ความหวัง กำลังใจ และเป้าหมาย คือพลังให้ก้าวต่อ |น้องธันย์ สาวน้อยคิดบวก Issue 168

ความหวัง กำลังใจ และเป้าหมาย คือพลังให้ก้าวต่อ |น้องธันย์ สาวน้อยคิดบวก Issue 168

            ต้องบอกเลยว่าหลังจากคุยกับเธอ ผมมีกำลังใจที่สู้กับปัญหาต่าง ๆ ที่จะเข้ามามากขึ้น หัวใจมันพองโต เปี่ยมด้วยความหวังและพลังใจ รอยยิ้มของเธอมันช่างชื่นฉ่ำหัวใจยิ่งนัก ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ น้องธันย์ สาวน้อยคิดบวก” เป็นมากกว่านักพูดสร้างแรงบันดาลใจ หากแต่ชีวิตของเธอ ประสบการณ์และการต่อสู้เพื่อใช้ชีวิตต่อของเธอต่างหากที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนที่ได้พบเจอ หรือฟังเรื่องราวของเธอ

น้องธันย์ประสบอุบัติเหตุรถไฟฟ้าทับได้รับบาดเจ็บสาหัสที่บริเวณขาทั้ง 2 ข้าง จนต้องตัดขาทิ้ง เหตุเกิดที่ประเทศสิงคโปร์ระหว่างเธอเดินทางไปเรียนภาษาที่นั่น ในปี พ.ศ. 2554 หลังจากนั้นเธอก็ลุกขึ้นเดินด้วยขาเทียมทั้งสองข้าง ออกเดินทางเพื่อส่งต่อขวัญและกำลังใจให้ผู้คนมากมายมาตลอด 9 ปีอย่างไม่เคยเหน็ดเหนื่อย

 

            “9 ปีที่ผ่านมา ทำให้ธันย์ปรับตัวหลายอย่าง เช่นการที่เราต้องปรับตัวใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เพราะเราไม่มีขา ทั้งขาเทียม รถเข็น หรือฝึกใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และธันย์คิดว่ามันเป็นการเรียนรู้เรื่อย ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และปรับตัวในทุก ๆ วัน เรียกว่าประสบการณ์โชกโชนเลยค่ะ

            “ความรู้สึกเมื่อตอนที่รู้ว่าจะต้องตัดขา เมื่อเราต้องสูญเสียขาทั้งสองข้างก็รู้สึกจับต้นชนปลายไม่ถูก ว่าเราจะเริ่มต้นจากตรงไหน จากที่เมื่อก่อนเราแค่วางแผนชีวิตว่าจะเรียนอะไร เรียนต่อที่ไหน ก็จะกลายเป็นต้องมาแพลนว่าเราจะเดินได้เมื่อไหร่ ฝึกเดินตอนไหน เมื่อไหร่เราจะเดินได้ ถึงจะได้ไปทำสิ่งที่เรารักหรือสิ่งที่เราต้องการต่อ มันก็เลยเป็นช่วงที่รู้สึกว่าชีวิตล่องลอย คิดถึงขนาดว่าเราจะสามารถไปทำสิ่งที่เราต้องการอีกได้หรือเปล่า

            “ตอนนั้นเรียกว่าเป็นช่วงที่ลำบากที่สุดในชีวิตธันย์เลยก็ว่าได้ สิ่งที่เราทำได้ในตอนนั้นคือเราเลือกที่จะทิ้งเป้าหมายไปก่อนค่ะ ต้องพักไว้ก่อนเพราะเราไม่รู้ว่าเราจะสามารถกลับมาทำได้เมื่อไหร่ แต่มาโฟกัสที่สภาพร่างกายของเราก่อน คือตั้งเป้าไว้เลยว่าเราจะต้องเดินให้ได้ภายในสองปีนะ ก็เลยเน้นเรื่องสุขภาพในช่วงแรก

