำการใด ๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป
ทันทีที่ข่าวหมายจับนี้ถูกเผยแพร่ออกไปประชาชนไทยจำนวนมากพูดคุยถกเถียงประเด็นนี้อย่างเผ็ดร้อนจนติดอันดับ 1 เทรนทวิตเตอร์ อาทิเช่น หากท้ายที่สุดแล้วคนร้ายในคดีเป็นลุงพลจริง ๆ สื่อนั้นจะรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไรบ้าง เหตุใดสื่อจึงไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบความจริงให้แก่ประชาชน แต่กลับชี้นำประชาชนไปในทิศทางที่ตนเองต้องการเพื่อเลี้ยงกระแสข่าวให้มียอดเข้าชมเพจชาแนลของตนเอง แล้วในอนาคตข้างหน้าเราจะสามารถเชื่อใจสื่อมวลชนของบ้านเราได้หรือไม่?
หากมองดูให้แล้วนั้นคดีน้องชมพู่นั้นถูกรบกวนโดยสื่อมาตลอด ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบาก หลายสื่อเข้ามาทำตัวเป็นนักสืบเสียเองสัมภาษณ์สอบถามชาวบ้านจนชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่เนื่องจากความอึดอัด ความเร่งรีบของการนำเสนอข่าวที่ไม่ได้รับการตรวจสอบขายข่าวลือมากกว่าความจริง ทำให้เราเห็นสื่อมวลชนนั้นสนใจแต่ประโยชน์ของตนเองจนไม่สนใจว่ากำลังเหยียบย่ำบนความลำบากของผู้อื่น และหากเราไม่ปฏิรูปการณ์ทำงานของสื่อเสียตั้งแต่วันนี้ เราคงได้เห็นปรากฏการณ์แบบ “ลุงพล” ในอนาคตอีกเป็นแน่