คำว่าให้...ไม่สิ้นสุด พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ
วันนี้ถือเป็นเกียรติมากที่เราได้มาทำความรู้จักกับ คุณเม่ย
“พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ” ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้หญิงตัวเล็กแต่ใจใหญ่ เธออุทิศตัวเพื่อสาธารณะประโยชน์กว่า 13 ปี
“หน้าที่ของเม่ยคือการดูแลภาพรวมให้มูลนิธิ เป็นสะพานบุญที่ดีที่สุดให้กับประชาชน และทำให้เกิดประโยชน์ด้านสุขภาพ ผ่านคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งก็ทำตั้งแต่การรักษาผู้ป่วย ตอนนี้มีผู้ป่วยมากกว่า 2,000,000 รายต่อปี สร้างบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่คุณหมอ พยาบาล และนักวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เรื่องของการสนับสนุนงานวิจัย และก็เกี่ยวกับการสาธารณสุขของประเทศด้วยค่ะ
“คือตอนตัดสินใจมาทำงานนี้ เม่ยคิดว่าเป็นโอกาสที่จะได้ทำความดี ตอนแรกตั้งใจทำเป็นจิตอาสา คือตั้งใจทำสั้น ๆ อาจจะ 2-3 เดือน คือเม่ยเองก็พอมีความรู้ในเรื่องของการบริหารจัดการองค์กร เรื่องของการตลาด การเงิน บัญชีระบบต่าง ๆ ทางคุณหมอที่เป็นผู้บริหารในสมัยนั้น คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รัชตะ รัชตะนาวิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านก็มองว่าอยากให้ลองทำดูเผื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ซึ่งน่าจะได้ทำประโยชน์ให้กับทางรามาธิบดี ตัวเราเองไม่ได้คิดอะไรมากเลยเพราะมองว่าเป็นงานในช่วงสั้น ๆ
“แต่พอมาทำจริง ๆ จากหนึ่งเดือน 2 เดือน 3 เดือนก็ทำมาเรื่อย ๆ เป็นปีกว่า ก็ยังเป็นจิตอาสาอยู่ เพราะตอนนั้นเราก็ยังเด็กอยู่ เราก็มีความไม่มั่นใจเรื่องของทิศทาง ไดเร็กชั่น หนทางของชีวิตตัวเอง แต่รู้ว่าการที่เรามาทำที่นี่ทุกวันเนี่ยเป็นสิ่งที่เรามีความสุข คือมีความสุขในการใช้ทักษะของเรา และได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น ในฐานะคนที่เรียนจบใหม่ กำลังมีไฟแรง เราเห็นความโชคดีที่ได้ใช้ความสามารถไปช่วยเหลือทำให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นมาได้
“ในเมื่อเป็นการทำงานที่ทำให้เรามีความสุขทุกวัน และทำให้คนอื่นมีความสุข คงมีงานไม่เยอะในโลกใบนี้ ที่เรารู้สึกอยากตื่นมาทำงานทำทุกวัน หลังจากที่เราได้โตขึ้น เห็นอะไรมากขึ้น ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่โชคดีมาก แถมทำให้เกิดประโยชน์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมุมมองการใช้ชีวิตความรู้ความสามารถ ซึ่งถึงจะเป็นมูลนิธิรามาธิบดีฯ เหมือนเดิมแต่เราก็ทำอะไรมากขึ้น หลากหลายรูปแบบมากขึ้น และก็เห็นประโยชน์ของตัวมูลนิธิเอง แต่ก่อนอาจจะทำอยู่แค่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ทำให้ผู้ป่วย แต่ตอนนี้ได้ใช้ความรู้ความสามารถไปเรื่องอื่น อย่างเรื่องการศึกษาต่าง ๆ การวิจัยการทำให้มันเกิดความก้าวหน้าหรือกับทางโรงพยาบาลชุมชนต่างๆทั่วประเทศ คืออันนี้เราก็มองเป็นสิ่งที่จุดประกายเราทางด้านสติปัญญาและทางด้านความสุขค่ะ”