            “หลังจากเกิดอุบัติเหตุ ธันย์จะต้องใช้เวลาพักนึงเลยเพื่อรักษาบาดแผลให้หายก่อน และฝึกกายภาพบำบัดบนวิลแชร์ไปด้วย รักษาแผลประมาณห้าเดือนเต็ม ๆ ค่ะ ถึงจะเริ่มฝึกใส่ขาเทียม ต้องฝึกลุก นั่ง หัดเดิน สลับกับการใช้วิลแชร์ไปด้วย จนกระทั่งครบสองปี ธันย์ถึงจะได้เดินมากขึ้น จาก 50% ขยับมา 80% จนกระทั่งเดินได้เอง 100% ค่ะ แล้วค่อย ๆ ปล่อยอุปกรณ์อื่น เน้นขาเทียมเป็นหลัก ซึ่งก็ถือว่าเดินได้เร็วมาก ๆ ค่ะ ใช้เวลาสองปี

            "หลังจากรักษาตัวห้าเดือนธันย์ก็กลับมาเมืองไทย ตอนกลับมาจะเป็นช่วงเปิดเทอมของเทอมสอง ตอน ม.3 พอดี จริง ๆ จะกลับไปเรียนเลย แต่ดันมีน้ำท่วมใหญ่ ตอนปี 54 พอดี โรงเรียนก็ต้องปิด เลยขออนุญาตคุณพ่อดรอปการเรียนเพื่อไปเริ่มต้นเรียน ม.3 ใหม่อีกรอบ

            “ตอนกลับมาเมืองไทยก็ได้รับพระราชกรุณาธิคุณ พระราชทานขาเทียมให้จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แล้วก็ได้ไปเรียนที่โรงเรียนจิตลดา ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่พอช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ก็เลยขอทูลลาออกมา เพื่อทบทวนตัวเอง เรียนรู้และเริ่มต้นใหม่ ก็เลยมาเรียนต่อที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย จนกระทั่งจบมัธยมปลายค่ะ”

ใจสู้หรือเปล่า

            “ธันย์เป็นเด็กต่างจังหวัด เกิดที่จังหวัดตรัง เป็นครอบครัวเล็ก ๆ มีพี่สาวหนึ่งคน ห่างกันหกปี ค่อนข้างห่างกันเพราะพี่สาวจะมาเรียนที่กรุงเทพก่อน ฐานะปานกลางไม่ถึงกับร่ำรวย แต่ไม่ได้ลำบากถึงขนาดหาเช้ากินค่ำ เรียกว่าเป็นครอบครัวที่ทำมาค้าขายดีกว่าค่ะ พอมีพอกิน ขยับขยายจากร้านขายของชำมาเป็นจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ไม่ได้ฟุ่มเฟือยหรือใช้จ่ายหรูหรา

            “ค่าใช้จ่ายในการรักษา พระองค์ท่านช่วยดูแลให้ตอนกลับมาที่เมืองไทย แต่ธันย์ก็มีเรื่องคดีความที่เกิดในสิงคโปร์ด้วย ทำให้ไม่สามารถดูแลค่าใช้จ่ายที่เกิดอุบัติเหตุได้ทั้งหมด ก็เลยชะลอไว้ แต่ตอนนั้นข่าวก็เริ่มดังแล้ว ก็มีนักธุรกิจชาวฮ่องกงมาซัพพอร์ตช่วยดูแลเรื่องค่ารักษาให้ ก็เลยทำให้สามารถกลับมาเมืองไทยได้ นี่ก็เป็นหนึ่งในแรงบัลดาลใจให้ธันย์อยากจะแชร์ประสบการณ์หรือส่งต่อกำลังใจให้คนอื่นด้วยค่ะ พอกลับมาธันย์ก็ได้ทำบัตรผู้พิการ ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อ และการกายภาพบำบัด

            “สภาพจิตใจก็ต้องฟื้นฟูด้วยเช่นกัน ธันย์เชื่อว่าคงไม่มีใครรับได้ในทันทีหรอกค่ะ ธันย์เองก็เช่นกันค่ะ ไม่ใช่ว่าธันย์จะรับได้เลยทันที หรือยิ้มแย้มได้ตั้งแต่แรกนะค่ะ ก็มันไม่มีขาอ่ะเนอะ ตื่นมาก็ยังงง ๆ ค่ะ ก็ต้องค่อย ๆ ปรับตัว อย่างคนที่เข้ามาหาเราก็มีหลายแบบมาก บางคนเจอเราก็ปลอบเราด้วยคำพูดดี ๆ แต่บางคนก็ร้องไห้สงสารเรา มีคนมาเยี่ยมเยอะมาก อาจเพราะเป็นข่าวดังในช่วงนั้นด้วยค่ะ จุดเปลี่ยนก็คือมีคน ๆ นึง เอาหนังสือมาให้ ซึ่งตอนนั้นธันย์ก็ไม่รู้จักใครที่เป็นคนพิการหรือสังคมคนพิการเลย

