โอนอำนาจกฎหมาย 31 ฉบับสู่นายก ย้ำไม่ใช่การยึดอำนาจเเต่รวมอำนาจเพื่อให้แก้ปัญหาได้ไวขึ้น

โอนอำนาจกฎหมาย 31 ฉบับสู่นายก ย้ำไม่ใช่การยึดอำนาจเเต่รวมอำนาจเพื่อให้แก้ปัญหาได้ไวขึ้น

ความเชื่อมั่นที่สั่นคลอน สะท้อนภาวะผู้นำวินาทีนี้...

ความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นที่กำลังสั่นคลอนของรัฐบาลยุคคสช. แม้จะเป็นระยะเวลาปีกว่าแล้วนับตั้งแต่พบผู้ป่วยรายแรกของไทย ดูเหมือนการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และการจัดการของรัฐบาลไทยนั้นยังสอบไม่ผ่าน

ไม่ว่าจะเรื่องการกระจายฉีดวัคซีนที่กำลังร้อนแรงแบบสุด ๆ หลังเพจไทยรู้สู้โควิดมีการประชาสัมพันธ์ว่าฉีดครบแล้วทั้ง 77 จังหวัด แต่โป๊ะแตก! แหกเลยแม่ เพราะจำนวนผู้ฉีดจริงเพียงแสนกว่ารายเท่านั้น

สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนเป็นอย่างมากถึงความล่าช้าและการเลี่ยงบาลีของหน่วยงานราชการไทย อีกทั้งประเด็นเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนที่นำเข้ามา ความล่าช้าของการตรวจเชิงรุก การเข้าประเทศของผู้มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น คลัสเตอร์ไฮโซ สนามมวย บ่อน หรือคณะผู้หลักผู้ใหญ่ที่เข้าโครงการ เล้าจ์ชนะ หรือแม้แต่คนจากประเทศอินเดีย ที่ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อในประเทศสูงถึงวันละ 300,000 คน ที่เกรงว่าจะนำโควิดสายพันธุ์เบงกอลเข้ามาในประเทศ

เรื่องราวของกลุ่มวีไอพีที่ทำให้เกิดคลัสเตอร์กลุ่มใหม่ที่มีนักการเมือง ดารา เซเลปเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วยังมีข่าวเศร้าที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างผู้ติดเชื้อโควิดเสียชีวิตในบ้านเนื่องจากหาเตียงเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาลไม่ได้

จนภาคประชาชนและเอกชนต้องออกมาทำหน้าที่ประสานงาน บางส่วนถึงกับควักเนื้อหยอดเพื่อช่วยให้เพื่อนร่วมชาติผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน รัฐบาลจึงโดนโจมตีอย่างหนักจากความอัดอั้นของประชาชนที่อยากเห็นความชัดเจนของทิศทางการแก้ปัญหาเสียที 

คำถามคือตอนนี้รัฐบาลวางแผนจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร? ประเทศไทยยังไงต่อ?

จากการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 27 เม.ย 2564 ที่ผ่านมา ได้มี ที่มติเห็นชอบให้โอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมาย 31 ฉบับ มาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว โดยนายกรัฐมนตรีจะมีสิทธิ์ในการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือฟื้นฟู ช่วยเหลือประชาชน ได้โดยตรงไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว

กฎหมาย 31 ฉบับทั้งหมดนั้นนี้มีดังต่อไปนี้

- พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

- พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510

- พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561

- พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456

- พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497

- พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560

- พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551

- พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562

- พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535

- พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

- พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542

- พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495

- พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530

- พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551

- พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

- พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551

- พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558

- พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550

- พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

- พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522

- พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497

- พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

- พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

- พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544

- พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542

- พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509

- พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541

- พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559

- พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

- พระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509

- พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

จากข้างต้นจะพบว่ากฎหมายทั้ง 31 ฉบับจะเกี่ยวข้องกับการจัดการโรคติดต่อ สถานให้บริการทางสาธารณสุข การจราจรทุกเส้นทาง ยา วัคซีน การตรวจสอบคนเข้าเมือง กระทรวงกลาโหม แม้แต่ยุทธภัณฑ์! หลังจากราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศนี้ออกไปทำให้เกิดข้อกังขาถึงการรวมอำนาจไว้ที่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าเป็นการดึงอำนาจสั่งการมารวมไว้ที่ตนเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการแร่งแก้ไขปัญหาโควิด -19  ไม่ใช่การ “ยึดอำนาจ” อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ และเมื่อสถานการณ์โควิด -19 คลี่คลายอำนาจกฎหมายทั้ง 31 ฉบับนี้ก็จะคืนให้ดังเดิม

ซึ่งทางผู้เขียนเองหวังอย่างยิ่งว่า ไม้แข็งของรัฐบาลครั้งนี้จะช่วยให้เราทุกคนรอดพ้นวิกฤติโควิด -19 นี้ ไปได้อย่างรวดเร็ว และคลี่คลายไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ต้องรอติดตามตอนต่อไป
อ้อ! การรวมศูนย์อาจจะดีกับการบริหารจัดการในบางเรื่อง แต่เรื่องของโรคระบาด และโดยเฉพาะการระบาดใหญ่ของโควิดระลอกสามนี้ การรวมศูนย์อาจจะยิ่งทำให้หลายอย่างล่าช้ามากขึ้นหรือเปล่า อันนี้ไม่ใช่การสรุปแต่เป็นเพียงคำถามที่รอคำตอบในสายลมเท่านั้นเอง ประชาชนอย่างเรา ๆ ได้แต่ดูแลสุขภาพให้ดีที่สุด รักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังทุกการสัมผัส ขอพลังจงอยู่คู่ทุกท่าน รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

ขอขอบคุณภาพประกอบ: ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha

 

โอนอำนาจกกฎหมาย 31 ฉบับสู่นายก ย้ำไม่ใช่การยึดอำนาจเเต่รวมอำนาจเพื่อให้แก้ปัญหาได้ไวขึ้น