Nonprofit Organisation
“มูลนิธิ คือ องค์การไม่แสวงหาผลกำไร Nonprofit Organisation หรือย่อว่า NPO อย่าง Green Peace หรือ UN เป็นต้น มูลนิธินึงเนี่ยจะมีอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค จะบริจาคมาจากกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง บางคนมีทรัพย์สินเยอะก็ตั้งมูลนิธิของตนเอง หรือตั้งเป็นสาธารณะคือเอาเงินจากการบริจาคเป็นสะพานบุญ
“เม่ยมองว่าทำวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่งให้เราบรรลุวัตถุประสงค์นั้นโดยที่เจ้าของมูลนิธิหรือประโยชน์ของมูลนิธิหรือกำไร ที่มันดูเหมือนไม่มีกำไรแต่เป็นการคืนประโยชน์ให้กับสังคม มูลนิธิเองมี 2 ด้าน ด้านนึงคือการหาเงินก็คือเป็น Fund raising ซิ่งสังคมไทยอาจจะมองว่าชัดเจน เช่น น้ำท่วมมาช่วยกันบริจาค แต่อีกส่วนนึงคือ Find using คือการใช้เงินให้เกิดประโยชน์ จะด้านไหนอันนี้ก็แล้วแต่กับมูลนิธินั้น ๆ ค่ะ
“วัตถุประสงค์หลักของเรา คือสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะว่าคณะแพทย์ฯ เป็น โรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ ทางสาธารณสุข การวิจัยต่าง ๆ เราสนับสนุนทุกพันธกิจ เพราะตัวเราเองไม่ได้มีหน่วยงานที่ลงไปเจาะลึกแต่ละบริเวณได้ แต่คณะแพทย์ฯ มีบุคลากรเป็นหมื่นคนมีผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา เขาจะรู้ว่าเกิดประโยชน์อะไรมากขึ้น ตัวเราเองก็สนับสนุนและก็เหมือนกับทำงานเกี่ยวเนื่องกันค่ะ
“ผู้ป่วยก็จะเป็นผู้ป่วยที่มารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมีหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ ของโรงพยาบาล เป็นหน่วยงานที่กลั่นกรอง คือถึงแม้ว่าไม่ได้อยู่ในรามาธิบดี เองก็ตาม อาจจะเป็นโรงพยาบาลเครือข่าย เป็นข้างนอก เป็นสิ่งต่าง ๆ ที่ทางคณะแพทย์ฯ ทางทีมคุณหมอได้ลงไปดูพื้นที่ แล้วคือมีคนกลั่นกรองมีคนที่เป็นผู้ชำนาญเฉพาะทางช่วยเราดูและตรวจสอบแล้ว
“คือต้องเรียนว่าโดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และโรงเรียนแพทย์ เงินสนับสนุนจากรัฐบาลเรียกว่าติดลบ ติดลบกันหลักหลายร้อยล้าน อันนี้เรียนตามตรงเพราะเป็นข้อมูลที่ทุกคนควรจะทราบค่ะ อย่างโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช หรือโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เองก็ตาม เพราะเรามีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ประกันสังคม ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้มากมาย และการที่คนมาหาเราเนี่ยเราก็อยากจะให้เขาได้รับการรักษาที่ช่วยรักษาชีวิตเค้าได้ หายได้อาการดี ทำให้เงินงบประมาณติดลบ