            “หนังสือเล่มนั้นเขียนโดย นิค วูจิซิค นักพูดสร้างแรงบันดาลใจชาวอเมริกันเชื้อสายออสเตรเลียที่เกิดมาพร้อมกับโรค Tetra-Amelia ซึ่งเป็นโรคที่หายากโดยไม่มีแขนและขา ตอนนั้นพอเห็นหนังสือก็ยังเฉย ๆ นะ จนเราเปิดอ่าน เป็นการเปิดโลกธันย์เลยค่ะ ทำให้มีแรงบันดาลใจ ทำให้รู้ว่าการเป็นคนพิการก็สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่จำเป็นต้องทำตามแพทเทิร์นที่เขาวางไว้ให้ก็ได้ จากที่คิดว่าชีวิตต้องดูน่าสงสารแน่เลย พอได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็เลยกลาลเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้เรารู้สึกมีพลัง มีแรงบันดาลใจ

            “สิ่งที่ทำให้ธันย์กลับมาใช้ชีวิตเหมือนปกติได้ ธันย์ว่าอยู่ที่ตอนเราหาแรงบันดาลใจเจอ ว่าเราอยากทำอะไร มีต้นแบบยังไงมากกว่า เหมือนว่าเรามีเป้าหมายในชีวิตนั่นแหละ แต่เป็นเป้าหมายที่จับต้องได้ เป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ทำให้เรารู้สึกว่าอยากพัฒนาตนเองขึ้นมาเพื่อไปให้ถึงตรงนั้น ทำให้เปลี่ยนจากคนที่ดูล่องลอย ทำอะไรไม่ถูก กลับมามีเป้าหมาย แม้จะยังกลับมาเรียนไม่ได้ก็ตาม แต่เราต้องเป็นแบบนี้ให้ได้”

เป้าหมาย ความหวัง กำลังใจ

          “การมีเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญ ธันย์เองก็ไม่เคยสนใจเลยจนกระทั่งมาเจอกับตัวเองค่ะ ก็เลยทำให้เราตอกย้ำไปอีกว่าเป้าหมายนั้นสำคัญมาก ๆ มันเหมือนทำให้คนหลงทาง ได้เจอเชือกนำทาง เวลาคนเรามีเป้าหมายต่อให้มีอะไรที่พยายามมาทำลายกำแพง ความคิดหรือคำพูดอะไรก็ตามที่จะมาบั่นทอน ก็จะถูกตัดออกไปเพราะเราจะพยายามไปให้ถึงเป้าหมายนั้น

          “ยกตัวอย่าง ในตอนแรกเป้าหมายของธันย์คืออยากกลับมาเดินได้ แต่ก็มีเสียงบางเสียงเข้ามาว่าเดินไม่ได้หรอก ใส่ขาเทียมตั้งสองข้าง ยาก ไม่มีทางหรอก ต้องนั่งวิลแชร์ตลอดชีวิต ก็จะมีคำพูดจากคนรอบข้างพวกเนี้ยเข้ามาให้เราได้ยินเสมอ จนกระทั่งเราผ่านมันมาได้เพราะเป้าหมายเลยค่ะ เราตั้งโกลด์ของเราไว้ว่าเราจะต้องเดินได้ เพราะเป้าหมายทำให้เราฝึก ๆ ๆ ไม่ไปไขว้เขวกับคำพูดที่บั่นทอน หรือสายตาของคนรอบข้าง

            “ธันย์ว่าความหวังก็มีส่วนสำคัญพอ ๆ กับเป้าหมายเลยนะคะ เมื่อเรามีความหวัง เราก็จะมีแรงทำในสิ่งที่อาจจะดูว่ามันหริบหรี่ได้ ทำจนประสบความสำเร็จได้ อย่างของธันย์จะมีความหวังตลอดว่าเราจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ โดยที่เราไม่สนใจหรือไม่เอาข้อจำกัดมาบั่นทอนชีวิตว่าเราจะทำมันไม่ได้ อย่าไปคิดว่าการไม่มีขาจะทำให้เราชีวิตแย่กว่าคนอื่นนะ แต่ให้เอาเรื่องขามาเป็นจุดเปลี่ยน เอามาแรงผลักให้กลับมาใช้ชีวิต ทำกิจกรรมต่าง ๆ เหมือนปกติให้ได้”

