ย้อนรอยไทม์ไลน์โรค Covid 19 จากไวรัสลึกลับสู่การระบาดครั้งใหญ่

ย้อนรอยไทม์ไลน์โรค Covid 19 จากไวรัสลึกลับสู่การระบาดครั้งใหญ่

ด้วยสถานการณ์โควิด - 19 ที่ทวีความรุนเเรงเพิ่มขึ้นในประเทศไทยเเละทั่วโลก ทำให้เราหันมามองย้อนไปถึงวันเเรกของการเริ่มต้นระบาดของโควิด -19 โดยลำดับของการระบาดทั่วโลกนั้นมีจุดศูนย์กลางครั้งเเรกเกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ปัจจุบัน ณ เวลาที่ผู้เขียนได้เขียนบทความนี้ ( 26 เมษายน 2564 เวลา 14.00) มีผู้ติดเชื้อโควิดทั้งหมด 147 ล้านคนทั่วโลก หายเเล้ว  84.5 ล้านคน เสียชีวิตเเล้ว 3.1 ล้านคน ในประเทศไทยติดเชื้อรวม 55460 คน หายเเล้ว 26873 เสียชีวิตเเล้ว 140 คน กล่าวกันว่าเป็นเชื้อที่มาจากตัวค้างคาวที่มีการกลายพันธุ์เข้ามาติดต่อสู่คน เเละเเพร่ต่อด้วยคนสู่คน ไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ตั้งเเต่วันเเรกจนถึงปัจจุบันมีดังต่อไปนี้

30 ธันวาคม 2562

- มีการรายงานพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศจีน

15 มกราคม 2563

- ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายแรก โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

23 มกราคม 2563

- ประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด

30 มกราคม 2563

- WHO ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

31 มกราคม 2563

- พบผู้ป่วยคนไทยรายแรกจากการติดเชื้อในประเทศ โดนผู้ป่วยมีอาชีพเป็นคนขับแท็กซี่

12 กุมภาพันธ์ 2563

- WHO กำหนดชื่อทางการของ Covid -19 หรือ coronavirus disease 2019 โดยคาดการณ์ว่าต้นตอมาจากเชื้อไวรัสโคโรนาในค้างคาวและเกิดการกลายพันธุ์จนติดต่อได้ในมนุษย์

29 กุมภาพันธ์ 2563

- กระทรวงสาธารณสุขของไทยประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรง

1 มีนาคม 2563

- มีผู้เสียชีวิตรายแรกในประเทศไทย

6 มีนาคม 2563

- กลุ่มคลัสเตอร์จากสถานบันเทิงทองหล่อ

9 มีนาคม 2563

- กลุ่มคลัสเตอร์จากสนามมวย

11 มีนาคม 2563

- WHO ประกาศเป็น Pendamic หรือการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก

26 มีนาคม 2563

- พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเกิน 1000 ราย รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินมีผล โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม - 30 เมษายนและตั้ง ศบค. หรือ สำนักงานศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  โดยทั่วโลก ณ ขณะนั้นมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกทะลุ  100 ล้านราย

3 เมษายน 2563 

- รัฐบาล ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในยามวิกาลระหว่างเวลา 22.00–04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น

25 เมษายน 2563 

- พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 42 ราย จากการตรวจหาเชื้อในแรงงานข้ามชาติ ณ ศูนย์กักขังที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อ.สะเดา จ.สงขลา

3 พฤษภาคม 2563

- ได้เริ่มบังคับใช้มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 ใน 6 กลุ่มกิจกรรมในโซนสีขาว ให้กลับมาดำเนินการได้ปกติ ได้แก่ ตลาด ร้านจำหน่ายอาหาร กิจการค้าปลีก-ส่ง กีฬาสันทนาการ ร้านตัดผมและเสริมสวยและร้านตัดผมและฝากเลี้ยงสัตว์

17 พฤษภาคม 2563

- ได้เริ่มบังคับใช้มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 ตามประกาศของ ศบค. มีผลบังคับโดย อนุญาตให้เปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานออกกำลังกายบางส่วน

1 มิถนายน 2563

- เริ่มผ่อนปรนในระยะที่ 3 กิจการและกิจกรรมเสี่ยงปานกลาง-สูงกลับมาเปิดบริการได้ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย แต่งผม หรือตัดผม สำหรับบุรุษหรือสตรี ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ฟิตเนส สถาบันคลินิกเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ สวนสัตว์

16 มิถุนายน 2563

- เริ่มผ่อนปรนระยะที่ 4 ยกเลิกการเคอร์ฟิว การจัดประชุม อบรม สัมมนา นิทรรศการ การจัดเลี้ยง การแสดงดนตรี คอนเสิร์ต ที่จัดขึ้นในโรงแรม โรงมหรสพ ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงภาพยนตร์ สามารถจัดได้ เปิดสวนสนุก สวนน้ำ สนานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง

1 กรกฏาคม 2563

- ผับ บาร์ อาบอบนวด ได้กลับมาเปิดบริการอีกครั้งตามคำสั่งผ่อนปรนระยะที่ 5

8 กรกฎาคม 2563

- พบทหารอียิปต์พร้อมลูกเรือทั้งคณะ 31 คน เดินทางเข้าประเทศไทย ตามมาตรการยกเว้นของรัฐบาล แต่ไม่กักตัวตามข้อบังคับ และมีการยืนยันทหารอียิปต์ติดเชื้อโควิด-19 อีกด้วย