“ทีนี้คำว่าติดลบเนี่ยมันก็มีความจำเป็นที่จะต้องหาเงินจากการพึ่งมูลนิธิ ซึ่งตัวมูลนิธิเองก็ต้องหาเงินมาลงทุนให้กับทางโรงพยาบาล คือการซื้อเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ หรือเป็นเรื่องของ Operation ก็คือค่าบุคลากร ค่าน้ำ ค่าไฟ ในแง่ของการลงทุนก็คือการสร้างตึก การซื้ออุปกรณ์ที่ทันสมัย และก็ต้องมีระบบ เช่นโรงพยาบาล จะขยายพื้นที่ ก็ต้องมีระบบความปลอดภัย ระบบฆ่าเชื้อโรค หรือต้องมีระบบต่าง ๆ เข้ามา แล้วก็ยังต้องมีค่าซอฟต์แวร์ ค่าบำรุงรักษา หรือเอาอาจารย์หมอไปเรียนให้ใช้เครื่องนั้น ๆ ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด เป็นต้น
“ถามว่าทำช้าหน่อยได้ไหม ได้...แต่ก็จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุดกับบุคลากรที่เรามี กับผู้ป่วยที่รอรับการรักษา การผ่าตัดบางอย่างเนี่ยสามารถผ่าได้ตามปกติ แต่เรามีผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง ก็คือจะลดในแง่ของความเสี่ยงของผู้ป่วย ลดเวลาในการผ่าตัด ลดเวลาในการพักฟื้น เป็นต้น และก็อาจจะเฉพาะทางมากขึ้น บางทีอาจจะมีเครื่องนำทางเข้าไปดูตอนผ่าตัดด้วย ถ้าทำให้การรักษาดีขึ้น แปลว่าคนไข้จะปลอดภัยมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น”
พันธกิจของมูลนิธิรามาธิบดีฯ และผลกระทบ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19
“ถ้าเห็นภาพให้ชัดเลยจะมีประมาณ 3 ส่วน ส่วนแรกคือการระดมทุน การระดมทุนเนี่ยเราก็ต้องยังระดมทุนขอความช่วยเหลืออยู่ แต่ก็เห็นว่ากระทบบ้าง คือตอนนี้การระดมทุนต้องเรียนตามตรงว่าเพราะทุกคนกระทบด้านเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่เราก็ยังต้องการเงิน
“หนึ่งคือเราก็ยังต้องเตรียมความพร้อมของเครื่องมือแพทย์ที่ใช้รักษา ถึงแม้ผู้ป่วยที่ดูน้อยลงและก็เปลี่ยนจากที่คนเดินเข้ามารับการรักษาเป็น Telemedicine คือทําให้การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงยกระดับมาตรฐานการให้บริการต่าง ๆ ต่อผู้ป่วย เป็นครั้งแรกที่ทางรามาฯ ทำได้สำเร็จ ก็คือเราก็ส่งยาไปตามบ้านค่ะ ก็คือเป็นส่วนนึงที่คณะแพทย์ฯ ทำ แต่ตัวมูลนิธิเองก็ต้องคอย Support เตรียมความพร้อมว่ามีอะไรที่เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ตั้งแต่แรกให้ช่วยได้บ้าง
“หรือแม้แต่นักศึกษา 4 สาขาวิชา ได้แก่ แพทยศาสตร์, พยาบาลศาสตร์, วิทยาศาสตร์ สาขาสื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย และสาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ที่ครอบครัวนักศึกษาถูกกระทบด้วยสถานการณ์โควิด น้อง ๆ บางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องของค่าเทอม เรื่องของค่าใช้จ่าย หรืออย่างเด็กบางคนไม่ได้มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ไม่สามารถเรียนออนไลน์หรือเรียนจากที่บ้านได้ ตรงนี้เราก็เข้าไปช่วยเหลือ คือตรงนี้ก็เป็นพันธกิจแรกในเรื่องของการหาเงินนะคะ