            “ธันย์สร้างกำลังใจให้กับตัวเองด้วยการทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ สักหนึ่งอย่างด้วยตัวเอง ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะมองข้าม ซึ่งตัวธันย์เองก็ไม่รู้หรอกว่าคนอื่นสร้างกำลังใจกันยังไง สำหรับธันย์การเข็นวิลแชร์ไปทำงานบ้านจนเสร็จก็ถือเป็นการเพิ่มกำลังใจให้ตัวเองแล้ว มันทำให้เรารู้สึกได้ว่าเราไม่ใช่คนที่ไร้ความสามารถ เหมือนเราค่อย ๆ กระเถิบจากการช่วยเหลือตัวเองในบ้านได้ ไปช่วยเหลือคนอื่นรอบ ๆ ตัวเรา โดยที่เขาก็ไม่ต้องมาช่วยเหลือเรา และเราก็ขยายออกไปด้วยการนั่งวิลแชร์ไปช่วยเหลือคนอื่น ๆ ในสังคมมากยิ่งขึ้น อันนี้คือแรงบันดาลใจและการสร้างกำลังใจของธันย์

            “ฉะนั้นใครอยากสร้างกำลังใจหรือหาแรงบันดาลใจให้ตัวเอง เริ่มจากการทำอะไรดี ๆ ให้ตัวเองก่อน แบบว่าเจอแล้วคุณค่าของตัวเรา ไม่ต้องรอให้ใครมาทำอะไรให้ก่อนแล้วเราถึงจะดูว่ามีคุณค่า คือเรามีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว แค่เราจะสามารถไปส่งต่อ ไปส่งมอบให้ตัวเองเห็นอย่างไรได้บ้าง คนอื่น ๆ เขามองตัวเราอีกแบบนึง แต่ต่อให้คนรอบข้างเขาจะมองเราดีแค่ไหน แต่ถ้าเรามองตัวเองในมุมมองที่ไร้คุณค่า ก็ต้องอะไรกับที่คนอื่นมองเราไร้คุณค่าด้วยเช่นกัน”

           “สาวน้อยคิดบวก ฉายานี้มาจากพี่ ๆ นักข่าวนี่แหละค่ะ คือตอนนั้นเวลามีสื่อต่าง ๆ มาสัมภาษณ์ เราก็ยิ้มแย้มแจ่มใส่ ด้วยความที่เราถ่ายรูปอ่ะเนอะ จะให้รูปมันเศร้าได้ยังไง ก็มีสื่อนึงพอเขาไปลงหนังสือพิมพ์เขาก็พาดหัวด้วยคำว่า น้องธันย์ สาวน้อยคิดบวก ตอนนั้นธันย์อายุแค่ 14 ปีเองด้วย ยังเป็นสาวน้อยอยู่ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่คนเรียกกันและก็ใช้ตั้งแต่ตอนนั้นมาจนถึงตอนนี้ค่ะ”

นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ

            “ต้องบอกก่อนเลยว่าก่อนหน้านี้ธันย์เป็นคนไม่ค่อยชอบพูดนะคะ เรารู้สึกว่าการที่เราเป็นจุดเด่นในสังคมแล้วคนอื่นเพ่งเล็งมาที่เราเนี่ย เป็นอะไรที่แบบเหมือนทำให้เราปรับตัวไม่ได้ จนกระทั่งเรารู้สึกว่ามีประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เราต้องออกมาพูดอะไรสักอย่างให้คนเข้าใจ เพราะเขาอาจจะเข้าใจผิดอยู่ ให้เข้าใจถูกต้อง ซึ่งมันอาจจะมี Impact มากกว่าการที่เราให้พ่อแม่ไปพูด ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เราออกไปพูดตามสื่อต่าง ๆ ด้วยตนเอง