19 สิงหาคม 2563 

- พบผู้ป่วยที่อาจเป็นการติดเชื้อรายแรกในประเทศไทย ในรอบ 86 วัน

3 กันยายน.2563 

- พบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศในรอบ 100 วัน โดยเป็นผู้ต้องขังชายที่ต้องโทษคดียาเสพติด แต่ก่อนมีอาชีพเป็นดีเจทำงานคาเฟ่ย่านข้าวสาร พบติดเชื้อระหว่างถูกจับกุมไม่ใช่การติดเชื้อจากในที่คุมขัง

18 พฤศจิกายน 2563

- ศบค. ขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีก 45 วัน ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2563–15 ม.ค. 2564 และถอนข้อเสนอลดเวลาการกักตัวเหลือ 10 วัน ของกระทรวงสาธารณสุข

19 ธันวาคม  2563

- พบการระบาดคลัสเตอร์ใหม่ในจังหวัดสมุทรสาคร ส่วนมากเป็นแรงงานเข้าเมืองจากประเทศพม่า มีผู้ติดเชื้อกว่า 1300 คน

30 ธันวาคม 2563

- พบการติดเชื้อในกลุ่มสถานบันเทิงร้านอาหารในกรุงเทพมหานคร

31 ธันวาคม 2563

- พบผู้ติดเชื้อกลุ่มคลัสเตอร์บ่อนจังหวัดระยอง  หลังพบผู้ป่วยใน จ.ระยอง รายแรก หลังสอบสวนเชื่อมโยงไปยังบ่อนจังวัดตราด ชลบุรี และจันทบุรี

4 มกราคม 2564

- ศบค. สั่งห้ามเข้าออกพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และ ตราดยกเว้นเหตุฉุกเฉิน

20 มกราคม 2564

- กลุ่มคลัสเตอร์จากกรณีดีเจมะตูมจัดปาร์ตี้วันเกิด

24 กุมภาพันธ์ 2564

- วัคซีนชุดแรกเดินทางถึงประเทศไทย วัคซีนซิโนแวคและเอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนที่อยู่ในจำนวน 26 ล้านโดสตามแผนการของรัฐบาลไทย

31 มีนาคม 2564

- คลัสเตอร์สถานบันเทิง ครัสตัลทองหล่อ ทำยอดผู้ติดเชื้อพุ่งอีกครั้ง พบมีนักการเมือง ดารา พริตตี้ ผู้ใช้บริการมีโอกาสเสี่ยงสัมผัสเชื้อจำนวนมาก

7 เมษายน 2564

- ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันโควิดที่แพร่รอบใหม่นี้เป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์อังกฤษ ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการมากเท่าไวรัสที่มาจากอู่ฮั่นแต่มีปริมาณเชื้อในตัวผู้ป่วยจำนวนมากทำให้อัตราการแพร่จึงสูงกว่าไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นถึง 1.7 เท่า

23 เมษายน 2564

- เป็นวันแรกที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศไทยเกิน 2,000 คนต่อวัน เนื่องจากตามแต่ละจังหวัดเริ่มมีคลัสเตอร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ต้องมีโรงพยาบาลสนามและเตียงในโรงพยาบาลนั้นเริ่มไม่เพียงพอ

24 เมษายน 2564

- พบผู้ป่วยเป็นผู้เดินทางเข้าประเทศจากอินเดีย ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เบงกอลที่เป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ใหม่ ไวรัสตัวนี้ส่งผลให้วัคซีนโควิดที่มีทั้งหมดในโลกด้อยประสิทธิภาพลง อีกทั้งยังมีการระบาดที่ไวกว่าสายพันธุ์อังกฤษ

25 เมษายน 2564

- กระทรวงสาธารณสุขแถลงฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ครบ 77 จังหวัด พร้อมแจ้งจำนวนการได้รับวัคซีนสะสม 1,124,153 โดสฉีดครบ 2 เข็มแล้ว 175,029 ราย สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เพราะการฉีดวัคซีนนั้นยังไม่ถึง 2% ประชากรชาวไทยทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ ในขณะที่อัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 2000 รายต่อวัน

27 เมษายน 2564

- รัฐบาลโอนอำนาจกฎหมาย 31 ฉบับสู่นายก ย้ำไม่ใช่การยึดอำนาจเเต่รวมอำนาจเพื่อให้แก้ปัญหาได้ไวขึ้น หลัก ๆ เกี่ยวข้องกับการจัดการโรคติดต่อ สถานให้บริการทางสาธารณสุข การจราจรทุกเส้นทาง ยา วัคซีน การตรวจสอบคนเข้าเมือง กระทรวงกลาโหม เเละยุทธภัณฑ์ อ่านต่อได้ที่ โอนอำนาจสู่นายก

29 เมษายน 2564

- นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ศบค. ประกาศซีล 6 จังหวัด “สีแดงเข้ม” ควบคุมเข้มงวดสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยพื้นที่สีแดงมีมาตราการดังต่อไปนี้ 

1.ห้ามจัดกิจกรรม รวมกันมากกว่า 50 คน

2.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ ไม่เกินเวลา เวลา 21.00 น. และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้จนถึงเวลา 23.00 น. ในลักษณะของการนำไปบริโภคที่อื่น

3.การจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

4.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดได้ตามปกติของสถานที่นั้น ๆ จนถึงเวลา 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุกให้งดการใช้บริการ

5.ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดินให้เปิดตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ แต่ไม่เกิน 23.00 น. สำหรับร้านหรือสถานที่ซึ่งปกติเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ในเวลา 04.00 น.

6.สนามกีฬา หรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม

7.การตั้งจุดสกัดหรือจุดคัดกรอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ตามมาตรการที่ ศปก.ศบค.กำหนด และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

 

 

 

ย้อนรอยไทม์ไลน์โรค Covid-19 จากไวรัสลึกลับสู่การระบาดครั้งใหญ่