“การใช้เงินอันที่ 2 คือต้องอย่าลืมว่าผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยจริง ๆ จะมีโควิดหรือไม่มีโควิดเราก็ยังต้องช่วยเค้าอยู่ ช่วยค่ารักษา ช่วยเรื่องสถานที่ ช่วยเครื่องมือการแพทย์ให้เตรียมความพร้อมต่าง ๆ และยังต้องมีงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโรคไหนก็ตาม อย่างเช่น ผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นมะเร็ง มีเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตรงนี้หาเงินก็จะยากขึ้น เพราะคนก็มีผลกระทบ แต่การช่วยก็ยังช่วยเท่าเดิมอยู่ เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ ก็คือการช่วยเหลือ
“ตอนนี้ก็ต้องลงไปช่วยเหลือโรงพยาบาลชุมชนต่าง ๆ เชื่อมต่อให้มีความรู้หรือการใช้เครื่องมือเกิดขึ้น เช่น การทำจุดสกรีนของเรื่องของโควิด อย่างเรื่องความรู้ก็มีหมอที่รามาฯ ไปถ่ายทอดให้ หรือเรื่องของค่าใช้จ่ายในการสร้างบางอย่าง เช่น Screening Room ต่าง ๆ เนี่ย มูลนิธิก็ลงไป Support
“หรือแม้กระทั้งคนที่เรียกว่านักบริบาลชุมชน ตอนนี้พอทุกคนกลับไปบ้านเพราะว่าที่กรุงเทพหลาย ๆ อย่างต้องปิดลง คนต่างจังหวัดกลับบ้านก็ต้องไปหาอาชีพ เราก็ไปทำโปรแกรมให้เค้าไปเรียน ให้ทุนไปเรียนเพื่อกลับมาเป็นเหมือนกับนักสาธารณสุข หรือนักกายภาพบำบัด ไปดูแลผู้ป่วยติดเตียงตามบ้าน คือใช้วิกฤตเป็นโอกาส เพราะก่อนหน้านี้จะหาคนที่ไปเรียนและกลับอยู่กับชุมชนของตัวเองยากมาก
“สุดท้ายคือเรื่องของการวางแผนการดูแล Organisation เรื่องของการหาเงินแต่จริง ๆ การหาเงินก็มีหลากหลายวิธีในการประชาสัมพันธ์ อย่างการสัมภาษณ์กับสื่อก็เป็นวิธีการหนึ่งเช่นกัน เรามีการใช้ข้อมูล Big Data เพื่อให้ผู้บริจาคได้รับรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เนื่องจากเรามีพันธกิจค่อนข้างเยอะ คือเรียนตามตรงเราต้องหาเงินค่อนข้างเยอะมาก ตรงนี้เราก็ใช้ความรู้หลากหลายในการหาเงิน การใช้เงิน และอย่างสุดท้ายเนี่ยคือความยั่งยืนขององค์กร ก็เป็นการบริหารภาพรวม”
การพัฒนาอย่างยั่งยืน
“ความยั่งยืนขององค์กรเกิดได้จากอะไร คือธรรมาภิบาลที่ดีขององค์กร ธรรมาภิบาลที่ดีเริ่มตั้งแต่พนักงานทุกคน คนมาบริจาคเค้าอยากได้อะไร เค้าเป็นผู้ให้แล้ว เราบอกเสมอว่าเค้าน่าจะอยากได้แค่ความสุขกลับไปนะ เราต้องทำให้เค้ารู้สึกอิ่มเอิบใจ อิ่มบุญที่สุด ในการที่ได้มาทำบุญกับเรา ในการบอกว่าเงินเอาไปใช้อะไร และมากกว่านั้นคือเราต้องทำให้การใช้เงินเนี่ยเกิดประโยชน์สูงสุด และมีการตรวจสอบได้ มีการรายงานผล มีธรรมาภิบาลที่ดีขององค์กร มูลนิธิรามาธิบดีฯยังมีทีมงานที่ดีมาก ๆ เซ็ตเป็นระบบ ทำให้เป็น Culture ขององค์กร คือเป็นสิ่งที่เราต้องทำอย่างต่อเนื่อง
“หลายโครงการเราเริ่มทำตั้งแต่โควิดรอบแรกมา พอตอนนี้โควิดรอบสองเรารู้แล้ว ว่าทุกคนต้องทำยังไง เราต้องใส่ใจเรื่องพวกนี้แบบไหน เรามีแผนสำรองเยอะมาก รอบแรกเรามีแผนสำรอง แต่ว่าถ้าโรงพยาบาลคณะแพทย์เกิดต้องมีอะไรฉุกเฉินขึ้นมาเราจะต้อง On Call พร้อมให้บริการเมื่อเรียกหา ถ้าเกิดต้องใช้เงินสดฉุกเฉิน เราต้องใช้เงินยังไงดี เกิดมีเหตุการณ์ต้องซื้ออะไรพิเศษต่าง ๆ ที่ทุกคนแทบจะล๊อคดาวน์ช่วงแรก ๆ ค่ะ