            “พอหลังจากนั้นก็มี HR ขององค์กรนึง ก็คือสยามพารากอน ติดต่อมาให้ไปพูดในงานประชุมประจำปี เชิญเรามาเป็นวิทยากร ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้ว่าวิทยากรต้องทำอะไรบ้างเลยนะคะ และการสร้างแรงบันดาลใจคืออะไร เรายังพูดไม่เก่งเลยด้วย และก็ไม่รู้ว่าต้องพูดเปิดพูดปิดยังไง เขาก็บอกว่าให้มาเลยเดี๋ยวมีพิธีกรสัมภาษณ์ ก็เหมือนคุยกันแบบที่พี่สัมภาษณ์นี่แหละค่ะ พอโอกาสเข้ามาก็เลยลองไปทำดูค่ะ หลังจากนั้นก็ได้ทำมาเรื่อย ๆ จากองค์กรนี้ไปองค์กรนั้น เหมือนว่า HR เขาคุยกัน ก็เลยได้ไปพูดเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 54 จนถึงตอนนี้เลยค่ะ

            “งานเยอะอยู่นะคะ ปกติทุก ๆ องค์กรจะมีจัดกิจกรรมกันทุกปีนะคะ แล้วองค์กรนึงมักจะจัดฝึกอบรมกันปีละสองครั้ง แล้วก็มีอีกหลายฝ่าย เฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้งค่ะ พอทำไปก็สนุกดีค่ะ ทำให้เราค้นพบตัวเองไปด้วย ธันย์ก็ไม่เคยคิดว่าการเป็นวิทยากรจะต้องเดินทางเยอะมาก ขึ้นเหนือล่องใต้ไปแทบทุกที่เลยค่ะ แค่มีช่วงโควิด 19 ระบาดนี่แหละค่ะที่ต้องหยุดกันไปก่อน 

           “อาจเป็นเพราะจุดสตาร์ทของธันย์ต่างจากคนอื่นด้วยแหละ ธันย์ไม่รู้ว่าคนอื่นตั้งเรตและจุดสตาร์ทของตัวเองยังไง แต่ธันย์ตั้งจุดสตาร์ทที่ 0 บาท เริ่มด้วยมูลค่าที่เงินเรตเท่านี้ ธันย์ไปพูดเพราะว่าอยากแบ่งปันประสบการณ์ในช่วงเวลานั้น พอสตาร์ทด้วยการที่ไม่ได้คำนึงถึงตัวเงิน ธันย์เลยได้ไปในทุก ๆ องค์กร ก็เลยทำให้เราได้ไปพูดทั้งในส่วนของภาครัฐ เอกชน หรือกระทั่งในโรงเรียนต่าง ๆ ข้อดีคือเราได้พัฒนาทักษะไปด้วย เหมือนเราไม่ได้ตั้งเป้าที่ตัวเงินแต่เราตั้งเป้าที่จะได้แบ่งปันมากกว่า ถ้าเขาจะมีประโยชน์หรือต่อยอดได้จากเรื่องราวที่เราเจอ”

ความสุขของการเป็นผู้ให้

            “โอ้โห มันรู้สึกดีมาก ๆ เลยค่ะ เหมือนก่อนเราก็ไม่รู้หรอกว่าความสุขที่แท้จริงมันเป็นอย่างไร เมื่อก่อนเราคิดว่าต้องหาซื้อของแล้วนำไปมาให้อีกคนนึง เขาถึงจะรู้สึกดี ธันย์เคยซื้อของแพง ๆ ไปให้เพื่อนเพราะคิดว่าเขาน่าจะชอบ แต่ไม่ใช่เลย แต่มีอยู่วันนึงเราได้ไปพูดให้กำลังใจแล้วได้ไปเจอคนพิการคนนึงที่เขาประสบอุบัติเหตุมา เขาเดินมาขอบคุณทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยเอาสิ่งของหรือเอาเงินไปให้เขาเลย แต่เหมือนว่าเขาฟังจากเรื่องราวของเรา แล้วเขาก็ขอบคุณเพราะเจอแนวทาง ข้อคิด หรือการปรับใช้กับชีวิตให้ดีมากขึ้น ก็เลยรู้สึกดีมาก ๆ ว่าเรื่องราวชีวิตของเราก็มีประโยชน์กับคนอื่นนะ

            “ก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าการเป็นผู้ให้มันดี จริง ๆ แล้วการที่ธันย์เลือกไปบรรยายเริ่มต้นที่ศูนย์บาท เพราะเวลาที่เราไปเจอผู้คนตามที่ต่าง ๆ ต่อให้ธันย์ไม่ได้เงินแต่ธันย์จะได้สิ่งที่รีเทิร์นกลับมา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่เงินหาซื้อไม่ได้