“คือบางอย่างบริหารจัดการได้ บางอย่างมันก็เป็นโอกาสให้เราท้าทายความสามารถตัวเอง อีกส่วนหนึ่งที่บอกว่าเรื่องของรายรับรายจ่ายไม่สอดคล้องกัน ต้องเรียนว่าโชคดี เพราะเราเห็นศักยภาพการให้ของสังคมไทย ยิ่งรอบแรกปีที่แล้วช่วงโควิดมาแรก ๆ เนี่ย คนเข้ามาช่วยเหลือเยอะมาก ทั้งเงินทั้งสิ่งของ รายได้กับรายจ่ายไม่ตรงกัน แต่รายได้บางทีเราไม่ได้เอามาใช้ฝ่ายเดียว บางทีเราได้มากเราก็เอาไปให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่เขาอาจจะได้ไม่ทั่วถึง หรือให้กับโรงพยาบาลตามจังหวัดต่าง ๆ
“แต่อีกส่วนหนึ่งสิ่งที่เราทำและสะสมมาคือความยั่งยืน เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องของการบริจาค พยายามทำหน้าที่เราให้ดีที่สุด เราพยายามรักษาฐาน เรามองว่าทุกคนคือผู้ให้ ผู้มีอุปการะคุณ เราต้องขอขอบคุณแล้วเราก็ชื่นชมในจิตใจเขา ผู้บริจาคที่เคยมาบริจาคมูลนิธิรามาธิบดีฯ ค่อนข้างบริจาคอย่างต่อเนื่อง อย่างวันนี้ถึงเศรษฐกิจไม่ดีแต่ทุกท่านก็ยังกลับมา เพราะรู้ว่ามูลนิธิรามาธิบดีฯ มีภารกิจมากมาย อาจจะให้น้อยหน่อย แต่ก็ยังกลับมาให้ หรืออาจจะชวนเพื่อนมาให้”
เอาใจเขามาใส่ใจเรา คือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ
“การที่ทำให้ผู้บริจาคส่วนใหญ่กลับมาบริจาคซ้ำอีก หรือมีผู้บริจาครายใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย อาจจะไม่ได้มีในตำรามาร์เก็ตติ้ง สำหรับเม่ยคิดว่าที่คนไทยส่วนใหญ่กลับมาบริจาคให้มูลนิธิฯ เพราะคำว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา ยกตัวอย่าง เช่น เรามีไลน์ Official เราก็พยายามบอกน้องแอดมินว่าถ้าเขาส่งสติ๊กเกอร์มา สุขสันต์วันจันทร์ สุขสันต์วันอังคาร ไม่ใช่เงียบนะ เราก็ต้องตอบกลับเขาไป ถึงเขาจะส่งมาทุกวันก็ตาม หรืออาจจะมีคนตั้งเยอะส่งมาก็ตาม
“คือเอาใจเขาใส่ใจเรา เหมือนกับเขาเป็นคนที่เรารู้จัก เขาจะติดต่อเรามาทางโทรศัพท์ ทางอีเมล ทางไลน์ ให้คิดว่าเวลาเรารอสายใครนาน ๆ เราจะทำยังไงให้เขารำคาญเราน้อยที่สุด คือมันก็เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ตั้งแต่เรื่องของความใส่ใจในการบริการ ในการคุย ในการให้ อย่างเช่นตอนนี้ก็มีโครงการที่เรียกว่าสุขสลิป คือบางคนโอนเงินมาแล้วก็ส่งสลิปมาทางไลน์ แล้วทางเราก็จะมีการส่งรูปภาพเล็ก ๆ กลับไป ก็มีรูปการ์ตูน ขอขอบคุณ คุณ… ที่เป็นผู้ให้ก็คือเป็นภาพพร้อมชื่อของเขา
“ช่องทางการบริจาค ถ้าไม่สะดวกที่จะเข้ามาที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ก็โอนเงินได้ค่ะ มีหลากหลายช่องทางมาก เรียกได้ว่าเกือบทุกแอพพลิเคชั่นเลย อาทิ ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 090-3-50015-5, ธนาคารกสิกรไทย เลขที่บัญชี 879-2-00448-3 และธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 026-3-05216-3 หรือที่เว็บไซต์ www.ramafoundation.or.th ช่องทาง LINE @ramafoundation โทร. 0-2201-1111 นอกจากนี้ยังสามารถบริจาคผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า เคมาร์เก็ต ฯลฯ
เส้นทางชีวิต
“เม่ยเกิดมาในครอบครัวนักธุรกิจเชื้อสายจีน คุณพ่อเป็นหนึ่งในต้นแบบในการทำงานของเม่ย จริง ๆ ต้นแบบมี 2 คน อีกหนึ่งแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบก็คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 คือเม่ยมองว่าเม่ยเคารพและรักท่าน เพราะในสิ่งที่ท่านทำ ในการที่เป็นผู้ให้ แล้วก็คุณพ่อเม่ยเองเป็นคนที่ขยันแล้วก็เป็นคนรักครอบครัว เขาจะปลูกฝังความมีระเบียบวินัย การซื่อสัตย์
“แต่คุณพ่อคุณแม่เห็นความจำเป็นในเรื่องของการศึกษา คือคุณแม่จะเป็นคนเก่ง ทำธุรกิจของตัวอง ไม่ได้เป็นแม่บ้าน คือแต่ก่อนฐานะที่บ้านก็ไม่ได้ดีมาก แต่ท่านมองการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เราได้มีโอกาสไปเรียนที่ต่างประเทศ ตอนปริญญาตรี เม่ยกลับมาเรียนที่เมืองไทย เรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคอินเตอร์ ด้านบัญชี คือเราก็จะเข้าใจเรื่องระบบเรื่องของการจัดการ พอปริญญาโท ไปเรียนที่อเมริกา เรื่องของการบริหารจัดการ Management the marketing communications
“แต่ที่บ้านทำธุรกิจอยู่แล้วก็จะฟังมาเยอะว่า วิธีการคิดทำยังไงในการรักษาผลประโยชน์นะ ทำยังไงให้คิดว่าการทำงานของมูลนิธิ ต้องคิดว่าเหมือนกับเป็นผลประโยชน์ของเรา เหมือนเราเป็นเจ้าของแม้เราไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่เราไปตัดสินใจเป็นเหมือนเจ้าของไม่ได้ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากค่ะ”
กำลังใจจะทำให้เราผ่านพ้นไปได้เสมอ
“เราก็ยังไม่รู้เนอะว่าสถานการณ์โควิด-19 จะจบลงที่ไหน เพราะขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน โอกาสที่เราจะผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ดีขนาดไหนขึ้นอยู่กับเรา ต้องมีความยับยั้งชั่งใจในการออกไปข้างนอกหรือในการระมัดระวังตัว คือเม่ยเองมองว่าเป็นโอกาสที่ดีมากเลยค่ะในการได้ใช้สติ ตอนนี้จะหยิบอะไรจะจับอะไร ล้างมือแล้วหรือยัง? ได้ใช้สติในชีวิตประจำวัน
“อนาคตไปทางไหนอยู่ในมือพวกเราทุกคนค่ะ จะดีก็ได้จะไม่ดีก็ได้ เพราะไม่ได้อยู่กับรัฐบาลออกกฎระเบียบเท่านั้น จริง ๆ แล้วทุกอย่างขึ้นอยู่กับเราเอง แต่ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีเองเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ถ้าเรามี จำนวนผู้ป่วยมากขึ้นชัดเจนมากขึ้น ตอนนี้ทุกคนค่อนข้างตระหนกทุกวัน แล้วก็ดูตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อว่ามีเท่าไหร่ แต่เราอาจจะคอนโทรลตัวเรากับคนใกล้ชิด หรือกับงานที่เราทำ เราทำหน้าที่ตัวเราเองให้ดีที่สุดได้
“เรื่องวัคซีนมูลนิธิไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงค่ะ แต่เรามีเรื่องของการให้ทุนของการวิจัยต่าง ๆ เรื่องของการใช้ยารักษา อย่างเช่นเอาสมุนไพรไทยมารักษาเป็นต้น อันนี้เรามีส่วนร่วมในการให้ทุน ในการซื้อเครื่องมือให้นักวิจัย ให้คุณหมอวิจัย สำหรับเรื่องกำลังใจเม่ยคิดว่าทุกคนจะต้องผ่านไปได้ เพราะโลกใบนี้มีเรื่องโรคระบาดมาเกือบทุก 100 ปี ทุกคนก็ผ่านมาได้ ตอนนี้เรามีวิวัฒนาการดีกว่าแต่ก่อน เราก็ต้องผ่านไปได้ค่ะ”