            “ความสุขของธันย์ในเวลานี้ คือการที่มีโอกาสใช้ประสบการณ์ของธันย์ส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่น ซึ่งมันมีความสุขมากเลยนะ เหมือนว่าพอเรามีความมั่นคงในชีวิตแล้วได้ไปทำกิจกรรมหรือจัดกิจกรรม CSR ให้กับคนพิการคนอื่น ๆ ที่เขาเพิ่งอาจจะกลายเป็นคนพิการเจนใหม่ ๆ ก็เหมือนเราได้เห็นตัวเองเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ที่ยังงง ๆ กับชีวิตได้เจอแนวทางในการใช้ชีวิตต่อหลังจากเป็นผู้พิการโดยไม่ต้องไปงม ไปเสิร์ซหาเหมือนเราสามารถแนะนำได้ คุณสามารถเรียนได้ที่นี่ เรียนต่อที่ไหน ทำงานอะไรดี มีองค์กรนี้ซัพพอร์ตเปิดรับคนพิการนะ คือถ้าเราไม่ได้เจอเหตุการณ์เหล่านี้ เราก็ไม่รู้เลยนะ แต่พอมาเจอกับตัวเองใช้กับตัวเองถึงจะรู้

            “เคล็ดลับที่ทำให้ธันย์ยิ้มได้ตลอดเหรอค่ะ (หัวเราะ) ก็คือการได้ออกไปทำกิจกรรมนี่แหละค่ะ เพราะการได้เราไปเจอผู้คน แม้จะไม่เคยรู้จักกันแต่เราก็ได้รับส่งพลังงานบางอย่างถึงกันได้ เวลาเรายิ้มให้เขาเราก็จะได้รอยยิ้มของเขาแลกเปลี่ยนกลับมาด้วย ก็เลยเป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้ธันย์ด้วยค่ะ

            “ธันย์ว่าทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในโลก คนเราต้องพบเจอเหมือนกันแหละ คือเจอปัญหาสุขภาพ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การงาน การเงิน หรือชีวิต อาจมีปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป สำหรับธันย์รู้สึกว่า มันจะหนักหรือจะเบาอยู่ที่ตัวเรามากกว่า อย่างเรื่องอุบัติเหตุพอธันย์ผ่านมาได้ สำหรับธันย์จะรู้สึกว่ามันเบามาก เพราะเราสามารถคอนโทรลปัญหาของเราได้

            “เวลาเจอปัญหาเราไม่ต้องไปสนใจหรอกว่าคนภายนอกจะมองเราอย่างไร ตีความยังไง อยากให้กลับมาจัดการกับชีวิตของตัวเองมากกว่า ทำความเข้าใจและใช้ชีวิตให้สามารถดำเนินไปได้อย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แล้วเราจะเจอว่าทางออกมันไม่ได้อยู่ที่คำพูด การกระทำของคนอื่น แต่ทางออกมันอยู่ที่ตัวเรา ตอนนั้นธันย์ก็ไม่ได้สนใจว่าการไม่มีขา จะต้องคำนึงถึงสายตาของคนรอบข้าง แต่เราเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะตัดขาเนอะ มีความสุขกับชีวิตที่มีโอกาสเลือกมากกว่า ไม่ได้ไปโทษใคร แต่กลับมามองตัวเรา ใช้ชีวิตของตัวเราให้ดีที่สุด ณ เวลานั้น แม้จะเป็นช่วงที่หลายคนมองว่าเราอาจจะทุกข์ที่สุด แต่เราจะสามารพทำให้ตัวเรามีความสุขได้อย่างไรมากกว่าค่ะ”

Know Her

ปัจจุบันเธอกำลังเรียนต่อปริญญาโท ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคณะจิตวิทยา

พร้อมทั้งเรียน ปริญญาตรีใบที่สอง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

จบปริญญาตรี คณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ติดตามบทความดี ๆ และข่าวสารของเธอได้ที่เพจเฟสบุ๊ค “น้องธันย์สาวน้อยคิดบวก”

ความหวัง กำลังใจ และเป้าหมาย คือพลังให้ก้าวต่อ | น้องธันย์ สาวน้อยคิดบวก